ก่อนหน้าที่บริตนีย์ สเปียส์ จะใส่ชุดนักเรียนมัธยมกระโปรงสั้นกุด ผูกเปียสองข้าง มาเต้นกระฉึกกระฉักแต่นมยังไม่กระฉอก (เพราะยังไม่ได้ศัลยกรรม) ในมิวสิค วิดีโอเพลง ‘Baby, One More Time’ ที่เธอร้องว่า “อีกทีสิคะที่รัก” ตามมาด้วยคริสตินา อากีเลร่ามานอนเกลือกกลิ้งบนผืนทรายในมิวสิค วิดีโอเพลง ‘Genie In The Bottle’ ร้องว่า “ถูให้ถูกท่าสิคะที่รัก” ทั้งสองสาวกลายเป็นป๊อปไอคอนฝ่ายหญิงของต้นศตวรรษที่ 21 ไปเรียบร้อยแล้ว

ย้อนกลับไปในยุค ‘70s อารีธา แฟรงกลิน ราชินีเพลงโซลที่เพลงของเธอขึ้นอันดับหนึ่งบนชาร์ตเพลงป๊อปไม่รู้เท่าไร ก็เคยร้องว่า

“โอ้ที่รัก…เธอทำอะไรกับฉัน เธอทำให้ฉันรู้สึกดีข้างใน ฉันอยากอยู่ใกล้คุณ คุณทำให้ฉันรู้สึกมีชีวิต คุณทำให้ฉันรู้สึกเป็นผู้หญิงอย่างเป็นธรรมชาติ”

ในขณะที่มาดอนน่า ตัวแม่ของวงการ ผู้ที่เคยสร้างปรากฏการณ์ลือลั่นด้วยการมาสเตอร์เบทตัวเองบนเวทีคอนเสิร์ต Blonde Ambition เปลือยไม่เหลือแม้แต่ชิ้นเดียวในหนังสือของตัวเองที่ชื่อว่า ‘Sex’ ก็เคยเสียดเย้ยอย่างขำขันโดยการใส่ชุดแต่งงานขาวบริสุทธิ์ในมิวสิค วิดีโอเพลง ‘Like A Virgin’ ร้องว่า

“เหมือน (สาว) บริสุทธิ์…ถูกสัมผัสในครั้งแรก เหมือน (สาว) บริสุทธิ์…เมื่อจังหวะหัวใจของเธอเต้นเป็นจังหวะเดียวกันกับฉัน”

ปี 2008 นักร้องสาวที่ก้าวขึ้นมาเป็นป๊อปไอคอลของวงการอีกคนอย่างเคธี เพอร์รี่ ร้องว่า

“ฉันจูบผู้หญิง ฉันชอบมัน” ในเพลง ‘I Kissed A Girl’ 

พวกเธอ…ผู้หญิงร้องเพลงป๊อป ที่มักถูกตราหน้าว่าบนหัวที่ปกคลุมไปด้วยผมสีทองของเธอไม่มีส่วนที่เรียกว่าสมอง เสียงร้องห่วยแตก ดีแต่ขายหน้า โชว์นม และท่าเต้นอันยั่วยวน

บางทีเราฟังเพลงของพวกเธอ…แต่เราไม่ได้ยิน

เมื่อเพลง ‘Respect’ เพลงเก่าของ Otis Redding ถูกนำมาร้องใหม่ด้วยสำเนียง ‘เฟมินิสต์’ ในปี 1967 โดยอารีธา แฟลงกลิน นักร้องเพลงโซลที่เพิ่งจะโด่งดังจากเพลง ‘I Never Loved A Man (The Way I Love You)’ ด้วยความติดหูของจังหวะสนุกสนานและประโยคในท่อนคอรัสที่ร้องว่า

R-E-S-P-E-C-T 

Find out what it means to me 

R-E-S-P-E-C-T 

Take care … TCB”

ทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลง ‘ฮิต’ ทันที โดยขึ้นอันดับหนึ่งในชาร์ตเพลงอาร์แอนด์บีและชาร์ตเพลงป๊อปยาวนานถึง 8 สัปดาห์ และทำให้อารีธาได้ออกอัลบั้มแรกในชื่อเดียวกันกับซิงเกิลแรก

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ยุค ‘60s เพลงรักส่วนใหญ่ที่ ‘ป๊อป’ ล้วนเป็นเพลงของฝ่ายชายในเนื้อหาแบบฉันรักเธอ อย่างนั้นอย่างนี้ เช่นเดียวกันกับเพลงของฝ่ายหญิงที่โต้ตอบอารมณ์ของฝ่ายชายแบบ ฉันอยากให้เธอรักฉันอยากนั้นอย่างนี้ (มันก็ไม่ต่างจากสมัยนี้เท่าไรหรอก…ว่าไหม) เพลงรักของผู้หญิง หรือเพลงของผู้หญิงส่วนมากก็เป็นไปในทำนองตอบสนองอารมณ์รัก ความรู้สึกของผู้ชาย โดยไม่ได้พูดอารมณ์ปรารถนาของตัวเองจริงๆ ในแง่อื่นๆ หรือแม้แต่พูดในแนวทางอารมณ์ ความรู้สึกที่ต่างออกไป ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะในสมัยนั้นโปรดิวเซอร์ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายและนักเขียนเพลงก็ล้วนเป็นผู้ชาย

เพลง ‘Respect’ ในเวอร์ชั่นของอารีธา แฟรงกลินที่ส่งข้อความถึง ‘สุภาพบุรุษ’ ว่ากรุณาให้ ‘ความเคารพ’ สุภาพสตรีหน่อยสิคะ รู้จักไหมคำว่า ‘R-E-S-P-E-C-T’ น่ะ จึงกลายเป็นเสมือนการลุกขึ้นมาตอบโต้ เรียกร้อง กล่าวแสดงในสิ่งที่ ‘ผู้หญิง’ รู้สึกจริงๆ (แม้เพลงนี้จะเขียนโดยผู้ชาย และร้องครั้งแรกโดยผู้ชายก็ตามที แต่เมื่อมันถูกนำมาร้องใหม่โดยผู้หญิง ความหมายของเพลงจึงเปลี่ยนไป ในอีกสำเนียงหนึ่ง) แถมยังเป็นประเด็นที่ผู้หญิงคนหนึ่งไม่ได้เรียกร้อง ‘ความรัก’ อันเป็นเรื่องหลักในเนื้อหาส่วนมาก แต่เป็นการเรียกร้อง ‘ความเคารพ’ โดยนักร้องหญิงอย่างอารีธา แฟลงกลินในเพลงนี้จึงแฝงไปด้วยสำเนียงแบบ ‘เฟมินิสต์’ อย่างช่วยไม่ได้

ที่บอกว่าช่วยไม่ได้นั้นเพราะซิงเกิลสุดท้ายในอัลบั้มนี้อันโด่งดังของเธออย่าง ‘(You Make Me Feel Like) A Natural Woman’ เหมือนกับการฆาตกรรมสำเนียงเฟมินิสต์ที่มีในเพลงก่อนหน้านี้อย่างหฤโหด เลือดสาดด้วยคำร้องว่า

“Oh, baby, what you’ve done to me. You make me feel so good inside
And I just want to be close to you. You make me feel so alive.
You make me feel, you make me feel, you make me feel like a natural woman”

อย่างกับว่าถ้าไม่มีผู้ชาย (คนนี้) เธอจะไม่เป็นผู้หญิงอย่าง ‘ธรรมชาติ’ อย่างนั้นแหละ (ซึ่งเพลงนี้ก็แฝงในไว้ว่าผู้หญิงที่เป็น ‘ธรรมชาติ’ นั้น ต้องถูกทำโดย ‘ผู้ชาย’ ให้รู้สึกดี ‘ข้างใน’ อันส่อนัยถึงการร่วมรักและการสอดใส่นั่นเอง)

