ในช่วงสัปดาห์นี้ โลกต่างจับจ้องความสนใจต่อสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เมื่อกลุ่มฮามาส (Hamas) กองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์ เข้าปฏิบัติการโจมตีอัลอักซา (Al-Qasa Flood) ในอิสราเอลอย่างสายฟ้าแลบ เมื่อเช้าตรู่วันที่ 7 ตุลาคม 2023
ไม่ใช่แค่ชาวอิสราเอลและปาเลสติเนียนจำนวนมากที่ต้องได้รับผลกระทบต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ ทว่าชาวต่างชาติ หนึ่งในนั้นคือกลุ่ม ‘แรงงานไทย’ ต้องตกที่นั่งลำบากในเหตุการณ์ความรุนแรงข้างต้น หลังรายงานในวันนี้ (12 ตุลาคม 2023) เปิดเผยว่า มีคนไทยเสียชีวิต 21 ราย ได้รับบาดเจ็บ 14 คน และมีคนถูกจับเป็นตัวประกันอีก 16 ชีวิต ขณะที่มีผู้แจ้งความประสงค์เดินทางกลับประมาณ 5,990 ราย ซึ่งประกอบด้วยแรงงานถูกต้องตามกฎหมายและผู้ลักลอบเข้าประเทศ
อย่างไรก็ตาม สังคมบางส่วนเกิดข้อสงสัยต่อสถานการณ์การเดินทางกลับของกลุ่มแรงงานไทยในอิสราเอล ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในต่างแดน สิทธิประโยชน์ที่ได้รับทั้งฝั่งรัฐบาลอิสราเอล รัฐบาลไทย หรือแม้แต่ผลประโยชน์ที่อาจสูญเสียไป หากเดินทางกลับ
The Momentum จึงหยิบข้อมูลบางส่วนจากการรายงานของหน้าสื่อและผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ครั้งนี้มาสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ไปพร้อมกัน
อิสราเอลในฐานะหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของเกษตรกรไทย
อิสราเอลเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของแรงงานไทยที่ต้องการทำงานในต่างแดน นอกเหนือจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกและอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร เพราะอิสราเอลเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสินค้าทางการเกษตรที่โดดเด่นของโลก สืบเนื่องด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอันล้ำหน้า
เบื้องต้นในปี 2023 มีการเปิดเผยรายละเอียดมูลค่าของตลาดการเกษตรอิสราเอลถึง 6,610 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 243,945,355,000 บาท) และอาจพุ่งสูงขึ้นถึง 8,300 ล้านดอลลาร์ (306,315,650,000 บาท)
จากการรายงานของบีบีซีไทย (BBC Thai) ในปี 2018 ประชาชนราว 5,000 คน เดินทางไปทำงานที่อิสราเอลผ่าน ‘โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อจัดหางาน’ (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers: TIC) ซึ่งเป็นช่องทางเดียวในการทำงานอย่างถูกกฎหมาย โดยมีกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
ทว่าการเดินทางไปทำงานในอิสราเอลไม่ได้ง่ายดายอย่างที่หลายคนคิด โดยเฉพาะผู้ประสบปัญหาทางการเงินถึงกับต้องกู้หนี้ยืมสิ้น เพราะมีค่าใช้จ่ายก่อนการเดินทางไปอิสราเอลประมาณ 7 หมื่นบาท ซึ่งมูลค่าดังกล่าวไม่รวมรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ เช่น ค่าเดินทางจากต่างจังหวัดมากรุงเทพฯ ค่าอาหาร ค่าที่พัก หรือเงินติดตัว (Pocker Money) ฯลฯ ดังต่อไปนี้
– ค่าธรรมเนียมขอหนังสือเดินทาง 1,000 บาท
– ค่าตรวจสุขภาพประมาณ 1,500 บาท
– ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างแดน 400 บาท
– ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินไปประเทศอิสราเอล 1.8 หมื่นบาท (เที่ยวเดียว)
– ค่าธรรมเนียมจัดหางาน ประมาณ 3 หมื่นบาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน)
