เสียงกลองแอว (กลองพื้นบ้านภาคเหนือ) ถูกตีดังเป็นจังหวะเคล้าคลอไปกับเสียงฆ้องและแน (ปี่) บรรเลงดนตรีพื้นเมืองล้านนา ดังกระหึ่มไปทั่วบริเวณศาลปู่แสะ-ย่าแสะ
พร้อมด้วยนางรำกว่า 70 คน จากชมรมช่างฟ้อน ต่างฟ้อนเล็บด้วยท่วงท่าที่อ่อนช้อยสวยงาม เพื่อบวงสรวงดวงวิญญาณปู่แสะ-ย่าแสะ เป็นภาพที่หาดูได้ยาก เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์และความขลัง
กระแส ‘ความเชื่อ’ ในท้องถิ่นกลับมาใหม่ หลังจากภาพยนตร์สัปเหร่อและธี่หยด สร้างปรากฏการณ์ให้หนังไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยคือหนึ่งในสังคมที่เดินด้วย ‘ความเชื่อ’ และยังมีตำนานท้องถิ่นอีกมากที่หลายคนอาจยังไม่รู้จัก
ลานพิธีเลี้ยงดง ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ไกลจากพระธาตุดอยคำ แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของจังหวัดในช่วงฤดูหนาว เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความเชื่ออันเข้มข้นว่าด้วย ‘ผู้ปกป้องรักษา’ ดอยสุเทพ ชื่อว่า ‘ปู่แสะ-ย่าแสะ’
ทุกวันที่ 14 ค่ำเดือน 9 ตามปฏิทินล้านนาของทุกปี ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ชาวบ้านในตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ที่มาเข้าร่วมพิธีรวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ต่างพร้อมหน้ากัน ณ บริเวณทางขึ้นวัดดอยคำ เพื่อรอชมพิธีฟ้อนบวงสรวงอัญเชิญดวงวิญญาณ ‘ปู่แสะ-ย่าแสะ’ ยักษ์ที่ปกป้องดูแลดอยสุเทพ ไปยังลานพิธีเลี้ยงดง พร้อมขบวนอันเชิญพระบฏ (รูปวาดของพระพุทธเจ้าบนผืนผ้า) จากวัดป่าชี ตำบลแม่เหียะ โดยพระบฏผืนนี้มีความเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี
เมื่อถึงลานพิธี พิธีกรรมอันเชิญพระบฏได้เริ่มขึ้น พระบฏอายุกว่าร้อยปีถูกแขวนขึ้นบนไม้ต้นใหญ่เท่าสองคนโอบ เสียงบทสวดอัญเชิญพระบฏดังขึ้น พร้อมกับพระบฏที่กวัดแกว่งโดยที่ไม่มีแม้แต่ลมพัดผ่าน ผู้คนที่เข้าร่วมพิธีต่างก็หยิบยกโทรศัพท์ขึ้นมาเพื่อเก็บภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจนี้ไว้ บ้างก็ถ่ายรูปพระบฏศิลปะเก่าแก่ล้านนาที่มีอายุเก่าแก่ ใน 1 ปี จะเห็นเพียง 1 ครั้ง และจะถูกเปิดขึ้นในพิธีเลี้ยงดง ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
ความศรัทธาบนตำนานหลายร้อยปี
‘พิธีเลี้ยงดง’ หรือพิธีบวงสรวงปู่แสะ-ย่าแสะ เป็นพิธีเซ่นสรวงดวงวิญญาณปู่แสะย่าเแสะ ซึ่งตามความเชื่อคือยักษ์ที่ปกป้องดูแลดอยสุเทพและดอยคำ
พิธีเลี้ยงดงปรากฏในตำราพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเมืองเชียงใหม่ปางเดิม ในหมวดที่กล่าวถึงพิธีกรรมการเลี้ยงผี ตามตำนานเล่าว่า มียักษ์อยู่ 3 ตน คือปู่แสะ ย่าแสะ และลูก ซึ่งเชื่อว่าปู่แสะ-ย่าแสะเป็นต้นเค้าบรรพบุรุษของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวลัวะ กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมบนพื้นที่เชียงใหม่ ตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาถึงบริเวณนั้น เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างพระพุทธเจ้ากับยักษ์ปู่แสะย่าแสะ แต่ฝ่ายยักษ์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ สุดท้ายจึงยอมรับศีล แต่มีเงื่อนไขคือสามารถกินเนื้อควายได้ปีละ 1 ครั้ง จึงมีพิธีเลี้ยงดงเกิดขึ้นในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินล้านนา
