ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์โควิด-19 กลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทั้งก่อนและหลังของผู้คนทางด้านเศรษฐกิจ ก่อนหน้าโรคระบาด รายได้หลักของเศรษฐกิจไทยมาจากการท่องเที่ยว ในปี 2562 มีสัดส่วนถึง 16 เปอร์เซ็นต์ของ GDP โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ซึ่งคิดเป็น 61 เปอร์เซ็นต์ จากรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมด และรายได้ของประชากรในจังหวัดยอดนิยมอย่างเชียงใหม่กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ มาจากการท่องเที่ยว แม้ในปีต่อมา นักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่สามารถมาท่องเที่ยวได้ และทำให้รายได้ในส่วนนี้ลดลง

สัดส่วนของรายได้หลักของเศรษฐกิจไทยสะท้อนให้เห็นว่ารัฐเลือกมองเห็นและส่งเสริมเฉพาะการท่องเที่ยวในเวลากลางวัน และเลือกมองข้ามกิจกรรมในยามราตรี เช่น สถานบันเทิง ผับ บาร์ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายบริการทางเพศ มองข้ามว่าในสังคมไทยนั้นมีผู้คนที่ทำงาน เลี้ยงชีพตัวเองด้วยการทำอาชีพ Sex Worker อยู่จริง ส่งผลให้พวกเขาได้รับผลกระทบอย่างมากที่สุดในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ไม่ต่างไปจากอาชีพอื่นๆ รวมถึงถูกผลักออกจากการเข้าถึงระบบประกันสังคม ที่เป็นเหมือนตาข่ายสุดท้ายเพื่อรองรับ และเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น

The Momentum ชวนอ่านสารคดีที่ต้องการคลี่คลายประเด็นการเข้าถึงประกันสังคมกับอาชีพ Sex Worker ต่อเนื่องจากวิดีโอเรื่อง Sex Worker ในสังคมที่ไม่มีหลักประกัน ท่ามกลางโควิดระบาด ที่เผยแพร่ในสำนักข่าวประชาไท จัดทำโดยกลุ่ม Lanna Project ซึ่งกฎหมายประกันสังคมได้กลายเป็นกำแพงกีดกันสิทธิการเข้าถึงระบบสวัสดิการที่เปรียบเสมือนเป็นตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) สุดท้ายในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ถือเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจของผู้คน

กฎหมายประกันสังคม หลักประกันสุดท้ายเมื่อเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ 

กฎหมายประกันสังคม เกิดจากแนวคิดการประกันสังคม ซึ่งถือเป็นการคุ้มครองทางสังคมอย่างหนึ่ง เป็นการให้หลักประกันแก่บุคคลในสังคมที่กำลังเผชิญปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจหรือการเงิน เนื่องจากการประสบเคราะห์ภัยหรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดปัญหาในการดำรงชีวิตที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ ในลักษณะเป็นการรวบรวมเงินเข้ากองทุนและนำจ่ายช่วยเหลือ ซึ่งผู้ที่ส่งเงินสบทบเข้ากองทุนที่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขเท่านั้นที่จะได้รับความคุ้มครอง 

สิทธิประโยชน์ในการประกันสังคมของไทยตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มี 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ว่างงาน ชราภาพ สงเคราะห์บุตร คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย ซึ่งอาชีพที่จะสามารถเข้าถึงประกันสังคมได้ ต้องเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายเท่านั้น 

อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาดทำให้มาตรการการเยียวยาของระบบประกันสังคมนั้นเลือกคุ้มครองเฉพาะอาชีพที่ ‘ถูกกฎหมาย’ ส่งผลให้ Sex Worker ที่รัฐมองว่าเป็นอาชีพที่ ‘ผิดกฎหมาย’ ถูก ‘กีดกัน’ จากการเข้าถึงการเยียวยาในระบบประกันสังคม

ระบบประกันสังคมสำคัญอย่างไรต่ออาชีพ Sex Worker?

