ถึงคุณผู้อ่านทุกคน

ผมดีใจที่ ณ วันนี้ 31 ธันวาคม 2564 เรายังอยู่กันพร้อมหน้า และได้นั่งอ่านเรื่องนี้พร้อมหน้าพร้อมตากัน

สำหรับผม ปีนี้ ก็เหมือนกับทุกคน คือเป็นปีที่เราไม่สามารถคาดหวังได้ ถ้าพูดเป็นสำนวนฝรั่งก็คือ Expect the Unexpected และถ้าจำกัดความด้วย 3 คำสั้นๆ คือเป็นเรื่องของการ ‘วนซ้ำ สูญเปล่า และ สิ้นหวัง’

หากสังเกตดีๆ ก็จะพบว่า เราเปิดต้นปีด้วยเรื่องของโรคระบาด แบบเดียวกับต้นปี 2563 เราเข้าสู่กลางปีด้วยการ ‘ล็อกดาวน์’ ในแบบเดียวกัน และพอถึงสิ้นปี ก็ต้องเผชิญหน้ากับการ Cancel หลายๆ งาน หลายๆ อีเวนท์ เพราะกลัวเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากหนึ่งปีก่อนหน้า

ใช่ – หลายคนอาจจะบอกว่าทั่วโลกก็เจอเรื่องเดียวกัน แต่ต้องไม่ลืมว่า ปีที่แย่ที่สุดของทั่วโลกนั้นคือปีที่แล้ว ปีนี้ ทั่วโลกใช้เป็น ‘ฐาน’ ในการกระโดด ออกจากการหยุดนิ่งเมื่อปีกลาย แต่ของเรานั้นเป็นเรื่องกลับกัน

ปี 2563 เราพยายามล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด ซึ่งแลกกับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญหายมหาศาล จนจีดีพีติดลบต่ำที่สุดประเทศหนึ่งของอาเซียน เพื่อแลกกับการที่มีผู้ป่วยหลักหมื่นคน และผู้เสียชีวิตหลักร้อยคน ซึ่งน่าประทับใจ และสามารถตอกย้ำความ ‘แข็งแกร่ง’ ของระบบสาธารณสุข แบบที่รัฐบาลคุยนักคุยหนา

แต่ปี 2564 นั้น เป็นอีกเรื่อง ปีนี้ โรคระบาดทำลายเราเข้าที่จุดศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นการโจมตี ‘กรุงเทพฯ’ เมืองที่มีจุดอ่อนมากที่สุด ในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขด้วยสภาวะ ‘อกแตก’ ไม่มีเจ้าภาพในการรับมือสถานการณ์ที่ชัดเจน ผลก็คือเราเจอกับภาวะโรงพยาบาล ‘เตียงเต็ม’ ภายในไม่กี่วัน ทั้งยังมีภาวะ ‘คอขวด’ ของการตรวจเชื้อ หลายคนไม่สามารถเข้าถึงระบบการตรวจได้ ทั้งที่ติดเชื้อ กว่าจะรู้ตัวก็แพร่เชื้อไปถึงครอบครัว ไปถึงผู้สูงอายุ

ทั้งหมดนี้ ยังไม่ได้พูดถึงปัญหาเรื่องวัคซีน ปัญหาที่หลายคนเตือนไว้แล้ว ตั้งแต่ปลายปี 2563 หรือช่วงต้นปี 2564 ว่าไทย ควรมีวัคซีนในมือให้มากที่สุด เพื่อรองรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ ก็กลับไม่ทำ เพราะเชื่อมั่น และเชื่อใจวัคซีนที่จะผลิตในประเทศ ว่าจะสามารถยื้อรอสถานการณ์จนมีวัคซีน ‘เต็มแขน’ ได้ทัน ก่อนที่จะมีการระบาดของโรคในรอบใหม่

ทั้งหมดนี้ ยังไม่ได้พูดถึงการมีอยู่ของ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมโรคระบาด ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 และลากยาวมาจนถึงวันนี้ ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ ไม่สามารถควบคุมการแพร่เชื้อได้เลย ไม่ว่าจะจากชายแดน ไม่ว่าจะจากบ่อนการพนัน ไม่ว่าจะจากสถานบันเทิงทองหล่อ ซึ่งสุดท้าย กลายเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก จนทำให้อัตราการเสียชีวิตของไทย พุ่งสูงถึงหลัก 2 หมื่นคน โดยที่ไม่ควรจะเป็น

