วันที่ 4 พฤษภาคมของทุกปี ได้รับการเรียกขานว่าเป็นวัน Star Wars Day ด้วยความที่ ‘May the 4th’ นั้น พ้องเสียงกับประโยคที่ว่า ‘May the Force be with you’ ที่แปลเป็นไทยสวยๆ ว่า ‘ขอพลังจงสถิตอยู่กับเจ้า’ เริ่มต้นตั้งแต่ Star Wars ภาคแรก A New Hope ตั้งแต่ปี 1977

ในจักรวาล Star Wars นั้น May the Force be with You เป็นคำที่บรรดาอัศวินเจไดทั้งหลายมักใช้ปลุกใจและให้กำลังใจกัน อาจเป็นได้ทั้งโอบีวัน เคโนบี ให้กำลังใจ ลุค สกายวอล์กเกอร์ อาจเป็นได้ทั้งอาจารย์โยดาปลอบประโลมลุค และอาจเป็นได้ทั้งการพูดปลุกใจก่อนทำศึกสงคราม

เพราะ Force นั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นชีวิตจิตใจของบรรดาอัศวิน เป็นดั่งคำสอนเตือนสติในทุกการกระทำ และในเวลาเดียวกัน หากใช้ Force ในทางที่ผิด ก็อาจหมายถึงการเข้าสู่ ‘ด้านมืด’ มิอาจหันหลังกลับได้

เนื่องในวัน Star Wars Day The Momentum ชวนไปสำรวจ Force ของบรรดาแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีว่าพวกเขามีพลังอะไรกันบ้าง และ Force นั้น สุดท้ายจะนำพาเขาเป็นนายกรัฐมนตรีในด้านสว่างหรือด้านมืด

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์: Attacker

สายชน กล้าลุย พร้อมปะทะทุกปัญหา

เหล่านี้คือลายเซ็นที่ชัดเจนของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ที่โชว์จุดยืนไม่อนุโลมให้กับทุกปัญหา เป็นบุคลิก ‘พร้อมชน’ ไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนจุดยืนไม่เอาบรรดานายทหารผู้ร่วมกับการรัฐประหาร ประกาศยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ประกาศพร้อมแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพร้อม ‘รื้อ’ ทุกระบบ ทุกโครงสร้าง ทั้งทหาร ชนชั้นนำ หรือทุนผูกขาด จนก้าวไกลถูกมองในฐานะ ‘ตัวอันตราย’ ในระบบนิเวศการเมืองไทย และพิธานั้น ‘แข็ง’ เกินไป หากจะเข้ามาเปลี่ยนแปลง

แต่จนถึงวันนี้ ความแข็งและการพร้อมชนนั้น กลับกลายเป็นจุดเด่นที่สวิงกลับมาเป็นคะแนนนิยมให้กับพรรคก้าวไกล การที่มีจุดยืนชัด การพร้อมชน ส่งให้เขามีคะแนนนิยมโดดเด่นในทุกการหยั่งเสียง

ประเด็นสำคัญที่ยังต้องรอการพิสูจน์ก็คือ ความ ‘แข็ง’ เกินไปจะทำให้เขาเข้ากับระบบการเมืองไทยที่เต็มไปด้วยการ ‘ดีล’ และ ‘ต่อรอง’ ยากเกินไปหรือไม่ และความแข็งนั้น จะทำให้แม้แต่พรรคเพื่อไทย พรรคพันธมิตรร่วมรบ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็น ‘แกนนำ’ จัดตั้งรัฐบาล ต้องปฏิเสธไม่เอาพรรคก้าวไกลหรือไม่ หรือในท้ายที่สุด พรรคก้าวไกลจะต้องเจอกับบทเรียนเดิมแบบที่พรรคอนาคตใหม่ และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคเคยเจอ คือพวกเขา ‘อันตราย’ เกินไป สำหรับการเมืองแบบไทยๆ

ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป…

แพทองธาร ชินวัตร: Shinawatra

ไม่มีคำจำกัดความใดที่จะอธิบาย อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร ได้มากไปกว่า ‘นามสกุล’ ที่ห้อยท้าย และแม้พรรคเพื่อไทยจะขับเน้นภาพของ เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนต่อไปมากเท่าไร แต่ก็มิอาจทำให้ความนิยมของแพทองธารลดน้อยถอยลงได้เลย

