“ลุงก็นอนตลาดนี่ละ” 

ชายวัย 70 ปี พูดขึ้น พลางชี้นิ้วตรงไปยังตลาดด้านหน้า “นอนตรงนี้ เช้าก็ตื่นไปทำงาน”

อาทิตย์ลับฟ้า จันทราเข้าเวร ช่วง 4 ทุ่มของวันที่ 29 เมษายน แสงสว่างจากร้านสะดวกซื้อริมถนนสุเหร่าคลองหนึ่งทำหน้าที่ส่องทางสว่างให้เหล่าแรงงานทั้งรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ ที่กำลังกลับที่นอน ถนนคลาคล่ำไปด้วยรถกระบะมากสีหลากยี่ห้อ เตรียมส่งแรงงาน ณ จุดที่เคยนัดพบในตอนเช้า 

นี่คือ ‘ซอยกีบหมู’ ตั้งอยู่แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ จุดนัดพบระหว่างนายจ้างกับแรงงาน เหตุที่เรียกว่า ‘กีบหมู’ สันนิษฐานว่ามาจากอดีตที่สุเหร่าคลองหนึ่งมีชาวมุสลิมอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมที่แยกตัวมาจากมีนบุรีและคันนายาว กลุ่มที่แยกตัวจึงถูกขานเรียกว่า ‘ปลีกหมู่’ ก่อนจะเพี้ยนเป็นกีบหมูดังที่เรียกกันอยู่ในปัจจุบัน

และในเวลาค่ำที่เข้าใกล้แดนเช้าวันใหม่ ซอยกีบหมูแห่งนี้ยังคงเนืองแน่นไปด้วย ‘มนุษย์แรงงาน’ ที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ ใช้แรงงานในช่วงเช้าถึงเย็น (หรืออาจมากกว่านั้น) เพื่อกลับมาเก็บพลังในเพิงพักก่อนสู้งานต่อในเช้าวันใหม่ 

ขณะที่ผู้เขียนเหม่อมองความเคลื่อนไหวของชีวิตในกีบหมู ใต้แสงนีออนของร้านสะดวกซื้อ ชายชราคนหนึ่งกำลังนั่งเงียบอยู่กับเครื่องมือช่างตรงบันได

ดูเหมือนว่าวันนี้เขายังไม่ได้งาน และทำได้เพียงนั่งมองเหล่าแรงงาน กลุ่มพ่อค้าแม่ค้ากะดึก และรถกระบะแล่นผ่านตา ด้วยหวังว่าจะมีใครสักคนที่เห็นค่า และพาไปเป็นแรงงานดังหวัง

1

ตี 5.15 นาที ของวันที่ 30 เมษายน 2567 ขณะที่ถนนเกือบทุกเส้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังโล่งเตียน ไร้ความหนาแน่นจากรถเมล์และยานพาหนะของชาวออฟฟิศ สุเหร่าคลองหนึ่งกลับคลาคล่ำไปด้วยผู้คน พ่อค้าแม่ค้าเคาะกระทะ ตีหม้อแกงเต็มสองข้างทาง ขณะที่รถกระบะพากันขับเวียนซ้ายเวียนขวาอยู่ในซอยกีบหมู บ้างจอดนิ่ง บ้างลดกระจกมองคนข้างทาง ดูแล้วเหมือน ‘แมวมอง’ 

กระบะที่ว่าไม่ได้มาหานักแสดงหรือนักกีฬามือดีตามนิยามของแมวมอง หากแต่กำลังหาช่างฉาบ ช่างปูน ช่างเชื่อม และกรรมกรในซอยกีบหมู ที่กำลังนั่งอยู่ริมถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับทำงาน ที่หากนายจ้างบนรถกระบะเห็นเข้าจะทราบทันใดว่าเป็นช่างอะไร และเมื่อเจอแรงงานที่ตนหมายปองแล้ว คนบนรถกระบะจึงจะเปิดประตูลงเดินเข้าหาคนริมถนน เพื่อตกลงราคาและบอกข้อมูลที่แรงงานควรรู้ หากพร้อมใจทั้งคู่ ก็ขึ้นหลังกระบะไปด้วยกัน 

