‘เมืองไทยคือสวรรค์ของ LGBTQ+’

เดือนมิถุนายนถือเป็นเดือนแห่ง Pride Month หรือเดือนแห่งความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งมีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างคึกคัก หนึ่งในนั้นคือ พาเหรด ‘นฤมิตไพรด์’ หรือการเดินพาเหรดเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ จากคณะทำงานบางกอกนฤมิตไพรด์ และเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นการจัดครั้งแรกในกรุงเทพฯ พร้อมกับกิจกรรมมากมาย ทั้งการแสดง Drag Show จากกลุ่ม Drag Community การแสดงแฟชั่นโชว์ของกลุ่ม Sex Worker รวมถึงการแสดงดนตรีการเต้นรำและร่วมกันแห่ธงไพรด์ขนาดใหญ่

นอกจากการเฉลิมฉลอง งานพาเหรดในครั้งนี้ยังเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญเพื่อเรียกร้องและตอกย้ำประเด็น ‘สมรสเท่าเทียม’ คนเท่ากัน สิทธิและสวัสดิการของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากกลุ่ม LGBTQ+ นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ตลอดจนประชาชนทั่วไป ที่มาร่วมงานจนทำให้ถนนสีลมดูแน่นไปถนัดตา

The Momentum ได้ลงพื้นที่เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในขบวนพาเหรด และพบปะพูดคุยกับผู้กลุ่ม LGBTQ+ ที่มาร่วมงานพร้อมกับ ‘แฟชั่น’ การแต่งกายสุดปัง กับคำถามถึงนิยามของประเทศไทยในการเป็นสวรรค์ของ LGBTQ+ ความยากลำบากของการเป็น LGBTQ+ ในประเทศไทย กฎหมายหรือนโยบายที่อยากให้มีการผลักดัน รวมถึงความถามที่อยากส่งเสียงถึงรัฐผู้มีอำนาจ

สิทธิเดช บรรมณี (หนุ่ม) อินฟลูเอนเซอร์, เจ้าของเพจ ‘ม้าม่วง’

มองอย่างไรกับคำว่า ‘เมืองไทยคือสวรรค์ของ LGBTQ+’

เราว่าจริง เพราะประเทศไทยเริ่มให้อิสรเสรีกับกลุ่มนี้มากขึ้น และเปิดโอกาสให้คนที่เป็น LGBTQ+ ได้แสดงความสามารถตัวเอง หรือสิ่งที่ตัวเองถนัดมากขึ้น

กฎหมายหรือนโยบายเกี่ยวกับ LGBTQ+ ที่อยากไปให้ถึงคืออะไร

เรื่อง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และอยากให้มีสถานที่ที่เปิดโอกาสให้คนได้ใช้งาน ได้แสดงความสามารถตัวเองมากขึ้น ยกตัวอย่าง เวลาไปห้าง พอยกกล้องขึ้นมาถ่ายก็จะมี รปภ. มาชาร์จทันที ทั้งที่มันคือกล้องโทรศัพท์ ไม่ใช่กล้องใหญ่ เราเลยรู้สึกว่ามันปิดกั้นเรื่องพวกนี้มากไป รวมถึงทุกวันนี้เด็กมีความสามารถเยอะมาก แค่ไม่มีสถานที่ที่ให้เขาแสดงศักยภาพของตัวเองเท่านั้น

ความยากของการเป็น LGBTQ+ ในประเทศไทยคืออะไร

หลายครอบครัวยังไม่ค่อยเปิดเท่าไรกับเรื่องนี้ เมื่อก่อนเราก็เคยโดนพ่อท้าต่อย เขาพูดว่า “มึงเป็นกะเทยเหรอ มาต่อยกับกูไหม” เราเลยหมดศรัทธากับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้าน จากสิ่งที่เขาพูดออกมา มันทำให้รู้สึกว่า ครอบครัวควรเป็นที่ปลอดภัยของเด็ก แต่คนในครอบครัวกลับทำให้มันไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยและไม่น่าอยู่

