เหตุการณ์ตากใบกำลังจะมีอายุครบรอบ 20 ปี ในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ที่จะถึงนี้ พร้อมกับอายุความของคดีซึ่งเกี่ยวข้องกำลังจะหมดลง โดยที่ผ่านมาความยุติธรรมที่ประชาชนได้รับมีเพียงการชดเชยทางแพ่งเท่านั้น
หลังรอคอยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรหนองจิก จังหวัดปัตตานี (สภ.หนองจิก) สั่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาเกือบ 20 ปี แต่การฟ้องไม่เคยเกิดขึ้น 25 เมษายน 2567 ประชาชนผู้สูญเสียจากเหตุการณ์จึงตัดสินใจฟ้องคดีอาญา ต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุเป็นครั้งแรก โดยมีจำเลยหลักคือ พลเอก พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาค 4 ซึ่งปัจจุบันเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งการให้สลายการชุมนุม รวม 9 คน ในข้อหา ‘ฆ่าผู้อื่น โดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย’
การฟ้องคดีนี้หลังเหตุการณ์ผ่านมาเกือบ 20 ปี เกิดขึ้นเนื่องจากประชาชนเห็นว่า ช่วงเวลานี้ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และพ้นช่วงใต้เงาอำนาจ 3 ป.มาแล้วในทางทฤษฎี หลังประชาชนเลือกไม่รอตำรวจและ ‘ฟ้องเอง’ ทาง สภ.หนองจิกซึ่งไม่เคยเปิดเผยรายละเอียดทางคดีหรือสำนวนคดีมาตลอด 20 ปี ได้ทำสรุปสำนวนฟ้องคดีนี้อย่างปัจจุบันทันด่วนเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 หรือภายในวันเดียวกับที่ประชาชนประกาศฟ้องเอง โดย สภ.หนองจิก ‘สั่งไม่ฟ้อง’ เจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนนั้น ‘สมควรแก่กรณีและเป็นเหตุสุดวิสัย’ ซึ่งนับเป็นการสั่งไม่ฟ้องล่าช้าอย่างมาก นั่นคือสั่งไม่ฟ้องเมื่ออีก 6 เดือน คดีที่ สภ.หนองจิก เก็บสำนวนการตายไว้กว่า 20 ปีจะขาดอายุความ
การดำเนินคดีตากใบกำลังเผชิญความท้าทายเรื่องการดำเนินคดีที่ล่าช้า วันที่ 12 มิถุนายน 2567 ตัวแทนญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบจึงทำหนังสือ ‘ขอความเป็นธรรมกรณีดำเนินคดีอาญาสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ’ ต่อสำนักการอัยการสูงสุด เพื่อขอทราบความคืบหน้าและเร่งรัดการดำเนินคดีการสลายการชุมนุมเหตุที่ สภ.ตากใบ ซึ่งเป็นเหตุการณ์เดียวกับสำนวนคดีอาญาที่ 13/2567 ของ สภ.หนองจิก แต่มีจำเลยแตกต่างกัน
โดยในสำนวนฟ้องของ สภ.หนองจิกมีจำเลยหลักเป็นเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบการขนย้ายประชาชนไปค่ายอิงคยุทธบริหาร และยึดผลสอบสวนตามคดีของศาลฎีกาที่ชี้ว่า ประชาชน ‘ขาดอากาศหายใจ’ ส่วนคดีที่ประชาชนเป็นผู้ฟ้องนี้ได้เปลี่ยนจำเลยหลักเป็นพลเอกพิศาลและพวก
กล่าวโดยย่นย่อ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งไม่ฟ้อง ประชาชนจึงหวังพึ่งเจ้าหน้าที่อัยการให้สั่งฟ้องต่อไป ผ่านการดำเนินคดีใหม่ที่ประชาชนเป็นผู้ฟ้องเองในปีนี้ เพื่อนำสำนวนการตายมาไต่สวนอีกครั้ง
ขณะนี้ความหวังของประชาชนอยู่ที่สำนักคดีอัยการสูงสุด เพราะหากอัยการสูงสุดในฐานะ ‘ทนายแผ่นดิน’ สั่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีส่วนสลายการชุมนุมแทนประชาชนและรื้อฟื้นการไต่สวนสำนวนการตายของประชาชนตากใบขึ้นมาใหม่ จะทำให้คดีเดินหน้าอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ การฟ้องคดีโดยประชาชนต้องเผชิญขั้นตอนมากกว่าและเสี่ยงต่อการถูกหน่วงเหนี่ยวเวลา ขณะที่การสั่งฟ้องโดยอัยการนั้นจะตัดขั้นตอนว่า ศาลจะรับฟ้องหรือไม่หรือขั้นตอน ‘ไต่สวนมูลฟ้อง’ ในคดีนี้ ซึ่งจำเลยเป็นนายทหารและเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงจำนวนมาก ต้องเข้าร่วมและเผชิญหน้ากับประชาชนผู้ไร้อำนาจออกไป รวมทั้งป้องกันการหน่วงเหนี่ยวประวิงเวลาของคดี เพราะหากอัยการเป็นผู้สั่งฟ้อง ศาลต้องรับฟ้องโดยอัตโนมัติ ซึ่งอาจทำให้คืนความยุติธรรมแก่ประชาชนชาวตากใบได้ทันเวลา จึงเป็นที่มาของการที่ประชาชนผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ได้ส่งหนังสือเรื่องร้องขอความเป็นธรรมถึงอัยการสูงสุดให้เร่งรัดคดี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567