“มากันแต่เช้า มารอกันตั้งแต่ตี 4 รอคนพาไปทำงาน” แรงงานชายยืนพูดกับเราอยู่ริมถนน ในมือกำเครื่องไม้เครื่องมือดูสู้งาน “ถ้ามีคนมารับก็ไป ถ้าไม่มี สักแปดโมงก็กลับบ้านนอน” 

‘แหกขี้ตาตื่น’ เป็นกิจวัตรประจำของผู้คนในซอยกีบหมู ประชากรส่วนใหญ่ในที่แห่งนี้มีอาชีพเป็นแรงงานอิสระในไซต์ก่อสร้าง การซื้อขายแรงงานเริ่มขึ้นตั้งแต่ฟ้าไม่สาง เราไม่อาจทราบได้เลยว่า รถกระบะคันแรกที่เข้ามาจอดในพื้นที่เริ่มตั้งแต่กี่โมง แต่เมื่อเข็มสั้นชี้เลขสี่ เข็มยาวชี้เลขสิบสอง ชีวิตแรงงานถือว่าเริ่มต้นขึ้น แต่ดูเหมือนจะมีคนตื่นเช้ากว่านั้น

“มารอตั้งแต่ตีสามแล้ว” 

‘ลุงแถม’ วัย 70 ปี พร้อมเครื่องมือช่างและกระเป๋าสะพาย พูดกับเราหน้าร้านสะดวกซื้อติดสุเหร่าคลองหนึ่ง ซอย 3 ซึ่งเป็นจุดนัดพบของแรงงานกับนายจ้างประจำทุกวัน ผู้เขียนรู้จักคุณลุงมาก่อนหน้าขณะเดินสำรวจซอยกีบหมูเมื่อคืนวาน และรับรู้ถึงความขยันขันแข็งของชายวัยชราจากเวลาตื่นนอนเป็นอย่างดี

“แต่ถ้าไม่ได้งาน แปดโมงก็กลับกันแล้ว มันร้อน” 

ภาพแห่งการ ‘รอ’ เกิดขึ้นทุกเช้าริมถนนสองเลนในซอยกีบหมู แรงงานที่นี่รู้จักคำว่ารอเป็นอย่างดี ทั้งรองาน รอเงิน ในอากาศที่กำลังจะเร่าร้อนขึ้นทุกที แรงงานในซอยกีบหมูบ้างรอได้ก็รอ บ้างรอไม่ได้ก็กลับฐานอาศัย 

“คนที่มีห้องเขาก็กลับห้องเขา คนไม่มีห้องก็ไปนอนตลาด”

นอนตลาดถูกใช้อธิบายห้องนอนที่ไร้กำแพง ไร้ซึ่งความปลอดภัย ลุงแถมบอกกับเราว่า ‘ที่นอน’ ตรงนี้ไม่ได้ปลอดภัยจากโจรลักขโมยและการกลั่นแกล้งโดยกลุ่มวัยรุ่น 

“เวลามีคนเขาซื้อของมาให้ เราจะบอกเขาว่าไม่ต้องซื้อ” ลุงแถมพูด ขณะกำทรัพย์สินตนแน่นในมือ “ซื้อมาก็หายหมด เราเลยบอกเขาว่าไม่ต้องซื้อ”

นอกจากโจรลักขโมยและกลุ่มวัยรุ่น สิ่งที่เป็นพิษภัยต่อลุงแถมเมื่อต้องอยู่ในห้องนอนไร้กำแพง คือแมลงดูดเลือด ด้วยห่างจากที่หลับที่นอนของลุงแถมเพียง 10 เมตร มีสภาพเป็นคลอง แหล่งฟักตัวชั้นดีของยุง จึงไม่วายถูกแมลงก่อกวนยามหลับอยู่เสมอ ตุ่มนูนแดงบนท้องมือทั้งสองข้างเป็นหลักฐานของการถูกโจมตีโดยแมลงเป็นอย่างดี 

“เผลอหลับไปก็แบบนี้” ลุงแถมว่า “ถ้าเราไม่หลับมันก็ไม่เป็นไร เผลอหลับไปก็แป๊บเดียวเท่านั้นแหละ ยุงกัด” 

