41
คือจำนวนชุมชนที่ได้รับการรับรองจากภาครัฐว่าเป็นชุมชนที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะที่อีกหลายชุมชนกลับตกหล่นระหว่างทาง เมื่อนับประชากรรายหัวในพื้นที่ 12 ตารางกิโลเมตร พบว่ามีประชาชนอาศัยราว 1 แสนคน และนี่คือชุมชนแออัดคลองเตย หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ ‘สลัม’
เดือนเมษายนที่ผ่านมา ชุมชนคลองเตยถูกสาดด้วยหมึกสีแดงจาก ศบค. ด้วยยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งสูงหลักร้อยในแต่ละวัน จากการแพร่ระบาดของ ‘คลัสเตอร์ทองหล่อ-เอกมัย’ แหล่งรวมตัวของเหล่าผู้มีอันจะกิน เปลี่ยนสู่มือ ‘คลัสเตอร์คลองเตย’ แหล่งชุมชนแออัดของผู้มีรายได้น้อย
ผลกระทบจากสถานบันเทิงย่านสุขุมวิท ส่งผลลบต่อคนจนเมืองอย่างมหาศาล ทั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ตกงาน ถูกไล่ออก เพียงเพราะอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด สภาพที่อยู่อาศัยส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ และยากต่อการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ด้วยความที่เขตคลองเตยมีพื้นที่เล็กเป็นอันดับที่ 21 จาก 50 เขตของกรุงเทพฯ แต่กลับมีประชากรอาศัยหนาแน่นเป็นอันดับที่ 18
สิ่งเหล่านี้ยังไม่รวมถึงสถานะความจนของประชากร ที่มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยแล้วไม่เพียงพอต่อการซื้ออุปกรณ์ป้องกันตัวเองจากโควิด-19 ทั้งหน้ากากอนามัยหรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ จนทุกวันนี้ คลัสเตอร์ย่านคนรวยยังคงสร้างบาดแผลและผลกระทบต่อคนจนเมืองอย่างมหาศาล
ภาพ: ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์
จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในคลองเตยไม่ได้ลดลง แต่ประชาชนเข้าไม่ถึงการตรวจ
“หากมองในเชิงสถานการณ์ มองตัวเลขตอนนี้ ผู้ติดเชื้อคลองเตยเหมือนจะลดลง แต่ไม่ใช่ ประชาชนแค่เข้าไม่ถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19”
ชุติมา เรืองแก้วมณี อาสาสมัครกลุ่มคลองเตยดีจัง อธิบายเพิ่มว่า คลองเตยเป็นพื้นที่แรกที่เกิดการระบาดในระลอกที่ 3 แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่มีการแก้ไขปัญหาอะไรเกิดขึ้นเลย ชุมชนคลองเตยหลักๆ ประกอบไปด้วยกลุ่มคนจนเมืองและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสวัสดิการต่างๆ ของภาครัฐ ยังไม่รวมมาตรการเยียวยาหรือการจองวัคซีนโควิด-19 ที่ต้องลงทะเบียนรับสิทธิ์ผ่านโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต
“โทรศัพท์สมาร์ตโฟนไม่ได้มีทุกบ้าน บางครอบครัวมีโทรศัพท์ขาวดำ 1 เครื่อง และถ้าช่วงไหนเงินขาดมือก็จะนำมือถือเครื่องนี้ไปจำนำ อย่างที่บอกไปว่าคนในชุมชนเขาอยู่รอดได้ด้วยตัวเองจริงๆ ถ้าเกิดยอมแพ้เมื่อไรเขาก็ตาย ไม่มีทางเลือกนอกจากดิ้นรนอดทนเอง สิ่งนี้สะท้อนภาพทางสังคมหลายอย่าง เพราะคนในชุมชนคลองเตยเป็นกลุ่มคนที่ถูกใช้แรงงานจนร่างกายอ่อนแอ มีโรคประจำตัวทั้งความดัน เบาหวาน และเมื่อเกิดโรคระบาดโควิด-19 ก็ไม่ได้รับการดูแลหรือการตรวจหาเชื้ออย่างทั่วถึง”