ทว่าหลังการรับหนังสือ วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 สำนักงานคดีอัยการสูงสุดมีหนังสือตอบกลับประชาชน หนังสือเลขที่ อส 0031.3/348 โดยมีคำสั่งยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรม ดังนี้
“ตามหนังสือที่อ้างถึง ท่านขอทราบความคืบหน้าในการดำเนินคดีดังกล่าวว่า พนักงานอัยการได้ดำเนินคดีถึงขั้นตอนใด และมีกำหนดจะยื่นฟ้องผู้กระทำผิดหรือไม่ โดยขอให้เร่งรัดดำเนินคดีเพื่อมิให้ข้อหาความผิดต่างๆ ขาดอายุความ คดีระหว่าง พันตำรวจเอก พัฒนชัย ปาละสุวรรณ (ผกก.สภ.หนองจิก) ผู้กล่าวหา พลตรี เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร กับพวกรวม 8 คน ผู้ต้องหาฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นนั้น อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วได้มีคำสั่งยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรม”
คำสั่งยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรมหรืออีกนัยหนึ่งคือ การขอให้ประชาชนหยุดเรียกร้องขอความเป็นธรรม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในกระบวนการพิจารณาคดีความของไทย รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความประจำคดีนี้ ให้ความเห็นว่า คำสั่งยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้ เป็นการใช้ที่ไม่ถูกบริบท
“เมื่อประชาชนร้องของความเป็นธรรมมาไม่ว่าเรื่องอะไร สำนักงานอัยการสูงสุดควรตอบคำถามประชาชน คำสั่งยุติการร้องขอความเป็นธรรมไม่ค่อยมีการใช้กันหรอกครับ ที่มีการใช้กันมากคือ คำสั่งเห็นชอบการยุติการสอบสวน ซึ่งใช้กับคดีที่รวบรวมหลักฐานมานานแล้วยังไม่ได้ตัวผู้กระทำผิดเป็นระยะเวลานานพอสมควร เช่น คดีสงครามยาเสพติดที่ตำรวจอาจดำเนินการสืบสวนสอบสวนเต็มที่ แต่ยังไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด จึงขอให้อัยการพิจารณายุติการสอบสวน
“กรณีคดีตากใบ เราจะใช้คำสั่งยุติการร้องขอความเป็นธรรมไม่ได้ คดีตากใบมีพยานหลักฐานชัดว่า จับคนมัดถอดเสื้อผ้าเอามือไพล่หลัง นอนคว่ำหน้า ซ้อนๆ กันแล้วตาย ดังนั้นจะมาบอกว่า สืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมานานแล้วไม่พบ จึงควรยุติ ไม่ได้ มันไม่ควรยุติ ประชาชนร้องเรียนมาก็ตอบไปว่า ท่านกำลังทำอะไรอยู่ กระบวนการเป็นอย่างไร ไม่ใช่สั่งยุติไม่ให้ร้องขอความเป็นธรรม”
ทั้งนี้ หากพิจารณาเงื่อนเวลาคดีตากใบ ปี 2547 ใกล้จะหมดอายุความในอีก 3 เดือนข้างหน้า คำสั่งยุติการร้องขอความเป็นธรรมที่อัยการสูงสุดตอบประชาชนมาครั้งนี้ นับเป็นจุดพลิกผันสำคัญที่ทำให้คดีตากใบปี 2567 ได้รื้อฟื้น ‘สำนวนสืบสวนการตาย’ ที่ทำโดย สภ.หนองจิกขึ้นมาใหม่ หรือต้องยึดผลสรุปสำนวนตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสรุปและไม่มีโอกาสมอบความเป็นธรรมให้ประชาชนได้ต่อไป
ทั้งนี้ คดีตากใบ ปี 2567 เป็นคดีหมายเลขดำเลขที่ อ578/2567 มี ฟาตีฮะห์ ปะจูกูเล็ง และลาตีปะ มูดอ กับผู้สูญเสียรวม 48 คน เป็นผู้ยื่นฟ้อง ซึ่งศาลจังหวัดนราธิวาสเคยมีคำสั่งเลื่อนนัดไต่สวนมูลฟ้องมาแล้วครั้งหนึ่ง จากวันที่ 25 มิถุนายน 2567 มาเป็นวันที่ 19 และ 26 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น.
แม้ว่าทั้งในการพิจารณาคดีทั้ง 2 นัดในอนาคต จะมีสิทธิที่ศาลจะขอเลื่อนอีกในอนาคตเช่นกัน แต่ประชาชนยืนยันนำพยานซึ่งเป็นญาติผู้ตายและผู้บาดเจ็บเข้าสืบพยาน ในนัดวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ส่วนนัดวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 มีไว้เพื่อดำเนินการอื่นๆ หากจำเป็นในการนำพยานส่วนอื่นเข้าสืบ จากนั้นศาลจะกำหนดวันนัดฟังคำสั่งว่า คดีมีมูลพอให้รับฟ้องหรือไม่ หากศาลพิจารณาคดีว่าคดีไม่มีมูล จะนับว่าการฟ้องร้องจะสิ้นสุดลง ทว่าหากอัยการเป็นผู้สั่งฟ้องคดีนี้แทนประชาชน จะตัดขั้นตอนไต่สวนมูลรับฟ้องไปได้และทำให้คดีตากใบ จะเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการศาลอย่างเป็นทางการ
แต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับว่า สำนักอัยการจะใช้บทบาททนายแผ่นดินยื่นมือมายื่นฟ้องแทนประชาชนและทำให้คดีตากใบได้รับการ ‘รับฟ้อง’ อย่างรวดเร็ว เพื่อเรียกสำนวนการตายของประชาชนมาไต่สวนอีกครั้งก่อนอายุความหมดลง เพื่อคืนความยุติธรรมให้ประชาชนและขจัดการลอยนวลพ้นผิดหรือไม่