เมื่อไม่นานมานี้ เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เหล่าผู้ศรัทธา ‘ครูกายแก้ว’ อย่างกว้างขวางในสังคม ทั้งในแง่ของความไม่เหมาะสม การมองว่าเป็นสิ่งไม่เป็นสิริมงคล การถูกถือให้เป็นสิ่งที่ไม่พึงปฏิบัติสำหรับชาวพุทธ และลามมาจนถึงเรื่องที่มีคนเตือนไม่ให้บูชา เพราะอาจนำมาซึ่งโชคร้ายแก่ชีวิต ต่อมาก็มีสภาศิลปินส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศ อ้างว่าเป็นตัวแทนพุทธศาสนิกชนขอให้ย้ายรูปปั้นครูกายแก้วออกจากพื้นที่โรงแรมเดอะบาซาร์ โดยให้เหตุผลว่า “อาจทำให้เกิดความวิตก กังวล และความหวาดกลัวต่อขวัญและกำลังใจ ของประชาชนจำนวนมากได้”

ปรากฏการณ์ครูกายแก้ว เป็นประเด็นข้อถกเถียงน่าสนใจ แม้ด้านหนึ่งอาจมองว่า การเคารพสักการะรูปปั้นครูกายแก้วนั้นเป็นเรื่องผิดและไม่เหมาะสม แต่อีกด้านหนึ่งก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การบูชาครูกายแก้วถือเป็นเสรีภาพในความเชื่อของผู้ศรัทธา

ว่าด้วยเสรีภาพในความเชื่อและการนับถือศาสนา

ปัจจุบัน มีบทบัญญัติและหลักการทางกฎหมายสำคัญๆ ที่ถือเป็นสิ่งยืนยันถึงเสรีภาพในความเชื่อและการนับถือศาสนาของบุคคล ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เอกสารที่วางกรอบในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน และถูกใช้เป็นรากฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศทุกฉบับ โดยปฏิญญาสากลฯ ข้อ 18 กำหนดว่า “ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความคิด มโนธรรม และศาสนา ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการเปลี่ยนศาสนาหรือความเชื่อ และอิสรภาพในการแสดงออกทางศาสนาหรือความเชื่อถือ ของตนในการสอน การปฏิบัติ การสักการบูชา และการประกอบพิธีกรรม ไม่ว่าจะโดยลำพัง หรือในชุมชนร่วมกับผู้อื่น และในที่สาธารณะหรือส่วนบุคคล”

หลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาฯ นั้นยังเปรียบเสมือนกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่รัฐจำนวนมาก มีพันธกรณีที่จะต้องปกป้อง ส่งเสริม สนับสนุน และเติมเต็มให้สิทธิเสรีภาพทุกด้านของประชาชน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุอันไม่ชอบธรรม

เช่นเดียวกับ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กฎหมายระหว่างประเทศในรูปแบบสนธิสัญญาที่ถือว่า รัฐภาคี (ไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 และมีผลใช้บังคับกับไทยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2540) ให้คำมั่นสัญญาว่า จะเคารพสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของบุคคล ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในศาสนา ที่วางหลักไว้ในข้อ 18(1) เพื่อยืนยันว่า “ทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพทางความคิด มโนธรรมและศาสนา มีเสรีภาพในการมีหรือนับถือศาสนาหรือมีความเชื่อตามคตินิยมของตน และเสรีภาพในการแสดงออกทางศาสนาหรือความเชื่อของตน โดยการสักการะบูชา การปฏิบัติ การประกอบพิธีกรรม และการสอน…”

จากบทบัญญัตินี้ แสดงให้เห็นว่า รัฐควรเปิดเพดานให้สังคมมีความเป็นพหุนิยมทางศาสนา หรือเปิดให้มีความหลากหลายทางความคิด ความเชื่อและศาสนา  การแทรกแซงความเชื่อหรือบีบบังคับให้ประชาชนมีความคิดความเชื่อแบบเดียวกันหรือในแบบที่รัฐต้องการ ย่อมไม่อาจกระทำได้ เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ เว้นแต่ความเชื่อนั้นจะนำไปสู่ความรุนแรง ความอันตรายและกระทบกระเทือนต่อความปลอดภัยสาธารณะ การแทรกแซงก็อาจเกิดขึ้นได้

