คำกล่าวที่ว่าคนไทยนิยมกินอาหารรสจัดไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะต่อให้เป็นกับข้าวกับปลาทั้งแบบไทย จีน หรือฝรั่ง ล้วนต้องมีสรรพเครื่องปรุงข้างเคียง อาทิ พริกป่น พริกน้ำปลา พริกน้ำส้ม ไปจนถึง ‘ซอสพริก’ รสชาติเผ็ดร้อนที่หลายคนติดใจ ยิ่งถ้าเสิร์ฟพร้อมข้าวไข่เจียวร้อนๆ สักจาน ก็คงจะยากเกินต้าน
แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ซอสพริกคู่ครัวที่เรากินอยู่ทุกวันนี้ แท้จริงมีต้นกำเนิดมาจากไหน และเหตุใดทุกยี่ห้อจึงต้องมีสกุลพ่วงท้ายว่า ‘ศรีราชา’
จากความสงสัยดังกล่าว ทำให้ The Momentum เดินทางมายังถนนเฟื่องนคร ลัดเลาะผ่านชานกำแพงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ท่ามกลางทัศนียภาพของตึกแถวโบราณที่ผ่านกาลเวลามาจากสมัยรัชกาลที่ 4 ที่เรียงรายติดกัน ก่อนจะพบกับบ้านประตูไม้สีเขียวสลับครีม ที่ด้านบนมีป้ายชื่อเขียนว่า ‘หัตถกรรมมาคาร’ เพื่อพบกับ ลคุฑ สุวรรณประสพ วัย 85 ปี ผู้เป็นเจ้าของร้านหัตถกรรมมาคาร และ ‘ซอสพริกศรีราชา ตราเหรียญทอง’ แบรนด์ซอสพริกสไตล์โฮมเมด ที่ผลิตมาตั้งแต่พุทธศักราช 2475
นอกจากรสชาติเผ็ดร้อนไม่เหมือนใคร อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ร้านหัตถกรรมมาคารเป็นที่เลื่องลือ คือการเป็นผู้ผลิตซอสพริกที่ใช้สกุลต่อท้ายว่าศรีราชาเป็นเจ้าแรกแห่งสยามประเทศ จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้พูดคุยกับคุณตาลคุฑ เพื่อค้นหาที่มาที่ไปของแบรนด์ซอสพริกแห่งตำนานนี้
คุณตาลคุฑ เริ่มต้นเล่าถึงที่มาของร้านหัตถกรรมมาคารและซอสพริกศรีราชา ตราเหรียญทอง ซึ่งเกิดจาก คุณแม่ลออ สุวรรณประสพ ที่อยากทำซอสพริกกินกันเองในครอบครัว รวมถึงเผื่อแผ่ให้เพื่อนฝูงลองชิม แต่รสชาติที่ถูกปากถูกใจใครหลายคน จึงทำให้ตัดสินใจผลิตขายเอง
“แม่ของผมท่านเป็นคนศรีราชา เวลาเพื่อนมาเยี่ยมบ้านก็จะลงครัวทำซอสพริกมาจิ้มกินกับพวกซีฟู้ด พออร่อยถูกปาก เพื่อนท่านก็เชียร์ให้ทำขายจริงจัง ทำขายไปได้ปีสองปี แม่ก็บังเอิญพบรักกับพ่อที่ทำงานอยู่สังกัดกรมชลประทาน ซึ่งตอนนั้นท่านแวะขึ้นมาตรวจราชการ ต่อมาทั้งสองตกลงปลงใจแต่งงานกัน แม่เลยย้ายขึ้นมาอยู่กรุงเทพฯ ที่บ้านของพ่อตรงเฟื่องนคร และมาเปิดร้านหัตถกรรมมาคารที่นี่”
คุณตาลคุฑเล่าว่า ที่จริงแล้วคุณแม่ลออตั้งใจจะจดทะเบียนยี่ห้อว่า ‘ซอสพริกศรีราชา’ ตามจังหวัดบ้านเกิด พร้อมติดป้ายกำกับสงวนชื่อว่า ‘เป็นซอสพริกเจ้าแรกแห่งสยามประเทศ’ แต่เนื่องจากเป็นชื่ออำเภอหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงไม่อนุญาตให้ใช้ ทั้งยังไม่มีเอกสารยืนยันว่าผลิตขึ้นเป็นเจ้าแรกจริง สุดท้ายเลยต้องตั้งชื่อใหม่เป็น ‘ตราเหรียญทอง’ โดยมีวันที่เริ่มต้นการผลิตครั้งแรกนับจากปี 2475 ตามหลักฐานที่ได้รับรางวัลมาจากการประกวดสินค้าในงาน ‘ฉลองรัฐธรรมนูญ’ หนแรกของร้าน
“อย. บอกว่า ถ้าจะตั้งชื่อแบบนี้พิสูจน์ยาก ต้องไปหาหลักฐานยืนยันมาว่าเริ่มทำขายตั้งแต่เมื่อไร ก็เลยต้องหอบเอกสารต่างๆ กับเหรียญรางวัลชนะเลิศที่ได้จากงานประกวดฉลองรัฐธรรมนูญปี 2475 ไปให้เขาดู”
