ปี 2507-2508 มีโจรผู้ร้าย เข้ามาปล้นทรัพย์สินเงินทองของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านร่วมกันต่อสู้กับโจรผู้ร้าย 

ปี 2509 ทหารตำรวจเข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการที่วัดบ้านนา เพื่อทำการจับกุมผู้ต้องสงสัยตั้งข้อหาอันธพาล ไปขังคุกโดยไม่มีการฟ้องศาล 

ปี 2510 รัฐบาลทำสงครามกับ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ใช้สื่อโฆษณาว่าคอมมิวนิสต์เอาคนแก่ทำปุ๋ย ใช้คนไถนาแทนวัวควาย พคท. สูบเลือดคน ชาวบ้านเลยไม่กล้าทำมาหากินโดยลำพัง ต้องลงแข่งกันทำงาน ตอนเย็นกินอาหารร่วมกัน มีการพูดคุยรำวงรอบกองไฟ

ปี 2513 ทหารเข้ามาตั้งถิ่นฐานปฏิบัติการระดับกองพัน ที่บ้านเกาะหลุง เพื่อกวาดล้างบุคคลที่ต้องสงสัยว่าฝักใฝ่อยู่กับสมาชิก พคท. มาสอบสวน มีการซ้อม ทารุณ ทำร้ายร่างกายจนหมดสติ จับยัดลง ‘ถังน้ำมัน 200 ลิตร จุดไฟเผา’ เพื่อทำลายหลักฐาน 

เป็นที่มาของคำว่า ‘เผาลงถังแดง’ ที่เกิดขึ้นในตอนนั้น

ทั้งนี้ ถังแดง ในแง่ความหมาย คือถังโลหะทรงกระบอกส่วนใหญ่มีสีแดง ในประเทศไทยนิยมใช้บรรจุน้ำมันเพื่อจำหน่าย 

แต่หากพูดในแง่ของความทรงจำของคนพัทลุง ถังแดง อาจไม่ใช่เพียงถังโลหะอเนกประสงค์เท่านั้น กลับกันมันคือ แผลฉกรรจ์จากประวัติศาสตร์ ที่ยังถูกจดจำโดยคนท้องถิ่น 

แต่สำหรับคนไกลจากที่นี่ น้อยคนนักที่จะรับรู้ถึงความเหี้ยมโหดอย่างแท้จริงได้

ภาพสีขาวดำวาดด้วยมือติดอยู่บนฝาผนังของอุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง   

อดีต

แสงบ่ายส่องลอดใบต้นยางตกกระทบถนน เสียงนกป่าร้องระงม ข้างๆ มีคลองน้ำไหล พรรณนาแบบนี้อาจนิยามว่า บริบทของพื้นที่นี้คือป่าธรรมชาติ หากแต่ในพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยภูเขาบรรทัดของจังหวัดพัทลุง กลับมีบางสิ่งดูไม่เข้ากับพื้นที่ตั้งอยู่ในที่โล่งกลางป่า 

อาคารรูปทรงแปลกประหลาด มียอดสูงเป็นถังน้ำมันสีแดง ปลายถังมีประติมากรรมคล้ายนกสยายปีกคลุมปากถังไว้ แม้สถานที่แห่งนี้จะมีป้ายระบุชัดเจนว่าเป็น อุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง ทว่าสำหรับผู้ไม่มีพื้นฐานได้เคยพบเห็น อาคารตรงหน้าอาจเป็นสำนักปฏิบัติธรรมสักแห่งหนึ่ง

“เขาเผากันตรงนี้แหละ” 

สันติชัย ชายเกตุ ทนายความและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เปิดบทสนทนาด้วยการแนะนำสถานที่ตรงหน้าเพียงสั้นๆ แต่ครอบคลุมทุกมิติของสถานที่นั้นๆ ว่า มันเป็นผืนดินสำหรับอะไร 

ชุมชนลำสินธุ์ จุดที่ตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง อดีตเป็นจุดตั้งค่ายทหารชั่วคราวของรัฐไทยเพื่อต่อสู้กับกองกำลัง พคท.ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง พื้นที่ใช้สอยของค่ายมีขนาดปานกลาง มีพื้นที่ตรงกลางเอาไว้สำหรับสอบสวนผู้ที่สันนิษฐานว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง หรือร่วมมือกับกลุ่ม พคท. 

การสอบสวนดำเนินไปในฐานะที่มีชาวบ้านเป็นจำเลย และมีทหารเป็นศาล ผู้ที่จะเข้ามาอยู่ในห้วงการสอบสวน อาจเป็นบุคคลธรรมดาที่มีความใกล้ชิดกับคอมมิวนิสต์ เช่น รู้จักมักคุ้นเพราะเป็นคนใกล้ชิด บุคคลนั้นมีเครือญาติเป็นสมาชิกหรือผู้สนับสนุน พคท. หรือต้องสงสัยว่า เป็นผู้สนับสนุนหรือมีแนวโน้มสนับสนุน พคท.

