33 ตัว คือจำนวนพะยูนที่ตายในปี 2567 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 71 ตัว หากรวมกับการตายของปี 2566
แต่พะยูนไทยเกิดใหม่เฉลี่ยแค่ปีละ 17.5 ตัว ในขณะที่อัตราการตายเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 25 ตัว เมื่อเกิดใหม่น้อยกว่าตาย อนุมานได้ว่า พะยูนไทยกำลังลดจำนวนลง ฝูงพะยูน 250 ตัว ที่เคยสำรวจพบในฝั่งอันดามันและอ่าวไทย วันนี้อาจเหลือไม่ถึง 120 ตัว และอาจสูญพันธุ์ไปในอีกไม่ช้า
นี่เป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ของธรรมชาติ หรือมีปัจจัยใดอีกที่เป็นตัวเร่งให้พะยูน ที่มีอายุขัยมากถึง 70 ปี ต้องตายในช่วงโตเต็มวัย มีอะไรซ่อนอยู่หลังกองศพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ชนิดนี้อีกหรือไม่
น้ำทะเลอุ่น พะยูนตาย หญ้าทะเลหดหาย
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) อัปเดตตัวเลขทางสถิติในเดือนตุลาคม 2567 ระบุว่า ปัจจุบันพะยูนมีการตายเฉลี่ยอยู่ที่ 25 ตัวต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2548-2561 ที่ตายเฉลี่ยปีละ 13 ตัว และยังมากกว่าอัตราการเกิดใหม่ที่มีเพียง 17.5 ตัวต่อปีเท่านั้น
สิ่งที่น่าสนใจคือ จำนวนประชากรพะยูนฝั่งอันดามันทั้งหมดที่ ทช.ระบุว่า มีอยู่ 250 ตัวนั้น แตกต่างจากตัวเลขของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มองว่า จำนวนพะยูนในท้องทะเลไทยอาจเหลือไม่ถึง 120 ตัว โดยชี้สาเหตุการตายว่า เป็นผลจาก ‘ภาวะโลกร้อน’
ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นในแต่ละปี ข้อมูลจากรายงาน ‘การสังเคราะห์ข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ปี 2559 ได้บันทึกการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิต่ำสุด อุณหภูมิเฉลี่ย และอุณหภูมิสูงสุดของไทย ระบุว่า เพิ่มขึ้น 0.92 0.96 และ 1.04 องศาเซลเซียสตามลำดับ และไม่ใช่แค่ชั้นบรรยากาศเท่านั้นที่ร้อนขึ้น แต่น้ำทะเลไทยก็อุ่นขึ้นเช่นเดียวกัน เห็นได้จากการตรวจสอบค่าอุณหภูมิบริเวณสถานีน้ำทะเลอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีในปีนี้ พบว่า น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงเกิน 31 องศาเซลเซียส โดยเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ทำการวัดในช่วงเวลาเดียวกัน
เมื่อต้องสัมผัสกับน้ำทะเลร้อนเป็นเวลานาน หญ้าทะเลจึงเกิดความเครียด การเติบโตชะลอตัวและเสี่ยงที่จะตาย โดยในช่วงที่อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น หญ้าทะเลของไทยก็มีปริมาณลดลง โดยเฉพาะบริเวณเกาะลิบง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ จากเดิมเคยสำรวจพบหญ้าทะเลกว่า 34,869 ไร่ในปี 2563 แต่ในปี 2564 กลับเหลือเพียง 25,767 ไร่ สอดคล้องกับปริมาณหญ้าทะเลโดยรวมทั้งประเทศ ที่จากเดิมสำรวจพบกว่า 1.6 แสนไร่ในปี 2563 ลดเหลือเพียง 9.7 หมื่นไร่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน หญ้าทะเลที่ยังเหลืออยู่ก็มีสภาพสมบูรณ์เล็กน้อย และปกคลุมพื้นที่เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น
หลังเข้าสู่ปี 2567 ในเดือนมีนาคม มีรายงานว่า พบพะยูนตัวโตเต็มวัยเกยตื้นที่ปากคลองบ้านพร้าว ตำบลเกาะลิบง จังหวัดตรัง ซากศพมีสภาพซูบผอม ขณะที่จุดเกยตื้นอยู่ห่างจากเขตหญ้าทะเลเพียง 4.3 กิโลเมตร ต่อมาในเดือนตุลาคมของปีเดียวกันก็มีข่าวการเกยตื้นของพะยูนทั้ง 9 ตัวในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 3 ตัว มีสภาพซูบผอม เมื่อผ่าชันสูตรไม่พบเศษของหญ้าทะเลอยู่ในท้อง และสาเหตุการตายเกิดจากการขาดอาหาร ส่วนพะยูนตัวอื่นๆ ที่ยังมีชีวิตจำเป็นต้องอพยพเพื่อตามหาแหล่งอาหารใหม่ จึงเกิดความไม่คุ้นชินกับพื้นที่ส่งผลให้พวกมันประสบอุบัติเหตุ ทั้งการติดอวนของชาวประมง เรือชน เป็นอาทิ