ในช่วง 1970s นั้นอีกคนที่ถือได้ว่าเป็นผู้เปิดมุมมองใหม่ของผู้หญิงในบทเพลงเช่นเดียวกันกับอารีธา แฟรงกลิน คือสาวร็อกผู้ที่นิตยสาร Rolling Stone จัดอันดับไว้ที่อันดับที่ 46 ของศิลปินที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล เธอคือ Janis Joplin 

ก่อนหน้าที่เธอจะมีอัลบั้มเดี่ยว เจนิสเป็นนักร้องนำของวง Big Brother And The Holding Company ซึ่งมีอัลบั้มแรกชื่อเดียวกันกับวง และอัลบั้มที่ 2 ‘Cheap Thrills’ ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากล้น โดยเฉพาะซิงเกิลแรก ‘Piece Of My Heart’ ที่รั้งอันดับหนึ่งบนบิลบอร์ดชาร์ตนานถึง 8 สัปดาห์ตัวอัลบั้มขานได้มากกว่า 1 ล้านก๊อปปี้ในเดือนแรก 

ในอัลบั้มแรกมีเพลงหนึ่งชื่อ ‘Woman Is Loser’ เธอบอกผู้หญิงว่า

“Men always seem to end up on top Women is losers”

เหมือนในเพลง ‘I Need A Man To Love’ เธอต้องการผู้ชายที่จะรัก ไม่ได้ต้องการรักผู้ชายคนหนึ่ง และในเพลงเธอก็คร่ำครวญว่ามันเป็นไปไม่ได้เนื่องจาก

“One lovin’ man to understand can’t be too much to need”
และสำเนียงการบอกเล่า ความรู้สึก ความต้องการ และทัศนคติต่อผู้ชายแบบใหม่ของเธอยิ่งโดดมากขึ้นในงานเดี่ยวของเธอกับอัลบั้ม I Got Dem Ol’ Kozmic Blues Again Mama! ในปี 1969 โดยเฉพาะในเพลง ‘One Good Man’ ที่เธอร้องว่า

“Honey, I love to go to parties. And I like to have a good time,
But if it gets too pale after a while Honey and I start looking to find
One good man.

“An’ I don’t want much outa life, I never wanted a mansion in the South.
I just-a want to find someone sincere. Who’d treat me like he talks, One good man.”

ผู้หญิงทุกคนต้องการผู้ชาย ‘ดีๆ’ ดีอย่างที่เขา ‘พูด’ ไม่ต้องหลายคน ‘คนเดียว’ ก็ (หาให้ได้) พอ 

ในเพลง ‘One Night Stand’ เธอบอกผู้ชายคืนเดียวว่า

“Just because we loved tonight, please don’t you think it’s gonna 

stay that way. Don’t you know that you’re nothin’ more than a one night stand.
Tomorrow I’ll be on my way, an’ you can catch me if you can. Honey, take me by the hand and play that game again, yeah.”

หรือเมื่อเธออกหักถูกผู้ชายทิ้ง เธอคร่ำครวญ แต่ในแบบ ‘ขี้เมา’ ว่า เอาเหล้ามาให้อีกแก้วสิในเพลง ‘What Good Can Drinking Do’ 

ไม่เพียงแค่ความรักที่เธอพูดถึง เธอยังพูดถึงชีวิต พระเจ้า ศรัทธา จิตวิญญาณ 

เธอยังพูดถึงเรื่องสังคมไว้อย่างเจ็บแสบ หรือเสียดสีพระเจ้าอย่างเย้ยหยันในเพลงสุดท้ายก่อนจะเสียชีวิตด้วยการเสพยาเกินขนาดในเพลง ‘Mercedes Benz’ 

“Oh a Mercedes Benz Lord, won’t you buy me? My friends all drive Porsches, I must make amends, Worked hard all my lifetime, no help from my friends, So oh Lord, won’t you buy me a Mercedes Benz?”

พูดถึง Janis Joplin อีกหนึ่งสาวที่มีอิทธิพลต่อวงการเพลงอย่างมากล้นและยิ่งใหญ่พอกันในช่วงนั้นอีกคนคือ Joni Mitchell

Joni Mitchell ศิลปินโฟล์กชาวแคนาดาที่โดดเด่นด้วยสำเนียงโฟล์กร็อก เสียงระดับโซปราโนที่มีการร้องอันเป็นเอกลักษณ์ไปกันได้ดีกับกีตาร์บนหน้าตักของเธอ เพลงที่เขียนจากชีวิต ประสบการณ์มุมมองที่แหลมคน กลั่นเป็นเรื่องราวที่ต้องตีความ ลึกซึ้ง บทเพลงของเธอดังบทกวี ภาพวาด งานศิลปะ

หากจะแอบอ้างว่าเพลงของ Joni นั้นมีสำเนียงเฟมินิสต์ สำเนียงดังกล่าวคงไม่ได้อยู่ในใจความแบบที่เราได้ยินจากเพลงของ Madonna TLC Missy Elliot ฯลฯ (ซึ่งจะได้พูดถึงต่อไป) แต่เป็นการเปิดมุมมองอันลึกซึ้งและกว้างขวางหลากหลายของผู้หญิง ความรัก ความอิสระ และโลกทัศน์ เธอนำส่วนลึกของข้างใน ประสบการณ์ส่วนตัวบวกการเมืองเรื่องความรัก บทเพลงของเธอเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่อิสระ และไม่เหมือนผู้หญิงในบทเพลงของใครๆ ก่อนหน้านี้ ปลดปล่อยส่วนลึกข้างในของผู้หญิงให้เป็น ‘อิสระ’ อย่างแท้จริง

ใน 3 อัลบั้มแรกของ Joni นั้น (Song To A Seagull ในปี 1968 Clouds ในปี 1969 และ Lady Of The Canyon ในปี 1970) ปลดปล่อยความรู้สึกของผู้หญิงอย่างเป็นอิสระ 

เหมือนในเพลง ‘My Old Man’ ที่ร้องว่าความรักของเธอไม่ต้องการใบทะเบียนสมรส

“We dont need no piece of paper. From the city hall Keeping us tied and true. My old man, Keeping away my blues ”

ความรักสำหรับ Joni Mitchell จึงมีหลากหลายแง่มุม เหมือนที่เธอร้องในเพลง ‘Both Side Now’ หรือกับผู้ชายก็เช่นเดียวกัน ในเพลง ‘Last Time I Saw Richard’ เธอไม่เคยสเตอริโอไทป์ว่าผู้ชายในบทเพลงของเธอเป็นอย่างไร สิ่งที่เธอพูดถึงคือในความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงมี ‘อารมณ์’ อย่างไร แบบไหน  

เพลงของ Joni Mitchell เป็นสิ่งที่เข้าถึงก้นบึ้งหัวใจและความรู้สึกของผู้หญิงที่ไม่เคยได้รับการเปิดเผยออกมา Joni คือผู้เปิดศักราชใหม่ให้กับผู้หญิงในด้านอารมณ์ ความรู้สึก และความรักผ่านบทเพลงของเธอ เหมือนกับที่มาดอนน่าให้สัมภาษณ์ถึง Joni ว่า

“I was really, really into Joni Mitchell. I knew every word to Court and Spark; I worshiped her when I was in high school. Blue is amazing. I would have to say of all the women I’ve heard, she had the most profound effect on me from a lyrical point of view”

