ก่อนหน้านี้ พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ลานกิจกรรม สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี พร้อมเปิดให้บริการวันที่ 25 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ โดยได้พลิกฟื้นคลองช่องนนทรีที่เป็นเพียงทางระบายน้ำให้เกิดประโยชน์มากขึ้น โดยเริ่มก่อสร้างช่วงที่ 2 มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จากถนนสาทรไปจนถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ที่การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 70.59% ไม่ว่าจะเป็นการเทคอนกรีต การทำทางเท้า การติดไฟ ทางเดินสกายวอล์ก การปลูกต้นไม้ และผนังน้ำตก

สำหรับคลองช่องนนทรี เป็นโครงการทิ้งทวนการทำงานของพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากรุงเทพฯ คนปัจจุบัน ก่อนการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ที่ใกล้จะถึงนี้ ซึ่งใช้งบประมาณไปกว่า 980 ล้านบาท โดยหวังว่าจะสามารถพลิกฟื้นคลองน้ำเน่ากลางถนนสาทรที่ส่งกลิ่นเหม็นให้กลายเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ พร้อมกับแก้ปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสียและน้ำท่วมของคนได้ แต่คลองช่องนนทรีจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำเน่าเสียได้จริงไหม และแท้จริงแล้ว คลองน้ำเน่าแห่งนี้มีความจำเป็นมากแค่ไหนในการก่อสร้างอย่างเร่งด่วนเช่นนี้

สองวันก่อนกำหนดการเปิดคลองช่องนนทรี The Momentum ลงพื้นที่บริเวณเกาะกลางถนนคลองช่องนนทรี เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมา พบว่าน้ำในคลองยังคงเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็น การจัดแสงไฟ การปลูกต้นไม้ประดับตกแต่ง การก่อสร้างสกายวอล์ก ต่างดำเนินไปท่ามกลางบรรยากาศที่คละคลุ้งไปด้วยฝุ่นจากการก่อสร้าง ควันมลพิษจากการขนส่งจราจร และ PM2.5 ที่วัดค่าในวันดังกล่าวได้สูงถึง 155 AQI (US Air Quality Index) แต่ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ ‘แรงงาน’ บางคนไม่มีแม้แต่หน้ากากอนามัยที่จะสวมสำหรับป้องกันตัวเอง

ฉากหน้าคือความพร้อมและความสวยงาม แต่ ‘เบื้องหลังคนสร้าง’ คลองช่องนนทรีที่ต้องเร่งทำให้เสร็จทันวันคริสต์มาสและกลายเป็นแลนด์มาร์กที่ใหม่ของกรุงเทพมหานครเป็นอย่างไรบ้าง?

แรงงานหญิง ผู้ทำหน้าที่ตกแต่งสวน บอกกับเราว่า “เข้างาน 8 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็น ใครอยากทำโอทีต่อได้ชั่วโมงละ 50 บาท ซึ่งช่วงนี้งานเร่ง เขาก็ทำโอทีกันถึงเช้า”

แม้การทำงานล่วงเวลาจะเป็นไปตามความสมัครใจของคนงาน แต่ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ เงินเดือนหรือค่าจ้างรายวันที่ไม่เคยถูกปรับขึ้น ในขณะที่ค่าครองชีพค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันกลับผกผันกับรายรับราว ‘ฟ้ากับเหว’ แรงงานส่วนมากจึงต้องรีดเค้นทั้งแรงกายแรงใจเพื่อทำงานล่วงเวลา

“รายจ่ายเราเยอะค่ะ มีลูก 3 คน คนโตกำลังจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย คนกลางก็เข้ามัธยมฯ คนเล็กก็ไม่กี่ขวบ ก็เลยเลิกงานตี 3 ตี 4 ติดกันมาหลายวันแล้ว แต่ก็มีคนที่ทำงานถึงเช้าก็มีนะ เข้างาน 8 โมงเช้า เลิกงานอีกที 6 โมงเช้าอะไรแบบนี้”

The Momentum ได้พูดคุยกับสองคนงานสาวในไซต์แห่งนี้

“ปกติเข้างาน และเลิกงานกี่โมงคะ”

“เข้า 8 โมงเช้า 5 โมงก็เลิกงานแล้ว”

“แต่นี่ 6 โมงเย็นแล้วนะ”

“ก็วันไหนงานเขาเร่ง ก็ต้องเลิกดึกหน่อย”

สองหญิงสาวชาวกัมพูชา ผู้ทำงานตั้งแต่ฟ้าสว่างยันฟ้ามืด ทำงานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะทาสี เทปูน หรืองานขนวัสดุ เธอทั้งสองได้รับค่าจ้างเหมือนกับคนอื่นคือ วันละ 300 บาท หากทำงานล่วงเวลาจะได้เงินเพิ่มชั่วโมงละ 50 บาท

“หกโมงเย็นแล้ว ได้กินข้าวกันหรือยังคะ”

“ยังเลย แต่อีกแป๊บจะกินกันแล้ว”

“ปกติกินข้าวกันตรงไหนคะ”

“ที่ไหนร่ม ที่ไหนไม่มีแดด ก็นั่งกินกันตรงนั้นแหละ”

เธอเล่าให้ฟังต่อว่า การที่เธอรับทำโอทีเพื่อให้ได้ค่าจ้างเพิ่มจาก 300 บาทต่อวันนั้น เพราะอยากเก็บเงินกลับบ้านที่กัมพูชา ถ้าเมื่อไรที่สถานการณ์ดีขึ้น สามารถกลับบ้านได้ เธอก็อยากกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดอีกครั้ง

