เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกร่างกฎหมายการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงและเข้มงวดมากขึ้นในการดูแลสัตว์เลี้ยง โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มกราคม 2569

ร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้มีการเพิ่มเติมในส่วนของการควบคุมจำนวนสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ การฝังไมโครชิป และจดทะเบียนสุนัขและแมวเพิ่มเข้ามา

The Momentum จึงสรุปข้อนโยบายและดูถึงโครงการของ กทม.ที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงและแผนดำเนินงานในอนาคต เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือกฎหมายที่จะถูกบังคับใช้จริงในปี 2569

กฎหมายการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 

ก่อนหน้าที่ กทม.ใช้ข้อบัญญัติฉบับ พ.ศ. 2548 ในการควบคุมสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ กทม.โดยข้อบัญญัติเดิมระบุไว้ว่า ห้ามเลี้ยงสุนัขในที่สาธารณะหรือที่ของบุคคลอื่น โดยไม่ได้รับความยินยอม ควบคุมดูแลสุนัข ไม่ให้ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ แต่ในข้อบัญญัติใหม่ปี 2567 มีการเพิ่มกฎเกณฑ์ในการเลี้ยงเข้ามาดังต่อไปนี้

1. การควบคุมการเลี้ยงสุนัขและแมว โดยกำหนดพื้นที่และจำนวนในการเลี้ยง

2. การนำสุนัขหรือแมวออกนอกสถานที่เลี้ยง จำเป็นต้องมีใบจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงและใส่สายจูง กรง กระเป๋า หรืออุปกรณ์อื่นๆ ตามความเหมาะสม

3. การจดทะเบียนสุนัขและแมวที่ประชาชนที่กำลังเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบัน ต้องพาสัตว์เลี้ยง สุนัขและแมวไปฝังไมโครชิปและจดทะเบียนกับทาง กทม.

โดยหากฝ่าฝืนจะมีโทษตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 คือปรับไม่เกิน 2.5 หมื่นบาท

กฎใหม่คนรักสัตว์ เลี้ยงหมา-แมวต้องมีพื้นที่พอ

ในข้อแรก การควบคุมการเลี้ยงสุนัขและแมว โดยกำหนดพื้นที่และจำนวนในการเลี้ยง มีการระบุเอาไว้ว่า 

ประชาชนที่เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ห้องเช่าหรืออาคารชุด

– เกิน 20 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 80 ตารางเมตร (ห้องสตูดิโอเล็ก-ทาวน์เฮาส์ขนาดเล็ก) สามารถเลี้ยงได้ 1 ตัว

– ตั้งแต่ 80 ตารางเมตรขึ้นไป (ทาวน์โฮมหรือบ้านเดี่ยว) สามารถเลี้ยงรวมกันได้ไม่เกิน 2 ตัว

ประชาชนที่เลี้ยงสัตว์ในที่ดินส่วนตัวหรือบ้านเดี่ยว

– ไม่เกิน 20 ตารางวา (อาคารขนาดเล็กหรือเทียบเท่าคอนโดฯ 3 ห้องนอน) สามารถเลี้ยงรวมกันได้ไม่เกิน 2 ตัว

– ตั้งแต่ 20 ตารางวา แต่ไม่เกิน 50 ตารางวา (ทาวน์โฮมขนาดเล็ก-บ้านเดี่ยวขนาดกลาง) สามารถเลี้ยงรวมกันได้ไม่เกิน 3 ตัว

– ตั้งแต่ 50 ตารางวา แต่ไม่เกิน 100 ตารางวา (บ้านเดี่ยวแบบมีพื้นที่สนามกว้าง) สามารถเลี้ยงรวมกันได้ ไม่เกิน 4 ตัว

– ตั้งแต่ 100 ตารางวา (บ้านเดี่ยวขนาดใหญ่) สามารถเลี้ยงรวมกันได้ไม่เกิน 6 ตัว

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ที่มีจำนวนสุนัขและแมวเกินกำหนดก่อนการบังคับใช้ร่างกฎหมาย ยังคงสามารถเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในจำนวนเท่าเดิมต่อไปได้ เพียงนำสัตว์เลี้ยงทั้งหมดไปฝังไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัขและแมวกับทาง กทม.ภายในช่วงเวลาที่กำหนด ก่อนวันที่ 9 เมษายน 2569 ซึ่งจะครบกำหนดแจ้งเลี้ยงเกินจำนวนในสำนักงานเขต กทม. (หลังวันที่บังคับใช้กฎหมาย 90 วัน)

ฝังไมโครชิปให้สัตว์เลี้ยงดีอย่างไร ทำไมถึงจำเป็น

การฝังไมโครชิป คือชิปเล็กๆ ที่ฝังเอาไว้กับสัตว์เลี้ยงที่มีอายุ 3 เดือนขึ้นไป โดยใช้การฉีดฝังบริเวณใต้ผิวหนัง ไม่ต้องใช้ยาสลบ โดยข้อมูลจะปรากฏขึ้นเมื่อถูกอุปกรณ์สแกนไมโครชิปสแกนไปยังผิวหนัง เป็นตัวเลข 15 หลักที่จะอยู่ในฐานข้อมูลของทะเบียนสุนัขและแมวใน กทม. เปรียบเสมือนบัตรประชาชนที่ติดอยู่กับสัตว์เลี้ยงของเราไปตลอดชีวิต ซึ่งข้อมูลภายในไมโครชิปจะใช้เพื่อการระบุตัวตนสัตว์เลี้ยง เช่น เจ้าของสัตว์เลี้ยง หรือเบอร์ติดต่อเจ้าของสัตว์เลี้ยงในกรณีเกิดเหตุใดๆ กับสัตว์เลี้ยง

