“พระพุทธเจ้าคือครูเรื่องความรัก” ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) พระนิกายเซนชาวเวียดนามชื่อดัง ยกย่องพระพุทธเจ้าไว้เช่นนั้น
แม้พระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาอาจไม่ได้เป็นที่รู้จักจากเรื่องความรักมากนัก และธรรมะกับความรักอาจดูไม่ใช่สิ่งคู่กันสักเท่าไร แต่ก็มีคำสอนว่าด้วย ‘รักแท้’ อยู่ โดยในทางพุทธนั้น รักแท้ไม่ใช่รักแบบโรแมนติก (Romantic Love) เสียทีเดียว เพราะรักแท้ในที่นี้คือรักที่นำมาซึ่งความสุข ถ้ารักนั้นนำมาซึ่งความทุกข์แก่ทุกฝ่ายในความสัมพันธ์ นั่นไม่ใช่รักแท้ ไม่ว่าจะเป็นรักแบบโรแมนติกหรือไม่ก็ตาม
หลักแห่งรักแท้ในทางศาสนาพุทธคือ ‘พรหมวิหาร 4’ (The Four Sublime States of Mind) หรือแนวทางในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น แต่จะนำมามองในมุมความสัมพันธ์ก็ได้ พูดง่ายๆ คือ รักแท้ต้องการ 4 อย่าง ซึ่งไม่ได้จำกัดความแค่เพียงรักแบบคนรัก แต่อาจรวมไปถึงเพื่อน ครอบครัว และคนรอบตัวอีกด้วย
พรหมวิหาร 4 จึงถือเป็นเช็กลิสต์ความรักฉบับพุทธ ที่หากคู่ไหนมีสิ่งเหล่านี้อยู่ อาจแปลได้ว่า รักแท้อยู่ในมือคุณแล้ว แต่หากไม่มีก็ต้องสร้างมันขึ้นมา เพื่อให้ความสัมพันธ์ราบรื่นและยืนยาวนั่นเอง
CHECKLIST 1 เมตตา: ความสัมพันธ์ที่หยิบยื่นความสุขให้กัน
เมตตา คือความรักใคร่ (Loving-kindness) อยากให้อีกฝ่ายมีความสุขกายสุขใจ บางทีอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้กันเพื่อหยิบยื่นความสุขให้อีกฝ่าย ความสุขบางอย่างถ้าเราสังเกตก็คงรู้ได้ไม่ยาก เช่น เขาชอบกินอะไร เธอชอบดูหนังแนวไหน หรือชอบไปเที่ยวที่ไหน สิ่งเหล่านี้เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตที่เวลาได้ทำให้ใครหรือได้รับจากใครก็น่ารักอยู่ไม่น้อย
มันทำให้ผู้เขียนนึกถึงเรื่องของคุณน้าคนหนึ่ง เขาสังเกตว่า เขาและแฟนไม่ได้ชอบดื่มน้ำยี่ห้อเดียวกัน เวลาไปร้านสะดวกซื้อจึงซื้อน้ำ 2 ยี่ห้อ สำหรับตัวเขาและอีกฝ่าย เพราะรู้ดีว่าหากกินน้ำยี่ห้อเดียวกัน ไม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็คงต้องฝืนดื่มน้ำรสชาติแปลกแปร่งจนไม่มีความสุข นี่จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างว่าแม้แต่น้ำเปล่าขวดเดียวก็สร้างความสุขให้กันได้ และความสุขไม่จำเป็นต้องเกิดจากเรื่องที่ยิ่งใหญ่เสมอไป
CHECKLIST 2 กรุณา: ความสัมพันธ์ที่รับฟังและแบ่งปันทุกข์สุขให้กัน
กรุณา คือความเห็นอกเห็นใจกัน (Compassion) ในความสัมพันธ์ หมายถึง เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสบปัญหาทุกข์กายร้อนใจ อีกฝ่ายต้องเป็นเสมือนน้ำที่ช่วยดับไฟ อาจจะไม่ได้ทำให้มอดสนิท แต่อย่างน้อยต้องทำให้ไฟในใจนั้นเบาลง และต้องไม่ใช่การช่วยอีกฝ่ายจนคุณเป็นทุกข์เสียเอง
คงคล้ายๆ กับที่ ปั๊ป-พัฒน์ชัย ภักดีสู่สุข วง POTATO เคยบอกไว้ว่า “ให้เธอแชร์ความช้ำในหัวใจมาให้ฉัน แบ่งมันมาจนเธอนั้นสบายใจ และจะแชร์ความรักไปให้เธอเก็บไว้ ใส่มันแทนที่ในหัวใจที่เธอปวดร้าว” มันคือการแบ่งปันความทุกข์ และช่วยกันจัดการเรื่องทุกข์ใจให้หมดไปนั่นเอง
ดังนั้นเช็กลิสต์ข้อนี้จึงต้องอาศัยความเข้าอกเข้าใจกันของคนทั้ง 2 ฝ่าย และถ้าในความสัมพันธ์ของคุณมีสิ่งนี้แสดงว่า คุณมาถูกทางแล้ว
CHECKLIST 3 มุทิตา: ความสัมพันธ์ที่พร้อมจะยินดีในความสำเร็จของกันและกัน
