ปลายปี 2564 ประเทศไทยปรับระบบกฎหมายว่าด้วยเรื่องยาเสพติด ผ่านการประกาศใช้ กฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีใจความสำคัญคือ การทำให้กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นระบบ และเจาะจงการแก้ปัญหาได้หลากมิติมากขึ้น นับตั้งแต่การเปิดโอกาสให้สามารถนำยาเสพติดไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัย การปราบปรามที่เน้นไปที่ขบวนการค้ายาเสพติด ไปจนถึงการสร้างระบบการจัดการผู้เสพยาเสพติดในสถานะของผู้ป่วย ผ่านการบำบัดฟื้นฟู[1]

โดยประเด็นที่น่าสนใจในการลดผู้ต้องขังล้นเรือนจำผ่านการเปลี่ยนผ่านด้านกฎหมายครั้งนั้น คือการปรับเปลี่ยนสถานะของผู้เสพยาเสพติดที่มีสารเสพติดในครอบครองไปสู่สถานะของผู้ป่วย ไม่ใช่อาชญากรที่ใช้วิธีการบำบัดรักษาแทนการจับกุมคุมขัง และหนึ่งในกระบวนการสำคัญคือ ‘Harm Reduction’ มีหลักการกว้างๆ ว่าด้วยการลดความรุนแรงของการใช้สารเสพติด และสิ่งที่เป็นกระแสรุนแรงในสังคมอย่างการอนุญาตให้ครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด ก็เป็นหนึ่งในรูปธรรมของหลักการนั้นเช่นกัน

Harm Reduction คืออะไร

แนวคิด Harm Reduction เกี่ยวข้องกับนโยบาย ‘ยาบ้า 5 เม็ด’ อย่างไร? การจะทำความเข้าใจประเด็นนี้จำเป็นต้องทำความเข้าใจกระบวนการการแก้ไขปัญหายาเสพติดเสียก่อน เพราะหากอธิบาย การเสพติดสารต่างๆ ของมนุษย์มีความหลากหลาย นับตั้งแต่รสชาติหวาน เค็ม ติดกาแฟ ติดบุหรี่ ไปจนถึงการติดสุรา

เมื่อมองการแก้ปัญหาของการเสพติดสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ไปจนถึงอาจส่งผลกระทบต่อสังคมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดและรอบด้าน โดยเฉพาะบนหลักการที่ว่า ‘ผู้เสพคือผู้ป่วย ที่ต้องการการรักษา’ มิใช่การส่งเข้าเรือนจำเพื่อทำลายอนาคตของเขา และอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ นับตั้งแต่ความแออัดของเรือนจำ ไปจนถึงการถูกตีตราจากสังคมหลังพ้นโทษ และตัดโอกาสการกลับเข้าสู่สังคม ซึ่งอาจผลักดันคนเหล่านั้นกลับไปสู่สิ่งที่เขาคุ้นเคย หรือวังวนของยาเสพติด 

การจำกัดการครอบครองยาบ้า 5 เม็ด จึงเป็นขั้นตอนแรกเริ่มของการแยกผู้เสพออกจากผู้ค้า แม้ว่ามาตรการนี้อาจต้องปรับเสริมเพื่อให้เหมาะสมอีกในอนาคตก็ตาม

ผศ.นพ.ดร.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ประธานมูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด และผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่าแนวคิด Harm Reduction ในกระบวนการเลิกยาเสพติด คือแนวคิดการลดผลกระทบจากยาเสพติด ที่หลายประเทศทั่วโลกปรับใช้ และมีรากฐานแนวคิดมากกว่า 30 ปี ผ่านแนวทางการหาสารทดแทน ไปจนถึงหากรรมวิธีต่างๆ ให้ผู้ติดยาเสพติดมีองค์ความรู้ ไปจนถึงการเข้าถึงเสพสารติดที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหาแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น HIV 

ในขณะเดียวกัน การใช้แนวคิดนี้ก็ทำควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ ในการบำบัดผู้ติดยาเสพติดให้สามารถเลิกยาเสพติดได้ และการปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดในลักษณะขบวนการค้ายาเสพติดอย่างเข้มข้น โดยแยกผู้ขายกับผู้เสพให้ชัดเจน ด้วยการเน้นย้ำผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องการการรักษา เพราะหากผลักผู้ป่วยยาเสพติดเข้าสู่เรือนจำ สุดท้ายจะสร้างปัญหาต่อสังคมไม่รู้จบ

“เราต้องยึดถือว่ามาตรการใดๆ ที่เราทำต้องไม่สร้างปัญหาเพิ่ม เพราะคุกที่จะนำคนไปขังมันมีไม่มากพอที่จะขังแล้ว กลับกันยังทำให้เกิดเชื้อ HIV, เชื้อวัณโรค, เชื้อ Hepatitis C ที่ระบาดในคุก ไปจนถึงกามโรคระบาดในเรือนจำอีกด้วย และเมื่อมีความหนาแน่นก็ตามมาด้วยปัญหาการหมุนเวียน เพราะเมื่อเขาออกมาข้างนอก เขานำเชื้อโรคออกมาด้วย 

“การเอาคนไทยไปขังคุก ติดคุก ครอบครัวก็ล่มสลาย แล้วก็ไม่สามารถทำให้เขาเป็นประชากรปกติได้ เพราะถูกรังเกียจจากสังคม เราเอาคนเป็นจำนวนล้านคนเข้าสู่กระบวนการนี้ แล้วครอบครัวล่มสลายแล้วผลักไสเขาไปเป็นลูกมือของอาชญากรต่างๆ อย่างไม่รู้ตัว”