ไหม จันตา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ มูลนิธิที่ส่งเสริมโอกาสให้พนักงานบริการได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนทั่วไปในสังคม รวมถึงเรียกร้องต่อสู้ให้งานบริการมีความปลอดภัย ยุติธรรม มีมาตรฐาน เธอเชื่อมั่นว่าระบบประกันสังคมจะเป็นสิ่งที่ช่วยคุ้มครองและเยียวยา Sex Worker ได้ หากเกิดวิกฤตอื่นๆ ในอนาคต 

ไหม จันตา / มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ 

“หากมีสถานการณ์โควิด-19 ระลอกต่อๆ ไป หรือโรคระบาดใหม่ที่ไม่ใช่โควิด-19 นายจ้างก็ไม่ต้องแบกภาระ เราก็สามารถเข้าถึงเงินเยียวยาในช่วงว่างงานได้ในกรณีฉุกเฉิน ที่ผ่านมาทำให้เห็นชัดว่ารัฐบาลต้องมีเงินเยียวยารองรับให้กับทุกกลุ่ม และอยากให้รัฐบาลมีสวัสดิการให้กับคนเป็นแม่และคนดูแลครอบครัว เพราะว่าการที่เราดูแลครอบครัว พ่อแม่ คนพิการ มันก็เหมือนเราทำงานแทนสังคม ทุกวันนี้เราทำงานแทนสังคม เด็กที่เกิดมาก็เป็นคนของสังคม ผู้ป่วยที่ติดเตียงเราก็ดูแล หากเราไม่ดูแล ภาระก็จะตกไปอยู่กับสังคม เราจึงอยากให้รัฐบาลเห็นจุดนี้ว่าเป็นงาน อยากให้มีสวัสดิการให้กับคนเป็นแม่และคนดูแล เพื่อที่ว่าวันหนึ่งข้างหน้าที่โรคระบาดใหม่หรือมีอะไรใหม่ อย่างน้อยเราก็มีเงินส่วนนี้รองรับชีวิตเราปัจจุบัน” 

“มันเป็นอาชีพที่ไม่เคยถูกนับอยู่ในระบบของเราอย่างเป็นทางการ” รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงสภาพปัญหาของ Sex Worker ในสังคมไทยว่า แม้บางคนจะเข้าถึงระบบประกันสังคมได้ แต่ก็เข้าถึงได้ในฐานะอื่นๆ ที่อาศัยการหลีกเลี่ยงช่องทางทางกฎหมาย แต่ไม่ได้เข้าไปในฐานะคนของทำงาน Sex Worker 

สมชายมองว่าหาก Sex Worker ถูกยอมรับจากรัฐและระบบกฎหมายว่าเป็นอาชีพแบบหนึ่ง จะส่งผลให้ได้รับสวัสดิการเหมือนที่คนทำงานอื่นๆ ได้รับ อีกทั้งสิ่งหนึ่งที่รัฐไม่สามารถก้าวข้ามไปได้ คือหลักศีลธรรม เพราะรัฐไทยมีความหน้าบางในเรื่องพวกนี้ “ทั้งที่รู้ว่ามันก็มีอยู่กันจริง แต่รัฐไทยรับไม่ได้” สมชายทิ้งท้าย 

“หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ต้องวนไปสู่การผลักดันให้ Sex Worker ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ มันจะทำให้เขาถูกคิดถึงในแง่ของการเป็นคนที่ทำมาหากินหรือทำอาชีพแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นเขาควรจะมีสวัสดิการเฉกเช่นที่คนทำงานควรได้รับ การรักษาพยาบาล หรือเมื่อแก่ไปเขาก็ควรจะมีเงินบำนาญ”

ผึ้ง อาชิว เธอเป็นคนชาติพันธุ์อาข่าที่อาศัยอยู่ประเทศไทยมากว่าสามสิบปีแล้ว เธอเคยเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เธอได้ช่วยเหลือเพื่อนในชุมชนพนักงานบริการให้สามารถอยู่รอดในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผ่านกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน แบ่งปันอาหาร ของใช้จำเป็นให้กับชุมชนพนักงานบริการ ปัจจุบันเธอทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประจำมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์

ผึ้ง อาชิว / Can Do Bar 

Can Do Bar ที่ผู้คนรู้จักกันในนามบาร์ตัวอย่างหรือบาร์ยุติธรรม เป็นการรวมตัวกันของพนักงานบริการเพื่อมาแก้ไขปัญหาที่พนักงานบริการไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงค่าแรงงานในการทำงาน โดยแก้ไขปัญหานั้นด้วยการให้เขาเป็นคนบริหารจัดการบาร์ด้วยตัวเอง และเธอเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์อีกด้วย