มีสิ่งใดบ้างที่อยากฝากถึงรัฐบาล

สิ่งเดียวที่มองเห็นตอนนี้ คือเรื่องของการสมรสเท่าเทียม ยกตัวอย่าง ตอนนี้เรามีแฟนที่ช่วยกันทำมาหากินสองคน แต่หากมีคนหนึ่งตายไป สิ่งที่เป็นชื่อของเขา ครอบครัวของเขาจะได้รับ ทั้งที่เราสองคนเป็นคนหาของเหล่านั้นมาด้วยกัน เหมือนสามีภรรยาหามาด้วยกัน ก็ควรจะเป็นของทั้งคู่ ไม่ควรเป็นของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง เมื่อมีใครตายไป

กฤษณะ ทัศตานนท์ (มู) รับจ้างอิสระ

มองอย่างไรกับคำว่า ‘เมืองไทยคือสวรรค์ของ LGBTQ+’

ไม่จริง เพราะหลายสิ่งยังไม่มีการซัพพอร์ตมากขนาดนั้น เช่น หน้าที่การงาน ที่สาวประเภทสองยังไม่ค่อยได้การยอมรับเท่าไร

กฎหมายหรือนโยบายเกี่ยวกับ LGBTQ+ ที่อยากไปให้ถึงคืออะไร

สิทธิส่วนบุคคลสำหรับชาย-หญิงที่เขาได้กันปกติ แค่นั้นเลย เพราะสำหรับเรา กลุ่ม LGBTQ+ ก็เป็นคนที่สมควรได้รับเท่าเทียมเช่นเดียวกัน

ความยากของการเป็น LGBTQ+ ในประเทศไทยคืออะไร

สิ่งที่ต้องเจอทุกวัน คือมันยังมีการบูลลี่เกี่ยวกับเรื่องเพศอยู่ในหลายๆ ช่วงอายุ ซึ่งการบูลลี่มันกระทบถึงความรู้สึกของคนที่เป็น LGBTQ+ เช่น การพูดจาดูถูกด้วยถ้ายคำที่รุนแรง อย่าง อีตุ๊ดควาย อีพวกกะเทย เสียชาติเกิด และมันน่าแปลกมากที่พวกเราต้องยอมรับสิ่งเหล่านี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

มีอะไรอยากบอกรัฐบาลไหม

อยากให้มีการรองรับกฎหมายที่ผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมในทุกเพศสักที เพราะทุกคนมีความสามารถ แต่ปัจจุบันเราคิดว่ารัฐบาลไม่ได้สนับสนุนขนาดนั้น

คณัสสนันท์ คะสุวรรณ์ (โชกุน) นักศึกษาปริญญาโท สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และศิลปินอิสระ

มองอย่างไรกับคำว่า ‘เมืองไทยคือสวรรค์ของ LGBTQ+’

เรามองสองอย่าง ถ้าเป็นมุมมองจากคนนอกที่เป็นชาวต่างชาติมองเข้ามา ถือว่าเมืองไทยได้รับผลกระทบในเรื่องการบูลลี่ หรือการต่อต้านน้อยกว่าละแวกเพื่อนบ้าน ประเทศไทยแทบจะสามารถเปิดเผยได้ และเป็นแหล่งรวมของความหลากหลายทางเพศ อย่างเช่น Transgender ที่เปิดตัวออกมา ไม่ว่าจะเป็นวงการบันเทิงหรือวงการอื่นๆ สังคมของเราค่อนข้างเปิด แต่ก็มีหลายวงการ หลายอาชีพ ที่ยังปิดกั้นอยู่

