วันนี้ (24 สิงหาคม 2565) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 ให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยุติการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว หลังฝ่ายค้านยื่นให้ตีความกรณีวาระดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่? โดยศาลมีมติ ‘รับเรื่อง’ เข้าสู่การพิจารณา ทำให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งรักษาการนายกฯ แทนจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย แต่พลเอกประยุทธ์ยังสามารถปฏิบัติงานต่อได้ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งการตัดสินชี้ชะตาเส้นทางการเป็นนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งการนับวาระการดำรงตำแหน่งของเขายังเป็นข้อถกเถียงจนถึงตอนนี้ว่าจะเริ่มนับเมื่อไร โดยสามารถแบ่งการนับออกเป็น 3 แนวทาง คือ

เริ่มนับตั้งแต่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ครั้งแรกหลังรัฐประหารปี 2557 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 หมายความว่าพลเอกประยุทธ์สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา

นับการดำรงตำแหน่งตอนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หมายความว่าพลเอกประยุทธ์จะสามารถดำรงตำแหน่งต่อได้ถึง 8 มิถุนายน 2570

นับระยะเวลาดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 6 เมษายน 2560 ตามวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และมาตรา 158 หมายความว่าพลเอกประยุทธ์จะครบวาระ 8 ปีในวันที่ 5 เมษายน 2568

แม้ว่าที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์จะไม่ได้ยื่นแจกแจงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากให้เหตุผลว่า ดำรงตำแหน่งนายกฯ มาตั้งแต่ปี 2557 อ้างอิงจาก พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 105 วรรคสี่ ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งใหม่ภายใน 1 เดือน ไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีอีก แต่มาคราวนี้กลับมีแนวคิดเริ่มนับการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตอนปี 2562 ซึ่ง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามสื่อเกี่ยวกับคำถามนี้ว่า “มันคนละประเด็นกัน”

The Momentum ได้รวบรวม 5 คดี ที่แสดงถึงอภินิหารของพลเอกประยุทธ์ จนทำให้ทางกองบรรณาธิการอยากทราบว่า นายกรัฐมนตรีรายนี้ห้อยพระรุ่นอะไรถึงได้ขลังและแคล้วคลาดขนาดนี้ เพราะโดนกี่คดีก็รอดเสียทุกที รวมถึงเฝ้าติดตามต่ออย่างใกล้ชิดว่า หลังจากนี้คดีความเรื่องการดำรงตำแหน่ง 8 ปี พลเอกประยุทธ์ยังจะแสดงอภินิหารได้อีกหรือไม่?

1. ไม่รับคำร้องกรณีพลเอกประยุทธ์ถวายสัตย์ไม่ครบ

วันที่ 27 สิงหาคม 2562 ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นด้วยกับคำร้องของ ภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงมีมติยื่นเรื่องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีพลเอกประยุทธ์ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้วน ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ที่ระบุว่า “ก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ” แต่พลเอกประยุทธ์กลับกล่าวไม่ครบถ้วน จึงถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอันบังคับใช้ไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 5 วรรคหนึ่งที่บัญญัติไว้ว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติใด บทขัดแย้งใด กฎหมายใด อันขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญบทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันบังคับใช้มิได้” ซึ่งจะส่งผลให้การบริหารราชการแผ่นดินมีปัญหา

ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าผู้ร้องเป็นผู้เสียหายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ซึ่งการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อสิทธิเสรีภาพ เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ร้องเรียนในฐานะประชาชนคนหนึ่ง

ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2563 ศาลมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคสาม และมาตรา 47(1) เพราะการถวายสัตย์ต่อหน้าพระมหากษัตริย์ไม่ได้อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด นอกจากนี้ การกระทำของพลเอกประยุทธ์ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สำหรับคำปฏิญาณที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ที่พลเอกประยุทธ์ถวายสัตย์ไม่ครบคือ “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” แต่พลเอกประยุทธ์ไม่ได้กล่าวคำว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

2. พลเอกประยุทธ์ไม่ขาดคุณสมบัติเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะ คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ

วันที่ 26 มิถุนายน 2562 สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคร่วม 7 ฝ่ายค้าน ร่วมกันยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 101 คน ให้กับ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพลเอกประยุทธ์ขาดคุณสมบัติในการเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. เป็นการดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ย่อมทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160(6) และมาตรา 98(15) ที่ระบุว่านายกฯ จะต้องไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

วันที่ 18 กันยายน 2562 ศาลมีคำวินิจฉัยว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช. มาจากการเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศโดยมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์อันเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ดังนั้น การกระทำของ คสช. เป็นเพียงการเข้าสู่ตำแหน่งเพื่อให้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น

การดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. เป็นตำแหน่งที่ไม่ได้ขึ้นกับกฎหมาย ทำให้ คสช. ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาและการทำงานของรัฐ ศาลจึงวินิจฉัยว่าการดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. ของพลเอกประยุทธ์ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะ คสช. ไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามมาตรา 98(15) และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 16(6) ดังนั้น พลเอกประยุทธ์จึงสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้

3. คดีบ้านพักหลวง ไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ เนื่องจากทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ การดูแลพลเอกประยุทธ์จึงถือเป็นประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ

ย้อนไปเมื่อศึกซักฟอกเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ประเสริฐ จันทรรวงทอง สมาชิกผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ว่า จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 ด้วยการขัดกันของผลประโยชน์ เนื่องจากพลเอกประยุทธ์พักอาศัยในบ้านพักทหารโดยไม่จ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ทั้งที่เกษียณอายุราชการจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ไปตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557

ต่อมาพรรคฝ่ายค้านจำนวน 56 คน นำโดยพรรคเพื่อไทยเข้าชื่อยื่นคำร้องผ่าน ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์จะสิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

ฝ่ายค้านตีความว่าการที่พลเอกประยุทธ์อาศัยในบ้านพักทหาร ฟรีค่าเช่า ฟรีค่าน้ำ ฟรีค่าไฟฟ้า เป็นการรับประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานรัฐ นับเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 184 และมาตรา 186 นั่นคือการห้ามสมาชิกผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา รัฐมนตรีรับเงินประโยชน์ใดๆ จากหน่วยงานรัฐ หน่วยงานของราชการ หรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ โดยมีอย่างน้อย 3 ข้อกล่าวหาที่ฝ่ายค้านยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

1) ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 184 และมาตรา 186

2) ผิดกฎหมายมาตรา 128 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต (ป.ป.ช.) ที่ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท

3) ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าต้องไม่เรียกไม่รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่อาจกระทบกับการปฏิบัติหน้าที่

วันที่ 2 ธันวาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพลเอกประยุทธ์ไม่ขาดคุณสมบัติในการเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านหลวง แม้ว่าจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว เป็นไปตามกฎระเบียบภายในของกองทัพบก (ทบ.) ปี 2548

“เนื่องจากผู้ถูกร้องเคยเป็นอดีตผู้บัญชาการชั้นสูงของกองทัพบก ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพบกและประเทศชาติ เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาแล้วตามข้อ 5.2 หาใช่อาศัยในบ้านพักรับรองในฐานะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงสถานะเดียว ซึ่งหากผู้ถูกร้องไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพบก แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นพลเรือนก็ย่อมไม่มีสิทธิพักอาศัยในบ้านพักรับรองตามระเบียบกองทัพบกได้” วรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ดำรงตำแหน่งตุลาการตั้งแต่ 9 กันยายน 2557 กล่าว

ส่วนการที่กองทัพบกจ่ายค่าน้ำค่าไฟฟ้าให้ ถือเป็นการสนับสนุนตามดุลพินิจของกองทัพบก การที่นายกรัฐมนตรีได้รับความปลอดภัยในที่พักอาศัย ก็ถือเป็นการสร้างสุขภาพกายและจิตใจให้ผู้นำประเทศอีกด้วย คำวินิจฉัยส่วนหนึ่งระบุว่า “การจัดบ้านพักรับรองที่มีความปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว สร้างความสุขทั้งกายและใจในการปฏิบัติภารกิจบริหารประเทศล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐพึงต้องจัดสรรให้มีที่พำนักแก่ผู้นำประเทศขณะดำรงตำแหน่ง” ประธานศาลรัฐธรรมนูญกล่าว