ภาพรูปธรรมของผลร้ายที่ลดลงจากการพยายามใช้แนวคิด Harm Reduction คือการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV ในกลุ่มผู้ติดยาเสพติด เนื่องจากมีการแชร์เข็มซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการสัมผัสเชื้อ HIV ที่อยู่ในเลือดของผู้ใช้ยาเสพติดคนอื่นๆ

“ตัวอย่างที่คลาสสิกมาก คือสมัยเชื้อ HIV ระบาดเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว ในขณะนั้นยังเป็นเชื้อโรคใหม่ ยังไม่มียารักษาในประเทศไทย ผู้ที่ฉีดเฮโรอีนมักจะได้รับเชื้อ พอติดเชื้อก็เสียชีวิตลงอย่างรวดเร็ว เพราะมันรักษาไม่ได้ เสียชีวิตไปกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด 

“ในขณะที่ประเทศอื่นที่มีการติดเฮโรอีนชนิดฉีดเหมือนกัน เขาออกมาตรการแลกเปลี่ยนเข็มสะอาด คุณยังเลิกไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คุณมาเอาเข็มสะอาดไปฉีด หรือให้ความรู้ว่าเปลี่ยนวิธีได้ไหม ถ้าไม่ฉีดก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไหม หรือถ้าสนใจจะบำบัดก็มีสารทดแทนอื่นๆ

“ปรากฏว่าประเทศที่ใช้มาตรการ Harm reduction สถานการณ์ในประเทศทุกอย่างเหมือนกัน ยังรักษา HIV ไม่ได้ แต่อัตราการแพร่เชื้อ HIV ในประเทศเขาไม่เคยเกินหนึ่งเปอร์เซ็นต์ในขณะที่ประเทศไทยขึ้นไปถึงสามสิบถึงสี่สิบเปอร์เซ็นต์นี่เป็นข้อเปรียบเทียบที่ชัดเจน แล้วก็เรื่องการสูญเสียในเชิงงบประมาณ เชิงการเสียชีวิต และเชิงประชากรก็ต่างกันชัดเจน แล้วราคาของเข็มสะอาดถูกกว่าชีวิตคนหนึ่งคนมาก”

ผู้ป่วยยาเสพติดที่ใช้ยาเสพติดประเภทเฮโรอีน มักใช้ผ่านวิธีการฉีดเข้าสู่ร่างกาย โดยกะปริมาณต่อครั้งผสมกับน้ำประมาณ 1 มิลลิลิตร ก่อนฉีดเข้าสู่ร่างกาย

ผศ.นพ.ดร.อภินันท์ย้ำว่า วัตถุประสงค์ของ Harm Reduction คือต้องการลดผลกระทบเรื่องอันตราย เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าแก้ไข 

“เราต้องยอมรับว่า เราขจัดยาเสพติดให้หมดจากโลกนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องลดผลกระทบ เป็นหลักการเดียวกับการลดผลกระทบจากสารเสพติดอื่นรวมทั้งตัวสุรา คือทำควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ และทำได้เลย ไม่ต้องรอให้เขางดยาเสพติดแล้วค่อยทำ เราก็ทำไปก่อนเลย ทำเร็วเท่าไรก็ยิ่งลดความสูญเสียได้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน เราก็มีมาตรการอื่นที่จำกัดการเข้าถึงสารเสพติดต่างๆ จำกัดช่องทางที่จะเข้ามาเผยแพร่ไปด้วยกัน”

ทั้งนี้ หากจำแนกในเรื่องการเสพสารต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย จะสามารถจำแนกโดยเรียงลำดับจากอันตรายน้อยไปสู่มาก ได้แก่ 1. การดื่มหรือกิน 2. การสูบ/ การนัตถุ์ และ 3. การฉีด เนื่องจากการแพร่กระจายตัวสารเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย การดื่มหรือกินต้องผ่านขั้นตอนในการย่อย การสูบผ่านปอด การนัตถุ์หรือการสูดเข้าจมูกจะตรงไปที่เส้นเลือดฝอย และการฉีดส่งสารตรงไปที่กระแสเลือด

ผศ.นพ.ดร.อภินันท์อธิบายเพิ่มเติมว่า การลดอันตรายของการเสพสารเสพติดที่พอจะทำได้อีกวิธีหนึ่ง ซึ่งอยู่ภายใต้แนวคิดของ Harm Reduction คือการเปลี่ยนวิธีการเสพสารนั้น

“ตราบใดที่คุณยังลดหรือเลิกยาเสพติดไม่ได้ ก็ลดอันตรายก่อน คำว่าลดอันตราย หมายถึงยาเสพติดชนิดฉีด คือจากฉีดเข้าเส้นคุณเปลี่ยนเป็นวิธีอื่นซะ แต่ถ้าหากวิธีอื่นคุณยังทำไม่ได้ ก็ให้ฉีดด้วยวิธีสะอาด อาจจะใช้เข็มสะอาดหรือว่าล้างเข็ม แลกเปลี่ยนเข็ม

“หากพวกยาบ้า อันตรายของมันคือมีผลต่อสมองและก่อให้เกิดความก้าวร้าวรุนแรง มาตรการคือลดการใช้มันลง ให้ใช้การควบคุมปริมาณ ในขณะที่มีอาการทางจิตก็ให้เข้าไปรับการรักษา และปรับเปลี่ยนวิธีการใช้เช่นจากสูบเป็นกิน ซึ่งเป็นวิธีการที่เราต้องใช้ควบคู่กันไป พร้อมๆ กับพยายามให้เขา ‘ลด ละ เลิก’ ในขณะที่เราจะใช้มาตรการป้องกันอันตรายหรือลดผลกระทบ”

