“ในขณะที่หน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์สามัญชนจบลงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อนักประวัติศาสตร์สามัญชนคนสำคัญจากเราไป ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันนั้น ประวัติศาสตร์สามัญชนหน้าถัดไปของสังคมไทยก็เริ่มขึ้นนับจากผลของการเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งน่าจะนำไปสู่คำถามใหม่ๆ แก่การศึกษาประวัติศาสตร์ยุคหลัง นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในโลกนี้เราย่อมเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ให้สถาบันทางการเมืองที่มีอำนาจเขาปรับตัว และเราก็เรียกร้องกัน และขอเรียกร้องอีกเพราะเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะเรียกร้องให้ประชาชนย้อนเข็มนาฬิกา เอาเข้าจริงอำนาจที่เป็นสถาบันหลักในสังคมไทยทั้งหลาย รัฐปรสิตเหล่านั้น คุณกำลังพยายามหยุดเข็มนาฬิกา และคุณเห็นไหมเข็มนาฬิกาที่หมายถึงอำนาจประชาชนมันเดินไปเรื่อยๆ เวลามันเดินไปเรื่อยๆ”

ส่วนหนึ่งของคำกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ‘ประวัติศาสตร์ (…) สามัญชน: หน้าถัดไป’ โดย ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) อันเป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนาในโครงการอ่านเปิดโลก (ครั้งที่ 4) หมุนเข็มนาฬิกากลับกี่ครั้ง เข็มก็เดินหน้าเสมอ: ‘ชีวิตสังคมไทย’ ผ่านงานนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

The Momentum เข้าร่วมและสรุปบทปาฐกถาภายในงานไว้ดังนี้

[1]

เราทุกคนล้วนเป็นนักเรียนของอาจารย์นิธิทางอ้อม

“ผมขอออกตัวอย่างเป็นงานเป็นการว่า ผมไม่เคยเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์นิธิ ไม่เคยเรียนกับแกแม้แต่ครั้งเดียว แม้แต่วิชาเดียว ผมคุยกับอาจารย์นิธินับครั้งได้ (…) แต่ผมก็เป็นเหมือนคนอีกเป็นร้อยเป็นพันคนในสังคมไทย ที่เราล้วนเป็นนักเรียนของอาจารย์นิธิทางอ้อม

“เราต่างเป็นนักเรียนอย่างเงียบๆ เพราะเคารพในสิ่งที่อาจารย์นิธิได้สร้างคุณูปการแก่วงวิชาการ และวงการทางปัญญาของสังคมไทยในรอบ 40 ถึงเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา”

 ธงชัยกล่าวอีกว่า ผลงานและบทบาทของอาจารย์นิธินับเป็นหนึ่งหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์โดยสามัญชน ของสามัญชน เพื่อสามัญชน และอีกมากมายหลายคำที่จะสามารถเติมลงไปในช่องว่างระหว่างคำว่าประวิติศาสตร์ และคำว่าสามัญชนได้

“ประวัติศาสตร์สามัญชน ผมคิดคำนี้อยู่นาน และตัดสินใจใช้คำนี้ ทั้งที่คิดว่าอาจารย์นิธิคงไม่ใช้คำนี้ ผมคิดว่าอาจารย์คงใช้คำว่าชาวบ้าน”

ขณะเดียวกัน หากประเมินจากงานของอาจารย์นิธิ จะพบว่าส่วนใหญ่จะใช้คำว่า ‘ชาวบ้าน’ ไม่ค่อยใช้คำว่า ‘สามัญชน’ อาจเพราะมันง่ายที่จะเข้าใจแบบชาวบ้าน ขณะที่คำว่าสามัญชนมันดูห่างเหินเป็นนามธรรม หรืออาจเป็นความชอบส่วนตัวของอาจารย์นิธิก็เป็นได้

[2]

นักประวัติศาสตร์ธรรมดาๆ ที่วิเศษคนหนึ่ง

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นนักประวัติศาสตร์ตามแบบฉบับธรรมดาๆ ที่วิเศษคนหนึ่ง ฟังดูมันขัดกัน เขาเป็นนักประวัติศาสตร์ธรรมดาที่วิเศษที่สุดที่สังคมไทยเคยผลิตได้คนหนึ่ง อาจารย์นิธิสามารถผลิตงานที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมหลายชิ้นอย่างประจำสม่ำเสมอ สำหรับนักประวัติศาสตร์แล้ว ผลงานใหญ่ๆ ไม่ได้ออกมารายปีนะครับ บางทีชีวิตหนึ่งคุณสามารถผลิตได้ประมาณ 3-4 ชิ้น ก็บุญแล้ว มากกว่านั้นก็ยอดเลย น้อยไปหน่อยก็ไม่ค่อยแย่เท่าไร ผมทำได้แค่สองชิ้นเท่านั้นแหละ