กฎหมายหรือนโยบายเกี่ยวกับ LGBTQ+ ที่อยากไปให้ถึงคืออะไร

กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นสิ่งที่อยากผลักดันมากที่สุด เพราะอย่างที่บอก เราพูดว่าไทยเป็นสวรรค์ของ LGBTQ+ แต่เรายังไม่มีกฎหมายให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ และแบ่งทรัพย์สินร่วมกันได้ ถ้าเป็นสวรรค์จริงๆ เราควรผลักดันให้มันเป็นมาตรฐานได้แล้ว คือสังคมเรายอมรับในเรื่องทัศนคติก็จริง แต่ในเรื่องกฎหมาย ทำไมกลับถูกละเลย หลายครั้งที่ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมถูกปัดตก ที่เราพูดว่าสังคมเปิด ความเป็นจริงคือยังมีสิ่งที่โดนทับซ้อนและโดนกดทับอยู่

ความยากของการเป็น LGBTQ+ ในประเทศไทยคืออะไร

เราอยู่ในระบอบการปกครองแบบเอเชีย ซึ่งยังมีความเป็นปิตาธิปไตย เราเลยถูกปลูกฝังจากครอบครัวที่ผู้ชายเป็นผู้นำเสียส่วนใหญ่ คุณพ่อเราจะมีความต่อต้านนิดหน่อย แต่ปัจจุบัน เด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่สามารถ Call Out ตัวเองออกมาเป็นเพศทางเลือกได้หมด แต่ก่อนเราจะพูดแค่ตุ๊ด เกย์ ทอม แต่ตอนนี้มันมีเพศที่หลากหลายขึ้น ส่วนสำคัญเป็นเพราะโซเชียลฯ ทำให้คนรู้สึกว่าไม่ได้มีแค่เพศเดียวหรือสองเพศแล้ว แต่เขาสามารถเปลี่ยนไปตามอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการได้มากขึ้น

มีสิ่งใดบ้างที่อยากฝากถึงรัฐบาล

นอกจาก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เราอยากให้รัฐบาลมองเรื่องการให้มีเพศทางเลือกเข้าไปบริหารองค์กรที่เป็นหน่วยงานรัฐมากขึ้น เพราะสังเกตว่า ถ้าพูดถึงรัฐบาล ผู้ชายต้องมาก่อน แล้วก็เป็นผู้หญิง แต่เพศทางเลือกแทบไม่มีสิทธิ์มีเสียงเข้าไปทำงานในหน่วยงานรัฐบาลได้ ถ้าเราเปิดโอกาสให้ความหลากหลายทางเพศเข้ามาบริหารงานเกี่ยวกับรัฐมากขึ้น มันจะทำให้ตอบได้ชัดเจนขึ้นว่า ไทยเป็นสวรรค์ของชาว LGBTQ+ จริง ส่วนเรื่องสมรสเท่าเทียม ถ้าไม่รีบทำ มันจะกลายเป็นสิ่งล้าหลัง แล้วเราก็อาจเป็นกลุ่มสุดท้ายของแถบเอเชียก็ได้

ชเนรินทร์ อินต๊ะรัตน์ (พิ้ง) ค้าขายทั่วไป

มองอย่างไรกับคำว่า ‘เมืองไทยคือสวรรค์ของ LGBTQ+’

จริง เพราะยุคสมัยปัจจุบันนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ทั้งโซเชียลมีเดียหรือแฟชั่นในปัจจุบัน อีกอย่างคือทุกวันนี้พวกเราชาว LGBTQ+ มีมากขึ้น จนประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในดินแดนที่ชาว LGBTQ+ จากทั่วโลกหวังที่จะมาเที่ยวที่เมืองไทย

กฎหมายหรือนโยบายเกี่ยวกับ LGBTQ+ ที่อยากไปให้ถึงคืออะไร

ถ้าเป็นเรื่องทางกฎหมายเรามองว่า การจดทะเบียนสมรสสำคัญ เพราะมันจะเอื้อให้ทำอะไรหลายอย่างง่ายมากขึ้น เช่น การเดินทาง ธุรกิจ หรือการเจ็บป่วยต่างๆ ส่วนเรื่องนโยบาย คือต้องผลักดันให้เกิดการยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ มากกว่านี้ ทั้งในส่วนของคำพูด และการปฏิบัติ รวมถึงกฎกติกาต่างๆ ที่ยังกีดกั้นสิทธิ์ของเราอยู่