รุ่งอรุณกำลังมา พระอาทิตย์กำลังขึ้น จุดนัดพบของแรงงานกับนายจ้าง ณ สุเหร่าคลองหนึ่ง ซอย 3 แน่นขนัดกว่าชั่วโมงก่อน แรงงานมากมายอยู่หลังรถกระบะ บ้างกำลังเจรจากับนายจ้างอยู่ริมถนน แต่สำหรับลุงแถมที่ยืนอยู่กับเราตอนนี้ยังไร้เงาของนายจ้าง เช่นเดียวกับอีกหลายคนในที่เดียวกัน

ทว่าการซื้อขายยังไม่จบ แรงงานกลุ่มนี้ยังต้องยืนรอไปอีกสัก 3-4 ชั่วโมง ในสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ 

2

ผละจากลุงแถม เราเดินข้ามถนนมายังหน้าร้านสะดวกซื้อ จุดนี้เป็นขุมพลังของแรงงานในทุกเช้า ทั้งข้าวผัด ไข่เจียว หมูปิ้ง (นมสด) ในราคาถูกสามารถซื้อหาได้ที่นี่

ขณะเดินดูอาหารด้วยความหิวโซ เราพบกับ ‘ป้ากุ้ง’ แรงงานหญิงวัย 64 ปี กำลังเหม่อมองไปยังรถกระบะบนท้องถนน วันนี้เธอสวมหมวกปีกรอบสีฟ้า พร้อมเสื้อคอปกสีน้ำเงินทึบ และกางเกงขายาว พร้อม ‘ลุยงาน’ ที่เธอก็ไม่รู้ว่าวันนี้จะได้ทำอะไร ช่างฝ้า ช่างสวน หรือกรรมกร 

เราเอ่ยทักทายแรงงานหญิงก่อนจะถามต่อว่า วันนี้ได้งานหรือยัง หญิงตรงหน้าตอบเราอย่างฉะฉานว่า “เขาเอาแต่คนหนุ่มๆ แก่มากเขาก็ไม่เอาไปหรอก เผื่อไปทำงานแล้วตกนั่นตกนี่มา งานจะเข้าบริษัทเอา เขาเลยเลือกเอาที่หนุ่มๆ”

เป็นเรื่องปกติ ในซอยกีบหมู แรงงานที่อายุขึ้นเลข 5 ส่วนใหญ่ออกบ้านมาเพียงได้พูดคุยกับแรงงานในวัยเดียวกันเท่านั้น หากจะถามว่าได้งานหรือไม่ ก็คงได้คำตอบในทำนองเดียวกันว่า “เขาเอาคนหนุ่ม แก่มากเขาไม่เอา” อย่างไรก็ตาม งานที่หนักอึ้ง ทั้งยกของ ปีนป่าย หรือแม้แต่การยืนรองานนานเป็นชั่วโมงแบบป้ากุ้งตอนนี้ ปฏิเสธได้ยากว่ามันเป็นอุปสรรคของร่างกายหญิงและชายชรา

“เหนื่อยสิ รอนานๆ ก็ปวดขา ปวดหัวเข่า”

“แต่มาทำงานตรงนี้ก็ดีนะ เราไปทำงานตอนเช้า ตอนเย็นเราได้เงิน แต่หักค่าห้องไปแล้ว บวกลบคูณหารค่าน้ำค่าไฟไปแล้ว ทำงานที่บ้าน 450 ทำงานที่นี่ก็มีค่าเท่ากัน แต่ที่บ้านนั้น นานที่เขาจะจ้างเรา ที่นี่มีนายจ้างหลายคน ถ้าเราไม่ได้เถ้าแก่คนนี้ เราก็จะมีเถ้าแก่คนอื่นๆ มารับ”

ก็ไม่เสมอไป ที่แรงงานจะได้งานในทุกวัน เหมือนกับลุงแถมและป้ากุ้ง ในชั่วโมงนี้ก็ยังไม่มีใครเหลียวแลพาไปทำงานอย่างหวัง เธอเปรียบเปรยว่า การมายืนรองานกับฝูงชนอีกนับพันที่นี่เสมือนการ ‘เสี่ยงดวง’ 

