ตามข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประจำปี 2567 เผยว่า ‘ลำพูน’ เป็นจังหวัดที่มีผู้อายุวัย 60 ปีขึ้นไป สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย คิดเป็น 30% ของจำนวนประชากร ซึ่งปัจจุบันจังหวัดลำพูนมีประชากรจำนวน 421,831 คน และในจำนวนดังกล่าวมีผู้สูงอายุ 126,477 คน
หากยึดตามเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ที่แบ่งระดับสังคมผู้สูงอายุออกเป็น 3 ระดับ โดยสังคมที่มีจำนวนประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปี และมีจำนวน 20% ขึ้นไป จะถูกเรียกว่าเป็นสังคงผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete aged Society)
‘สามล้อลำพูน’ นอกจากจะเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัด เป็นขนส่งสาธารณะระหว่างข้อต่อต่างๆ ของเมืองลำพูนแล้ว ยังกลายเป็นสิ่งที่แสดงถึงสังคมผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี
“ส่วนใหญ่ก็คนอายุ 50-70 ปี แก่สุดก็ 80 ปี ที่ยังแข็งแรงดี และอยากหาเงินก็มาขับสามล้อ” ลุงคำ อายุ 71 ปี กล่าว
ลุงคำหาเลี้ยงตัวเองด้วยอาชีพขับรถสามล้อมาตั้งแต่ปี 2512 นั่นหมายความว่า ลุงคำขับรถสามล้อตั้งแต่หนุ่มยันแก่ โดยส่วนใหญ่จะจอดรอรับผู้โดยสารที่โรงพยาบาลจังหวัดลำพูน และนำไปส่งยังจุดต่างๆ ของเมือง เช่น คิวรถลี้เพื่อเดินทางกลับต่างอำเภอ
เช่นเดียวกับ ลุงเจริญ ปาระวีชัย อายุ 73 ปี ที่ขับรถสามล้อหาเลี้ยงชีพมานานกว่า 50 ปี โดยทั้งสองอธิบายว่า ปัจจุบันอาชีพรับรถสามล้อในจังหวัดลำพูนนั้นซบเซา บางวันหาได้ประมาณ 80-200 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้เดินทางในแต่ละวัน เนื่องจากทุกวันนี้คนส่วนใหญ่มีรถส่วนตัวเป็นของตัวเอง
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า จังหวัดลำพูนไม่มีสถานีขนส่งประจำจังหวัด และรถสามล้อได้กลายเป็นระบบขนส่งที่นับว่าเป็นส่วนสำคัญของคนที่ไม่มีรถส่วนตัว โดยมีค่าบริการเริ่มต้นที่ 40 บาท ยกตัวอย่าง หากเดินทางจากโรงพยาบาลลำจังหวัดลำพูนไปขนส่งลี้ ซึ่งมีระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ค่าบริการจะอยู่ที่คนละ 40 บาท ส่วนถ้ามา 2 คน 60 บาท และหากใครอยากเหมาสามล้อเที่ยวรอบเมืองค่าบริการจะอยู่ที่ 150 บาทต่อคน
“เราอายุเยอะ เราไปยกอะไรหนักๆ เยอะๆ ไมได้แล้วมันเจ็บ แต่ปั่นจักรยานยังไหวอยู่ถึงบ้านก็เอายาหม่องมาทา ซึ่งผมอยากให้ทุกคนมาใช้บริการสามล้อ คนรุ่นผมจะได้มีสตางค์” ลุงคำกล่าว
ทั้งรถสามล้อและจำนวนผู้สูงอายุในจังหวัดลำพูน เหล่านี้สะท้อนได้หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการแก่ชรา และการเดินทางในเมืองที่ไม่มีขนส่งสาธารณะ ไปจนถึงสวัสดิการของผู้สูงอายุในประเทศ ด้านกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2566 สังคมไทยมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 13 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ถือเป็น ‘สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์’ (Aged Society) อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าสัดส่วนผู้สูงอายุจะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
คำถามที่สำคัญคือ ประเทศไทยพร้อมแค่ไหนกับการเข้าสูงสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged Society)
หากแก่เฒ่าในประเทศนี้แล้วไร้อาชีพยามแก่ สิทธิและสวัสดิการที่มีอยู่มันเพียงพอแล้วหรือยัง กับการแก่ชราในประเทศนี้
Tags: ชรา, สามล้อลำพูน, Feature, สวัสดิการ, ผู้สูงอายุ, คนแก่, เกษียณ, ลำพูน, GrayScale