แน่นอน ว่าการสอบสวนมิได้เป็นไปในลักษณะสันติ ประชาชนผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ พคท.นั้น จะถูกทุบตีในระหว่างสอบสวนจนหมดสติ ก่อนที่ร่างกายอันนิ่งเงียบจะถูกแบก ถูกลากโยนลงถังน้ำมันสีแดงขนาด 200 ลิตร บรรจุน้ำมันอยู่ก้นถัง ก่อนจะจุดไฟแผดเผาผู้คน บ้างก็ไร้ชีวิต บ้างก็ตื่นขึ้นมาหวีดร้องด้วยความเจ็บปวด และเมื่อเสียงหวีดร้องนั้นไม่เสนาะหูผู้ฟังอย่างคนในค่ายทหาร จึงนำมาซึ่งการติดเครื่องยนต์รถยีเอ็มซี เพื่อกลบเสียงที่โหยหวนมิให้เล็ดลอดออกจากค่าย

บรรยากาศยามบ่าย ณ อุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง

การเข่นฆ่าด้วยวิธีเผาลงถังแดง ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2514 กระทั่งปี 2516 หลังการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในต่างจังหวัดได้เป็นปัจจัยสำคัญบรรเทาสถานการณ์ความคลั่งเลือดของเหล่าทหาร กับการสังหารคนลงถังแดง

เมื่อสถานการณ์ความไม่สงบเบาบางจนเข้าสู่ภาวะปลอดภัย อุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2538 เพื่อเป็นตัวแทนผู้ล่วงลับ เป็นสัญลักษณ์ของความเหี้ยมโหดโดยมีผู้กระทำเบื้องหลังเป็นรัฐ และเป็นสถานที่ที่ชาวพัทลุงจะรำลึกถึงผู้สูญเสียในทุกๆ เดือนเมษายน 

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อาคารกลางป่าเขาเหล่านี้ จะถูกเสริมเติมไปด้วยประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างประชาชน ผ่านภาพวาดที่ติดไว้บนฝาผนัง ให้นิยามความหมายของถังแดง เพื่ออธิบายถึงการกดขี่ผ่านวัตถุหนึ่งๆ ในฐานะตัวแทนของความรุนแรง และรายชื่อของผู้ล่วงลับเพื่อจดจำผู้บริสุทธิ์ที่ถูกแผดเผาอย่างน่าสังเวช เป็นโศกนาฏกรรมประวัติศาสตร์ที่เห็นผ่านตาและถ่ายทอดมันออกมาผ่านมือของชาวพัทลุง

“นี่ไงชื่อพ่อผม นายเปลก ชายเกตุ อยู่ตรงนี้” สันติชัยพูดขึ้น พลางกวาดนิ้วเลื่อนจากบนลงล่าง นำสายตาเราพบเจอกับตระกูลชายเกตุ บนแผ่นป้ายรำลึกผู้ล่วงลับ

สันติชัยเองก็ต้องสูญเสียพ่อไปจากเหตุการณ์เผาลงถังแดงเช่นเดียวกัน 

สันติชัย ชายเกตุ กำลังมองหาชื่อของผู้เป็นบิดาบนแผ่นป้ายประกาศรายชื่อของผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ถังแดง

ฆ่าเรียบ เผาเรียบ ทำลายเรียบ

ไม่ใช่แค่ความสูญเสียจะเกิดขึ้นแต่เพียงภาคใต้ ในพื้นที่ไกลห่างจากพัทลุงขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ณ บ้านนาทราย จังหวัดหนองคาย บ้านนาหินกอง จังหวัดมุกดาหาร บ้านปากช่อง บ้านซ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ถิ่นอาศัยของอีสานก็กลายเป็นพื้นที่สีแดง เป็นเขตที่รัฐกำหนดว่าอาจมีผลต่อความมั่นคงของรัฐ แปลได้ว่า เมื่อเกิดการปะทะขึ้น พื้นที่สีแดงนี้เองที่จะเป็นสมรภูมิรบระหว่างชาวบ้านที่มีมือ กับทหารที่มีปืน 

“นาทราย นาหินกอง คือหมู่บ้านที่ถูกเผาทางอีสาน ที่เผาเพราะวิธีคิดของภาครัฐในการกำราบการต่อสู้ของฝ่ายชาวบ้านที่เขาเรียกว่า สามเรียบ คือฆ่าเรียบ เผาเรียบ ทำลายเรียบ ซึ่งนาทราย-นาหินกอง เป็นสองหมู่บ้านที่ถูกจัดการด้วยวิธีนี้” สมยศ เพชรา อดีตทหารฝ่ายสื่อสาร พคท. และอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนเดือนตุลาฯ บอกกับเรา

หลังการไหลบ่าของนักศึกษาจากกรุงเทพฯ ลงสู่ชนบท ตั้งกำลังฟูมฟักตัวเองเพื่อต่อสู้กับรัฐ ชาวบ้านในพื้นที่สีแดงยังคงทำมาหากินกันอย่างสงบเสงี่ยมภายในหมู่บ้านตัวเอง ก่อนจะถูกรุกรานจากเหล่าทหารหาญ ด้วยสายตาจับจ้องว่า ชาวบ้านกลุ่มนี้ที่ดูธรรมดา แท้จริงแล้วคือพวกคอมมิวนิสต์ที่ต้องกำจัด

การสังหารด้วยการตัดศีรษะคนในชุมชนบ้านปากช่องเพียงเพราะมีชื่อแซ่ตรงกันกับสมาชิกคนใดคนหนึ่งใน พคท. หรือการสังหารกลุ่มวัยรุ่นในบ้านซ้ง เป็นหลักฐานความรุนแรงของรัฐที่เหมาะควรแก่การย้อนรำลึกในทุกปี ทว่า เรื่องนี้กลับถูกลืมหาย และตายจากไปพร้อมผู้คนที่เคยมีประสบการณ์ร่วม

สำหรับหมู่บ้านนาหินกองยังมีข้อมูลไม่มากพอที่จะกล่าว หากแต่หมู่บ้านนาทรายนั้นมีข้อมูลว่าตั้งอยู่ ณ ชุมชน ตำบลชมพูพร จังหวัดหนองคาย ก่อนหน้าจะเปลี่ยนเป็นจังหวัดบึงกาฬ และเป็นหมู่บ้านที่ถูกเผาราบเป็นหน้ากลองจากการบันทึกของ ชัยวัฒน์ สุรวิชัย ผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ชื่อว่า เหตุเกิดที่บ้านนาทราย 