เบญจวรรณ ธนพร อาสาสมัครกลุ่มคลองเตยดีจัง กล่าวเสริมว่า จากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 2, 3 จนมาถึง 4 ไม่เคยเห็นพัฒนาการในการแก้ไขปัญหา การรับมือ รวมถึงมาตรการใดๆ ก็ตามจากภาครัฐ อีกปัญหาที่คลองเตยต้องเจอคือการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ถูกไล่ออกจากที่ทำงานเพียงเพราะมีบ้านอยู่ที่ชุมชนคลองเตย สิ่งนี้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ เมื่อรายได้หายไป ยิ่งทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจโควิด-19 ได้มากเท่านั้น จนทำให้เธอรู้สึกว่า การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของคนในชุมชนแออัดต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่น
“ชาวบ้านบางคนอยากไปตรวจ ก็เดินทางไปตรวจที่คลินิก ราคาตรวจครั้งละ 800-3,500 บาท ก็ต้องยอม บางคนไม่มีเงินติดบ้านก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อเดินทางและเข้ารับการตรวจ เมื่อผลออกมาก็พบว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 แต่ผลนี้กลับใช้ไม่ได้ เพราะเป็นการตรวจแบบ Rapid Test เขาเลยต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด ทั้งเงินที่กู้มา และการรอคิวตรวจแบบ RT-PCR
“นโยบายที่ออกมาก็ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ มันเหมือนกับว่าตอนนี้ระบบกำลังซ้ำเติมประชาชนอีกรอบ ยิ่งมอบความลำบากยากเข็ญให้ประชาชน นอกจากเงินที่เขาต้องเสียในการตรวจหาเชื้อแล้ว บางคนต้องหยุดงานเพื่อไปตรวจหาเชื้อ ทั้งที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน”
‘คลองเตยดีจัง’ เมื่อรัฐไม่เคยโอบอุ้ม มีเพียงประชาชนที่ช่วยเหลือกัน
“สิ่งที่ทำให้ชุมชนคลองเตยยังอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ คือความเข้มแข็งของคนในชุมชน” เบญจวรรณกล่าว
จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชุมชนคลองเตย ทำให้เกิดทีมในชุมชนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งทีมจากคลองเตยดีจัง มูลนิธิดวงประทีป เบญจวรรณและชุติมาเป็นหนึ่งในทีมอาสาสมัครของคลองเตยดีจัง โดยคลองเตยดีจังได้พัฒนาระบบตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูลระบบการช่วยเหลือ ทีมเฉพาะหน้า การเยียวยา โดยหน้าที่หลักของเบญจวรรณคือ Case Manager ทำหน้าที่กรอกข้อมูลเข้าระบบว่ามีผู้ติดเชื้อในชุมชนเท่าไร ติดตามอาการ และผลการรักษา ส่วนชุติมาคือสายด่วนคอยตอบปัญหา คอยโทรติดต่อสอบถามอาการ และส่งเรื่องไปฝ่ายต่างๆ เช่น หากชุมชนต้องการอาหาร ก็จะส่งอาหารเข้าไปให้ หรือแม้แต่ระบบการส่งตัวเข้าโรงพยาบาลก็ตาม
