ในอดีต หาดไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต คือสรวงสวรรค์และบ้านหลังใหญ่ของบรรดาสัตว์น้ำนานาพันธ์ุ รวมไปถึง ‘เต่าทะเล’ หลากชนิด
เต่ากระ เต่าตนุ เต่าหญ้า และเต่ามะเฟือง ต่างสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนขึ้นมาให้กำเนิดชีวิตรุ่นแล้วรุ่นเล่า กระทั่งมนุษย์ย่ำกรายเข้ามากลืนกินบ้านหลังนี้ทีละเล็กทีละน้อย ผนวกกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ จึงไม่แปลกใจนักหากสิ่งมีชีวิตจำพวกนี้จะเข้าข่าย ‘สัตว์ใกล้สูญพันธุ์’ ที่เหลือไว้เพียงชื่อและข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ต
นั่นคือข้อมูลและเรื่องเล่าที่ผู้เขียนเคยได้ยินมาก่อนลงพื้นที่ภูเก็ต ซึ่งต้องสารภาพตามตรงว่ามีอยู่น้อยนิด อย่างมากก็แค่เคยเห็นพวกมันแหวกว่ายในท้องทะเลผ่านรายการสารคดีที่ฉายตามโทรทัศน์ เพราะแม้แต่ในอควาเรียมหรือสวนสัตว์ใหญ่เอง ก็แทบจะไม่มีสัตว์ตัวนี้ให้เห็นเท่าไรนัก
แต่ดูเหมือนว่าการมายังดินแดนฉายาไข่มุกแห่งอันดามันของผมและทีม The Momentum ครั้งนี้หลายอย่างดูจะเป็นใจเสียไปหมด เมื่อเราได้รับคำเชิญจากมูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเลหาดไม้ขาว หนึ่งในหน่วยงานที่ดูแลบรรดาเต่าทะเลล้ำค่าที่อาสาพาเราไปรู้จักพวกมันมากขึ้น
ทว่าภาพที่เห็นตรงหน้าไม่ได้สวยงามดังในสารคดีหรือในการ์ตูน มิหนำซ้ำยังโหดร้ายกว่าที่คิด เต่าทะเลบางตัวร่างกายพิกลพิการ บางตัวบาดเจ็บจากเงื้อมมือมนุษย์ บางตัวไม่ทันจะออกมาจากไข่เสียด้วยซ้ำ
ถึงกระนั้น ในเรื่องร้ายก็ยังมีเรื่องดีให้เห็น เพราะตลอดทางที่เราเดินสำรวจมูลนิธิดังกล่าว ไปจนถึงสำรวจรังของเต่ามะเฟืองบริเวณหาดไม้ขาว ที่ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 และกำลังรอเวลาตัวอ่อนลืมตาดูโลก เราเห็นกลุ่มคนมากหน้าหลายตายื่นมือช่วยเหลือพวกมัน พลันสัมผัสได้ถึงความหวังเล็กๆ ว่า ไม่ช้าก็เร็ว มนุษย์และสัตว์มีกระดองอุปนิสัยอ่อนโยนนี้จะสามารถอยู่ร่วมภายใต้ท้องฟ้าสีครามเดียวกันอย่างสงบสุข
1
บ้านหลังแรกและหลังสุดท้ายของบรรดาเต่าพิการ
“เชิญทางนี้ครับ”
เจ้าของเสียงเบื้องหน้าที่ผมได้ยินคือ ชาลี-กมลวัฒน์ นภดลรุ่งเรือง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเลหาดไม้ขาว ที่อาสานำทางพาเราไปยังสถานที่ตั้งของมูลนิธิฯ ซึ่งอยู่ภายในบริเวณอนันตรา ไม้ขาว ภูเก็ต วิลล่าส์
กัดฟันเดินฝ่าแดดร้อนระอุเกือบแตะหลัก 38 องศาเซลเซียส เพียงอึดใจก็มาถึงหมุดหมายที่ว่า ระหว่างที่รอชาลีพูดคุยกับนักท่องเที่ยวที่มาแวะเยี่ยมมูลนิธิ ผู้เขียนก็เหลือบไปเห็นสระน้ำขนาดความลึก 3-4 เมตร เมื่อเดินไปถึงจึงเห็นเต่าราว 4-5 ตัวอยู่ในนั้น แต่ที่น่าแปลกใจคือท่าทางการว่ายของพวกดูจะผิดปกติ บางตัวว่ายส่ายไปมาราวกับเรือไร้หางเสือ บางตัวว่ายได้แค่บนผืนผิวน้ำ และบางตัวกระดองบิดเบี้ยวไม่เป็นทรง
