ภายใต้นิยามของ โจเซฟ ไนย์ (Joseph Nye) นักคิดจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นิยามซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ว่า หมายถึงการใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรมเพื่อเปลี่ยน ‘พฤติกรรม’ และใช้อำนาจอ่อนเหล่านี้เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ขณะที่ Oxford Learner’s Dictionaries ซอฟต์พาวเวอร์หมายถึงวิธี ‘ดีล’ กับประเทศอื่นผ่านอิทธิพลทางเศรษฐกิจและอิทธิพลทางวัฒนธรรม สำหรับหว่านล้อมให้ประเทศอื่นทำตามที่ต้องการ แทนที่จะใช้อำนาจแข็งอย่าง ‘อำนาจทางการทหาร’

รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ตั้งใจมากในการใช้ซอฟต์พาวเวอร์เป็นตัวนำรายได้เข้าสู่ประเทศ เพียงหนึ่งเดือนหลังรับตำแหน่ง มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โดยมี แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป็นรองประธาน และมีการตั้งอนุกรรมการชุดต่างๆ เพื่อทำงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ด้านการกีฬา ด้านภาพยนตร์ ด้านเพลง ด้านหนังสือ ด้านงานอีเวนต์ ฯลฯ โดยตั้งมั่นและ ‘ฝันใหญ่’ ให้ซอฟต์พาวเวอร์เป็นผลงานหลักของรัฐบาลให้ได้

ทว่านิยามของซอฟต์พาวเวอร์ดูจะห่างไกลจากนิยามสากล นิยามซอฟต์พาวเวอร์แบบไทยๆ ดูจะกลายเป็นนิยามที่ถูกขีดขึ้นเอง เพื่อดึงอะไรก็แล้วแต่ที่มีอยู่แล้ว สร้างมูลค่าให้มากขึ้น แล้วกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ให้จงได้ และองคาพยพรอบๆ ก็พยายามยกทุกอย่างให้กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์

ด้วยเหตุนี้ นิยามซอฟต์พาวเวอร์แบบรัฐบาลเพื่อไทย จึงต่างจากซอฟต์พาวเวอร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกโดยชัดเจน

แล้วอะไรบ้างคือซอฟต์พาวเวอร์ในรัฐบาลชุดนี้ ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างที่ถูกสะท้อนผ่านบรรดาองคาพยพในรัฐบาล เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ภาพของ ‘อำนาจอ่อน’ ในรัฐบาลชุดนี้คืออะไรกันแน่

1. ไก่ย่างเขาสวนกวาง

นำเสนอโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ก่อนจะถึงเวลาเป็นรัฐบาล ในขณะหาเสียงที่จังหวัดขอนแก่น หนึ่งในเมืองหลวงสำคัญของพรรคเพื่อไทย เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคในเวลานั้น ไปพบกลุ่มปศุสัตว์และอุตสาหกรรมไก่ย่างที่อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีกลุ่มสมาชิกมากกว่า 420 ร้านค้า

ระหว่างที่เศรษฐารับฟังบรรยายจากผู้ประกอบการ ถึงปัญหาต้นทุนอาหารสัตว์และปัญหาแผงลอยไม่มีที่ทางชัดเจน เศรษฐายกขึ้นมาว่า อันที่จริงไก่ย่างเขาสวนกวางก็ถือเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ อย่างหนึ่ง มีตลาดใหญ่ ดังไปทั่วประเทศ

“ตลาดเราใหญ่ขนาดนี้แล้ว ผมเชื่อว่า การจะเอาไก่ย่างเขาสวนกวางไปเปิดตลาดต่างประเทศ ก็ต้องสามารถทำได้ สำหรับแหล่งเงินทุน ถ้าตลาดเราใหญ่พอ ธนาคารจะต้องให้กู้แน่นอน”

ทั้งนี้ จุดเด่นของไก่ย่างเขาสวนกวาง คือไก่ตัวเล็ก ย่างจนแห้ง รสชาติเข้มข้นมากบริเวณหนัง และเนื้อก็เข้มข้นจากการหมักไก่ด้วยเครื่องปรุงหลากชนิด

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ได้มีไก่ย่างเขาสวนกวาง หากแต่ยังมีไก่ย่างวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ไก่ย่างบางตาล จังหวัดราชบุรี ไก่ย่างจักราช จังหวัดนครราชสีมา และไก่ย่างห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ที่ล้วนโด่งดัง มีรสชาติอร่อยไม่แพ้กัน ซึ่งหาก ‘เขาสวนกวาง’ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่อื่นก็น่าได้รับการสนับสนุนเป็นซอฟต์พาวเวอร์ด้วย

2. แข่งนกพิราบ

นำเสนอโดย สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี

“ดูจาก 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ถ้าเราหากีฬาประเภทสัตว์เลี้ยง อย่างเช่นการแข่งนกพิราบ ช่วงปลายปีพวก Hi End มาในประเทศไทยมากมาย แล้วส่งนกมาเลี้ยงที่กรงเดียวกัน คือที่พัทยา แล้วเวลาแข่ง เอานกไปปล่อยโคราชหรือแถวจังหวัดชายแดน แล้วบินเข้ามายังพัทยา เจ้าของก็เป็นคนมีเงิน ถ้าเราสามารถเพิ่มกีฬาหมวดสัตว์เลี้ยงให้มีหลายประเทศ ก็น่าจะดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาได้” คือความคิดเห็นของ สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาตินัดแรก เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566