รัฐให้การว่ามีบ้านถูกเผาทำลายวอดไปเพียง 20 หลังคาเรือน ทว่าความจริงที่ได้กลับมากกว่าเท่าตัว คือ 106 หลังคาเรือน ไม่นับรวมกับการเข่นฆ่าชาวบ้านอีกหลายราย รวมเด็กและผู้หญิงที่มอดไหม้ไปพร้อมกับบ้าน มากกว่านั้นคือการชี้นิ้วจากรัฐที่โบ้ยว่าผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) เป็นผู้นำทำลายที่หลับที่นอน เผาบ้านวอดวาย สวนทางกับปากคำชาวบ้านที่บอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐต่างหากที่เป็นผู้ลงมือ 

ทางอีสานเผาวอด ทางทิศทักษิณก็ “ถีบลงเขา เผาลงถัง” 

“ถีบลงเขา คือทางสุราษฎร์ธานี บนเวทีปราศรัยบอกว่ามีการตาย 3,800 ศพ ซึ่งจริงๆ จากงานวิจัยของผมไม่ได้ถึงขนาดนั้น เพียงแต่ว่าแนวคิดสมัยใหม่เรามองว่าความแตกต่างทางการเมืองไม่ควรมีคนตาย คนเดียวก็ไม่ควรตาย ด่ากันไม่เป็นไร แต่อย่าต่อยกันเหมือนกับสภาฯ ไต้หวันที่ต่อยกัน แต่ก็ไม่ได้ฆ่ากัน ทว่าสำหรับประเทศไทยค่อนข้างเหี้ยมโหด”

สมยศเล่าให้เราฟังว่า เหตุการณ์ถีบลงเขาที่สุราษฎร์ธานี เป็นความรุนแรงคู่ขนานกับถังแดงในจังหวัดพัทลุง และเกิดขึ้นจากเหตุการณ์รัฐประหารตัวเองของจอมพล ถนอม กิตติขจร 

“ช่วงจอมพลถนอมรัฐประหารตัวเอง การร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลา 11 ปี จากปี 2501-2512 เพิ่งจะได้เลือกตั้ง พอเป็นรัฐบาลได้สัก 2 ปี ถนอมก็เข้าไปยึดอำนาจตัวเองกลายมาเป็นนายกฯ ที่มาจากการรัฐประหาร ช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่มีการเข่นฆ่าชาวบ้านอย่างรุนแรง โดยการแนะนำของอเมริกาหรืออะไรก็แล้วแต่ ใช้วิธีการแบบ สงครามเวียดนาม คือฆ่าเรียบ เผาเรียบ ทำลายเรียบ มันคิดว่าจะสกัดการต่อสู้ได้”

แนวคิด ฆ่าเรียบ เผาเรียบ ทำลายเรียบ เป็นหลักคิดของรัฐ ที่หวังใช้ไม้แข็งในการต่อสู้กับชาวบ้านธรรมดา ซึ่งเป็นหลักคิดเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านนาทรายทางภาคอีสาน กับการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ สร้างความหวาดกลัวเป็นวงกว้าง 

น่าสนใจว่า รัฐเลือกใช้วิธีที่น่ากลัวกำจัดผู้เห็นต่างหลายต่อหลายครั้งเพื่อสร้างความหวาดกลัว โดยหวังลึกๆ ว่า จะทำให้ชาวบ้านออกห่างจากฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับตนจากความผวา ทว่าหลักคิดนั้นกลับได้ผลลัพธ์อีกแบบ เพราะชาวบ้านที่หวาดกลัวต่างเดินทางเข้าสู่ป่า หาแนวร่วมใหม่อย่าง พคท. หลายหมู่บ้านกลายเป็นหมู่บ้านร้างตามคำบอกเล่าของสมยศ เนื่องจากชาวบ้านไม่วางใจจะอยู่ในหมู่บ้านที่เคยเป็นรังนอนของตัวเองต่อไป

ปลายยอดของอาคารอุทยานฯ คือถังน้ำมันสีแดง​ ซึ่งเป็นถังน้ำมันจำลองในกับตัวถังจริงที่ใช้ในเหตุการณ์ถังแดง

ครูเปลก ชายเกตุ บิดาของสันติชัย ผู้ล่วงลับจากเหตุการณ์ถังแดง

เปลก ชายเกตุ 

“ที่วัดเขาวงก์ อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง ตรงนั้นมีบ้านอยู่สัก 10 หลัง บ้านของผมก็อยู่ทางทิศเหนือของวัด เป็นบ้านทรงไทยขนาดใหญ่ ถือว่ามีฐานะพอสมควร ด้านล่างเป็นใต้ถุนบ้าน มีบันไดต่อขึ้นไปด้านบน พื้นที่ด้านล่างเอาไว้นั่งเล่น และเลี้ยงไก่ตามแบบสมัยโบราณ”

ในพื้นที่กงหรา ติดกับวัดเขาวงก์ เคยเป็นละแวกใกล้บ้านของสันติชัย รายละเอียดของบ้านตั้งแต่การออกแบบ ทิศที่ตั้ง และสัตว์เลี้ยงยังคงติดอยู่ในความทรงจำของชายคนนี้ แม้ว่าบ้านหลังเดิมที่เคยหลับนอนในวันนั้นจะไม่เหลือแม้แต่เพียงเสาสักหนึ่งต้นในวันนี้ แต่สันติชัยก็สัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่บ้านหลังเก่าเคยให้ นั่นคือความอบอุ่นของครอบครัว