“พวกมันพิการครับ เรารับเต่าที่พิการตั้งแต่กำเนิดมาเลี้ยง รวมในบ่อมีทั้งหมดห้าตัว ซึ่งเราจะรับเฉพาะเต่ามีอายุสิบเดือนขึ้นไป หากอายุต่ำกว่านั้นเต่าจะต้องอาศัยในสถานที่ปิดเพื่อป้องกันปัจจัยภายนอกต่างๆ เนื่องจากมันยังไม่แข็งแรง”
ชาลีเล่าให้เราถึงที่มาของบรรดาเต่าทะเลในบ่อที่มูลนิธิรับมาเลี้ยงดู ซึ่งล้วนพิการแต่กำเนิดทั้ง 5 ตัว ได้แก่
บาบี้ – เต่ากระ อายุ 1 ปี 8 เดือน ที่เกิดมากระดองผิดรูป จึงไม่สามารถทรงตัวในน้ำได้
เวสลีย์ – เต่ากระ อายุ 5 เดือน ที่เกิดมากระดองไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้กระดองกดทับอวัยวะภายใน ซึ่งคาดว่าจะอยู่ได้อีกไม่กี่ปีหลังจากนี้
สปีดี้ – เต่าตนุ อายุ 4 ปี ที่เกิดมามีกระดองผิดรูป ใบพายหลังแนบติดกัน และพบช่องอากาศในโพรงปอด จึงไม่สามารถดำน้ำได้เหมือนเต่าตนุปกติ
จิมมี่ – เต่าตนุ อายุ 1 ปี 5 เดือน ที่กระดูกคอคดผิดปกติ
และสุดท้ายคือ ทิมมี่ – เต่าตนุ อายุ 3 เดือน ที่ตาบอดสนิททั้งสองข้าง
แน่นอนว่าบั้นปลายชีวิตของพวกมันทั้ง 5 ตัว ไม่ใช่ท้องทะเลสีครามแสนกว้างใหญ่ แต่คือสระน้ำสระนี้ที่จะต้องว่ายวนไปมาตลอดชีวิต แต่นั่นก็ดีกว่าการปล่อยกลับสู่ทะเลที่โอกาสรอดเท่ากับศูนย์ เมื่อความพิกลพิการไม่สามารถทำให้พวกมันอาศัยในธรรมชาติได้ ซ้ำร้ายอาจตายด้วยคมใบพัดจากเรือประมงหรือสปีดโบ๊ต
เต่าทะเลที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ นอกเสียจากจำพวกพิการแต่กำเนิด อีกส่วนคือพวกที่ได้รับบาดเจ็บจากธรรมชาติ ทั้งจากอวนประมง ใบพัดเรือ เศษหลอด หรือเศษถุงพลาสติดอุดตันปากหรือจมูก และเมื่อหายดีจึงปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ
“เคยมีปัญหากับนอกเที่ยวชาวต่างชาติบางราย เขาจะมีคำถามว่าทำไมทำแบบนี้ไม่ได้ เช่น ทำไมถึงไมให้เขาจับเต่า ทำไมไม่ให้เขาเซลฟี่ถ่ายกับเต่า ทำไมไม่ให้เขาให้อาหารเต่าเอง ต่อให้เราอธิบายอย่างไรเขาก็ไม่ฟัง เขาอ้างอย่างเดียวว่าเขามีเงินเขาต้องทำได้สิ แต่เราก็ปฏิเสธไป
“จนบางทีเต่าฟังแล้วมันรำคาญก็สะบัดน้ำใส่ (หัวเราะ) บางครั้งก็เจอนักท่องเที่ยวโยนลูกอม โยนห่อขนมลงไปในบ่อ ก็เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องทำความสะอาดทุกวัน”
ผู้จัดการมูลนิธิหนุ่มโอดครวญให้เราฟังถึงปัญหานักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ที่มองข้ามจุดประสงค์หลักของมูลนิธิที่ต้องการให้ความรู้และความเข้าใจ ถึงความสำคัญและความเปราะบางของเต่าทะเล ถึงกระนั้นก็ไม่อาจทำให้ความตั้งใจที่จะช่วยเหลือพวกมันลดลงแม้วินาทีเดียว แม้จะมีทีมงานแค่ 5 รายเท่านั้นในเวลานี้
ในขณะที่ผมกำลังนั่งฟังชาลีอยู่ พวกเต่าเองก็เหมือนจะสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของเขา ผมคิดเช่นนั้น เพราะบางตัวจากที่ว่ายอยู่ไกลๆ ก็พยายามว่ายมาใกล้ สลับกับเผยอคอขึ้นเหนือน้ำคล้ายกับกำลังแสดงความขอบคุณ
2
ปฏิบัติการฟื้นฟูประชากรเต่าทะเลในธรรมชาติ
