เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันช้างไทย เฟซบุ๊กของ ‘นายสัตวแพทย์ ภัทรพล มณีอ่อน’ หรือ ‘หมอล็อต’ หัวหน้ากลุ่มงานสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้โพสต์ภาพตัวเองกำลังยื่นมือแตะกับงวงช้างตัวหนึ่ง พร้อมข้อความว่า 

เราจำกันได้ประหลาดใจ 

12 ปี หลังจากที่รักษาช้างป่าตัวนี้ เคสแรกในช้างป่า จากการป่วยด้วยโรค Trypanosomiasis คือโรคปรสิตในเลือด เกิดจากเชื้อโปรโตซัวชนิดที่พบในกระแสโลหิตของสัตว์คือเชื้อ Trypanosoma evansi ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิด 

อาการทั่วไปที่พบได้แก่ มีไข้ เบื่ออาหาร ผอมโซ บวมน้ำโดยเฉพาะบริเวณคาง คอหรือท้อง ตาอักเสบ หรือขุ่น ขาแข็ง หลังแข็ง คอบิด โลหิตจาง อาจตายอย่างเฉียบพลันได้ และที่สำคัญ เป็นโรคอันตราย สามารถติดสู่ช้างป่าและสัตว์ป่าตัวอื่นๆ ได้ โดยมีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะ ใช้เวลารักษานาน ต้องจับให้ยาเข้าเส้นเลือด ซึ่งโรคนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมชัดเจน พอร่างกายอ่อนแอ สู้ช้างตัวอื่นไม่ได้ ก็เริ่มออกนอกพื้นที่ ไกลที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา

กว่าจะเข้าถึงตัวเพื่อรักษาได้ก็ชิงไหวชิงพริบอยู่นานมาก ช้างป่าตัวนี้ฉลาดสุดๆ มีเรื่องเหลือเชื่อเกิดขึ้นมากมาย 

ล่าสุด ได้มาเจอกันอีกครั้ง เราจำกันได้ทักทายกัน (วินาทีที่สัมผัสกัน ผมได้ยินเสียงร้องของช้างป่าตัวนี้ ในโทนเสียงที่ไม่เคยได้ยินจากช้างตัวไหนมาก่อน ประหลาดใจ)

13 มีนาคม วันช้างไทย รักช้างอย่าลืมให้กำลังใจคนทำงานกับช้าง ในความเสี่ยงที่ใกล้จะสูญพันธุ์นะครับ

เมื่อภาพและข้อความของคุณหมอล็อตโพสต์ขึ้นมา ได้มีการนำเรื่องราวนั้นไปเผยแพร่ต่อตามสื่อต่างๆ ทั้ง ภายในประเทศและต่างประเทศทันที ทำให้ผู้คนสนใจอยากทำความรู้จักกับช้างป่าในภาพ และอยากรู้เรื่องราวความเกี่ยวข้องของคนกับช้างที่นำมาสู่ภาพน่าประทับใจนี้ 

ฉันจึงติดต่อไปทางสมาคมป้องกันการทารุณกรรมสัตว์แห่งประเทศไทย ซึ่งคุณหมอล็อตเป็นกรรมการของสมาคมฯ ขอให้นัดแทรกตารางงานอันหลากหลายของคุณหมอ เพื่อพูดคุยเรื่องนี้เพิ่มเติม

คุณหมอล็อตให้เวลาในช่วงสายของวันหนึ่ง หลังจากกลับจากลงพื้นที่ไปตรวจอาการค้างคาวที่ย่านนนทบุรีตั้งแต่เช้า และก่อนจะเดินทางไปประชุมต่อในตอนบ่าย แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ไม่ได้หยุดนิ่งเลย

“ช้างตัวนี้ชื่อพลายถ่าง เป็นช้างเพศผู้ ที่เรียกว่าพลายถ่างเพราะว่างามันถ่าง ผมเจอกับพลายถ่างปี 2553 เพราะมันออกนอกพื้นที่มาอยู่ในชุมชน ตอนนั้นถ่างอายุ 20 ปี แล้วอายุช้างก็เท่ากับคน 20 นี่คือกำลังวัยรุ่น คึกคะนอง เป็นช่วงที่กำลังถูกขับออกจากฝูง กำลังต้องเรียนรู้ ต้องสร้างพลังให้กับตัวเองในการเอาตัวรอด ในการสร้างอาณาจักร รวมถึงการยอมรับในการเข้าผสมพันธุ์ เราก็ไม่รู้ว่าเขาออกจากป่ามาด้วยเหตุผลนี้ หรือเพราะมีปัญหาแหล่งน้ำแหล่งอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปกันแน่ 

“ปัจจัยในการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าทุกชนิด ไม่ใช่แค่ช้าง จะอยู่ที่แหล่งน้ำแหล่งอาหาร แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเส้นทางหากิน เส้นทางการดำรงชีวิตของพวกมัน แต่ช้างเป็นสัตว์ป่าที่เรียนรู้ได้ สามารถปรับตัว เปลี่ยนพฤติกรรมได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่จึงไม่ใช่มันนอนในป่าแล้วลืมตาขึ้นมาก็วิ่งออกนอกป่าเลย แต่มันเรียนรู้ จดจำ และสอนกันเองที่จะอยู่รอด พอออกมาจากป่ามาเจอนั่นเจอนี่ แวะไปที่ไหนมันก็เรียนรู้ แต่บางทีการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ชุมชนก็ก่อให้เกิดอันตรายทั้งกับตัวช้างและคน แล้วพอคนเห็นว่ามันออกมา ก็บอกว่าต้องเอามันกลับไป แต่การแก้ไขปัญหาช้างออกนอกพื้นที่ต้องใช้เวลาเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะพามันกลับ”

พลายถ่าง

ถิ่นเดิมที่พลายถ่างอาศัยอยู่คือในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นป่าที่อยู่ในพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัดทางภาคตะวันออก คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี 

“จุดที่พลายถ่างออกมาคือจากจังหวัดฉะเชิงเทรา เดินลงมาทางด้านล่าง มาที่จันทบุรี มาน้ำตกพลิ้ว มาออกที่ตราด ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายคือหันหน้าลงทะเล จุดสุดท้ายที่เขาอยู่คือหลังศาลากลางจังหวัดตราด หมายความว่าในระยะเวลา 4 เดือน ช้างตัวนี้เดินมาเป็นระยะทาง 200 กว่ากิโลเมตร ซึ่งไกลมาก จริงๆ เขาออกมาก่อนหน้านั้นสัก 2 เดือนแล้ว แต่ 4 เดือนเป็นระยะเวลาที่มีเจ้าหน้าที่ติดตาม เพราะเวลามีช้างป่าออกมา เจ้าหน้าที่เขาอ่างฤาไนที่ได้รับแจ้งเขาจะออกมาติดตาม แล้วเขาจะรู้ว่ามันไปไหนมาบ้าง ซึ่งในช่วงนั้นเราต้องติดตามไปเรื่อยๆ เพราะการผลักดันให้เอาช้างกลับทันทีเป็นความเสี่ยงมาก

“การที่เราไปเจอช้างอยู่ในหมู่บ้านแล้วจะผลักไปเข้าป่าเลยทันทีไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตอนออกจากป่ามา ไม่มีใครรู้ว่ามันออกมาตอนไหน ต้องมีการบันทึกไว้ว่า ณ ช่วงเวลานี้เจอที่ไหน แล้วในขณะนั้น การผลักดันเอาช้างป่ากลับยังไม่เคยมีใครเคยทำกัน เคยแต่มีย้ายช้างป่าที่บาดเจ็บ แต่ช้างตัวนี้ไม่ได้บาดเจ็บ แล้วยังฉลาดและแข็งแรงด้วย เพราะฉะนั้น กรณีของพลายถ่างจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการในหลายๆ เรื่องที่เป็นครั้งแรก”

การนำพลายถ่างช้างหนุ่มที่แข็งแรงกลับคืนสู่ป่าต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย มีการวางแผนและเตรียมการอย่างดี ซึ่งต้องทำงานภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือเรื่องของเวลา

“ตอนนั้นที่เราคิดกันก็มีหลายสมมติฐานว่าทำไมมันถึงออกมา ข้อหนึ่งคือ อาจจะถูกตัวผู้ตัวเมียขับออกจากฝูงหรือเปล่า แล้วมันก็อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ กำลังอยากจะผสมพันธุ์หรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้น วิธีล่อพลายถ่าง ทำให้พลายถ่างไม่มีอารมณ์เกรี้ยวกราดหรืออาละวาดขณะที่จะนำกลับ เราเลยคิดว่าน่าจะเลือกใช้แผน ‘นารีพิฆาต’ คือเอาช้างตัวเมียมาล่อ 

“ผมนั่งเรือไปที่เกาะช้าง จังหวัดตราด ไปหาพี่พรทิพย์ เจ้าของปางช้างบนเกาะ ไปคุยว่าจะมาจีบช้างตัวเมียไปล่อพลายถ่างไม่ให้ไปไหน ตอนนั้นก็มีช้างตัวเมียอยู่ตัวหนึ่งที่ถ้าจะใช้ก็ได้ แต่อีกใจผมก็หวั่นว่า ถ้าพามาแล้ว พลายถ่างจะมีอารมณ์หวง อารมณ์เกรี้ยวกราดมากกว่าเดิมหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็กลัวเขาจะไปแทงช้างตัวเมียตัวนี้ด้วย สุดท้ายเลยคิดว่า เราจะใช้แผนนารีพิฆาตเป็นแผนสอง