“มีวันหยุดไหม ทำงานกี่วัน”

“7 วัน ไม่มีวันหยุด หยุดก็ไม่ได้เงิน เราเลยไม่หยุด”

หลังจบบทสนทนา บริเวณสกายวอล์ก สถานที่ทำงานที่เธอกำลังเร่งทาสี พื้นที่ที่เรายืนคุยกันก็ถูกแปรเปลี่ยนเป็น ‘ห้องกินข้าว’ ด้วยการปูเสื่อและนั่งล้อมวงแบ่งปันอาหารร่วมกับแรงงานคนอื่น ดังคำที่เธอว่า “ที่ไหนร่ม ไม่มีแดดก็นั่งตรงนั้นแหละ”

บรรดาไม้ดอกไม้ประดับที่ปลูกไว้ข้างคลองช่องนนทรี ที่มีต้นแบบมาจากคลองชองกเยซอน เกาหลีใต้
นักจัดสวนทั้งชายหญิงต่างง่วนอยู่กับการรีบปลูกต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นการขนดิน ปลูกหญ้า ลงไม้ดอกต่างๆ
ทั้งที่ตอนนี้เวลาก็ล่วงเลยมากว่า 19.00 น. แล้ว

“เข้างาน 8 โมงเช้า แล้ววันนี้ทำโอทีถึงกี่โมงคะ”

“แล้วแต่งานเร่ง ช่วงนี้เร่งก็ทำถึงตี 2 ตี 3”

“ไหวไหมคะ”

(ยิ้ม) “กลับก่อนได้ถ้าไม่ไหว แต่ก็ไม่ได้เงิน หรือบางวันต้องรอจนกว่าพวกหิน พวกดินมาส่ง เพราะเวลาที่หินดินมาส่งคือเวลาที่รถหยุดวิ่งบนถนน” เธอตอบ

“วันที่ต้องรอของมาส่ง เหนื่อยแค่ไหนก็กลับบ้านไม่ได้”

“ไม่ได้ เพราะต้องจัดการนำของลง บางวันดินมาส่ง 2-3 ทุ่ม ก็เทดินไปเรื่อยๆ จนถึง 4-5 ทุ่มก็กลับ”

“มีวันหยุดไหมคะ”

“หยุดทุกวันอาทิตย์ แต่ถ้าหยุดก็ไม่ได้ค่าแรง ตอนนี้คนทำโอทีเยอะ เพราะงานเร่ง บางชุดก็ทำจนถึงฟ้าสว่างเลย เช่นวันก่อน พี่กลับตอนตี 4 พวกเขายังไม่กลับกันเลย”

เธอเหนื่อย เธอล้า แต่เธอบอกกับเราว่าที่ต้องทำงานตอนนี้เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ลูกคนโตกำลังจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย คนกลางเข้าโรงเรียนมัธยมฯ คนเล็กก็ต้องเสียค่าแพมเพิร์ส จนชวนให้อดไม่ได้ว่า…จะดีแค่ไหนกัน ถ้าหากประเทศนี้มีสวัสดิการให้ประชาชนสามารถเรียนฟรีจนถึงระดับปริญญา

“แล้ววันนี้จะกลับกี่โมง”

“น่าจะตี 2-3 เพราะดินยังไม่มาส่งเลย กว่าหินจะมาส่งก็เที่ยงคืนแล้ว กว่าเขาจะเทดิน ลงตำแหน่งอีก”

ความงดงามของแสงไฟประดับประดาจัดเตรียมขึ้นเพื่อให้ทันวันเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส แม้ว่างานการติดไฟจะไม่ใช่แรงงานรายวันที่ต้องมาทุกวัน แต่การทำงานของพวกเขาก็ต้องเร่งรีบเพื่อให้เสร็จทันวันงานในวันที่ 25 ธันวาคมที่จะถึงนี้ เช่นเดียวกับงานอื่น

“อีกไม่กี่วันก็ต้องมาเก็บไฟแล้วครับ”

“ไม่ได้ติดไว้ตลอดไปหรือคะ”

“ไม่ครับ เป็นแค่เทศกาล ถ้าเขาเรียกให้มาเก็บผมก็มาเก็บ”

สองสาวจากกาฬสินธุ์ ผู้แบกร่างและแรงกายมาสู้งานที่กรุงเทพฯ

เธอทั้งสองรับจ้างในตำแหน่งนักจัดสวนผู้มอบความสวยงามด้วยการปลูกดอกไม้ให้เหล่านักท่องเที่ยวได้เชยชมและถ่ายรูป

“เพิ่งมาทำงานได้ 2-3 วันค่ะ ยังใหม่อยู่” เธอเข้างานในยามเช้าและเลิกงานในยามดึกเหมือนกับแรงงานคนอื่นที่กำลังสรรสร้างคลองช่องนนทรีในขณะนี้อยู่ เธอเดินทางมาทำงานด้วยรถของบริษัทที่จะมารับ-ส่งไประหว่างที่พักและไซต์งาน ส่วนเวลาทำงานขึ้นอยู่กับนายจ้าง ว่าวันนี้มีงานเร่งมากน้อยแค่ไหน ถ้าเร่งมากก็กลับดึก ถ้าไม่เร่งก็เลิกงานตามเวลา

“วันนี้จะเลิกงานกี่โมงคะ”

เธอชี้ไปที่กองต้นไม้ ที่ประเมินด้วยสายตาแบบรวดเร็วคงไม่ต่ำกว่า 30 ต้น

“ถ้าปลูกพวกนี้ไม่เสร็จก็ไม่ได้กลับ?”

เธอเพียงแต่ยิ้มแทนคำตอบ

Tags: , ,