หลังทำความรู้จักกับเพื่อนต่างสายพันธุ์ ชาลีเล่าต่อถึงจุดเริ่มต้นของมูลนิธิแห่งนี้ ซึ่งกำลังก้าวสู่ขวบปีที่ 7 ว่า ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัท ไมเนอร์ โฮเทลส์ (Minor Hotels) ที่เข้ามาก่อสร้างสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนบริเวณหาดไม้ขาว ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ในระบบนิเวศของเต่ากระ เต่าตนุ และเต่ามะเฟือง
ในมุมหนึ่ง เรื่องนี้อาจเป็นการรุกรานบ้านของพวกมัน ตามอุปสงค์การท่องเที่ยวในจังหวัดซึ่งขยายตัวมากขึ้นทุกปี แต่อีกนัยหนึ่งก็แสดงความรับผิดชอบต่อธรรมชาติไปในตัว ดังนั้น ที่พักในเครือไมเนอร์ทั้งหมดในหาดไม้ขาวและมูลนิธิจึงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง เพื่อเชื่อมโยงการทำงานระหว่างชาวบ้านที่ต้องการฟื้นฟูจำนวนประชากรเต่าทะเล โดยเฉพาะเต่ามะเฟืองที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งหาดไม้ขาว กับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน, ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จังหวัดภูเก็ต และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ
หน้าที่หลักของที่พักในเครือไมเนอร์นอกจากข้างต้นที่กล่าวไปแล้ว ยังมีการประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยว ไปจนถึงการปรับโปรแกรมกิจกรรมยามค่ำคืนที่อาจตรงกับช่วงฤดูที่แม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ หรือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ เช่น การงดใช้เสียง การงดกิจกรรมบนหาด และการลดใช้ไฟสปอตไลต์สีขาว โดยเปลี่ยนมาใช้สีแดงแทน
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดความกังวลแก่แม่เต่ามะเฟืองที่ไวต่อสิ่งเร้ารอบข้าง ไม่ว่าจะแสงหรือเสียงก็ตาม เพราะหากระหว่างที่กำลังวางไข่ฟองแรกมีการรบกวนเกิดขึ้น มันจะว่ายกลับลงทะเลทันที และทิ้งไข่ในท้องจมลงทะเลหมด
“เราไม่รู้เลยว่าเขาจะขึ้นมาวางไข่ตรงไหน เรารู้แค่ช่วงฤดูกาลวางไข่ของเขา เราจะรู้จุดก็ต่อเมื่อเห็นรอยรังแรกก่อน พอเป็นรังที่สองเราจะรู้แล้วว่าต้องเตรียมกันอย่างไรต่อ โดยมีทีมช่วยเหลือจากอุทยานคอยลาดตระเวน และชาวบ้านหาดไม้ขาวที่ช่วยกันรณรงค์ยกเลิกธรรมเนียมกินไข่เต่า หรือที่เรียกว่า ‘ประเพณีเดินเต่า’ รวมถึงรวมกลุ่มลาดตระเวนตอนกลางคืนเพื่อสอดส่องคนขโมยไข่เต่า ซึ่งในตลาดมืดขายกันอยู่ฟองละ 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 547 บาท) หรือในกรณีที่เจอรังก็จะแจ้งให้อุทยานมารับช่วงดูแลต่อ
“เรียกว่าเป็นการทำงานด้วยกันหลายภาคส่วน รวมไปถึงการทำปฏิญญาระหว่างหาดไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต และอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา โดยผู้ว่าราชการจังหวัด, ผู้บริหารระดับท้องถิ่นทั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้าน, ทางโรงแรม จนถึงตัวมูลนิธิของเราเอง เพื่อดูแลรักษาสถานที่สำคัญทั้งสองซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของเต่ามะเฟือง” ชาลีอธิบาย
3
เต่ามะเฟืองในวันแห่งความรัก