– ค่าธรรมเนียมซื้อตั๋วแลกเงินธนาคารจำนวน 2 ใบ 406 บาท
– ค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน (ขากลับ) 1.8 หมื่นบาท
รายได้และสิทธิประโยชน์ที่ต้องได้รับในฐานะแรงงานไทยในอิสราเอล
ทั้งนี้ องค์กรคาฟลาโอเวด (Kav-Laoved) หน่วยงานอิสระที่ไม่ขึ้นตรงกับรัฐบาลสองประเทศ ซึ่งทำหน้าที่ให้ข้อมูลและช่วยเหลือแรงงานไทย ให้รายละเอียดสวัสดิการของแรงงานไทยในเดือนมกราคม 2022 ดังต่อไปนี้
ระยะเวลาการทำงานและเงื่อนไข
– 8 ชั่วโมงต่อวัน
– มีสิทธิพักเบรกได้ 45 นาที ในกรณีทำงานเกิน 6 ชั่วโมง
– แรงงานต้องมีวันหยุดพักผ่อน 36 ชั่วโมงติดต่อกัน
– แรงงานสามารถทำงานติดต่อกันในอิสราเอลได้สูงสุด 5 ปี 3 เดือน
ค่าจ้างขั้นต่ำ
– ค่าจ้างรายเดือน 5,300 เชเกลอิสราเอล (ประมาณ 49,473 บาท)
– ค่าจ้างรายวัน 233 เชเกลอิสราเอล (ประมาณ 2,174 บาท)
– ค่าจ้างรายชั่วโมง 29.12 เชเกลอิสราเอล (ประมาณ 214 บาท)
หมายเหตุ: นายจ้างสามารถหักค่าใช้จ่ายรายเดือนได้จากเงินเดือน เช่น ค่าประกันสุขภาพ ค่าที่พัก ภาษีเงินได้และประกันสังคม เมื่อคิดคำนวณเบื้องต้น รายได้ที่หักจากค่าใช้จ่ายทั้งหมด อาจเหลือประมาณ 4.5 หมื่นบาท
สิทธิประโยชน์การทำงาน
– นายจ้างต้องจัดหาที่พักอาศัยให้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนอน ตู้สำหรับใส่ของใช้ส่วนตัว ห้องครัว และห้องส้วม
– วันหยุดพักร้อน 16 วันต่อปี (สำหรับ 5 ปีแรกของการทำงาน), วันหยุดเทศกาล 10 วัน
– โบนัสรายปี
– ประกันสังคม ครอบคลุมอุบัติเหตุจากการทำงาน
– สวัสดิการค่าครองชีพ 100 เชเกลอิสราเอลต่อเดือน
– เงินชดเชย กรณีถูกไล่ออก ไม่มีการต่อวีซ่า การทำงานท่ามกลางสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวย การบังคับใช้แรงงาน และการหมดอายุงาน (5 ปี 3 เดือน)
เงินค่าจ้างและสิทธิประโยชน์สำหรับการทำงานล่วงเวลา (OT)
– หากทำงานเกินเวลาปกติ คือ 8 ชั่วโมง คนงานจะได้รับค่าจ้างร้อยละ 125 ใน 2 ชั่วโมงแรก
– หากทำงานเกิน 10 ชั่วโมง แรงงานต้องได้รับค่าจ้างร้อยละ 150
– หากทำงานวันหยุด แรงงานต้องได้รับค่าจ้างอัตราร้อยละ 175 และกรณีที่ทำงานเกิน 10 ชั่วโมงในวันหยุด จะได้ค่าจ้างร้อยละ 200 อีกทั้งจะต้องได้รับวันหยุดพักผ่อนเพิ่มอีก 1 วัน
สำหรับตัวอย่างเบื้องต้น สำนักข่าวไทยพีบีเอส (Thai PBS) สัมภาษณ์แรงงานไทยคนหนึ่งที่ทำงานในสวนผลไม้ในเมืองแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของอิสราเอล เขาเผยสาเหตุของการทำงานในต่างแดน เพราะได้รับค่าจ้างสูงถึง 4.5 หมื่นบาท จากที่อยู่ในประเทศไทยได้ 1.5 หมื่นบาท
จาก ‘ถูกเอาเปรียบและละเมิดสิทธิ’ ถึง ‘ความไม่ปลอดภัยในการทำงาน’: สภาวะที่แรงงานไทยในอิสราเอลต้องเผชิญ
“ตั้งแต่ก้าวมาทำงานในฟาร์ม (ที่อิสราเอล) เราก็รู้อยู่แล้วว่าต้องเป็นทาสเขา”
แรงงานคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ในบทความ ‘แรงงานที่ถูกลืม’ ของบีบีซีไทย
น่าเศร้าที่สภาวะ ‘หนีเสือปะจระเข้’ เกิดขึ้นกับแรงงานไทยในอิสราเอล เมื่อพวกเขาพยายามขวนขวายหนีความยากจนในประเทศ จากค่าแรงอันน้อยนิดมาทำงานในต่างแดน ด้วยความหวังว่า คุณภาพชีวิตจะยกระดับขึ้นมาจากเงินเดือนและสวัสดิการของการทำงานในประเทศพัฒนาแล้ว
ทว่าความหวังดังกล่าวกลับกลายเป็นฝันร้าย เมื่อฮิวแมนไรต์วอตช์ไทย (Human Rights Watch) รายงานถึง ‘สัญญาที่ไม่เป็นธรรม’ หรือการกดขี่แรงงานในอิสราเอลในปี 2015 สะท้อนจากการเสียชีวิตของ ไพรวัลย์ สีสุขขะ โดยมีการเปิดเผยว่า เขาทำงานวันละ 17 ชั่วโมง ขณะที่แรงงานบางส่วนเผยว่า รู้สึกราวกับทาสที่ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง และมีวันหยุด 4 วันต่อปี