สำหรับกีฬานกพิราบมีการแข่งขันใหญ่ประจำปี เป็นการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยในปี 2565 มีนกพิราบเข้าแข่งกว่า 8,747 ตัว จาก 46 ประเทศทั่วโลก ทุบสถิติการแข่งขันนกพิราบในไทย

อย่างไรก็ตาม การแข่งนกพิราบไม่ได้มีเพียงในประเทศไทยที่เดียว หากแต่ยังมีการแข่งขันทั่วโลก โดยมีต้นกำเนิดที่ประเทศเบลเยียมนับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 อีกทั้งยังแพร่หลายในบราซิล แคนาดา และสหรัฐอเมริกา

คำถามสำคัญคือ หากดันการแข่งขันนกพิราบเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย แล้วการแข่งขันนี้ต่างจากประเทศอื่นๆ กระทั่งเป็นจุดเด่นขึ้นมาได้อย่างไร

3. ไอศกรีมลาย ‘ศรีเทพ’

นำเสนอโดย เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

นับตั้งแต่อุทยานประวัติศาสตร์ ‘ศรีเทพ’ จังหวัดเพชรบูรณ์ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโก ในฐานะ ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา การรับรู้ของสาธารณชนก็เปลี่ยนไป จากที่ไม่มีใครรู้จัก ก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใครก็อยากไปเยือน

พลันที่ได้ขึ้นทะเบียน เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ก็ประกาศตั้งแต่ต้นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่บรรพบุรุษสร้างความเจริญมาตั้งแต่อดีตจากรุ่นสู่รุ่น มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปีตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์จนกระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นแผ่นดินทองที่เรียกว่าดินแดนสุวรรณภูมิ

“เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมหรือซอฟต์พาวเวอร์ ที่จะนำความมั่งคั่งมาสู่ประชาชนชาวไทย ยิ่งๆ ขึ้นไป” เสริมศักดิ์ระบุ

ไม่เพียงแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ที่ยกเรื่องประวัติศาสตร์ไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ทว่ายังยกไอศกรีมลายกระเบื้อง ซึ่งพิมพ์ลาย ‘ศรีเทพ’ เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ด้วย

“ถือเป็นการนำองค์ความรู้ด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมาสร้างผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม เช่น ไอศกรีมศรีเทพ” เสริมศักดิ์ให้ความเห็น

กระนั้นเอง ไอศกรีมลายกระเบื้องศรีเทพ หรือกระทั่งไอศกรีมกระเบื้องวัดอรุณฯ ไอศกรีมเยาวราช ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นเรื่องที่ทำมานมนานในต่างประเทศ มีทั้งไอศกรีมลายหอนาฬิกาบิ๊กเบน ลอนดอน ไอศกรีมลายช็อกโกแล็ตบาร์ของสตาร์บัคส์ ซึ่งสร้างสรรค์ผ่านเครื่องพิมพ์สามมิติ

เรื่องดังกล่าวจึงซับซ้อนนิดหนึ่งหากจะอ้างอิงว่า เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในการตีตลาดโลก

4. งาน ‘นวราตรี’

นำเสนอโดย พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

หากแปลตามความหมาย ‘นวราตรี’ แปลว่าการบูชาพระแม่อุมาเทวีเป็นเวลา 9 คืน ตามความเชื่อของคนอินเดีย โดยพระเทวีได้อวตารแบ่งเป็นปางต่างๆ 9 ปาง เพื่อต่อสู้กับอสูร และฉลองชัยชนะในคืนที่ 10 ซึ่งเรียกว่า ‘วิชัยทศมี’

ในประเทศไทย งานนวราตรีจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างยิ่งใหญ่ที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก) ถนนสีลม โดยมีขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่และเป็นศูนย์รวมของบรรดา LGBTQIA+ ไทย
.
ในปีนี้ แพทองธาร ชินวัตร เดินทางเข้าร่วมพร้อมกับ พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยตอนหนึ่ง พวงเพ็ชรให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า การจัดงานที่วัดแขกมีประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าร่วมมากขึ้นทุกปี แสดงให้เห็นถึงพลังศรัทธาทางศาสนาที่สร้างกระแสนิยมในสังคมได้

“สิ่งนี้จึงตอบโจทย์แนวทางการขับเคลื่อนงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มุ่งเน้นดึงความโดดเด่นและความเป็นอัตลักษณ์ นำมาเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ ช่วยให้เศรษฐกิจโดยรอบมีความคึกคัก และดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สนใจและศรัทธา”