จุดเด่นของความเป็น ‘ชินวัตร’ เด่นทั้งในแง่การคุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยให้อยู่มือ ไม่ต้องถาม ไม่ต้องสงสัย ว่าใกล้ชิดกับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ มากหรือไม่ ขณะเดียวกัน ก็อาจเป็นจุดอ่อนได้เช่นกัน เพราะคนที่ไม่ชอบก็จะประเมินได้ว่าพรรคเพื่อไทยเป็น ‘ธุรกิจครอบครัว’ และบรรดาชนชั้นนำ กลุ่มอำนาจนิยมก็อาจพร้อมรุมสกรัมทันที หากนายกรัฐมนตรีคนต่อไปใช้นามสกุลนี้ เพราะนั่นหมายความว่าการรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา ในปี 2549 ที่กำจัด ‘พ่อ’ ของอิ๊งค์ และรัฐประหารปี 2557 ที่กำจัด ‘อา’ ของอิ๊งค์ เป็นเรื่องเสียของ…

สัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง แน่นอนว่าคุณแม่ลูกอ่อนอาจต้องตระเวนเวทีปราศรัยออกแรงอีกครั้ง เพราะทั้งชื่อและนามสกุลของแพทองธาร เป็นสิ่งที่ ‘ขายได้’ มากที่สุด และการที่ต้องแบกพรรคไว้ทั้ง ‘กระแส’ และ ‘กระสุน’ ก็ทำให้แพทองธารต้องเผชิญแรงกดดันอย่างหนักว่าจะทำให้พรรคเพื่อไทยไปถึงฝั่งฝันได้หรือไม่ในที่สุด

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา: Privilege

เป็นที่รู้กันว่าการที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้นานเกือบ 9 ปีนั้น มิใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเพราะพลเอกประยุทธ์เป็น ‘ผู้ที่ถูกเลือก’

พลเอกประยุทธ์ถูกเลือกก็ด้วยความเป็นทหารเสือราชินี ด้วยความจงรักภักดีที่ไม่มีใครกังขา ด้วยความเด็ดขาด พร้อมปะฉะดะกับบรรดานักการเมือง และแม้จะไม่ได้มีความเฉลียวฉลาด ไม่ได้มีความสามารถเอกอุ แต่ก็ ‘ประคองตัว’ ได้ ทั้งจากความช่วยเหลือของพลเอกประวิตรที่กุมอำนาจกับบรรดานักการเมือง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งดูแลกลไกมหาดไทย รวมถึงยังมีกลุ่มทุนผูกขาดอีกจำนวนไม่น้อยที่เลือกพลเอกประยุทธ์เพราะสมประโยชน์กันในเชิงนโยบาย จนทำให้หลายปีที่ผ่านมา ‘นายทุน’ ทั้งหลายอยู่กันด้วยความราบรื่น สามารถสะสมทุนทรัพย์ ผูกขาดทรัพยากรโดยที่ ‘อำนาจรัฐ’ หลับตาข้างหนึ่ง ปล่อยให้เป็นไปโดยไม่ได้ขัดขวาง เป็นการ ‘เลือกสงบ จบที่ลุงตู่’ ของจริง

แต่เมื่อพลเอกประยุทธ์ตัดสินใจแยกทางกับพลเอกประวิตร ก็ไม่มีใครแน่ใจว่า ณ ปี 2566 เขายังคงเป็น ‘ผู้ที่ถูกเลือก’ อยู่หรือไม่ เพราะไม่ว่าโพลกี่โพล พลเอกประยุทธ์ก็ไม่ติดแม้อันดับ 1 หรืออันดับ 2 ของนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนต้องการ คงเหลือแต่เพียง ‘ภาคใต้’ ที่ชื่อของพลเอกประยุทธ์ยังคงแข็งแรงเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ บรรดานักการเมืองจึงค่อยๆ ห่างออกไป เช่นเดียวกับบรรดากลุ่มทุนที่ก็ ‘ไม่แน่ใจ’ ว่าจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ต่อไปดีหรือไม่