ผู้ป่วยยาเสพติดวัย 60 ปีกว่า จุดยาเส้นขึ้นสูบภายในห้องพักย่านชานเมืองกรุงเทพฯ

หากผู้ป่วยหรือผู้ใช้ยาเสพติดใช้ยาเกินขนาดจนส่งผลให้เกิดอาการคลั่งและก่ออาชญากรรม ก็เป็นไปตามมาตรการทางกฎหมาย เพราะมีกฎหมายหลายตัวที่รองรับในด้านอาชญากรรมอยู่แล้ว และตามรูปแบบทั่วไปที่ใช้กันอยู่ คือเมื่อพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้ป่วยยาเสพติด ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการทางการแพทย์ ซึ่งแนวคิดของ Harm Reduction คือสิ่งที่ประกบคู่ไปกับสิ่งที่มีอยู่เดิม 

กล่าวโดยรวบรัดตัดตอน คือเมื่อยังไม่สามารถเลิกยาเสพติดได้ การทำให้คนเหล่านั้นสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ จนสามารถจัดการตนเองในการใช้ยาเสพติดในรูปแบบต่างๆ ได้ และการใช้ในปริมาณที่มีความอันตรายน้อยลง จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ควรใช้ประกอบไปกับมาตรการอื่นๆ

“ตราบใดที่ยังติดกาแฟอยู่ ก็ลดน้ำตาลไปก่อนจะลดผลกระทบได้ สิ่งนี้ก็คล้ายๆ กัน เป็นมาตรการที่ไม่ได้มีไว้แทนมาตรการอื่น แต่มีไว้เสริมเพื่อที่จะลดผลกระทบที่เกิดจากสารเสพติดต่างๆ เหมือนคนสูบบุหรี่ เราห้ามเขาไม่ได้ แต่ลดผลกระทบต่อคนอื่น โดยการจำกัดพื้นที่สูบอะไรต่างๆ นานา แต่จะบอกให้เขาเลิกสูบก่อนดีไหม แล้วเราค่อยมาดูแลอย่างอื่น มันก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น อันนี้ก็เหมือนกัน แต่ยาเสพติดเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่ มันไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ

“การที่ยังใช้ยาพอให้ใช้ชีวิตได้ แต่อยู่ใต้การควบคุม มันจะไม่สร้างปัญหาใหม่ ทำให้เขาอยู่ในชุมชนอยู่กับครอบครัวได้ เขาก็จะเข้าใจ และเขาเองมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบอันนี้ เราต้องคิดว่าแม้กระทั่งขยะเรายังรีไซเคิลได้ คนเหล่านี้ไม่ใช่ขยะสังคม ถึงจะเป็นขยะเขาก็ยังเป็นประโยชน์ ก็ยังเป็นคนไทย เป็นคนเหมือนกัน” ผศ.นพ.ดร.อภินันท์อธิบาย

เพราะท้ายที่สุด ต่อให้ห้ามเพียงใด คนที่เสพติดไปแล้ว ก็ยากที่จะหายจากการเสพติด การลดอันตรายจากการเสพติดจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ เพราะเมื่อยังเลิกไม่ได้ ก็ให้ใช้อย่างปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ผู้ป่วยยาเสพติดเรื้อรังในห้องพักย่านชานเมืองกรุงเทพฯ เขาใช้ยาเสพติดมาราว 30 ปี ปัจจุบันแม้จะยังเลิกขาดจากยาเสพติดไม่ได้ แต่ยังไม่หมดหวังในความพยายามที่จะควบคุมการใช้ยาเสพติดของตนเอง

สารทดแทน-ก้าวต่อไปของการบำบัด

จากแนวคิดดังกล่าวเมื่อผนวกรวมเข้ากับการประมวลกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในปี 2564 อาจกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่อาจนำไปสู่การแก้ปัญหายาเสพติด คือเมื่อไม่สามารถเลิกยาเสพติดได้ การจัดหาสารทดแทนยาเสพติดเพื่อลดความรุนแรงจากผลกระทบการใช้ยาเสพติดอาจกระทำได้ง่ายขึ้นผ่านการที่กฎหมายดังกล่าว เปิดโอกาสให้สามารถนำยาเสพติดไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยได้

การใช้ยาและลดความรุนแรง ให้ข้อมูลจำเป็นและสำคัญกว่าแค่ยาบ้า 5 เม็ด เพราะยังมีกระบวนการการให้ยาทดแทนอย่างการจ่ายยาเมทาโดน (Methadone) เพื่อทดแทนอาการอยากยา และลดความเจ็บปวดเรื้อรังของผู้เสพในกลุ่มสารอนุพันธ์ฝิ่นหรือมีรากฐานมาจากฝิ่น ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน และเฮโรอีน ซึ่งออกฤทธิ์กดประสาท ขณะที่ในต่างประเทศใช้ยาตัวนี้มายาวนานกว่า 20 ปี แต่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มใช้ไม่นานนัก 

โดยกระบวนการติดต่อเพื่อเข้ารับยาเมทาโดน ผู้ป่วยยาเสพติดต้องไปลงทะเบียนกับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ป่วย จากนั้นจะสามารถรับยาทดแทนได้ในช่วง 8 โมงเช้าของทุกวัน ที่สถานพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีจำนวน 24 จุด จาก 170 จุดทั่วประเทศ[2] 