“อาจารย์นิธิสามารถผลิตงานที่มีคุณภาพดีมากได้อย่างสม่ำเสมอในชีวิตการทำงาน คืองานที่ช่วยให้มีความคิดใหม่ต่างจากความรู้เดิมที่มีในสังคม ท่ามกลางสภาวะทางปัญญาของสังคม สภาวะแวดวงวิชาการซึ่งไม่เหมาะต่อการเติบโตทางปัญญา ในสภาวะที่ปัญญาชนและนักวิชาการจำนวนมากเริ่มต้นได้ไม่นาน สุดท้ายก็กลายเป็น Deadwood”

หลายคนอาจเรียกงานของอาจารย์นิธิว่าเป็นงานบนหอคอยงาช้าง แถมเป็นหอคอยงาช้างที่สูง เพราะหาประโยชน์ใช้สอยนำมาประยุกต์กับนโยบายตรงๆ ไม่เจอ แต่ขณะเดียวกัน

เขากลับเป็นปัญญาชนสาธารณะที่เขียนบทความเกี่ยวกับสังคม การเมือง รายสัปดาห์หลายครั้งติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และสามารถรักษาฐานแฟนคลับมาได้หลายสิบปี

งานที่อยู่บนหิ้งและใช้ไม่ได้ในสังคมไทยส่วนใหญ่ที่นักวิชาการไทยผลิต เป็นงานเชิงประยุกต์และประยุกต์ต่อไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ ถือว่าคำสบประมาทนี้เป็นสมมติฐานแล้วกัน ผมตั้งสมมติฐานแบบสมประมาทไว้ว่า งานเหล่านั้นที่ขึ้นหิ้งมิใช่งานบนหอคอยงาช้าง

“ปัญหาสังคมไทยเกิดจากความรู้จำนวนมาก วิจัยจำนวนมากเป็นแบบนั้น ในขณะที่สังคมไทยมีความรู้แบบหอคอยงาช้างแบบที่อาจารย์นิธิทำน้อยเกินไป อ่อนแอเกินไป เพราะเรามองข้ามความรู้แบบคลาสสิกเชิงวิพากษ์วิจารณ์ เรามีความรู้คลาสสิกก็มีไว้เพื่อโปรโมตความเป็นไทย เราไม่ได้ใช้วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ได้เอาใช้เป็นฐานความเข้าใจสังคมไทยในปัจจุบัน อย่างที่อาจารย์นิธิทำ 

“ความรู้หอคอยงาช้างประเภทนี้ต่างห่างที่เรายังต้องการอยู่ และผมคิดว่าเหตุหนึ่งที่ความรู้สังคมไทยอ่อนแอ เอาเข้าจริงความรู้แบบหอคอยงาช้างของสังคมไทยไม่เคยแข็งแกร่ง เพราะการวิจัยและอุดมศึกษาไทยมีฐานมาจากยุคกึ่งอาณานิคม ความรู้จึงเกิดปัญหาไม่ต่อยอด จึงเร่งผลิตความรู้ประยุกต์โดยไม่มีฐานราก ไม่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อยอดจากฐานรากความรู้จารีตที่มีแต่เดิม

 

[3]

School Of นิธิ

เคยได้ยินคำว่าสคูลนิธิ เอียวศรีวงศ์ไหมครับ ไม่เคย ทำไมงานของคนที่มีความสำคัญและผลิตงานมามากขนาดนี้ ถึงไม่สามารถสร้างสคูลได้ อาจจะบอกว่าอาจารย์นิธิไม่ชอบ ผมเชื่อว่าอาจารย์ไม่ชอบแน่ แต่นั่นอาจจะไม่ใช่เหตุผลเดียว มีลูกศิษย์อาจารย์นิธิสักกี่คนที่กล้า หรือเคลมว่าตัวเองเป็นสคูลนิธิ มีแต่คนพยายามตั้งให้แ ละตั้งให้เพียงไม่กี่คนและสำเร็จ หรือไม่ก็ไม่แน่ใจ ผมเชื่อว่ามันไม่ติด ไม่ Stick ใครจะเรียกหรือพยายามจะเรียกสคูลนิธิ ผมว่าไม่สำเร็จ 