อารีธา แฟรงกลิน เปิดศักราชสำเนียงเฟมินิสต์ในเพลง ‘Respect’ เวอร์ชั่นของเธอ ส่งข้อความใหม่ๆ แก่ผู้ฟังที่เป็นผู้หญิงและผู้ชาย เช่นเดียวกันกับ Janis Joplin ที่มีสำเนียงแตกต่างออกไปอีกนิด แม้อาจจะไม่โจ่งแจ้งแต่ก็พบได้ในหลากหลายเพลงของเธอ ในขณะเดียวกัน Joni Mitchell นั้นกลับดึงส่วนลึกที่หลายหลายของอารมณ์ ความรู้สึกของผู้หญิง ยกผู้หญิงเป็นศูนย์กลางในการอธิบายความรู้สึกที่มีกับความสัมพันธ์ผ่านบทเพลงของเธอ ขณะเดียวกันก็สร้างผู้หญิงให้เป็นอิสระทั้งผู้หญิงในบทเพลงของเธอ และผู้หญิงที่ฟังเพลงของเธอ

ในปี 1972 ร็อกเกอร์สาวระดับตำนานอีกคน Helen Reddy ประกาศต่อโลกในสำเนียงที่แตกต่างออกไป แข็งกร้าว ดุดัน อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘Girl Power’ รุ่นแรกก็ว่าได้ในเพลง ‘I Am A Woman’

“Oh, yes I am wise but it’s wisdom born of pain. yes I paid the price but look how much I gained, if I have to … I can do anything! I am strong (strong) I am invincible (invincible) I am woman”

‘ผู้หญิง’ ในบทเพลงของ Helen Reddy เพลงนี้เหมือนกับบทประกาศสิทธิสตรียุคแรกในแบบ ผู้หญิงแกร่ง เก่ง ฉลาด ทำได้ทุกอย่าง เป็นได้ทุกอย่าง…ไม่ว่าจะอย่างไร เธอได้จุดไฟสำเนียงเฟมินิสต์ในบรรดาร็อกเกอร์สาวขึ้นแล้ว ตามมาด้วยร็อกเกอร์สาวที่ถือว่าเป็น ‘Godmother Of Punk’ Patti Smith ในปี 1975 กับอัลบั้ม ‘Horse’ 

บทเพลงของ Patti Smith ก็เหมือนกับ ‘เธอ’ คือดูไม่เป็นผู้หญิง เหมือนในเพลง ‘So You Want To Be A Rock n Roll Star’ เพลงของเธอไม่ได้สื่อว่าร้องออกมาด้วยจิตใจหรือร่างกายที่เป็นหญิง หรือสื่อสารแบบผู้หญิง มันเป็นเพลงไร้เพศมากกว่า ซึ่งแตกต่างจากร็อกเกอร์อีกคนคือ Debbie Harry จาก Blondie นั่นเอง

เพราะเธอทั้งร็อกและเซ็กซี่…

เธอคือผู้หญิงผมบลอนด์ที่ไม่ใช่ ‘Dumb Blonde Girl’ ตามอย่างการสเตอริโอไทป์สาวอเมริกันทั่วไป Blondie ออกซิงเกิล X Offender ในปี 1976 

“Walking the line, you were a marksman.Told me that law, like wine, is ageless.Public defender.You had to admit.You wanted the love of a sex offender.”

เช่นเดียวกันกับ  Chrissie Hynde จาก The Pretenders ร็อกเกอร์สาวอีกคนที่สามารถยืนบนพื้นที่ของผู้ชายได้อย่างสุดพลัง

ทั้ง 3 ร็อกเกอร์สาวคือการประกาศพื้นที่ ‘ผู้หญิง’ บนเวทีเพลงร็อก อันเป็นพื้นที่หลักของผู้ชาย สาวอย่าง Patti Smith อาศัยการสลายเพศในการแสดง ในตัวตน ภาพลักษณ์และเพลงร็อกของเธอ ในขณะที่ Debbie Harry จาก Blondie นำเอาความเป็นผู้หญิงที่เซ็กซี่มาใช้ได้อย่างดุดัน ทรงพลัง มันคือการประกาศสงคราม ‘ภาพลักษณ์’ และในหลากหลายแบบที่กระทำต่อคนฟังที่เป็นผู้ชายและผู้หญิง และสงคราม ‘พื้นที่’ ที่ผู้ชายยืนควบคุมอยู่อย่างแข็งขัน

สิ่งที่ทั้ง 3 ร็อกเกอร์สาวนี้ทำ ที่เราแอบอ้างว่าเป็นสำเนียง ‘เฟมินิสต์’ อาจไม่ใช่การส่งสำเนียง หรือสารผ่านทางบทเพลงอย่างชัดเจน แต่มันรวมอยู่ในภาพลักษณ์ การนำเสนอตัวเอง การแสดง ตัวตน ที่รวมกันอยู่แล้วแสดงออกมาทั้งเสื้อผ้า หน้าผม การแสดงบนเวี การริฟฟ์กีตาร์ ฯลฯ เหมือนในกรณีของมาดอนน่าแต่แตกต่างกันที่ ‘สาร’ 

และอีกหนึ่งร็อกเกอร์ Bonnie Raitt ที่นอกจากจะเสนอภาพลักษณ์สาวเซ็กซี่แบบร็อกเกอร์กับการริฟฟ์กีตาร์อย่างเมามันส์ สะเด็ดสะเด่าไม่ต่างจากร็อกเกอร์ฝ่ายชาย แถมยังส่งสารที่ชัดเจนกว่าภาพลักษณ์หรือการยืนบนพื้นที่ของผู้ชายอย่างเพลงร็อกแล้ว ในเพลงของเธออย่าง ‘That Ain’t No Way To Treat A Lady’ ในปี 1986 และ ‘Nick Of Time’ ในปี 1989 ที่พูดถึงชีวิตการแต่งงาน (ที่ผู้หญิงต้องทนแบกรับความรู้สึกบางอย่างจากการเป็น ‘ผู้หญิง’) ได้อย่างเจ็บแสบและเจ็บปวดว่า

”A friend of mine she cries at night, and she Calls me on the phone

Sees babies everywhere she goes and she Wants one of her own.
She’s waited long enough she says And still she can’t decide
Pretty soon she’ll have to choose and it tears her up inside…
She’s scared…scared she’ll run out of time.”

ผู้ที่สืบสานต่อเจตนารมณ์ ‘I Am A Woman’ ของ Helen Reddy คือ Rosanne Cash ลูกสาวคนสวยของ Johny Cash กับเพลง ‘Man Smart, Woman Smarter’ ที่สื่อสารประเด็นหญิงแกร่ง ฉลาด เลิศเลอกว่าผู้ชายในปี 1979 

“Let us put men and women together. To see which one is smarter
Some say men I say no. Women got the men like a puppet show”

หลากหลายบทเพลงของเธอพยายามจะบอกว่าผู้หญิงเป็นอิสระได้อย่างไร ภายใต้ความสัมพันธ์กับผู้ชาย และหลากหลายเรื่องราวที่เป็นบทสะท้อนจากชีวิตส่วนตัวซึ่งคงไม่ได้จากไหนอื่นไกลนอกจาdชีวิตรักของเธอกับสามีนั่นเอง ซึ่งชัดเจนจากเพลง ‘If I Were A Man’ ในปี 1996 (ซึ่งเธอร้องก่อนบียอนเซ่กับเพลง ‘If I Were A Boy’ เสียอีก) 

In Bed With Madonna

ก่อนหน้าที่เข้าสู่ยุค ‘Sex Revolution’ ของผู้หญิงที่ได้ชื่อว่าเป็น เอลวิสฝ่ายญิงของโลกใบนี้ ก่อนหน้าที่มาดอนน่าจะโด่งดังเป็นพลุแตกในภาพลักษณ์เซ็กซ์ซิมโบลนักร้องสาวเพลงป๊อป คู่แข่งฝ่ายหญิงของเธออย่าง Cyndi Lauper มีเพลง ‘Girl Just Wanna Have Fun’ ออกมาในปี 1983