นี่เป็นผลกระทบลูกโซ่ที่ตั้งต้นจากภาวะโลกร้อน สู่การหดหายของหญ้าทะเลและการตายของพะยูน
อย่างไรก็ตาม โลกร้อนก็ไม่ได้เกิดขึ้นเอง นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราไม่สามารถอนุมานได้ว่า การตายของพะยูนเฉียดร้อยตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ (2566-2567) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
จากข้อมูลปริมาณของหญ้าทะเลไทยในย่อหน้าที่ 7 อนุมานได้ว่า น้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นทำหญ้าทะเลไทยลดลง ภาวะเช่นนี้เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเกิดจากการที่ก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณเกินกว่าที่ธรรมชาติจะสามารถดูดซับไว้ได้ ที่เหลือจึงลอยขึ้นไปสะสมในชั้นบรรยากาศ ดูดซับความร้อน และสะท้อนกลับลงมายังพื้นผิวโลก อุณหภูมิจึงสูงขึ้นมากกว่าปกติ
สำหรับประเทศไทยจัดว่าเปราะบางกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นพิเศษ โดยเป็นประเทศอันดับที่ 9 ที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วมมากที่สุดจากการจัดอันดับของ INFORM Risk Index ทั้งภาวะโลกรวนจะกระทบต่อ GDP ของประเทศมากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 จากการจัดอันดับของ Swiss Re Institute กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะทำให้เกิดอุทกภัยถี่ยิ่งขึ้นและกระทบคนจำนวนกว่า 3.1 ล้านคนภายในปี 2578-2587 ขณะเดียวกันยิ่งอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นมากเท่าไร ประเทศไทยก็จะสูญเสีย GDP มากขึ้น ในกรณีที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส ไทยจะสูญเสีย GDP ร้อยละ 19.5 และหากเพิ่มขึ้นถึง 3.2 องศาเซลเซียส ก็มีโอกาสสูญเสีย GDP ได้มากถึงร้อยละ 43.6 เลยทีเดียว
ไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากอากาศที่ร้อนขึ้น แต่สัตว์ใต้ท้องทะเลก็ได้รับผลกระทบไปไม่น้อยกว่ากัน สืบเนื่องจากภาวะของน้ำทะเลเดือดที่ทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรมและตาย ส่งผลให้พะยูนรวมทั้งสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ที่อาศัยหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหาร ต้องดิ้นรนไปอยู่บริเวณอื่นของทะเล ส่วนปลา กุ้ง และหอย จะได้รับผลกระทบจากการขาดแหล่งในการอนุบาลตัวอ่อน ความหลากหลายทางชีวภาพใต้ท้องทะเลไทยจึงลดน้อยลง อย่างไรก็ดี ปัญหานี้ยังอยู่ในความพยายามของทีมคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อฟื้นฟูหญ้าทะเล โดยการเพาะเลี้ยงหญ้าทะเลในบ่อเพื่อเตรียมนำไปปลูกในทะเลอีกครั้ง แต่ยังคงประสบปัญหากับการหาเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากหญ้าทะเลมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนการหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกหญ้าทะเลใหม่ยังคงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโต
ความสูญเสียอีกประการสืบเนื่องจากหญ้าทะเลลดจำนวนลงด้วยสาเหตุจากสภาพอากาศ คือการสูญเสียแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในทะเล (Blue Carbon) เพราะหญ้าทะเลสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 10 หรือมากกว่า 50 เท่า เทียบกับความสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของพืชบนบก ในขณะที่ทั่วโลกตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็น 0 (Net Zero) ภายในปี 2593 และตั้งเป้าหมายเริ่มต้นในปี 2573 ว่าต้องลดการปล่อยลงร้อยละ 42 เพื่อไม่ให้อุณหภูมิของโลกพุ่งทะลุจาก 1.5 องศาเซลเซียส แต่ปัจจุบันปริมาณการปล่อยก๊าซยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคพลังงาน และหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปจะทำให้โลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2573 ได้เพียงร้อยละ 2.6 จากการประเมินของหน่วยงานด้านสภภาพอากาศ องค์การสหประชาชาติ