“อาจารย์นิธิไม่ได้เป็นเจ้าของไม่เคยนำเสนอความคิดที่เป็นระบบชุดหนึ่งชุดใดในการอธิบายสังคมอย่างชัดเจน จนกระทั้งเป็นแนว เป็น Approve เป็น Methodology ชุดหนึ่ง ที่ลูกศิษย์สามารถใช้วิธีการทำนองเดียวกันนี้ได้ แต่สิ่งนี้ไม่ได้แปลว่าอาจารย์นิธิไม่มี Methodology  ไม่มีข้อเสนอแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่อาจารย์ทำเป็นประวัติศาสตร์ชนิดปกติธรรมดาสามัญ ที่เราท่านทั้งหลายน่าจะทำได้เหมือนกัน แต่เราทำไม่ได้

นอกจากนี้ ความพิเศษของอาจารย์นิธิ คือการมองความสัมพันธ์ของสังคมนั้นๆ กับสถาบันทางสังคมอื่น หรือที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า ‘บริบท’ ได้อย่างลึกซึ้ง มองไปถึงว่าความสำคัญทางสังคมของสิ่งนั้นๆ เกี่ยวพันกับสถาบันทางสังคม สถาบันอื่นๆ ในภาวะนั้นอย่างไร รวมไปถึงการปะทะสังสรรค์ในภาวะขณะนั้น มีความเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ผลของความสัมพันธ์ที่จะเคลื่อนต่อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติของนักประวัติศาสตร์ แต่อาจารย์นิธิกลับใช้ Methodology ได้แม่นยำ

เราจะไม่เคยได้ยินว่า อาจารย์นิธิเสนอทฤษฎีหรือเป็นเจ้าทฤษฎี สิ่งที่เขาทำมันธรรมดา แต่สามารถจับจุดเล็ก จับประเด็นและวิเคราะห์สิ่งที่เปิดหูเปิดตาเราได้อย่างแหลมคม

“ผมไม่ได้บอกว่าไม่มีใครทำได้เลย มีแค่เขาคนเดียว คนอื่นก็ทำได้บ้างมากน้อย แต่ผมคิดว่าไม่มากไม่บ่อยไม่สม่ำเสมอเท่าอาจารย์นิธิ และหลายคนจับตรงนี้ไม่แม่น แต่ผมยังเห็นว่า นี่เป็นประวัติศาสตร์ธรรมดา

[4]

‘มนุษย์เรอเนเซองส์’ ไม่ใช่ผู้ที่รู้ดีที่สุด แต่รู้รอบ รู้ดี และอธิบายต่อได้

นักประวัติศาสตร์ธรรมดาที่วิเศษจะต้องเป็นคนที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า ‘มนุษย์เรอเนซองส์’ ไม่ได้เคลมว่าตัวเองรู้ไปหมด แต่รู้รอบและรู้ดี อาจารย์นิธิไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่รู้ดีที่สุด แต่รู้รอบ และความรู้รอบของอาจารย์ค่อนข้างรู้ดี สามารถระบุเป็นรูปประธรรมและอธิบายได้อย่างเข้าใจ

มนุษย์เรอเนซองส์มี 3 ลักษณะใหญ่ คือ 

  1. มีความรู้ดีรู้รอบในหลายสาขา โดยเฉพาะในสาขาวิชาที่เรียกรวมได้ว่า ความรู้คลาสสิก (Classical Knowledge) ซึ่งอาจารย์นิธิสามารถดึงความรู้ เช่น วรรณคดีไทย พระพุทธศาสนา และประวัติศาสตร์โบราณ มาใช้เป็นองค์รวมในการเข้าใจสังคมไทยลึกลงไปได้
  2. การมีความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical) อาจารย์นิธิ มี Critical Eyes กับสิ่งเหล่านั้น ไม่ได้รับรู้สังคมจารีตและต้องเชื่อหรือโปรโมต แต่สงสัย ตั้งคำถาม และนำมาใช้อธิบายกับเหตุการณ์ปัจจุบันผ่านพื้นภูมิความรู้เหล่านั้น แถมยิ่งกว่านั้นยังตั้งคำถามอยู่ตลอด และการรู้จักสังคมอื่นดีพอสมควรช่วยให้เกิดการเปรียบเทียบกับสังคมไทยตลอดเวลา การเปรียบเทียบมีประโยชน์อย่างไร การเปรียบเทียบทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าทำไมสังคมถึงไม่เหมือนกัน 
  3. การมีพรสวรรค์ในการเขียน อาจารย์นิธิสามารถเขียนออกมาให้คนอื่นเข้าใจสิ่งที่ต้องการสะท้อนออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ ด้วยภาษาที่ง่าย สละสลวย และย่อยข้อมูลได้