ความยากของการเป็น LGBTQ+ ในประเทศไทยคืออะไร

ความยากของการเป็น LGBTQ+ ในประเทศไทย คือการให้ทุกคนยอมรับในตัวเรา แม้ปัจจุบันจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นก็จริง แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่ได้มองเราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ยังมองเป็นตัวตลก ผิดเพศ และใช้ถ้อยคำรุนแรงต่างๆ จึงอยากให้คนกลุ่มนั้นเปิดใจ และยอมรับในสิ่งที่พวกเราเป็นให้มากกว่านี้

มีสิ่งใดบ้างที่อยากฝากถึงรัฐบาล

ฝากถึงรัฐบาลชุดนี้ในเรื่องของอาชีพ การทำงาน การใช้ชีวิตในสังคมไทย เปิดอาชีพหรือมีอาชีพเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้ชาว LGBTQ+ ได้แสดงความสามารถหรือโชว์ฝีมือในสายงานอาชีพ มันคือส่วนหนึ่งที่จะเป็นผลตัดสินได้ว่าชาว LGBTQ+ ก็มีความสามารถไม่ต่างจากเพศทั่วไป และในบางอาชีพชาว LGBTQ+ อย่างพวกเราก็มีตำแหน่งที่สูงแล้วคอยงานในอาชีพนั้นได้ดีกว่าเพศทั่วไปด้วยซ้ำ

จิรวัฒน์ วงศ์ดิลกวัฒน์ (ใหม่) อินฟลูเอนเซอร์ช่อง Powerpuff GAY

มองอย่างไรกับคำว่า ‘เมืองไทยคือสวรรค์ของ LGBTQ+’

เรามองว่าจริง อยู่ที่ไทยก็ทำอะไรอิสระได้ประมาณหนึ่ง คำว่าเป็นสวรรค์ของ LGBTQ+ ถ้าไม่นับเรื่องของการบูลลี่ การเหยียดระหว่างเพศ เรามองว่าทุกคนมีสิทธิ์ทำอะไรในประเทศไทยได้กว้างขวาง แต่ถ้ามองในมุมการบูลลี่หรือการเหยียดเพศ มันก็ยังมีอยู่ แต่มันน้อยลงไปเยอะมาก ณ ปัจจุบัน เรามองว่าเด็กสมัยนี้โชคดีด้วยซ้ำที่ได้เติบโตขึ้นมา และได้เห็นสื่อที่มีซีรีส์วายมากมาย คนเปิดกว้างมากขึ้น ทั้งการแต่งตัว หรือเสื้อผ้าแบรนด์ต่างๆ ก็ยังมีคำว่า Unisex เข้ามาเกี่ยวข้อง

กฎหมายหรือนโยบายเกี่ยวกับ LGBTQ+ ที่อยากไปให้ถึงคืออะไร

ปัจจุบันนี้ ทุกคนมองในเรื่องของการสมรสเท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญ เราก็เห็นด้วย เพราะทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน และการอยากมีครอบครัว ก็ย่อมต้องมีเรื่องของทรัพย์สิน มรดก ซึ่งต้องมีคนที่ต้องดูแลรักษา อีกเรื่องคือ อยากให้มีพื้นที่แสดงออกในเรื่องของกิจกรรม ไม่ใช่แค่ LGBTQ+ โดยตรง แต่รวมถึงเด็กรุ่นใหม่ๆ ด้วยความที่ปัจจุบัน โลกมันกว้างขึ้นมาก เด็กเริ่มออกมาใช้ความสามารถตัวเองในการแสดงออกต่างๆ แต่ยังขาดพื้นที่ในการให้เขาได้ใช้

