ในยุคสมัยที่เครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ยังเป็นเรื่องใหม่ และโซเชียลมีเดียยังเป็นเรื่องของอนาคต ‘จดหมาย’ นับเป็นทางเลือกหลักในการติดต่อสื่อสาร จนถึงรับ-ส่งนานาพัสดุเป็นหลัก
จากข้างต้น หากนึกถึงองค์กรในประเทศไทยที่มีส่วนสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นในแวดวงดังกล่าว ก็คงจะหนีไม่พ้น ‘บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด’ หรือชื่อเดิมคือ ‘กิจการไปรษณีย์ไทย’ ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2426 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามพระประสงค์ของพระองค์ที่หวังยกระดับช่องทางการติดต่อสื่อสารของประเทศ ให้ทัดเทียมดังประเทศฝั่งตะวันตก ที่ส่วนใหญ่ใช้จดหมายในการเผยแพร่ข่าวสาร รวมไปถึงยกระดับประชาชนให้อ่านออกเขียนได้ หลังก่อนหน้าวิธีสื่อสารนี้ ส่วนใหญ่มีเพียงพ่อค้าที่ใช้ม้าเร็วในการส่งจดหมาย หรือมิชชันนารีที่ใช้ติดต่อกับครอบครัว ณ ต่างแดน
ในช่วงตั้งไข่ของกิจการไปรษณีย์ไทย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษี สว่างวงศ์กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช คือผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์ ในฐานะที่มีประสบการณ์เคยเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ‘ข่าวราชการ’ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของไทย โดยทรงทดลองประกาศรับ-ฝากจดหมายหรือหนังสือ เฉพาะในเขตพระนครกับธนบุรี
กระทั่งในปี 2428 รัฐบาลยุคนั้นจึงตรากฎหมาย ‘พระราชบัญญัติการไปรษณีย์ไทย จุลศักราช 1248’ ที่ออกกฎข้อบังคับในกิจการไปรษณีย์อย่างจริงจัง ขณะเดียวกัน ได้ขยายองค์กรไปยังที่อื่น นั่นคือ สมุทรปราการ เชียงใหม่ และนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดงในปัจจุบัน)
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจ คือ ‘ตราไปรษณียากร’ หรือที่ชาวต่างชาติเรียกว่า ‘สแตมป์’ ชุดแรกของไทย ที่เกิดจากการว่าจ้างตีพิมพ์ผ่านบริษัทในประเทศอังกฤษที่มีชื่อว่า วอเตอร์โลว์แอนด์ ซันส์ (Waterlow and Sons Limited) ในชื่อชุดว่า ‘โสฬศ’ ที่บนสแตมป์มีการประทับพระพักตร์ด้านข้างของในหลวงรัชกาลที่ 5 ขณะเดียวกัน สแตมป์แต่ละดวงภายในชุดจะจำแนกตามค่าเงิน ได้แก่ หนึ่งโสฬศ , หนึ่งอัฐ, หนึ่งเสี้ยว และหนึ่งซีก
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่กิจการไปรษณีย์ไทย ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพสากลไปรษณีย์ จึงทำให้แสตมป์ชุดที่ว่าไม่ปรากฏชื่อประเทศสยาม กระทั่งเมื่อกิจการไปรษณีย์เข้าร่วม สแตมป์ชุดที่สองจึงมีการพิมพ์ชื่อประเทศและราคาเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้สามารถชำระค่าส่งจดหมายในระดับสากลได้
2.
แน่นอนว่าถ้ากล่าวถึงไปรษณีย์ไทย ภาพจำในหัวของใครหลายคนมักเป็น ‘อาคารไปรษณีย์’ ที่ตั้งตระหง่านคู่ถนนเจริญกรุง ด้วยสถาปัตยกรรมที่ถูกออกแบบให้มีความร่วมสมัย โดยวัสดุก่อสร้างล้วนถูกนำเข้าจากประเทศแถบยุโรปทั้งสิ้น ตัวอาคารจึงมีความแข็งแรงทนทาน ขณะเดียวที่ด้านในก็กว้างขวางโอ่อ่า
อย่างไรก็ดี อาคารไปรษณีย์ไทยที่เราเห็นกันคุ้นชิน บ้างก็เคยแวะเวียนไปถ่ายรูป แท้จริงนั้นไม่ใช่ที่ทำการแห่งแรก เพราะหากย้อนกลับไปในวันที่ 26 สิงหาคม 2426 ที่ทำการแห่งแรกนั้น ตั้งอยู่ที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศเหนือของปากคลองโอ่งอ่าง ในชื่อว่า ‘ไปรสะนียาคาร’
ต่อมา ในปี 2441 กระทรวงโยธาธิการได้กราบบังคมทูลต่อในหลวงรัชกาลที่ 5 ว่า ทั้งกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขต่างดำเนินกิจการในฐานะหน่วยงานภายในสังกัดรัฐบาล ดังนั้น จึงสมควรที่จะควบรวมทั้งสองหน่วยงานเพื่อให้ง่ายต่อการบริหาร ด้านในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ทรงเห็นชอบเช่นกัน จึงมีพระบรมราชโองการให้ทั้งสองหน่วยงานรวมกันเป็นกรมไปรษณีย์โทรเลข
นอกจากจะมีประวัติศาสตร์ในแง่ของการเป็นศูนย์กลางการสื่อสารของไทย ไปรสะนียาคารยังเป็นสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในเหตุการณ์ ‘ปฏิวัติสยาม’ ในปี 2475 และเป็นสถานที่แห่งแรกที่ ‘คณะราษฎสายพลเรือน’ นำโดย หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) และนายประยูร ภมรมนตรี ทำการบุกยึดในเวลา 04.00 น. เพื่อตัดช่องทางสื่อสารหลักของประเทศทั้งหมด ภายหลังทำการบุกยึดสำเร็จ นั่นจึงเป็นดังพลุสัญญาณส่งถึงคณะราษฎรที่อยู่ในจุดอื่นๆ เริ่มปฏิบัติภารกิจ
แม้ประวัติศาสตร์ชาติไทยจะดำเนินต่อเนื่อง แต่กรมไปรษณีย์ไทยกลับเจริญเติบโต จนในที่สุดบ้านหลังเดิมก็ไม่สามารถรองรับความต้องการได้พอ และอีกเหตุผลคือเดิมเป็นตึกของสถานกงสุลที่มีขนาดเล็ก ดังนั้น กรมไปรษณีย์จึงย้ายมายังถนนเจริญกรุง เขตบางรัก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483 จวบจนปัจจุบัน ด้วยงบประมาณการก่อสร้างและตกแต่งภายในเบ็ดเสร็จถึง 9 แสนกว่าบาท หลังดำเนินการสร้างตั้งแต่ปี 2478 ขณะที่พื้นที่อาคารเดิมถูกทุบเพื่อเปิดทางแก่การสร้างสะพานพระปกเกล้า
3.
จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2546 ในยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ได้มีนโยบายแปรสภาพรัฐวิสาหกิจ ตามแม่บทพัฒนาการกิจการโทรคมนาคมและพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้มีประสิทธิภาพองค์กรเทียบเท่าเอกชน 2542 ส่งผลให้กรมไปรษณีย์โทรเลข ถูกแบ่งกิจการเป็น 2 บริษัท คือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) พร้อมลงทะเบียนในนามบริษัทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2546
หลังผ่านร้อนผ่านหนาว เผชิญการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา จนถึงเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ไปรษณีย์ไทยได้ยืนหยัดเข้าสู่ขวบปีที่ 140 ขณะเดียวกันยังเป็น 1 ใน 5 บริษัทของประเทศไทย ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ได้แก่
1.ไปรษณีย์ไทย (140 ปี)
2.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (138 ปี)
3.โอสถสภา (129 ปี)
4.ธนาคารไทยพาณิชย์ (114 ปี)
5.ปูนซิเมนต์ไทย (107 ปี)
ขณะเดียว พร้อมแถลงผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก ด้วยรายได้ 10,833.31 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี พ.ศ. 2565 ราว 12.67%
แต่คำถามสำคัญคือ บริษัทที่เก่าแก่ที่สุดในไทยนี้อยู่รอดมาได้ด้วยปัจจัยใด?
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกก์ ภทรธนกุล กรรมการ และประธานคณะอนุกรรมการด้านกลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาดและการสื่อสาร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บอกว่า ปัจจัยข้อแรกคือการผันตัวสู่ธุรกิจ ‘อุตสาหกรรมโลจิสติกส์’ และ ‘E-Commerce’ เห็นได้ชัดจากสัดส่วนกำไรในครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2566 ที่มากถึง 44.11% ตามมาด้วยกลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 36.04% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 13.60% กลุ่มบริการค้าปลีก 2.35% กลุ่มบริการการเงินและบริการอื่นๆ 2.84% และรายได้อื่นๆ 1.06% เป็นการปรับตัวตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
ทว่าการจะเป็นตัวเลือกแรกของผู้บริโภคย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายดังปอกกล้วยเข้าปาก ทางไปรษณีย์ไทยที่รู้ดีเช่นนั้น จึงใช้กลยุทธ์ง่ายๆ ปราศจากความซับซ้อน นั่นคือการอาศัย ‘มิตรภาพ’ ระหว่างผู้บริโภคมีมาช้านานและมีมาก่อนที่บริษัทขนส่งเจ้าอื่นๆ จะเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด เห็นได้ชัดสุดคงเป็นฐานข้อมูลในมือ ที่ไม่ว่าที่ส่งจะอยู่ไกล ลึกลับ หรือเขียนผิด สุดท้ายพัสดุก็ถูกส่งถึงอย่างปลอดภัย หรือแม้กระทั่งมิตรภาพระหว่างโพสต์แมน (Post Man) และผู้บริโภคที่แน่นแฟ้นดุจเพื่อนสนิท
ถึงกระนั้น โจทย์การบ้านข้อใหญ่สุดของไปรษณีย์ไทย คือทำอย่างไรในการลบภาพจำความเป็นองค์กรโบราณ คร่ำครึ แก่เด็กรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริโภคกำลังหลักในอีก 5-10 ปี ข้างหน้า แน่นอนว่าบริษัทแห่งนี้เริ่มลงมือแก้โจทย์บ้างแล้ว เช่น การจัดแคมเปญ J-MAT Brand Planning Competition ที่เปิดโอกาสให้บรรดาเด็ก Gen Z ร่วมส่งไอเดียการพัฒนาและบริหารไปรษณีย์
แต่แผนการดังกล่าวจะสำเร็จได้จริงไหม และอายุของบริษัทที่เก่าแก่ที่สุดในไทยจะไปจบตรงไหน คำตอบคงเป็นเรื่องของอนาคตเท่านั้น
ที่มาข้อมูล:
เว็บไซต์ thailandpost.co.th (บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด )
Tags: Thailand Post, จดหมาย, ครบรอบ 140 ไปรษณีย์ไทย, Feature, Business, ไปรษณีย์ไทย