ภาพจำเดิมของงานศิลปะประเภท ‘ไดโอรามา’ (Diorama) หรือแบบโมเดลจำลอง 3 มิติ ที่หลายคนนึกถึง อาจเป็นการหยิบยกแลนด์มาร์กสำคัญของประเทศต่างๆ ทิวทัศน์ธรรมชาติตระการตา ไปจนถึงสภาพแวดล้อมสุดแฟนตาซีในจินตนาการมาเล่าเรื่อง โดยแบ่งตามลักษณะการใช้งาน อาทิ พร็อพงานภาพยนตร์ อุปกรณ์สื่อการสอน ตัวอย่างโครงการบ้านในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
แต่นั่นดูจะเป็นการจำกัดความศิลปะประเภทดังกล่าวไปเล็กน้อย เพราะขึ้นชื่อว่าศิลปะแล้ว การนิยามคุณค่าย่อมแตกต่างกันไปตามมุมมองแต่ละบุคคล
ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงทำให้ศิลปินแนวสตรีตอาร์ตอย่าง ‘แบงก์ ธนารักษ์’ หรือนามแฝงว่า ‘one way to hell’ เลือกทำในสิ่งที่ต่างออกไปในงานไดโอรามา โดยการถอดแบบแหล่งเสื่อมโทรม พื้นที่รกร้าง หรือสภาพแวดล้อมข้างถนนที่เราเห็นจนชินตา มาย่อส่วนให้มีขนาดเล็กเกือบเท่าฝ่ามือ แต่คงความสมจริงไว้ทุกกระเบียดนิ้ว
เหตุผลใดที่ทำให้ศิลปินหนุ่มรายนี้ตัดสินใจเลือกรังสรรค์งานไดโอรามา ที่หลุดขนบต่างจากศิลปินคนอื่นๆ และผลงานของเขากำลังสะท้อนถึงความเป็นไปในสังคมอย่างไร เราขอชวนคุณผู้อ่านหาคำตอบได้จากบทความนี้
“ส่วนตัวผมมีงานอดิเรกเกี่ยวกับงานกราฟิตี้ กระทั่งวันหนึ่งเกิดตั้งคำถามกับตนเองว่า มีวิธีใดบ้างที่จะสามารถเก็บศิลปะแนวนี้ไว้กับตัว ไม่ใช่แค่ที่พ่นบนกำแพง จึงลองศึกษาสตรีตอาร์ตแขนงอื่นๆ และพบกับศิลปะที่เรียกว่า ไดโอรามา ที่เป็นการย่อสัดส่วนพื้นที่จริงมาเป็นโมเดลจำลองขนาดเล็ก”
ธนารักษ์เริ่มอธิบายให้เราฟังถึงที่มาของการเข้าสู่วงการโมเดล 3 มิติ ที่ต่อยอดมาจากความหลงใหลในศิลปะแนวกราฟิตี้ที่นิยมในหมู่วัยรุ่น
ขณะกำลังอธิบาย ธนารักษ์ก้มลงหยิบโมเดลที่ตนรังสรรค์เองกับมือขึ้นมา โดยโมเดลของเขาส่วนใหญ่มีขนาดความกว้างและยาวไม่เกิน 30 เซนติเมตร ทว่าจุดที่น่าสนใจคือ แต่ละฉากล้วนหยิบมาจากสภาพแวดล้อมข้างถนน เช่น กำแพงข้างถนนที่ถูกพ่นด้วยสีสเปรย์สลับกับภาพโปสเตอร์ที่ถูกแปะ แม้กระทั่งกองขยะและเศษหินดินทรายจากไซต์ก่อสร้างที่ถูกวางกองพะเนิน
“บ้านของผมอยู่ระแวกฝั่งธนบุรี เวลาผ่านไปมาก็จะเห็นสภาพแวดล้อมประมาณนี้จนชินตา ถ้าเกิดคุณนั่งรถเมล์ทุกๆ หนึ่งป้ายจะพบกำแพงที่ถูกพ่นด้วยสเปรย์ สถานที่รกร้าง หรือกองขยะที่ถูกสุมไว้ จึงเกิดความสนใจและอยากจะจำลองสถานที่เหล่านี้
“จากนั้นผมเริ่มรีเสิร์ชสถานที่ต่างๆ ด้วยการถ่ายภาพ บ้างก็ใช้ความจำจากที่ที่เคยเห็นมาทำโมเดล งานชิ้นแรกที่ทำเป็นการจำลองโรงงานร้างแห่งหนึ่ง เพื่อเอาไปแสดงในงานอีเวนต์ของแบรนด์เสื้อผ้าแนวสตรีตที่ชื่อว่า Blue Boyz Sports Club
