1

ปรากฏการณ์ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ย้ายขั้วข้ามไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ อาจเป็นเซอร์ไพรส์ในสายตาของใครหลายคน แต่หากย้อนกลับไปพิจารณาเส้นทางการเมืองของมิ่งขวัญตั้งแต่เริ่มต้น ก็จะพบว่าไม่น่าแปลกใจนัก มิ่งขวัญเองเปลี่ยนเส้นทางมาหลายรอบ ด้วยอาศัยความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ผู้มีวาทศิลป์ชั้นยอด และวางกลยุทธ์ให้ตัวเองได้เป็นอย่างดี

2

จุดเปลี่ยนสำคัญ 2 จุด คือมิ่งขวัญเริ่มต้นเข้าสู่สนามการเมืองในวันที่พรรคพลังประชาชนขาดหัว สามารถส่งมิ่งขวัญขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอีกจุดคือหลังจากพรรคพลังประชาชนถูกยุบในปี 2554 รัฐบาลกลายเป็นฝ่าย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคเพื่อไทยกลับกลายเป็นฝ่ายค้าน มิ่งขวัญเสนอตัวอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูต่อ ‘นายใหญ่’ ขอเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ถึงขั้นท้าทายอภิสิทธิ์กลางที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่าขอให้เจอกันในสนามเลือกตั้ง ดูว่าใครจะเลือกเป็นนายกฯ และถึงขั้นรวมเสียง ส.ส.ภาคอีสาน เพื่อสนับสนุนตัวเอง จนได้เสียงมาจำนวนหนึ่ง แต่สุดท้าย ทักษิณกลับเลือกเคาะ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแทนในช่วงโค้งสุดท้าย ทิ้งให้มิ่งขวัญที่หวังสูงนั้นต้องติดดอยเก้อ จากคนเคยหวังเป็นแคนดิเดตนายกฯ กลายเป็นไม่ได้รับตำแหน่งอะไรเลยในคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์จวบจนหมดวาระสภาฯ เพราะการรัฐประหาร

3

ผ่านหลังการรัฐประหาร มิ่งขวัญรู้ดีว่าหากยังอยากอยู่บนเส้นทางการเมืองต่อไป ก็ไม่สามารถกลับไปพรรคเพื่อไทยได้ และหากจะไปพรรคพลังประชารัฐ ก็เป็นพรรคที่มีดาวดังอยู่มากแล้วในเวลานั้น รวมถึง ‘นายเก่า’ อย่าง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และคณะ ด้วยเหตุนี้จึงต้องไปสร้างบ้านของตัวเองใหม่ที่ ‘พรรคเศรษฐกิจใหม่’ เปิดตัวลุงมิ่งกับเด็กๆ หาเสียงกับชนชั้นกลางที่รู้สึกเบื่อหน่ายฟากรัฐบาล ไม่อินังขังขอบกับพรรคเพื่อไทยที่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นตัวนำ ทั้งยังรู้สึกว่าพรรคอนาคตใหม่ ‘หัวรุนแรง’ มากเกินไป ให้มาเลือกพรรคเศรษฐกิจใหม่ ด้วยชั้นเชิงวาทศิลป์และการเป็นเจ้าของกลยุทธ์การตลาดอันแพรวพราว การหาเสียงด้วยการลดภาษีน้ำมัน ลดค่าครองชีพ และนำเสนอตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยมในทุกเวทีดีเบต ทำให้พรรคเศรษฐกิจใหม่ได้รับเสียงโหวตทั่วประเทศกว่า 4.86 แสนเสียง ส่ง ส.ส. เข้าสภาฯ ได้ 6 คน และในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น เอาว่าอย่างน้อยทุกเขตเลือกตั้งต้องมีเสียงโหวตให้พรรคเศรษฐกิจใหม่อย่างน้อย 4,000-5,000 คะแนน แม้จะไม่มีคนเคยเห็นผู้สมัครพรรคนี้มาก่อนเลยก็ตาม

4

แต่วันชื่นคืนสุขก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว การเมืองไทยเป็นการเมืองที่เดินด้วย ‘เงิน’ เมื่อพรรคเศรษฐกิจใหม่เจอกับ ‘แรงดูด’ มหาศาลจากฝ่ายรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ส.ส. พรรคลุงมิ่งก็ย้ายข้ามฟากไปฝ่ายรัฐบาลทั้งหมด อีกทั้งยังบีบให้คนที่หาเสียงมาจนได้ ส.ส. 6 คน อย่างมิ่งขวัญ ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค ทิ้งให้ลุงมิ่งนั่งทำหน้าหงอยอยู่กับฝ่ายค้านเพียงคนเดียว ผ่านมาเกือบครบวาระสภาฯ เมื่อรู้ว่าอยู่ต่อไปก็ไม่ได้อะไร มิ่งขวัญจึงลาออกกลางสภาฯ พร้อมกับร้องไห้ระบายความในใจทั้งหมด

5

แต่ความฝันในวัย 71 ปี ยังไม่จบลง มิ่งขวัญพยายามปลุกปั้นตัวเองอีกครั้งภายใต้ชื่อพรรคว่า ‘โอกาสไทย’ เป็นพรรคที่เน้นเศรษฐกิจปากท้องเหมือนเดิม พร้อมกับไปเทกโอเวอร์พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทยของ ดำรงค์ พิเดช มาอีก แต่สุดท้าย พรรคโอกาสไทยก็ไปไม่รอด ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน ต้องใช้เสียง ส.ส. ถึง 2.5 แสนคะแนน ทำให้พรรคโอกาสไทยภายใต้การนำของมิ่งขวัญจบลงด้วยระยะเวลาอันสั้นเพียงไม่ถึง 6 เดือน โดยดำรงค์เปิดเผยว่า มิ่งขวัญมีความพยายามดีลกับนายทุน 2-3 ราย แต่ในที่สุดก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้ต้องหันเหไปทางอื่น