ในบ้านหลังเก่า สันติชัยอาศัยกับครอบครัวรวม 6 คน พ่อ แม่ ตัวเขาและน้องอีก 3 คน ครูเปลก ผู้เป็นบิดาของสันติชัยเป็นผู้มีคนนับหน้าถือตา เพราะชอบช่วยเหลือชาวบ้านใกล้เคียงตน ทั้งยังเป็นผู้คร่ำหวอดด้านการสอนจากการเป็นข้าราชการครูสอนสั่งอยู่ในโรงเรียนประจำจังหวัดพัทลุง ก่อนจะลาออกสู่เส้นทางใหม่ คือการตั้งตนเป็นผู้ต่อต้านอำนาจรัฐเต็มตัว

“ตอนนั้นผมยังเด็ก เลยไม่รู้ว่าการต่อสู้ของพ่อผมในตอนนั้นเขาเรียกว่าอะไร แต่อาจมีแนวคิดโน้มเอียงไปทางสังคมนิยม เห็นด้วยกับอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ เพราะตอนนั้นพรรคคอมมิวนิสต์สายจีนเข้ามามีอิทธิพลกับพรรคคอมิวนิสต์ไทย และพ่อผมก็น่าจะอยู่ในขบวนการนี้ในระดับแกนนำ ถ้าเป็นตำแหน่งก็น่าจะเทียบเท่ากำนันหรือนายอำเภอ รวมทั้งน่าจะเป็นสมาชิกพรรคด้วย”

เดือนสิงหาคม 2514 กลุ่มทหารกำลังจัดตั้งกองกำลังอยู่ในวัดเขาวงก์ ไม่ไกลจากบ้านอันอบอุ่นของครอบครัวชายเกตุ ซุ่มเงียบภายในวัดเตรียมออกจับผู้ต้านรัฐมาสอบสวน และแน่นอนว่า พ่อเปลกไม่ใช่ผู้ที่ถูกว่างเว้นจากการจับกุมของทหาร 

“ทหารเข้ามาตั้งค่ายที่วัดเขาวงก์แล้วก็เดินจากวัดเลียบตามคันนา เพื่อมาจับพ่อของผม ขณะที่พ่อผมกำลังนั่งเย็บใบจากเอามาปูหลังคาช่วงฤดูฝน”

สันติชัยวิ่งเล่นอยู่กลางนา แลเห็นความไม่ปกติในคราบชุดลายพรางกำลังตรงดิ่งไปยังบ้านตัวเอง สิ่งที่สันติชัยทำคือการวิ่งแข่งกับกลุ่มเจ้าหน้าที่มุ่งตรงเข้าบ้าน เพื่อเอ่ยความไม่ปกติให้ผู้เป็นบิดาฟังว่า มีบางอย่างกำลังตรงมาที่บ้านของพวกเขา 

“เหมือนเป็นสัญชาตญาณว่าตัวพ่อน่าจะไม่ปลอดภัย เลยวิ่งไปบอกพ่อว่า ทหารมา ตอนที่ผมบอกพ่อเรื่องทหาร ผมตั้งคำถามว่าทำไมพ่อไม่รู้สึกตื่นเต้นเลย ผมยังรู้สึกผิดหวังว่าทำไมพ่อจึงไม่หนี เพราะจุดประสงค์ที่ผมบอกพ่อ ก็เพราะต้องการบอกให้พ่อหนี เพราะยังไงแล้วพวกทหารมันมาไม่ดีแน่”

เปลกไม่ลุกหนี แต่นั่งรอทักทายกลุ่มลายพรางผู้มาเยือนเสมือนรู้ชะตากรรมตนว่าจะเป็นเช่นไรต่อจากนี้ ขณะเดียวกันสันติชัยกลับรู้สึกโกรธและเคืองบิดาตนเอง ที่ไม่คิดแม้แต่จะพยายามลุกหลบสายตาของกลุ่มแขกไม่ได้รับเชิญ 

ในอดีต การมาเยือนของเหล่า ‘นาย’ หรือเจ้าหน้าที่รัฐใต้บ้านเรือนราษฎร ผู้เป็นเจ้าบ้านจำต้องเตรียมอาหารอุ่นร้อนเตรียมไว้ให้เหล่าแขก เช่นเดียวกับที่บ้านชายเกตุเมื่อ 52 ปีที่แล้ว เมื่อเหล่านายย่างกรายเข้ามาใต้ถุนบ้าน สันติชัยก็ต้องรับหน้าที่จับสัตว์เลี้ยงเชือดทำอาหารให้เหล่าแขกเหรื่อได้รับประทาน 

มิอาจรู้ได้ว่าอาหารโอชะมื้อนั้นเป็นมื้อที่เท่าไร หรือมื้อใดของกลุ่มทหารหาญ แต่สำหรับครูเปลก นี่เป็นมื้อสุดท้ายที่เขาจะได้นั่งซดน้ำแกงใต้ถุนบ้านตัวเอง 

ท้ายที่สุดเสาบ้านชายเกตุก็ถูกถอดดึงจากบ้าน ท่ามกลางสายตาจับจ้องของเหล่าตระกูลและมิตรสหาย มองครูเปลกหายไปใต้รถของแขกผู้ไม่ได้รับเชิญ ไม่มีใครรู้ว่ารถคันไหนจะไปหยุดอยู่ที่แห่งไหน แต่ในฐานะบุตร สันติชัยได้แต่เพียงส่งสายตามองบิดาจากไปอยู่หน้าบ้าน

พื้นที่อยู่อาศัยของครอบครัวชายเกตุ บัดนี้เหลือเพียงบ่อน้ำเก่า และหญ้าขึ้นจนรกพื้นที่

