ต้นไม้สูงใหญ่เรียงรายกลายเป็นป่าทึบ ประกอบกับอุณหภูมิที่เย็นสบายราว 22 องศาเซลเซียส เสียงของนกและแมลงที่บินทั่วป่าทำหน้าที่ดั่งเสียงดนตรี ช่วยสร้างบรรยากาศให้ ‘ภูหินร่องกล้า’ สงบและร่มรื่นมากโข

แต่ในพื้นที่ภูเขาที่เย็นสบายแห่งนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็น ‘สมรภูมิรบ’ ที่สำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กับรัฐไทยนานกว่า 1 ทศวรรษครึ่ง (2511-2525) ภายหลังเหตุการณ์การปะทะครั้งแรกที่จังหวัดนครพนม หรือที่รู้จักกันในเหตุการณ์ ‘วันเสียงปืนแตก’ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2508 เป็นการจุดประกายไฟความขัดแย้งให้ลามทุ่งไปทั่วประเทศ ซึ่ง ‘ภูหินร่องกล้า’ เป็นหนึ่งในพื้นที่นั้น

ด้วยยุทธศาสตร์ของพื้นที่ที่ตั้งอยู่ระหว่าง 3 จังหวัด ทั้งจังหวัดเพชรบูรณ์ เลย และพิษณุโลก ขณะเดียวกันก็ไม่ไกลกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว ง่ายต่อการติดต่อสื่อสารระหว่างกองกำลังอื่น นอกจากนั้นพื้นที่ของภูหินร่องกล้ามีทางเดินเท้าไม่กี่เส้นทาง บังคับให้กองทัพไทยมีทางเลือกสัญจรไม่มากนัก ด้วยเหตุผลที่ว่ามานั้น จึงทำให้ภูหินร่องกล้าเป็นฐานที่มั่นที่ใหญ่ที่สุดของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในการบัญชาการทิศทางการดำเนินงานของพรรค

ภายหลังเกิดเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้บรรดา ‘ปัญญาชน’ ต่างหนีดิ้นรนเข้าสู่พื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก ซึ่งผืนป่าแห่งนี้ครั้งหนึ่ง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, ธีรยุทธ บุญมี, จาตุรนต์ ฉายแสง รวมถึง ‘หงา คาราวาน’ สุรชัย จันทิมาธร ก็เคยมาใช้ชีวิตที่นี่

ในสมรภูมิครั้งนั้นยังมีประชาชนหลายต่อหลายคน ที่เชื่อในอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์เข้าร่วมด้วย หนึ่งในนั้นคือ โก๊ะ แซ่ย่า หรือ ‘สหายแสงทอง’ สหายม้งที่ตัดสินวางปากกาและจับปืน เพื่อร่วมรบกับพรรคตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ตามคำชวนของพี่ชายคนโตในครอบครัว เขาได้ผ่านบททดสอบทางการทหารและกลายเป็นหนึ่งในกองทัพปลดแอก หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า ‘นักรบ’ 

ภายหลังการออกประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรี 66/2523 ที่เปรียบเสมือนการยุติสงครามระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ไทยและกองทัพไทย โดยรัฐบาลมอบที่ดินทำกินและโคจำนวนหนึ่งเพื่อการสร้างเนื้อสร้างตัว โก๊ะตัดสินใจวางปืนและหันมาจับเสียมทำเกษตรกรรม ทั้งการปลูกทั้งข้าวโพด มันสำปะหลัง และขิง เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ก่อนที่ชีวิตจะพลิกผันอีกครั้ง เมื่อ 12 ปีก่อน มีคำเชื้อเชิญจากทางจังหวัดพิษณุโลกให้สหายแสงทองเข้าร่วมอบรมเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ทำให้เขาต้องปล่อยมือวางเสียมในที่สุด เพื่อจับแผนที่และเข็มทิศ นำทางนักท่องเที่ยวแทนในฐานะ ‘ไกด์หมายเลข 01’ บอกเล่าเรื่องราวและร่องรอยที่เหลืออยู่ของพื้นที่อุทยาน ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และสงครามครั้งใหญ่ที่สุดในผืนดินไทย ที่แทบไม่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ

เมื่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 วนกลับมาอีก 1 ปี The Momentum ไม่รอช้า ติดต่อสายไปยังสหายแสงทอง เพื่อชักชวนมาเข้าร่วมการเดินทาง ค้นหาร่องรอยของเหล่านักรบกองทัพปลดแอก

ในทันทีที่มาถึงอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดเพชรบูรณ์ สหายแสงทองก็ปรากฏตัวมาในเสื้อยืดลายพรางทหาร พร้อมเสื้อกั๊กติดชื่อข้างอก และสวมหมวกตราดาวแดงคู่ใจ บ่งบอกถึงการเป็นอดีตนักรบ พคท.ได้เป็นอย่างดี

เส้นทางสู่ ‘โรงเรียนการเมือง’

หมุดหมายแรกที่ ‘ลุงโก๊ะ’ เลือกพามาชมคือ ‘โรงเรียนการเมือง’ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของชุมชนที่มีประชากรกว่า 2,000 คน นับว่า เป็นฐานที่มั่นที่ใหญ่ที่สุดของ พคท. เป็นพื้นที่ที่มีความเพียบพร้อมต่อการใช้ชีวิต และเป็นเสมือนศูนย์บัญชาการใหญ่ของพรรค

“ที่ภูหินร่องกล้ามีทั้งคณะกรรมการเขต คณะกรรมการพรรค คณะกรรมการฝ่ายการเมือง ฝ่ายการทหารอยู่ที่นี่ครบ จะสั่งการไปทุกภาค ก็สั่งจากที่นี่ ไม่ว่าจะสั่งไปภาคใต้ ไปภาคอีสาน หรือกรุงเทพฯ ก็จะสั่งจากที่นี่หมดผ่านโทรเลขทางไกล”

เหตุผลที่ต้องตั้งชื่อพื้นที่บริเวณว่า ‘โรงเรียนการเมือง’ เป็นเพราะพื้นที่แห่งนี้ถูกใช้เป็นเวทีการประชุมเพื่อศึกษาทฤษฎีคอมมิวนิสต์ของ เหมา เจ๋อตง (Mao Zedong) ผู้นำสูงสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยหลักการใหญ่คือ ‘ทำเพื่อประชาชน’ เพื่อปลดแอกคนยากคนจนที่ถูกการครอบงําของเผด็จการยุคนั้น

“ยุคนั้นคือยุคเผด็จการทหารคุมทหารปกครองประเทศ ไม่มีระบอบประชาธิปไตย ใครทําอะไรก็ไม่ได้ เขามีอํานาจสูงสุดที่จะคุมคนไทยทั้งประเทศ เผด็จการไม่ยอมให้สิทธิประชาธิปไตยง่ายๆ” โก๊ะอธิบาย

สิ่งที่โก๊ะเล่าถึงคือสถานการณ์ที่ ‘เผด็จการ’ ครองประเทศต่อเนื่อง-ยาวนาน นับตั้งแต่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ระบอบจอมพลก็เหมือนจะปกครองประเทศตลอดกาลโดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุนหลัก เพื่อต่อกรกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่เริ่มเติบโตขึ้นในภูมิภาคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มต้นจากเวียดนาม

ปัญหาก็คือ ระบอบเผด็จการทหารนั้นไม่เคยมองเห็น ‘ชนบท’ ไม่เคยสนใจเรื่องความทุกข์ร้อนของคนธรรมดา ซ้ำระบบรัฐราชการยังกดขี่ชาวบ้านที่จนอยู่แล้วให้จนลงไปอีก

เมื่อไม่มีทางเลือกในการต่อสู้กับระบบเผด็จการ ครอบครัวของโก๊ะ สหายม้ง จึงต้องเข้าร่วมกับบรรดาสหาย จับมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

“พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสมัยนั้นเปรียบเสมือนดวงตะวันที่ยิ่งใหญ่ ส่องทางให้ทุกคนได้รู้ว่า อนาคตจะต้องทำอย่างไรเพื่อโค่นล้มระบบเผด็จการ เพราะเป้าหมายสูงสุดคือ การล้มระบบอํานาจเผด็จการจอมพล ถนอม กิตติขจร และจอมพล ประภาส จารุเสถียร ให้ออกจากประเทศไทย” 

อีกทั้งยังมีจุดมุ่งหมายคือ ต้องขับไล่สหรัฐฯ ให้ออกจากประเทศไทย เพราะเป็นผู้หนุนหลังรัฐบาลสมัยนั้น

“คนไทยไม่ได้ยืนอยู่บนขาแข้งตัวเองเลย อาศัยแต่คนอื่น กองทัพไทยอาศัยแต่คนอื่นเท่านั้นนะ อาศัยอเมริกา อาวุธสงครามทุกวันนี้ คนไทยก็เอางบประมาณภาษีประชาชนไปซื้ออาวุธของเขามาเพื่อมาเข่นฆ่าคนไทยด้วยกัน” สหายแสงทองเล่า

สำหรับบรรยากาศการใช้ชีวิต ณ จุดนี้ในอดีต โก๊ะเล่าให้เห็นภาพว่า เมื่อก่อนจะมีการตั้งบ้านขนาดใหญ่ไว้ตรงกลางของพื้นที่ ส่วนเรื่องอาหารการกินก็จะมีอย่างครบครัน เพียงพอต่อการอยู่อาศัย

“ของจริงคือเป็นบ้านหลังเดี่ยวหลังใหญ่ นอนได้ 20 กว่าคน มีเนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อควาย

“ควายเลี้ยงไว้ก็ไปปล่อยในทุ่งหญ้า เวลาจะกินก็เอาเชือกไปลากแล้วก็จูงมาฆ่ามาทำอาหาร วันๆ หนึ่งก็ฆ่าหมูประมาณ 6 ตัว แล่เอาแต่ส่วนเนื้อ ส่วนมันก็ไปทอดเป็นกากหมู หรือทำเป็นน้ำมันเก็บใส่ไหไว้ เอาไว้ทอดผัก”

ขณะที่ ‘ข้าว’ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารที่ให้พลังงานกับทุกคน โก๊ะเล่าให้ฟังว่า ได้ ‘ลุงสี’ นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เข้าป่าสมัยนั้น ช่วยออกแบบนวัตกรรมเป็นที่ ‘ตำข้าว’ พลังงานน้ำ โดยติดตั้งอยู่บริเวณน้ำตกฝั่งตรงข้ามกับโรงเรียนการเมือง 

โดยหลักการง่ายๆ ของสิ่งประดิษฐ์ชนิดนี้คือ การให้น้ำไหลผ่านกังหันทำให้สากตำข้าวยกขึ้น-ลงได้อัตโนมัติ

“ที่เราต้องตำข้าว เพราะว่า สมัยก่อนนั้นเราไม่มีโรงสี ตอนนั้นเป็นข้าวเปลือก ต้องเปลี่ยนข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ถ้าไม่มีโรงสีก็ใช้พลังน้ำตำ แล้วพวกกลุ่มผู้หญิงสมัยนั้นก็จะเอากระด้งมาฝัดข้าว แกลบก็ไปเลี้ยงหมู ข้าวก็เอามาบริโภค”

เดินต่อไปอีกส่วนของพื้นที่โรงเรียนการเมือง ตามคำบอกเล่าของไกด์หมายเลข 01 บอกไว้อีกว่า

โรงเรียนการเมืองจะมีพื้นที่ของโรงหมอสำหรับการรักษาตัวของนักรบผู้บาดเจ็บ และหลุมหลบภัยทางอากาศที่เป็นก้อนหินขนาดใหญ่ ทำให้ปลอดภัยจากข้าศึกอีกด้วย