6

เป็นที่รู้กันว่านับตั้งแต่การจากไปของทีม สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พรรคพลังประชารัฐขาดแคลน ‘ทีมเศรษฐกิจ’ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่สุด พลังประชารัฐ ณ วันนี้มีแต่ภาพของบรรดา ส.ส. และภาพของนักการเมืองอาชีพ ฉะนั้น การมาของมิ่งขวัญจึง ‘สมประโยชน์’ กันทั้งคู่ มิ่งขวัญมีที่ยืนในพรรคที่มีโอกาสได้ ส.ส. เกินหลักหน่วย และอาจต่อรองได้ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับต้นๆ ส่วนพรรคพลังประชารัฐก็มีคนพูดเรื่องนโยบายเศรษฐกิจแบบเท่ๆ สามารถเอาไปขายฝันได้ในเวทีดีเบต หากจะมีผิดคิวนิดหน่อยก็ตอนที่ลุงมิ่งไปโพล่งกลางงานแถลงข่าว 2 เรื่อง หนึ่งก็คือการ ‘ไม่เอา’ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสองก็คือการประกาศตัวเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จนเหวอกันทั้งกรรมการบริหารพรรค สุดท้ายทำให้ รงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ต้องออกมาบอกว่ามติดังกล่าวยังไม่ใช่มติของพรรคพลังประชารัฐ เป็นเรื่องทึกทักเอาเองของมิ่งขวัญเท่านั้น

7

แต่นอกจากเรื่องขำขันดังกล่าวแล้ว โจทย์ยากอีกอย่างก็คือคำถามว่า ชื่อชั้นของ ‘มิ่งขวัญ’ ยังขายได้ไหม และจะเอาไปขายกับใคร แต่เดิม พรรคพลังประชารัฐ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ‘พลังดูด’ โจทย์ในปี 2562 ชัดเจนว่าเป็นพรรคทหาร ที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นตัวชูโรง ดูดทุกสารทิศเข้าด้วยกัน ด้วยรัฐธรรมนูญที่แกนนำพรรคอย่าง สมศักดิ์ เทพสุทิน บอกว่า “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” จนทำให้กวาด ‘ป็อปปูลาร์โหวต’ มาได้มากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนั้น ภายหลังจัดการกับพรรคไทยรักษาชาติสำเร็จ และเป็นแกนนำเข็นพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้ด้วยเสียงปริ่มน้ำ แต่โจทย์ ณ วันนี้แตกต่างออกไป พรรคพลังประชารัฐไม่มีจุดขายใดๆ จนต้องนำมิ่งขวัญมาเป็นจุดขาย ซึ่งแน่นอนว่าการเริ่มต้นด้วยการตำหนิพลเอกประยุทธ์ และประวัติศาสตร์ว่าด้วยการบริภาษพลเอกประยุทธ์มาตลอดการประชุมสภาฯ ทุกครั้ง ล้วนทำให้มิ่งขวัญกลายเป็น ‘เฒ่าสารพัดพิษ’ ในสายตาคนพลังประชารัฐและฝ่ายสนับสนุนพลเอกประยุทธ์

8

ในทางกลับกัน จะให้ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านเดิมหันไปเลือกพรรคพลังประชารัฐก็เป็นเรื่องยาก ต้องยอมรับว่าแม้พลเอกประวิตรจะสลัดภาพจากพลเอกประยุทธ์อย่างไร จะแยกพรรคกันอย่างไร แต่ก็เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของระบอบ 3 ป. และเป็นเสาหลักสำคัญของระบอบนี้ หากไม่มีจุดเด่น ไม่มีไม้ตายใดๆ ก็เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไม่ได้เลยที่โหวตเตอร์ผู้เคยเลือกมิ่งขวัญเมื่อปี 2562 จะกลับมาเลือกมิ่งขวัญผู้สวมเสื้อพรรคพลังประชารัฐอีกครั้งในปี 2566

9

ทั้งหมดนี้เป็นสมมติฐานภายใต้เหตุการณ์ว่า ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ‘ลุงมิ่ง’ จะยังคงอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ พร้อมทำนโยบายเศรษฐกิจเสร็จสรรพ สามารถฟาดฟันกับบรรดา ส.ส. เขี้ยวลากดินในพรรคได้สำเร็จ สามารถเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ได้

ภาพของมิ่งขวัญที่เกิดขึ้นตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สะท้อนความ ‘มั่ว’ ความไม่เป็นระบบของการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งเรื่องการต้องแสวงหาที่ยืน รัฐธรรมนูญที่ผิดปกติ ที่ทำให้พรรคการเมืองเปลี่ยนข้างไป-มาได้ง่าย และรูปแบบการเมืองไทย ที่ไม่ว่าอย่างไร ก็ต้องมี ‘รายใหญ่’ ต้องมี ‘แบ็ก’ อยู่เบื้องหลัง และหากเลือกอยู่ได้ถูกฝั่งก็จะมีอำนาจและประโยชน์โพดผลตามมา

แต่หากเลือกผิดฝั่งเมื่อไร หากคนนั้นๆ ยังมีคุณลักษณะที่เป็นประโยชน์ เมื่อมี ‘ดีล’ ที่ดีกว่าอย่างไร ก็อาจมี ‘ข้อมูลใหม่’ ให้ตัดสินใจเปลี่ยนได้เสมอ

Tags: , , , , ,