“ผมจำได้แม้กระทั่งว่าวันนั้นพ่อผมใส่นาฬิกา สวมรองเท้าแตะ และหลังกินข้าวเสร็จทหารก็พาพ่อผมขึ้นรถยีเอ็มซี ผมนั่งอยู่ที่หน้าบ้านข้างถนน นั่งดูทหารพาพ่อของผมไป

“เราใจเสียนะ แต่ยังคิดว่าพ่อจะกลับมา กลับมาแบบไม่เป็นอะไร ผมตามไปที่เกาะหลุง บ้านคลองหมวย อำเภอศรีนครินทร์ จุดสร้างอนุสรณ์สถานถังแดงที่เขาพาพ่อของผมไป กลุ่มทหารก็บอกว่าไม่ได้ฆ่าพ่อผมตรงนั้น และได้ย้ายพ่อของผมไปฆ่าที่ท่าเชียด อาผมเลยตามไปที่ท่าเชียด พอไปถึงก็เห็นเฉพาะรองเท้าของพ่อ คนคุมค่ายเขาบอกว่า หากหาพ่อตัวเองเจอก็เอากลับไปได้เลย แต่เมื่อไปแล้วไม่เจอพ่อ เราคิดแล้วว่าเขาเอาไปฆ่าเสียแล้วในคืนนั้นก่อนที่อาผมจะเดินทางไป

“ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ผมก็ยังไม่เคยได้เจอกับพ่อของผมเลย”

แม้จะยังเยาว์วัย ไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดลึกซึ้งไปมากกว่าการได้เห็นในสิ่งที่มีให้เห็น แลได้ยินในสิ่งที่ผ่านเข้ามาให้ได้ยิน สันติชัยจมอยู่ภายใต้ความคาดหวังจะได้พบบิดาอีก ก่อนที่ความหวังนั้นจะพังครืนลงมาจากหลักฐานเพียง 1 ชิ้น ที่หลงเหลือ คือรองเท้าผู้เป็นพ่อ แต่ไร้สัญญาณชีพผู้เป็นเจ้าของ 

 

ป่า

ยุทธการล้อมปราบคอมมิวนิสต์จากรัฐ สร้างความเดือดร้อนไปทุกหวงระแหง แผ่ซ่านไปทั่วทั้งพัทลุงไม่ว่างเว้นจากผู้เฒ่า ลูกเล็กเด็กแดง ถือเกณฑ์เพียงว่า ผู้ใดตั้งตัวเป็นศัตรูรัฐ ผู้นั้นย่อมลงเอยเฉกเช่นเดียวกันทั้งหมด

เราขับรถเดินทางมายังบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ เพื่อพบกับสามี ภรรยา คู่หนึ่ง ผู้ที่เคยตั้งตนตรงข้ามรัฐ เลือกที่จะจากบ้าน เดินทางไกลตามหุบเขาเพื่อใช้ชีวิตที่เหลือให้อยู่รอดปลอดภัย หรือมากกว่านั้นคือการช่วยเหลือผู้คน 

จุดที่เราอยู่คือที่หลับนอนของ บุปผา เพชรา หรืออีกชื่อคือสหายขวัญ กับสมยศ  เพชรา เรารู้จักครอบครัวเพชราในฐานะอดีตแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สิ่งนี้ถูกยืนยันโดยหนังสือที่ตั้งเรียงรายในชั้นตู้ภายในบ้านของคู่สามี-ภรรยา แต่หากมองย้อนกลับไป ไม่ว่าคุณจะเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ สำหรับบุปผา และ สมยศ ต้องไม่มีใครสูญเสีย 

หนังสือในชั้นวางของบ้านเพชรา

ครอบครัวของสหายขวัญ เป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่เพียบพร้อมบริบูรณ์ไปด้วยเงินทอง ทั้งยังเป็นครอบครัวใหญ่ บ้านนี้มีพี่น้องรวมกันนับ 10 คน เป็นผู้ชายทั้งหมด มีเพียงขวัญเท่านั้นที่เป็นผู้หญิงของบ้าน และแม้จะไม่ได้ต่อต้านรัฐบาลอย่างสุดโต่ง แต่ครอบครัวนี้ก็ต้องย้ายขึ้นเขากันแทบจะทุกคน 

 “ก่อนหน้านั้นพ่อเข้าป่าไปแล้ว ตามมาด้วยแม่ แล้วก็พี่ชาย พวกเราที่เหลือเมื่อโตขึ้นก็รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย เจ้าหน้าที่ชอบมาล้อมบ้านบ่อยๆ ตั้งแต่พ่อไปคนแรกและมีแม่อยู่ เวลาตื่นเช้าขึ้นมาเราจะไม่กล้าเปิดประตู เพราะเจ้าหน้าที่ทหารมาตั้งกองกำลังในวัดบ้านนา ไม่ไกลจากบ้านของเรา”

ครอบครัวขวัญนับหนึ่งเข้าป่าตั้งแต่ปี 2507 ซึ่งเป็นช่วงแพร่ระบาดของกลุ่มโจรรุมปล้นจี้ชาวบ้านในพื้นที่ ชาวบ้านคนใดเป็นผู้โชคร้ายถูกปล้นจี้ก็มักจะโดนจนหมดตัว มีผู้หญิงก็เอาผู้หญิง มีเงินก็เอาเงิน หนำซ้ำ เจ้าหน้าที่รัฐบางคนก็เข้าร่วมขบวนการนี้เสียเอง 