ปรากฏการณ์ข้างต้นไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร กระทั่งในปี 2561 บีบีซีไทยเผยแพร่สารคดีแรงงานไทยในอิสราเอล ทำให้เห็นวิถีชีวิตของพวกเขาที่ไม่ต่างจาก ‘ทาส’ ในสังคมยุคใหม่ สะท้อนจากจำนวนแรงงานที่เสียชีวิตถึง 170 คน ภายในระยะเวลา 6 ปี โดยไม่มีการสืบสวนเพิ่มเติม
จากรายงานของบีบีซีไทยเผยให้เห็นว่า แรงงานไทยในอิสราเอลทำงานหนักและไม่ได้พักอย่างต่อเนื่องจนกระทบกับสุขภาพ เมื่อผู้คนจำนวนหนึ่งเปิดเผยว่า พวกเขาอยู่กับสารเคมีจากยาฆ่าแมลงวันละ 10 ชั่วโมง โดยที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัว ทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว หรือซ้ำร้าย บ้างไม่ได้รับค่าจ้างตามที่ตกลงกันไว้ แม้จะทำงานหนักจนสายตัวแทบขาด
นอกจากนี้ สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานไทยก็ต่ำกว่าระดับมาตรฐานราวกับไม่ใช่มนุษย์ แสดงให้เห็นจาก ‘ห้องกล่องกระดาษ’ ทำให้แรงงานรายหนึ่งแสดงความรู้สึกผิดหวังว่า “คอกหมาอาจจะดีกว่า” ท่ามกลางเสียงของนายจ้างที่ปฏิเสธเหตุการณ์ทั้งหมด และตอกกลับว่า “รู้สึกขยะแขยง” ที่คนไทยไม่สนใจความเป็นอยู่
แม้จะเผชิญสภาวะที่บั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่หลายคนเลือกจะนิ่งเงียบ เพราะสำหรับแรงงานไทยบางส่วน ความจนน่ากลัวกว่าความไม่เป็นธรรม โดยองค์กรคาฟลาโอเวดเผยกับบีบีซีไทยว่า พวกเขากลัวการถูกย้ายงาน และบางคนถูกขู่ฆ่าจากนายจ้าง
ปัจจุบัน แม้จะมีการแก้ไขปัญหาบางส่วน แต่รายงานจากดิแอ็กทีฟ (The Active) เผยข้อมูลจากองค์กรคาฟลาโอเวดว่า สิทธิด้านสุขภาพและสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานไทยยังคงเป็นปัญหาที่ต้องจับตามอง สะท้อนผ่านสถิติในปี 2021 ดังต่อไปนี้
– มีแรงงานไทยจำนวนเพียง 50% ในอิสราเอล ที่มีบัตรประกันสุขภาพและสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างอิสระ
– แรงงานที่เข้ารับการรักษาถึง 44% ไม่เข้าใจแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ เพราะไม่มีการอำนวยความสะดวกเรื่องภาษา
– 90% ของแรงงานทำงานที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงและอันตราย เช่น การทำงานบนที่สูง การทำงานที่ต้องสัมผัสยาฆ่าแมลง การทำงานกับยานพาหนะและเครื่องมืออันตราย และมีเพียง 33% เท่านั้นที่ได้รับอุปกรณ์ป้องกันจากนายจ้าง
– แรงงาน 93% ประสบปัญหาทางสุขภาพจากการทำงาน
– แรงงานจำนวน 46% มีอาการป่วยทางจิตใจ เช่น มีความคิดอยากปลิดชีพตนเอง แต่ไม่มีสวัสดิการครอบคลุมเพื่อดูแลอาการป่วยดังกล่าว
– แรงงานประมาณ 50% ยังต้องทำงานต่อไป แม้จะมีอาการป่วย
– แรงงานประมาณ 70% ไม่ได้รับค่าจ้างชดเชยจากการลาป่วย
สิทธิประโยชน์ที่แรงงานไทยในอิสราเอลควรจะได้รับ ท่ามกลางความรุนแรงในอิสราเอล
คำถามสำคัญของแรงงานไทยในอิสราเอล (รวมถึงประชาชนผู้เสียภาษี) ณ ช่วงเวลานี้คือ พวกเขาจะ ‘ได้หรือเสีย’ อะไร หากเดินทางกลับจากสงครามระหว่างฮามาสกับอิสราเอล
แม้จะเป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ แต่คำตอบดังกล่าวยังคงคลุมเครือ และไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัดจากหน่วยงานของรัฐไทย ทั้งกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงแรงงาน ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงเทลอาวีฟ เปิดแบบฟอร์มให้แรงงานไทยในอิสราเอลแจ้งความประสงค์ขึ้นเครื่องบินอพยพกลับประเทศ พร้อมหมายเหตุบางอย่างว่า อาจ ‘กระทบต่อสิทธิประโยชน์’ บางอย่าง และ ‘การเดินทางกลับไปทำงานอีกครั้ง’