    [5]

    ความกล้าหาญทางการเมือง เป็นสมบัติที่หาได้ยากในหมู่ปัญญาชนและนักวิชาการ

    “อาจารย์นิธิไม่ใช่คนแอนตี้เจ้า ไม่ใช่ เพียงแต่สถาบันกษัตริย์ ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าการศึกษาสอดส่องเฝ้าดูอย่างวิพากษ์วิจารณ์ และอย่างเป็นมนุษย์คนหนึ่ง อย่างเป็นสถาบันของมนุษย์ด้วยกัน

    “ผมไม่เคยคุย ไม่เคยถาม และไม่เคยคิดว่าจำเป็นต้องถาม เก็บไว้ให้เป็นสิ่งที่อาจารย์นิธิเก็บอยู่กับตัวแล้วกันว่า อาจารย์ยังคิดว่าสถาบันกษัตริย์ยังจำเป็นอยู่หรือไม่? เพราะฉะนั้น อย่าโยนข้อหาล้มเจ้าแปลกๆ ให้แกง่ายๆ และข้อเขียนแกไม่ได้ออกมาทำนองนั้น ทำให้หลายคนที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ สูงกว่านั้นหรือหนักกว่านั้น อาจจะมองอาจารย์นิธิเป็นคนเชียร์เจ้า

    “ผมว่าเรื่องแบบนี้เหมือนกับคำว่าเหลืองกับแดง คุณว่าใครเหลืองมากหรือแดงมากนอกจากสะท้อนถึงคนที่คุณกำลังพูดถึง ยังสะท้อนว่าคุณอยู่ตรงไหนในสเปกตรัมระหว่างเหลืองกับแดงต่างหาก ถ้าคุณเอียงมาแทงแดงเยอะ คุณก็มองว่าคนว่าเหลืองเต็มไปหมด หากคุณเอียงมาทางเหลืองเยอะ คุณก็มองว่าคนแดงไปหมด เช่นเดียวกัน หากคุณเอียงมาทางแอนตี้เจ้าหรือวิพากษ์วิจารณ์เจ้า คนอื่นเชียร์เจ้ามากหน่อย คุณก็มองคนอื่นแอนตี้เจ้ามากเหลือเกิน 

    “อาจารย์นิธิมีความคิด ทุกคนมีความคิด แต่สุดท้ายในการที่เราประเมินและเรียกขาน มันสะท้อนถึงจุดยืนของเราในความสัมพันธ์ ใน Range ความคิดเหล่านั้นด้วย ผมคิดว่าจุดยืนของอาจารย์นิธิเป็นจุดยืนของสามัญชนคนธรรมดา เป็นจุดยืนชาวบ้าน วิจารณ์พระก็ได้ วิจารณ์สถาบันสงฆ์ก็ได้ ถามหน่อยชาวบ้านที่วิจารณ์สถาบันสงฆ์ หมายถึงแอนตี้และต้องการล้มล้างสถาบันสงฆ์ไหมครับ ผมเชื่อว่าไม่”

    ความกล้าหาญทางการเมืองเป็นทรัพย์สมบัติที่หาได้ยาก ในหมู่ปัญญาชนและนักวิชาการในประเทศไทย รัฐและฝ่ายบริหารในมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่เพียงแต่ชอบแทรกแซง ยังชอบกำหนดกฎเกณฑ์บังคับกะเกณฑ์ด้วยสารพัดวิธีการเพื่อควบคุมนักวิชาการ เขาอาจจะบอกว่าให้อิสระมากพอสมควรแล้ว 

    “ผมขอบอกว่าให้อิสระมากกว่าประชาชนทั่วไปบนท้องถนนแน่ แต่มหา’ลัยไทยมีขีดจำกัดข้อจำกัดมากมายกว่ามหาวิทยาลัยที่มันควรจะเป็นตั้งเยอะ ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นพื้นฐานที่ทำให้ Ranking ของไทยค่อนข้างอยู่กับที่ มีน้อยครั้งที่ขยับขึ้น มีมากครั้งกว่ามากที่ขยับถอย”