มุทิตา คือความยินดี (Joy) เมื่อเห็นอีกฝ่ายมีความสุขหรือประสบความสำเร็จ มุทิตาเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความอิจฉา เพราะเมื่อเห็นอีกฝ่ายไปได้ไกลกว่า คุณต้องพร้อมยินดีเสมอ
ครั้งหนึ่งเคยได้ยินเรื่องเล่าทำนองว่า เพื่อน 2 คน เรียนมาด้วยกัน ทำงานด้วยกัน เริ่มจากศูนย์เหมือนกัน แต่พออีกฝ่ายไปได้ไกลกว่า ประสบความสำเร็จกว่า แทนที่จะยินดีและดีใจกับความสำเร็จของอีกฝ่าย กลับกลายเป็นความอิจฉาและจบที่ตัดขาดกันไป เมื่อมองในทางพุทธแล้ว ความสัมพันธ์นี้จึงไม่ใกล้เคียงกับคำว่า ‘รักแท้’ เลยสักนิด
เช็กลิสต์ข้อนี้จึงเป็นเหมือนตัวชี้วัดที่บอกว่า ในความสัมพันธ์ไม่ว่าใครจะเก่งกว่าหรือไปได้ไกลกว่า สิ่งเหล่านั้นจะไม่มีความหมายหรือสร้างรอยร้าวได้เลย เพราะนี่ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างกัน แต่เราต้องอยู่ทีมเดียวกันต่างหาก ดังนั้นหาให้ได้คนที่พร้อมจะยินดีกับคุณเสมอ ไม่ว่าเขาจะเดินนำหน้าหรือตามหลังคุณก็ตาม
CHECKLIST 4 อุเบกขา: ความสัมพันธ์ที่ทำให้ทั้งสุขและทุกข์เป็นเรื่องของ ‘เรา’
อุเบกขา คือการมีจิตใจสงบและเป็นกลาง (Equanimity) เมื่อมีสิ่งร้ายหรือดีเกิดขึ้นต้องมีสติและคิดหาเหตุผลว่า สิ่งนี้เกิดเพราะอะไรและควรจะแก้ปัญหาอย่างไร ในทางหนึ่งมันคือการที่คุณเข้าใจปัญหาอีกฝ่าย และต้องไม่ถือว่านั่นเป็นปัญหาเขาคนเดียว เพราะในความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเกิดเรื่องดีหรือร้าย ต่างเป็นเรื่องของ ‘เรา’ ทั้งสิ้น
ความสัมพันธ์ที่ดีต้องไม่ดำเนินไปอย่างตัวร้ายในละครหลังข่าวที่โยนปัญหาใส่กันไปมา หรือไม่ตักเตือนกันว่าอะไรดีหรือไม่ดี บางครั้งรู้ว่าสิ่งที่ทำไม่ดี แต่กลับไม่เตือนกัน เพราะเห็นแก่ประโยชน์มากกว่า ดังนั้นการเอาตัวเองไปเข้าใจอีกฝ่ายและมองตามหลักความเป็นจริง ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก และช่วยกันแก้ปัญหา น่าจะเป็นวิธีที่ดีในการสร้างรักแท้ในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ
หากคุณมีคนที่คอยตักเตือนและชื่นชมตามสิ่งที่เป็นจริง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะความสัมพันธ์แบบใด ก็ถือว่าได้ไปอีกหนึ่งเช็กลิสต์ และเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ให้ดี
รักแท้ไม่ได้หมายถึง ความรักแบบ ‘คู่รัก’ เพียงอย่างเดียว
น่าแปลกเหมือนกันที่ชายผู้หันหน้าเข้าป่าและทิ้งลูกทิ้งเมียไว้ในวัง เพื่อหาวิธีพ้นทุกข์ผู้นี้จะมีคำสอนเรื่องรักแท้ แต่เช็กลิสต์พิสูจน์รักแท้ฉบับพุทธนี้ก็ดูสมเหตุสมผลไม่น้อย เพราะเมื่อลองคิดตามหลักความเป็นจริง พรหมวิหาร 4 นี้ก็คือการอยู่ร่วมกับคนอื่น เป็นการร่วมทุกข์ร่วมสุข หาทางออกของปัญหาให้ความสัมพันธ์ดำเนินต่อไปได้ยืนยาว และในทางพุทธไม่ใช่แค่ความรักแบบโรแมนติกที่เป็นรักแท้ แต่ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์รูปแบบไหนก็เกิดรักแท้ได้ทั้งสิ้น
หากคุณเจอคนที่มีทั้ง 4 เช็กลิสต์นี้ก็รักษารักแท้นั้นไว้ และคงความสัมพันธ์เช่นนั้นไปเรื่อยๆ
แต่ถ้าคุณยังหาไม่เจอก็อย่าเพิ่งหมดใจ รักแท้อาจเกิดกับคุณแล้วหรืออาจกำลังเกิด แค่ไม่ใช่รักแบบโรแมนติกก็ได้
อ้างอิง
https://thichnhathanhfoundation.org/blog/2018/2/7/does-buddhism-support-romantic-love
Tags: พระพุทธศาสนา, รักแท้, พรหมวิหาร, พระพุทธเจ้า, ความรัก, Feature, วาเลนไทน์, พุทธศาสนา, ธรรมะ, มาฆบูชา