“เรารู้แล้วว่า ทุกอย่างไม่แน่นอน มาอยู่ที่นี่ตรงนี้ก็เหมือนมาเสี่ยงดวง เรามาแข่งดวงกัน ถ้าดวงดีก็ได้ไป ถ้าดวงไม่ดีก็ตกงาน” ป้ากุ้งพูดขณะมองตรงไปบนถนน

“คนที่ยืนอยู่นี่มาจากร้อยพ่อพันแม่ ไม่รู้นายจ้างเขาเลือกเอาจากตรงไหน เลยคิดว่ามันคือดวง บางทีเพื่อนที่ได้ไปเขารู้จักอีกคน เขาก็ขอว่า ให้นายจ้างรับเพิ่มอีกสองคน เขาก็มาดึงเพื่อนเขาไป เราก็ตกงานเพราะเราไม่ใช่เพื่อนของเขา” 

อีกหนึ่งมายาคติในสังคม คือการมองว่าหญิงด้อยกว่าชายในแต่ละด้าน ผู้หญิงไม่สามารถยกของหนักได้ ผู้หญิงปีนป่ายไม่ได้ ผู้หญิงไร้ความอดทน และอีกมากความ แรงงานหญิงคนอื่นๆ ต่างก็คอยงานอย่างไร้ความหวัง เพราะนายจ้างมักดึงชายไปทำงานมากกว่าหญิง

“แฟนป้าได้งานไปแล้ว ผู้หญิงอย่างเราตกงานเยอะ เพราะเขาเลือกผู้ชาย” 

ไม่แตกต่างจากภาพที่เราเห็น ดูเหมือนว่าแรงงานหญิงในซอยกีบหมูจะกลายเป็นสิ่งที่เหลือ จากการหมางเมินของนายจ้างที่แวะเวียนเข้ามาหาแรงงานที่นี่ หญิงสาวบางรายนั่งเงียบใต้เงาไม้ บ้างงีบหลับด้วยเหนื่อยล้าเพราะรอนาน เพื่อนมากหน่อยก็ตั้งวงหยิบแหนบถอนผมขาว ‘ฆ่าเวลา’ รอการเหลียวแลจากคนบนรถกระบะและนายหน้าผู้ว่าจ้าง 

3

แสงแดด 8 โมงเช้าสาดส่องทุกสิ่งที่อยู่ในซอยกีบหมู ตึกราม อาคารน้อยใหญ่แสดงให้เราเห็นอย่างเด่นชัดในช่วงเวลานี้ แต่ความหวังของเหล่าช่างกับเลือนลางมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่าน 

อากาศที่เริ่มร้อนกำลังคัดสรรความอดทนผู้คนในที่แจ้ง สำหรับผู้เขียนที่ความอดทนต่ำ เงาไม้จากร้านขายของริมถนนคงพอปัดเป่าความร้อนได้บ้าง แต่สำหรับแรงงาน การหลบห่างจากริมถนนเพื่อหลบแดดอาจเท่ากับ ‘เสียงาน’ เพราะนายจ้างมองไม่เห็น

สำหรับผู้ท้อถอย ‘พอแล้ว’ กับการเสี่ยงดวงเพื่อให้ได้งานในวันนี้ ก็ไม่ยี่หระต่อสายตาแรงงานคนอื่นๆ เข้ามาหลบแดดใต้เงาไม้ สั่งอะไรเย็นๆ ประโลมตัวเองให้สดชื่น เพียงเพราะหมดความอดทนกับอุณหภูมิที่ร้อนระอุ

“หมดเวลาแล้ว ปกติหกโมงก็ไปแล้ว วันนี้คงหมดแล้ว เรากลับดีกว่า” แรงงานชายรูปร่างสันทัดพูดกับเราขณะกำลังชะเง้อเหม่อมองแรงงานบนถนน  

วันนี้หมดหวังจะได้งาน เหล้าเบียร์จึงมีส่วนย้อมใจแรงงานบางส่วนในซอยกีบหมู เมามายวันนี้เพื่อสู้ต่อในวันพรุ่งนี้ ด้วยความสนใจสิ่งที่อยู่ในมือของแรงงานชาย เราถามต่อว่า “ไม่ได้ทำงานแล้ว จะกินอีกกี่ขวด” ชายตรงหน้าตอบอย่างฉะฉาน “ก็อีกประมาณ​ 3-4 ขวด แต่ถ้าอยู่ห้องก็ประมาณ 6 ขวด นั่งกินไปเรื่อยๆ เพลิน” 