“แผนหนึ่ง เราจะเริ่มจากรีบกระชับพื้นที่ก่อน ซึ่งเราต้องเร่งทำ เพราะอีกไม่กี่วันทางจังหวัดจะมีงานในพื้นที่ตรงนั้น เลยขอให้ควาญช้างจากเกาะช้างมาช่วยจับพลายถ่าง ด้วยวิธียิงยาสลบ แล้วจับไว้ ตอนนั้นก็ไปสู้กันในป่าหลังศาลากลางจังหวัดตราด หลังจากนั้นจึงเตรียมความพร้อมในการขนย้าย ซึ่งตอนนั้นเราเคยมีแต่ประสบการณ์ในการขนย้ายลูกช้างบาดเจ็บ แต่นี่คือช้างโตแข็งแรง เราจะทำยังไงดี

“พอคุยกันก็ได้ข้อสรุปออกมาคือ การขนย้ายก็มีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน วิธีแรก เป็นการใช้วิทยาศาสตร์ล้วนๆ คือยิงยาสลบแล้วเอาขึ้นรถ แต่นั่นจะมีความเสี่ยงเพราะการใช้ยาสลบ เราต้องอดอาหารช้าง ต้องรู้น้ำหนักช้าง ถึงจะคำนวณปริมาณยาที่ใช้ และเคลื่อนย้ายเป็นระยะทางไกลด้วย วิธีนี้ถามว่าทำได้มั้ย ทำได้ แต่เราจะพยายามเน้นในเรื่องของสวัสดิภาพความปลอดภัยของช้างเป็นหลัก เลยคิดหาทางต่อ

“วิธีที่สอง เราจะใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ควบคู่กับเรื่องของวัฒนธรรม คือต้องเอาช้างบ้านมาช่วย ซึ่งเราตกลงใช้วิธีนี้ ผมจึงประสานขอช้างบ้านจากจังหวัดสุรินทร์ พอโทรปุ๊บ ควาญช้างกับช้างก็มาเลย เดินทางตอนกลางคืน มาถึงตอนตีสี่ ซึ่งช้างพวกนี้เพิ่งแห่งานบวชเสร็จ มาถึงยังมีเขียนลายอยู่บนตัวอยู่เลย ระหว่างนั้น ทางเราได้มีการดำเนินการเตรียมเรื่องอุปกรณ์ รถขนย้าย ซึ่งเราไม่มีอยู่เลย ต้องไปขอรถขนดินของกำนันหมามาช่วย เอาดินมาเทสร้างพื้นที่สำหรับให้ช้างขึ้นรถ เอาต้นกล้วยมาปิดทับไว้ให้พื้นนุ่มนิ่มเวลาช้างกระแทก 

“พอเช้า ก่อนเริ่มผมบอกควาญช้างให้ช้างบ้านที่พามาลองส่งเสียงร้องหน่อย จะขอสังเกตพฤติกรรมพลายถ่าง ปรากฏว่าพอได้ยินเสียง มันหันหน้าหนี เหมือนกลัว ตัวสั่นเลย เราเลยมั่นใจว่าใช้วิธีนี้แหละ ยาสลบไม่ต้องแล้ว แค่ให้ยาซึมสักนิดหนึ่ง เพื่อไม่ให้เขาเกิดความเครียดเท่านั้น คือเราคิดว่า ในเมื่อพลายถ่างเปลี่ยนสถานะเป็นเด็กหนีเรียน เราก็ต้องเอาครูฝ่ายปกครองมาพากลับ มีช้างฝ่ายปกครองตัวผู้ 3 ตัว กับตัวเมียอีก 1 ตัว คอยประคับประคอง และมีควาญช้างมาทำพิธีด้วย”

ครูฝ่ายปกครอง

ครั้งนี้ นอกจากได้ดำเนินการพาพลายถ่างกลับคืนสู่ป่าแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ได้ฟื้นฟูและสืบสานวัฒนธรรมประเพณีการจับช้าง การคล้องช้างป่าที่นับวันจะค่อยๆ หายไปให้กลับมาอีกครั้ง 

“วัฒนธรรมตรงนี้กำลังจะหมดไป ไม่มีใครทำแล้ว การจะสืบสานต้องมีหมอเฒ่า หมอช้าง มาทำพิธีเสี่ยงทาย ต้องมีการคล้องช้างป่าจริงๆ ซึ่งวันนั้นเป็นการทำพิธีที่ย้อนรอยตามพิธีโบราณทุกอย่าง อลังการมาก

“ในพิธีมีผู้ใหญ่มาร่วมหลายท่าน มีนายแพทย์อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธ์ เลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น ให้เกียรติมาเป็นประธาน มีคุณจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนปัจจุบัน ที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานฯ ในขณะนั้น และยังมี ผอ.โสภณ ดำนุ้ย ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายชัชวาล พิศดำขำ และมีคุณหมออลงกรณ์ มหรรณพ ที่เป็นอาจารย์ เป็นที่ปรึกษาในการทำงานของผม และท่านยังเป็นกรรมการสมาคมป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ด้วย แล้วก็ผม รวมทั้งประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม 

