‘I Told พระแม่ลักษมี About …’
ในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนต้องเคยเห็นชาเลนจ์หรือแฮชเท็ก #Itoldพระแม่ลักษมี ผ่านหน้าผ่านตาในโลกโซเชียลมีเดียมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการรีวิวว่า พระแม่ประทานสเป็กที่ขอได้ตรงบรีฟมากแค่ไหน หรือการบอกกันปากต่อปากว่าพระแม่ลักษมีที่เกษรวิลเลจศักดิ์สิทธิ์มาก ขอแล้วจะได้คู่ครองและสมหวังเรื่องความรัก ยิ่งทำให้คนแห่แหนไปขอพรเนืองแน่น จนตอนนี้ไม่อาจทราบได้ว่าหางคิวของพระแม่สิ้นสุด ณ ที่แห่งไหน
The Momentum ชวนอ่านเรื่องราวของพระแม่ลักษมี จากเทวีผู้นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์แห่งโลก สู่ I Told พระแม่ลักษมี About ความรัก ได้อย่างไร?
แล้วพระแม่ที่มอบความอุดมสมบูรณ์ โชคลาภ และร่ำรวย จะช่วยลูกได้ไหม จะประทานเขาหรือเธอคนนั้นได้จริงหรือเปล่า?
ศรีลักษมี: ตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์
‘ลักษมีเทวี’ เป็นหนึ่งในเทวีที่เก่าแก่มากองค์หนึ่งในศาสนาฮินดู โดยพระนางได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกในคัมภีร์ฤคเวทด้วยพระนาม ‘ศรี’ ในฐานะพระเทวีแห่งความมงคลทั้งปวง อย่างไรก็ตาม คำว่า ‘ลักษมี’ แต่เดิมไม่ได้สื่อถึงเพศหญิงหรือพระเทวี เป็นเพียงความหมายของ ‘สัญลักษณ์มงคล’ เท่านั้น เพราะมีรากศัพท์คำว่า ‘ลักษ์’ และ ‘ลักษณะ’ ซึ่งมีความหมายโดยรวมว่า รับรู้, สังเกต, รู้, เข้าใจ, เป้าหมาย, จุดมุ่งหมาย, วัตถุประสงค์, คุณภาพ, เครื่องหมายแห่งโชค และโอกาสอันเป็นมงคล
จนกระทั่งในคัมภีร์ชั้นหลังจากพระเวทอย่าง ษตปถะพราหมณะ (Sthatapatha Brahmana) อายุราว 300 ปีก่อนพุทธกาล กล่าวถึงการรวมคำว่า เทวีศรีและเทวีลักษมี กลายเป็นคำว่า ‘เทวีศรีลักษมี’ หมายถึงผู้นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์แห่งโลก ในมหากาพย์รามายณะยังระบุต่อว่า พระนางเกิดจากการกวนเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) ก่อนจะถูกรับไปเป็นชายาของพระวิษณุผู้ปรากฏพระองค์ ณ สถานที่แห่งนั้นด้วย เช่นเดียวกับในมหากาพย์มหาภารตะได้กล่าวถึงชายาพระองค์นี้ของพระวิษณุ ในฐานะ ‘พระเทวีผู้เป็นที่สถิตแห่งความร่ำรวยทั้งปวง’
ด้วยเหตุนี้พระนางจึงได้รับความนับถืออย่างมาก จากเหล่าพระเจ้าแผ่นดินแห่งจักรวรรดิต่างๆ ในดินแดนภารตะ มีการพบเหรียญสมัยราชวงศ์คุปตะ (Gupta Period) ราว พ.ศ. 800-1000 มีการประทับรูปพระเทวีลักษมีในฐานะพระเทวีผู้อุปถัมภ์อาณาจักร เพื่อความร่ำรวย มั่งคั่ง ของราชวงศ์ และมีแม้กระทั่งรูปพระเทวีประทับเหนือหลังสิงโต (วีระลักษมี) เพื่อเน้นย้ำความสำคัญดังกล่าว
ในวรรณกรรมยุคหลังราชวงศ์คุปตะ (Post-Gupta Period) หรือราว พ.ศ. 1100 เช่น หรรษจริต (Harshacharita) มีการอ้างถึงพระลักษมีในฐานะเทวีแห่งโชคดีผู้โอบอุ้มราชวงศ์ให้รุ่งเรือง พร้อมทั้งกล่าวถึงการล่มสลายลงของราชวงศ์ในอดีตว่า มีเหตุมาจากการที่พระนางหนีไปจากกษัตริย์ผู้ประพฤติตัวไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ ฉะนั้น หากพิจารณาตามนี้ ตรงไหนคือ ‘ความรัก’ ของพระเทวีลักษมี? หรือพระนางเป็นเพียงบุคลาธิษฐานหรือตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์และร่ำรวยก็เท่านั้น
ลักษมีกับความรัก
ดูราวกับว่าวรรณกรรมอินเดียเดินสวนทางกับความรับรู้ของคนไทยมาก เพราะไม่มีการกล่าวถึงพระนางในฐานะผู้ประทานคู่ครองเลย แล้วพระนางกลายมาเป็นเทพแห่งความรักได้อย่างไรกัน?