“ในเมื่อพวกมันเปราะบางในธรรมชาติ แล้วทำไมถึงไม่นำมาเลี้ยงดูเองล่ะ” ผู้เขียนถามชาลีด้วยความสงสัย เพราะในเมื่อเต่ามะเฟืองเปราะบาง ทางออกด้วยวิธีดังกล่าวน่าจะปลอดภัยและหวังผลได้มากที่สุด เพียงแต่คำตอบที่ได้ดูจะเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสทีเดียว
“อย่างที่รู้ว่าเต่าทะเลออกลูกไม่เยอะและอัตราการรอดในธรรมชาติน้อย แต่การเลี้ยงดูเต่าทะเลแรกเกิดจนถึงอายุ 10 เดือนต้องเสียใช้ค่าใช้จ่ายตัวละไม่ต่ำกว่า 8,000 บาทต่อปี ถ้าเป็นพวกที่พิการยิ่งเสียค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้นไปอีก ตอนนี้ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และที่ฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3 มีเลี้ยงดูที่ละไม่ต่ำกว่า 300-400 ตัว ดังนั้น หลายๆ โรงแรมจึงตกลงกันว่าจะช่วยแบ่งเบาด้วยการปล่อยลูกเต่าเหล่านี้กลับสู่ทะเลเมื่อถึงวัย
“จริงอยู่ที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นประเทศที่ 5 ของโลกในการอนุบาลเต่ามะเฟืองครบ 1 ปี แต่ข้อจำกัดของเต่ามะเฟืองคือพวกมันกินแมงกะพรุนตลอดชีวิต ทำให้ไม่สามารถใช้อาหารเลี้ยงดูได้หลากหลายเหมือนเต่าทะเลชนิดอื่น ขณะเดียวกัน เต่ามะเฟืองอาศัยในน้ำลึกและเย็น มีขนาดตัวที่ใหญ่ มีความเซนซิทีฟการดูแลจึงต้องมีความละเอียดสูงมากๆ” ชาลีกล่าว
จากคำตอบดังกล่าว ทำให้ความสงสัยของผู้เขียนคลายเป็นปลิดทิ้ง ดังที่ชาลีกล่าวว่าการเลี้ยงดูเต่าทะเลนั้นยาก ยิ่งเป็นเต่ามะเฟืองยิ่งยากกว่าปกติ 2-3 เท่า ไม่ต้องพูดถึงความคิดที่จะจับพวกมันผสมพันธ์ุกันนอกธรรมชาติ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยกับสัตว์จำพวกนี้ที่มีความอ่อนไหวสูง
ปัจจุบัน ประเทศไทยค้นพบเต่าทะเลทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ เต่ามะเฟือง เต่ากระ เต่าตนุ เต่าหญ้า และเต่าหัวค้อน โดยที่ 2 สายพันธุ์หลังไม่เคยค้นพบการขึ้นมาวางไข่บนประเทศไทย แต่เมื่อกลางปี 2565 กลับพบเต่าหญ้าขึ้นมาวางไข่บริเวณหาดกมลา
ขณะที่ปี 2567 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันแห่งความรัก ระหว่างที่พนักงานในเครืออนันตรากำลังทำกิจกรรมเก็บขยะริมหาดก็พบกับรังเต่ามะเฟือง โดยจากการสันนิษฐานคาดว่า แม่เต่ามีขนาดความกว้าง (รวมใบพาย) ราว 200 เซนติเมตร โดยมีขนาดความกว้างของหลุมไข่ 32 เซนติเมตร ความลึกของหลุมไข่ 72 เซนติเมตร และมีจำนวนไข่มากกว่า 120 ฟอง
เดินห่างออกไปจากที่ตั้งของมูลนิธิราว 1 กิโลเมตร เรามาถึงจุดที่พบรังไข่เต่ามะเฟืองที่ว่า ซึ่งถูกตีกรอบล้อมคอกด้วยบานไม้ไผ่ เพื่อป้องกันการขโมยทั้งจากสุนัข ตะกวด และมนุษย์ โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถสลับสับเปลี่ยนคอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
ปกติระยะเวลาฟักไข่ของเต่ามะเฟืองจะอยู่ระหว่าง 55-60 วัน เมื่อครบกำหนดบรรดาลูกเต่าจึงจะออกมาลืมตาดูโลก และใช้สัญชาตญาณคลานลงสู่ท้องทะเล