พ่อหนานศรีเลา เกษพรหม นักเชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมล้านนาและผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม พิธีกรรมประเพณีล้านนา กล่าวว่า พิธีเลี้ยงดงเป็นพิธีที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน แต่มีการปรับเปลี่ยนบางช่วงของพิธีกรรมไปบ้าง เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและความสนใจของผู้คน
“พิธีเลี้ยงดงจริงๆ น่าจะเกิดขึ้นมาหลายร้อยปี แต่ไม่ได้มีการจัดพิธีใหญ่โตเหมือนปัจจุบันที่รู้จักกันแพร่หลายแบบนี้ เมื่อก่อนมีพวกกลุ่มชาติพันธุ์อย่างกลุ่มลัวะที่ทำพิธีนี้ อาจจะไม่ได้มีความกว้างขวางเท่าไร มีการฆ่าควายจริง ทำพิธีกรรมต่างๆ จริง แต่ทุกวันนี้ที่ได้เห็นกัน อาจมีการเพิ่มเติม ทำให้กลายเป็นการท่องเที่ยวไปเสีย เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้มารู้ มาเห็น เลยมีการเสริมเติมเข้าไป อะไรที่ไม่ใช่ของเดิมแต่อยากให้คนได้ตื่นตาตื่นใจก็เพิ่มเข้า ทำให้กลายเป็นเรื่องที่ดูใหญ่โต”
นอกจากหลักฐานทางวรรณกรรมและตำนานพื้นบ้านแล้ว ภาพการเลี้ยงดงยังถูกวาดไว้บนผนังวัดเชียงมั่น ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ อายุกว่า 700 ปี
‘ควายดำกีบเผิ้ง’ องค์ประกอบทางพิธีกรรมที่ละเอียดอ่อน
พิธีกรรมเลี้ยงดงเป็นพิธีกรรมที่มีความละเอียดอ่อนสูงมาก เมื่อเทียบกับหลายๆ พิธีกรรม นับตั้งแต่การเลือกควายที่จะนำมาใช้ในพิธีบวงสรวง โดยควายที่นำมาใช้มีชื่อเรียกว่า ‘ควายดำกีบเผิ้ง’ คือเท้าควายจะเป็นสีเหลือง และมีกีบตรงนิ้วเป็นสีขี้ผึ้ง และต้องเป็นควายหนุ่มที่เขาเสมอหู
การฆ่าควายเพื่อทำพิธี ควายตัวนั้นจะถือว่าเป็นควายทำนาย หากควายหันหน้าไปทางซ้ายน้ำจะมาก ชาวนาจะได้ข้าวเยอะ หากหันหน้าไปทางขวาน้ำจะน้อย ปลูกข้าวหรือพืชไม่ค่อยได้ โดยในปีนี้ควายหันไปทางขวา
เนื้อควายจะถูกแล่เพื่อนำมาประกอบพิธี โดยการนำไปทำเป็นเครื่องบูชา เรียกว่า ขันตั้ง ประกอบไปด้วยข้าวต้มมัด 12 มัด กรวยดอกไม้ 12 กรวย เนื้อปิ้ง 12 ชิ้น ลาบ 12 กระทง แกงอ่อม 12 กระทง น้ำแค่อย่างเดียว และข้าวเหนียวที่จะต้องบิใส่เข้าไปด้วย
นอกจากการเลือกควายอย่างพิถีพิถันแล้ว คนทรงหรือที่เรียกในพิธีว่า ‘ม้าขี่’ มีวิธีการคัดเลือกที่น่าตื่นเต้นไม่แพ้กัน ‘คนทำพิธี’ เล่าให้ฟังว่า ปู่แสะ-ย่าแสะจะเข้าฝันคนที่ท่านเลือกเอง และเมื่อปู่แสะ-ย่าแสะเลือกใครก็ตามแล้ว คนที่ถูกเลือกจะไม่มีทางปฏิเสธได้
ขณะเดียวกัน เมื่อถูกเลือกแล้ว แม้ไม่เคยรู้จักพิธีเลี้ยงดง แต่ถ้าปู่แสะ-ย่าแสะเลือกแล้ว ก็พร้อมที่จะเข้าพิธีโดยอัตโนมัติ แต่หากไม่ถูกเลือกต่อให้อยากเป็นแค่ไหนก็ไม่สามารถทำได้อยู่ดี
ในบทความเชิงวิชาการของ อาสา คำภา ได้กล่าวถึงพิธีกรรมการเลี้ยงผีบ้านผีเมือง หรือการบวงสรวงต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ว่า “ตำนานพิธีเลี้ยงดง เป็นหนึ่งในตำนานที่สะท้อนให้เห็นการคาบเกี่ยวของการนับถือผีและพุทธ คือมีการนับถือผี นับถือยักษ์ก่อนการมาของพระพุทธศาสนา และเมื่อมีการปะทะ หรือการเผชิญหน้า ความเชื่อที่มีมาก่อนอย่างการนับถือผีก็ยอมสยบแก่ศาสนาพุทธ จึงกลายเป็นการรวมตำนานระหว่างความเชื่อเก่าแก่ และความเชื่อทางศาสนาพุทธ เกิดการผสมผสานกลืนกลายจากวัฒนธรรมของชาวลัวะ สู่พิธีกรรมของชาวล้านนาและสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน”
เขตปกครองปู่แสะ-ย่าแสะ กับ 5 หมู่บ้านในตำบลแม่เหียะ