เบื้องต้นแล้ว เทพเจ้าแห่งความรักในเทวสภาแห่งเทพเจ้าของศาสนาฮินดู คือ ‘กามเทพ’ ผู้ครอบครองปุษปศร หรือลูกศรดอกไม้ที่บันดาลให้ผู้ต้องศรลุ่มหลงในสิ่งใดๆ ก็ได้ เพราะโดยความหมายแล้ว ‘กามะ’ ในภาษาสันสกฤตแปลว่า ‘ความปรารถนา’ ซึ่งไม่ได้จำเพาะอยู่เฉพาะเรื่องเพศเท่านั้น อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมีความเห็นว่า ลักษมีเทวีถูกเปลี่ยนความเข้าใจจากเทวีแห่งความร่ำรวยไปสู่เทวีแห่งความรักในสังคมไทย เนื่องจากความเข้าใจของคนไทยที่มีพื้นฐานมาจากตำนานที่ระบุว่า พระนางและพระวิษณุทรงครองคู่กันอย่างมั่นคงตลอดเวลา ดังคำกล่าวในคัมภีร์ปุราณะที่ว่า
“ศรีผู้จงรักภักดีต่อพระวิษณุเป็นมารดาของโลก พระวิษณุคือความหมาย พระศรีคือวาจา เธอคือความประพฤติ เขาคือพฤติกรรม พระวิษณุเป็นความรู้ เธอเป็นผู้หยั่งรู้ พระองค์คือพระธรรม พระนางคือผู้กระทำคุณธรรม เธอเป็นแผ่นดิน เขาเป็นผู้ปกป้องโลก เธอคือความพอใจ เขาคือความพอใจ เธอปรารถนา เขาคือความปรารถนา ศรีคือท้องฟ้า พระวิษณุคือตัวตนของทุกสิ่ง เขาคือดวงอาทิตย์ เธอเป็นแสงสว่างของดวงอาทิตย์ เขาเป็นมหาสมุทร เธอเป็นชายฝั่ง”
แต่สิ่งนี้สามารถสะท้อนถึงความรักได้จริงหรือ? ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาลึกลงไปในเชิงปรัญชาของสำนักคิดสางขยะ (Samkhaya) โลกนี้ประกอบสร้างขึ้นด้วยสองสิ่งคือปุรุษะ (ความรับรู้) แทนด้วยเพศชาย และประกฤติ (ตัวสร้าง) แทนด้วยเพศหญิง ทั้งสองสิ่งนี้ประกอบกันเกิดเป็นโลก สิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิต ฉะนั้น สิ่งนี้สะท้อนว่าศาสนาฮินดูโดยพื้นฐานให้ความสำคัญกับ ‘ทวิภาวะ’ (Duality) ของสรรพสิ่งอันนำไปสู่การสร้าง ซึ่งแทนภาพด้วยชาย-หญิง วิษณุ-ลักษมี ศิวะ-อุมา และพรหม-สรัสวตี
แต่ก็ใช่ว่า เทพเจ้าในวรรณกรรมอินเดียจะ ‘ไร้ความรู้สึกรัก’ ไปเสียทั้งหมด ในวรรณกรรมรุ่นหลังอย่าง คีตาโควินทะ ของชัยเทวะ บรรยายถึงความรักอย่างลุ่มหลง และรุ่มรวยด้วยอารมณ์ทางเพศระหว่างพระกฤษณะกับพระนางราธา หรือใน รามจริตมานัส ของโคสวามีตุลสีทาสก็สะท้อนภาพความรักอันรุ่มรวยของพระรามต่อนางสีดา แม้ในรามายณะต้นฉบับมิได้กล่าวถึงเลยก็ตาม
อีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้เขียนเชื่อว่ามีผลมากต่อความรับรู้ถึงความรักระหว่างพระวิษณุกับพระลักษมีเทวี คือรูปเคารพพระวิษณุซึ่งจะปรากฏพระลักษมีอยู่ข้าง ๆ เสมอ ไม่ว่าจะเป็น ‘นารายณ์บรรทมสินธุ์’ ซึ่งปรากฏพระลักษมีแทบเบื้องพระบาทของพระวิษณุ หรือ ‘ลักษมีนารายัน’ ซึ่งพระเทวีประทับยืนเคียงกับพระวิษณุ กอปรกับรูปโฉมอันงดงามของพระเทวี และรูปลักษณ์ของพระวิษณุที่ป็นเทพบุรุษรูปงามเช่นกัน จึงมีความเป็นไปได้ลักษณะดังกล่าวสะท้อนภาพ ‘คู่รัก’ ซึ่งมีความละมุนละไม แม้ดูเหมือนว่าเทพเจ้าสองพระองค์นี้จะประทับเคียงคู่กันตลอดเวลา แต่ก็ใช่ว่าพระนางจะสมหวังในความรักเสมอไป
