1

กระสุนนัดประวัติศาสตร์ 

ใครจะเชื่อว่าประเทศอูกันดา จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งประวัติศาสตร์ความวุ่นวายของการเมืองอิสราเอลถึงทุกวันนี้ได้ หากในวันที่ 4 กรกฎาคม 1976 กระสุนนัดหนึ่งจะแฉลบไปเพียงนิด

บางทีและบางทีความวุ่นวายทางการเมืองของอิสราเอลในวันนี้ อาจจะไม่เกิดขึ้น

เช้าวันนั้น ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เบนยามิน เนทันยาฮู (Binyamin Netanyahu) หนุ่มอิสราเอล ที่เดินทางมาทำงานที่อเมริกา และหวังจะอยู่ที่นี่ไปตลอดชีวิต แต่เสียงโทรศัพท์ที่ดังขึ้นในเวลานั้นเปลี่ยนชีวิตชายคนนี้ไปตลอดกาล

“มันเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายในชีวิตผม ผมต้องเดินไปที่บ้านพ่อกับแม่” แล้วแจ้งว่าโยนาทาน เนทันยาฮู (Yonatan Netanyahu) พี่ชายของเบนจามิน เสียชีวิต

พี่น้องตระกูลเนทันยาฮูเป็นคนอิสราเอล พวกเขาถูกเกณฑ์เป็นทหาร ตัวโยนาธาน มีความโดดเด่น เก่งกาจมากความสามารถ และเป็นหัวหน้าทีมปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันชาวอิสราเอล ซึ่งถูกผู้ก่อการร้ายยึดเครื่องบินไปจอดที่ประเทศอูกันดา

ที่นั่นมีเผด็จการสุดเหี้ยมชื่อว่า อีดี อามิน (Idi Amin)

ทั้งโลกตกตะลึง แต่ทางการอิสราเอลใช้ปฏิบัติการเหนือเมฆ พาเครื่องบินซี 130 ไปลงสนามบินอูกันดา นำรถที่ถูกทาสี คล้ายกับรถขบวนของอามิน มุ่งหน้าไปที่อาคาร ซึ่งตัวประกันถูกจับไว้

จากนั้นการยิงสนั่นและการกราดกระสุนก็เกิดขึ้น มีตัวประกันเสียชีวิต แต่ส่วนใหญ่ถูกช่วยพาขึ้นเครื่องบินกลับสู่อ้อมกอดแห่งเสรีภาพได้อีกครั้ง

ยกเว้นโยนาทาน เขาถูกยิงเสียชีวิต

เป็นการสละชีพเพื่อปฏิบัติการนี้ที่สะท้านไปทั่วโลก

เสียงโทรศัพท์จากเพื่อนสนิท ที่แจ้งข่าวร้ายแก่เบนยามิน ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางกลับอิสราเอล ลงสนามเวทีการเมือง เป็นนายกรัฐมนตรีที่ประสบความสำเร็จ ครองตำแหน่งยาวนานสุดในประเทศ

และถึงวินาทีนี้ เขายังดำรงตำแหน่งผู้นำในรัฐบาลชุดนี้ ที่ซึ่งจุดเริ่มต้นแห่งความขัดแย้งในการเมืองอิสราเอลร้อนระอุขึ้น

มันถูกขนานนามว่า ‘วิกฤตครั้งใหญ่ของประเทศ’ ที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมาได้เลย

2

ลดอำนาจศาล เพิ่มอำนาจสภา วาทกรรมซ่อนเร้นอำพราง

อิสราเอลเผชิญปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองอย่างมาก ถือเป็นวิกฤตใหญ่ นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศมาในปี 1948

เรื่องราวนี้อาจสรุปสั้นได้ว่า นับตั้งแต่ปี 2019 ประเทศแห่งนี้ เลือกตั้งกันไปแล้วกว่า 5 ครั้ง เป็นสถิติที่อลหม่านอย่างยิ่ง เพราะทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง สภาผู้แทนราษฎรของอิสราเอล ไม่เคยมีพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากเกินกว่าครึ่งหนึ่ง