แม้ค่าแรงของแรงงานที่นี่ (หากได้งาน) จะไม่ขี้ริ้วขี้เหร่ แต่ก็ใช่ว่าแรงงานกีบหมูนับพันคนจะได้งานครบทุกรายและได้ต่อเนื่องทุกวัน มิเช่นนั้นด้วยจำนวนค่าแรงซอยกีบหมูเริ่มต้นวันละ 600-800 บาท บ้างเหยียบหลักพัน คนที่นี่คงได้อิ่มหนำกันตั้งแต่ต้นซอยยันท้ายซอย 

“ที่นี่ค่าแรงแพงจริงนะหนู แต่มันไม่ได้งานทุกวัน บางคนตกงานเป็นอาทิตย์จนไม่มีกิน ถามป้าว่ามีสตางค์ค่ารถไหม ขอสัก 200 บาท” ป้าร้านขายน้ำปั่นวางมือจากการขายน้ำ ลงมาพูดคุยกับเรา 

“แรงงานที่นี่มันต้องจ่ายค่ากิน จ่ายค่าเช่า จ่ายทุกอย่าง ตอนนี้แรงงานก็เยอะกว่านายจ้าง เพราะทุกคนอยากมาอยู่ตรงนี้ แค่จะบอกว่างานมันไม่ได้ทุกวัน ที่ประยุทธ์ (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เคยบอกว่าไม่มีค่าแรงที่ไหนแพงเท่ากับที่นี่ มันแพงจริงๆ แต่มันไม่ได้ทุกวันไง”

จะเถียงอย่างไร เราไม่ใช่ผู้อยู่ และภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้าก็บ่งบอกได้ดีว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้งานทำในซอยกีบหมู แม้จะพกความหวังมาอยู่เต็มอก แต่เมื่อฟ้าสาง ความสว่างกำลังมา แสงแห่งหวังในใจที่จะได้งานของคนในซอยกีบหมูกลับริบหรี่ 

แต่สำหรับลุงแถม ยังคงยืนหันหลังให้เรา หันหน้ามองถนนอย่าง ‘รอคอย’ ว่าจะได้เดินทางไปกับรถสักคันหนึ่ง และกลับมาในตอนเย็นพร้อมค่าเหนื่อย 

4

วันนี้หมดหวังแล้ว แรงงานในซอยกีบหมูบางตา บางส่วนกำลังทยอยกลับเพื่อพักผ่อนจากความเหน็ดเหนื่อยเมื่อตอนรุ่งสาง เช่นเดียวกันกับลุงแถมที่บอกกับเราว่า “ไม่มีแล้วละ ความหวังหมดแล้ว” ก่อนจะนำเรากลับมายังตลาดเคหะชุมชนรามอินทรา ซึ่งเป็น ‘ที่นอน’ ของลุงแถมตลอดคืนที่ผ่านมา 

การทำงานแลกเงินของแรงงาน ณ ซอยกีบหมู แรงงานหลายคนอาจมีฝัน หากไม่ใช่ฝันของตัวเอง ก็อาจเป็นฝันของคนอื่น เช่น ลูก เมีย ผัว หรือพ่อแม่ในต่างจังหวัด แต่สำหรับลุงแถมในวันนี้ค่อนข้างแตกต่างและสวนทางจากที่เราคิด เขาไม่มีฝัน และการอยู่ในที่แห่งนี้ก็เพื่อยืดชีวิตตัวเองออกไปเรื่อยๆ 

“ฝันตอนเด็ก กับตอนนี้ของผมมันสลายไปหมดแล้ว เราคิดได้ แต่เราไม่ได้อะไรเลยสักอย่าง

“ตอนนี้ เราไม่เหลืออะไรเลย อย่าไปคาดหวังถึงมันเลย แค่ใช้ชีวิตไปตามมีตามเกิด แล้วแต่มันจะไปหยุดตรงไหน” ชายชราทิ้งท้ายก่อนลาจากกัน

Tags: , , , , ,