ทั้งนี้ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เกิดขึ้น โรงเรียนการเมืองแห่งนี้ก็กลายเป็นเสมือนที่หลบภัยให้เหล่านักศึกษา โดยสหายแสงทองเล่าย้อนบรรยากาศให้ฟังว่า ทันทีที่นักศึกษาที่ถูกพิษของการถูกกดขี่ทางสังคม เมื่อเดินทางเข้ามาผู้นำพรรคจะมอบปืนให้คนละ 1 กระบอกพร้อมกระสุน โดยมีการประกาศกฎวินัยไว้ชัดเจนว่า ห้ามลวนลามผู้หญิง ห้ามทารุณเชลย ห้ามดื่มเหล้าในกองทัพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาท จนนำไปสู่การสูญเสียกันเองของกองกำลังปลดแอก

เส้นทางสู่ ‘ผาชูธง’

หมุดหมายถัดไปที่ไกด์หมายเลข 01 เลือกจะพาไปชมคือ ‘ผาชูธง’ ที่ครั้งหนึ่งกองทัพปลดแอกเคยนำธงค้อนเคียวขึ้นติดตั้งบริเวณนั้น โดยระหว่างทางการเดินเท้ากว่าราว 2 กิโลเมตร ได้เดินผ่านสนามฝึกของเหล่าทหารปลดแอกมือใหม่ โดยเป็นลานกว้างของริมทางระหว่างการเดินไปยังผาชูธง อดีตนักรบเล่าให้ฟังว่า เหล่านักรบจะได้รับการฝึกฝนตรงบริเวณนี้เป็นเวลา 3 วัน แบ่งออกเป็นชุดละ 20 คน โดยการฝึกจะมีทั้งฝึกยิงปืน เขวี้ยงระเบิด และหมอบคลาน

“การฝึกทหารต้องมาฝึกที่นี่เป็นภาคสนาม ที่โรงเรียนการเมืองเป็นการใช้ความคิด อันนี้เป็นการใช้กําลัง

“ใครที่ออกรบก็ออกรบ ส่วนใครที่ฝึกก็ฝึก ฝึกเสร็จช่วงเที่ยงๆ ของวัน พี่เลี้ยงก็จะส่งข้าวและอาหารมาให้ หรือใครจะไปล้างหน้าล้างตา ข้างๆ แถวนั้นก็จะมีลําห้วย ช่วงบ่ายโมงก็ฝึกต่อ” อดีตนักรบอธิบายภาพให้ฟัง

ถัดจากพื้นที่ฝึกทหารไม่ไกลนัก สหายแสงธรรมก็ชี้ไปยังบริเวณลานกว้างขนาดใหญ่ ก่อนจะถึงทางเดินเข้าเขตทางเท้าของสำนักอำนาจรัฐ โดยให้ข้อมูลว่า ลานกว้างดังกล่าวนั้นถูกเรียกว่า ‘ลานอเนกประสงค์’ เป็นเหมือนจุดรวมพล

“นักรบจะมารวมพลกันตรงนี้ เพื่อเฉลิมฉลองวันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ไทยครบรอบ 50 ปี หรือวันกรรมกร วันสตรีสากล โดยในปี 2516 นักรบจะต้องคุ้มกันตรงนี้ไว้ ไม่ให้เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพไทยลงจอดบริเวณนี้ให้ได้”

เดินตามทางเดิน ลึกเข้าไปอีกสักพัก โก๊ะหยุดยืนอยู่หน้าก้อนหินขนาดใหญ่ก้อนหนึ่ง ที่สลักเป็นคำว่า ‘4 พ.ค. 2515’ ตามคำบอกเล่าของโก๊ะระบุว่า วันที่ 4 พฤษภาคม 2515 เป็นวันที่พรรคคอมมิวนิสต์ถูกปราบ โดยสหายท่านหนึ่งที่ปัจจุบันอายุกว่า 80 ปี เป็นผู้จารึกไว้

และหากหันหลังกลับไป โก๊ะชี้ไปยังต้นไม้ต้นหนึ่งที่ยืนสูงสง่าอยู่ใกล้จุดหินจารึก นั่นคือ ‘ต้นสนสองใบ’ ที่สหายนิกายเป็นผู้ปลูกเอาไว้