ความยากของการเป็น LGBTQ+ ในประเทศไทยคืออะไร

ด้วยความที่เรามีเพื่อนผู้ชายเยอะประมาณหนึ่ง ณ วันหนึ่งที่เราต้องไปเจอรุ่นน้องหรือใครที่ชวนไปเจอ พอเราถามว่ามีใครบ้าง แล้วน้องตอบว่า เพื่อนผู้ชายหมดเลย เราก็แอบรู้สึกว่า พอไปแล้วต้องตอบคำถามอะไรเขาอีกไหม แต่เราก็มองในอีกมุมหนึ่งที่เราเข้าใจได้ อย่างเราเป็นเกย์ คือตัว G ใน LGBTQ+ บางทีเราก็ไม่เข้าใจเลสเบี้ยน หรือผู้หญิงกับผู้หญิง เพราะไม่ได้ศึกษาเรื่องของเขา

มีสิ่งใดบ้างที่อยากฝากถึงรัฐบาล

เราไม่อยากใช้คำว่า กลุ่ม LGBTQ+ บอกรัฐบาล แต่อยากใช้คำว่า สิ่งที่ประชาชนคนหนึ่งอยากพูดมากกว่า เรายังยืนยันเรื่องของพื้นที่สื่อ คุณอยากให้ประเทศไทยเจริญขึ้น คุณก็ต้อง Public ให้กับโลเคชันหรือสถานที่ต่างๆ คือสมัยนี้ อาชีพมันหลากหลาย คนก็หันมาอยู่ในสื่อมากขึ้น สื่อเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนได้รู้จักตัวตน ประเทศ เพราะฉะนั้น เราก็ไม่อยากให้เขาปิดกั้น ทุกวันนี้ จะไปถ่ายบนสะพาน ก็ต้องวิ่งแบบกองโจร เพราะยืนถ่ายอยู่ตำรวจมาแล้ว คุณอยากให้ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศ อยากให้ชาวต่างชาติได้รู้จักความเป็นประเทศไทย ความสวยงาม การท่องเที่ยว แต่คุณปิดกั้นสื่อ คุณจะเก็บไว้ดูคนเดียวหรือในเมื่อมันสวยงาม ก็น่าจะปล่อยให้เด็กหรือคนทั่วไปสามารถทำสาธารณประโยชน์ได้ในจุดต่างๆ

อัครพล สิงหภูมิ (อาร์ม) รับจ้างอิสระ

มองอย่างไรกับคำว่า ‘เมืองไทยคือสวรรค์ของ LGBTQ+’

ไทยขึ้นชื่อว่า ‘สยามเมืองยิ้ม’ ที่เหมือนจะเป็นสวรรค์สำหรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย แต่ปัจจุบันเราก็เห็นว่าในหลากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะแง่กฎหมายที่ประเด็นอยู่ทุกวันนี้ ยังไม่เห็นถึงปัญหาที่ LGBTQ+ ในประเทศกำลังได้รับเลย ดังนั้น เมื่อพวกเราไม่มีสิทธิ์ตามกฎหมาย ประเทศไทยจะยังเป็นสวรรค์หรือเป็นสยามเมืองยิ้มอยู่ไหม

กฎหมายหรือนโยบายเกี่ยวกับ LGBTQ+ ที่คุณมองว่าควรผลักดันไปให้ถึงคืออะไร

สมรสเท่าเทียม และการไม่เลือกปฏิบัติทางเพศในที่ทำงาน และทุกอาชีพ

ความยากของการเป็น LGBTQ+ ในประเทศไทยคืออะไร

ตอนนี้ถือว่าสังคมไทยเราเปิดกว้างมากขึ้น แต่สิ่งที่ขาดคือเรื่องกฎหมาย และการสนับสนุนแบบจริงจัง เวลาเห็นคนบอกว่าประเทศไทยเปิดรับความหลากหลายทางเพศอยู่แล้วนี่ จะเรียกร้องอะไร เราบอกเลย ตราบใดที่กฎหมายความเท่าเทียมยังไม่สำเร็จ การยอมรับและเปิดกว้างที่เห็นๆ กัน นั่นคือความปลอมเปลือก ดังนั้น การเป็น LGBTQ+ ในไทยไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากคือการอยู่ร่วมกันแบบไม่เท่าเทียม

มีสิ่งใดบ้างที่อยากฝากถึงรัฐบาล

ลาออกเถอะครับ

Tags: , , , , , , ,