เราได้พบกับ สุลักขินท์ สุวรรณประสพ ลูกชายของคุณตาลคุฑ ที่เดินออกมาทางด้านหลังร้านด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม นอกจากจะมีอาชีพหลักเป็นนักบัญชีแล้ว เขายังมีส่วนคอยช่วยเหลือผู้เป็นพ่อในการบริหารกิจการ
สุลักขินท์เล่าว่า สูตรซอสพริก ตราเหรียญทองประกอบด้วยทั้งหมด 2 สูตร คือ เผ็ดน้อยกับเผ็ดมาก โดยมีวัตถุดิบหลักมาจากพริกจินดาแดงและพริกชี้ฟ้า ที่มีแหล่งรับซื้อจากย่านปากคลองตลาด ขณะเดียวกันยังใช้กรรมวิธีการผลิตแบบเดิมๆ เช่น การใช้เครื่องโม่มือแทนที่เครื่องบดแบบอัตโนมัติ ทั้งยังผสมสัดส่วนแป้งลงไปน้อยมาก เอกลักษณ์ของซอสพริกที่ร้านจึงจะมีความข้น หนืดน้อย และเห็นเนื้อพริกได้ชัดเจน
“คุณพ่อมารับช่วงต่อดูแลกิจการประมาณปี 2514 จนถึงปัจจุบัน สูตรของเรายังคงเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะตัวซอสที่ยังใช้กรรมวิธีผลิตด้วยเครื่องโม่มือ ทำให้เนื้อพริกในซอสมีความหยาบ ผนวกกับการผสมแป้งลงไปในสัดส่วนปริมาณน้อย ทำให้ตัวซอสมีความเป็นน้ำ ต่างจากยี่ห้ออื่นที่มีความเนียนละเอียด พอเวลาลูกค้ามาซื้อก็ต้องแนะนำเขาว่าให้เขย่าขวดก่อนเหยาะกิน”
“ตอนผมเป็นเด็ก ซอสพริก ที่เราขายมีราคาไม่กี่สิบบาท ขวดเล็กสุดก็จะเป็นขวดเหล้าแบน ขวดกลางถึงขวดใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็จะมีหน้าตาคล้ายกับปัจจุบัน”
ซอสพริก ตราเหรียญทอง ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2475 หรือนับตั้งแต่ที่ประเทศไทยถือกำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรก จึงไม่น่าแปลกใจหากซอสพริก รสจัดจ้านยี่ห้อนี้ จะมีประวัติศาสตร์เกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย โดยมีบุคคลสำคัญทางการเมืองเข้ามาร่วมด้วย ดั่งเช่นเรื่องเล่าที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้ริเริ่มเรียกเครื่องปรุงรสชนิดนี้ว่าซอสพริก หรือแม้แต่ที่ สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ มักนิยมอุดหนุนซื้อซอสพริกกับทางร้านเป็นประจำ
“สมัยนั้นมีเรื่องเล่าว่า กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านเสด็จมาที่อำเภอศรีราชา แล้วได้เสวยซอสพริก ซึ่งตอนแรกคุณยายลออท่านตั้งใจเรียกเครื่องปรุงรสนี้ว่าน้ำพริกตามความคุ้นชินของชาวบ้าน แต่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านตรัสว่าเครื่องปรุงประเภทนี้ต้องเรียกว่าซอสพริก ที่คาดว่าจะได้รับอิทธิพลการเรียกชื่อมาจากชาติตะวันตก เลยกลายเป็นการเรียกกันมาปากต่อปากจนถึงปัจจุบัน
“สมัคร สุนทรเวช ก็เคยมาซื้อซอสพริกที่ร้านไปใช้ทำเมนูขาหมูต้มโค้ก ในรายการชิมไปบ่นไป ท่านเป็นเพื่อนกับคุณพ่อตอนสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นเพื่อนซี้กับลุง (พี่ชายคุณตาลคุฑ) ตั้งแต่สมัยที่เรียนอยู่เซนต์คาเบรียล
“เมื่อไม่นานมานี้ คุณช่อ (พรรณิการ์ วานิช) จากคณะก้าวหน้า ก็มีแวะเวียนมาซื้อไปลองชิมด้วยเหมือนกัน” สุลักขินท์กล่าว
