เมื่อกล่าวถึง ‘การโจรกรรมทางวิชาการ’ (Plagiarism) ผู้คนมักนึกถึงการคัดลอกผลงานทางวิชาการเพียงเท่านั้น โดยเฉพาะคำเตือนของอาจารย์ผู้สอนในวัยเรียนถึงบทลงโทษร้ายแรง หากตรวจสอบแล้วพบว่า มีการคัดลอก ดัดแปลง หรืออวดอ้างว่าเป็นผลงานของตนเองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงาน
แต่อันที่จริง การโจรกรรมทางวิชาการยังรวมถึงผลงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแฟนฟิกชัน คำพูด บทความวิเคราะห์ต่างๆ หรือแม้แต่ภาพวาด ภาพกราฟิก ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของผู้จัดทำ
นอกจากนั้น การพิจารณาความผิดการขโมยผลงาน ไม่จำกัดแค่เพียงการคัดลอกตามตัวอักษร word by word เพียงอย่างเดียว เพราะวิธีการอื่นๆ ที่นับว่าเป็นความผิดยังประกอบด้วย การนำความรู้และข้อมูลของผู้อื่นมาใช้ หรือการทำผลงานโดยไม่มีแหล่งอ้างอิง รวมถึง ‘การคัดลอกเค้าโครงผลงานของผู้อื่น’ มาผสมกับความคิดของตนเองเป็นผลงานชิ้นใหม่ ซึ่งหลายคนมักอ้างว่า ‘ได้รับแรงบันดาลใจ’ ทว่า นี่คือหนึ่งในฐานความผิดการคัดลอกทางวิชาการที่ร้ายแรงที่สุด
น่าเศร้าอย่างมาก เมื่อสภาวะอันน่ารังเกียจนี้ กลายเป็น ‘เรื่องปกติในความไม่ปกติ’ หลังจากการโจรกรรมทางวิชาการแพร่หลายในสังคม โดยเฉพาะประเทศไทย แม้กระทั่งสำนักพิมพ์ระดับสูง สื่อข่าวบางแห่ง หรือเซเลบคนดัง ยังกระทำอย่างโจ่งแจ้ง และไม่ได้รับบทลงโทษใดๆ ที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม หากมองปรากฏการณ์นี้ในการเมืองระหว่างประเทศ จะพบว่า ไม่ใช่แค่คนธรรมดาที่ต้องพบกับการโจรกรรมทางวิชาการ เพราะหนึ่งในเหล่าอาชีพที่พูดต่อสาธารณชนบ่อย พูดตลอดเวลา และต้องพูดให้จับใจคนฟัง คือ บรรดานักการเมือง ผู้นำประเทศ ซึ่งสามารถเป็นหัวขโมยได้เช่นกัน หากพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้เป็นคนคิดคำพูดเอง แต่กลับฝากชะตากรรมไว้ที่ผู้เชี่ยวชาญ
เพราะ ‘สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง’ เรื่องราวอันน่าขายหน้าในสายตาชาวโลกจึงเกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว เมื่อประชาชนพร้อมใจกันตรวจสอบคำพูดของผู้นำโลกอย่างละเอียดยิบ จนหลายครั้งความผิดพลาดข้างต้นกลายเป็น ‘มีม’ (Meme) ให้ขำขันในโลกออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง
ยังไม่รวมถึงผู้นำบางคนที่โดน ‘อดีต’ ตามไล่ล่า เมื่อมีแสงในสังคม ซึ่งมักถูกเปิดเผยความผิดการโจรกรรมทางวิชาการในผลงานของตนเองที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นวิทยานิพนธ์ รายงานประจำวิชา รวมถึงหนังสือของตนเอง ซึ่งหลายคนก็เอาตัวรอดด้วยการเปิดการ์ด ‘รู้เท่าไม่ถึงการณ์’ ทั้งๆ ที่การอ้างอิงและการให้เครดิตกับแหล่งข้อมูลเป็นเรื่องที่ควรตระหนักรู้ และเป็นมารยาททางวิชาการอีกอย่างหนึ่ง
The Momentum พาผู้อ่านทุกท่านย้อนรอย ‘ประวัติศาสตร์การ Plagiarism’ ของ 5 นักการเมืองและผู้นำโลกคนสำคัญผ่านการกล่าวสุนทรพจน์ คำพูดที่ปรากฏในหน้าสื่อ รวมถึงผลงานการเขียนในอดีต เมื่อคนธรรมดาไม่ได้ถูก ‘ก๊อปงาน’ หรือโดน ‘ขโมยไอเดีย’ เพียงฝ่ายเดียว
1. โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา
ใครจะคิดว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลก จะมีรอยด่างพร้อยน่าอับอาย กลายเป็นตราบาปของเขาจนถึงทุกวันนี้ คือข้อกล่าวหาการคัดลอกบทสุนทรพจน์ในปี 1988 ทำให้เขาต้องถอนตัวจากการเสนอรายชื่อเพื่อเป็นแคนดิเดตท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต (Democrat Party) ในปีดังกล่าว แม้ว่าไบเดนจะเป็นตัวเต็งที่แข็งแกร่งมากก็ตาม
เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้น หลังจากบทสุนทรพจน์ของเขาคล้ายคลึงกับ นีล คินน็อก (Neil Kinnock) นักการเมืองพรรคแรงงานอังกฤษ (Labour Party) ที่ปราศรัยก่อนหน้าไบเดนเมื่อ 4 เดือนก่อน
“ทำไมผมถึงเป็นคนแรกจากตระกูลคินน็อกในหลายพันรุ่นที่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้? แล้วทำไมเกรนิตถึงเป็นผู้หญิงคนแรกในครอบครัวจากหลายพันรุ่นที่สามารถเรียนในมหาวิทยาลัยได้? ทั้งหมดเพราะบรรพบุรุษของเราโง่เหรอ?” สุนทรพจน์ของคินน็อกที่อ้างถึง ตนเอง และ เกรนิต คินน็อก อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้านยุโรปและอเมริกาเหนือ ภรรยาของเขาถึงมีโอกาสในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย
ขณะที่บทสุนทรพจน์ของไบเดนก็มีเค้าโครงเดียวกับคินน็อก จนกล่าวได้ว่า ยากที่จะปฏิเสธว่าไม่มีการคัดลอกเกิดขึ้น
“ผมเริ่มคิดว่าทำไมผมถึงมาอยู่จุดนี้ ทำไม โจ ไบเดน ถึงเป็นคนแรกในครอบครัวที่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้? ทำไมภรรยาของผมถึงเป็นคนแรกที่เข้าเรียนในวิทยาลัยได้? เป็นเพราะพ่อและแม่ของเราโง่เหรอ? เป็นเพราะพวกเราไม่ได้ทำงานหนัก? บรรพบุรุษของเราทำงานหนักในเหมืองถ่านหินทางตะวันออกเฉียงเหนือของเพนซิลเวเนียถึง 12 ชั่วโมง มีเวลาเล่นฟุตบอล 4 ชั่วโมง? ก็เพราะพวกเราไม่มีที่ให้ยืนไง”
ทันทีที่ปรากฏบทสุนทรพจน์นี้ออกมา สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่น นิวยอร์กไทม์ (The New York Times) ชี้ให้เห็นว่า นี่คือการคัดลอกสุนทรพจน์ของคินน็อก รวมถึงข้อสันนิษฐานถึงการหยิบยกคำพูดของอดีตผู้นำคนอื่น มาดัดแปลงเป็นคำพูดของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) โรเบิร์ต เคนเนดี (Robert Kennedy)
นอกจากนั้น ยังมีการสอบสวนประเด็นอื่นๆ ของไบเดนในอดีต คือการโจรกรรมทางวิชาการในปี 1965 ของไบเดน ซึ่งผู้นำคนนี้ก็ออกมายอมรับเองว่า เขาเคยก่อความผิดดังกล่าวจริง หลังจากใช้ข้อมูลบทความวิชาการด้านกฎหมาย ‘Tortious Acts as a Basis for Jurisdiction in Products Liability Cases’ 5 หน้า แต่กลับ ‘ไม่ใส่อ้างอิง’ ในงานเขียน เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาปีหนึ่งในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยซีราคิวส์ (Syracuse University)
เขาจึงแสดงตัวขอโทษกับทางคณะนิติศาสตร์ต่อความผิดพลาดที่ก่อไป โดยอ้างว่าไม่ได้ตั้งใจ
“ผมผิดไปแล้ว แต่ผมไม่ได้มีเจตนาร้ายเช่นนั้น ผมไม่คิดจะชี้โพรงให้กระรอกกับใครก็ตาม จะวันนี้หรือพรุ่งนี้ ผมก็ไม่คิดเช่นนั้น” ไบเดนกล่าว ก่อนจะถูกกระแสสังคมบังคับให้ถอนตัวจากการเป็นแคนดิเดตประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต
2. เมลาเนีย ทรัมป์ (Melania Trump) อดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง
ไม่ใช่แค่ประธานาธิบดีที่ตกเป็นประเด็นกับการคัดลอกผลงาน แต่เมลาเนีย ทรัมป์ อดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง ภรรยาของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ก็พบเจอกับประสบการณ์นี้เช่นเดียวกัน
เธอตกเป็นเป้าของสังคมทั่วโลกทันที หลังจากเกิดข้อถกเถียงการคัดลอกบทสุนทรพจน์ของ มิเชลล์ โอบามา (Michelle Obama) เมื่อเมลาเนียขึ้นกล่าวบนเวทีการประชุมแห่งชาติของพรรครีพับลิกกัน (Republican Party) แต่กลับมีเนื้อหาที่เหมือนกับอดีตสตรีหมายเลขหนึ่งคนก่อน
“ฉันและบารัค โอบามาถูกเลี้ยงดูด้วยคุณค่าที่เหมือนกัน นับตั้งแต่การทำงานหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่คุณต้องการ คำพูดเป็นนายของคุณ และคุณทำในสิ่งที่คุณพูด คุณทำตามสัญญา คุณปฏิบัติกับผู้คนด้วยศักดิ์ศรีและให้ความเคารพ แม้ว่าคุณจะไม่รู้จักเขา แม้ว่าคุณจะไม่เห็นด้วยก็ตาม
“บารัก โอบามา (Barack Obama) กับฉัน จะมุ่งมั่นสร้างชีวิตที่นำด้วยคุณค่าเหล่านี้ ส่งมอบให้รุ่นลูกหลาน เพราะเราต้องการให้ลูกของเรา และเด็กทั้งประเทศนี้รู้ว่า ขีดจำกัดของความสำเร็จ คือการไปถึงฝันและความอยากที่จะลงมือทำมัน” สุนทรพจน์ของมิเชลล์ โอบามาในปี 2008
แม้ว่าจะไม่ได้คัดลอกอย่างละเอียดคำต่อคำ แต่คำพูดของเมลาเนีย ทรัมป์มีเนื้อหาบางอย่างเหมือนมิเชลล์ โอบามาอย่างปฏิเสธไม่ได้ แม้จะอ้างด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม
“พ่อแม่รู้สึกประทับใจในตัวฉันมากถึงคุณค่าต่างๆ นับตั้งแต่การทำงานหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่คุณต้องการ คำพูดเป็นนายของคุณ คุณทำในสิ่งที่คุณพูด คุณทำตามสัญญา คุณปฏิบัติกับผู้คนด้วยความเคารพ
“พ่อแม่ของฉันสอนให้เคารพในหลักการและศีลธรรมเหล่านั้นในการใช้ชีวิต นี่คือคำสั่งสอนที่ฉันส่งต่อให้กับลูกของเรา และเราจะส่งผ่านคำสอนดังกล่าวไปยังรุ่นลูกหลาน เพราะเราอยากให้เด็กๆ ของประเทศนี้ รู้ว่าขีดจำกัดของการประสบความสำเร็จ คือ ความฝันที่แข็งแกร่ง และความอยากที่จะลงมือทำมัน” ส่วนหนึ่งของบทสุนทรพจน์ของเมลาเนีย
อย่างไรก็ตาม โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด โดยอ้างว่านี่คือแผนของแคนดิเดตคนสำคัญ ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) จากพรรคเดโมแครต จ้องจะเล่นงานเขา และให้คำชมกับสุนทรพจน์ของภรรยาเขาว่า “น่าเหลือเชื่อที่สุด”
ในขณะที่ พอล มานาฟอร์ต (Paul Manafort) ฝ่ายหาเสียงของทรัมป์กล่าวว่า ไม่มีการคัดลอกบทสุนทรพจน์ของ มิเชลล์ โอบามา อย่างแน่นอน รวมถึง เจสัน มิลเลอร์ (Jason Miller) ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารอธิบายว่า ทีมเขียนสุนทรพจน์ใช้เรื่องราวของเมลาเนียเป็น ‘แรงบันดาลใจ’ ในการเขียน
3. อันนาเลนา แบร์บ็อก (Annalena Baerbock) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศแห่งเยอรมนี
รัฐมนตรีหญิงแห่งพรรคกรีนส์ (Alliance 90/The Greens) แห่งเยอรมนี เคยตกที่นั่งลำบากจากประเด็นการโจรกรรมทางวิชาการ ซึ่งเธอถูกโจมตีในหลายประเด็น นับตั้งแต่ได้รับการเสนอชื่อในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งแทน อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาบุนเดิสทาก (Bundestag) ปี 2021