“ถือเป็นงานใหญ่มาก เป็นงานที่ยากและอันตรายมากด้วย ต้องมีการเตรียมการหลายอย่าง และต้องได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ถือเป็นงานครั้งแรกที่เราต้องวางแผนบนสมมติฐานว่า เราอาจจะเจอปัญหา เจอข้อจำกัดอะไรบ้าง ต้องคิดไว้ก่อนว่า ถ้าเราเจอปัญหาแบบนี้เราจะแก้ไขยังไง เจอเหตุการณ์แบบนี้จะดำเนินการยังไง”

ในที่สุด การดำเนินการทุกขั้นตอนที่ทำอย่างระมัดระวังและคำนึงถึงความปลอดภัยของช้าง รวมถึงผู้ร่วมงานทุกคนเป็นหลัก ก็สำเร็จลงด้วยดี

พลายถ่างกำลังจะขึ้นรถ

“พอคล้องพลายถ่างได้แล้วก็ประคับประคอง เคลื่อนย้ายพลายถ่างออกมาขึ้นรถสิบล้อที่เรามาดัดแปลงและจอดเทียบเนินดินที่ให้ช้างเดินขึ้นรถไว้แล้ว ครั้งนี้เราเน้นเรื่องสวัสดิภาพเต็มที่ จากนั้นก็พาพลายถ่างเดินทางไปที่อ่างฤาไนที่อยู่เดิมของเขาทันที

“การเคลื่อนย้ายขึ้นรถใช้เวลาไม่นาน ตอนสายๆ ของวันนั้นเราก็สามารถพาพลายถ่างขึ้นรถได้เรียบร้อย พอขึ้นรถแล้ว ทีมสัตวแพทย์ที่ผมเป็นหัวหน้าทีมได้เข้าดูแลต่อทันที เราทำการเจาะเลือดและตรวจสุขภาพไปด้วยก่อนเคลื่อนขบวนเดินทาง แล้วระหว่างขนย้ายเราไม่ได้ให้ยาซึมเพิ่ม เพราะผมเห็นแล้วว่าตอนที่ครูฝ่ายปกครองมา พลายถ่างจะกลัวจนตัวสั่นเลย ฉะนั้น เวลาจัดขบวนการเคลื่อนย้ายที่มีรถทางหลวงนำทาง รถพลายถ่างจะอยู่คันหลังสุด คันหน้าสุดจะเป็นครูฝ่ายปกครอง พอรถวิ่ง กลิ่นตัวของครูฝ่ายปกครองจะมาตามลม เจ้าถ่างได้กลิ่น ยกงวง ตัวสั่น ตลอดเวลา 6 ชั่วโมงที่เดินทางเลย ขนาดรถแวะจอดปั๊ม แวะพัก พลายถ่างก็อยู่นิ่ง

“พอไปถึงเขต เราให้ครูฝ่ายปกครองพาพลายถ่างเดินลงจากรถ ตอนนั้นพลายถ่างจะอ้วนๆ ตึงๆ เพราะตอนออกมาข้างนอกกินพืชไร่เกษตรกรรมของชาวบ้าน อุดมสมบูรณ์มาก แต่ในขณะเดียวกัน ตลอดเส้นทางที่เดินไปกว่า 4 เดือน มันก็ทำความเสียหายความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านไม่น้อยเลย ตอนที่เจอครั้งแรก ตรวจตามตัวยังมีร่องรอยถูกทำร้ายอยู่บ้าง เพราะตอนนั้นราษฎรไม่ค่อยพบเจอช้างป่าออกมาทำลายทรัพย์สิน ทำให้ไม่มีความเข้าใจ หรือรู้วิธีการรับมือกับช้างป่าเท่าไร เรียกว่าเขาโกรธแค้นจนถึงกับจะฆ่าพลายถ่างเลย เพราะฉะนั้น เพื่อเป็นการรักษาชีวิตพลายถ่างเอง รวมถึงรักษาความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชน จึงต้องมีการดำเนินการเอาพลายถ่างกลับมาป่าให้ได้”

ติดปลอกคอวิทยุให้พลายถ่าง

นั่นเป็นการพบและรู้จักกันครั้งแรกของคุณหมอล็อตกับพลายถ่าง ซึ่งคุณหมอไม่ได้คาดคิดว่าการพบกันครั้งที่สองจะเกิดขึ้นอีกไม่นานหลังจากนั้น

“พอพากลับเข้าป่าแล้ว เราอยากรู้ว่าพลายถ่างจะไปที่ไหนต่อ รุ่งเช้าก่อนจะปล่อย จึงมีการติดปลอกคอวิทยุที่ตัวพลายถ่าง ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ใช้เครื่องมือนี้ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2553 เพื่อเราจะได้รู้เส้นทางการหากิน การเดินของเขา 