คลองเตยดีจังทำงานร่วมกับคนในชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนในพื้นที่ทั้งการทำงานเชิงรุก รับส่ง และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ยกตัวอย่าง เมื่อคนในชุมชนติดเชื้อโควิด-19 ก็จะมีอาสาสมัครในชุมชนเข้าไปถ่ายรูปบัตรประชาชน ข้อมูลของผู้ติดเชื้อ แล้วข้อมูลดังกล่าวก็จะถูกกรอกเข้าไปในระบบ พร้อมกับการประเมินอาการว่าอยู่ขั้นไหน โดยแบ่งความรุนแรงออกเป็นสี เช่น สีเขียว สีเหลือง และสีแดง พร้อมกับทีมคอยส่งข้าวส่งน้ำ และทีมตรวจสุขภาพบันทึกอาการแต่ละวัน ทั้งความดัน ระดับค่าออกซิเจน และการวัดไข้ จนไปถึงกระบวนการหาเตียง นำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ก่อนจะสรุปยอดผู้ป่วยในแต่ละวัน เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนในพื้นที่
“ไม่อยากให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับคลองเตยเกิดกับชุมชนอื่น แต่หากมันเกิดขึ้น ชุมชนต้องไม่หวังพึ่งรัฐบาล แต่จริงๆ แล้วมันต้องพึ่งได้ รัฐต้องเข้ามาสนับสนุน ชุมชนต้องหันมามองทรัพยากรและศักยภาพในชุมชนเองว่ามีอะไรบ้าง ขาดอะไรบ้าง ตื่นตระหนกได้ แต่ต้องกลับมาตั้งสติ ภาครัฐหรือหน่วยงานต่างๆ ต้องให้อำนาจกับคนในชุมชน คุณไม่ต้องทำงานก็ได้ นี่พูดแบบใจกว้างที่สุด แต่อย่างน้อยช่วยมาสนับสนุนสิ่งที่ชุมชนทำบ้างได้ไหม
“รัฐบาลละเลยพวกเรา และเราไม่อยากให้ชุมชนอื่นต้องมาเจอแบบนี้” ชุติมาเล่าต่อว่า การทำงานของทีมอาสาสมัครขณะนี้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ระบบและโครงสร้างไม่ถูกแก้ไขตาม จึงเป็นการกระทำที่เหนื่อยมาก สิ่งที่ยังคาดหวังคือรัฐบาลควรเข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหา อุดประเด็นต่างๆ พร้อมกับช่วยสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์การดำเนินงาน ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงประชาชนเท่านั้นที่ช่วยเหลือกันผ่านการรับบริจาค
ภาพ: ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์
เมื่อใดที่คลองเตยเป็นข่าว เมื่อนั้นคลองเตยได้รับการช่วยเหลือ
“ปัญหาคือตอนนี้คนในชุมชนอยากไปตรวจโควิด-19 จำนวนมาก แต่มันมีโควตาการตรวจน้อย ตอนนี้เลยกลายเป็นว่าคนที่ยังไม่ได้รับการตรวจแปลว่าเขายังไม่ติด แล้วกายภาพพื้นที่ในชุมชนคลองเตยไม่ได้เป็นแบบบ้านเดี่ยว ไม่สามารถเดินห่างกัน 10 เมตรได้ เมื่อไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 ก็จะใช้ชีวิตปกติ และสามารถแพร่กระจายเชื้อให้คนในชุมชนอีกจำนวนมากได้” สิทธิชาติ อังคะสิทธิศิริ หัวหน้าทีมกลุ่มอาสาเฝ้าระวังที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อคนในชุมชน กล่าวถึงปัญหาของชุมชนคลองเตย