ใครที่เดินผ่านไปมาหน้าร้านหัตถกรรมมาคารอาจจะคุ้นภาพที่คุณตาลคุฑนั่งขะมักเขม้นติดฉลากยี่ห้อซอสพริกด้วยวิธีการสุดคลาสสิกอย่างการใช้มือควักแป้งเปียกก่อนบรรจงทาวนด้านหลังฉลาก จากนั้นจึงทยอยไล่แปะทีละจุดบนขวด ตั้งแต่เช้าถึงเย็น โดยมีคนงาน 3-4 คน คอยช่วย นับได้ว่าเป็นซอสพริกที่มีกรรมวิธีผลิตสไตล์โฮมเมด และคราฟต์สุดฝีมือด้วยความใส่ใจอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ หัตถกรรมมาคารยังคงใช้โลโก้ซอสพริกที่หน้าตาเหมือนเดิมทุกประการมาตั้งแต่ปี 2475 และหากสังเกตดีๆ จะเห็นรูปเหรียญรางวัลที่ได้จากงานประกวดฉลองรัฐธรรมนูญแปะอยู่เหนือชื่อยี่ห้อไม่ต่ำกว่า 7-8 เหรียญ เพื่อเป็นการการันตีมาตรฐานและคุณภาพ
ระหว่างที่บทสนทนากำลังเป็นไปอย่างออกรส ก็มักจะมีบรรดาลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาไม่ขาดสาย บ้างก็ขอซื้อขวดเดียว 2 ขวด มากถึง 5 ขวดก็มีตามแต่กำลังทรัพย์ โดยส่วนใหญ่มักนำไปกินคู่กับอาหารประเภททอด คั่ว และผัด เพื่อแก้เลี่ยนด้วยรสชาติเปรี้ยวเผ็ดของซอสพริก
เมื่อสังเกตตู้กระจกหน้าร้าน ที่ด้านในมีป้ายบอกราคาซอสพริกแต่ละขนาด แต่กลับว่างเปล่าไม่มีซอสพริกให้เห็นสักขวด สุลักขินท์เฉลยว่า ด้วยปัจจัยการผลิตขนาดเล็ก ประกอบกับแรงงานที่มีลูกมืออยู่แค่ 3-4 คน แม้จะเร่งผลิตมือเป็นระวิงก็ไม่ทัน อย่างช่วงเวลาที่พวกเรามาก็เหลือสินค้าในสต็อกแค่รสชาติเผ็ดมากเท่านั้น ครั้นจะให้ต่อเติมโครงสร้างโรงผลิตที่อยู่ด้านหลังบ้านก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากอยู่ใกล้อาณาเขตพระราชวัง และถ้าจะให้ย้ายฐานการผลิตก็จำเป็นต้องใช้ต้นทุนจำนวนมาก
คู่ค้าส่วนใหญ่ที่ร้านหัตถกรรมมาคารส่งออกซอสพริก ล้วนอยู่ในละแวก กทม. เช่น ตามร้านอาหารและสหกรณ์ หรือก่อนหน้านี้คือบริษัทสายการบินอย่างการบินไทย โดยสุลักขินทร์จะเป็นคนขับรถไปส่งด้วยตัวเองเพื่อป้องกันสินค้าตกแตกเสียหาย
อย่างไรก็ดี จะมีสินค้าบางส่วนที่เหลือถึงมือลูกค้าขาจร ที่หากไม่ติดต่อและเดินดุ่มเข้ามาซื้อก็อาจต้องเสี่ยงดวงกันสักหน่อย แต่ถ้าโชคร้ายก็ต้องเดินกลับบ้านมือเปล่าไป
คุณตาลคุฑยืนยันเสียงหนักแน่นว่า จะดำเนินกิจการด้วยตนเองต่อไป แม้จะมีอายุถึง 85 ปีแล้วก็ตาม เพราะเป็นกิจการที่ตนรัก และลงมือทำมาตั้งแต่เรียนจบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนสุลักขินทร์เองก็ยินดีที่จะสานต่อเจตนารมณ์ของพ่อและยายที่ทำไว้ เพื่อไม่ให้แบรนด์ซอสพริกเจ้าแรกแห่งสยามประเทศ ที่มีอายุมากกว่า 90 ปีนี้ เลือนหายไปตามกาลเวลา
Fact Box
- สำหรับใครที่สนใจพิสูจน์ความอร่อยของซอสพริก ตราเหรียญทอง สามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-2221-3251 และ 08-3151-5150 หรือเดินทางมาที่ร้านด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสามยอด ประตูทางออก 1 มุ่งตรงตามถนนเฟื่องนคร ร้านจะอยู่ตรงข้ามวัดราชบพิธฯ (ทางร้านมีซอสพริกขายทั้งหมด 3 ขนาด ขวดเล็ก 20 บาท ขวดกลาง 25 บาท และขวดใหญ่ 50 บาท) รับประกันว่าไม่มีผิดหวัง และจะได้รอยยิ้มจากมิตรไมตรีของคุณตาลคุฑเป็นของแถมแน่นอน