“Some boys take a beautiful girl. And hide her away from the rest of the world I want to be the one to walk in the sun . Oh girls they want to have fun
Oh girls just want to have Fun”

ในเนื้อหามีสำเนียง ‘เฟมินิสต์’ อย่างชัดเจน ซึ่งตอบรับกับแนวคิดใหม่ของเฟมินิสต์ยุคใหม่ที่ไม่ได้เรียกร้องสิทธิสตรีเพียงแค่ให้ ‘เท่าเทียม’ กับชายแล้ว และหากจะเปรียบเทียบกับงานของมาดอนน่าก็เห็นได้ว่าส่งสาร ‘อิสระทางเพศ’ แห่งหญิงออกมาเช่นเดียวกัน แต่งานของซินดี้กลับไม่เป็นที่ฮือฮาเท่าไร สิ่งหนึ่งคือสำเนียง ‘ความสนุก’ ของเธอในเพลงมันเป็นไปในท่าที สนุกสนาน ขำขัน เสียมากกว่า และภาพลักษณ์ การนำเสนอของเธอก็ไม่อาจเบียดสู้ ‘เซ็กซ์ซิมโบล’ อย่างมาดอนน่าได้ 

ในอัลบั้มแรก ‘Madonna’ ในปี 1983 มีเพลงหนึ่งที่เริ่มส่งกลิ่นจางๆ แบบดิสโก้อย่าง ‘Physical Attraction’ (เหมือนในงานของ Olivia Newton-John) ก่อนจะมาชัดเจนอย่าง ‘แรง’ ในอัลบั้มต่อมา ‘Like A Virgin’ ในปี 1984 ซึ่งยังมีเพลงอย่าง ‘Material Girl’ ที่สมาทานความเป็นผู้หญิงในบทเพลงของมาดอนน่าเข้ากับการบริโภคนิยมอย่างสวยงามเหมือนในหนังเรื่อง Sex And The City

อัลบั้มต่อมาในเพลง ‘Papa Don’t Preach’ เพลงที่ผู้ปกครองได้ฟังคงจะปวดหัวเมื่อเนื้อเพลงพูดถึงเด็กสาวที่ตั้งท้องและบอกพ่อของเธอว่าอย่าบ่นไปหน่อยเลย ในอัลบั้ม ‘I’m Breathless’ เธอก็ทำให้คน ‘Breathless’ กับเพลง ‘Vogue’ ด้วยคอสตูมอันลือลั่นกับนมรูปกรวยที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของเธอไปแล้ว มิวสิควิดีโอกับเสื้อลายลูกไม้สีดำตัวบางจนสามารถเห็นทะลุถึงข้างใน จวบจนถึงทัวร์คอนเสิร์ต Blonde Ambition Tour กับการมาสเตอร์เบทตัวเองในเพลง Like A Virgin จนพระสันตะปาปาต้องออกโรง (มาด่า) 

มาดอนน่าเล่นกับคำว่า ‘เซ็กซ์’ อย่างเปิดเผยทั้งในเพลงของเธอที่เนื้อหาค่อนข้าง ‘Radical’ ภาพลักษณ์แบบ ‘เซ็กซ์ซิมโบล’ ไปจนถึงเรื่องต้องห้ามทั้งหลาย แน่ละ หนึ่งในกระบวนการนี้คือการโปรโมทตัวเองในอุตสาหกรรมเพลงป๊อป แต่สิ่งที่เธอทำนั้นส่งผลอย่างมหาศาลกับคำว่า ‘เซ็กซ์’ และ ‘ผู้หญิง’ ทั้งทัศนคติในเรื่อง ‘ความบริสุทธิ์’ จากเพลง ‘Like A Virgin’ การท้องของเด็กสาวในเพลง ‘Papa Don’t Preach’ เธอยังก้าวล่วงไปถึงประเด็นศาสนา สีผิว อย่าง ‘รุนแรง’ ในเพลง ‘Like A Prayer’ กับมิวสิควิดีโอที่โดนแบนเนื่องจากมีพระเจ้าที่เป็นคนดำ และการเผาไม้กางเขน

ในอัลบั้มรวมฮิต ‘The Immaculate Collection’ ในซิงเกิล ‘Justify My Love’ แม้ตัวเพลงจะไม่ได้สื่อสารอะไรที่ ‘รุนแรง’ ในประเด็นเรื่องเพศ แต่มิวสิควิดีโอ ที่ถูกแบนนั้นเป็นเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่ง (มาดอนน่า) กับการร่วมรักกับใครอีกคนที่ ‘ไม่สามารถระบุเพศ’ ได้ในแนวทางที่เรียกว่า ‘Sadomasochism’ 

ในปี 1992 เธอออกหนังสือภาพถ่ายที่มีชื่อว่า ‘Sex’ ซึ่งรวบรวมภาพถ่ายแบบ ‘uncensored’ ของเธอโดยช่างภาพชื่อดัง Steven Meisel ตามมาด้วยอัลบั้ม ‘Erotica’ 

ทั้งบทเพลง ภาพลักษณ์ การกระทำ ฯลฯ ของมาดอนน่า สิ่งที่เธอเรียกว่า ‘Sex Revolution’ นั้น ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมและเรื่อง ‘เพศ’ ของผู้หญิงอย่างเรียกได้ว่าคลื่นสึนามิ เธอนำเรื่องเซ็กซ์มาพูด มาแสดง มาโชว์ เป็นเซ็กซ์ในแง่มุมที่หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม ความอนาจาร ด้วยท่าทีที่ยั่วยวน เชิญชวนอย่างหญิงคาวโลกีย์  ที่แข็งแกร่ง แข็งกร้าว ทะเยอทะยาน บริโภคนิยม บ้าดีเดือด ไร้ยางอาย และ ‘Bitchy’ อย่างเหลือทน

สิ่งที่มาดอนน่าทำคือการยั่วยุสังคม โดยใช้เรื่องที่ ‘หมิ่นเหม่’ เพื่อทำให้เกิดการ ‘คิด’ ถกเถียง จนนำไปสู่บริบทใหม่ ปริมณฑลใหม่ และเธอก็สามารถยั่วยุได้ประสบความสำเร็จ เรื่องเซ็กซ์ที่เป็นเรื่องในมุ้ง ถูกนำมามาพูดถึงในสาธารณะ ในเพลงป๊อป ในอุตสาหกรรมเวิลด์ไวด์ เรื่องเซ็กซ์ถูกบรรจุเข้าสู่เนื้อหาในเพลง เพื่อบอกถึงสิ่งที่ผู้หญิงคิดเกี่ยวกับเซ็กซ์ทั้งในทางตรงและเซ็กซ์ในบริบทสังคมและการเมือง 

มาถึงตอนนี้เพลงป๊อปไม่ได้พูดแค่ฉันรักเธออย่างไร ฉันมีอารมณ์อ่อนไหวต่อความรักอย่างไร ผู้ชายที่ฉันปรารถนาและไม่ปรารถนาเป็นอย่างไร แต่มีหัวข้อเรื่องเซ็กซ์ในระดับร่างกาย จิตใจ ความคิด การเมืองในทัศนคติของผู้หญิง (อย่างมาดอนน่า) เป็นอย่างไรอีกด้วย ซึ่งล้วนบบรจุไว้ในเพลงป๊อปแดนซ์สำเนียงสนุกสนานชวนเต้นทั้งสิ้น

เธอสรุปการกระทำทั้งหมดไว้ในเพลง ‘Human Nature’ ในปี 1995 ว่า

“And I’m Not Sorry…It’s Human Nature”

ทั้งหมดที่เธอทำ แม้จะก้าวร้าว ไร้ยางอาย แต่เธอก็เสียใจหรอก เพราะเซ็กซ์มันเป็นเรื่อง ‘ธรรมชาติ’ 