“ตอนนั้นยังเป็นต้นเล็กๆ เท่าหัวเข่าอยู่เลย ในปี 2516 ที่กองทัพไทยถอยร่นออกไป เพราะเริ่มเข้าสู่หน้าฝน สหายนิกายก็เอามาปลูกไว้ต้นหนึ่ง อีกต้นปลูกไว้ที่ผาชูธง เพื่อจารึกความหลังภายหลังยุทธการภูขวางเสร็จสิ้น วันนี้สนต้นนี้จึงมีอายุ 60 กว่าปีแล้ว” ไกด์หมายเลข 01 กล่าว

มาจนถึงตอนนี้ ด้วยความสงสัยถึงวิธีการเรียกชื่อนักรบด้วยคำว่า ‘สหาย’ ผู้เขียนจึงถามกลับไปยังสหายแสงทองว่า มีการตั้งชื่อกันอย่างไร

“ชื่อสหายแสงทอง ผมเป็นคนตั้งเอง มาจากประโยคที่ว่า ‘แสงทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน’ เพื่อนที่ผมสนิทจะมีทั้งสหายพินิจ สหายปักใจ สหายเพลิง สหายวันชัย สหายโชติ ขณะที่สหายวิภาเป็นหมอผู้หญิง 

“ตั้งชื่อกันเองหมดเลย ไม่ใช่ชื่อจริง ชื่อที่พ่อแม่ตั้งจะไม่ค่อยเรียกกัน จะเรียกชื่อใหม่ ที่เรียกด้วยสหายก็เพราะทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน เราเป็นกองทัพของประชาชน มาจากลูกหลานของประชาชนทั้งนั้น ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” สหายแสงทองให้คำตอบคลายข้อสงสัย

ผ่านพ้นช่วงป่ารกมาสักพัก โก๊ะและทีม The Momentum ก็เดินมาถึงจุดลานกว้างขนาดใหญ่ ที่ปรากฏภาพ ‘ปืนยาวพิสัยไกล’ กระบอกหนึ่งถูกติดตั้งไว้ ตามคำเล่าของโก๊ะเล่าว่า ปืนที่ถูกติดตั้งนี้ เดิมเป็นปืนของกองทัพไทยที่ติดตั้งในรถหุ้มเกราะที่ พคท.ยึดมาเมื่อปี 2516 เพื่อนำมาใช้ยิงเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์

“แต่ก่อนนักรบเขาจะเอาหญ้าตรงร่องหินออก แล้วนักรบก็จะตัดไม้เป็นท่อนเกือบเท่าแขนมาวางเรียงกันเพื่อกางกระสุนปืน ปืนนี้สามารถยิงรอบๆ นี้หมดเลย ระยะการยิง 1,500 เมตร แต่สามารถยิงไกลได้สูงถึง 2,500 เมตร 

“ปืนนี้ก็จะถูกแบกไปลานหินปุ่มบ้าง แบกไปภูลมโลบ้าง ถ้าไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงก็ติดตั้งไว้ตรงนี้แหละ ตรงนี้ก็เคยยิงเครื่องบินทิ้งระเบิด หลังออกจากป่า พวกลุงก็เอาระเบิดไปทิ้งไว้แถวโรงเรียนการเมืองทั้งหมดเลย” อดีตนักรบเล่า

นอกจากนั้นสหายแสงทองยังเล่าถึงกลยุทธ์การรบของ พคท.ให้ฟังว่า นักรบจะใช้ ‘ยุทธการภูขวาง’ โดยอิงตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ของภูเขาลูกนี้ ทำให้กองทัพไทยสามารถเดินทางเข้าได้เพียงช่องทางเดียว (บริเวณประตูอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า) กองทัพปลดแอกจะปล่อยให้กองทัพไทยเข้ามาก่อน หลังจากนั้นค่อยปิดล้อม เรียกวิธีนี้ว่า ‘เปิดประตูให้หมาเข้าบ้าน’ พอกองทัพไทยเข้ามาจะพบกับระเบิดที่ติดตั้งไว้ ผลจากยุทธการดังกล่าวนี้ทำให้ พคท.ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์นำมาใช้สอยในสมรภูมิได้เป็นจำนวนมาก

ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ ‘ทหารไทย’ ในเวลานั้น ที่เล่าประสบการณ์การรบที่ภูหินร่องกล้าว่า เป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวด เพราะบุกกี่ครั้งก็ต้องเผชิญหน้ากับความสูญเสีย และไม่เคยรู้ว่า ‘ข้าศึก’ อยู่ตรงจุดใด แทบไม่เคยมองเห็นฝั่ง พคท.เลยสักครั้ง 

แน่นอนว่า ช่วงเวลาที่ พคท.ยิ่งใหญ่ที่สุด คือหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ โดยสมรภูมิที่ภูหินร่องกล้านั้น ฝั่ง ‘สหาย’ แทบยึดครองเบ็ดเสร็จไม่ว่าจะบนที่สูงหรือที่ราบ โดยมีนักศึกษาเป็นกำลังสำคัญในการร่วมรบ

สำหรับลานหินบริเวณนี้ อดีตนักรบบอกว่าจำเป็นที่กองกำลังปลดแอกจะต้องยึดรักษาไว้ให้ได้ เพื่อไม่ให้กองทัพไทยสามารถนำเฮลิคอปเตอร์ลงจอดได้ เพราะจุดนี้ถือเป็นใจกลางของพื้นที่ป่า

“ถ้าเราไม่สามารถอารักขาตรงนี้ได้ เขาลงตรงนี้ได้ เราไม่สามารถตีแตกได้เลย เราไม่สามารถชนะได้”

ก่อนที่จะถึงผาชูธง สหายแสงทองยังได้เดินนำหน้าไปถึงจุดหนึ่งที่บนพื้นหินมีรอยหลุมลงไป พร้อมเล่าถึงสาเหตุของการเกิดหลุมนี้ว่า เป็นเพราะการทิ้งระเบิดขนาด 500 ปอนด์ของกองทัพไทย

หลังจากการเดินมากว่าเกือบชั่วโมง ผาหินสูงชันตั้งตระหง่าน พร้อมธงไตรรงค์ที่โบกไสวตามแรงลมตรงหน้า ไม่ต้องบอกก็คงรู้แล้วว่าคือ ‘ผาชูธง’ หมุดหมายลำดับที่ 2 ที่สหายแสงทองพามาชม ทันทีที่ขึ้นไปยืนอยู่บนผาหินแห่งนี้ จะสัมผัสได้ถึงแรงลมและไอน้ำที่ปะทะเข้าหน้าได้เป็นอย่างดี

โก๊ะเล่าให้ฟังว่า ผาหินนี้มีความสูงจากระดับน้ำทะเลที่ 1,300 เมตร ในปี 2517 พคท.ได้ชักเอาธงแดงรูปค้อนเคียวที่สื่อถึงสัญลักษณ์ของกรรมกรและชาวนาขึ้นสู่ยอด โดยนักรบอยู่ประจำการที่ผาชูธงก็มีจะหน้าที่รักษาการน่านฟ้า 

“ตอนนั้นเราคาดหวังว่า จากนี้ไป 25 ปี อีกไม่นานรอจะชนะทั่วประเทศ โค่นล้มอำนาจเผด็จการให้สิ้นซากจากประเทศไทย แล้วก็จะเอาธงแดงไปปักที่พระนคร ปักใจกลางสนามหลวง”

เพื่อนมิตรสหายเคยท้อกันบ้างไหม?

