ประเด็นเรื่อง ‘พรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่’ ที่นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกจุดกระแสขึ้นมาในสังคมไทยและได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม ตามมาพร้อมกับคำถามถึงแนวทางของพรรคในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นในแง่การมีส่วนร่วมของผู้สนับสนุน หรือนโยบายของพรรคที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะก้าวหน้าแค่ไหน

ผศ. ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคใหม่นี้ ให้สัมภาษณ์กับ BBC Thai อ้างถึงแนวคิดของ ‘พรรคใหม่ในยุโรป’ อย่างพรรคโพเดมอส (Podemos) ของสเปน พรรคซีริซา (Syriza) ของกรีซ และพรรค La France insoumise ของฝรั่งเศส ว่าจะใช้เป็นต้นแบบของพรรคทางเลือกใหม่ที่จะก่อตั้งขึ้นในไทย อย่างไรก็ตาม ผศ. ดร.ปิยบุตรไม่ได้ให้รายละเอียดมากนักว่าจะใช้เป็นต้นแบบในแง่มุมใดบ้าง

บทความนี้จึงลองสำรวจข้อมูลเบื้องต้นของพรรคการเมืองรุ่นใหม่ในยุโรปบางประเทศ เพื่อพอให้เห็นภาพว่า พรรคการเมืองที่จับกลุ่มเป้าหมาย ‘คนรุ่นใหม่’ ทุกวันนี้มีหน้าตาเป็นอย่างไร

Podemos พรรคฝ่ายซ้ายสายเลือดใหม่ สั่นสะเทือนการเมืองสเปน

  • ประเทศ: สเปน
  • ปีที่ก่อตั้ง: 2014
  • อาชีพของผู้ก่อตั้ง: นักวิชาการ
  • อุดมการณ์: สังคมนิยมประชาธิปไตย
  • ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (2016): อันดับสาม ได้ 71 จาก 350 ที่นั่ง

พรรคโพเดมอส (Podemos) เป็นพรรคซ้ายใหม่ของสเปน ก่อตั้งในปี 2014 โดยนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ พาโบล อิเกลเซียส (Pablo Iglesias) และกลุ่มนักวิชาการที่สนับสนุนแนวทางต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำและการคอร์รัปชั่น ความหมายของชื่อพรรคแปลว่า เราทำได้ (We Can)

เราอาจมองว่าโพเดมอสเป็นพรรคที่เกิดขึ้นจากแรงปฏิกิริยาของวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งสเปนเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบเข้าเต็มๆ และต้องเข้าร่วมมาตรการ ‘รัดเข็มขัด’ ตามคำสั่งของเจ้าหนี้จากสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งสร้างความไม่พอใจและกดดันประชาชนอยู่ไม่น้อย อุดมการณ์ของโพเดมอสจึงออกมาทาง ‘ซ้าย’ และมีจุดยืนที่ต้องการเจรจาต่อรองกับมาตรการของสหภาพยุโรป

การเกิดขึ้นของโพเดมอสได้รับเสียงตอบรับอย่างดีในสเปน มีผู้เข้าชื่อเป็นสมาชิกพรรคเกินหนึ่งแสนคนภายใน 20 วันแรกที่เปิดตัว ปัจจุบัน โพเดมอสถือเป็นพรรคที่มีสมาชิกมากเป็นอันดับ 2 ของสเปน เป็นรองแค่พรรคเก่าแก่ People’s Party ที่ครองเสียงข้างมากในสภา

พาโบล อิเกลเซียส ผู้นำพรรคโพเดมอส ท่ามกลางสมาชิกพรรค (ภาพถ่ายเมื่อ 31 ส.ค. 2016 โดย Andrea Comas/REUTERS)

โพเดมอสส่งสมาชิกลงเลือกตั้งครั้งแรกในปีเดียวกัน แต่เป็นการเลือกตั้งระดับรัฐสภายุโรป ได้คะแนนเสียงประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวสเปนทั้งหมด ความน่าสนใจคือ จากวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้พรรคประกาศนโยบายว่า ส.ส. ของพรรคจะไม่รับเงินเดือนตามเกณฑ์ปกติประมาณ 8,000 ยูโรต่อเดือน แต่จะขอรับที่ 1,930 ยูโร หรือราวสามเท่าของค่าแรงขั้นต่ำในสเปนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม อิเกลเซียส อยู่ในตำแหน่ง ส.ส. ของรัฐสภายุโรปได้ไม่นาน เขาก็ลาออกเพื่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่ของสเปนในปี 2015 ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งในระดับชาติครั้งแรกของพรรคด้วย