เรื่องน่าขำก็คือในช่วงเวลาซีเรียสที่สุดนั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลับมีความพยายามใช้เพื่อ ‘คุมสื่อ’ ซึ่งสุดท้าย สื่อออนไลน์ นำโดย The Reporters The Matter The Standard และเรา The Momentum เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยเล็กน้อย ต้องไปยื่นศาลแพ่งของคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับใช้ประกาศดังกล่าว จนรัฐบาลต้องถอยฉาก หลบการใช้กฎหมายดังกล่าวจัดการสื่อไป

ต้องไม่ลืมว่าเรื่องทั้งหมด เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ และไม่ควรจะต้องเกิดขึ้น ซึ่งยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบจัดการภาครัฐนั้น มี Resilience หรือ ‘ความยืดหยุ่น’ ที่ต่ำ ไม่ทันสถานการณ์

และความผิดพลาดทั้งหมด ที่ควรจะป้องกันได้นี้ เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครต้อง ‘รับผิดชอบ’ เลย แม้แต่คนเดียว

ถึงคุณผู้อ่านที่รัก

ผมคิดว่าปีนี้ เป็นหมุดหมายสำคัญ ที่เราต้องพูดถึงปัญหาของ ‘กระบวนการยุติธรรม’ กันอย่างจริงจังเสียที  เหตุการณ์สำคัญของปีนี้ เกิดขึ้น ณ วันที่ 15 มีนาคม 2564 ในห้องพิจารณาคดี ที่‘เพนกวิน’ – พริษฐ์ ชิวารักษ์ หนึ่งในผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลุกขึ้นยืนบนเก้าอี้ เพื่อบอกว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นธรรมตั้งแต่ตัวกฎหมาย ซึ่งกำหนดโทษไว้สูงสุดมากถึง 15 ปี ไม่เป็นธรรมตั้งแต่กระบวนการพิจารณาคดี ที่เป็นไปอย่างลับๆ ล่อๆ หรือการ ‘ไม่ให้ประกันตัว’ ระหว่างต่อสู้คดี ซึ่งทำให้ผู้ที่โดนคดีนี้เสียเปรียบในขั้นตอนการพิจารณาคดี ไม่สามารถประกันตัวออกมาสู้คดีได้อย่าง ‘ยุติธรรม’

การมีอยู่ของมาตรา 112 และบริบทการใช้ที่เปลี่ยนไป กลับไปสู่การใช้อย่างเข้มข้นขึ้น การวิจารณ์ ‘วัคซีน’ ก็เข้าข่าย 112 เช่นเดียวกับการใส่ชุดครอปท็อป กระทั่งการเอ่ยถึงบางข้อความ ก็อาจเข้าข่าย ‘ล้อเลียน’ ซึ่งตีความไปไกลถึงการดูหมิ่นได้

นอกจากนี้ ยังต้องพูดถึงการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ที่วินิจฉัยว่าการชุมนุม 10 สิงหาคม 2563 ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พูดถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น เข้าข่าย ‘ล้มล้างการปกครอง’ โดยให้เหตุผลว่า 10 ข้อเรียกร้อง เป็นการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญ สูญสลาย หมดสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่หรือมีอยู่อีกต่อไป

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วน และความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเกินความพอเหมาะพอควร โดยมีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด” คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุตอนหนึ่ง ทว่า ไม่ได้ขยายความว่า เรื่องดังกล่าว มีหลักฐานอะไรบ่งชี้ และเข้าข่ายล้มล้างการปกครองอย่างไร

ผลที่ตามมาก็คือ มีความพยายามจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จะให้สื่อมวลชนพูดถึงการชุมนุม และข้อเรียกร้องทั้งหมด ได้รับการพูดถึงน้อยลง หรืออาจไม่ให้พูดถึงเลย โดยอ้างอิงจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ​ และเช่นเดียวกัน บรรดาแกนนำที่ติดคุกอยู่ในขณะนี้ ซึ่งไม่ได้รับการประกันตัวอยู่แล้ว ก็อาจได้รับโทษหนักขึ้น เพราะมีเรื่อง ‘ล้มการปกครอง’ เสริมจากเรื่องมาตรา 112

กระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา ทั้งในเชิงหลักการ และกระบวนการ จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ และจะมีปัญหาข้ามปีต่อไปในอนาคต

คุณผู้อ่าน

6 ปีที่แล้ว หลังรัฐประหาร คสช. ไม่นาน ผมไปสัมภาษณ์ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เชียงใหม่ คำที่อาจารย์บอกกับผม แล้วจำได้แม่นก็คือ การรัฐประหารครั้งนั้นคือความพยายาม ‘หยุดเวลา’ เพื่อรักษาอะไรบางอย่างไว้ ในเวลาเดียวกับโลกกำลังเคลื่อนไปข้างหน้า แล้วการหยุดเวลา หยุดนาฬิกาไว้นั้น ก็ไม่มีสาเหตุ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะหยุดไว้ทำไม

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ผ่านมาหลายปีแล้ว เวลายังคงหยุดนิ่งอยู่เหมือนเดิม สิ่งที่ดูจะได้ประโยชน์มากที่สุดคือ ‘ระบบราชการ’ ที่ไม่มีใครเข้าไปยุ่มย่าม อาจกล่าวได้ว่า ใน 7 ปี ที่ผ่านมา ระบบราชการได้ใช้งบประมาณไปโดยแทบไม่มีใครตรวจสอบประสิทธิภาพ ว่าถูกใช้ไปกับอะไรบ้าง สิ่งที่สะท้อนกลับมาถึงคุณภาพชีวิตประชาชนคืออะไร และเป้าหมายข้างหน้าของระบบนี้ อยู่ที่ไหน

แต่วันนี้ เราเห็นชัดมากขึ้นว่าเพราะเหตุใด ชนชั้นนำ ถึงต้องรักษา ‘ระบบราชการ’ ไว้ แม้จะไม่มีประสิทธิภาพ และแม้จะมีขนาดเทอะทะ ใหญ่ขนาดไหน เมื่อถึงเวลาจำเป็น จะคอยอุ้มสม ‘ชนชั้นนำ’ ให้ไปต่อ หรืออยู่เคียงข้างกันไปได้ ในวันที่นาฬิกาเดินต่อไปข้างหน้า

ขณะเดียวกัน กระบวนการยุติธรรม ก็ต้องทำหน้าที่อย่างถึงที่สุดในการรักษาชนชั้นนำ และรักษาระบอบอำนาจนิยมที่ย้อนยุคเหล่านี้เอาไว้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลคือเพราะได้ประโยชน์จากระบอบนี้ เพราะได้รับคำสั่งมา หรือเป็นเพราะ ‘เห็นด้วย’ โดยไม่คิดจะตั้งคำถาม แต่ทั้งหมดจะพาเราไปสู่จุดเดียวกัน นั่นคือประเทศไทย จะเป็นประเทศที่ ‘ฝืนโลก’ และพยายามหยุดตัวเองไว้กับที่ ไม่ว่าโลกจะหมุนไปไกลแค่ไหนก็ตาม…

คุณผู้อ่านครับ

ผมหวังว่า สิ่งที่เราผ่านมาด้วยกันในปี 2563 – 2564 จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น รู้มากขึ้นว่าเรากำลังทำอะไร เรากำลังสู้อยู่กับอะไร เข้าใจตัวเอง และรู้จัก ‘เขา’ (ไม่ว่า ‘เขา’ ในมโนภาพของคุณผู้อ่านจะเป็นใคร) ได้อย่างถ่องแท้มากขึ้น

ไม่มีใครรู้ว่าพวกเขา จะหยุดนาฬิกานี้ไว้ได้อีกนานเพียงใด มันอาจเป็น 6 เดือน อาจจะเป็น 10 ปี หรืออาจจะเป็น 100 ปี

แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นเริ่มขึ้นแล้ว และทุกวินาทีที่เขาพยายามหยุดนาฬิกานั้นไว้ ทุกอย่างกำลังเคลื่อนไปข้างหน้าเรื่อยๆ จนในที่สุด ‘เขา’ ก็ไม่รู้ และอาจคิดไม่ถึงเช่นกันว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนไปขนาดนี้แล้ว

สวัสดีปีใหม่ 2565 ครับ

Tags: , , , , , ,