เมื่อกลไกปกป้องโลกสูญหาย ก๊าซเรือนกระจกที่เหลือจากการดูดซับจากธรรมชาติจำนวนมหาศาลจึงลอยกลับขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอีกครั้ง และทำร้ายทุกชีวิตไม่เลือกว่าจะเป็นคนและสัตว์
เมื่อไทยและทั่วโลกล้มเหลวในการจัดการกับผู้ปล่อยมลพิษ ความสูญเสียจึงดำเนินต่อไป
ไม่ว่าจะเป็นกรณีของพะยูนตาย หรือระบบนิเวศทางทะเลสาบสูญ คำถามก็คือ แล้วมนุษยชาติจะจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่กำลังขยายผลกระทบกลายเป็นวิกฤตอย่างไร
ในบทความ เพราะโลกสอบตก พะยูนจึงต้องตาย โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ชี้ว่า ทั่วโลก ‘ล้มเหลว’ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็น 0 (Net Zero) ภายในปี 2593 นับตั้งแต่เป้าหมายแรกคือ การลดการปลดปล่อยก๊าซให้ได้ร้อยละ 43 ภายในปี 2573 จากฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2562 ทว่าในปี 2567 นี้ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทั่วทั้งโลกยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสัดส่วนการปล่อยโดยมากมาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น จีน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น และประเทศที่มีประชากรมหาศาลอย่างอินเดีย กระนั้น จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า ในการประชุม COP (การประชุมของรัฐภาคีสมาชิกความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศต่างๆ ภายใต้สหประชาชาติ) หนต่อไปนี้ เราจะได้เห็นมาตรการใดที่มีความ ‘เด็ดขาด’ มาบังคับใช้กับกลุ่มประเทศเหล่านี้เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบกับทั่วโลกไม่ถึงร้อยละ 1 (อยู่ที่ร้อยละ 0.9) และรัฐบาลไทยแสดงเจตจำนงว่ามีความมุ่งมั่นแก้ปัญหา ทั้งจากการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสและการเป็นรัฐภาคีในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ไปจนถึงการปรับแผนให้มีความสอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ บูรณาการเป็นยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมากถึง 12 ฉบับจากการรายงานศูนย์นโยบายเพื่อการเรียนรู้ (1O1PUB) แต่ใน 6 เดือนแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม-มิถุนายน) ประเทศไทยยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกว่า 121.9 ล้านตัน ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ โดยมากมาจากภาคพลังงานร้อยละ 48.1 รองลงมาคือ ขนส่งและอุตสาหกรรมที่ร้อยละ 41.5 และร้อยละ 25.6 ตามลำดับ ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่มีวี่แววจะสามารถลดคาร์บอนให้เป็น 0 ได้ภายในปี 2593 ตามข้อตกลงร่วมกันของรัฐภาคีในเวที COP
ย้อนกลับมามองคนไทยที่มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ 3.71 เมตริกตันต่อปี จากการเก็บข้อมูลของธนาคารโลกเมื่อปี 2563 แต่รัฐบาลในฐานะผู้กำกับภาคพลังงาน และอุตสาหกรรม กลับผลักภาระให้ประชาชนเป็นผู้รับผิดชอบในการลดปัญหาโลกร้อน รณรงค์ให้ประชาชนปรับตัวในการใช้ชีวิต มากกว่าการจัดการกับผู้ปล่อยมลพิษจากภาคส่วนทางเศรษฐกิจ