    [6]

    รัฐปรสิต สูบเลือดเนื้อกักขัง จำกัดการเติบโตของคนในประเทศ

    ส่วนตัวแล้ว ธงชัยมองว่ารัฐไทยเป็นรัฐปรสิต มีองค์ประกอบ 3 อย่าง อย่างแรกคืออำนาจที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญที่แทรกแซงการเมืองการปกครองอยู่เรื่อยมา อย่างที่สองระบบทหาร ซึ่งอาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ เรียกว่า ‘Praetorian State’ หรือรัฐเสนานุภาพ เป็นระบบที่ทหารเข้าไปแทรกซึมอยู่ในอณูต่างๆ ของสังคมเต็มไปหมด ไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะในกองทัพ มีอำนาจเหนือพลเรือน แต่ตอนนี้ได้แทรกซึมเข้ามาในจุดต่างๆ ตามการปฏิบัติงานของสังคมเต็มไปหมด โดยอ้างเรื่องความมั่นคง ถึงแม้จุดประสงค์ใหญ่คือการหาผลประโยชน์ แต่สุดท้ายมันไปทำลาย ไปจำกัดความคิดสร้างสรรค์ จำกัดการเติบโตของคนซึ่งมีประสิทธิภาพที่จะเติบโต และสาม ระบบรวมศูนย์ องค์ประกอบทั้งสามอย่างเป็นองค์ประกอบของรัฐปรสิตของไทยที่ทำให้สารพัดวงการโตยาก รวมทั้งแวดวงการวิชาการด้วย

    “ระบบนี้ถูกสั่นสะเทือนครั้งใหญ่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เริ่มต้นถูกสั่นสะเทือนมาพักหนึ่งแล้ว คุณอาจจะบอกว่าผมเชียร์พรรคก้าวไกล ผมเชียร์ แต่ผมไม่ได้เชียร์พรรคก้าวไกลเพราะผมเป็นแฟนคลับ เป็นแฟนพันธุ์แท้ เป็นด้อมส้ม ผมเชียร์ก้าวไกลเพราะเป็นเอเจนซีทางประวัติศาสตร์ ที่ดูเหมือนเขาพยายาม Tracker ปรสิตสามองค์ประกอบนี้ และผมเห็นว่าจำเป็น แต่หากวันไหนพรรคก้าวไกลเพี้ยน ผมก็ไม่หนุน”

    50 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อยากให้ย้อนดูว่า 50 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มใหญ่ๆ อยู่สองแนวโน้ม นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 

    ด้านหนึ่งคืออำนาจทยอยเป็นลำดับเป็นขั้นเป็นตอนเข้าสู่สถาบันกษัตริย์ จนกระทั่งสถาบันกษัตริย์ปัจจุบันที่เรียกว่าเป็น ‘สถาบันกษัตริย์สมัยใหม่’ กลับมามีความสัมพันธ์กับสถาบันอื่นๆ โดยเป็นเชิงอำนาจที่อาศัยความสัมพันธ์เชิงบุคคลมากกว่ายุคใด มากกว่าสมัยรัชกาลที่ผ่านมา หรือเรียกว่ามีความพยายามแปรความสัมพันธ์เชิงบุคคลให้กลายเป็นสถาบันก็ว่าได้ ซึ่งสถาบันทิศทางไทยเรียกระบอบการปกครองในปัจจุบันว่า ‘รัฐราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ’

    “คุณคิดไหมว่าเขาพูดถูก เขาพูดความจริง เขาซื่อสัตย์” ธงชัยตั้งคำถาม

    ส่วนอีกด้าน คือประชาธิปไตยของประชาชนก็เติบโตขึ้น แม้จะขึ้นลงตลอดเวลา ซึ่งแนวโน้มของทั้งสองอย่างดำเนินคู่ขนาน สู้กัน ปะทะกัน ต่อรองก่อนร่วมมือกันเป็นครั้งเป็นคราว โดยทั้งสองกระแสกำลังดำเนินแยกห่างกันมากขึ้นทุกที

