อันที่จริง ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็น ‘ฮับ’ ของการเดินทางทางอากาศตลอดกาล ข้อมูลจากกระทรวงคมนาคม พบว่า แต่ละปีมีเที่ยวบินบินผ่านน่านฟ้าประเทศไทยต่อวันมากกว่า 2,300 เที่ยวบิน และมากขึ้นอีกในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว 

ปัญหาก็คือในประเทศไทยไม่มีจุด ‘ดูเครื่องบิน’ ที่ดีๆ และเหมาะสมเลยแม้แต่น้อย… อันที่จริง สนามบินเก่าแก่อายุ 100 ปีอย่างสนามบินดอนเมืองเคยมีจุดดูเครื่องบิน แต่ก็ไม่ได้เห็นอะไรมาก ไม่ได้มีมุมมองใกล้ชิด ขณะที่จุดดูเครื่องบินของสนามบินสุวรรณภูมินั้นอยู่ในซอกหลืบ ทั้งยังมีเสาบังทัศนวิสัยจนเกือบมิด 

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าสนามบินในไทยจำนวนไม่น้อยอยู่ใน ‘เขตทหาร’ เป็นต้นว่าสนามบินดอนเมือง สนามบินพิษณุโลก หรือสนามบินเชียงใหม่ ทำให้ไม่สามารถเปิดจุดดูเครื่องบินที่เหมาะสมได้ ทว่าที่น่าเจ็บใจก็คือสนามบินสุวรรณภูมิ อันเป็นสนามบินใหม่เอี่ยม แต่กลับไม่มีจุดดูเครื่องบินที่เห็นชัดๆ เลย

ไม่กี่ปีก่อน ผมมีโอกาสได้ไปสนามบินชูบุเซ็นแทรร์ จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น จำได้ว่าผมเพลิดเพลินอย่างมากกับจุดดูเครื่องบินที่สร้างขึ้นมาเป็นอย่างดี ใกล้ชิดกับแท็กซี่เวย์และรันเวย์ของสนามบิน จุดดูเครื่องบินถูกสร้างอย่างพิถีพิถัน คุณพ่อพาลูกมานั่งดูเครื่องบินน้อยใหญ่หลากสีสันขึ้นลงรันเวย์กันขวักไขว่ สนามบินชูบุมีกระทั่งบ่อออนเซ็นสำหรับให้แขกผู้มาเยือนแช่น้ำร้อนไปด้วยแล้วดูเครื่องบินขึ้นลงไปด้วย ช่างน่าอิจฉายิ่งนัก

จุดดูเครื่องบินในประเทศไทยที่เดียวที่ผมเคยได้ยินชื่อ ก็คือจุดดูเครื่องบินที่ ‘หาดไม้ขาว’ ภูเก็ต หาดนี้ตั้งอยู่ตรงหัวเกาะภูเก็ต ติดกับรันเวย์ของสนามบิน บังเอิญว่าเป็นหาดสาธารณะ ทำให้ชาวบ้านอย่างเราๆ สามารถเดินเข้าไปใช้จุดดูเครื่องบินที่อยู่บนหาดนี้ได้

เป็นเรื่องน่าตลกที่จุดดูเครื่องบินเดียวของประเทศไทยไม่ได้ถูกสร้างโดยการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย หรือกรมท่าอากาศยาน หน่วยงานของกระทรวงคมนาคม แต่อยู่บนพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เช้าวันนั้น ผมเลือกเดินผ่านลานจอดรถของอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ลัดเลาะหาดในยาง เดินไปเรื่อยๆ รับแดดให้เต็มเหนี่ยวบนหาดทรายสีขาว กระทั่งถึงจุดที่ตรงกับรันเวย์ของสนามบินภูเก็ตพอดี