ตอนนั้นมีโจรเยอะมาก น่ากลัว ตอนที่เราโตเราจำได้ว่ารุ่นพี่ของเราที่สาวๆ จะไม่กล้านอนในบ้านเลย ต้องพาไปแอบนอนในป่า เพราะพวกโจรจะเอาใครไปทำเมียก็ฉุดไปเลย พวกผ้าถุงผู้หญิงเขาก็ไม่กล้าตาก เพราะเขากลัวพวกโจรมาทำคุณไสย” ขวัญว่า 

บุปผา เพชรา (ด้านซ้าย) และสมยศ เพชรา (ด้านขวา) 

 ตัวขวัญและครอบครัวโดยเฉพาะพ่อเริ่มมองเห็นความผิดปกติ หลังจากการมุ่งหน้ามาของเหล่าญาติจากเขาเจียก ซึ่งขวัญอธิบายกับเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์สามัญชนว่า เจ้าตัวเปิดวิทยุจากปักกิ่ง ศูนย์กลางของ พคท.ให้พ่อฟังบ่อยครั้ง แต่สิ่งที่ตามมาหาใช่ความสุนทรีย์จากการตามติดรายการวิทยุเสียงใส แต่กลับเป็นเหล่าชายชุดลายพรางที่แวะเวียนเข้าเยี่ยมบ้านของขวัญกับครอบครัวบ่อยครั้ง จนพ่อของเธอเริ่มหวาดระแวง ขั้นต้องย้ายไปหลับนอนในป่าลึกเพื่อความปลอดภัยจากคนภายนอกอยู่บ่อยครั้ง

ครั้นปี 2507 พ่อของขวัญตัดสินใจย้ายตนเองเข้าป่าถาวร ไม่เอาไปแม้แต่ของรักของหวงอย่างพระเครื่อง อาจเป็นการเข้าใจผิดว่าสถานการณ์การถูกคุกคามจากรัฐกับครอบครัวของขวัญจะทุเลาลงหลังการไปของพ่อ เพราะการจากไปโดยที่ยังหลงเหลือคนในตระกูลอีกจำนวนหนึ่งไว้ในบ้าน เท่ากับการโยนพยานปากเอกที่จะถูกเค้นความจากทหาร ที่นานวันยิ่งถี่ขึ้นเรื่อยๆ 

“เมื่อเจ้าหน้าที่มาล้อมบ้าน หมาก็จะเห่า ท่าทางของเขาน่ากลัว ชอบถามโน่นถามนี่ พ่อกลับมาบ้างไหม ส่งข่าวมาบ้างหรือเปล่า เคยติดต่อพ่อบ้างหรือเปล่า ตอนนั้นเริ่มมีเหตุการณ์เผาลงถังแดง เราเองก็โตแล้วหากยังอยู่ที่บ้านต่อไปก็อาจจะโดนไปด้วย พ่อก็ส่งข่าวมาบอกว่า ให้ออกจากบ้าน ยังไม่ให้เราเข้าป่า แต่ให้ไปอยู่ที่อื่นแทน ตอนนั้นน้องชายก็ไปอาศัยอยู่ที่ร้านซ่อมรถ น้าชายเป็นน้องของแม่เป็นคนพาไปอยู่ด้วย ส่วนใหญ่ก็ไปอยู่ตามบ้านญาติที่เขาเจียก เพื่อไปให้พ้นจากบ้านตัวเอง แต่ก็ไปอยู่ได้สักพัก พ่อก็บอกให้เรากลับบ้านดีกว่า เราก็รู้สึกว่าถ้าเราอยู่ที่บ้านเราคงไม่ปลอดภัย”

เป็นเรื่องที่น่ากังวล หากผู้ใดมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ที่หันหน้าเข้าป่า หรือรู้จักมักคุ้นกับเหล่าผู้ต่อต้านอำนาจรัฐ เพราะในอดีต การตรวจสอบว่าใครสมรู้ร่วมคิดกับขบวนการใดจริงหรือไม่นั้นเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะสถานการณ์อันไม่ปกติของพัทลุงที่แม้แต่ผู้บริสุทธิ์ก็มิอาจรอดพ้นจากการถูกเผาทั้งเป็นในถังแดง 

คำถามคือ ผู้ที่ถูกจับกุมนั้นมีความเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์หรือไม่ เพราะขั้นตอนการได้มาของ ‘ผู้ต้องหา’ บางครั้งก็มาจากสายลับที่แฝงตัวกับชุมชน ขณะที่บางครั้งมาจากลิสต์รายชื่อของภาครัฐ ซึ่งทั้งสองขั้นตอนล้วนมีปัญหา บางครั้งเบาะแสที่ให้ไปมีเพียงนามสกุล มีเพียงชื่อ หรือแม้กระทั่งมีเฉพาะชื่อเล่น 

ว่ากันว่าเมื่อเหตุการณ์ถังแดงสิ้นสุดลง รายชื่อผู้เสียชีวิตที่ปรากฏตามแนวยาว อาจมีนามสกุลเหมือนกันจริง ทว่ากลับไม่ได้มีความเกี่ยวพันกันกับ พคท. แต่อย่างใด ท้ายที่สุดก็ลงเอยที่การถูกจับลงถังแดงเพียงเพราะมีชื่อแซ่คล้ายกับผู้ต้องหาคนอื่นๆ 

การเดินหน้าลัดเลาะตามป่าเขาเพื่อเข้าร่วมกับแนวร่วมคอมมิวนิสต์จึงเป็นวิถีทางเดียวที่จะทำให้ขวัญปลอดภัยจากการคุกคามของเหล่าทหารที่ต้องการเค้นข้อมูลของครอบครัวจากเธอได้

