คนจนล่ะมีสิทธิ์ไหมคะ คนจนล่ะมีสิทธิ์ไหมคะ

มีงานให้ทำไหมคะ

ปริญญาไม่มี ปริญญาไม่มี

แต่มีxีนะคะ แต่มีxมอยนะคะ

ตลอด 3-4 วันที่ผ่านมา หากคุณเป็นคนที่พอเล่นโซเชียลมีเดียอย่างเอ็กซ์ (X) หรือ TikTok อยู่บ้าง เชื่อว่าน่าจะพอเห็นคลิปวิดีโอสั้นหนึ่งที่ฉายภาพของผู้หญิงหน้านิ่ง ร้องเพลงหมอลำ ท่ามกลางบรรยากาศวงดนตรีและแดนเซอร์ที่เต้นอย่างสนุกสนาน พร้อมร้องเนื้อเพลงดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา

น่าสนใจว่าเพราะอะไรเนื้อเพลงสั้นๆ เพียงไม่กี่วรรคนั้น กลับสร้างความตลกขบขันและบทสนทนาได้ข้ามวัน มากไปถึงการนำเอาเนื้อเพลงเหล่านี้ออกจากหัวไม่ได้

แต่เราจะมองอะไรได้มากกว่านั้นหรือไม่? ลองมาคิดตามกันดู

‘สมองจนจน’ ต้นฉบับดั้งเดิมจากเพลงร็อกยุค 80 ที่สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำ และการเข้าถึงโอกาสในเชิงโครงสร้าง

บางคนอาจรู้แล้ว แต่บางคนก็อาจจะยังไม่รู้ว่า เนื้อเพลงที่กำลังเป็นไวรัลอยู่ขณะนี้ไม่ใช่เนื้อเพลงต้นฉบับดั้งเดิม แต่เป็นเนื้อที่ถูกแปลงมาให้สนุกสนานตามสไตล์เพลงหมอลำ โดยการเปลี่ยนดนตรีจากร็อกจ๋าให้โจ๊ะขึ้น และเปลี่ยนเนื้อเพลงบางท่อนให้ติดหูตามทำนองที่เปลี่ยนไป

แรกเริ่มเดิมทีนั้น เนื้อเพลงนี้มาจาก เพลง ‘สมองจนจน’ เพลงร็อกของมืด ไข่มุก วงพลอย ที่ร้องว่า

คนจนมีสิทธิ์ไหมครับ คนจนมีเสียงไหมครับ

มีอะไรให้ทำไหมครับ มีงานให้ทำไหมครับ

เส้นไม่ใหญ่ไม่โต โล่ห์ไม่มีจะโชว์

แต่งตัวก็ไม่โก้ แต่ไม่โป้นะครับ

หากฟังเต็มเพลงจะเห็นว่า เนื้อเพลงสะท้อนและเสียดสีปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ที่หากเกิดมาเป็นคนฐานะยากจน มีต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจต่ำ ก็อาจจะต้องใช้ความพยายาม หรือต้องฝ่าฟันอุปสรรคอย่างยากลำบาก กว่าจะไปถึงจุดมุ่งหมายที่ใฝ่ฝันได้ ดั่งคำกล่าวที่ว่า ‘ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน’

อีกทั้งการกล่าวย้ำว่าทั้งหมดนี้พูดในฐานะ ‘คนจน’ ซึ่งอาจเป็นไปด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตา แต่ก็หวังว่าสักวันหนึ่งโอกาสจะมาถึง 

จาก ‘สมองจนจน’ สู่ ‘คนจนมีสิทธิ์ไหม’ เวอร์ชันหมอลำ ที่ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำเช่นกัน แต่เพิ่ม ‘มิติเพศสภาพ’ เข้าไปด้วย

อาจเป็นธรรมดาของการเล่นหมอลำ ที่หยิบยืมเพลงดังหรือวลีฮิตในแต่ละยุคสมัยมาทำเป็นเนื้อเพลงตามจังหวะทำนองที่คึกคักสนุกสนาน อย่างท่อน “ปริญญาไม่มี แต่มีxีนะคะ” ที่คณะหมอลำ ทิวลิป เอนเตอร์เทนเมนท์ เพิ่มเข้าไปจนกลายเป็นหนึ่งในประโยคยอดฮิตและยากจะสลัดออกจากหัว 