เป็นที่รู้กันว่า สนามบินภูเก็ตเป็นหนึ่งในสนามบินที่วุ่นวายที่สุดในประเทศไทย ข้อมูลจากบริษัทวิทยุการบิน ระบุว่า วันหนึ่งมีเครื่องบินเข้าออกภูเก็ตเป็นอันดับ 3 ของประเทศ เป็นรองเพียงสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง โดยตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 274 เที่ยวบินต่อวัน มีทั้งสายการบินทั้งโลว์คอสต์และฟูลเซอร์วิสของไทย สายการบินโลว์คอสต์และฟูลเซอร์วิสที่มาจากต่างประเทศ บินตรงมาลงยังเกาะภูเก็ต เรื่อยไปจนถึงบรรดาเครื่องบินเช่าเหมาลำของบริษัททัวร์ และเครื่องบินส่วนตัวของมหาเศรษฐี 

นั่นทำให้สายการบินภูเก็ต ‘ล้น’ เบ่งให้เต็มที่ก็ได้ผู้โดยสารราวๆ นี้ ที่ประมาณ 18 ล้านคนต่อปี ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ไม่สามารถขยายรันเวย์ออกไปได้อีก ไม่ว่าจะซ้ายขวาหน้าหลัง ทำให้รัฐบาลนี้รีบเร่งเป็นอย่างมากในการสร้างสนามบินภูเก็ต 2 หรือชื่อเรียกสวยๆ ว่าสนามบินอันดามัน ไว้ที่ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง ในเขตจังหวัดพังงา เพื่อรองรับเที่ยวบินให้มากขึ้น

กลับมาที่หาดไม้ขาว ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 5 นาที เครื่องบินลำแรกก็ตีโค้งเข้าหาเรา ว่ากันว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการดูเครื่องบินคือช่วงเช้าตรู่ ราว 07.00 น. เรื่อยไปจนถึงเวลา 11.00 น. และดูได้ดีที่สุด คือช่วงไฮซีซันเช่นนี้ ระหว่างเดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนเมษายน ที่ทิศทางลมทำให้เครื่องบินลงตรงทิศเดียวกับหาดพอดิบพอดี หากเป็นในช่วงเวลาอื่น เที่ยวบินอาจลงอีกด้านหนึ่ง ทำให้ไม่ผ่านด้านหาดไม้ขาว

ขณะเดียวกัน สิ่งที่มีประโยชน์อยู่มากในการส่องเครื่องบินเช่นนี้ คือแอพพลิเคชัน Flightradar24 ที่ทำให้เห็นการจราจรทางอากาศเหนือสนามบินภูเก็ตชัดเจน ความสนุกอยู่ที่การได้เฝ้ามองว่า เครื่องลำต่อไปจะมาจากไหน จะเป็นเครื่องบินแบบใด และหากมีสายการบินแปลกๆ ที่ไม่มีในบ้านเรา ลวดลายบนเครื่องจะมีเส้นสายแบบใด

รอเพียง 5 นาที ไม่ทันที่ช่างภาพจะได้ตั้งกล้อง เครื่องบินโบอิง 767 จากวลาดิวอสต็อก ก็บินลงมาถึงสนามบินภูเก็ต จากนั้นเครื่องบินการบินไทยก็ค่อยๆ ลงจอดตามกัน แล้วตามด้วยเครื่องแอร์บัส 320 ของแอร์เอเชีย รวมถึงเครื่องใบพัด ATR-72 ของบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งไม่ว่าเครื่องใด แบบใด ก็ล้วนเป็นที่สนใจของทั้งบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใส่บิกินี่นอนอาบแดด หรือนักท่องเที่ยวไทยที่มาด้วยพร็อพแว่นกันแดด หมวกปีกกว้าง แบบจัดเต็ม คอยถ่ายสตอรี ถ่าย Reels กับเครื่องบินลำยักษ์

ความน่าตื่นเต้นอีกอย่างก็คือหากบรรดา ‘เครื่องเจ็ต’ ในสนามบินเริ่มติดเครื่องเมื่อใด ไอร้อนวาบและแรงลมจะส่งมาถึงหาดไม้ขาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากหลักยึดไม่ดีหรือตัวบางเสียหน่อย ก็ ‘ปลิว’ ไปตามแรงลมได้เช่นกัน 