สำหรับขวัญแล้ว การเข้าป่าไปพร้อมกับน้องชายถือเป็นความยากลำบาก การเปลี่ยนจากนอนบนเตียง มานอนบนเปลอาจให้ความสบายไม่เสมอเหมือนกัน ทว่าความลำบากของเธอกลับแฝงไปด้วยความสบายใจมากกว่าอยู่บ้านครั้งเหตุการณ์ยังไม่สงบ สันนิษฐานว่าอาจมีที่มาจากความปลอดภัย สบายใจของตัวขวัญเอง เห็นได้จากที่เธอพยายามอย่างไม่ลดละที่จะศึกษาวิชาการในป่าใหญ่ เพื่อพัฒนาศักยภาพรอวันได้ใช้ตลอดมา 

ภูเขาที่เคยเป็นแหล่งฟูมฟักของเหล่าแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ตัวแทน

การเข่นฆ่าคนโดยเงื้อมมือรัฐ มีฐานคิดเพื่อส่งออกภาพความน่ากลัวสู่สายตาประชาชน ว่ากันว่าอาจเป็นการสร้างความใกล้ชิดระหว่างประชาชนผู้หวาดกลัวกับเหล่าทหาร ตั้งกันเป็นพรรคเป็นพวกช่วยปราบคอมมิวนิสต์ร่วมกับรัฐ แต่ความกลัวนั้นกลับบาดลึกใจประชาชนผู้พบเห็น และมีประสบการณ์ร่วมจากการสูญเสียบุคคลในครอบครัวไป และคงเป็นเรื่องที่เกินความสามารถหากชาวบ้านตาสีตาสาจะภักดียอมเป็นพรรคพวก กับกลุ่มคนที่พรากชีวิตคนรักของพวกเขาไปไม่หวนคืน 

“อาจจะเป็นแนวคิดตอนนั้น ที่มองว่าคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งที่เลวร้ายต้องจัดการให้สิ้นซาก เขาไม่ได้คิดมากในเรื่องสิทธิมนุษยชนตอนนั้น”

“ผมเองยังคิดว่า ทำไมถึงต้องทำขนาดนี้ แค่จับเอาไปขังเฉยๆ เราก็น่าจะมีโอกาสได้พบกับพ่อของเรา พ่อเราน่าจะมีชีวิตรอดกลับมา ทำไมต้องโหดร้ายขนาดนี้ ตอนผมคิดผมยังมึนๆ อยู่ ทำไมเขาถึงจัดการกับพ่อเราเพราะเห็นต่างขนาดนั้น”

สันติชัยในวันนี้ยังคงย้อนคิดถึงในวันที่พ่อเดินลับสายตาไป เพื่อตั้งคำถามว่าเหตุใดกัน การยืนอยู่บนความแตกต่างทางความคิดจึงกลายเป็นอันตรายถึงขั้น เข่นฆ่า เอาชีวิตผู้เป็นบิดาของเขาไป

เช่นเดียวกับสหายขวัญ ในวันนี้ความโหดร้ายของเหล่าทหาร และการหันหลังให้กับเคหสถานอันเป็นบ้านเกิดของเธอยังคงย้อนกลับมาฉายภาพซ้ำในหัวยามเธอหลับ ความหวาดกลัว แลโดดเดี่ยวยามต้องจากครอบครัวนั้นกลั่นเป็นฝันร้ายราวีเธอหลายต่อหลายคืน 

“เป็นความรู้สึกที่โดนแม่ทิ้ง นอนกลางคืนตอนแรกไม่มีพ่อ เราก็รู้สึกว่ามันขาดไปแล้วคนหนึ่ง แต่พอต้องอยู่กับความรู้สึกที่ไม่มีแม่ไปอีก มันก็เป็นความรู้สึกที่มันไม่เหมือนกับคนอื่นๆ ที่เขามีพ่อแม่ มันไม่อบอุ่น แล้วเมื่อถึงตอนที่เราต้องทิ้งน้องอีก น้องก็มีอยู่ 5 คน เขายังเล็ก เขาไม่สามารถทำกับข้าวกินได้ เราดูแลให้เขาทุกอย่าง มันเป็นความรู้สึกที่ ถึงวันนี้เราก็คิดว่าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์บ้านแตกสาแหรกขาดแบบนั้นอีก

“เคยฝันประจำว่าเราเข้าป่าอีก ลูกจะอยู่อย่างไร พอตื่นขึ้นมาก็พบว่า มันคือฝัน เมื่อเราเข้าไปติดอยู่ในนั้นเราไม่สามารถกลับออกมาได้อย่างปกติอีกต่อไปแล้ว เพราะว่าเราแดงแล้ว กลับออกมาก็จะโดนจับ โดนเพ่งเล็ง ก็คิดว่าอย่าให้มันเกิดขึ้นอีกเลย เรากลับมามองน้อง เราไม่ได้ดูแลเสื้อผ้าให้เขา ตอนเขาไปโรงเรียน แต่พอเรามีลูก เราซักผ้าให้ลูกเราอย่างดี รีดผ้าให้อย่างดี แต่น้องๆ ตอนนั้นคิดแล้วไม่สบายใจทุกครั้ง เหมือนเป็นปมในใจ ทำให้เราฝันร้ายตลอด ฝันว่าเราทิ้งลูก ฝันว่าเราทิ้งน้อง คิดว่ามันเป็นเรื่องจริงเกิดขึ้นอีกในชีวิต ทำไมเราถึงต้องตัดสินใจอีกครั้ง แต่พอตื่นขึ้นมามันก็เป็นเพียงความฝัน” สหายขวัญกล่าว