กระนั้นเอง พลเอกประยุทธ์ยังคงมีรากที่ฝังลึกในระบอบการปกครอง 9 ปี ยังมีเครือข่ายที่ฝังรากแน่นในวุฒิสภา ในบรรดากลไกราชการ และในรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยังมีเงื่อนตายอีกมากที่ยังสามารถพาพลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ รอบที่ 3 ได้ แม้จะไม่ได้รับการเลือกเป็น ‘เสียงส่วนใหญ่’

ต้องติดตามให้ดีว่าในการเลือกตั้งรอบนี้ พลเอกประยุทธ์ผู้อุดมไปด้วย Privilege และเคยมี ‘แบ็กดี’ จะเลือกเล่นเกมนี้หรือไม่

อนุทิน ชาญวีรกูล: Money

หากเปรียบเป็นสโมสรฟุตบอล พรรคภูมิใจไทยของ อนุทิน ชาญวีรกูล ดูจะเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในเกมการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะด้วยการคว้าตัว ส.ส. จากพรรคอื่นได้เป็นจำนวนมาก ทั้งดีลใหญ่อย่าง พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, วีระกร คำประกอบ และกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ที่ย้ายมาจากพรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึงเหล่าบ้านใหญ่ในต่างจังหวัด ทั้งตระกูลโพธิพิพิธ จังหวัดกาญจนบุรี ตระกูลไตรสรณกุล จังหวัดศรีสะเกษ และตระกูลวันไชยธนวงศ์จังหวัดเชียงราย ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวมบรรดา ส.ส.เขตของพรรคอนาคตใหม่ที่อนุทินทยอยเก็บแต้มตลอดสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

ว่ากันว่าอำนาจ ‘เงิน’ นั้นหอมหวลเสมอ เสียงลือเสียงเล่าอ้างก็คือพรรคภูมิใจไทยนั้นเป็นพรรคที่มีเงินถุงเงินถัง มีทุนทรัพย์ไม่น้อยในการทำงานการเมือง และนั่นทำให้มีเสียงลือว่าการที่ ส.ส. เกรดเอ ย้ายข้ามมายังภูมิใจไทยนั้นเป็นด้วยอำนาจเงิน

“ถ้าซื้อ ส.ส. ได้ทุกอย่าง ภูมิใจไทยมีพลังซื้อเยอะ ทำไมไม่ส่งมาสัก 251 คนเลย หมดเรื่องหมดราว ในเมื่อซื้อ ส.ส. เท่าไรก็ได้ มีพลังไม่มีขีดจำกัด ทำไมผมได้แค่เกินสามหลักต้นๆ ขึ้นต้นด้วย 1 เอง ทำไมไม่ขึ้นต้นด้วยเลข 2 เพราะนั่นเป็นการคาดเดา เป็นการมโน พูดไปเรื่อย เพราะไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เราซื้อโดยผลงานครับ” คือคำตอบของอนุทินที่บอกกับ The Momentum

กระนั้นเอง ในทางการเมือง หลายพรรคก็ยังคิดว่ารอบนี้ พรรคภูมิใจไทยน่าจะเป็นพรรคที่ลงทุนลงแรงสูงที่สุดในการเลือกตั้ง และผลการเลือกตั้งอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะเป็นการพิสูจน์ว่า ‘เงิน’ ยังมีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจของประชาชนอยู่หรือไม่

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ: Connection

ถึงตรงนี้ ไม่มีใครปฏิเสธว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อุดมไปด้วย ‘เส้นสาย’ และ ‘คนรู้จัก’ อย่างแท้จริง ตลอด 9 ปีของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ‘ลุงป้อม’ คือคนต่อสาย ทหาร-ตำรวจ-ข้าราชการ ให้ช่วยแก้ปัญหา ปัดกวาดทั้ง หน้าบ้านและหลังบ้าน ขณะเดียวกัน เมื่อพลเอกประยุทธ์ต้องเข้าสู่โหมดการเมือง ต้องมีพรรคการเมืองสนับสนุน ก็เป็นพลเอกประวิตรอีกที่เข้ามากุมบังเหียน เป็นหัวหน้าพรรคนำ ส.ส. หลายกลุ่ม หลายมุ้ง มาอยู่ใต้ร่มชายคาเดียวกันภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งแม้จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นต่างกรรม ต่างวาระ แต่สุดท้ายก็อยู่มานาน อุ้มพลเอกประยุทธ์ได้มากกว่า 9 ปี

แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เมื่อพลเอกประวิตร มีวันต้องแยกจากพลเอกประยุทธ์ ด้วย ‘คอนเนกชัน’ กับนักการเมืองที่ซับซ้อนมากขึ้น ด้วยคอนเนกชันที่หนีบ พลังทุน-กลุ่มการเมืองบ้านใหญ่ ไว้ข้างกาย ทำให้วันนี้พลเอกประวิตรต้องไปสร้างดาวดวงใหม่ของตัวเอง เป็น ‘ลุงป้อม’ ที่พร้อมเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นเบอร์ 1 ของพรรคพลังประชารัฐผู้ก้าวข้าม ‘ความขัดแย้ง’ ด้วยตัวเอง เป็นนักการเมือง ‘สายกลาง’ และผลักให้พลเอกประยุทธ์ไปอยู่ขั้ว ‘ขวา’ สุดขอบแทน

ทว่า จุดแข็งเรื่องของการมากคอนเนกชันนั้น ในอีกแง่หนึ่งก็อาจเป็นจุดอ่อน ความที่พรรคพลังประชารัฐไม่ได้มีจุดยืนชัดเจน และยังมีช่องทาง ‘ต่อสาย’ ไปถึงตระกูลชินวัตร ในช่วงแรก ทำให้สูญเสียคะแนนจากฐานเสียงพลังประชารัฐเดิมไปไม่น้อย จนในโค้งท้าย พลังประชารัฐและพลเอกประวิตรต้องกลับมาเล่นเกมของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการขายนโยบายเศรษฐกิจ (ที่มีหลายข้อชวนให้กังขา) ไปจนถึงการประกาศตนเป็นหนึ่งในฝ่าย ‘อนุรักษนิยม’ แต่ทั้งหมดก็ดูเหมือนจะสายเกินไปแล้ว…

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์: Simple

หากพูดถึงพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การกุมบังเหียนของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ก็ดูเหมือนว่าช่างจืดจางเสียเหลือเกิน

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะช่วงที่ผ่านมาประชาธิปัตย์กำลังเสียเลือดเป็นอย่างมาก กับการเปลี่ยนถ่ายผู้สมัครและอุดมการณ์ของพรรค นับตั้งแต่การลาออกของกลุ่ม New Dem 21 ที่นำโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ ซึ่งไปอยู่กับพรรคก้าวไกลในเวลาต่อมา หรือกระทั่ง กรณ์ จาติกวณิช เองที่ลาออกไปตั้งพรรคกล้า ก่อนที่จะกลายเป็นชาติพัฒนากล้า ไม่นับรวมบรรดา ส.ส. หน้าเก่าที่ไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติอีกจำนวนไม่น้อย

ขณะเดียวกัน โยบายในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ยังคงไม่เซ็กซี่ เล่นใหญ่ และเตะตาเท่ากับพรรคการเมืองอื่นๆ เพราะประชาธิปัตย์ขอสู้ศึกเลือกตั้งด้วยวิธีคิด วิธีทำ แบบเดิมๆ ผ่านคอนเซปต์ ‘ประชาธิปัตย์ อุดมการณ์ทันสมัย ทำได้ไว ทำได้จริง’ ด้วยการนำของเก่ามาปรับปรุงใหม่ ทำให้ดูตื่นตา ตื่นใจมากกว่าเดิม เช่น นโยบายเรียนฟรีถึงปริญญาตรี ฟรีนมโรงเรียน 365 วัน และการตั้งกองทุน SME 3 แสนล้านบาท

แม้หลายอย่างก็เป็นนโยบายดั้งเดิมที่มีการนำเสนอและใช้มาอยู่ตลอด แต่ จุรินทร์ และประชาธิปัตย์ ก็ขอเลือกวิธีนี้ วิธีการที่ปลอดภัย เพลย์เซฟ ไม่พาประชาชนไปตายเอาดาบหน้าตามความคิดของเขา

ทั้งหมดจึงทำให้พรรคประชาธิปัตย์ดูเรียบง่าย จืดชืด และแทบไม่ได้อยู่ในสายตาของใครเลยในการเลือกตั้งรอบนี้…

Tags: , , , , , , ,