นั่นทำให้รัฐบาลจึงมาจากหลายพรรคผสมกัน ส.ส. 120 คน ไม่มีพรรคใดสามารถกุมเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ความวุ่นวายนี้นำไปสู่การยุบสภา เพื่อเลือกตั้งกันหลายครั้ง

และปัจจุบันนี้ เนทันยาฮูเป็นนายกรัฐมนตรีจากรัฐบาลผสม ที่มาจากพรรคตัวเองและกลุ่มขวาจัดคลั่งศาสนาอย่างมาก

ความฝันของฝ่ายขวาที่นำโดยเนทันยาฮู คือการแก้ไขกฎหมายที่มีการบัญญัติขึ้นในปี 1992 ซึ่งให้อำนาจศาลสูงสุดในการยับยั้งล้มเลิกกฎหมายที่ออกมาจากสภาได้

ถึงตรงนี้ต้องชี้แจงเพิ่มเติมว่า อิสราเอลเป็นประเทศที่ไม่มีรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษร ไม่มีวุฒิสมาชิก มีเพียงสภาเดียว คือสภาผู้แทนราษฎร

ตอนสภาออกกฎหมายมอบอำนาจให้ศาลสูงสุดนั้น พวกเขาต้องการให้ประเทศมีการถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติ เหมือนประเทศประชาธิปไตยที่เจริญแล้ว

ศาลสูงสุดจึงกลายเป็นอีกองค์กรที่มีอำนาจในการจับตาการทำงานของสภาผู้แทน หลังปี 1992 เมื่อศาลได้รับอำนาจนี้มา พวกเขาทำการยับยั้งร่างกฎหมายที่อำนาจนิติบัญญัติผลักดันไปแล้วกว่า 20 ครั้งด้วยกัน

โดยกฎหมายที่ถูกศาลสูงสุดคว่ำนั้น ทางผู้พิพากษามองว่ามันเป็นกฎหมายที่ทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ และเพราะผลลัพธ์แห่งการถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติ ทำให้ศาลสูงสุด กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกับกลุ่มขวาจัดคลั่งศาสนา

ปมขัดแย้งนั้นมีมานานนับตั้งแต่ได้รับอำนาจแล้ว ศาลเคยสั่งห้ามการเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเขตยึดครองเวสแบงก์ ซึ่งมีชนชาวปาเลสไตน์อยู่ และพวกขวาจัดในอิสราเอลอยากจะรื้อถอนขับไล่คนปาเลสไตน์ออกไปอยู่แล้ว

นอกจากนี้ศาลยังเคยคว่ำกฎหมายที่สภาผู้แทนให้อภิสิทธิ์แก่พวกคลั่งศาสนาด้วย ด้วยผลงานนี้เอง จึงทำให้ฝ่ายขวาในอิสราเอลจ้องหาทางทำลายอำนาจศาลนี้เสมอมา

พวกเขาระดมความคิด หาเหตุผล มาหลายปี โดยสิ่งแรกคือฝ่ายขวาแจ้งว่า สภาผู้แทนอิสราเอลเป็น ส.ส. ซึ่งได้อำนาจจากประชาชน ดังนั้นหากออกกฎหมายอะไรออกมา ก็ไม่ควรถูกลบล้างจากศาลสูงสุด ซึ่งมาจากการแต่งตั้งกันเองจากอำนาจตุลาการ

ด้วยเหตุผลผู้แทนเป็นใหญ่ เพราะผูกพันทางอำนาจจากประชาชน จึงควรห้ามศาลมีอำนาจคว่ำบาตรกฎหมายที่ออกโดยคนที่ได้รับเลือกมาจากราษฎร ผ่านการเลือกตั้ง

เรื่องสำคัญซึ่งทางฝ่ายขวาไม่ได้บอกก็คือ ตัวผู้พิพากษาในศาลสูงสุด มีแนวคิดแบบแยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน ซึ่งไม่เป็นที่โปรดปรานแก่กลุ่มคลั่งศาสนาแน่