วันนี้ผ่านมา 52 ปี คงไม่มีสิ่งใดหนักแน่นพอที่จะยืนยันถึงความ ทารุณ เหี้ยมโหดจากเหตุการณ์ถังแดงเท่ากับอาคารเก่ากลางป่ายางแห่งนี้ได้อีกแล้ว 

อุทยานฯ ที่ตั้งยืนนิ่งสงัดนี้ตอกย้ำความทรงจำที่ยังหลงเหลือ ย้ำเตือนผู้พบเห็น เพื่อเตือนสติเราว่าหากเกิดเหตุการณ์นี้อีกในอนาคตไม่ว่าจะใกล้หรือไกล ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ หรือกินเวลาอย่างนาวนาน มันจะนำมาซึ่ง ความสูญเสีย เฉกเช่นเดียวกับสันติชัย ที่ต้องสูญเสียผู้เป็นบิดาไปอย่างไร้การจากลา หรือจะเป็นขวัญที่ต้องจากน้องและบ้านไปอย่างห่วงใย

ที่สำคัญ คือการ สูญเสียความเป็นมนุษย์ ของผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นต้นสายความคิด และลงมือทำความรุนแรง เป็นอีกความสูญเสียที่อาจเรียกคืนได้ยาก กลายเป็นตำหนิติดตัวตาย 

ปราการอิฐ ปูน มียอดเป็นถังสีแดง เป็นหลักฐานให้ผู้พบเห็นกำซาบว่า เรามีประวัติศาสตร์มาอย่างไรในพื้นที่แห่งนี้ ด้านหนึ่งเพื่อไม่หลงลืมประวัติศาสตร์ เป็นเกียรติแก่ผู้สูญเสีย และเป็นบทเรียน

ทว่าอีกแง่หนึ่งที่สำคัญ คือการเป็นสิ่งปลูกสร้างของ ตัวแทน ชีวิตที่สูญเสีย ที่ยืนรอคำขอโทษจากผู้ก่อเหตุอย่างจริงใจเสียที

อุทยานฯ ยังคงเปิดให้เข้าชมได้ทุกวันไม่มีวันหยุด

ปลายยอดของอาคารอุทยานฯ สะท้อนกับแสงแดงเห็นรูปทรงของถังแดงชัดเจน

ความขัดแย้งและการกดปราบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจากรัฐ กินเวลากว่า 18 ปี ตั้งแต่ปี 2508-2526 หลังเหตุการณ์ป่าแตก ที่เป็นจุดล่มสลายของ พคท. ทว่าการต่อสู้ระหว่างรัฐกับคอมมิวนิสต์ในไทยครั้งสุดท้ายคือวันที่ 7 สิงหาคม 2535 โดยมีการปะทะกันในป่าพื้นที่บางกลอย มีผู้เสียชีวิตรวม 5 ราย และหลังจากนั้น กลุ่มคอมมิวนิสต์จึงเริ่มสลายหายไป 

ในปี 2543 รัฐบาลยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2493 

ผู้สูญเสียที่สามารถรวบรวมและระบุได้ว่าเป็นผู้ใดนั้นมีอยู่จำนวน 195 ชีวิต ที่กลายเป็นเถ้าธุลีจมอยู่ใต้ธารน้ำไหลข้างอุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง และอุทยานแห่งนี้ยังคงทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวแทนของผู้ล่วงลับแก่ผู้ที่สนใจความหลังทางประวัติศาสตร์ของพัทลุง ณ ตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง เรื่อยไป 

 

ขอขอบคุณ

สมยศ เพชรา

บุปผา เพชรา

และสันติชัย ชายเกตุ

อ้างอิง 

ปิยนันท์ จำปีพันธ์. (2566) จาก “วันเสียงปืนแตก” สู่ภารกิจ “ดับเสียงปืนแตก” การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของ พคท”: ศิลปวัฒนธรรม. วันที่เข้าถึงข้อมูล 29 พฤษภาคม 2567, แหล่งที่มา https://www.silpa-mag.com/history/article_87558

ศรายุธ ตั้งประเสริฐ. (2563). ตามรอยน้ำตาในเพลง-เรื่องเล่าท้องถิ่น ความรุนแรงโดยรัฐจากอดีตถึงปัจจุบัน: ประชาไท. วันที่เข้าถึงข้อมูล 29 พฤษภาคม 2567, แหล่งที่มา https://prachatai.com/journal/2020/02/86413

Fact Box

  • ครอบครัวชายเกตุยังคงอาศัยอยู่ในจังหวัดพัทลุง ส่วนบ้านหลังเดิมกลายเป็นสวน และไม้ผลของครอบครัว 
  • ปัจจุบัน สันติชัย ชายเกตุ เป็นหนึ่งในแนวหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านริมคลองในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ที่เดือดร้อนจากโครงการของกรมชลประทาน 
  • สันติชัยระบุว่า เหล่าชาวบ้านที่อยู่ใต้ถุนบ้านในวันที่บิดาตนถูกจับ แท้จริงแล้วก็มีรายชื่อเป็นผู้ต้องหาของรัฐเช่นเดียวกัน ทว่าทั้งหมดไหวตัวทันก่อน จึงหนีไปก่อนการตามจับของทหาร 
  • สมยศและขวัญเป็นคู่สามี-ภรรยา ที่พบรักกันระหว่างเป็นแนวร่วมของ พคท. 
  • ขวัญ หรือ สหายขวัญ เป็นนามที่ได้จากการเข้าร่วมกับ พคท. และกลายมาเป็นคำเรียกชื่อของบุปผา เพชรา ในวันนี้
  • สมยศเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เขาโดนข้อหาหลากหลายกระทง หนึ่งในนั้นคือข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 
  • ปัจจุบันบ้าน เพชราเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง 
Tags: , , , , , , ,