แต่น่าเสียดาย เพราะในระหว่างที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความชิ้นนี้อยู่ ก็ได้ทราบข่าวร้าย เมื่อไข่ทั้งหมดนั้นกลายเป็น ‘ไข่ฝ่อ’ หมายความว่า ไม่มีลูกเต่าสักตัวที่ถือกำเนิดขึ้นมาโดยแม่เต่าตัวดังกล่าว
ถึงผลลัพธ์จะไม่เป็นดังหวัง แต่นั่นไม่อาจปฏิเสธว่า ความพยายามที่ผ่านมาของทุกฝ่าย ที่ทุ่มเทแรงกายและแรงใจเพื่อรังเต่ามะเฟืองแห่งความรักนี้เป็นของปลอม
4
อนาคตจากนี้ของเต่าทะเลที่ขึ้นอยู่กับการกระทำของมนุษย์
จากความเสียใจต่อรังเต่ามะเฟืองแห่งความรัก พาผู้เขียนย้อนนึกถึงสิ่งที่ชาลีบอกในวันนั้น ถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนประชากรของเต่ามะเฟืองลดลง และยังไม่มีทีท่าดีขึ้น
ซึ่งปัจจัยที่ว่าคือเรื่องของ ‘อุณหภูมิโลก’ อย่างที่รู้กันว่า เราข้ามผ่านจากภาวะโลกร้อนสู่วิกฤตภาวะโลกเดือด และไม่ใช่แค่คนที่ได้รับผลกระทบจากการลงโทษโดยธรรมชาติ แต่บรรดาเต่าทะเลที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ก็พลอยติดร่างแหไปด้วย
ชาลีอธิบายให้ผมฟังว่า อุณหภูมิมีผลต่อวงจรชีวิตเต่ามะเฟืองมาก การกำหนดเพศของพวกมันขึ้นอยู่กับอุณหภูมิตอนอยู่ในรัง ยิ่งอุณหภูมิสูงโอกาสเป็นเพศเมียยิ่งมากตาม ในขณะที่อุณหภูมิต่ำโอกาสที่จะฟักออกมาคือเพศผู้
นั่นหมายความว่าเป็นไปได้สูงที่แม่เต่าตัวดังกล่าวจะขาดการปฏิสนธิจากเต่าเพศผู้ เพราะอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นทำให้เปอร์เซนต์การมีอยู่ของเต่าเพศผู้วัยไล่เลี่ยกันในธรรมชาติเหลือน้อยเต็มที และต่อให้ปฏิสนธิก็มีสิทธิตายอยู่ในไข่หรือฟักออกมาพิกลพิการ
“การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกส่งผลโดยตรงต่อเต่าทะเล ในกรณีของเต่ามะเฟืองยิ่งอุณหภูมิในรังสูง อัตราการเกิดของเต่าส่วนใหญ่จะเป็นเพศเมีย 70% เพศผู้ 30%
“ในขณะที่เต่ามะเฟืองตัวเมียวัยเจริญพันธุ์จะสามารถวางไข่ได้ 700-800 ฟองต่อหนึ่งฤดูกาล สวนทางกับจำนวนเต่าตัวผู้วัยเจริญพันธุ์ที่สามารถปล่อยน้ำเชื้อผสมได้แค่ทีละไม่เกิน 120 ฟอง นี่เป็นตัวเลขที่ไม่สอดคล้องกัน
“ไหนจะภัยจากผู้ล่าตามธรรมชาติที่เต่ามะเฟืองเพศผู้ต้องเผชิญ ยิ่งทำให้เหลือเพศผู้โตเต็มวัยแค่ไม่กี่ตัว”
อีกสาเหตุสำคัญ คือการรุกรานถิ่นที่อยู่อาศัยทั้งจากนานารีสอร์ตที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด อุตสาหกรรมต่างๆ ที่ปล่อยของเสียและขยะพลาสติกลงทะเล รวมถึงความประมาทเลินเล่อของบรรดาเรือขนส่งน้ำมันดิบที่รั่วไหลลงสู่ทะเลเช่นกัน
“ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้อยู่ สถานะของเต่ามะเฟืองคงจะมีแต่น้อยลงและแย่ลง เพียงแต่การที่มีกลุ่มคนที่พยายามให้ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมก็อาจพอช่วยให้วิกฤตทุเลาลง ผมว่านี่เป็นเรื่องของทุกฝ่ายที่ต้องช่วยกัน แม้แต่เรื่องของการเมือง ถ้ารัฐสามารถกระจายงบประมาณช่วยเหลือด้านสิ่งแวดล้อมมากพอ การมีอยู่ของมูลนิธิก็คงไม่จำเป็น เพราะทุกวันนี้หน่วยงานรัฐก็ยังต้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิ” นี่คือข้อความสุดท้ายที่ชาลีกล่าวในบทสนทนาครั้งนั้น