“พอปล่อยไป จากการจับสัญญาณวิทยุ ได้รู้ว่าพลายถ่างเดินไปทางขวา คือเดินไปทางสระแก้วก่อน แล้วปรากฏว่าได้เดินย้อนกลับมา จากนั้นไปมาตามเส้นทางเดิมที่ออกมาครั้งแรก มาอยู่ตรงจันทบุรี ที่บ้านป้าคนหนึ่ง เขาจะอยู่ในป่าตรงนั้นไม่ไปไหนเลย แล้วเขาฉลาดมาก จะออกมาเฉพาะตอนกลางคืน ไม่ออกกลางวัน จะเข้าไปในสวนทุเรียน สวนผลไม้ของป้าคนนี้ เราไปเจอปลอกคอที่เราติดไว้หลุดอยู่ตรงนั้น ซึ่งการผูกการคล้องสายเรามีค่าระยะเวลาให้มันหลุดอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นมันจะติดไปยาว แล้วเครื่องเป็นระบบสัญญาณวิทยุที่เราจะต้องเอามาดูเรื่องการทำงาน เรื่องแบตเตอรี่ แล้วพลายถ่างก็คงดึงออกด้วย 

“พอเจอปลอกคอก็รู้ว่าเป็นพลายถ่างแน่ เลยมีการประชุมที่ อบต.เขาแก้ว ว่าจะเอายังไง สรุปต้องมีการเคลื่อนย้ายกลับอีกครั้ง แต่ครั้งนี้จะลำบากมากกว่าครั้งแรก เพราะพลายถ่างจะออกมาแต่ตอนกลางคืน ก็มีการประชุมร่วมกันกับควาญช้างจากสุรินทร์ชุดเดิม ขอให้เขามาช่วยจับอีก มีการวางแผนต่างๆ ใหม่ ซึ่งครั้งนี้ห่างจากครั้งแรกที่เรามาพากลับเพียงไม่กี่เดือน 

“คราวนี้พลายถ่างเข้าไปอยู่ในหุบเขาเป็นแอ่งกระทะ มีภูเขา มีป่าล้อมรอบ ตอนติดตามครั้งแรกเจ้าหน้าที่ที่ติดตามแจ้งว่า พลายถ่างวิ่งหนีแล้วหายตัวเข้าไปในต้นไม้ อันนี้เป็นเรื่องเล่านะครับ ผมไม่ได้เห็นเหตุการณ์เอง ทุกคนรวมทั้งช้างบ้านที่มาช่วยก็กลัวกันมาก ไม่กล้าเข้าป่ากัน เลยต้องหยุดภารกิจ ยกเลิกไปก่อน เพราะทุกคนใจเสียกันหมด แต่ระหว่างนั้นเรามีทำห้างไว้เฝ้าตามเขาตอนกลางคืน 

“เรารู้ว่าเขาอยู่ในป่านี้แต่หาตัวไม่เจอ เลยมีการทำพิธีเซ่นไหว้ ขอขมาต่างๆ ให้เหตุผลว่าทำไมเราต้องจับพลายถ่างให้ได้ เพราะนอกจากเขามาสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน แล้วยังมีเรื่องอื่นอีกที่น่าเป็นห่วงคือ ผลการตรวจเลือดที่เราตรวจจากการจับคราวที่แล้วยังไม่ออก เราก็ปล่อยเขากลับป่าไปแล้ว แต่ปรากฏว่า ผลเลือดที่ออกมาบอกว่าเป็นโรค Trypanosomiasis คือโรคปรสิตในเลือด ซึ่งโรคนี้เป็นโรคอันตราย เป็นโรคระบาดสัตว์ ที่ติดต่อสู่สัตว์ป่าชนิดอื่นได้ โรคมี 4 ระดับ พลายถ่างตรวจพบเจอระดับ 2 คือตรวจหยดเลือดในแผ่นสไลด์ก็สามารถเจอตัวเชื้อโรคด้วยตาเปล่าได้ ด้วยเหตุผลนี้ ขอให้ท่านเจ้าป่าเจ้าเขาช่วยให้เราเจอตัวเขาด้วย”

อาจจะเป็นด้วยทำเลที่อยู่ และความฉลาดของพลายถ่าง ทำให้การตามหาตัวครั้งนี้ไม่ง่ายเหมือนครั้งแรก ต้องใช้เวลานานกว่าจะพบและนำตัวมารักษาได้