ช่วงแรก โพเดมอสได้คะแนนเสียงจากโพลเป็นอันดับ 4 แต่ก็ค่อยๆ สร้างความนิยมเพิ่มอย่างรวดเร็ว จนขึ้นมาเป็นพรรคอันดับ 3 กวาดคะแนนเสียงได้ ส.ส. 69 คน (จากจำนวน ส.ส. ในสภาทั้งหมด 350 คน) สั่นสะเทือนวงการการเมืองสเปน เพราะดูดคะแนนจากสองพรรคใหญ่เดิมได้อย่างมาก (พรรครัฐบาลเดิม People’s Party หรือ PP เสียงหายไปถึง 64 คน จากการเลือกตั้งครั้งก่อน เหลือ ส.ส. เพียง 123 คน)

ความสำเร็จของโพเดมอส ไม่ได้มีเพียงแค่การลงเลือกตั้งครั้งแรกก็ได้คะแนนมากเป็นอันดับ 3 แต่ทำให้ภูมิทัศน์การเมืองของสเปนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะสองพรรคใหญ่ทั้งฝั่งขวาและซ้าย สูญเสียคะแนนเสียงไปเยอะ จนสูญเสียอำนาจต่อรองเพื่อตั้งรัฐบาลผสม ก่อให้เกิด ‘วิกฤตการเมืองสเปน’ ที่ไม่มีพรรคใดรวมเสียงกันได้สำเร็จ เลือกตั้งแล้วนานถึงครึ่งปีก็ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ จนต้องยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในปี 2016

ในการเลือกตั้งรอบใหม่ ทุกพรรคใหญ่ได้คะแนนใกล้เคียงกับการเลือกตั้งรอบก่อนหน้า สุดท้าย People’s Party จำเป็นต้องต่อรองเพื่อตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่อาจไม่มีเสถียรภาพมากนัก (แลกกับการที่ไม่ต้องเลือกตั้งรอบที่สาม) ถึงแม้รัฐบาลจะยังเป็นพรรคหน้าเดิม แต่พลังก็อ่อนแรงลงไปจากเดิมมาก เนื่องจากอิทธิพลของโพเดมอสที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมืองสเปนนั่นเอง

Syriza ต้นแบบพรรคซ้ายใหม่ยุโรป สู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีกรีซ

เมื่อพูดถึงวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรป กรีซเป็นอีกประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นเดียวกับสเปน และการเกิดขึ้นของพรรคฝ่ายซ้ายใหม่ ซีริซา (Syriza) ก็ถือเป็นแรงปฏิกิริยาที่มาจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นเช่นกัน

อเล็กซิส ซีปราส ผู้นำพรรคซีริซา (คนที่สองจากซ้าย) (ภาพถ่ายเมื่อ 19 ก.ย. 2015 โดย Paul Hanna/REUTERS)

ซีริซา (Syriza) มีความหมายว่า “มาจากรากเหง้า” (from the roots) ก่อตั้งในปี 2004 ในฐานะกลุ่มพันธมิตรของพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายขนาดเล็กหลายกลุ่มที่ร่วมกันต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ อย่างไรก็ตาม ซีริซายังคงความเป็นกลุ่มการเมืองขนาดเล็กในการเลือกตั้งปี 2007-2009 ที่ได้คะแนนเสียงราว 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

แนวทางของซิริซาถูกมองว่าเป็นพรรคต่อต้านระเบียบเดิมๆ หรือ anti-establishment และเป็นต้นแบบของพรรคซ้ายใหม่ในยุโรป อย่างไรก็ตาม ความเป็นซ้ายของซีริซาก็ต่างไปจากซ้ายแบบเก่า คือ มีลักษณะประชานิยมมากขึ้น และแสดงจุดยืนชัดเจนว่าต้องการอยู่ใน EU ต่อไป