แน่นอนว่า การจัดงานนวราตรีเป็นงานที่มีผู้สนใจเข้าร่วม แต่งานนวราตรีก็ไม่ได้จัดขึ้นที่ประเทศไทยเพียงแห่งเดียว หากแต่ในอินเดีย ต้นกำเนิด ก็มีการเฉลิมฉลองเป็นปกติ หรือประเทศมาเลเซีย ก็มีขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ทุกปีเช่นเดียวกัน การอธิบายเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ของไทย จึงอาจดู ‘แปร่งๆ’ ไปสักนิด

5. สัปเหร่อ

นำเสนอโดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ภาพยนตร์ ‘สัปเหร่อ’ สร้างกระแสพลังแห่งอำนาจอ่อนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อทำรายได้ทะลุ 500 ล้านบาท หลังการเข้าฉายไม่นาน ปลุกกระแส ‘ไทบ้าน’ ให้กลับมาคึกคัก และส่งแรงกระเพื่อมให้วงการภาพยนตร์ไทยที่ซบเซามาเป็นเวลานาน

กระนั้นเอง หลายคนในรัฐบาลก็อดไม่ได้ที่จะขี่กระแสดังกล่าว ทั้งหมดเริ่มต้นโดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ยกคณะไปดูภาพยนตร์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา อาศัยความที่ สิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ ของพรรค เป็นนายทุนผู้สร้างหนังเรื่องนี้

อนุทินให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่า สัปเหร่อทำให้เกิดความภาคภูมิใจ และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้สามารถนำไปต่อยอดเรื่องอื่นๆ ได้อีกมาก

ขณะที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็นำคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมชมภาพยนตร์ในวันถัดมา พร้อมกับกล่าวในทำนองเดียวกันว่า สัปเหร่อคือซอฟต์พาวเวอร์ที่ควรสนับสนุน

ในแผนของรัฐบาล มีการวางยุทธศาสตร์ให้ภาพยนตร์เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์หลัก โดยหลักการที่เกริ่นในเบื้องต้นคือ ‘ปลดล็อก’ การเซนเซอร์ภาพยนตร์ไทย ให้ไปไกลได้มากขึ้นและมีข้อจำกัดน้อยลง

คำถามก็คือ แล้วภาพยนตร์เรื่องอื่น แนวอื่น ที่เป็นภาพยนตร์ดี แต่ยังไม่ดัง เป็นภาพยนตร์ว่าด้วย Sub-Culture ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน จะได้รับการสนับสนุนหรีอไม่ และจะได้รับการสนับสนุนอย่างไร

เป็นแผนงานที่รัฐบาลต้องนำไปใคร่ครวญต่อไป

6. Winter Festival

นำเสนอโดย แพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ

หนึ่งในอีเวนต์สำคัญที่รัฐบาลตั้งใจให้เป็นการเปิดมหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ก็คือการจัดงานฤดูหนาว หรือ Winter Festival เริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน เรื่อยไปจนถึงเทศกาลคริสต์มาสและงานขึ้นปีใหม่

แพทองธารให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยควรมีเทศกาลระดับโลกเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยการจัดงานในปีนี้ตั้งเป้าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ภายในไตรมาสที่สี่ โดยจะเพิ่มนักท่องเที่ยวได้ 25-30 ล้านคน

คำถามสำคัญที่ยังแวดล้อมงานที่จะจัดขึ้นในเดือนหน้า (หากไม่นับว่าประเทศไทยจะมี ‘หน้าหนาว’ จริงหรือไม่) ก็คืองานลอยกระทงที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว จะพัฒนาให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ด้วยวิธีไหน แล้วงานฤดูหนาวที่เดิมคือ ‘งานกาชาด’ จัดขึ้นทุกปีในช่วงนี้ จะสามารถประชันอะไรได้กับงานเฉลิมฉลองในต่างประเทศ ที่ทุกที่ต่างก็มีเป็นของตัวเองเช่นเดียวกัน และงานที่จัดขึ้นเป็นประจำจะกลายเป็นอำนาจหนุนนำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเพิ่มได้อย่างไร

แน่นอนว่าสิ่งที่คณะกรรมการซอฟพาวเวอร์ฯ ต้องทำงานหนักต่อจากนี้ ก็คือการนิยามซอฟต์พาวเวอร์แบบไทยๆ ให้สามารถสร้างรายได้ สร้างมูลค่า นำเงินเข้าสู่ประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ จนกลายเป็นพลังอำนาจเชิงวัฒนธรรมได้จริง ไม่ว่าจะผ่านไก่ย่าง ไอศกรีม หรือมหกรรมฤดูหนาว

หากไม่มีหลักคิดที่ชัดเจน ทุกอย่างจะถูกจัดการอย่างคลุมเครือ ทุกองคาพยพในหน่วยราชการจะนำเสนอทุกแผนงานให้เป็นเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ แล้วซอฟต์พาวเวอร์จริงๆ ก็จะกลายเป็นเบี้ยหัวแตก ไม่สามารถกำหนดเป้าหมายและแผนงานได้จริง

แน่นอนว่ารัฐบาลและคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ฯ คงนึกภาพเหล่านี้ออก และไม่อยากเห็นภาพเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างแน่แท้

Tags: , , ,