4. ไม่รับคำร้องปมเอื้อสัมปทานรถไฟฟ้า เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ในช่วงเวลาที่มีการเอื้อสัมปทาน

วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยจำนวน 72 ราย นำโดยประเสริฐ จันทรรวงทอง เข้ายื่นคำร้องต่อชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์สิ้นสุดลงหรือไม่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170(5) มาตรา 184(2) และมาตรา 186 ที่ไม่ให้รัฐมนตรีกระทำอันเป็นการต้องห้ามขณะดำรงตำแหน่ง จากกรณีเอื้อสัมปทานรถไฟฟ้าผ่านการออกคำสั่งมาตรา 44 ในเดือนเมษายน 2562 เพื่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เอกชนไปอีก 40 ปี ทั้งที่ขณะนั้น สัมปทานมีระยะเวลาเหลือ 10 ปี อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและทำให้เกิดการผูกขาดในตลาด

ศาลรัฐธรรมนูลวินิจฉัยว่า ในช่วงที่พลเอกประยุทธ์ใช้มาตรา 44 ความเป็นรัฐมนตรีได้สิ้นสุดลงตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ซึ่งรัฐธรรมนูญเริ่มนับความเป็นรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีถูกตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่สามารถยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณาได้จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

5. รอดข้อหา ‘กบฏ’ กรณีรัฐประหารปี 2557 เพราะนิรโทษกรรมตัวเองไปแล้ว

กลุ่มพลเมืองโต้กลับนำโดย อานนท์ นำภา ร่วมกับ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และสมาชิกอีก 15 คน ยื่นฟ้องพลเอกประยุทธ์ พร้อมคณะ 5 คน ได้แก่ พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย, พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง, พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว และพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ว่าการกระทำของบุคคลเหล่านี้ในการทำรัฐประหารเป็นภัยความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113

มาตรา 113 ระบุไว้ว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือแบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต

ศาลวินิจฉัยว่าการกระทำของ คสช. เป็นข้อหากบฏจริง แต่มาตรา 48 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่ คสช. เขียนขึ้นเองได้นิรโทษกรรมตัวเองเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น การกระทำของ คสช. จึงไม่ใช่ความผิดและหลุดพ้นทุกกรณี

6. รับคำร้องและมีคำวินิจฉัยให้พลเอกประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว หลังอยู่ในตำแหน่งมา 8 ปี โดยให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รับตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลจะวินิจฉัยแล้วเสร็จ

วาระ 8 ปี พลเอกประยุทธ์ นับเป็นคดีที่ผู้คนทั่วประเทศต่างให้ความสนใจ หากพิจารณาคำวินิจฉัยที่ผ่านมาแล้ว อาจสะท้อนให้เห็นถึงบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญและกระบวนการยุติธรรม ที่เกี่ยวกับพลเอกประยุทธ์และองคาพยพได้เป็นอย่างดี

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 ให้พลเอกประยุทธ์ยุติการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีแล้วรอฟังผลคำวินิจฉัยอีกครั้ง จึงทำให้ต้องติดตามกันต่อว่า คดีวาระ 8 ปีครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์จะมี ‘ของ’ ดี หรือของเด็ดอะไรมาแสดงอภินิหารให้แคล้วคลาดจากทุกคดีได้อีกหรือไม่

 

อ่านบทความรวมคดีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘ไม่ผิด’ ได้ทาง https://themomentum.co/prayut-chan-o-cha/

ที่มา

https://www.bbc.com/thai/thailand-55126328

https://themomentum.co/prayut-chan-o-cha/

https://www.bbc.com/thai/thailand-55155341

https://www.komchadluek.net/news/politics/472554

Tags: , ,