บทบาทของซีริซาโดดเด่นขึ้นเมื่อกรีซประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักตั้งแต่ปี 2010 ความไม่พอใจของประชาชนต่อพรรครัฐบาลอย่างพรรคปาสก (PASOK) จึงพุ่งสูง ส่งผลให้ในการเลือกตั้งปี 2012 คะแนนเทไปยังพรรคฝ่ายค้าน New Democracy ส่วนซีริซาก็ได้คะแนนมากเป็นอันดับ 2 ได้ ส.ส. ถึง 71 คน และคะแนนเสียง 26.9 เปอร์เซ็นต์จากเสียงโหวตทั้งหมด

พรรค New Democracy ประกาศจับมือกับ พรรคปาสกตั้งรัฐบาล โดยที่ซีริซาประกาศตัวเป็นฝ่ายค้าน และมีจุดยืนต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดของสหภาพยุโรป ซีริซาสั่งสมความนิยมมาเรื่อยๆ สวนทางกับคะแนนเสียงของพรรครัฐบาลที่ลดลงเรื่อยๆ เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้

ในการเลือกตั้งรอบใหม่ปี 2015 ซีริซาสามารถเอาชนะใจประชาชน ขึ้นมาเป็นพรรคอันดับ 1 ได้ ส.ส. จำนวน 149 คน (เกือบครึ่งหนึ่งของสภา) อเล็กซิส ซีปราส ผู้นำพรรคก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ยังมีปัญหายากๆ รอการแก้ไขอีกมาก

Five Star Movement พรรคคนรุ่นใหม่ของอิตาลี ที่ชนะการเลือกตั้งแล้ว

  • ประเทศ: อิตาลี
  • ปีที่ก่อตั้ง: 2009
  • อาชีพของผู้ก่อตั้ง: นักแสดงตลก
  • อุดมการณ์: หลากหลาย
  • ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (2018): อันดับหนึ่ง 227 จาก 630 ที่นั่ง

Five Star Movement หรือตัวย่อในภาษาอิตาลี M5S เป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ของยุโรปอีกพรรค ที่ล่าสุดประสบความสำเร็จ ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2018 ได้จำนวน ส.ส. มากเป็นอันดับหนึ่ง และกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองเพื่อตั้งรัฐบาลต่อไป

การก่อตั้ง Five Star Movement มีความน่าสนใจอย่างมาก พรรคก่อตั้งโดยบล็อกเกอร์นักแสดงตลก เบปเป กริลโล (Beppe Grillo) ที่ใช้สื่อออนไลน์อย่าง MeetUp มาสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ตามแนวทางของนักการเมืองชาวสหรัฐฯ โฮเวิร์ด ดีน (ซึ่งบารัค โอบามา นำประสบการณ์และทีมงานมาใช้ต่อจนประสบความสำเร็จ)

อย่างไรก็ตาม M5S ไม่ได้เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์แบบ ‘ซ้าย’ เหมือนกับโพเดมอสหรือซีริซา แต่เป็นพรรคแนวกลางๆ ที่เปิดรับอุดมการณ์ทางการเมืองหลากหลาย (big tent) จุดยืนของพรรคก็เป็นพรรคต่อต้านขนบเดิม (anti-establishment) วิพากษ์สหภาพยุโรป แต่ก็ชัดเจนเรื่องการสนับสนุนประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) ชื่อของพรรคคำว่า Five Star (ห้าดาว) มาจากห้าประเด็นหลักที่พรรคให้ความสำคัญคือ น้ำ การคมนาคม การพัฒนาอย่างยั่งยืน การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และสิ่งแวดล้อม

เบปเป กริลโล นักแสดงตลก และผู้นำกลุ่ม Five Star Movement  (ภาพถ่ายเมื่อ 22 ต.ค. 2012 โดย Massimo Barbanera/REUTERS)

ในช่วงแรกๆ ที่ก่อตั้งพรรค M5S ยังเป็นแค่กลุ่มผู้สนใจการเมืองขนาดเล็กที่นำโดยคนรุ่นใหม่ เน้นการเมืองท้องถิ่น และเน้นการใช้เทคโนโลยี-นวัตกรรมการแก้ไขปัญหาที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน แนวทางของพรรคค่อนข้างต่างจากพรรคการเมืองรูปแบบเดิมๆ มีการใช้สัญลักษณ์ V จากภาพยนตร์เรื่อง V for Vendetta ในโลโก้ของพรรค เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ที่ต่อต้านขนบ (anti-establishment) และไม่พอใจในรูปแบบการเมืองเดิมๆ