หน้าที่หลักของทีมอาสาสมัครนี้คือทำทุกอย่างเท่าที่จะช่วยคนในชุมชนได้ ตั้งแต่การช่วยส่งน้ำและอาหารให้ผู้ป่วยติดเชื้อในชุมชน นำรถดับเพลิงมาดัดแปลงเป็นรถขนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ คอยนำส่งโรงพยาบาลและศูนย์พักคอย และเข้าไปฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อภายในบ้านของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19
“ผมขอพูดในนามหัวใจคนคลองเตย ผมเกิดที่คลองเตย ผมอยากให้รัฐบาลมองเห็นความสำคัญของคลองเตยบ้าง ชุมชนสลัมคลองเตยคือฟันเฟืองอย่างหนึ่งของประเทศ ประชากรแสนกว่าคนประกอบอาชีพหลากหลายมาก ทำไมไม่หาทางมาช่วยเหลือความเป็นอยู่ มาหาวิธีป้องกัน ฉีดวัคซีน ตรวจหาเชื้อ คุณสามารถสังเกตได้ง่ายๆ เลยว่า พื้นที่คลองเตยฝั่งสุขุมวิทกับฝั่งคลองเตยพระราม 4 ที่มีถนนพระราม 4 คั่นกลาง แต่ละฝั่งเหมือนนรกกับสวรรค์ ฝั่งพระราม 4 เป็นเมืองศิวิไลซ์ ส่วนฝั่งคลองเตยเป็นสลัม อยากขอให้กลับมามองคนคลองเตยหน่อย คนคลองเตยถูกทิ้งเสมอ ขออะไรไม่เคยได้ ขอไปก็เงียบหมด จะลงมาสนใจเมื่อตอนเป็นข่าว พอข่าวเงียบก็หายไปเลย”
ภาพ: ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์
อคติต่อชุมชนคลองเตย
“แฟนเคยทำงานได้เงินเยอะกว่านี้ ตอนนี้รายได้เหลือครึ่งหนึ่ง พอเขารู้ว่าเรามาจากกลุ่มเสี่ยงคลองเตย ภาครัฐก็ไม่เคยมาช่วย มีแต่ประชาชนที่มาบริจาคข้าวกล่อง บางวันอาหารที่เขามาแจกก็แทบไม่พอ เราต้องหาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรืออาหารที่เหลืออยู่มาช่วยกันทำ และบอกเด็กๆ ในชุมชนว่ากินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปก่อนนะลูก เดี๋ยวถ้าอาหารมาแล้วจะรีบเอามาให้เพิ่ม ซึ่งบางทีอาหารก็มีไม่เพียงพอ” ช่อทิพย์ สิวิมล หนึ่งในอาสาสมัครในชุมชนที่ช่วยกระจายข้าว น้ำ อาหาร ให้กับคนในพื้นที่ บอกเล่าวิกฤติในช่วงนี้
“ขายของไม่ได้เลย ไม่มีรายได้มา 2 เดือนแล้ว ที่บ้านอยู่กันสองคนผัวเมีย แฟนขับวินมอเตอร์ไซค์ก็ไม่มีคน บางวันได้ 30-40 บาท ทั้งที่เมื่อก่อนเคยได้ 2-3 ร้อย ทุกวันนี้อยู่ได้เพราะข้าวที่เขาแจก แต่ตอนนี้มีหนี้สิน 2 หมื่นบาท เพราะกู้มาลงทุนขายของแต่ขายไม่ได้” ศรีนวล จรพันธ์ วัย 51 ปี อาชีพค้าขายบอกเล่าถึงช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดในชีวิต
“เรารับคุยปรึกษารายคนกับคนในชุมชนอยู่ ปัญหาเหล่านี้ยังไม่หมดไป เช่น บางบริษัทให้คนในชุมชนลาออก เพราะว่าเป็นคนคลองเตย หรือการที่ต้องมีผลตรวจโควิด-19 ก่อน ถึงจะรับเข้าทำงาน ซึ่งสิ่งนี้ยิ่งทำให้ต้นทุนของเขาติดลบเข้าไปอีก หรือการถูกเลิกจ้างโดยไม่ชอบธรรม เช่น ปัญหาที่เรารับเรื่องอยู่คือ เขาเป็นครูศิลปะชั้นประถมศึกษา แต่มีคนในบ้านติดโควิด-19 เขาจึงแจ้งไปบอกทางโรงเรียนว่าอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ปรากฏว่าวันต่อมา โรงเรียนเชิญให้เขาออก สิ่งที่น่าเจ็บปวดหลังจากนั้นคือ เขาเพิ่งนำลูกตัวเองเข้าไปเรียนที่โรงเรียนดังกล่าว แต่โรงเรียนให้ออกทั้งพ่อทั้งลูก หรืออีกคนทำงานเป็นพนักงานขนกระเป๋าอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อนในทีมได้ทำงานต่อแบบปกติ แต่เขาถูกสั่งกักตัว 14 วัน หลังจากกักตัวและตรวจเชื้อ ผลพบว่าไม่ติดโควิด-19 แต่เขากลับไม่ถูกเรียกกลับไปทำงานอีกเลย” เบญจวรรณเล่าถึงปัญหาที่เธอรับเรื่องจากการทำงานเป็น Case Manager ที่คลองเตย
