เหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 สัปดาห์ สังคมจะได้รู้คำวินิจฉัย ‘คดียุบพรรคก้าวไกล’ ที่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครอง และเข้าข่ายลักษณะการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากการเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่

The Momentum รวบรวมคำร้องและข้อโต้แย้งทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจาก กกต.ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเองก็ดี หรือจากฝั่งพรรคก้าวไกลเองก็ดี เพื่อสรุปสาระสำคัญของคดีทั้งหมด

หากพิจารณาในฝั่งของ กกต.ในฐานะผู้ยื่นคำร้อง มีการระบุข้อกล่าวหาตามเอกสารไว้ว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) กระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการกระทำอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยเรื่องพรรคการเมือง มาตรา 92 (1) และ (2)

สำหรับหลักฐานที่ทาง กกต.ยื่นประกอบ คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่พิจารณาว่า การกระทำของพรรคก้าวไกลเข้าข่ายล้มล้างการปกครองและ ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมทั้งมีคำสั่งให้พรรคเลิกการกระทำ แสดงความคิดเห็น หรือการเขียน เพื่อให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112

ขณะที่พรรคก้าวไกลยื่นเอกสารแสดงข้อเท็จจริงเพื่อต่อสู้ว่า กระบวนการยื่นยุบพรรคของ กกต.ไม่ได้เป็นไปตามระเบียบที่ กกต.เป็นผู้ร่างด้วยตนเอง เพราะในเอกสารว่าด้วยเรื่อง ‘การสิ้นสุดของพรรคการเมืองและการเปรียบเทียบปรับ’ ที่ กกต.ใช้อบรมพรรคการเมือง มีการระบุชัดเจนว่า ต้องให้พรรคการเมืองที่ถูกร้องมีสิทธิในการรับทราบข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และแสดงหลักฐานเสียก่อน แต่อย่างไรก็ตาม พรรคไม่เคยมีโอกาสได้รับทราบข้อเท็จจริงของคดี ในมุมมองของพรรคก้าวไกลจึงมองว่า เป็นการยื่นยุบพรรคที่ ‘ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนั้นพรรคก้าวไกลก็มองว่า ตามระบบของร่างกฎหมายของประเทศ ยังมีแนวทางที่สามารถยับยั้งการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการพิจารณาของรัฐสภา

รวมถึงยังเปิดไม้ตายด้วยการให้ สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.เป็นพยานสู้คดี พร้อมกับบอกว่า การเข้าชื่อแก้ไขกฎหายของ ส.ส.เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติ เพื่อขอแก้ไขกฎหมาย ซึ่งเป็นแนวทางตามรัฐธรรมนูญ 

ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 ก็เพื่อแก้ปัญหาในบ้านเมืองและ กกต.ก็เคยยกคำร้องกรณีที่มีผู้ยื่นว่า พรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขมาตรา 112 เป็นการหาเสียงพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์

นอกจากนี้ ไม่ว่าการรณรงค์และการปรากฏตัวในที่ชุมนุมของ ส.ส. ก็ไม่ได้เป็นการกระทำในนามพรรค เป็นการใช้เสรีภาพส่วนบุคคล ซึ่งไม่ได้ขัดแย้งต่อกฎหมาย ขณะที่การเป็นผู้ถูกกล่าวหาในกรณีมาตรา 112 ก็เป็นเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่พรรคการเมืองรับผิดชอบ

ในความเห็นของสุรพล การใช้ข้อหา ‘ล้มล้างการปกครอง’ เพื่อยุบพรรคการเมือง ควรเป็นเรื่องที่แสดงออกชัดเจนว่า พรรคการเมืองนั้นๆ ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยความรุนแรง และต้องมีเหตุผลอย่างหนักแน่นว่า ไม่มีทางอื่นนอกจากยุบพรรค แต่การกระทำของพรรคก้าวไกลถือเป็นการใช้อำนาจ หน้าที่ สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเป็นวิสัยปกติ อยู่ตามวิถีรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะมีการให้เหตุผลว่า กระบวนการยื่นยุบพรรคไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทิศทางการเคลื่อนไหวของพรรคได้จัดทัพ เพื่อรองรับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ทั้งการปล่อยคลิปวิดีโอผ่านช่องทางสื่อสารของพรรคเองก็ดี หรือการแถลงปิดคดีของ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในวันพรุ่งนี้ (2 สิงหาคม 2567) พร้อมทั้งเปิดตัว ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ต่อประเด็นการยุบพรรคการเมือง ณ ที่ทำการพรรค รวมถึงเชิญชวนประชาชนร่วมติดตามผลพร้อมกันที่พรรคในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ล้วนเป็นการเคลื่อนไหวใน ‘โหมดต่อสู้’ 

ทั้งนี้คดีดังกล่าวจะมีจุดสิ้นสุดอย่างไร สังคมจะรับรู้โดยพร้อมเพรียงกันในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้อย่างแน่นอน

Tags: , , , , , , ,