นอกจากนี้พบว่า บางกลุ่มยังให้ผู้ป่วยได้รับน้ำมันกัญชา เพื่อบรรเทาอาการปวดร่างกายที่เกิดขึ้นจากการขาดเฮโรอีนอีกด้วย

น้ำมันกัญชา ถูกใช้ในการเลิกยาเสพติดผ่านฤทธิ์การคลายความเจ็บปวดที่เกิดจากอาการขาดยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฮโรอีน

ผศ.นพ.ดร.อภินันท์อธิบายต่อว่า ในปัจจุบันเริ่มเห็นความเป็นไปได้ในการค้นคว้าหาตัวยาอื่นๆ ที่อาจมีความปลอดภัยมากกว่า หลังการปลดล็อกด้านกฎหมายในปี 2564 โดยเฉพาะในกลุ่มที่เสพยาบ้า ที่เริ่มมีการใช้กระท่อมสกัดโดยวิธีทางการแพทย์ในกลุ่มผู้เสพยาบ้า ซึ่งยังรอผลทางการวิจัยที่แน่นอนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

“จริงๆ แล้วกลุ่มที่ติดพวกยาแก้ปวดในอเมริกา เขาก็สั่งกระท่อมจากอินโดนีเซีย เวลาที่เขามีอาการขาดยา ตัวกระท่อมที่ทำเป็นผงใส่แคปซูลจากอินโดนีเซีย ขายออนไลน์ ก็มีเยาวชนในอเมริกาเรือนแสนคนที่ได้ประโยชน์จากกระท่อม จนกระท่อมกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย แม้จะส่งจากอินโดนีเซีย แต่ยี่ห้อดังๆ ที่หลายคนกล่าวว่า ได้ผลดีกลับเป็นยี่ห้อ ‘แมงดา’ ซึ่งเป็นกระท่อมของไทยที่ไปผลิตที่อินโดนีเซีย”

แม้จะมีสารทดแทน แต่การจะเข้าสู่กระบวนการการเลิกยาเสพติด การเตรียมความพร้อมทางจิตใจให้เลิกยาเสพติดเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก 

“คนไข้ต้องอยู่ในสภาวะที่พร้อมแล้วรู้สึกว่าตัวเองอยากจะเลิก นี่คือสภาพของการที่เราพยายามไม่ให้การแก้ปัญหาไปสร้างปัญหาใหม่ ดังนั้นเราจะไม่ไปบังคับให้เขาเลิก ถ้าเขาเลิกแล้วเขารู้สึกว่าเขาไม่อยากมานั่งกินเมทาโดนทุกวัน และความรู้สึกนี้ก็ไม่ต่างจากคนไข้เบาหวานที่บอกว่าไม่อยากกินยาเบาหวาน หมอก็จะบอกว่าอย่างนั้นคุณก็ต้องไปปรับพฤติกรรมตัวเอง ลดหวานลง ออกกำลังกาย แล้วก็ดูแลเรื่องอาหารการกินและสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ถ้าคุณทำได้คุณพร้อมเมื่อไรก็มาคุยกันแล้วก็วางแผนที่จะลดยาให้เขา 

“อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าคนไข้พร้อมและต้องการที่จะลดยาก็มาประเมินความพร้อมคนไข้ แล้วก็วางแผนกันว่าถ้าจะลดยามันจะมีความเสี่ยงตรงไหนบ้าง ค่อยๆ ปรับอย่างไร เอาที่ตัวเองพร้อมและสามารถลดได้เลิกได้จริงๆ”

การพัฒนาสารทดแทน และการใช้สารทดแทนเองก็ต้องย้ำอยู่บนหลักการเดิมคือ ‘เมื่อยังเลิกไม่ได้ เช่นนั้นมีวิธีใดให้ปลอดภัยขึ้น’

เฟลอ (นามสมมติ) ชายวัย 20 กว่าปี ผู้ติดเฮโรอีนด้วยความไม่รู้ตัว เพราะเขารู้จักมันแค่ในนามของ ‘แป๊ะ’ ปัจจุบัน เฟลอพยายามควบคุมตัวเองในการเลิกเฮโรอีนผ่านการใช้ให้น้อยที่สุด จนลดปริมาณลงได้ จากวันละ 1 กรัม ราคาประมาณ 600 บาท จนเหลือการใช้งานในปริมาณ 100 บาทต่อวัน (วัดปริมาณเป็นราคา) หรือราว 1 ซองเล็ก

เพราะการเลิกยาไม่ง่าย

สุพจน์ ตั้งเสรีทรัพย์ ผู้จัดการกลุ่มส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคม (Associate To Promote Access To Health And Social Support: APASS) องค์กรภาคประชาสังคมซึ่งดำเนินงานเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและจิตใจของผู้ป่วยยาเสพติด อธิบายว่า คนที่ APASS ให้การช่วยเหลือและสนับสนุน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เสพติดเฮโรอีน ซึ่งเขาอธิบายว่า เป็นยาเสพติดที่ร้ายแรงที่สุดและติดหนักที่สุด

เพราะจากประสบการณ์ของเขาที่เคยเสพติดเฮโรอีน ยาเสพติดชนิดอื่นๆ ในชั่วขณะของอาการเสี้ยนยาหรืออยากยา จะเป็นอาการทางจิตใจเป็นหลัก ทว่ากับเฮโรอีนจะอาการรุนแรงไปจนถึงระบบประสาทของร่างกาย เช่น ความรู้สึกคันยุบยิบ แสบตามตัว อาการปวดร้าวรุนแรง แม้การสัมผัสของเส้นผมตัวเองตามใบหน้าก็รู้สึกแสบคันเหมือนถูกของแข็งขูดตามร่างกาย