ถึงตรงนี้ ชาลีและทีมมูลนิธิฯ ยังคงทำหน้าที่อย่างแข็งขันแม้ผลลัพธ์ไม่อาจเรียกได้เต็มปากว่า ‘ใกล้ผลิดอกออกผล’ แต่จากการพูดคุยแค่สั้นๆ ก็สัมผัสได้ว่า เขาและทีมงาน รวมถึงชาวบ้านและทุกภาคส่วน ต่างมุ่งมั่นในการสู้เพื่อนาคตของเต่ามะเฟือง หาดไม้ขาว
แต่ไม่ใช่แค่พวกเขาที่สามารถช่วยเต่ามะเฟือง เพราะไม่ว่าผมหรือคุณก็สามารถเป็นอีกแรงให้พวกเขาได้เช่นกัน เพียงแค่ใช้ชีวิตโดยคำนึงถึงธรรมชาติ และคำนึงทุกลมหายใจเข้าออกว่า บ้านหลังนี้ที่ชื่อว่าโลก ไม่ได้มีเพียงแค่เราที่อยู่อาศัย
ทัศนียภาพบนหาดไม้ขาวยังสวยงามเฉกเช่นเดิม เพียงแต่รอให้เต่ามะเฟืองรุ่นแล้วรุ่นเล่าขึ้นมาวางไข่โดยปราศจากความกลัว ดังบทเพลง ‘ขอหาดไม้ขาวให้เต่ามะเฟือง’ ของหงา คาราวาน ที่ว่า
“เดินเดินไปตามหาดทรายอันยาวเหยียด ตาคอยมองรอยเต่ามาขึ้นบนหาด
“วันคืนผ่านไปไร้ร่องรอยเงียบสงบ เพลงบรรเลงเบาถึงเรื่องราวที่ผ่าน
“ขอหาดไม้ขาวให้เต่ามะเฟือง ขอหาดไม้ขาวให้เต่ามะเฟือง ขอหาดไม้ขาวให้เต่ามะเฟือง”
Fact Box
- มูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเลหาดไม้ขาว ตั้งอยู่ใกล้กับอนันตรา ไม้ขาว ภูเก็ต วิลล่าส์ โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมทุกวันอังคาร-เสาร์ ตั้งแต่เวลา 11.00-15.00 น. สำหรับผู้ที่จะให้อาหารเต่าต้องอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่มูลนิธิ และเป็นอาหารไม่เกิน 200 กรัมที่เจ้าหน้าที่โภชนาการจัดไว้ นอกจากกิจกรรมให้อาหาร ทุกวันทำการเวลา 11.00 น. จะมีการบรรยายให้ความรู้เรื่องเต่าทะเลโดยเฉพาะแก่นักท่องเที่ย
- เต่ามะเฟืองถูกจัดอยู่ในสถานะ ‘มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์’ (Vulnerable: VU) และถูกขึ้นบัญชีสถานภาพการอนุรักษ์ระดับโลก โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ The International Union for Conservation of Nature (IUCN) ขณะเดียวกันยังถูกบรรจุขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวนของไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
- ปัจจุบัน มูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเลหาดไม้ขาว โดย Minor Hotels ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มโรงแรมอนันตราและกลุ่มโรงแรมอวานี ช่วยเหลือเต่าทะเลไปแล้วมากกว่า 7,000 ตัว และมักมีกิจกรรมปล่อยสัตว์ทะเลกลับสู่บ้านทุกปี เช่นปี 2565 ที่ปล่อยฉลามกบ 34 ตัว
- เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2567 มีรายงานจากอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-ท้ายเหมือง โดยระบุว่า มีลูกเต่ามะเฟืองจำนวน 64 ตัว จากรังบริเวณหาดท้ายเหมือง จังหวัดภูเก็ต ทยอยคลานกลับสู่ท้องทะเล นับเป็นรังเต่ามะเฟืองรังที่ 15 ซึ่งเป็นรังสุดท้ายของฤดูกาล 2566/2567 อีกทั้งเป็นการฟักตามธรรมชาติ โดยปราศจากการเคลื่อนย้ายไข่ออกจากรัง