อย่างไรก็ดี คนที่เห็นด้วยกับอำนาจของศาลนี้ ก็ออกมาโต้ ชี้ว่า การที่จะให้อิสราเอลเป็นรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตย มันจะต้องมีระบบการถ่วงดุลตรวจสอบอำนาจการทำงานของสภาผู้แทนด้วย และเพราะไม่มีสภาสูง ดังนั้นอำนาจตุลาการก็ควรเข้ามาคานอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติได้

สิ่งสำคัญที่กลุ่มคนเชียร์ศาลไม่ได้บอกก็คือ ศาลสูงสุดแห่งอิสราเอลนี่แหละ คือป้อมปราการด่านสุดท้ายในการต่อกรกับพวกฝ่ายขวาจัด

เรื่องนี้เป็นปัญหาต่อสู้มาหลายปี จนมาครั้งนี้ กลุ่มขวาจัดนำโดยเนทันยาฮูกับพวกคลั่งศาสนาได้รวบรวมรัฐบาลผสม มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา คือ 64 เสียง จาก 120 เสียง และทำให้พวกเขาสามารถส่งกฎหมายจำกัดอำนาจศาลสูงสุดได้

และสถาปนาอำนาจสูงสุดของสภาผู้แทนราษฎรเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

ไม่เพียงเท่านี้พวกเขายังอยากให้รัฐบาลเป็นผู้คัดเลือกผู้พิพากษาด้วย

เรียกได้ว่ารุกเข้าไปในอำนาจตุลาการอย่างสุดฤทธิ์

นี่คือการต่อสู้ทางการเมืองครั้งสำคัญ

แต่ที่มีคนออกมาประท้วงเป็นจำนวนมาก คัดค้านร่างกฎหมายนี้ ไม่ใช่เพราะเห็นว่าศาลสูงสุดกำลังถูกคุกคาม การที่คนออกมาชุมนุมเป็นแสนๆ เทียบเท่าประชากร 5% ของประเทศ ล้นหลามสะเทือนก่อเป็นวิกฤตของอิสราเอล ไม่ได้มีเพียงร่างกฎหมายนี้เท่านั้น

แต่มันยังมีนัยยะซ่อนเร้นที่รู้กันดีว่า หากรัฐบาลเนทันยาฮูจำกัดอำนาจศาลได้ อาจจะส่งผลต่อการไต่สวนคดีคอร์รัปชัน ที่มีการตั้งข้อหาตัวเบนยามิน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันด้วย

วิกฤตการเมืองครั้งนี้ จึงข้นแน่นไปด้วยการซ่อนเร้นอำพรางของเหล่านักการเมืองฝ่ายขวาจัด

3

คอร์รัปชัน รับสินบน ผมไม่ผิด

ทุกอย่างเกิดขึ้นในปี 2016 เมื่อทางการอิสราเอลได้สืบสวนพบพฤติกรรมการรับสินบนของเบนยามิน จากนักธุรกิจที่ร่ำรวย เป็นซิการ์ แชมเปญ กระเป๋า เสื้อผ้าหรูๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่พบหลักฐานการรับสินบาตรคาดสินบนนี้ หลายครั้ง ก่อนจะเชื่อมโยงกันได้ทั้งหมด โยงไปที่ชายคนเดียว เนทันยาฮู

การคอร์รัปชันนี้มีเป้าหมายเรียกรับสินบน เพื่อเบนยามินจะได้ใช้อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรียุติการสอบสวนดำเนินคดีเรื่องอื้อฉาวของนักธุรกิจเหล่านี้

นับเป็นการตีกินสุดลือลั่น

อย่างไรก็ดีทางการมีหลักฐานเด็ด ยื่นไต่สวนในชั้นศาล ซึ่งเนทันยาฮูเองก็ดิ้นรนสู้ ย้ำว่าเขาไม่เคยรับของเหล่านี้ ไม่เคยคอร์รัปชัน มันเป็นวาทกรรมการปั้นเรื่องของศัตรูการเมือง