ข้อดีของการฝังไมโครชิปคือ จะช่วยยืนยันความเป็นเจ้าของกับสัตว์เลี้ยงตัวนั้นๆ และเพิ่มโอกาสในการหาสัตว์เลี้ยงที่สูญหาย หรือป้องกันการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง ทั้งนี้ยังเป็นตัวช่วยสำคัญของหน่วยงานรัฐที่จะมีข้อมูลสถิติของสัตว์จรจัดและสัตว์ที่มีเจ้าของแม่นยำมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การวางแผนทำหมันและฉีดวัคซีนต่อไป 

ทั้งนี้ กทม.มีคลินิกที่เปิดให้บริการให้ประชาชนสามารถพาสัตว์เลี้ยงเข้ามาฝังไมโครชิปและจดทะเบียนได้ฟรีทั้งหมด 8 แห่งดังต่อไปนี้

1. กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง โทร. 0 2248 7417

2. คลินิกสัตวแพทย์ กทม.1 สี่พระยา เขตบางรัก โทร. 0 2236 4055 ต่อ 213

3. คลินิกสัตวแพทย์ กทม.2 มีนบุรี เขตมีนบุรี โทร. 0 2914 5822 

4. คลินิกสัตวแพทย์ กทม.3 วัดธาตุทอง เขตวัฒนา โทร. 0 2391 6082 

5. คลินิกสัตวแพทย์ กทม.4 บางเขน เขตจตุจักร โทร. 0 2579 1342 

6. คลินิกสัตวแพทย์ กทม.5 วัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ โทร. 0 2472 5895 ต่อ 109 

7. คลินิกสัตวแพทย์ กทม.6 ช่วง นุชเนตร เขตจอมทอง โทร. 0 2476 6493 ต่อ 1104 

8. คลินิกสัตวแพทย์ กทม.7 เขตบางกอกน้อย โทร. 0 2411 2432

พร้อมทั้งยังมีบริการหน่วยบริการทางสัตวแพทย์ ติดตามข่าวสารได้ทาง Facebook กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า, สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร

โดยเจ้าของสัตว์เลี้ยงจะต้องเตรียมเอกสารเพื่อจดทะเบียนสุนัขและแมว ดังต่อไปนี้

1. บัตรประชาชนของเจ้าของ

2. ทะเบียนบ้านที่สัตว์อาศัยอยู่ พร้อมแนบเอกสารอันได้แก่

ทะเบียนบ้าน ที่สัตว์เลี้ยงจะอาศัยอยู่

– หนังสือยินยอมจากผู้ให้เช่า ในกรณีเป็นผู้เช่า

– หนังสือรับรองการผ่าตัดทำหมันจากสัตวแพทย์ (ถ้ามี)

– หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

หรือสามารถไปฝังไมโครชิปกับคลินิกเอกชนที่สะดวกได้เช่นกัน แต่จะต้องอยู่ในรูปแบบไมโครชิปที่ กทม.รองรับซึ่งจะประกอบด้วยเลข 15 หลักและ ICAR รับรอง

ทำไมต้องจำกัดการเลี้ยงและลงทะเบียนสุนัขและแมว

น.สพ.ศิษฏพล เอี่ยมวิสูตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข กทม.​ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม.วางแผนในการออกนโยบายสัตว์เลี้ยงแบบต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้นน้ำคือ การออกข้อบังคับกฎหมายสร้างจิตสำนึกในการเลี้ยงสัตว์ ส่วนกลางน้ำคือ โครงการที่ดำเนินไปแล้วอย่างการเร่งผ่าตัดทำหมัน โดยมีโครงการทำหมันที่ทำมา 20 ปีแล้ว 

“สังเกตได้ว่า จะมีเครือข่ายภาคเอกชนที่ร่วมกันทำมาโดยตลอด ทำให้สุนัขจรจัดลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และการจดทะเบียนสุนัขโดยกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลทางสถิติที่ระบุว่า ปัจจุบันมีสุนัขในเขต กทม.จดทะเบียนสุนัข 99,426 ตัว และคลินิกเอกชนจดทะเบียนกับ กทม. 12,007 ตัว รวมเป็น 111,433 ตัว” พร้อมแก้ปัญหาร้องเรียนในชุมชนเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงจรจัด

และท้ายสุดคือ ปลายน้ำในเรื่องการดูแลศูนย์พักพิงสัตว์ พิษสุนัขบ้า คัดกรองพฤติกรรม หาบ้านใหม่ การออกร่างกฎหมายฉบับ พ.ศ. 2567 ขึ้นมา เพื่อสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยแก่บ้านเมืองและสร้างความรับผิดชอบในการเลี้ยงสัตว์ รวมถึงอาจเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดในกรุงเทพฯ

Tags: , , , , , , , , , , ,