คณะลำซิ่งทิวลิปในวันนั้นส่งไมค์ให้กับ ดวงเพ็ญ เด่นดวง นักร้องหญิงที่ร้องเพลงท่อนนี้ออกมาด้วยสีหน้าเรียบเฉย ขัดกับเนื้อเพลงและทำนองโจ๊ะๆ สิ่งเหล่านี้เรียกเสียงฮือฮาและสร้างความสนุกสนานให้กับเหล่าผู้ชมในวันนั้นได้เป็นอย่างดี 

ในส่วนนี้อาจะมองได้ว่า ในฐานะคนจนเราก็อยากทำงาน แต่ในเมื่อเกิดมาเป็น ‘ผู้หญิง’ ซึ่งย้อนกลับไปในราว 30 ปีก่อน มักจะไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งไม่ต้องพูดถึง ‘ใบปริญญา’ ที่ดูจะเป็นไปได้ยาก ในเมื่อไร้ใบเบิกทางของชีวิตอย่างใบปริญญา อะไรจะกลายมาเป็นเครื่องมือในการทำมาหากินได้ ก็คงจะเหลือแต่ร่างกาย หรือxี ที่ยังพอนำมาขายได้เพราะเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด

เราอยากชวนมองและตั้งคำถามต่ออีกสักหน่อยว่า

1. หากความต้องการนำเสนอเนื้อตัวร่างกายนี้เป็นไปด้วยความเต็มใจ และไร้การถูกบังคับ เราสามารถมองถึง ‘ศักยภาพในการกระทำการของผู้หญิง’ (Women Agency) ได้ไหม 

2. และหากมองว่าเนื้อเพลงประมาณนี้เป็นเรื่องแปลกและบัดสีบัดเถลิง นั่นแปลว่าเรากำลังถูกมายาคติว่าด้วย ‘เซ็กซ์เป็นเรื่องต้องห้าม’ หรือ ‘เซ็กซ์เป็นเรื่องผิดบาป’ ฝังหัวอยู่หรือเปล่า

“คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ?” เพราะอะไรประโยคสั้นๆ จากเพลงเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ถึงกลับมาเป็นไวรัล

ถึงแม้ว่าเพลงนี้จะเป็นที่นิยมราว 30-40 ปีก่อน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ยังกลับมาฮิตในปัจจุบันได้ อาจเป็นเพราะเนื้อเพลงเหล่านี้ยังสะท้อนภาพความเป็น ‘คนจน’ ในไทยอย่างเห็นได้ชัด

ไม่ว่าจะเป็น ‘ใบปริญญา’ ยังคงเป็นเครื่องหมายวัดความไม่ไร้การศึกษา, คนจนถูกกดทับให้ไม่มีสิทธิเสียง และยังคงเข้าถึงโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจได้ยาก

หรือกระทั่งผู้หญิงที่ขายบริการทางเพศยังถูกด้อยคุณค่า

แม้ว่า ‘เพลงหมอลำ’ จะทะลึ่งตึงตังสักเท่าใด แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดมาตลอดผ่านเพลงเหล่านี้ คือความเป็นคนชนบทและเสียงที่ถูกกดทับ พ่วงด้วยมายาคติ ‘โง่ จน เจ็บ’ ที่เหล่าคนในเมืองมักมองผ่านเข้ามา สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความตลกร้ายที่ถูกเล่าและบรรเทาผ่านบทเพลง

หากอีก 30 ปีข้างหน้า เพลงนี้ยังกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในฐานะการเสียดสีความตลกร้ายในสังคมไทย ก็อาจหมายถึงว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในประเทศไทยอาจจะยังไม่เคยไปไหนเลย ทั้งเรื่องฐานะ การศึกษา โอกาสในการทำงาน รวมถึงเรื่องเพศสภาพ

Tags: , , , ,