บ่อยครั้งที่ความคิดสร้างสรรค์เริ่มต้นขึ้นจากบทสนทนา แต่ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เจอครีเอทีฟสเปซที่เอื้อต่อการเริ่มต้นบทสนทนา โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน

ถ้าคุณกำลังตามหาพื้นที่แบบนี้ The Momentum ขอชวนไปสำรวจสามพื้นที่ที่เรียกได้ว่าเป็นครีเอทีฟสเปซในกรุงเทพฯ ที่มีความแตกต่างกันทั้งด้านคาแรกเตอร์และบรรยากาศ แต่ในความต่างนั้นมีจุดร่วมเหมือนกันตรงที่ทุกสเปซสนับสนุนให้เกิดบทสนทนา ซึ่งนำไปสู่การใช้ความคิดและไอเดียสร้างสรรค์ในแบบของแต่ละคน

Alliance Française Bangkok

ภาพเขียนขนาดใหญ่ถ่ายทอดความคิดที่เชื่อมโยงกับสัตว์ในตำนานจากฝีมือของศิลปินเกาหลี Sun Yong Min ที่จัดแสดงอยู่ภายใน Alliance Française Bangkok บนถนนวิทยุ คือสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกว่า แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ แต่พื้นที่แห่งนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะวัฒนธรรมฝรั่งเศสหรือศิลปินฝรั่งเศสเท่านั้น

“สามสิ่งที่เป็นหน้าที่หลักของ Alliance Française ที่มีมากกว่า 800 แห่งทั่วโลก ก็คือ การโปรโมตภาษาฝรั่งเศส การโปรโมตวัฒนธรรมฝรั่งเศส และการสนับสนุนความหลากหลายทางวัฒนธรรม เราต้องการให้เกิดการพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันระหว่างวัฒนธรรมและความแตกต่าง มากกว่าจะเน้นที่เรื่องที่เกี่ยวกับฝรั่งเศสเพียงอย่างเดียว” ปาสกาล ฟาบร์ ผู้อำนวยการสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ อธิบายถึงจุดประสงค์ของพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งทำให้เข้าใจเหตุผลว่า ทำไมกิจกรรมที่จัดขึ้นที่นี่จึงมีสัดส่วนของกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาษาหรือวัฒนธรรมฝรั่งเศสมากกว่าครึ่ง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ทางสมาคมจัดขึ้นเองหรือกิจกรรมที่เปิดให้คนนอกเข้ามาใช้สถานที่

และคนนอกในที่นี้ หลายครั้งยังหมายถึงสถานทูตอื่นๆ ที่มาใช้สถานที่จัดงานเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศตัวเอง ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ยืนยันหน้าที่ของสมาคมฝรั่งเศสในการสร้างสเปซที่เป็นสื่อกลางในการสนับสนุนความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ภายในอาคาร 6 ชั้นซึ่งเป็นบ้านใหม่ที่เพิ่งเปิดทำการได้ไม่ถึงปีของสมาคมฝรั่งเศสแห่งนี้ ผ่านการออกแบบที่คำนึงถึงความหลากหลายอีกอย่าง นอกเหนือไปจากเรื่องวัฒนธรรม นั่นคือความหลากหลายด้านอายุของผู้ที่มาใช้บริการ

หากแวะเวียนมาที่นี่ในวันธรรมดา อาจเห็นนักศึกษาและคนวัยทำงานเป็นหลักเข้ามาใช้บริการ แต่หากเป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์แล้ว หลายห้องของที่นี่คือพื้นที่สำหรับเด็กๆ ตั้งแต่วัยเตาะแตะไปจนถึงวัยรุ่น บรรยากาศบางห้องจึงให้อารมณ์ไม่ต่างจากเนิร์สเซอร์รีและห้องเรียนในโรงเรียนอนุบาลที่มีโต๊ะ-เก้าอี้ขนาดเล็ก และสื่อในการเรียนรู้ที่เหมาะกับวัยจัดวางอยู่ตามมุมต่างๆ

กิจกรรมจำนวนมากถูกคิดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่เหล่านี้ นิทานและเพลงถูกนำมาใช้เป็นสื่อในการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กเล็ก เวิร์กช็อปงานศิลปะสนุกๆ สำหรับเด็กๆ วัยประถมที่เพลิดเพลินไปกับใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไปจนถึงเวิร์กช็อปที่ชวนเด็กๆ มานั่งคุยกันในเรื่องเชิงปรัชญา ซึ่งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของเด็กๆ ในเรื่องเชิงนามธรรมนั้นเป็นที่มาของบทสนทนาที่น่าสนใจเสมอ

เมื่อคำว่า วัฒนธรรม นั้นสามารถบอกเล่าได้หลายรูปแบบ พื้นที่ของ Alliance Française เองก็สะท้อนความแตกต่างของรูปแบบการแสดงออก ที่นี่จึงมีทั้งห้องฉายหนังที่สามารถทำหน้าที่เป็นหอประชุมได้ ห้องเรียนภาษา ห้องสมุดที่มีเกมเพลย์สเตชันตั้งอยู่ในมุมสำหรับวัยรุ่น ร้านหนังสือภาษาฝรั่งเศสที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย คาเฟ่ที่มีเทอร์เรซกว้างให้อารมณ์เหมือนนั่งจิบกาแฟอยู่ท่ามกลางชาวปารีเซียง ห้องเรียนเต้นที่มีคลาสหลายสไตล์ รวมถึงบัลเลต์สำหรับผู้ใหญ่ ห้องกว้างพร้อมจักรเย็บผ้าที่เหมาะสำหรับจัดเวิร์กช็อปด้านแฟชันดีไซน์ และพื้นที่ที่เอื้อต่อการจัดนิทรรศการต่างๆ ซึ่งมีทั้งศิลปินต่างชาติ ศิลปินไทย และนักศึกษาหมุนเวียนกันนำผลงานมาจัดแสดงอย่างต่อเนื่อง

ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพที่ทำให้โชคดีกว่าสมาคมฝรั่งเศสในอีกหลายๆ เมืองก็คือ การที่ศิลปินต่างชาติจำนวนไม่น้อยใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองไทย หรือมาเมืองไทยเป็นประจำ หลายคนเป็นฝ่ายติดต่อเข้ามาหา  Alliance Française Bangkok ด้วยตัวเอง ทำให้ผู้ที่มาใช้บริการเป็นประจำจึงคุ้นเคยกับความหลากหลายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องบนพื้นที่แห่งนี้ เพราะหากนับจำนวนกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละปีแล้ว ที่นี่จะเป็นหนึ่งในสเปซที่มีการจัดกิจกรรมบ่อยที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย

“เราอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน เพราะฉะนั้นคุณสามารถมาที่นี่ได้โดยไม่จำเป็นต้องพูดภาษาฝรั่งเศส ไม่จำเป็นต้องสนใจวัฒนธรรมของฝรั่งเศสด้วยซ้ำไป” ผู้อำนวยการสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพกล่าว

แต่ในขณะเดียวกัน ความเปิดกว้างนี้ก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของทุกคนที่อยู่เบื้องหลัง เพราะนั่นหมายความว่าพวกเขาจะต้องทำให้ทุกอย่างตอบโจทย์ความเป็นพื้นที่ของทุกคนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการวางแผนกิจกรรมที่ตรงกับความสนใจของคนกลุ่มต่างๆ จึงเป็นธรรมดาที่ที่นี่จะมีทั้งกิจกรรมที่ผู้มาร่วมงานเกือบทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ งานที่มีทั้งคนไทยกับต่างชาติในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน และบางงานก็แทบจะมีแต่คนไทย

แต่ต่อให้ไม่มีกิจกรรมใดๆ Alliance Française Bangkok ก็ยังหวังว่าที่นี่จะเป็นที่ที่ทุกคนสบายใจที่จะแวะเวียนมา เหมือนที่ปาสกาลบอกว่า “เรายินดีและอยากเห็นคนมาใช้พื้นที่นี้กันเยอะๆ… ไม่จำเป็นต้องคิดว่าจะมาทำอะไรที่นี่ เพราะแค่เข้ามานั่งเล่นหรือพักผ่อน นั่นก็พอแล้ว”

Foreign Correspondents’ Club of Thailand (FCCT)