“ผู้ใช้ยาทุกคน (เฮโรอีน) อยากเลิกยา แต่ปัญหาคือไม่รู้จะตั้งต้นอย่างไร เลิกอย่างไร เวลาเหนื่อยท้อใจไม่รู้จะคุยกับใคร บางคนตั้งใจจะเลิก ตั้งใจจะหยุด แต่พอมีอาการอยากยา เขารู้สึกว่าเขาไม่ชอบเลย เขามีอาการอยากยาอีกแล้วหรือ เขาอยากจะบ่นกับใครสักคนว่าเขากำลังอยากใช้ยา ช่วยคุยอะไรก็ได้ให้หยุดใช้ยาที แต่ไอ้เรื่องพวกนี้ เขาคุยกับใครไม่ได้ ไปคุยกับแม่ แม่อาจจะบอกว่า รู้ว่าไม่ดีแล้วคิดถึงมันทำไม คือเขาก็ไม่ได้หมายถึงว่าเขาจะไปใช้ แต่เขาอยากเอาความคิดแย่ๆ ออกไปจากหัว”

สุพจน์ ตั้งเสรีทรัพย์ ผู้จัดการ APASS เป็นองค์กรภาคประชาสังคมซึ่งดำเนินงานเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและจิตใจของผู้ป่วยยาเสพติด

“สิ่งที่เราพยายามคุยกับเขา คือชวนเขาเปลี่ยนความคิด ชวนเขาวางแผนทบทวน เพราะเราเข้าใจว่าการที่เขาพูด มันคือความพยายามจะหยุดใช้ยาของเขา บางเคสเขาไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เราก็บอกทางเลือกแก่เขา บอกวิธีการไปหาหมอ ไปอย่างไร ไป-กลับ ผู้ป่วยใน-ผู้ป่วยนอก แบบไหนจะมีเงื่อนไขอย่างไร ทรมานแบบไหน แบบไหนเจออะไรบ้าง ให้เขาเลือก บางคนเลือกจะไปบำบัดยาเองที่บ้าน เราก็แนะนำเขา”

สำหรับสุพจน์ การจะเลิกยาเสพติดเป็นสิ่งที่มากกว่าคำว่า ‘อยู่ที่ใจ’ แต่ต้องการการปรับทัศนคติให้ผู้ป่วยเห็นคุณค่าในตัวเอง และปรับภูมิต้านทานทางจิตใจที่จะนำไปสู่การเลิกยาเสพติด

“ถ้าไปคุยทั่วๆ ไป ก็หักดิบเลย ไปเลิกเลย ไปค่ายทหารเลย ซึ่งบางทีมันไม่ใช่กับทุกคน ตามหลักวิทยาศาสตร์กระบวนการการแพทย์หลายอย่างก็ไม่ใช่วิธีที่ทำให้คนหยุดใช้ยาได้จริงๆ เช่น การไปวิ่งไปนั่งสมาธิในค่ายทหาร และนำเขาไปลงโทษ พยายามจะบ่มเพาะว่าเขาเป็นคนไม่ดีที่ใช้ยา ตอกย้ำเขา แบบนั้นมันกดทับตัวเขาเอง ไปบอกว่าตัวเขาแย่เขาเลว ซึ่งวิธีการแบบนี้ไม่ใช่การให้กำลังใจคน มันไม่ได้ทำให้คนมีกำลังใจที่ดีพอจะสู้กับการเลิกยา”

สุพจน์เล่าต่อว่า วิธีที่ต่างประเทศทำคือการอธิบายถึงโรคสมองติดยา คืออาการทางสมอง ต้องให้แพทย์รักษา ไม่ใช่เรื่องของการออกกำลังกาย การคุมขัง ซึ่งอาจจะช่วยให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยาในระหว่างการคุมขัง แต่เมื่อกลับออกมาอยู่สภาพสังคมเดิม ก็จะเกิดการวนเวียนกลับไปเสพยา

“อย่างหลายที่ศูนย์บำบัดของเอกชน คอร์ส 14 วัน คิดเป็นเงินหลายหมื่น พอลูกออกมาก็เลิกได้ แต่สิ่งที่ไม่ได้พูดถึงคือเลิกยาได้เพราะเอาไปขัง แต่ว่าปัญหาทางจิตใจเรื่องการหยุดตัวเอง การควบคุมตัวเองให้หยุด เวลาต้องการใช้ยามันไม่ได้ถูกแก้ไข พอเขาออกมาปัญหาการใช้ยาก็จะกลับมาอีก

“สิ่งที่แย่ที่สุดคือคนเลิกยา ถ้าเลิกหลายๆ ครั้ง แล้วเลิกไม่ได้ มันจะเกิดความเชื่อว่าตัวเองทำไม่ได้ แล้วเมื่อวันนั้นมาถึงแม้เขาจะได้อยู่ในระบบที่ดี เขาก็จะทำไม่ได้ เพราะว่าเขาถูกปลูกฝังความเชื่อในตัวไปแล้วว่าทำไม่ได้”

ดังนั้น สำหรับสุพจน์วิธีที่ช่วยเยียวยาผู้ป่วยจากยาเสพติดที่เหมาะสม คือการทำให้เขาสามารถกลับเข้าสังคมได้ ผ่านการช่วยสนับสนุนด้านจิตใจ และปรับผู้ป่วยให้มีพลังใจเพียงพอที่จะเดินออกมาจากวังวนของยาเสพติด เพราะการที่ผู้ป่วยยาเสพติดไม่เห็นคุณค่าในชีวิตตนเอง ไม่เห็นทางออก พวกเขาเหล่านั้นก็จะจมอยู่กับยาเสพติดไปตลอดกาลเจ้าหน้าที่ของ APASS พูดคุยกับผู้ป่วยยาเสพติดที่แวะเวียนเข้ามาปรึกษา เพื่อรับการสนับสนุนความช่วยเหลือ นับตั้งแต่การตรวจสุขภาพ ไปจนถึงการให้กำลังใจในการข้ามผ่านแต่ละปัญหา