การเป็นรัฐภาคีในสนธิสัญญาข้างต้น รัฐไทยจึงรับหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศดังกล่าวมาบรรจุไว้ในระบบกฎหมาย เช่น ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 31 ซึ่งเป็นบทกฎหมายในหมวดว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ กำหนดว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ขอบเขตของเสรีภาพกับ ‘Harm principle’

แน่นอน เสรีภาพในความเชื่อและการนับถือศาสนา ไม่ใช่เสรีภาพที่ไร้ซึ่งขอบเขต ไม่ใช่สิทธิเด็ดขาดที่ใครจะนับถือหรือมีความเชื่อหรือแสดงออกอย่างไรก็ได้ ดังที่จะเห็นว่ามีการกำหนดข้อยกเว้นไว้ในทุกบทบัญญัติที่มีการรับรองเสรีภาพดังกล่าวไว้ เช่น

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 18(3) ซึ่งระบุว่า “เสรีภาพในการแสดงออกทางศาสนา หรือความเชื่อของบุคคลอาจอยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อจำกัดเฉพาะที่บัญญัติ โดยกฎหมาย และตามความจำเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย สุขอนามัย หรือศีลธรรมของประชาชนหรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นมูลฐานของบุคคลอื่นเท่านั้น”

หรือในรัฐธรรมนูญไทยที่ยกเว้นไว้ว่า “… ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”

ปัญหาที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือผู้มีอำนาจบางกลุ่มที่เห็นว่า ความเชื่อบางอย่างอาจสั่นคลอนผลประโยชน์ทางการเมือง หรือเป็นความเชื่อที่ท้าทายโครงสร้างอำนาจที่ตนเองเป็นฝ่ายได้เปรียบ จึงฉกฉวยโอกาสนำข้อยกเว้นดังกล่าวมารับรองความชอบธรรมในการแทรกแซง จำกัดเสรีภาพในความเชื่อและการนับถือศาสนาของประชาชน โดยอ้างว่าอันตราย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี

แล้วเราควรตีความข้อยกเว้นการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวอย่างไร?

ข้อนี้ สามารถหยิบยกแนวคิด Harm principle มาเป็นกรอบการตีความได้ แนวความคิดดังกล่าว จอห์น สจวร์ต มิลล์ (John Stuart Mill) นำมาใช้เพื่อสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับขอบเขตของเสรีภาพในการคิดและการกระทำของปัจเจกบุคคลที่อาจจะกระทำได้ตราบเท่าที่ใจปรารถนา แต่หลักสำคัญ คือต้องไม่เป็นภัยอันตรายต่อผู้อื่น และเหตุผลเดียวที่ชอบธรรมพอที่จะแทรกแซงได้ ก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดภัยอันตรายต่อผู้อื่น การแสดงออกซึ่งความคิดและความเชื่อ หากนำไปสู่ความรุนแรงหรือกระทบต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของใครคนใด ผู้แสดงออกจะอ้างเป็นเสรีภาพไม่ได้

ดังนั้น จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย การเคารพบูชารูปปั้นครูกายแก้วตามวิถีความเชื่อและมโนธรรม ตราบเท่าที่ไม่เป็นอันตราย ไม่เบียดเบียนความปลอดภัยและสวัสดิภาพในชีวิตหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ก็สามารถกระทำได้ เพราะถือเป็นเสรีภาพที่มีการรับรองไว้ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญ  