    “อาจารย์นิธิได้เตือนไว้ว่า ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป มันหนีไม่พ้นความรุนแรง ผมคิดว่าอาจารย์นิธิเห็นสิ่งนี้ พลังทางการเมืองสองกระแสเติบโตมากขึ้นทั้งสองทาง แต่กลับออกห่างกัน เป็นไปได้ที่ต้องปะทะ ที่กินกันไม่ลง ในโลกนี้เราย่อมเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงให้สถาบันทางการเมืองที่มีอำนาจเขาปรับตัว และเราก็เรียกร้องกัน และขอเรียกร้องอีกเพราะเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะเรียกร้องให้ประชาชนย้อนเข็มนาฬิกา เอาเข้าจริง อำนาจที่เป็นสถาบันหลักในสังคมไทยทั้งหลาย รัฐปรสิตเหล่านั้น คุณกำลังพยายามหยุดเข็มนาฬิกา และคุณเห็นไหม เข็มนาฬิกาที่หมายถึงอำนาจประชาชนมันเดินไปเรื่อยๆ เวลามันเดินไปเรื่อยๆ”

    [7]

    เข็มนาฬิกาที่เดินหน้า และโอกาสของคนไทยที่ไม่มีวันย้อนกลับ

    “ผมขอวิจารณ์ในแง่ที่ไม่ใช่ความเสียหาย เพราะผมมองประวัติศาสตร์อย่างที่ผมอธิบายมา ขอย้ำ ไม่ใช่เพราะผมชอบไม่ชอบพรรคเพื่อไทยที่ลงหรือไม่ลงคะแนนให้เขา อันนี้ไม่เกี่ยว แต่เพราะผมมองประวัติศาสตร์ช่วงยาวอย่างที่ว่ามา พรรคเพื่อไทยมีโอกาสที่จะผลักดันประชาธิปไตยของประชาชนไปอีกก้าวสำคัญ เขาได้ปิดประตูโอกาสนั้น ไม่ใช่เพียงแต่มีส่วนในการเป็นผู้ปิดประตู เขาได้ร่วมมือปิดประตูก้าวสำคัญซึ่งมีสิทธิที่จะเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของประชาชน 

    “ถ้าผมจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุภาพแต่แรง ผมวิจารณ์เขาแบบนี้ว่า เขาได้ร่วมมือปิดประตูโอกาสสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของประชาธิปไตยของประชาชน ระยะเวลาแค่นี้ทางประวัติศาสตร์อาจจะเร็วเกินไปที่จะตัดสิน สิบปีให้หลังจากนี้อาจจะพบว่าผมผิดก็เป็นไปได้ แต่วันนี้ผมมองแบบนี้ ถ้าผมถูกอีก ประวัติศาสตร์จะจารึกว่าการเปลี่ยนแปลงซึ่งเรียกรวมๆ ว่า 14 พฤษภาคม 2566 

    “ถ้าผมถูก 10-20 ปีหลังจากนี้ ประวัติศาสตร์จะจารึกว่าโมเมนต์นี้เป็นช่วงขณะที่มีโอกาสอีกครั้งหนึ่ง ที่จะเปลี่ยนแปลงสำคัญแต่ได้เสียหายลง และโมเมนต์นี้ยังไม่จบอาจจะตามมาด้วยการกวาดล้างครั้งใหญ่ ซึ่งเราไม่รู้ว่ามีขนาดแค่ไหน เราไม่รู้ว่าจะสำเร็จ หรือไม่สำเร็จเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ประวัติศาสตร์จะจารึกว่า ไอ้โมเมนต์นี้มันมีส่วนสำคัญเกิดขึ้นจากพรรคเพื่อไทยปิดประตูโอกาสนี้”

    [8]

    สิ้นนิธิ

    “ในขณะที่หน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์สามัญชนจบลงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อนักประวัติศาสตร์สามัญชนคนสำคัญจากเราไป ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันนั้น ประวัติศาสตร์สามัญชนหน้าถัดไปของสังคมไทยก็เริ่มขึ้น นับจากผลของการเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งน่าจะนำไปสู่คำถามใหม่ๆ แก่การศึกษาประวัติศาสตร์ยุคหลัง นิธิ เอียวศรีวงศ์

    “การสิ้นอาจารย์นิธิมันบังเอิญเกิดพร้อมๆ กับหน้าถัดไปของประวัติศาสตร์ประชาชน  

    “เพราะฉะนั้น คำถามที่มีต่อแวดวงปัญญาชนและคนมีวิชาชีพเป็นนักวิชาการ ปัญญาชนสาธารณะหรือนักวิชาการเชิงวิพากษ์ ต้องตั้งคำถามกันแล้วว่าจะทำบทบาทเหล่านี้ ในขั้นต่อไปอย่างไรกัน” ธงชัยระบุ 

Tags: , , , ,