 

“เราสนับสนุนให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะเราเชื่อว่า เมื่อคนมองเห็นคุณค่าในตัวเอง เห็นโอกาสในการสร้างอนาคตให้กับตัวเอง เขาก็จะเริ่มมองว่ายาเสพติดเป็นส่วนเกิน เป็นภาระของชีวิตเขา เมื่อถึงเวลานั้น หลายคนก็จะมีประกายความคิดที่จะอยากหยุดใช้ยา อยากเอายาเสพติดออกจากชีวิต ซึ่ง APASS ก็จะสนับสนุนพาพวกเขาเข้าสู่กระบวนการบำบัด”

การปฏิบัติงานของ APASS มีหลักการณ์เริ่มต้นตั้งแต่ความเป็นอยู่ เรื่องของสุขลักษณะ เพราะผู้ป่วยยาเสพติดจำนวนมากถูกผลักออกจากสังคม บ้างขาดแคลนสถานที่อาบน้ำ บ้างไม่มีอาหารเพื่อดำรงชีวิต APASS หาปัจจัยสนับสนุนเหล่านั้นให้ ไปจนถึงการ ‘ค่อยๆ’ พาผู้ป่วยไปสู่จิตใจที่ต้องการเลิกยาเสพติดอย่างมั่นคง และมีความมั่นใจที่จะกลับเข้ามาในสังคมได้

“เรายังสนับสนุนเขาในเรื่องของการตรวจสุขภาพ เพราะผู้ใช้ยา โดยเฉพาะที่ใช้ด้วยวิธีการฉีด เขาจะมีประสบการณ์เรื่องการใช้เข็มร่วมกัน เขามีเสี่ยงต่อการติดโรคต่างๆ งานที่ APASS ทำคือ สนับสนุนให้คนเหล่านี้ได้รับการตรวจเชื้อ HIV ตรวจไวรัสตับอักเสบซี แล้วก็มีกระบวนการฟื้นฟูสภาพจิตใจ ทำให้คนเหล่านี้มีทักษะในการเข้าสังคม และการปรับตัวเรียนรู้อยู่กับผู้อื่น”

นอกจากนั้น สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถเลิกยาเสพติดได้อย่างสมบูรณ์ APASS มีชุดอุปกรณ์การสนับสนุนตามหลักการ Harm Reduction ที่ลดอันตรายของการเสพยาเสพติด เช่น เข็มที่สะอาด สำลี และอุปกรณ์ดูแลอื่นๆ ที่ให้การใช้ยาเสพติดเป็นไปโดยเกิดอันตรายน้อยที่สุด พร้อมๆ กับเติมชุดความรู้ให้ผู้ป่วยค่อยๆ ใช้ยาอย่างปลอดภัยมากขึ้น ก่อนจะเตรียมจิตใจให้พร้อมเดินเข้าสู่การเลิกยาได้อย่างสมบูรณ์

เพราะการจะช่วยให้คนเลิกยาเสพติดได้ จึงไม่ใช่เพียงทำให้เขาหยุดใช้ยาเสพติด แต่คือการเตรียมความพร้อมสภาพจิตใจเขาให้สามารถผลักดันตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง จนสามารถเลิกยาเสพติดได้

เซ็ตอุปกรณ์สำหรับการใช้ยาเสพติดที่ลดความอันตรายลง ตามแนวทาง Harm Reduction ของ APASS ภายในประกอบด้วยไซริงค์ เข็มสะอาด สำลีห้ามเลือด ช้อนเหล็ก สายรัดแขน ฯลฯ

สังคมต้องช่วยผลักดัน

ในทางปฏิบัติแล้ว บุคคลหลักที่เป็นแบบอย่างสำคัญในการสนับสนุนคนรอบข้างให้เข้าสู่เส้นทางการเลิกยาเสพติด ผ่านแนวคิด Harm Reduction คือ เฮียบู้-บรรจง แซ่อึ้ง ประธานชุมชนกองขยะหนองแขม ที่มีความหนาแน่นของประชากรถึง 176 ครัวเรือน ในพื้นที่ขนาดเล็ก และมีประชากร 600 กว่าคนในการดูแล

ชุมชนแออัดแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าขยะ หนองแขม กรุงเทพมหานคร คนในชุมชนมีอาชีพหลักเกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมขยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแยกขยะ เนื่องด้วยที่ตั้งของชุมชน แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ชายคาเหล่านั้นคือปัญหายาเสพติดยาวนานหลายสิบปี และเฮียบู้ก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการพยายามแก้ไขปัญหานั้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมาด้วยความเข้าใจ

เฮียบู้-บรรจง แซ่อึ้ง ประธานชุมชนกองขยะหนองแขม

จากผู้ค้ายาเสพติดรายย่อย ไปจนถึงผู้ติดยาเสพติดเต็มชุมชนและพื้นที่โดยรอบ เฮียบู้ใช้ความเข้าใจ เคาะประตูบ้านทีละหลัง ประกอบกับการประสานงานกับตำรวจท้องที่ และหน่วยงานภาคประชาสังคมต่างๆ ที่ดูแลด้านสาธารณสุข 