เมื่อสาวกต้องมาก่อน เจ้าแม่จึงถูกแย่งความรัก และการตามง้อแห่งสวรรค์จึงเกิดขึ้น
ครั้งหนึ่งเหล่าบรรดาฤาษีมุนีทั้งหลายตั้งคำถามว่า ‘ใครคือเทพเจ้าอันควรบูชาที่สุด’ ในครั้งนั้นฤาษีภฤคุอาสาออกตามหาคำตอบ ฤาษีเดินทางไปยังพรหมโลกเพื่อเข้าพบพระบิดาพรหมเทพ แต่พระพรหมกลับไม่ตอบสนองเนื่องด้วยทรงเข้าอยู่ในภวังค์แห่งท่วงทำนองวีณาของพระนางสรัสวตี ด้วยความโกรธจัด ภฤคุฤาษีจึงสาปว่า ขอให้พระพรหมเทพไร้ซึ่งสาวก จากนั้นจึงเดินทางไปยังไกลาสเพื่อพบมหาเทพ แต่ปรากฏว่าพระศิวะทรงร่ายรำกับพระอุมาเทวีอย่างสำราญจนไม่ออกมาต้อนรับ นำไปสู่คำสาปถัดมาของท่านฤษีที่ว่า ขอให้พระองค์ถูกบูชาในรูปของเครื่องเพศ (ลึงค์) แทนรูปเคารพที่สวยงาม
สุดท้ายภฤคุฤาษีผู้มีฤทธิ์เดินทางขึ้นไปยังไวกูณฐโลก แต่กลับพบพระวิษณุบรรทมหลับอยู่ ด้วยความผิดหวังจากมหาเทพทั้งสามถึงสามครั้งติด ฤาษีภฤคุจึงปีนขึ้นไปบนนาคอาสน์และถีบเข้าไปที่อกของพระวิษณุอย่างจัง ด้วยแรงถีบของฤาษีพระวิษณุทรงตื่นขึ้นจากบรรทม แทนที่พระองค์จะทรงโกรธเคืองฤาษีผู้อวดดีตนนี้ พระองค์กลับลุกขึ้นขอโทษฤาษีพร้อมทั้งก้มลงจับเท้า
การการกระทำเหล่านี้นำมาซึ่งความประทับใจอย่างหาที่สุดมิได้ต่อฤาษี พร้อมกล่าวสรรเสริญพระวิษณุในฐานะ ‘สวามีหรือผู้เป็นที่พึ่ง’ แม้สาวกของพระวิษณุเทพจะพอใจกับความอ่อนน้อมและความอารีย์ของพระเป็นเจ้า ทว่าพระแม่ลักษมีกลับมีความรู้สึกที่ตรงกันข้ามอย่างชัดเจน พระนางโกรธ เศร้า และเสียใจต่อการกระทำของพระสวามีมาก เนื่องจากบริเวณอกของพระวิษณุที่โดนฤาษีภฤคุถีบมีสัญลักษณ์ของพระนางประทับอยู่ โดยบนสัญลักษณ์นั้นพระนางเรียกว่า ‘ศรีวัสสะ’
ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจกับการประทับของพระวิษณุ ที่ให้ความสำคัญกับสาวกก่อนตนเอง พระนางจึงหนีลงมายังโลกมนุษย์เป็นเจ้าหญิงชื่อ ปัทมาวดี ก่อนที่พระวิษณุจะทรงอวตารลงมาจากเทวโลก ณ เขาเวนกตะ เพื่อตามหาพระนาง
แม้สุดท้ายเทวะและเทวีได้พบกันอีกครั้งตามปรารถนา แต่พระวิษณุก็มิอาจจะมีทรัพย์สินมากพอจะแต่งงานกับพระลักษมีในฐานะเจ้าหญิงได้ พระองค์จึงต้องขอความช่วยเหลือจากกุเวรเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย จนสุดท้ายกลายเป็นความเชื่อของผู้คนซึ่งเดินทางไปบูชาพระองค์ ณ วัดติรุมาลา ศรีเวนกเตศวรสวามี (Tirumala Sri Venkateshvara temple) แห่งเขาเวนกตะ รัฐอานธรประเทศว่า ต้องถวายเงินทองเพื่อช่วยพระวิษณุใช้หนี้กุเวร
จากตำนานข้างต้นสะท้อนว่า พระลักษมีไม่ได้สมหวังในความรักตลอดเวลา กระทั่งอาจจะกล่าวได้ว่าในห้วงเวลานั้น พระวิษณุละเลยพระนางเสียด้วยซ้ำ แต่ด้วยเหตุผลแห่งจักรวาลเทวะและเทวีจะยังคงต้องเคียงคู่กันอยู่เสมอ เรื่องราวการตามง้อของพระวิษณุจึงประสบความสำเร็จอย่างไม่ต้องสงสัย