เขาย้ำว่าไม่ได้ทำอะไรผิด

ไม่เพียงเท่านั้น ยอดนายกรัฐมนตรีรายนี้ ยังทำการเลื่อน ยื้อ ไม่ขึ้นศาล อ้างเหตุผลสารพัด โควิด-19 บ้าง สุขภาพของเนทันยาฮูบ้าง เพื่อประวิงเวลาการถูกดำเนินคดี

ตั้งแต่ถูกตั้งข้อหา จนตกอำนาจ แล้วกลับมามีอำนาจใหม่ เนทันยาฮูจึงเปิดโครงการยับยั้งอำนาจศาล ผ่านสภาผู้แทน ร่วมกับกลุ่มฝ่ายขวา

นี่เองจึงกลายเป็นชนวนเดือด ที่ทำให้คนอิสราเอลบอกทนไม่ได้ ต้องออกมารวมตัวยับยั้งความพยายามนี้

เพราะหากศาลสูงสุดถูกยับยั้งอำนาจ และรัฐบาลไปคุมอำนาจตุลาการ บางทีและบางทีของบางที การไต่สวนคดีสินบนของเนทันยาฮูนี้ อาจยุติ โดยไม่มีการนำตัวคนผิดมาลงโทษได้

มันคือการคุกคามสั่นสะเทือนต่อระบอบประชาธิปไตยของอิสราเอลอย่างมาก

เรียกได้ว่าการประท้วงครั้งนี้ ระอุเดือดไปทุกองคาพยพของสังคมอิสราเอล

รวมถึงในกองทัพด้วย

4

กองทัพ สถาบันที่น่าเชื่อถือสุด ยังสั่นไหว

กองทัพอิสราเอล คือสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือสุดของประเทศ เพราะพวกเขาเป็นรั้วของชาติอย่างแท้จริง ทหารทุกคนไม่มีสิทธิ์พูดเรื่องการเมือง หรือแสดงตัวฝักใฝ่พรรคไหน หน้าที่ของพวกเขาคือปกป้องประเทศ

นี่ทำให้กองทัพอิสราเอล นอกจากเป็นที่เลื่องลือเรื่องความเก่งกาจ รบสุดยอด ข่าวกรองดีเยี่ยมแล้ว พวกเขายังเป็นสถาบันที่เป็นกลางสุดในแผ่นดินนี้

แต่ดูเหมือนการประท้วงครั้งนี้จะสั่นสะเทือนพวกเขาด้วย

อิสราเอลใช้ระบบเกณฑ์ทหาร ประชาชนต้องเข้ารับการฝึกฝนในกองทัพ เพราะความที่ประเทศตั้งอยู่รายล้อมด้วยศัตรูที่จ้องจะล้มชาติ จึงมีความจำเป็นต้องมีกำลังพลไว้เสมอ

การประท้วงครั้งนี้ มีทหารเขียนจดหมายถึงผู้บังคับบัญชา ไม่ขอฝึก เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านความพยายามของเนทันยาฮูและพวก ถึงขนาดว่าเหล่านักบินรบที่มีความสามารถ เจ้าหน้าที่หน่วยรบพิเศษ ต่างแสดงอารยะขัดขืน ไม่ยอมขับเครื่องบิน ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล กลายเป็นแรงกระเพื่อมใหญ่ในกองทัพ ที่สั่นสะเทือนไปทั้งประเทศ

และเมื่อกองทัพซึ่งเป็นสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือสุดในประเทศ เจอการแสดงปฏิกิริยาจากทหารแบบนี้ ทำให้ฝ่ายรัฐบาลอาจต้องเงี่ยหูฟัง เพราะหากขืนดื้อดึงดันร่างกฎหมายนี้ สังคมจะยิ่งบาดลึกแตกแยกยิ่งกว่าเดิม

เหล่านายพลเริ่มแอบเจรจา แบบไม่ออกนอกหน้า เพื่อยุติวิกฤตนี้ เนื่องจากเมื่อมีทหารอารยะขัดขืน มันอาจส่งผลต่อการเตรียมพร้อมของนักรบได้