หลังเสร็จพิธี ควายจะถูกแบ่งไปตามแต่ละหมู่บ้านในตำบลแม่เหียะ ประกอบไปด้วย 5 หมู่บ้าน คือ ป่าจี้ ตำหนัก ดอนปีน ท่าข้าม บ้านบ่อ ซึ่ง 5 หมู่บ้านนี้ถือได้ว่าอยู่ในเขตที่ปู่แสะย่าแสะ ปกป้อง และเป็นเขตที่ติดกับผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ อย่างดอยคำและดอยสุเทพ
แม่อ้อย-อุบลรัตน์ ใจใหญ่ ทายาทรุ่นที่ 3 ผู้สืบทอดพิธีกรรมเลี้ยงดง กล่าวว่า ควายที่นำมาใช้ในพิธีเป็นควายทำนาย หลังจากพิธีกรรมเสร็จสิ้น จะถูกแบ่งไปตามแต่ละหมู่บ้าน ชาวบ้านจะนำไปทำอาหาร เช่น ลาบ แกงอ่อม และแบ่งกันกิน เพราะเชื่อว่าจะได้รับโชคและการปกป้องจากปู่แสะ-ย่าแสะ
“ควายที่ใช้ในพิธีเป็นควายทำนาย เสร็จแล้วเขาจะแบ่งกัน เขาแล่ควายเสร็จก็จะเอาส่วนนี้ไปลาบ ส่วนนี้เอาไปปิ้ง เป็นหม้อ เป็นปี๊ป เท้ากับหนังจะเป็นของตั้งข้าว (ตั้งข้าวคือคนที่ดูแลปู่แสะย่าแสะ) เมื่อก่อนแม่อุ๊ยเป็น แต่ตอนนี้ให้พ่อหนานปัญญาเป็น เพราะเขาเป็นผู้ชาย แล้วหัวควายจะเป็นของคนที่แห่พระบฏ เขาจะแบ่งกันแบบนี้ เดี๋ยวนี้ไม่ได้แบ่งแล้ว เขายกไปที่เทศบาลตำบลแม่เหียะ เพราะถือว่าเขาเป็นคนจ่ายเงิน”
กาลเวลาเปลี่ยนผ่าน จากพิธีกรรมเลี้ยงผี สู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ในอดีตก่อนจะมีการประชาสัมพันธ์จนเป็นที่รู้จัก พิธีเลี้ยงดงเป็นความเชื่อเฉพาะกลุ่ม จัดขึ้นด้วยกำลังศรัทธาของชาวบ้าน 5 หมู่บ้านในตำบลแม่เหียะ พิธีกรรมไม่ได้ยิ่งใหญ่ หรือต้องใช้เวลานานเท่าตอนนี้ แต่พอมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนรู้จักมากขึ้น หรือเป็นที่สนใจของผู้คนมากขึ้น ทางเทศบาลจึงเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงาน และมีการประเปลี่ยนพิธีกรรมบางช่วงให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น
เช่น การฆ่าควายในพิธีเลี้ยงดง ปัจจุบันไม่ได้ฆ่าในลานพิธี แต่จะมีการฆ่าควายเตรียมเอาไว้อยู่แล้ว ในพิธีจึงเห็นเพียงแค่ควายที่ถูกแล่เนื้อมาใช้ในพิธีบางส่วน และนำมาทำขันตั้ง หรือเครื่องบูชาเท่านั้น รวมถึงการเปิดงานที่แต่ก่อนไม่ได้มีการรอพระ รอฤกษ์ เท่าตอนนี้ เน้นการทำงานเสร็จของผู้จัดเตรียมพิธี
เมื่อเวลาผ่านไป การทำพิธีกรรมจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ให้เข้ากับสังคม ผู้คน เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ หรือให้เด็กรุ่นหลังได้เข้าถึงพิธีกรรมมากยิ่งขึ้น และอาจรวมถึงการปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอดของพิธีกรรม
ท้ายที่สุด ฐานะของปู่แสะ-ย่าแสะในความศรัทธาของคนก็ไม่ต่างกันมากนัก นั่นคือผู้ที่ปกป้องให้คนที่ศรัทธาแคล้วคลาดปลอดภัย พบเจอแต่สิ่งดีๆ และเชื่อว่าช่วยให้ทุกคนรู้จักที่จะปกป้องผืนป่า ที่ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดชีวิตให้อุดมสมบูรณ์คงไว้สืบไปชั่วลูกหลาน
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลบุคคล
ศรีเลา เกษพรหม นักเชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมล้านนาและผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม พิธีกรรมประเพณีล้านนา
อุบลรัตน์ ใจใหญ่ ทายาทรุ่นที่3 ผู้สืบทอดพิธีกรรมเลี้ยงดง
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
อาสา คำภา ปู่แสะย่าแสะกับประเพณีเลี้ยงผีเมืองเชียงใหม่
Creative LANNA ประเพณีเลี้ยงดง (บวงสรวงปู่เเสะ ย่าเเสะ)
Tags: วัฒนธรรม, Feature, เชียงใหม่, พิธีกรรม, ล้านนา, เลี้ยงดง