“ตอนนั้นปลายปี 2553 มาจับเขาได้ปี 2554 พอจับได้ ปัญหาในตอนนั้นคือเราเอาพลายถ่างไปปล่อยป่าเดิมไม่ได้แล้ว เพราะร่างกายเขามีปัญหาเรื่องเลือด เรื่องเชื้อ ที่ทำให้เขาตายได้ ในขณะเดียวกัน ก็จะไปติดสัตว์ชนิดอื่นได้ด้วย เราจึงประสานงานไปยังปศุสัตว์จังหวัดจันทบุรีเพื่อดำเนินการพิจารณาการเคลื่อนย้ายเอาไปรักษา แล้วต้องดูว่าจะไปรักษาที่ไหนได้บาง เพราะการให้ยารักษาโรคนี้ต้องให้ยาเข้าเส้นเลือด ซึ่งต้องให้บ่อยมาก ไม่ใช่เข็มเดียวแล้วหาย ฉะนั้น ต้องมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แล้วสภาพของพลายถ่างเองเขามีปัญหาเรื่องค่าเลือด เรื่องเม็ดเลือดแดง สภาพเขาเริ่มโทรม ไม่เหมือนครั้งแรกที่เจอ ตอนนั้นตัวผอมมาก อาการเริ่มออกแล้ว การวางยาสลบทุกครั้งและการให้ยาเข้าเส้นเลือดเป็นความเสี่ยง เราจึงต้องดูว่าเอายังไงให้พลายถ่างรอดก่อน

“ในที่สุดเราก็ได้คำตอบว่า ที่ศูนย์คชศึกษา จังหวัดสุรินทร์ ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ น่าจะเป็นที่ที่เหมาะสมสำหรับการรักษาเขาที่สุด เพราะที่นั่นมีควาญช้าง มีครูฝ่ายปกครองคอยประคับประคองเขาได้อยู่ แล้วยังมีหมออยู่ตลอด เราเลยพาพลายถ่างไปที่สุรินทร์ 

“การรักษาต้องแยกพลายถ่างออกมาจากช้างตัวอื่น ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวตัวอื่นจะติดโรค แล้วเขาต้องเข้ารักษาและฝึกด้วยศาสตร์และวัฒนธรรมชาวช้างจังหวัดสุรินทร์ ใช้วิธีโบราณ เป็นการสืบสานด้วยว่าการฝึกช้างจริงๆ ไม่ได้ใช้การทารุณกรรมสัตว์ ไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่ใช้เหตุและผล เพราะช้างเป็นสัตว์ที่อิสระและเรียนรู้ได้ ถ้าทำดี ก็จะมีรางวัลให้ ตอนนั้นมีนักศึกษาปริญญาโทมาตั้งห้างไว้เพื่อศึกษาการรักษา และเรียนรู้การฝึกช้างพลายถ่างโดยเฉพาะ ปรากฏว่าไม่มีการใช้ความรุนแรงกับการฝึกพลายถ่างเลย เขาก็ค่อยๆ เรียนรู้ เขาสัมผัสได้ถึงความเมตตา ความตั้งใจของทุกคนที่จะมาช่วย จึงยอมให้รักษา ไม่อาละวาด หรือสร้างปัญหา 

“ตอนนั้นผมต้องขอชื่นชมที่สุรินทร์มาก ที่ให้ความอนุเคราะห์ สนับสนุนทุกอย่าง ไม่อย่างนั้นพลายถ่างคงไม่รอด ช่วงนั้นผมไม่ได้อยู่ด้วยตลอด เพราะที่นั่นมีหมอ มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ที่อยู่ที่อุบลไปช่วยดูแล ผมมาเจอกันอีกครั้งตอนที่จะไปส่งเขากลับป่า ปี 2555 ซึ่งพอตรวจสุขภาพแล้วพลายถ่างสุขภาพดีขึ้นมาก หายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ต้องกลับไปฟื้นฟูสัญชาตญาณและพฤติกรรมการเป็นช้างป่าในสภาพแวดล้อมที่เป็นป่า เราจึงส่งพลายถ่างไปที่ ออป. (องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้) ที่จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลช้างภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สังกัดกรมอุทยานฯ 

“ความประทับใจในครั้งนั้นคือ ท่านอธิบดี ดำรงค์ พิเดช ซึ่งจะเกษียณราชการในปีนั้น ในวันสุดท้ายของการปฏิบัติงานลงพื้นที่ ท่านเป็นห่วงพลายถ่าง จึงได้มาส่งพลายถ่างด้วย”

ครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้ายที่คุณหมอล็อตได้เจอกับพลายถ่าง โดยไม่คิดว่าจะได้มาพบกันอีกในอีก 9 ปีต่อมา

“ที่ ออป. เขาจะปล่อยให้ช้างอยู่ในป่าเลย ก็มีช้างตัวอื่นๆ อยู่ด้วย พอจบเคสครั้งนั้น ผมไม่ได้กลับไปที่นั่นอีกเลย แต่ก็รู้จากเจ้าหน้าที่ว่ามีบางช่วงเห็นพลายถ่างมาผสมพันธุ์ แต่ด้วยความที่เขาเป็นช้างป่า เลยเป็นช้างที่ดุร้ายและก้าวร้าวมาก ใครเข้าใกล้ไม่ได้ เขาจะถูกแยกออกจากตัวอื่น ไม่มีใครไปขี่คอหรือทำอะไรกับเขาได้ ทำได้คือเฝ้าดูอย่างเดียว