อย่างไรก็ตาม The Momentum รวบรวมสิทธิประโยชน์ที่แรงงานไทยจะได้รับในเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยอ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในรายการโหนกระแสและหน้าสื่ออื่นๆ รวมถึงคู่มือแรงงานไทยอิสราเอลดังต่อไปนี้
สิทธิประโยชน์ของคนไทยในอิสราเอล (กรณีเสียชีวิต)
สืบเนื่องจากอิสราเอลเป็นประเทศอยู่ในสภาวะสงคราม หากแรงงานได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ข้างต้น จะได้รับผลประโยชน์จาก National Insurance Institute ดังต่อไปนี้
กรณีบาดเจ็บหรือพิการ
– 0-10% ไม่ได้รับค่าทดแทน
– 10-19% ได้รับเงินก้อนเดียวไม่เกิน 1.5 แสนเชเกลอิสราเอล (ประมาณ 1.4 ล้านบาท) แต่หากอายุน้อย จะได้รับจำนวนเงินมากกว่าผู้สูงอายุ
– 20% ขึ้นไป จะได้รับค่าทดแทน 6 หมื่นเชเกลอิสราเอล (ประมาณ 5.62 แสนบาท) จนกว่าจะเสียชีวิต
กรณีเสียชีวิต
– ภรรยาและบุตรจะได้เงินจนกว่าได้สามีใหม่ หรือบุตรได้บรรลุนิติภาวะ
– ภรรยาได้รับประมาณ 3.36 หมื่นบาทต่อเดือน และบุตรมีสิทธิได้รับเงินสูงสุด 1.12 หมื่นบาทต่อเดือน
หมายเหตุ: พิพัฒน์ รัชกิจประการ ระบุในรายการโหนกระแสว่า การเยียวยาเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอิสราเอล และผู้ได้รับกระทบจะได้ผลประโยชน์อย่างต่อเนื่อง แม้จะกลับมาอยู่ประเทศไทย
การเยียวยาจากรัฐบาลไทย
– แรงงานไทยในอิสราเอลจะไม่ได้รับการคุ้มครองตามระบบประกันสังคมของประเทศ เพราะระบบดังกล่าวไม่นับแรงงานในต่างแดน
– กระทรวงแรงงานมีเงินเยียวยา 4 หมื่นบาท และอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินจากกระทรวงต่างประเทศ (ไม่มีการระบุตัวเลขชัดเจน)
อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์ที่ ‘ต้องเสีย’ ตามที่สถานเอกอัครราชทูตในกรุงเทลอาวีฟระบุ ยังคงเป็นปริศนา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเผยว่า ขอให้แรงงานไทยกลับมาก่อน รัฐบาลจะพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้ทุกคนสามารถกลับไปยังอิสราเอลได้อีกครั้ง แต่อาจมี ‘ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม’ และ ‘ส่งไปทำงานที่ประเทศอื่นแทน’ ซึ่งไม่มีการระบุรายละเอียด เพื่อคลี่คลายความสงสัยของประชาชนจำนวนมาก
โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานไทยในอิสราเอลบางส่วนที่ยังตัดสินใจไม่เดินทางกลับประเทศ เมื่อหลายคนเกรงกลัวที่จะสูญเสียสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับ บ้างแสดงความคิดเห็นว่า กลับไปแล้วจะไม่มีงานทำ ท่ามกลางเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศ หรือพวกเขาอาจไม่สามารถกลับเข้ามาในอิสราเอลได้อีก
อ้างอิง
https://theactive.net/news/law-rights-20231008/
https://www.thaipbs.or.th/news/content/332608
https://www.bbc.com/thai/resources/idt-sh/thai_in_israel
https://www.mfa.go.th/th/content/dfm-press-briefing-091023?cate=5d5bcb4e15e39c306000683b
https://www.mordorintelligence.com/industry-reports/agriculture-in-israel-market
https://www.thaipbs.or.th/news/content/332638
https://www.hrw.org/th/report/2015/09/07/280850
Tags: แรงงานไทยในอิสราเอล, แรงงานไทย, Infographic, อุตสาหกรรมการเกษตร, เกษตรกรรม, INFO, Israel, องค์กรคาฟลาโอเวด, Palestine, Kav-Laoved, อิสราเอล, ปาเลสไตน์, ตะวันออกกลาง, สิทธิแรงงาน