เธอเคยเป็นพนักงานบริการแบบไร้ประกันสังคมจึงต้องประกันตนเองมาตลอด แต่ปัจจุบันได้รับประกันสังคมเนื่องจากเข้ามาทำงานกับ Can Do Bar ทำให้เธอเห็นความสำคัญของระบบประกันสังคมว่าไม่ใช่เพียงคุ้มครองทางกายเวลาเจ็บป่วย แต่ยังคุ้มครองทางใจให้กับเธอได้ 

“มันอุ่นใจ เวลาเราเป็นอะไรหนักๆ ขึ้นมา อย่างน้อยก็มีตัวนี้ที่สามารถซัพพอร์ตเราได้ เวลามีอะไรฉุกเฉินก็มีประกันสังคม หรือเวลาที่เราตกงานก็ยังมีเงินชดเชยได้ตามฐานเงินเดือนของเรา เราเคยได้เงินตอนว่างงาน แต่ถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อก่อนที่เคยทำงานแบบไม่มีประกันสังคม ถ้าคุณไปทำงาน คุณไม่มีลูกค้า คุณก็ไม่ได้เงิน” 

Sex Worker เผชิญอะไรบ้างในสังคมที่ไม่มีประกัน?

ผึ้งเล่าความไม่มั่นคงทางกายและใจในช่วงเวลาที่ทำงานไร้หลักประกันสังคมเปรียบเทียบกับการมีประกันสังคมให้เราเห็นภาพ 

“เราเคยทำที่อื่น ตรงนั้นจะไม่มีเงินค่าแรง ต้องออกไปกับลูกค้าถึงจะได้เงิน ถ้าไม่ออกไปก็ไม่ได้เงิน แต่พอได้มาทำงานที่ Can Do Bar เหมือนเราเป็นลูกจ้างและเราก็มีเงินรายวัน ไม่ต้องกลัวจะเสียเวลาหรือว่าจะไม่ได้เงินกลับบ้าน คือเรามาทำงานก็มีค่าแรงตามกำหนดขั้นต่ำของรัฐบาลแล้ว เข้างานห้าโมงเย็น เลิกเที่ยงคืน แต่ถ้าเราไปทำงานที่ร้านคาราโอเกะอื่นๆ ตื่นเช้ามาสิบโมง เราอยู่ในร้าน ลูกค้ามาก็ต้องต้อนรับตลอดจนถึงเที่ยงคืนโดยไม่มีเงินเดือน ไม่มีอะไรเลย แต่ที่ Can Do Bar เขาทำตามมาตรฐานของกฎหมาย มีค่าแรงให้ มีประกันสังคมที่สามารถเข้าถึงสิทธินั้นได้” 

เคท ครั้งพิบูลย์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (TGA) เล่าถึงสถานการณ์การปรับตัวและผลกระทบที่ Sex Worker ต้องเผชิญในช่วงโควิด-19 ในรายการหมายเหตุประเพทไทย EP.398 

“บางคนล้มบนฟูก แต่หลายคนที่เป็น Sex Worker ในสังคมไทยมีลักษณะของงานที่มีความผิดทางกฎหมายอยู่ พื้นที่ของงานยังมีพื้นที่สีเทาในการครอบงำอยู่ หรือแม้แต่ฟรีแลนซ์ก็ไม่สามารถมีลูกค้าได้ ผลกระทบหลักๆ คือการขาดรายได้ในการเลี้ยงดูตัวเอง วงจรของคนที่เป็น Sex Worker ในสังคมไทยมีลักษณะที่คาบเกี่ยวกัน มีวงจรที่มาบรรจบกันก็คือคนที่ทำงานในสถานประกอบการ พอสถานประกอบการปิดไป คนเหล่านี้ก็ไม่สามารถมีงานทำได้ หลายคนที่ไม่ได้อยู่ในสถานประกอบการแต่เลือกที่จะทำอาชีพนี้ในแบบฟรีแลนซ์ก็ขาดรายได้ เนื่องจากไม่มีลูกค้าเหมือนกัน เพราะฉะนั้นคนทั้ง 2 กลุ่มนี้ บางคนที่สามารถเข้าถึงประกันสังคมได้ด้วยตัวเองก็สามารถได้รับเงินชดเชยเนื่องจากการว่างงาน แต่จริงๆ แล้วยังมี Sex Worker อีกหลายคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงในเรื่องของสวัสดิการทางสังคมหรือประกันสังคมได้”

เคทยังกล่าวอีกว่า หลายคนที่ทำอาชีพ Sex Worker ไม่ได้เพื่อเลี้ยงดูตนเองเท่านั้น แต่ต้องเลี้ยงดูครอบครัว เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เมื่อไม่มีการเยียวยาจากประกันสังคม จึงทำให้พวกเขาไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้

ไร้รัฐเหลียวแล ไร้ประกันสังคมเยียวยา แล้ว Sex Worker จะอยู่รอดได้อย่างไร?