ปรากฏการณ์ ‘Sex Revolution’ ของมาดอนน่าส่งผลกระทบต่อศิลปินทั้งในยุคเดียวกันและยุคต่อๆ มาที่ทั้งเลียนแบบเพื่อการค้าหรือได้แรงบันดาลใจมาจากเธอ โดยเฉพาะพวกเด็กสาวที่ฟังเพลงของเธอแต่เพิ่งมาโตเป็นศิลปินในยุคปลายศตวรรษที่ 20

เมื่อพูดถึงเรื่องเซ็กซ์ หรือเรื่องผู้ชาย-ผู้หญิง จะเห็นได้ว่าความชัดเจนในการพูดถึงเรื่องนี้มีอยู่สูงในวัฒนธรรมเพลง ‘ฮิพฮอพ’ หรือเพลง ‘แร๊พ’ ตัวแม่ในวงการฮิพฮอพฝ่ายหญิงคงหนีไม่พ้น Missy Elliot สาวร่างยักษ์ที่เต้นเก่งเป็นบ้า ผู้นำเทรนด์ซาวนด์ใหม่ๆ ให้กับวงการก่อนหน้าใครเสมอ

มิสซี่ไม่ได้ขายภาพลักษณ์แบบนุ่งน้อยห่มน้อย นมตู้มต้าม ออกมาเขย่าเต้าแร๊พด่าผู้ชายอย่าง Lil Kim หรือสาวคนอื่นๆ และด้วยการขายคุณภาพ ซาวนด์เพลงและข้อจำกัดด้านภาพลักษณ์แบบสปอร์ตเกิร์ลทำให้เพลงของเธอก็พูดถึงเรื่องเพศ หรือกล่าวถึงผู้ชายในแนวทางที่แตกต่างออกไป

ด้วยการต่อสู้ทางพื้นที่เพลงแร๊พ/ฮิพฮอพที่ห้อมล้อมไปด้วยศิลปินชาย ที่มักสเตอริโอไทป์ผู้หญิงในเพลงในแบบ ‘วัตถุทางเพศ’ แถมยังมักมีมิวสิควิดีโอที่ระดมสาวสวยนุ่งน้อยห่มน้อยมาเต้นยั่ว เต้นส่าย เคล้าเคลีย คลอเคลียอย่างกับฮาเร็ม เพลงของศิลปินแร๊พ/ฮิพฮอพหญิงตอบโต้ ด้วยวิธีที่ต่างกันออกไป

ในกรณีของมิสซี่ เธอโต้กลับด้วยเนื้อหา ‘คุกคาม’ ความ ‘มาดแมน’ (Macho) ของเหล่าบรรดาผู้ชาย โดยจี้จุดไปยังปมจิตวิทยา และสิ่งที่ผู้ชายหวงแหน ปกป้องที่สุดนั่นก็คือ ‘ไอ้จู๋’ (หรือสมรรถภาพทางเพศ) ของพวกเขา และเปิดเกมรุกโดยผู้หญิง อย่างเช่นในเพลง ‘Work It’ เพลงสไตล์แร๊พ/ฮิพฮอพ ที่เข้ามาอยู่ในอาณาเขต ‘ป๊อป’ ทั้งความดังและชาร์ตเพลง

“If you got a big ***, let me search you. And find out how hard I gotta work you ”

“Girl, girl, get that cash. If it’s 9 to 5 or shakin’ your ass
Ain’t no shame, ladies do your thing. Just make sure you ahead of the game.”

หรือเพลง ‘One Minute Man’ ที่บอกเป็นนัยๆ ว่าต้องการผู้ชาย ‘ทำเป็น’ แบบแค่หนึ่งนาทีนั้นไม่เอา

“Tonight I’ma give it to you, throw it to you. I want you to come prepared, ohhh yeah (oh yes).Boy it’s been a long time, a crazy long time
And I don’t want no minute man, and that’s real.Give it to me some more”

อีกสาวคือ Lil Kim ที่พูดถึงผู้ชายด้วยสำเนียงที่ต่างออกไป (จากมิสซี่) แต่กระนั้นเธอก็ยังเสนอภาพลักษณ์ตัวเองเป็น ‘วัตถุทางเพศ’ ไม่ต่างอะไรจากสาวๆ ในเพลง/มิวสิควิดีโอ ของแร๊พเปอร์/ฮิพฮอพ ฝ่ายชาย สำเนียง ‘เฟมินิสต์’ ของลิล คิม เป็นไปในทางก้าวร้าว ดุดัน กร่างประหนึ่งแร๊พเปอร์ชายแต่ตั้งตัวเองไว้ที่ความเป็น ‘Mother Of Bitch’ (และสามารถฟาดงวงฟาดงาได้กับทุกเพศ) ดังจะเห็นได้ในเพลง “Suck My Dick”

Imagine if I was dude and hittin’ cats from the back
With no strings attached. Yeah nigga, picture that!
I treat y’all niggas like y’all treat us… And if I was dude I’d tell y’all to suck my dick.”

แรงสั่นสะเทือนของ ‘เพศหญิง’ ในโลกของเพลงป๊อปเริ่มต้นอีกครั้งจากเกิร์ลกรุ๊ปจากเกาะอังกฤษอย่าง ‘Spice Girls’ ในปี 1996 ด้วยการเสนอคอนเซ็ปต์ ‘Girl Power’ กับการสร้าง ‘ชื่อ’ ของสมาชิกแต่ละคนเป็น ‘ผู้หญิง’ ในแต่ละแบบ แต่ทั้งหมดเป็นเพียงกระดาษห่อลูกกวาดสีสวย เพื่อไว้ล่อผู้ซื้อในโลกอุตสาหกรรมเพลงป๊อป แต่เพลงของพวกเธอกลับไม่มีสำเนียง ‘Girl Power’ ใดๆ ที่ใกล้เคียงเห็นจะเป็นซิงเกิลที่ 2 ‘2 Become 1’ ที่พูดถึงการร่วมรักและการใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งหากจะย้อนไปก็ถือว่าไม่ได้เป็นอะไรที่ใหม่เพราะในปี 1995 เพลงอย่าง ‘Waterfalls’ ของเกิร์ลกรุ๊ปฝั่งอเมริกาอย่าง TLC ก็พูดถึงประเด็นนี้อย่างชัดเจนใสเคลียร์ในมิวสิควิดีโอมากกว่า Spice Girls ด้วยซ้ำไป

กระแสของจริงมาจากเพลงอันโด่งดังในปี 1997 มากกว่า กับเพลงอาร์แอนด์บีแย่งผู้ชายอย่าง ‘The Boy Is Mine’ ของสองสาว Brandy และ Monica เพลงนี้เรียกได้ว่าเปิดอีกหนึ่งมุมมองใหม่ของผู้หญิง ที่ไม่ได้นั่งทุกข์ร้องไห้ ปล่อยเขาไปกับใครอีกคนเหมือนในเพลงอาร์แอนด์บีทั่วไปก่อนหน้านี้ แต่เธอทั้งสองกลับลุกขึ้นมาบอกว่า ได้อย่างไรในเมื่อผู้ชายคนนี้ ‘เป็นของฉัน’

ผู้ชายการเป็น ‘Subject’ ในเพลง แต่เป็น ‘Subject’ ที่แตกต่างจากที่ผ่านมา ไม่ใช่ Subject ในเรื่องความรัก แต่เป็น Subject แบบ Object คือสิ่งที่ของที่สามารถยื้อแย่ง หรือโอนกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของได้

ในซิงเกิลต่อมาของ Monica ยังมีประเด็นที่น่าสนใจเมื่อเธอพูดถึง ‘ครั้งแรก’ ในเพลง ‘First Night’ ในปี 1998 เธอร้องว่า

“I should make a move but I won’t. I know your probly thinkin’ something is wrong Knowing if I do that it won’t be right. I don’t get down on the first night”