ภาคพลังงานของไทย มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดร้อยละ 69.06 รองลงมาคือภาคเกษตรกรรมร้อยละ 15.69 และภาคอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ร้อยละ 10.77 อย่างไรก็ตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของไทยไม่ได้มุ่งเป้าไปยังภาคส่วนต่างๆ เหล่านี้มากนัก ไม่มีการเก็บภาษีจากผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ (Polluter Pays Principle) มีการบังคับใช้มาตรการและกฎหมายที่ไม่มีความเข้มงวด ประนีประนอม และมักเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การให้ภาคเอกชนปลูกป่าทดแทนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Offset)
ในท้ายที่สุด ความไม่ใส่ใจของรัฐบาลในการจัดการกับผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ จะนำมาสู่ความสูญเสียที่รุนแรงกว่า และแน่นอนว่า พวกเขาไม่ใช่สิ่งมีชีวิตกลุ่มแรกๆ ที่จะต้องเตรียมรับกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก กลับกันคือคนธรรมดา สัตว์ และพืช ที่ต้องปรับตัว
และหากภาคพลังงาน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม รวมทั้งประเทศพัฒนาแล้ว ยังคงสุมความร้อนให้กับโลกจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสม่ำเสมอ หรือเพิ่มมากขึ้นกว่าเก่า เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อุณหภูมิของน้ำทะเลโลกและทะเลไทยก็ยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ และอาจจะทำลายสถิติเดิมในแบบปีต่อปี
ถึงตอนนั้นอาจจะไม่ใช่แค่พะยูนและหญ้าทะเลที่ตาย แต่อาจรวมถึงชีวิตของคนในประเทศที่จะเผชิญกับความสูญเสียมากยิ่งขึ้น
ทันไหมกับการหยุดยั้งความสูญเสีย
จากคำถามนี้ The Momentum ได้พูดคุยกับรองศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567
เป็นบทสนทนาสั้นๆ แต่ได้ใจความ ดังนี้
“ผมรู้เรื่องผลกระทบจากโลกร้อนมาหลายปีแล้ว แต่พูดไปแล้วไม่มีใครสนใจ
“ตอนนี้หลายคนถามผมว่า เราทันไหมหากจะแก้โลกร้อนเดี๋ยวนี้ เพื่อลดการตายของพะยูน คำว่า ทัน ของเขาหมายถึงอะไรล่ะ หมายถึงโลกร้อนไปแล้ว พอมีพะยูนเริ่มตาย แล้วเราหยุดการตายได้ทันอย่างนั้นเหรอ หรือจริงๆ แล้วคำว่า ทัน คือจะต้องไม่มีพะยูนตายสักตัว
“สำหรับผม ทันคือต้องไม่มีพะยูนตายสักตัวสิ”
“ย้อนเวลากลับไปสัก 10 ปีสิ แล้วเอางบประมาณมาแก้ไขปัญหาพวกนี้ เพิ่มจากที่มีอยู่สัก 100 เท่า อาจจะพอมีหวังฟื้นฟูระบบนิเวศที่เราเสียไปได้บ้าง แต่ทุกวันนี้งบงานวิจัยทางทะเลก็โดนตัดไปเรื่อยๆ ผมจึงไม่เข้าใจว่า พวกเขามองเห็นความสำคัญของทะเลกันอย่างไร
“สิ่งสำคัญที่ก็คือ เราไม่ได้อยู่ในการ์ตูนที่จะย้อนเวลากลับไปได้ และถึงแม้จะมีเงินงบประมาณสักร้อยเท่ามากองไว้ตรงหน้าตอนนี้ ผมก็ไม่แน่ใจแล้วว่า เราจะสามารถหยุดยั้งปัญหานี้ได้อย่างไร”
ที่มา:
https://www.thaipbs.or.th/news/content/337727
https://www.aloki.hu/pdf/2205_48234840.pdf
https://www.thaipbs.or.th/news/content/337581
https://www.dmcr.go.th/detailAll/73097/nws/187
https://www.thairath.co.th/scoop/infographic/2823703
https://drmkc.jrc.ec.europa.eu/inform-index/INFORM-Risk/Country-Risk-Profile
https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/2023-134/
https://www.un.org/en/climatechange/net-zero-coalition
https://ourworldindata.org/co2-and-greenhouse-gas-emissions
https://101pub.org/thailand-climate-policy/
https://www.undp.org/stories/greenhouse-emissions-thailand-th
https://themomentum.co/feature-pak-beng-mekong/
Tags: พะยูน, อุณหภูมิโลก, ภาวะเรือนกระจก, ก๊าซเรือนกระจก, โลกร้อน, ความร้อน