M5S เริ่มส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2010 และเริ่มประสบความสำเร็จในปี 2012 เมื่อสามารถชนะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีของบางเมืองในอิตาลี

จุดเปลี่ยนสำคัญของ M5S คือการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2013 ที่พรรคประกาศลงชิงชัยเต็มรูปแบบ มีการสรรหาและคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. โดยสมาชิกของพรรคผ่านช่องทางออนไลน์ ผลของการเลือกตั้งครั้งนี้ M5S ได้ ส.ส. เข้ามาเป็นอันดับสาม 109 คน ได้คะแนนเสียงป๊อปปูลาร์โหวตเป็นอันดับหนึ่ง 25.56 เปอร์เซ็นต์ โดย M5S ไม่เข้าร่วมการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคฝ่ายซ้าย

หลังจากนั้น M5S เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคเป็น ลุยจิ ดิ มาโย (Luigi Di Maio) นักการเมืองหนุ่มวัยเพียง 31 ปี และในการเลือกตั้งรอบใหม่เดือนมีนาคม 2018 พรรคก็ได้รับคำแนนเสียงถล่มทลาย ชนะการเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 227 คน มากเป็นอันดับ 1 และได้คะแนนป็อปปูลาร์โหวตเป็นอันดับ 2

M5S ไม่มีจำนวน ส.ส. มากพอที่จะตั้งรัฐบาลพรรคเดียว และกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองกับพรรคอื่นๆ เพื่อรวมเสียงตั้งรัฐบาล ถ้าหาก M5S ประสบความสำเร็จ เราก็จะได้เห็น ลุยจิ ดิ มาโย ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่หนุ่มที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิตาลี

En Marche! ก่อตั้งแค่ปีเดียว พลิกโฉมการเมืองฝรั่งเศสไปตลอดกาล

  • ประเทศ: ฝรั่งเศส
  • ปีที่ก่อตั้ง: 2016
  • อาชีพของผู้ก่อตั้ง: นักการเมือง
  • อุดมการณ์: กลาง-เสรีนิยม
  • ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (2017): อันดับหนึ่ง 310 ที่นั่ง จัดตั้งรัฐบาล

เอ็มมานูเอล มาครง หัวหน้ากลุ่มการเมือง En Marche! ซึ่งภายหลังได้รับเลือกเป็น ประธานาธิบดีฝรั่งเศส (ถ่ายเมื่อ 10 ธันวาคม 2016 โดย REUTERS/Benoit Tessier)

ในบรรดาพรรคการเมืองใหม่ของยุโรปทั้งหมด คงไม่มีพรรคไหนที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วเท่ากับ La République En Marche! (ตัวย่อ REM) พรรคการเมืองของ เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เพราะใช้เวลาก่อตั้งเพียงหนึ่งปีก็ลงเลือกตั้ง ส.ส. และประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย ได้ ส.ส. 310 คนในการเลือกตั้งครั้งแรก จาก ส.ส. ทั้งหมดในสภา 577 ที่นั่ง

คำว่า En Marche! มีความหมายว่า “เดินหน้า!” (Forward!) เดิมทีเป็นกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองของมาครง ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรม-ดิจิทัล ในรัฐบาลพรรคสังคมนิยม (แต่ตัวเขาไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค เป็นรัฐมนตรีคนนอก)

มาครงก่อตั้งพรรค En Marche! อย่างเป็นทางการในเดือน เม.ย. 2016 ขณะนั้นเขามีอายุ 38 ปี เป้าหมายในช่วงแรกของ En Marche! คือ เป็นฐานเพื่อระดมทุนในการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แนวทางของ En Marche! คือเป็นพรรคเสรีนิยม หัวก้าวหน้า ไม่เอียงไปทางซ้ายหรือขวา (มาครงเรียกตัวเองว่า radical centrism หรือกลางสุดๆ ไปเลย) แนวทางของพรรคคนรุ่นใหม่ บวกกับคาแรกเตอร์ของตัวมาครงเองที่เป็นคนรุ่นใหม่ ทำให้พรรคได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว

หนึ่งปีหลังจากนั้น เดือน เม.ย. 2017 มาครงประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ขึ้นเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่หนุ่มที่สุด แต่ระบบการเมืองฝรั่งเศสที่แยกอำนาจของประธานาธิบดีและสภาออกจากกัน ความนิยมในตัวเขาอาจไม่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นนโยบายที่ปฏิบัติได้จริง หากไม่มีเสียงในสภาสนับสนุน