‘First Night’ ในการพูดถึง ‘ครั้งแรก’ ของผู้หญิง เธอสารภาพว่าทั้งอยากทั้งกลัว แต่ในความกลัวนั้นก็อยากจะทำ แล้วเธอก็พลิกกลับ (แบบถอยหลังเข้าคลอง) ไปสู่คำตอบที่ว่า ‘ถ้าจะรักฉัน อยากมีอะไรกับฉัน เราน่าจะรู้จักกัน (ให้ดี) ก่อน

ความโด่งดังและกระแสของเพลง ‘The Boy Is Mine’ นำมาซึ่งเนื้อหาใหม่ของเพลงป๊อปที่ตามกันมาเป็นระลอก โดยเฉพาะในสาขาเพลงอาร์แอนด์บี TLC ดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้

ปี 1999 TLC ออกอัลบั้มที่ 3 ชื่อ ‘Fanmail’ มีเพลงเปิดตัวที่สำเนียง ‘เฟมินิสต์’ จ๋า…มากคือ ‘No Scrubs’ เธอร้องว่า

“If you don’t have a car and you’re walking …Oh yes son I’m talkin’ to you. If you live at home wit’ your momma  Oh yes son I’m talkin’ to you (baby)

If you have a shorty but you don’t show love. Oh yes son I’m talkin’ to you
Wanna get with me with no money. Oh no I don’t want no (oh)”

ดูเหมือนอิทธิแบบแร๊พ/ฮิพฮอพ จะมีอยู่ในสายเลือด วิธีการมอง ‘ผู้ชาย’ ของ TLC ก็ไม่ต่างกับ Missy Elliot หรือ Lil Kim เท่าไร เพียงแต่ในเพลง ‘ป๊อป’ เพลงนี้สำเนียงไม่ได้รุนแรงก้าวร้าวมาก แต่เป็นในเชิงเหยียดหยาม เสียดสี ความเป็นผู้ชายในแบบ ‘ที่ไม่พึงใจ’ ว่ามีลักษณะอย่างไร ทั้งอันนั้น ‘สั้น’ แต่ก็ยังโอเค ไม่มีรถเหรอ เอาน่าไม่เป็นไร อาศัยอยู่กับแม่เหรอ…เอ ไม่เป็นไรหรอก พอได้ แต่ถ้า ไม่มีเงิน…ไปไกลๆ เลย

ในอัลบั้ม ‘Fanmail’ เต็มไปด้วยการสื่อสารประเด็นเรื่องเพศ ทั้งในเพลง ‘I’m Good At Being Bad’ ที่เป็นมาดอนน่าในภาคแร๊พฮิพฮอพ

ที่น่าสนใจอีกเพลงคือซิงเกิลที่ 3 ‘Unpretty’ ที่พูดถึงการเป็นเหยื่อของผู้หญิงในโลกของผู้ชาย ทั้งการศัลยกรรม การเสริมสวย การถูกลวนลามทางเพศ และวาทกรรมความสวยที่ทำให้ผู้หญิงทั้งหลายต้องเจ็บปวดกับภาพลักษณ์ภายนอกที่ต้องทำให้ต้องใจชาย และยังทำงานต่อมาอย่างแข็งขันในเพลง ‘Damaged’ ในอัลบั้มต่อมา

จากความดังของ ‘The Boy Is Mine’ และ ‘No Scrubs’ ทำให้มีเพลงสำเนียง ‘เฟมินิสต์’ ของนักร้องสาวอาร์แอนด์บีตามมาอีกเป็นกระพรวน ทั้ง ‘He Wasn’t Man Enoght For Me’ ของ Toni Braxton ในปี 2000 หรือแม้กระทั่ง ‘It’s Not Right But It’s Okay’ ในปี 1999 ของ Whitney Houston ที่พยายามสื่อสารว่าผู้ชายที่ไม่เป็นที่ ‘พึงพอใจ’ นั้นเป็นอย่างไร

แต่ผู้ที่ทำให้กระบวน ‘เฟมินิสต์’ ของเหล่านักร้องสาวอาร์แอนด์บีต้องหงายหลังไปตามๆ กันทั้งแถบคือนักร้องสาวอาร์แอนด์บีอีกคนคือ Ashanti กับเพลงเปิดตัวเพลงแรก ‘Foolish’ ในปี 2002 ที่ส่งสารว่าผู้หญิงที่ตกหลุกรักนั้นก็โง่เง่าพอกัน สุดท้ายเมื่อผู้ชายมาขอคืนดีก็เข่าอ่อนปวกเปียก ไม่ว่าผู้ชายคนนั้นจะเคยทำชั่วกับตัวเองมากน้อยแค่ไหน ยอมรับเสียเถอะ

หลังจากการตายของ Left Eye สมาชิกของวง TLC ทำให้ TLC ไม่โด่งดังเท่าที่ควร แต่ก็มีเกิร์ลกรุ๊ปวงใหม่ที่เรียกว่ามาสืบทายาทอสูรสำเนียงเฟมินิสต์ของ TLC ได้อย่างทันควัน ซึ่งก็คือ Destiny’s Child นั่นเอง

เพลงที่ส่งให้ Destiny’s Child ดังไปทั่วโลกนั่นก็คือ ‘Bills Bills Bills’ ในปี 1999ที่พูดถึงผู้ชายที่ไม่สามารถจ่าย ‘บิล’ ให้เธอได้ ซึ่งเป็นผู้ชายประเภทที่ผู้หญิงไม่มีวันจะ ‘เอา’ เหมือนในเพลง ‘No Scrubs’ ของ TLC เปี๊ยบ จะว่าไปแล้วนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย หากย้อนกลับไปฟังเพลงเปิดตัวของ Paula Cole กับเพลง ‘Where Have All The Cowboy Gone’ ในปี 1997

พอลล่า บอกว่า ในขณะที่ผู้หญิงใฝ่ฝันถึงผู้ชาย มาดแมนแฮนซั่มอย่าง John Wayne แต่ในชีวิตจริงกลับไปไอ้ขี้เมาที่นั่งดื่มเบียร์หน้าจอโทรทัศน์ ในขณะที่ผู้หญิงต้องรีดผ้า ล้างจาน ทำความสะอาดบ้าน แต่ไม่เป็นไรหรอกตราบใดที่ผู้ชายยังเป็นคน ‘จ่าย’ ในขณะที่ Destiny’s Child กับภาคต่อย่าง ‘Bills Bills Bills’ บอกว่าถ้าไม่ยอมจ่ายตั้งแต่แรกก็ไม่เอา

ในวงการเพลงป๊อปที่ต่างมีศิลปินเวียนว่ายตายเกิด ล้วนเต็มไปด้วยงานภาคต่อเหมือนดังกรณี Paula Cole และ Destiny’s Child ร็อกเกอร์สาว Alanis Morissette ที่สร้างปรากฏการณ์สะท้านสะเทือนวงการด้วยอัลบั้มชุดแรก ‘Jagged Little Pills’ ในปี 1995 ลูกหม้อจากค่าย Maverick ของมาดอนน่าและเป็นศิลปินเบอร์แรกของค่ายนี้ ก็สืบสานความก้าวร้าวดุดันในพลังหญิงมาจากเจ้าของค่ายในเพลง ‘You Ougta Know’ 