คนที่ทำงาน Sex Worker หลายคนเริ่มปรับตัวด้วยการไปทำอย่างอื่นที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตให้พ้นไปวันต่อวัน พอที่จะจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัยรายเดือน 

“ช่วงโควิด-19 ก็ต้องดิ้นรนกันไป งานของเรา พอปิดแล้ว มันปิดตายเลย รัฐบาลไม่มีความชัดเจนให้กับพวกเรา เพราะฉะนั้นเรารอไม่ได้ เพราะคนข้างหลังเขารอเราอยู่ เราจึงต้องดิ้นรนหางานใหม่อยู่ตลอด” 

ผึ้งเล่าว่าการปรับตัวของอาชีพ Sex Worker หลายคนรอการเยียวยาไม่ได้ ต้องหันไปทำอาชีพอื่น ตั้งแต่พนักงานเสิร์ฟยันพนักงานก่อสร้าง สอดคล้องกับเคทที่บอกว่า Sex Worker นั้นสร้างวิถีใหม่ในการเอาตัวรอดอยู่เสมอ เนื่องจากยังมีความต้องการของคนที่มาใช้บริการในอาชีพนี้อยู่ตลอด กล่าวได้ว่า เราไม่สามารถหยุดยั้งการมีอยู่ของอาชีพนี้ได้ เราจึงต้องการการยอมรับทางกฎหมายเพื่อให้เกิดการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างแท้จริง เพื่อยุติความรุนแรง และการฉวยโอกาสที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การยอมรับแบบหลอกๆ หรือสร้างกฎหมายที่สร้างการเลือกปฏิบัติ เพราะคนทำงาน Sex Worker แค่อยากเป็นอาชีพหนึ่งเท่านั้น  

บาร์แห่งหนึ่งในบริเวณถนนลอยเคราะห์ จังหวัดเชียงใหม่ ต้องปรับตัวมาขายหมูจุ่มและเนื้อย่างเพื่อสร้างรายได้ทดแทนในช่วงโควิด-19 ที่ไร้นักท่องเที่ยวต่างชาติ 

เคทย้ำว่าหัวใจหลักในการมองเรื่องนี้คือ ต้องมองว่าอาชีพ Sex Worker คืองาน ผ่าน motto ที่เรียกว่า ‘Sex work is work’ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นการทำความเข้าใจในเรื่องของทัศนคติ ฉะนั้น ความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญ ทักษะที่ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านทัศนคติจึงเป็นสิ่งที่เครือข่ายที่ทำงานเรื่องนี้ควรทำ เพราะท้ายที่สุด คนรู้อยู่แล้วว่าเมื่อยกเลิกกฎหมายไปได้ ไม่มีโทษทางด้านอาญา แต่จะหาวิธีการแบบไหน แนวโน้มที่เป็นไปได้คือการมีกฎหมายคุ้มครอง หรือหากมองว่าเรื่องนี้เป็นงาน ก็สามารถใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้ สามารถเข้าถึงประกันสังคมได้ และใช้สิทธิเหมือนคนทำงานทั่วๆ ไปโดยไม่ต้องมีกฎหมายใหม่มาทดแทนก็ได้ 

 

ข้อมูลอ้างอิง

Sex Worker ในสังคมที่ไม่มีหลักประกัน ท่ามกลางโควิดระบาด  https://prachatai.com/journal/2021/11/96159 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธนาคารกรุงไทย 

https://krungthai.com/Download/economyresources/EconomyResourcesDownload_579Research_Note_20_07_63.pdf 

เซ็กส์เวิร์คเกอร์ ไซเบอร์เซ็กส์ และโควิด-19 | หมายเหตุประเพทไทย EP.398

https://prachatai.com/journal/2021/12/96573

Tags: , , , , ,