“พลายถ่างเป็นช้างป่าจริงๆ เพราะไม่มีการตรวจรูปพรรณ ไม่มีไมโครชิป ส่วนเรื่องเชือกที่คล้องที่คอพลายถ่างที่มีคนสงสัยตอนที่ผมโพสต์รูปและตั้งข้อสังเกตว่าพลายถ่างไม่น่าใช่ช้างป่า ก็ขอบอกว่า เชือกนั้นคล้องไว้เพื่อจับ เวลาที่จะต้องเอาช้างมาเทียบ มาให้ยา หรือเจาะเลือดตรวจ เพราะไม่มีอะไรให้จับเขาได้ เป็นวิธีการในการจับบังคับที่ปลอดภัย เพราะไม่อย่างนั้นการเข้าใกล้จะอันตรายมาก

“จากปี 2555 ผมไม่ได้เจอพลายถ่างอีกเลย จนกระทั่งปีนี้ น่าจะวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ผมไม่ได้ตั้งใจจะไป ออป.เลย แต่พอดีไปราชการไปดูพังทับเสลา ช้างป่าจากห้วยขาแข้งที่เคยไปปล่อยป่า แล้วมันก็ไม่กลับสู่ฝูง ฝูงก็ไม่มารับ ตัวมันเองก็ไม่ยอมไป เลยเอาไปไว้ที่โครงการที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ดอยผาเมือง ที่มีโครงการนำช้างปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ พังทับเสลาก็อยู่กับแม่ช้าง 2 ตัว ผมเลยไปเยี่ยม ไปตรวจสุขภาพเขา

“แล้วดอยผาเมืองอยู่ตรงข้ามกับ ออป. ผมจำได้ว่า ที่นั่นมีช้างป่าของกรมอุทยานอยู่สองตัวที่ฝากดูแลไว้ ตัวหนึ่งคือพลายบุญหลง เป็นช้างป่าจากภูหลวงที่พลัดหลงกับแม่เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว เราก็ส่งไปดูแล ไปบำบัดที่นั่น จนตอนนี้บุญหลงอายุสิบกว่าปีแล้ว แข็งแรงมาก อีกตัวก็คือพลายถ่าง เลยจะไปดูหน่อย 

“ผมไปถามเจ้าหน้าที่แถวๆ นั้นแล้วพากันเดินหา พอไปเจอเราก็หวั่นๆ อยู่ เพราะช่วงโควิดผมจะพกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวอยู่ ช้างไม่ชอบกลิ่นแอลกอฮอล์ เพราะถ้าได้กลิ่นคิดว่าจะโดนฉีดยา แต่ผมคิดว่า เราก็แค่อยากจะไปดูห่างๆ เพราะเจ้าหน้าที่บอกว่าเห็นตัวอยู่แถวๆ นี้ ไม่น่าจะเป็นไร พอผมเห็นตัวเขาอยู่ไกลๆ เลยส่งเสียงเรียกก่อน แล้วเรื่องความจำนี่ช้างเป็นเลิศอยู่แล้ว เขาจำเราได้แน่นอน เพราะเราดูแลรักษาเขาอยู่ระยะหนึ่ง แม้ว่าในส่วนของผมอาจจะเป็นภาพจำที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับเขา เพราะเราต้องไปจับ ไปชิงไหวชิงพริบ ไปสู้กับเขา แต่ด้วยความที่เราเป็นห่วงเขา เขาคงรู้

“ผมเรียกเขาว่า ‘ถ่าง ถ่างจำพี่ล็อตได้มั้ย’ ซึ่งการสื่อสารการสัตว์เหล่านี้เราต้องใช้โทนเสียงต่ำๆ ไม่ใช้เสียงสูง ไม่รบกวนโสตประสาทของเขา เขาจะได้ไม่ตกใจ แล้วผมก็ยกมือขึ้น พลายถ่างได้ยินก็ยกงวงขึ้นเป็นการตอบรับ แล้วค่อยๆ เดินออกมา พอเขาเดินมาใกล้เราก็หวั่นใจ ว่าเขาจะทำอะไรเราหรือเปล่า ตอนนั้นมีผม มีหมอคนอื่นๆ รวมแล้วก็ 5 คน ทุกคนก็เฝ้าดูด้วยความตื่นเต้น เพราะรู้ถึงกิตติศัพท์ของเขาอยู่ แต่อีกใจเราก็คิดว่า เราเป็นหมอแล้วเรามีเจตนาที่ดี เรามาดี มาเยี่ยมไข้ มาเยี่ยมสัตว์ที่เราเคยดูแลรักษา ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร 