Garbage วงกรันจ์ร็อกที่มีโลโก้คือนักร้องสาว Shirley Manson ผู้ซึ่งให้สัมภาษณ์ว่าได้รับอิทธิพลมาจาก Patti Smith งานของ Garbage นั้นพูดถึงเรื่องเพศไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่เพลง ‘Queer’ ในปี 1995 งานที่ยั่วยุอารมณ์ของพวก Homophobia ทั้งหลาย ในแบบคุกคามนิดๆ และตัวเชอร์ลีย์แมนสันเองก็เล่นกับภาพความเป็น ‘เกย์’ อย่างคลุมเครือเหมือนที่ Patti Smith เล่นบทร็อกเกอร์ไร้เพศ ตอกย้ำอิทธิในประเด็นนี้ด้วยซิงเกิลเพลง ‘Androgyny’ ในปี 2001 กับประเด็นเรื่องเซ็กซ์ไร้เพศ หรือเพศอันคลุมเครือในบริบทของเพลงร็อก เชอร์ลีย์ แมนสัน คือเงาสะท้อนของ Patti Smith แต่เป็นในแบบตรงกันข้าม เชอร์ลีย์นั้น เซ็กซี่ สวยงาม ยั่วเย้าอารมณ์ ส่วน Patti Smith เล่นบท เท่ มาดแมน แต่ทั้ง 2 ต่าง ‘เล่น’ กับ ‘ภาพ’ ในประเด็นเดียวกันเรื่อง ‘เพศสภาพ’ 

กับเพลงคันทรีก็เช่นเดียวกัน Rosanne Cash เคยร้อง ‘Man Smart, Woman Smarter’ เอาไว้ ซึ่งเป็นการยกย่องว่าผู้หญิงนั้นเหนือกว่าผู้ชาย นักร้องคันทรีสาวสุดสวยอย่าง Shania Twain ก็ร้อง ‘That’s Don’t Impress Me Much’ ไว้ในปี 1999

“That don’t impress me much. So you got the brains but have you got the touch?. Now don’t get me wrong, yeah I think you’re alright. But that won’t keep me warm in the middle of the night. That don’t impress me much”

ซึ่งก็พยายาม ‘ข่ม’ ผู้ชาย และยกย่องผู้หญิงไม่ต่างจากคอนเซ็ปต์ที่ Rosanne Cash เคยร้องไว้

กลับมาที่คลื่นเฟมินิสต์ลูกใหม่อย่าง Destiny’s Child หลังจากเพลง ‘Bills Bills Bills’ แล้ว พวกเธอยังตอกย้ำสำเนียงเฟมินิสต์ให้หนักแน่นเข้มข้นมากขึ้นไปอีกในซิงเกิล ‘Independent Woman’ ทั้ง Part I และ Part II ในปี 2000 ที่ร้องว่า

“The shoes on my feet I’ve bought it. The clothes I’m wearing I’ve bought it. The rock I’m rockin’ ‘Cause I depend on me. If I wanted the watch you’re wearin’ I’ll buy it. The house I live in
I’ve bought it. The car I’m driving. I’ve bought it. I depend on me”

เพลงนี้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ผู้หญิงบู๊แอคชั่นอย่าง ‘Charlie’s Angels’ ความแตกต่างในสำเนียงของ Destiny’s Child คือกระบวนการสร้างอำนาจให้แก่ผู้หญิงต่อผู้ชายนั้นเคลื่อนย้ายบริบทจากเวทีคอนเสิร์ตอย่างในแบบสาวร็อก จากเรื่องเพศ จากการกล่าวด่าทอผู้ชาย เสียดสีเย้ยหยัน หรือเรื่องรักๆ ใคร่ๆ มาสู่ ‘ผู้หญิงอิสระ’ ที่เป็นตัวของตัวเองซึ่งสมาทานเข้ากับโลกวัตถุนิยม ผู้หญิงสมัยใหม่ที่ซื้อสิ่งของเองได้อย่างที่เธอร้องว่าอะไรๆ ฉันก็ซื้อเอง ฉันจะง้อผู้ชายไปทำไม ซึ่งแตกต่างจาก ‘Material Girl ของมาดอนน่า ที่ยังรอผู้ชายให้ซื้อให้ หรือเพลงของ Paula Cole ที่ผู้หญิงยังอยู่ในบ้าน ในครัว

ผู้หญิงในแบบใหม่ในเพลงของ Destiny’s Child จึงไม่เหมือนผู้หญิงในบทเพลงที่ผ่านมา กลายเป็นผู้หญิงในโลกสมัยใหม่เต็มตัว เพราะเธอๆๆ เหล่านั้น หากินด้วยลำแข้งของตัวเอง พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้ชาย (แต่หันมาพึ่งเสื้อผ้า ร้องเท้า สร้อยเพชรแทน) ซึ่งภาพแทนนี้สะท้อนให้เห็นต่อๆ มาอย่างในเพลง ‘Labels Or Love’ ของ Fergie ที่เปรียบเทียบบรรดาสิ่งของซูเปอร์แบรนด์กับความรัก หรือ ‘Rich Girl’ ของ Gwen Stefani ซึ่งตอนนี้ผู้หญิงเดินทางเข้าสู่โลกวัตถุนิยมเต็มตัวแล้ว และพร้อมที่จะเป็นอิสระจากผู้ชายได้ทุกเมื่อหากเธอไม่ได้อะไรที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความรัก เงินทอง สิ่งของ หรือรังเกียจพฤติกรรมอื่นๆ (ที่ไม่เป็นที่พึงใจ) ของผู้ชาย

Destiny’s Child ยังทำงานแบบเกิร์ลพาวเวอร์ยุคใหม่อย่างแข็งขัน ไปจนถึงซิงเกิล ‘Survivor’ ในปี 2001 ก่อนจะกระทำการฆาตกรรมตัวเองในอัลบั้ม Destiny Fulfilled ในปี 2004 (เหมือนกับที่อารีธา แฟรงกลินทำ) กับเพลง ‘Soldier’ และ ‘Cater2U’ 

เด็กสาวที่ดูเหมือนจะพยายามเดินตามทางของมาดอนน่ามากที่สุดเห็นจะเป็นคริสติน่า อากีเลร่า หลังจากเปิดตัวด้วยภาพสาวจีนี่ในขวดแก้วจากอัลบั้มแรกในปี 1999 แล้ว เธอปรับภาพลักษณ์ตัวเองให้ดูแข็งแกร่งขึ้นในอัลบั้มต่อมา และเริ่มมีเนื้อหาเป็นหญิงแกร่งมากขึ้น

จากซิงเกิล ‘Dirty’ เธอเปลี่ยนตัวเองเข้าไปเป็นสาวที่เลอะเทอะไปทั่ว ‘เซ็กซ์’ ทั้งเนื้อหาของเพลงและภาพลักษณ์ใหม่มิวสิควิดีโอ เหมือนที่มาดอนน่าเคยทำ ตามมาด้วยซิงเกิลส่งเสริมความเป็นมนุษย์ดีเด่นอย่าง ‘Beautiful’ ซึ่งก็ไม่ต่างจาก ‘Unpretty’ ของ TLC หรือ ‘I’m Not My Hair’ ของ India Arie เท่าไร หลังจากนั้นก็มีเพลงอย่าง ‘Stronger’ และก้าวไปเป็นฮิพฮอพหญิงกับการร่วมงานกับแร๊ฟเปอร์หญิงอย่าง Eve ในเพลง ‘Can’t Hold Us Down’ เพลงที่ส่งสารไปบอกผู้ชายทั้งหลาย และกลับมาด้วยอัลบั้มล่าสุดกับเพลง ‘Still Dirty’ ภาคต่อของ ‘Dirty’ ที่มีเนื้อหาน่าสนใจว่า

“If I want to wear lingere outside of my clothes. If I want to be erotic in my own videos. If I want to be provacative, well that ain’t a sin. Maybe you’re not comfortable in your own skin”

แต่คอนเซ็ปต์ของผู้หญิง ผู้ชาย ในเพลงของเธอก็ยังเป็นคอนเซ็ปต์เดิมๆ ที่ถูกใช้ เปลี่ยนเวียนผลัดกันมาหลากหลายศิลปิน จึงไม่มีอะไรใหม่ น่าสนใจและไม่สามารถเทียบเคียงมาดอนน่าได้เลยแม้แต่นิด 