ในขณะที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพเพิ่งย้ายที่ทำการใหม่ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ Foreign Correspondents’ Club of Thailand (FCCT) ยังคงตั้งอยู่ที่ชั้นบนสุดของตึกมณียามานานกว่า 20 ปี หลังผ่านการย้ายที่ทำการมาแล้วหลายต่อหลายแห่ง ตลอดเกือบ 7 ทศวรรษที่ผ่านมานับตั้งแต่ก่อตั้ง

ด้วยชื่อของสมาคมและพิกัดปัจจุบันที่อยู่บนชั้นเดียวกันกับสำนักข่าวต่างชาติหลายแห่ง ทำให้บางคนซึ่งไม่เคยมามาก่อนเข้าใจว่า บรรยากาศแบบคลาสสิกที่ห่างไกลจากความวุ่นวายในย่านนี้สงวนไว้สำหรับคนที่ทำอาชีพสื่อหรือชาวต่างชาติเท่านั้น ทั้งที่จริงๆ แล้ว FCCT ยินดีเปิดประตูต้อนรับทุกคน ไม่ต่างจากร้านอาหารหรือบาร์อื่นๆ เพราะแม้จะมีจำนวนเมนูไม่มาก แต่ก็มีทั้งอาหารตะวันตกและอาหารไทย มีเครื่องดื่มตั้งแต่ค็อกเทลคลาสสิก ค็อกเทลชื่อเท่อย่าง The Brexit และ The Cuban Crisis ไปจนถึงคราฟต์เบียร์ของไทย

แต่สิ่งที่ทำให้ที่นี่ต่างจากร้านอาหารและบาร์ทั่วไปก็คือการจัดกิจกรรมซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะล้อไปกับประเด็นทางสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมที่กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการจัดฉายหนังที่มักจะพ่วงมากับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันหลังหนังจบ ที่จัดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกวันจันทร์ และงานเสวนาที่จัดอย่างสม่ำเสมอ โดยทุกกิจกรรมนั้นอยู่บนพื้นฐานที่ว่า FCCT จะต้องรักษาสถานะความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด

ตัวอย่างงานที่ FCCT จัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้และได้รับความสนใจไม่น้อยก็คือ งานเสวนาในหัวข้อ “เลือกตั้งประเทศไทย เดินหน้าหรือถอยหลัง” ซึ่งมีทั้งนักวิชาการไทย นักวิชาการต่างชาติที่ติดตามสถานการณ์การเมืองมาอย่างต่อเนื่อง และผู้สื่อข่าวชาวไทยมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองกันอย่างเสรี

นอกจากกิจกรรมที่จัดเองแล้ว FCCT ยังเป็นทางเลือกในการใช้สถานที่จัดงานของหน่วยงานหลายแห่ง โดยเฉพาะองค์กรที่ต้องการผลักดันประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเมื่อรวมเข้ากับงานของ FCCT เองแล้ว ก็ยิ่งทำให้คาแรกเตอร์ในการเป็นพื้นที่ในการแสดงความเห็นและแลกเปลี่ยนความคิดของที่นี่ชัดเจนขึ้น

พนักงานบางคนที่อยู่หลังบาร์ของที่นี่มานานกว่า 40 ปี สามารถไล่เลียงให้ฟังถึงที่ตั้งของ FCCT ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงที่ตั้งปัจจุบัน ซึ่งทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงก็เป็นเพียงการเปลี่ยนสถานที่เท่านั้น แต่จุดยืนของ FCCT ยังคงเหมือนเดิม เพราะการย้อนกลับไปดูกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ของ FCCT ในอีกนัยหนึ่งก็เหมือนเป็นการย้อนมองว่า หลายสิบปีที่ผ่านมานี้มีประเด็นอะไรที่สังคมให้ความสนใจบ้าง

ขณะเดียวกันการสังเกตผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาที่นี่ก็ทำให้เห็นภาพไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของคนแต่ละยุค จึงเป็นธรรมดาที่ในปัจจุบันนี้จะเห็นหลายคนเข้ามาใช้ที่นี่เป็น co-working space มากขึ้น