แบร์บ็อกถูกโจมตีหลายช่องทาง รวมถึงประวัติการโจรกรรมผลงานของเธอ เริ่มจากการตามล่าหาความจริงจากประวัติการทำงานของเธอ (Resume) ที่เข้าข่ายอวดอ้างเกินเหตุ หลังเธออ้างว่าเคยเป็นสมาชิกขององค์กรกองทุนมาร์แชล์ประจำเยอรมนี (German Marshall Fund) รวมถึงสมาชิกข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) แม้ว่าความจริงแล้ว เธอไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลยก็ตาม
นอกจากนี้หนังสือของเธอ ‘Now: How We Renew Our Country’ เข้าข่ายการโจรกรรมทางวิชาการ หลังจาก สเตฟาน เวเบอร์ (Stefan Weber) นักวิจัยด้านสื่อสารมวลชนชาวออสเตรียที่ได้รับสมญานามว่า ‘นักล่าหัวพวกโจรกรรมทางวิชาการ’ ระบุว่า หนังสือเล่มนี้มีข้อความหลายประโยคที่ไม่ได้อ้างอิงแหล่งข้อมูลโดยตรง ตั้งแต่สื่อสิ่งพิมพ์ เช่น นิตยสาร Der Spiegel หนังสือพิมพ์ Tagesspiegel รวมถึงหน่วยงานของรัฐบาลอย่าง Federal Agency for Civic Education
แม้ว่าทนายความประจำพรรคกรีนส์จะออกมาขู่ว่า นี่คือการลอบทำร้ายแบร์บ็อก แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนนี้ ก็ออกมายอมรับภายหลังว่า เป็นความผิดของเธอที่ประมาทมากเกินไป
“แต่ฉันจะรับคำวิจารณ์ไว้อย่างจริงจัง เมื่อมองย้อนไป มันก็ควรจะดีกว่านี้จริงๆ ถ้าฉันทำงานแล้วอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลลงในหนังสือ” เธอกล่าว
4. พาล ชมิตต์ (Pál Schmitt) อดีตประธานาธิบดีฮังการี
อดีตนักกีฬาฟันดาบโอลิมปิกแห่งฮังการีที่ก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศ เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการโจรกรรมทางวิชาการ ไม่เพียงสูญเสียตำแหน่งประธานาธิบดี เขายังต้องถูกริบ ‘ปริญญาเอก’ คืน หลังจากมีการค้นพบว่า วิทยานิพนธ์ของเขาเข้าข่ายการคัดลอกวรรณกรรมครั้งใหญ่
“จากวิทยานิพนธ์ของอดีตดุษฎีบัณฑิต ที่เต็มไปด้วยการเขียนผลงานด้วยการแปลตรงตัวโดยไม่ขัดเกลาคำ ขัดต่อความเป็นมืออาชีพและจริยธรรมขั้นพื้นฐานของการทำวิทยานิพนธ์ที่ต้องอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเกณฑ์สำคัญที่จะได้ปริญญาของมหาวิทยาลัย” มหาวิทยาลัย Semmelweis ออกแถลงการณ์
จากวิทยานิพนธ์ 215 หน้า มีการตรวจสอบแล้วค้นพบว่า ชมิตต์ทำการโจรกรรมทางวิชาการไปแล้ว 200 หน้า ยังไม่รวมถึงการคัดลอกคำชนิด word by word อีก 16 หน้า ซึ่งเจ้าของงานต้นฉบับ คือสื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่น HVG ออกมารายงานกับชาวโลกเองว่า พวกเขาถูกคัดลอกผลงานจากประธานาธิบดีฮังการี
แม้ว่าตอนแรกเขาปฏิเสธว่าเรื่องราวเหล่านี้ไม่มีมูลความจริง เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองที่ไม่มูลเหตุแต่อย่างใด เขาถึงกับเตรียมตัวไปดำเนินคดีในชั้นศาลเพื่อตอบโต้ผู้คนที่มองว่า เขากระทำความผิดจริง แต่การลุกฮือของผู้คนในประเทศกดดันเขาอย่างหนัก หลังจากการถอดถอนปริญญาทางมหาวิทยาลัย
“ผมเขียนวิทยานิพนธ์ของผมด้วยความรู้ที่ดีที่สุดเท่าที่ผมมีในเวลานั้น ผมไม่ได้ตั้งใจจะคัดลอกผลงาน อย่างไรก็ตาม ผมยอมรับการตัดสินใจของมหาวิทยาลัยในการถอดถอนปริญญา แต่ผมไม่มีอะไรที่จะต้องจัดการในฐานะประธานาธิบดี” อดีตประธานาธิบดียืนกรานว่าเขาจะไม่ลาออก แต่หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ ‘ตระบัดสัตย์เพื่อชาติ’