การเปิดกว้างทางความคิด พหุนิยมทางศาสนา และรากฐานของประชาธิปไตย

แม้จะมีหลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานาถึงความไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าพิจารณาตามวิถีทางของพุทธศาสนิกชน การกราบไหว้วัตถุหรือเทวรูปก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควร แต่อีกด้านหนึ่ง รัฐควรสร้างบรรยากาศที่สังคมและประชาชนมีเสรีภาพทางความคิดความเชื่อ และการนับถือศาสนา เพราะความหลากหลายทางความคิด จะช่วยให้เกิดเป็นพื้นที่ที่ผู้คนจากมุมต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้อาจถูกโครงสร้างอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์และผูกขาดทางความคิดและผลักให้เป็นคนชายขอบ เข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะอย่างเท่าเทียมกับคนอื่นๆ

อีกทั้งอย่างน้อย เรื่องครูกายแก้วก็เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้สังคมต้องหวนกลับมาทบทวนความเชื่อและหลักศีลธรรม ทำให้หลักธรรมคำสอนทางศาสนาถูกยกขึ้นมาโต้เถียง สร้างสภาวะที่ศาสนาดำรงอยู่ได้อย่างมีชีวิตชีวา จากความจำเป็นที่จะต้องเผยแพร่หลักคำสอนดังกล่าวให้สาธารณชนตื่นรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร และวิถีทางที่ตนเองจะดำรงชีวิตต่อไปโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น

ยิ่งไปกว่านั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสรีภาพในความคิดความเชื่อและการนับถือศาสนา เป็นสิ่งที่อยู่กับการเมืองระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างมีศักดิ์ศรีและเสมอภาค เพราะถ้าหากสังคมไทยเป็นสังคมที่ศาสนาหรือความเชื่อหนึ่งๆ มีอำนาจหรือดำรงอยู่เหนือความเชื่ออื่น และคอยกดทับชี้หน้าตีตราให้ผู้ที่มีความเชื่อแตกต่างเป็นคนโง่เขลาและมีสถานะต่ำกว่า สังคมนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย

การที่มีคนบางคนนับถือครูกายแก้ว ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแสดงออกก็คงทำได้เพียงการโต้แย้งด้วยหลักการและเหตุผล ไม่มีสิทธิบังคับให้เขาต้องเลิกนับถือ เลิกเชื่อ เพราะนอกจากจะไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายที่กำหนดให้คนต้องเคารพเสรีภาพกันและกันแล้ว ยังผิดวิสัยตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ล้วนมีความคิดความเชื่อที่แตกต่างหลากหลาย

ท้ายที่สุด ต้องไม่ลืมว่า สังคมไทยนั้นมีความหลากหลายทั้งความเชื่อและวัฒนธรรม เช่น กลุ่มคนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงก็มีความเชื่อเรื่องเจ้าป่าเจ้าเขา และยึดมั่นหลักคำสอนที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อเป็นหลักธำรงรักษาไว้ซึ่งผืนป่า การไปกล่าวหาว่า กลุ่มคนชาติพันธุ์เป็นพวกงมงาย ไม่ยึดหลักความเป็นจริง ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรกระทำ ถ้าประชาธิปไตยคือการตระหนักถึงความเสมอภาคเท่าเทียมกันของผู้คนในสังคมทุกกลุ่ม

เอกสารอ้างอิง

สมชาย ปรีชาศิลปกุล, รัฐที่ไร้ศาสนาประจำชาติ, นิติสังคมศาสตร์, ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (2017): กรกฎาคม-ธันวาคม 2560: https://so01.tci-thaijo.org/index.php/CMUJLSS/article/view/108627

ศักดิ์สิทธิ์ ฆารเลิศและคณะ, ความคิดทางการเมืองของจอห์น สจ๊วต มิลล์: ว่าด้วยแนวทางการป้องกันทรราชของเสียงข้างมาก, วารสารสังคมศาสตร์, ปีที่ 52 ฉบับที่ 1 (2565): 189- 212

‘องค์กรพุทธ’ จี้ย้ายรูปปั้นออกจากพื้นที่โดยด่วนhttps://www.facebook.com/photo?fbid=864886984984274&set=a.738500567622917

 

Tags: , , , ,