มาครงมีเวลาสองเดือนส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ส. เดือน มิ.ย. 2017 ความน่าสนใจของ En Marche! คือการเปิดรับบุคคล “หน้าใหม่” ในทางการเมือง โดยครึ่งหนึ่งของผู้สมัครไม่เคยเล่นการเมืองมาก่อน และคงนโยบายความเท่าเทียมทางเพศ มีผู้หญิงลงเลือกตั้งเป็นสัดส่วน 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้สมัครทั้งหมด

ความแปลกใหม่ของ En Marche! มีด้วยกันหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่ระบบการรับสมัครตัวแทนของพรรคที่เปิดกว้างแก่คนทั่วไป ไม่จำกัดสาขาอาชีพ ใช้การลงทะเบียนและส่งประวัติผ่านออนไลน์ มีเกณฑ์การคัดเลือกผู้สมัครอย่างชัดเจนจากความนิยม ผลงาน บุคลิกส่วนตัว

รูปแบบการระดมทุนของ En Marche! เน้นเงินบริจาคจากผู้สนับสนุนรายย่อย มากกว่าเงินจากมหาเศรษฐีหรือกลุ่มทุนใหญ่ บวกกับการกู้เงินส่วนตัวของมาครงเองเป็นจำนวน 8 ล้านยูโร ส่วนการหาเสียงก็ใช้ระบบอาสาสมัครเดินเคาะประตูบ้าน ระดมความเห็นจากชุมชนรายย่อย มีการเก็บความคิดเห็นของประชาชนอย่างเป็นระบบ (ใช้ทีมงานเดียวกับที่เคยทำให้โอบามา)

ความสดใหม่ของ En Marche! ประกอบกับภาวะเบื่อหน่ายพรรคการเมืองแบบเดิมๆ ในการเลือกตั้ง ส.ส. เดือนมิ.ย. 2017 พรรคจึงกวาดคะแนนเสียงถล่มทลาย แม้เป็นการลงเลือกตั้งครั้งแรก ก็ได้ ส.ส. 310 ที่นั่งจากทั้งหมด 577 ที่นั่ง (รวมคะแนนเสียงจากพรรคพันธมิตรด้วยเป็น 350 ที่นั่ง) แถมผลจากชัยชนะของ En Marche! ทำให้สภาของฝรั่งเศสประกอบด้วย ส.ส. หน้าใหม่มากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านการเมืองฝรั่งเศสจากหน้ามือเป็นหลังมือ

บทสรุปจากการเมืองใหม่ของยุโรป

พรรคการเมืองยุคใหม่ทั้ง 4 พรรคที่กล่าวถึงไปข้างต้น เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองรุ่นใหม่ของยุโรปเท่านั้น และยังมีพรรคลักษณะเดียวกันอีกมากในประเทศอื่นๆ ที่อาจยังไม่ประสบความสำเร็จมากเท่า

ถึงแม้แต่ละพรรคอาจมีจุดยืนหรืออุดมการณ์ทาง การเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม แตกต่างกัน แต่พรรคทั้งหมดก็มีจุดร่วมคือเป็นพรรคแนวคิดใหม่ ที่ก่อตั้งและดำเนินการโดยคนรุ่นใหม่ แถมส่วนใหญ่ยังมีแนวคิดแบบ outside-in จากวงการอื่นๆ ที่ไม่ใช่นักการเมืองโดยตรง มีกระบวนการสร้างความมีส่วนร่วมและฟังเสียงของประชาชน โดยใช้ช่องทางการสื่อสารออนไลน์ให้เป็นประโยชน์

บทความนี้ เป็นแค่การสำรวจข้อมูลเบื้องต้นว่า พรรครุ่นใหม่ในยุโรปมีพรรคใดที่โดดเด่นบ้าง แต่ยังคงต้องอาศัยการ ‘ถอดบทเรียน’ ในเชิงลึก เพื่อให้เข้าใจถึงปัจจัยต่อความสำเร็จของพรรคการเมืองเหล่านี้ ก่อนจะนำมาปรับใช้เป็นต้นแบบต่อพรรคการเมืองรุ่นใหม่ในไทยต่อไป

Tags: , , , , , , , , , , , , ,