“ตอนนั้นผมเดินไปยืนอยู่บนเนินที่สูงกว่าคนเดียว เขาเดินเข้ามาหยุดตรงเนินด้านล่าง ผมถามเขาซ้ำว่า ‘ถ่างเป็นไงบ้าง จำพี่ล็อตได้มั้ย’ ”

นาทีประทับใจของหมอล็อตและพลายถ่าง

“อย่างที่เห็นในภาพ ตอนนั้นเหมือนเขาพยายามยื่นงวงมาจะแตะ ซึ่งปรกติงวงช้างเวลาเขาจะแตะอะไร งวงจะขยับ ส่ายไปมา ไม่อยู่นิ่ง พอเราเห็นว่าเขาพยายามยื่นให้สุด เราก็รู้ว่ามันไม่ใช่การพยายามที่จะคว้าแล้วกระชาก ถ้าเขาเป็นอย่างนั้นผมจะถอยเลย แต่นี่เป็นการยื่นมาเพื่อจะสัมผัสกับเรา ผมถึงได้ยื่นมือเข้าไป ซึ่งจุดที่ผมยืนเป็นที่สูง ถ้าผมขยับอีกนิดหนึ่ง ผมอาจจะลื่นลงไปได้ พอลื่นแล้วก็ไม่รู้ว่าเขาจะกระชากหรือทำอะไรมั้ย แล้วมือผมก็มีกลิ่นแอลกอฮอล์อีก แต่เขาก็ยื่นงวงมาแตะและไม่มีอะไรเกิดขึ้น 

“จังหวะนั้น คนที่มาด้วยเขาอยู่รอบนอกไกลออกไป เขาก็ถ่ายภาพแบบรัวๆ เลย เราไม่รู้ว่าเขาถ่ายภาพอะไรบ้าง โทรศัพท์ของผมเป็นไอโฟน เพราะปกติเวลาเราลงพื้นที่ เราจะมาทำรายงาน ก็จะถ่ายภาพไว้อยู่แล้ว ผมอยู่ตรงนั้นไม่นาน น่าจะประมาณ 10 นาที พอสัมผัสกันแล้วผมถอยออกมาก่อน แล้วก็กลับเลย แต่ช่วงที่แตะกัน ผมได้ยินเสียงเขาร้อง คือผมได้ยินเสียงช้างป่าร้องมาเยอะมาก แต่เสียงที่ถ่างร้องตอนนั้น เป็นโทนเสียงที่เราไม่คุ้นเลย ร้องแปร๊นๆ แล้วเขาก็ดึงงวงกลับ แล้วสะบัดหู ซึ่งอาการสะบัดหูสะบัดหาง เป็นการบอกว่าเขามีความสุข 

“ผมเองก็รู้สึกได้ว่ามีบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกประทับใจมาก ยิ่งได้เห็นเขาอ้วนท้วนสมบูรณ์ แข็งแรง งายาว สวยขึ้น เพราะงาที่ถ่างตั้งแต่ต้น พอยาวมันจะโค้งสวย แล้ว ณ เวลานี้ อาการเจ็บป่วยเมื่อคราวที่แล้วไม่มี เขาแข็งแรง แค่นี้เราก็มีความสุขแล้วครับ แล้วเขาก็ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับเขา ผมเชื่อว่าภาพที่ผมได้เจอกับพลายถ่างนี้จะทำให้คนที่เกี่ยวข้องกับกรณีของพลายถ่าง เมื่อสิบปีที่แล้วดีใจ บางคนอาจจะลืมไปแล้ว แต่พอผมเล่าให้ฟังเขาก็จำได้ ทุกคนมีความสุขมาก เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมของทีมสัตวแพทย์ กลุ่มควาญช้างที่มาช่วยกันประคับประคอง ตัวผมเองถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการนี้ อาจจะเป็นคนวิเคราะห์ กำหนด วางแผนออกมา แต่ความร่วมมือของทุกฝ่ายนั้นเป็นสิ่งที่งดงามมาก

“วันนั้นเป็นวันช้างไทย เป็นเรื่องบังเอิญพอดีที่เราได้รื้อฟื้นความทรงจำที่เราคาดไม่ถึง เลยอยากให้ทุกคนที่มีส่วนในเหตุการณ์นั้นได้รับรู้ และภูมิใจด้วยกัน”

เมื่อฟังเรื่องราวของพลายถ่าง ช้างป่าที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนย้ายช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่กลับคืนสู่ป่าอย่างมีแบบแผน และสายสัมพันธ์ระหว่าง ‘พลายถ่าง’ และ ‘หมอล็อต’ มันคือความงดงามที่อาจจะเรียกได้ว่า ‘โลกทั้งผองคือพี่น้องกัน’

ภาพ: กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

Tags: , , , , , ,