แต่ไม่ว่าจุดประสงค์ในการมาที่นี่ของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เจืออยู่ในบรรยากาศของ FCCT เสมอมา คือการเป็นพื้นที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของหลากหลายบทสนทนาที่นำไปสู่การใช้ความคิดอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น แม้ว่าตัวบทสนทนาจะจบลงแล้วก็ตาม

JAM

“art space – cine club – music venue – video games” คือคำบรรยายสั้นๆ ทั้งหมดที่เขียนอยู่บนป้ายที่ตั้งไว้ด้านหน้า JAM สเปซขนาดเล็กแต่คาแรกเตอร์ชัดที่ซ่อนตัวอยู่ในตึกแถว 2 ชั้นในซอยโรงน้ำแข็ง

Dhyan Ho นักออกแบบจากออสเตรเลียขึ้นเริ่มกิจการนี้เมื่อ 6 ปีก่อน โดยเปิดเป็นคาเฟ่ขายอาหารและเครื่องดื่มที่เปิดตั้งแต่ 10 โมงเช้า หากแต่ผู้คนที่เข้ามาที่นี่ได้ค่อยๆ เปลี่ยนพื้นที่นี้ให้ต่างไปจากตอนเริ่มต้น ทั้งหน้าตาและฟังก์ชัน จนปัจจุบันกลายเป็นบาร์ที่เปิดตั้งแต่ 6 โมงเย็นไปจนถึงเที่ยงคืน และยังเป็นสเปซทางเลือกสำหรับกิจกรรมนอกกระแสที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ใช่มากกว่าเน้นในเรื่องของปริมาณคน

ต่อให้ไม่มีป้ายบอกหน้าร้าน ทุกคนที่มาก็สามารถสัมผัสได้ถึงความหลากหลายที่เป็นคาแรกเตอร์ของที่นี่ พื้นที่ชั้นล่างของร้านถูกจัดไว้เป็นส่วนของบาร์และเวทีเล็กๆ สำหรับศิลปินและดีเจที่รู้ว่าตัวเองถนัดทางไหน

ขณะที่ชั้นบนมีผลงานศิลปะที่ใครๆ ก็เดินขึ้นไปดูได้ และห้องฉายหนังแบบเป็นกันเอง ซึ่งเสน่ห์ของห้องฉายหนังแห่งนี้ไม่ได้อยู่ที่อุปกรณ์ทันสมัย แต่อยู่ตรงหนังที่เลือกมาฉาย เพราะไม่ใช่หนังที่หาดูได้ง่าย อีกทั้งที่นี่ยังน่าจะเป็นห้องฉายหนังเพียงไม่กี่ที่ที่สามารถกินเบอร์เกอร์และกระดกเบียร์ไปด้วยได้แบบสบายๆ และตบท้ายด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

เพราะต้องการเป็นสเปซซึ่งเป็นทางเลือกให้กับคนที่สนุกกับการทำงานสร้างสรรค์แขนงต่างๆ มากกว่าจะทำกำไรจากการให้ใช้พื้นที่ Jam จึงไม่ได้คิดค่าเช่าสถานที่ในการจัดกิจกรรมต่าง และการเปิดกว้างนี้ก็ทำให้เกิดความหลากหลายบนความเฉพาะตัวของแต่ละกิจกรรมที่เกิดขึ้น กลุ่มคนที่มาจึงต่างจากบาร์ทั่วไปที่ตอบโจทย์กิน ดื่ม เที่ยว เพราะที่นี่เน้นตอบโจทย์ความสนใจของแต่ละคนอย่างชัดเจน

การได้ทำและได้เสพสิ่งที่ตรงกับความสนใจของตัวเองคือความสนุกของคนที่เข้ามาที่นี่ แต่สำหรับ Dhyan ที่ได้คอยมองผู้คนเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง สิ่งที่ทำให้เขาสนุกกับการเปิดพื้นที่นี้ก็คือบทสนทนาที่เกิดขึ้นที่ Jam เพราะนอกจากจะทำให้ได้รู้จักคนใหม่ๆ อยู่เสมอแล้ว มากไปกว่านั้นคือได้เห็นแพสชันของคนที่มาที่นี่ เพื่อทำสิ่งที่ตัวเองรัก และแพสชันนั่นเองที่ช่วยสร้างสีสันให้กับสเปซแห่งนี้

Tags: , , , , ,