อีกตำนานหนึ่งซึ่งผู้เขียนรู้สึกว่า ถ้าโดนกับตัวก็คงน้อยใจไม่ต่างกัน คือครั้งหนึ่ง พระพรหมได้จัดพิธีบูชาใหญ่ขึ้น แต่เมื่อเวลาใกล้จะถึงฤกษ์พิธีแล้ว พระนางสรัสวตีผู้เป็นชายาของพระองค์ยังไม่ทรงเสด็จมา พระองค์จึงบัญชาให้ไปพาตัวเด็กสาวมานั่งแทนที่พระนางก่อน ในที่สุดก็ได้ตัวเด็กสาวนาม ‘คายตรี’ มาเป็นตัวแทนพระนางสรัสวตี
ทว่าเหตุการณ์เกิดพลิกผัน เมื่อพระนางสรัสวตีทรงเสด็จมายังมณฑลพิธีพอดิบพอดีกับการมาถึงของเด็กสาวคายตรี ด้วยความโกรธเกินจะบรรยาย พระเทวีแห่งอักษรศาสตร์ได้สาปเทพเจ้าผู้ร่วมอยู่ ณ ที่นั้น ด้วยเหตุผลที่นิ่งเฉยไม่ห้ามพระพรหมกระทำการอันไม่ชอบธรรมต่อพระนาง พระศิวะจะถูกบูชาในรูปลักษณ์อันน่ารังเกียจ พระพรหมจะสูญเสียสาวก และพระวิษณุจะต้องพรากจากพระลักษมีเสมอ
ผู้เขียนรู้สึกว่า หากตัวเองเป็นพระลักษมีเมื่อได้ยินคำสาปของพระสรัสวตีคงรู้สึกตกใจไม่น้อย และคงรู้สึกงุนงงสงสัยกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะตัวเองกับคนรักจะถูกทำให้แยกจากกัน แม้จะได้กลับมาครองคู่กัน แต่ก็ต้องแยกจากกันอยู่ร่ำไป ตำนานนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า พระเทวีไม่ได้มีความรักที่ราบรื่นเลย ทรงเจ็บปวด ถูกละเลย ถูกทำให้แยกจากคนรักอยู่เนืองๆ ตอนอวตารลงมาเป็นนางสีดาก็ดูเหมือนจะดีแล้วแต่ก็กลับโดนลักพาตัวให้แยกจากพระราม นี่คือความรักที่สมบูรณ์อย่างนั้นหรือ?
สุดท้ายผู้เขียนไม่ได้มุ่งหมายจะหักล้างศรัทธาใคร การบูชา ความเชื่อ หรือศรัทธาในเทพเจ้าองค์ใด ด้วยเหตุผลใดก็ล้วนเป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย และผู้เขียนก็เชื่อว่า พระแม่จะทรงตอบรับทุกคำขอ คำวิงวอนของทุกคนในทุกเรื่อง แม้ดั้งเดิมแล้ว พระนางจะทรงเป็นบุคลาธิษฐานแห่งความอุดมสมบูรณ์ โชคลาภ และร่ำรวย ก่อนที่โลกจะอภิวัติพระนางจนกลายเป็นเทพเจ้าผู้ประทานรักให้กับผู้คนในมหานครแห่งเทวดา ผู้ประทับ ณ ใจกลางแยกที่รุ่มรวยด้วยประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ การเมือง และความเชื่อ เป็นหมุดหมายแห่งความศรัทธา ณ สี่แยกที่หมายความว่า ‘ความประสงค์ของพระราชา’
ที่มาข้อมูล
ผาสุข อินทราวุธ. (2522). รูปเคารพในศาสนาฮินดู, กรุงเทพฯ: ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. (2550). รูปแบบและความเชื่อของงานศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระศรี-ลักษมีที่พบในประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ 19, วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. (2551). ตรีมูรติ อภิมหาเทพของฮินดู, กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.
Rao, T.A. Gopinatha. (1968). Elements of Hindu Iconography, 4 Volume, Delhi: Motilal Banarsidass.
Monier-Williams (1899) Sanskrit-English Dictionary. Germany: University of Koeln.
Van Buitenen, J. A. B., (1998), Classical Hinduism: A Reader in the Sanskrit Puranas, Temple University Press.
Tags: Feature, พระลักษมี, itoldพระแม่ลักษมี, พระแม่ลักษมี