สิ่งหนึ่งที่ทหารในกองทัพ ไม่เห็นด้วยกับการยับยั้งอำนาจศาลสูง ก็มีเหตุผลที่ว่า หากศาลสูงสุดตกอยู่ใต้อำนาจรัฐบาล วันหนึ่งนักรบอาจถูกสั่งให้ทำอะไรผิดกฎหมายได้ และเมื่อศาลสูงสุดที่คอยตรวจสอบอำนาจถ่วงดุลไม่มีไปแล้ว

ทหารอิสราเอลที่ก่อเหตุในสงครามหรือปฏิบัติการใดๆ อาจถูกส่งไปรับโทษในศาลอาญาระหว่างประเทศได้

ความพยายามของรัฐบาลจึงเป็นสิ่งที่พวกเขาต่อต้าน ทำให้ยิ่งทวีความเดือดของสังคมอย่างมาก

จนมันอาจนำไปสู่สงครามกลางเมืองได้

เรียกได้ว่าวิกฤตครั้งนี้ เสี่ยงสิ้นชาติ สิ้นแผ่นดินได้เลยทีเดียว

5

ปาเลสไตน์ก็ชักหวิว แสงสว่างยังมืดมน

ขณะนี้รัฐบาลยังพยายามผลักดันกฎหมาย แต่อ้างว่าได้ลดเงื่อนไขหลายข้อไปแล้ว แต่ประชาชนที่ออกมาประท้วง ยังไม่ยอมสลายตัว เพราะคำขาดที่พวกเขาต้องการ คือล้มเลิกความพยายามนี้ไปซะ

สิ่งหนึ่งที่นักวิเคราะห์มองกันก็คือ ภายใต้รัฐบาลขวาจัดของเนทันยาฮูนี้ หากพวกเขามีอำนาจเบ็ดเสร็จในประเทศ จัดการอำนาจศาลไปได้ การกวาดล้างขับไล่คนปาเลสไตน์ในดินแดนอิสราเอลก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายด้วย

เรียกได้ว่าการต่อสู้ของคนอิสราเอลผู้มีใจรักเสรีภาพและประชาธิปไตย ยังส่งผลต่อคนปาเลสไตน์ และอาจรวมถึงทั้งโลกด้วย มันเป็นวิกฤตที่อันตรายอย่างมาก

และเป็นอีกครั้งที่ระบอบประชาธิปไตยถูกพิสูจน์ว่าจะดีพอในอิสราเอลหรือไม่

ทั้งหมดนี้ บางทีมันอาจจะไม่เกิดขึ้น หากเนทันยาฮูไม่ได้รับโทรศัพท์ในปี 1976 หากไม่มีการจับตัวประกัน หรือกระสุนนัดประวัติศาสตร์เฉียดพี่ชายเขาไป

บางทีเรื่องนี้อาจแตกต่างจากเดิม

แต่เมื่อประวัติศาสตร์ไม่มีคำว่าถ้า

ฝันร้ายที่เนทันยาฮูเจอในวันที่พี่เขาตาย มันได้ส่งผ่านความสะพรึงเป็นฝันร้ายของคนอิสราเอล และระบอบประชาธิปไตยของชาติด้วย

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวถึงการประท้วงในอิสราเอลไว้อย่างลือลั่นว่า ประเทศนี้กำลังเจอ ‘วิกฤตแสนสาหัสอย่างยิ่ง’

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.theguardian.com/world/2023/mar/16/what-are-the-israeli-protests-about-and-what-happens-next

https://www.theguardian.com/world/2016/jul/04/binyamin-netanyahu-israel-entebbe-airport-uganda

https://www.nytimes.com/2023/03/15/briefing/israel-netanyahu.html

https://www.nytimes.com/2022/11/01/world/middleeast/israel-netanyahu-corruption-trial.html

https://www.nytimes.com/2023/03/10/world/top-stories-analysis.html

https://www.nytimes.com/2022/11/03/world/middleeast/netanyahu-corruption-charges-israel.html

Tags: , ,