เฮียบู้ค่อยๆ ผลักดันผู้คนในชุมชนบางส่วนไปสู่การบำบัดยาเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการจ่ายยาทดแทนอย่างเมทาโดน เฮียบู้ก็คอยจัดหารถพาคนเหล่านี้ไปรับยาที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 48 ภาษีเจริญ หนองแขม หรือในบางกรณีเฮียบู้ก็ประสานงานหาน้ำมันกัญชาทางการแพทย์มาให้ผู้ป่วยยาเสพติดในชุมชนใช้ เพื่อบรรเทาอาการปวดจากการขาดเฮโรอีน

สิ่งหนึ่งที่เฮียบู้ให้ความสำคัญ และใช้จนเป็นคำติดปากคือการบำบัดที่ไม่ใช่เพียงผู้ป่วยยาเสพติด แต่คือครอบครัว ประธานชุมชนมุ่งแก้ปัญหาด้วยความเข้าใจ เพื่อให้ผู้ป่วยเดินหน้าเข้าสู่การบำบัด ที่ครอบครัวต้องพยายามทำความเข้าใจ ผลักดัน และให้กำลังใจ ขณะที่คนในชุมชนก็ไม่ควรตีตรา หากด้านอื่นๆ ไม่มีปัญหา และสามารถทำงานได้ ก็ควรให้โอกาส และประธานชุมชนควรต้องดูแลและหนุนเสริมให้เกิดความพยายามในการเลิกยาเสพติด

“การสร้างบรรยากาศให้คนในครอบครัวเขามาร่วมมือกัน ให้ความสำคัญตรงนี้ พูดง่ายแต่ทำแล้วทำยาก ผมพยายามทำตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมทำเรื่องนี้มา ค่อยๆ สะสมเรื่องนี้มา ผมเชื่อว่าคนในชุมชนมีความไว้วางใจ เราอยากให้หลายๆ ชุมชนเรียนรู้เรื่องนี้ และเข้าใจเรื่องนี้ คือเราต้องบำบัดสิ่งแวดล้อม ต้องบำบัดผู้นำชุมชน บำบัดพ่อแม่ บำบัดผู้เสพ เพราะทุกคนมุ่งเป้าไปบำบัดผู้เสพอย่างเดียว จะเปลี่ยนผู้เสพ แต่ไม่เปลี่ยนคนอื่นเลยการจะไม่กลับไปใช้ยาอีกจะกลายเป็นเรื่องยาก ดังนั้น จะช่วยให้เขาเลิกยาได้ การเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเองก็ช่วย” เฮียบู้กล่าว

วัยรุ่น 2 คนอาศัยในบ้านแออัดภายส่วนลึกของชุมชนกองขยะหนองแขม แม้พวกเขาจะมีบ้องสำหรับเสพยาเสพติด แต่พวกเขาก็ลดการใช้ลงได้ ด้วยการพยายามผลักดัน หนุนกำลังใจ ของเฮียบู้ ปัจจุบันพวกเขารับน้ำมันกัญชาทางการแพทย์เพื่อคลายอาการปวดจากอาการขาดยาเสพติด

ปัจจุบัน แม้ชุมชนจะยังคงมีผู้ป่วยยาเสพติดที่ยังต้องใช้เฮโรอีนในชีวิตประจำวัน แต่พวกเขาก็พยายามผลักดันตัวเองออกจากวังวนของยาเสพติด บางคนทำงานแยกขยะในร้านรับซื้อขยะรอบๆ ชุมชน ผ่านการช่วยเหลือฝากฝังของเฮียบู้ หลายคนค่อยๆ มีชีวิตที่เดินห่างออกจากยาเสพติด เช่น เอ (นามสมมติ) จากผู้ป่วยเฮโรอีนที่สร้างปัญหาให้ครอบครัว เขาได้รับการผลักดันจากเฮียบู้ และได้รับโอกาสให้เป็นแรงงานในร้านรับซื้อขยะหน้าชุมชน ร่วมกับวัยรุ่นคนอื่นๆ ปัจจุบันเอกำลังย่างก้าวเข้าสู่การเกณฑ์ทหาร และเขาฝันว่าเขาจะสมัครนายสิบต่อเพื่อให้ตนเองได้ห่างไกลจากยาเสพติดมากขึ้น และมีรายได้เลี้ยงครอบครัว

ร้านรับซื้อของเก่า และขยะบริเวณหน้าชุมชนกองขยะหนองแขม ซึ่งเอ (นามสมมติ) และวัยรุ่นคนอื่นๆ ผู้มีประวัติใช้ยาเสพติดทำงานเป็นลูกจ้าง หลายคนยังไม่สามารถเลิกยาเสพติดได้ขาด ในขณะที่บางคนเริ่มเห็นแสงไฟในการก้าวออกมาจากวังวน แม้ปลายทางยังไม่มาถึง แต่พวกเขาก็เริ่มมีรายได้ และเดินกลับเข้าสู่สังคมทีละก้าว

ในขณะที่บางคนยังไม่สามารถหลุดพ้นจากยาเสพติดได้ แต่พวกเขาก็ยังคงมีความหวังที่จะหย่าขาดจากมัน เฟลอ (นามสมมติ) เขาเป็นหนึ่งชีวิตในชุมชนกองขยะหนองแขม และมีประวัติการใช้ยาเสพติดตั้งแต่อายุ 19 ปี จากความพลั้งเผลอและสิ่งแวดล้อมที่รายรอบ