“ในสถานการณ์นี้ เมื่อปัญหาส่วนตัวของผมแบ่งแยกประเทศมากกว่าการรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ผมรู้สึกว่ามันคือหน้าที่ของผมที่ต้องยุติการดำรงตำแหน่งและลาออก” เขากล่าวทิ้งท้ายในฐานะประธานาธิบดีแห่งฮังการีในปี 2012
5. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรักษาการแห่งประเทศไทย
ปิดท้ายกันด้วยผู้ที่กำลังจะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย (?) ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือลุงตู่ของใครหลายคน ก็ตกเป็นประเด็นถึงข้อกล่าวหาการคัดลอกสุนทรพจน์ของผู้นำระดับโลกเช่นเดียวกัน
หากยังจำกันได้ ประเด็นนี้เริ่มต้นเมื่อพลเอกประยุทธ์ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ว่า
“ผมขอย้ำว่าเราทุกคนไม่มีแผนสองในเรื่องการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มีโลกที่สอง ที่เป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว” นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในเวลานั้นกล่าว
บทสุนทรพจน์นี้จะไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น หากชาวเน็ตไม่ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับคำพูดของพลเอกประยุทธ์ถึงความตระหนักต่อปัญหาสภาวะโลกรวน แต่เมื่อสืบทราบเรื่องราว ก็พบว่าสุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรีไทยตรงกับอดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ คือ บารัก โอบามา ที่กล่าวในปี 2015 ว่า
“มันอาจสายไปแล้ว เมื่อสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น (…) นักวิทยาศาสตร์บอกพวกเราว่า เราต้องลงมือมากกว่านี้
“เรามีโลกใบนี้ใบเดียว เราไม่มีแผนสองอีกต่อไป (No Plan B)”
อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการคนหนึ่งออกมาแสดงความคิดเห็นว่า โอบามาไม่ใช่ผู้ริเริ่มคำพูดดังกล่าว แต่เป็น บัน คีมุน (Ban Ki-Moon) อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ เป็นผู้ใช้คำว่า ‘No Plan B’ ก่อนเป็นคนแรก
“ไม่มีแผนสองสำหรับการดำเนินการ เช่นเดียวกับการไม่มีโลกใบที่สอง” ข้อความที่ปรากฏในเว็บไซต์ของยูเอ็นในปี 2014
ท่าทีของพลเอกประยุทธ์สำหรับสถานการณ์ดังกล่าว ก็นิ่งเฉยไม่ตอบสนองอะไร นอกจากแสดงความคิดเห็นว่า เป็นเรื่องที่ผู้นำสามารถคิดตรงกันได้ ตนไม่ได้ติดปัญหาอะไร และคำว่า ‘Plan B’ เป็นศัพท์ของกระทรวงการต่างประเทศอยู่แล้ว
อ้างอิง
https://www.thumbsup.in.th/how-to-copy
https://www.thoughtco.com/the-joe-biden-plagiarism-case-3367590
https://time.com/4413098/melania-trump-speech/
https://www.bbc.com/news/election-us-2016-36832095
https://edition.cnn.com/2016/07/19/politics/melania-trump-michelle-obama-speech/index.html
https://edition.cnn.com/2012/04/02/world/europe/hungary-president-resigns/index.html
https://www.khaosod.co.th/politics/news_6712025
https://www.posttoday.com/politics/667232
Tags: การคัดลอกงาน, โจ ไบเดน, ขโมยไอเดีย, Plagiarism, การโจรกรรมทางวิชาการ, Joe Biden, Melania Trump, Annalena Baerbock, Pál Schmitt, อันนาเลนา แบร์บ็อก, พาล ชมิตต์, เมลาเนีย ทรัมป์, ผู้นำโลก, ประยุทธ์ จันทร์โอชา