สาวป๊อปคนล่าสุดของวงการที่น่าสนใจคือ Katy Perry กับอัลบั้มแรก ‘One Of The Boys’ ในปี 2008 ที่ยังดังข้ามปีมาถึงปีนี้

เพียงแค่ชื่ออัลบั้มของเธอก็น่าสนใจแล้ว

ในเพลง ‘One Of The Boys’ ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่ปฏิเสธอะไรที่ ‘หญิงๆ’ แต่เลือกอะไรที่เป็น ‘บอยๆ’ แต่ในเรื่องความรักเธออยากให้ผู้ชายมองว่าเธอเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ไม่อยากเป็นน้องสาว

ดูเผินๆ มันก็ไม่ต่างอะไรกับเพลงไทยทั้งหลายประเภทไม่อยากเป็นน้องสาว ไม่อยากได้พี่ชายที่ได้ยินกันเกลื่อน แต่ในขณะที่สาวๆ ที่ร้องเพลงนี้มักแสดงภาพลักษณ์เป็น ‘สาวห้าว’ เหมือนอย่างที่นักร้องสาว Pink ทำและทำมาก่อน Katy Perry เสียอีก เคธีกลับเสนอภาพตัวเองเป็น ‘Pin-Up Girl’ ดูได้จากปกอัลบั้มและภาพประกอบข้างในที่เธอแปลงกลายเป็นสาวย้อนยุคในปฏิทินได้อย่างยั่วยวน

มี 3 เพลงในอัลบั้มที่เสนอประเด็นที่น่าสนใจประสอดคล้องกันเป็นอย่างมาก เพลงแรกคือเพลงที่ออกสู่หูฟังสาธารณชนเป็นเพลงแรกแต่ไม่ได้เป็นซิงเกิลคือ ‘Ur So Gay’ เนื้อหามีอยู่ว่า

“I hope you hang yourself with your H&M scarf. While jacking off listening to Mozart. You bitch and moan about LA. Wishing you were in the rain reading Hemingway . You don’t eat meat And drive electrical cars
You’re so indie rock it’s almost an art You need SPF 45 just to stay alive”
และตบท้ายว่า “You’re so gay and you don’t even like boys”

ในเพลงนี้เธอกล่าวถึงสิ่งต่างๆ อันเป็นเกย์สเตอริโอไทป์ (ในสังคมอเมริกัน) ทั้งพันผ้าพันคอ H&M ฟังโมสาร์ต ใช้ซันบล็อก แต่งหน้า ฯลฯ ก่อนจะตบท้ายว่าเขา (ซึ่งเป็นผู้ชายที่เธอหลงรัก) เหมือนเกย์มากกว่าจะเป็นผู้ชาย

ในบทสัมภาษณ์ เคธี่บอกไว้ว่าผู้ชายที่เธอกล่าวถึง (แฟนเก่า) ไม่ใช่เกย์ แต่เป็นผู้ชายที่ทำตัวเหมือนเกย์ตามพฤติกรรมการสเตอริโอไทป์ของสังคม

เพลงต่อมาที่มีเนื้อหาเชื่อมกันกับเพลงนี้คือ ‘Hot&Cold’ เธอร้องว่า

“You change your mind. Like a girl changes clothes. Yeah you, PMS
Like a bitch. I would know”

ผู้ชายในบทเพลงของเคธี่จึงต่างจากผู้ชายของ TLC Destiny’s Child หรือของใครๆ เธอไม่ได้เล่นที่ประเด็นความแตกต่างกันของผู้หญิงกับผู้ชายอย่าง Man Are From Mars Woman Are Form Venus ไม่ได้มานั่งไขความรู้สึกลึกๆ ของผู้หญิง ไม่ได้มานั่งก่นด่า เสียดสีผู้ชาย (แบบจน เล็ก โง่ ฯลฯ) หรือยกหางผู้หญิง (แบบ Girl Power) 

กระบวนทัศน์ทาง ‘เพศ’ ในเพลงของเคธีคือการ ‘Desexualize’ ผู้ชาย แต่ไม่เหมือนกับการบอกว่า อุ๊ย! คุณน่ะเล็กจังไม่เป็นสมกับเป็นผู้ชาย หรือไม่ปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างสุภาพบุรุษเลย ฯลฯ อย่างที่เหล่านักร้องหญิงสำเนียงเฟมินิสต์คนอื่นๆ ก่อนหน้านี้เคยทำ แต่เธอ ‘ลดทอนความเป็นชาย’ ด้วยการแปะป้าย ‘สิ่งที่ไม่ใช่ผู้ชาย’ ให้กับผู้ชาย ทั้งความเป็นเกย์จากพฤติกรรม ซึ่งสอดรับกับสังคมสมัยใหม่ทั้งเรื่ออง Metrosexual หรือ Urbansexual หรือในเพลง ‘Hot&Cold’ กับการแปะป้ายว่าผู้ชายอะไรเปลี่ยนใจอย่างกับผู้หญิงเปลี่ยนเสื้อผ้า เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่ใช้ ‘บรรยาย’ ลักษณะของผู้หญิง เหมือนพฤติกรรมที่ใช้บรรยายลักษณะเกย์ในเพลง ‘Ur So Gay’

แต่ไม่มีใครเป็นเกย์ (จริง) สักคน เหมือนที่เธอก็ไม่ได้เป็นเลสเบี้ยน ในเพลง ‘I Kissed A Girl’ เธอร้องว่า

“I kissed a girl and I liked it, the taste of her cherry chapstick.
I kissed a girl just to try it, I hope my boyfriend don’t mind it.
It felt so wrong, it felt so right. Don’t mean I’m in love tonight.
I kissed a girl and I liked it (I liked it).

แม้เรื่องจูบผู้หญิง (ของนักร้องหญิง) จะไม่ใช่เรื่องใหม่ มาดอนน่ายังจูบคริสติน่า อากีเลร่าและบริตนีย์ สเปียร์สสดๆ ในงาน MTV Music Video Awards เหมือนเช่นคู่ดูโอสาวจากรัสเซีย T.a.t.u.’ แต่เพลง ‘I Kissed Girl’ ที่ร้องโดยนักร้องหญิงก็ยังเป็นที่ฮือฮา 

เคธี่เล่นกับประเด็นเรื่องเพศ ที่ไม่มีเพศไหนมีพฤติกรรมที่อยู่ในรูปในรอบตามกฎเกณฑ์ของสังคม ผู้ชายถูกหาว่าเป็นเกย์ หรือมีพฤติกรรมอย่างผู้หญิง ผู้หญิงก็จูบกับผู้หญิงด้วยกันเองแถมยังชอบอกชอบใจในขณะที่ตัวเองก็มี ‘บอยเฟรนด์’ อยู่แล้ว ในกรณีของผู้หญิง (ในเพลง) มันเป็นการกบฏที่สร้างอำนาจต่อผู้ชาย ในกรณีผู้ชาย (ในเพลง) กลับกลายเป็นลดทอนอำนาจความเป็นผู้ชาย

ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่ก้าวหน้า แต่เคธีหยุดมันไว้แค่ปรากฏการณ์การตลาดของเพลงป๊อป ด้วยสำเนียงเดียวกันกับ ‘Girl Just Wanna Have Fun’ ของ Cyndi Lauper เมื่อหลากหลายบทสัมภาษณ์ของเธอส่งสำเนียงของเรื่องสนุกสนานมากกว่าจะมีนัยประเด็นทางการเมือง 

สำเนียงเฟมินิสต์ของเธอที่แฝงไว้อย่างชัดเจนในบทเพลงจึงฟังดูแผ่วเบากว่าใครๆ

Tags: , ,