ภาพ: ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์
ถอดบทเรียนจากคลองเตย
“เราลองคิดกันดูว่า ในขณะที่เขาทำงานหนักแต่ท้องยังไม่อิ่ม แต่เราไปบอกเขาว่า เซฟเซ็กซ์นะคะ หรือบ้านต้องสะอาดกว่านี้ พูดตรงๆ เลยว่าอย่างกรณีของโควิด-19 ชุมชนเขาไม่กลัว กลัวอดตายมากกว่า นี่คือปัญหาร่วมของชุมชนแออัดในทุกพื้นที่”
เบญจวรรณอธิบายเพิ่มเติมว่า อีกปัญหาที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือการศึกษา คลองเตยจะอยู่รอดได้ต้องมีอาชีพและการศึกษาที่ทั่วถึง เพราะเด็กส่วนใหญ่ในคลองเตยเป็นเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากสิ่งแวดล้อมและความจน
“มีคำพูดที่ว่า ถ้าเด็กคลองเตยจบ ม.3 ถือว่าเก่งแล้ว รอดแล้ว เพราะอย่างน้อยก็ยังสมัครงานในเซเว่น อีเลฟเว่นได้ เพราะเขารู้สึกว่าอย่างน้อยก็ยังได้ทำงานในห้องแอร์”
อีกปัญหานอกจากสิ่งแวดล้อมในชุมชนแออัด ความจนก็เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก เพราะมันเชื่อมโยงไปอีกหลายสิ่ง ทั้งความรู้ ความเข้าใจเรื่องเพศ ยกตัวอย่าง ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่ต้องป้องกัน แต่เมื่อเด็กส่วนใหญ่เป็นคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ก็ขาดความเข้าใจในจุดนี้ และโยงมาถึงความรู้ในการป้องกันตัวเองช่วงโควิด-19
ชุติมาเล่าเสริมว่า สิ่งที่สามารถถอดบทเรียนได้จากคลองเตย และชุมชนอื่นสามารถนำไปปรับใช้ได้คือ ทุกชุมชนต้องรู้ศักยภาพและเงื่อนไขของตัวเอง อย่างปัญหาคลองเตยคือการที่บ้านและชุมชนแออัดอยู่ใกล้กันมาก ส่งผลให้มีการแพร่ระบาดติดเชื้อได้ง่ายและไว จึงมีการสร้างศูนย์พักคอยขึ้นมาเพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากคนในชุมชน แต่ชุมชนอื่นอาจสามารถทำ Home Isolation ได้ เมื่อเราเห็นจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละชุมชน หน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานอาสาสมัครต่างๆ จะได้เข้าไปช่วยในเรื่องของจุดอ่อน เช่น การบันทึกข้อมูลผู้ป่วยติดเชื้อ จนข้อมูลดังกล่าวสามารถนำไปใช้ต่อรองกับภาครัฐได้ ว่าขณะนี้เรามีผู้ป่วยในชุมชนจำนวนเท่าไร
“ความเข้มแข็งของคนในชุมชน คือการที่เขาลุกขึ้นมาสู้โดยไม่รอระบบการสงเคราะห์ เพราะรัฐจะมาหรือไม่มาช่วยไม่มีใครรู้ ตอนนี้มันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คลองเตยได้รับการช่วยเหลือร่วมมือจากหลายภาคส่วนยกเว้นจากรัฐบาล” เบญจวรรณกล่าวทิ้งท้าย
Tags: Feature, โควิด-19, คนจนเมือง, คลองเตย