“ยุคนั้นคือ ใครก็คิดว่า ต้องมีวันนั้น เป้าหมายคือปลดปล่อยประเทศทั้งหมด อีกไม่นานรอ ใครๆ ก็มีความหวัง” อดีตนักรบให้คำตอบ

เส้นทางสู่ ‘ลานหินปุ่ม’

หมุดหมายสุดท้ายของการเดินทางครั้งนี้ที่ไกด์หมายเลข 01 พาไปนั้นคือ ‘ลานหินปุ่ม’ ลานหินที่เกิดจากการผุพังและการกร่อน พร้อมถูกน้ำฝนกัดเซาะเป็นเวลานาน จนได้รูปร่างคล้ายปุ่มขนาดใหญ่ เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่นักรบใช้เป็นจุดยิงเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์

ด้วยลักษณะภูมิศาสตร์บริเวณนั้นเป็นร่องหิน (ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าภูหินร่องกล้า) อดีตนักรบเล่าให้ฟังว่า นักรบจะนำตัวเองลงไปในร่องหิน หากเครื่องบินผ่านมาก็จะเป่านกหวีดให้สัญญาณ 3 ครั้ง นักรบที่อยู่ในร่องหินก็จะเตรียมกระสุนเพื่อการยิงต่อไป

“เวลาเครื่องบินมาจะมา 4-5 ลำ ในแต่ละระดับเพดานการบิน โดยเครื่องบินคุ้มกันจะบินอยู่สูงสุด ระดับระยะประมาณมาจากลานหินปุ่มไปถึงน่านฟ้าประมาณ 1,500 เมตร เราสามารถยิงเครื่องบินตกได้ ถ้าบินสูงกว่านั้นคือเราไม่สามารถยิง จะเปลืองลูกกระสุนเปล่าๆ”

ระหว่างการเดินไปยังลานหินปุ่มนั้น การเดินทางได้แวะอีกจุดที่มีความสำคัญต่อ พคท.เช่นเดียวกันคือ ‘หลุมหลบภัยทางอากาศ’ ที่เดิมทีใช้เป็นสำนักอำนาจบัญชาการที่มีเฉพาะประธานฝ่ายปกครอง สาธารณสุข และฝ่ายบริหาร

“ทุกคนต้องมีข้อโต้แย้งและข้อสรุปที่นี่ ให้เป็นเอกภาพ เราต้องสรุปแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์ว่า เราจะทํายังไงให้ได้ชนะ และกองกําลังสูญเสียน้อยที่สุด

“หลังจากปี 2516 ฝ่ายกฎหมายเรียกที่นี่ว่า ‘สำนักอำนาจรัฐ’ มีประธานฝ่ายปกครอง สาธารณสุข ฝ่ายทะเบียน สามารถมาแจ้งเกิดแจ้งตายมาแจ้งที่นี่ เปรียบเสมือนเป็นประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่งอยู่กลางประเทศไทย ถ้าใครทําผิดก็จะขังไว้ที่คุกบริเวณใกล้เคียงนี้ แต่เดี๋ยวนี้มันผุพังแล้ว” โก๊ะเล่าก่อนที่จะเดินทางกันต่อ

ระหว่างทางไปยังลานหินปุ่มที่เป็นหมุดหมายสุดท้ายนั้น ริมทางจะปรากฏดอกกุหลาบขาวขึ้นอยู่ตลอดแนวทางเดิน อดีตนักรบให้ข้อมูลว่า จะบานสะพรั่งเต็มที่ได้ในช่วงฤดูร้อน หรือช่วงเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคมนั่นเอง

เดินไปไม่นานนักราว 10 นาที ภาพตรงหน้ากลายเป็นผาสูงขึ้น ที่พื้นปรากฏเป็นหินทรงกลมหลายร้อยอันเรียงรายอยู่ตรงหน้า นั่นคือ ‘ลานหินปุ่ม’ ที่ทัศนียภาพนั้นงดงาม ดึงดูดใจให้หลายคนหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาบันทึกภาพ

“ลานหินปุ่มถือเป็นจุดสําคัญ เพราะเป็นจุดยิงเครื่องบินที่บินกองทัพไทยที่ผ่านน่านฟ้า บริเวณจุดนี้สําคัญเพราะมีชัยภูมิที่สูง และมีร่องหินให้หลบเยอะ สามารถมองเห็นได้ไกลตั้งแต่เขาค้อ บ้านแยง อำเภอนครไทย เห็นหมดเลย” อดีตนักรบอธิบายระหว่างการเดินชม