เฟลอเล่าว่า แรกเริ่มเดิมที เขาขายยาเสพติดเล็กๆ น้อยๆ เนื่องจากครอบครัวเคยขายยาเสพติด เงินที่ได้ก็นำมากินดื่มสังสรรค์กับผองเพื่อน ซื้อกระท่อม ไปจนถึงเลี้ยงแฟน สิ่งที่เขาเอื้อมมือเข้าไปยุ่งคือ ‘แป๊ะ’ ก่อนที่เขาจะเผลอใช้โดยที่ไม่รู้ตัวว่าสิ่งนั้น แท้จริงคือ ‘เฮโรอีน’ ยาเสพติดที่ออกฤทธิ์ได้รุนแรงอันดับต้นๆ

“ช่วงติดเฮโรอีนหนักๆ คือไม่เอาอะไรแล้ว จะดูดเฮโรอีนอย่างเดียว ไม่มีเงินก็ต้องออกไปหาขโมยของ โดนจับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง หลังๆ ท้อแล้ว อยากเลิกแล้ว ไม่อยากอยู่ในวงจรนี้แล้ว อาย เหนื่อย ตัดสินใจออกมา 2-3 ปีที่แล้ว ตอนอายุ 22-23 ปี เบื่อที่ต้องดูด เบื่อที่ต้องใช้ ไม่มีก็ต้องดิ้นรนหา เบื่อ สงสารแม่” เฟลออธิบาย

เฟลอและเฮียบู้ขณะเดินพูดคุยไปตามถนนในชุมชนกองขยะหนองแขม

แม้ว่าเฟลอจะยังไม่สามารถเลิกยาเสพติดได้อย่างสมบูรณ์ แต่ในปัจจุบันเขาใช้ยาเสพติดน้อยลงเรื่อยๆ ผ่านแรงผลักดันของเฮียบู้ และจิตใจของเขาเองที่พยายามดันตัวเองออกจากปัญหาทีละก้าวอย่างช้าๆ

“ผมไม่ได้ทำงานทุกวัน แต่ก็รู้สึกว่าต้องพยายามจะคุมให้อยู่ รู้ตัว แต่ก่อนผมใช้วันละกรัม จากวันละบิ๊กก็ลดเหลือวันละหนึ่งร้อยบาท เหลือสามวัน หนึ่งร้อยบาท ทุกวันนี้ดูดสองที ตื่นมาแล้วก็นอน บังคับตัวเองให้นอน ใช้เฮโรอีนพอให้หายปวด ไม่ปวดตัว เดี๋ยวนี้อาการโมโหร้ายน้อยลง นิ่งขึ้น ทุกคนอาจจะคิดว่าอยู่ที่ตัวบุคคล แต่บางทีเขาอาจจะไปเจอเรื่องอะไรมา โตมากับสภาพแบบนี้ โตมาผมก็เจอยาแล้ว แต่ก่อนแม่ผมก็ขายยา เคยขายยาทั้งบ้าน”

เฟลอเคยเข้ารับเมทาโดน โดยเขาเล่าว่า เฮียบู้เตรียมรถไว้พาวัยรุ่นในชุมชนที่ลงทะเบียนไปรับยาทดแทน และเมื่อถึงเวลาก็จะมาคอยเรียก คอยตาม และสิ่งที่เฮียบู้ทำ คือหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาต้องพยายามก้าวต่อไป

“คือผมมองว่าชุมชน คนในบ้าน ต้องช่วยกัน สร้างสภาพแวดล้อม บางทีก็คิดว่าเราจะอยู่จุดนี้ไปจนตายเลยไหม แต่เห็นเพื่อนไปเลิกมา ก็เลิกได้ เราก็อยากทำได้ ไม่อยากอยู่จุดนี้จนตาย มันก็เลยเป็นแรงผลักดันให้ผมพยายาม คือสำคัญมาก เฮียบู้ไม่ใช่คนในครอบครัวแต่เขายังมาทุกข์มาร้อนกับเรา”

       แม้จะเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ แต่ชีวิตยังต้องก้าวเดินต่อไป เพราะผู้คนไม่ใช่สิ่งของ การก้าวพลาด เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ และสังคมอาจต้องออกแบบแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อให้ผู้คนที่เข้าสู่เส้นทางยาเสพติดยังพอมีที่ทางให้ก้าวกลับเข้ามา มิใช่ผลักออกให้พวกเขากลายเป็นฟันเฟืองในวังวนยาเสพติดไม่รู้จบ  

 

อ้างอิง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล. (22 มีนาคม 2022). ‘Decriminalization on Drug’ สู่ฉันทมติโลกใหม่ ปฏิรูปนโยบายยาเสพติดให้ตรงจุด. เข้าถึงได้จาก The 101 World: https://www.the101.world/drug-decriminalization-policy/

รายชื่อสถานพยาบาลยาเสพติด ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๖๔ . (ม.ป.ป.). เข้าถึงได้จาก สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี: http://ha.pmnidat.go.th/downloads/64/allname04.pdf

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา. (18 มีนาคม 2022). พลิกหน้ากฎหมายยาเสพติดใหม่ เปิดมิติใหม่แห่งการแก้ปัญหายาเสพติดไทย. เข้าถึงได้จาก 101 World: https://www.the101.world/new-narcotic-bills/

[1] พลิกหน้ากฎหมายยาเสพติดใหม่ เปิดมิติใหม่แห่งการแก้ปัญหายาเสพติดไทย โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

เผยแพร่วันที่ 18 มีนาคม 2022 https://www.the101.world/new-narcotic-bills/

[2] http://ha.pmnidat.go.th/downloads/64/allname04.pdf

Tags: , , , ,