แล้วจากนั้น Flightradar24 ก็พาเราไปรู้จักเครื่องบินอีกหลายรุ่น จากหลากสายการบิน ที่พากันบินวนเหนือทะเลอันดามันก่อนตีโค้งเข้าจอดยังสนามบินภูเก็ตในที่สุด โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการชมเครื่องบินหนีไม่พ้นช่วงเช้าตรู่ ที่คุณจะเฝ้าเครื่องบินได้เรื่อยๆ 20-30 ลำ ดูกันจนเบื่อไปข้างหนึ่ง

แต่หากมาสายกว่านั้น ก็อาจต้องใช้ความอดทนสูงเสียหน่อย ทั้งด้วยแดดร้อนอบอ้าว ที่จะร้อนขึ้นเรื่อยๆ ทั้งแสงแดดที่แยงตา และสะท้อนผืนทรายขึ้นมาอีกที ขณะเดียวกันข่าวร้าย ก็คือที่จุดดูเครื่องบินหาดไม้ขาวนั้นไม่ได้มีที่หลบแดดเลยแม้แต่น้อย

แต่มีก็ดีกว่าไม่มี… จุดดูเครื่องบินที่หาดไม้ขาวที่เกิดขึ้นอย่าง ‘ไม่เป็นทางการ’ กลายเป็นอีกหนึ่งท่องเที่ยวที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดภูเก็ต ความไม่เป็นระเบียบบนหาดไม้ขาวได้กลายเป็นเสน่ห์ให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเยือน อีกทั้งล่าสุด ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านท้องทะเล อาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพิ่งโพสต์เฟซบุ๊กว่า ไม่ไกลจากความพลุกพล่านของจุดดูเครื่องบิน เต่ามะเฟืองขุดหลุมวางไข่ กว้างกว่า 45 เซนติเมตร และลึกกว่า 60 เซนติเมตร กลายเป็นจุดอันซีน อัศจรรย์ทั้งในแง่การเฝ้ามองอากาศยาน และสังเกตการณ์ความเป็นไปทางธรรมชาติ ราวกับว่าแม่เต่าชอบความอึกทึกครึกโครมของสนามบินนานาชาติแห่งนี้

ในแง่หนึ่ง สิ่งที่เป็นเสน่ห์ของสนามบินภูเก็ตที่ปล่อยให้มนุษย์หัวดำหัวแดงเดินเข้ามาง่ายดายอาจเป็นเสน่ห์ แต่หากไม่จัดระเบียบก็อาจส่งผลกระทบกับธรรมชาติเช่นกัน เพราะโดยปกติ เต่ามะเฟืองไม่ได้วางไข่ที่ไหนก็ได้ง่ายๆ หากแต่ต้องถูกคิดคำนวณมาอย่างดีแล้ว

เรื่องหาดไม้ขาวที่กลายเป็นจุดดูเครื่องบินอันซีนระดับโลก จึงมีมิติอื่นให้คิดมากกว่าเป็นจุดที่เกิดขึ้นและโด่งดังโดยบังเอิญว่า การปล่อยให้ดูเครื่องบินบนหาดทราย เมื่อเทียบกับจุดดูเครื่องบินที่เหมาะสมที่สนามบินจัดให้ รัฐบางแผนอย่างเป็นระบบ เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว สิ่งใดจะดีกว่ากัน มีคุณค่ากว่ากัน หรือบริหารจัดการง่ายกว่ากัน

หากสามารถจัดการได้เป็นระบบมากขึ้น ให้จุดดูเครื่องบินสามารถอยู่คู่กับธรรมชาติงดงาม สนามบินและหาดแห่งนี้จะน่าเที่ยวกว่านี้อีกมาก

Tags: , , , , , ,