“มองย้อนกลับไปเรารู้สึกอย่างไรบ้าง ณ สมรภูมิครั้งนั้น” ผู้เขียนถามไปยังสหายแสงทอง

“เขาคือคน เราก็คือคน เขามีปืน เราก็มีปืน เราถือว่า เป็นศัตรูทางชนชั้นเท่านั้นเอง อยู่คนละฝ่าย เราไม่ยิงเขา เขาก็ต้องยิงเรา ใครไวก็ได้เปรียบ เราไม่ได้นึกถึงว่า เราเป็นเพื่อนกัน เราถือว่า เป็นศัตรูทางชนชั้น 

“เราต้องการโค่นล้มระบบเผด็จการ เขาเป็นฝ่ายทหารที่เจ้านายเขาส่งมาปราบ เราต้องยิงอย่างเดียว ถ้าใครยอมจำนนคือคนนั้นรอดชีวิต ถ้าใครสู้ต่อก็ต้องเสียชีวิต” สหายโก๊ะให้คำตอบ พร้อมกับแสดงร่องรอยของสมรภูมิบนแขนข้างซ้ายของเขา ที่ครั้งหนึ่งสหายร่วมรบเสียชีวิตต่อหน้า ขณะที่เขาถูกกระสุนปืนถากท่อนแขนไป

แล้วหลังจากเหตุการณ์เคยได้เจอทหารไทยที่ร่วมรบในสมรภูมิครั้งนั้นบ้างไหม เราถามลุงโก๊ะ 

“เจอ บางทีเขาก็ขึ้นมาเที่ยวที่นี่”

“แต่เขาก็ไม่ได้โกรธอะไรเรานะ เราก็ไม่ได้โกรธเหมือนกัน เรื่องมันผ่านมานานแล้ว ณ เวลานั้น ต่างคนก็ทำหน้าที่ เขาก็ยังชื่นชมเรา เขาก็ขึ้นมาดูให้เห็นกับตาว่า ทำไมจุดนี้ที่ภูหินร่องกล้า ทำไมเขาถึงเอาเราไม่ลง”

เวลานี้ ทั้งทหารไทย ทั้งบรรดา ‘สหาย’ ล้วนอยู่ในวัย 65-70 ปี หลายคนเสียชีวิตไปแล้ว ขณะที่ ‘สหายใหญ่’ ภูมิธรรม เวชยชัย หนึ่งในนักรบ ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ถามว่า ประเทศไทยเป็น ‘ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์’ หรือยัง สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ภายในเครื่องหมายคำถาม

“ในฐานะไกด์ที่ผ่านสมรภูมิมาด้วยตัวเอง ความอบอุ่นมันก็มี ความเสียใจมันก็มี เพราะเราผ่านความเป็นความตาย แต่ปัจจุบันมันไม่มีสงครามแล้ว เรารักธรรมชาติมากกว่า เราเห็นว่า ป่าถูกบุกรุก อยากรักษาให้อยู่คงไปชั่วลูกชั่วหลาน ให้คนรุ่นหลังได้เห็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ เราภาคภูมิใจตรงนี้นะ”

แน่นอนว่า ‘ความเท่าเทียม’ และ ‘คนเท่ากัน’ ยังเป็นสิ่งที่โก๊ะปรารถนาในวัย 67 ปี เช่นกัน

“อีกความภูมิใจคือ การเป็นตํานานเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ถ้าหมดรุ่นของพวกลุงแล้ว ก็ไม่มีใครเล่า ลุงโก๊ะเลยคิดว่า ปีนี้ก็จะต่อยอดพวกเด็กผู้ชาย 3-4 คน มาเป็นให้มาเป็นไกด์รุ่นใหม่

“ในวันที่เราเดินไม่ไหวแล้ว จะได้มีนักสื่อความหมายมาเล่าขานประวัติศาสตร์ต่อไป” ประโยคสุดท้ายที่เราพูดคุยกันที่ลานหินปุ่มแห่งนี้

Tags: , , , ,