“ช่วงแรกที่โพสต์ผลงานลงโซเชียลฯ ก็มีคนสงสัยว่าเราทำงานแนวนี้ทำไม มันดูสกปรกนะ ทำไมไม่จำลองสถานที่ที่สวยงามล่ะ แต่ในส่วนของศิลปินแนวสตรีตอาร์ตหรือชาวต่างชาติเขาก็จะเข้าใจถึงสิ่งที่เราต้องการสื่อ”
ศิลปินเจ้าของนามแฝง one way to hell ไม่รอช้า อธิบายต่อถึงเหตุผลที่เลือกคิดจะถ่ายทอดงานไดโอรามาในลักษณะดังกล่าว ที่เขาใช้เวลาศึกษาจากศิลปินต่างชาติชื่อดัง เช่น โจชัวร์ สมิตช์ (Joshua Smith) พลางลงมือปฏิบัติจริงไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี โดยมีแรงบันดาลใจมาจากสภาพแวดล้อมที่เติบโตมา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ ว่ามีสถานที่ลักษณะนี้ทั่วทุกแห่งหนในกรุงเทพฯ
แน่นอนว่าต้องมีคนที่สนใจและแปลกใจ ถึงสิ่งที่เขาถ่ายทอดออกมา บ้างก็ว่าเป็นงานสตรีตอาร์ตที่โชว์วัฒนธรรมข้างถนนแบบไทยๆ บ้างก็สงสัยว่าเหตุใดศิลปินรายนี้ไม่เลือกถ่ายทอดผลงานที่จรรโลงสายตา แต่สุดท้ายความคิดเหล่านั้นล้วนขึ้นกับ ‘ปัจเจก’ ของแต่ละคน
การทำงานไดโอรามาสักชิ้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้ความละเอียดอ่อนตั้งแต่ต้นจนจบ ธนารักษ์ต้องอาศัยความพิถิพิถันมากพอสมควร เริ่มจากการสเก็ตช์ภาพสถานที่ ต่อด้วยวัดขนาดเพื่อกะขนาดโมเดล จากนั้นจึงเริ่มตัดและประกอบชิ้นงาน โดยจะใช้วัสดุประเภทพลาสวูด (plaswood) ซึ่งเป็นพีวีซีที่มีความคงทนเป็นวัสดุหลัก เมื่อประกอบเสร็จจึงลงสีสเปรย์ด้วยแอร์บรัช (airbrush) ต่อ ก่อนจะขัดสีปิดท้ายด้วยกระดาษทราย เพื่อให้ชิ้นส่วนที่จำลองดูมีความโทรมสมจริง
ทั้งนี้ ระยะเวลาการทำงานแต่ละชิ้นขึ้นอยู่กับขนาดของชิ้นงาน ถ้าเป็นสถานที่ที่มีรายละเอียดสูง ก็ต้องใช้เวลาราว 3-4 เดือน จนเสร็จ
อีกหนึ่งเสน่ห์ที่ทำให้มีผู้คนติดตามผลงานไดโอรามาของธนารักษ์ นั่นคือการหยิบตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนหรือวิทยาลัยช่างกลระแวกฝั่งธน มาใช้ปรากฏเป็น Easter Egg ในฉาก เพื่อให้มีกลิ่นอายความเป็น Gangster ตามภาษาวัยรุ่นคึกคะนองที่ชอบหยิบสีสเปรย์มาฉีดข้างฝากำแพง
อย่างไรก็ดี ธนารักษ์ยืนยันว่า ตราสัญลักษณ์ของแต่ละสถาบันไม่ได้ถูกพ่นไว้ในสถานที่จริง เช่นในภาพที่มีตราสัญลักษณ์วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม ก็มีเจตนาเพื่อระลึกแด่สถาบันที่เขาจบมาเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ธนารักษ์ยังกล่าวติดตลกอีกว่า เคยมีนักศึกษาสังกัดสถาบันหนึ่งติดต่อเข้ามาเพื่อขอซื้อโมเดลที่เขาทำ เพราะโมเดลนั้นมีตราสถาบันของตนเองอยู่ ทว่าสุดท้ายเมื่อถามราคาเสร็จก็ไร้การติดต่อใดๆ กลับมา
แม้จะเป็นผลงานจิกกัดเสียดสีวัฒนธรรมข้างถนนแบบไทยๆ ที่ลงลึกไปถึงภาพโปสเตอร์ข้างกำแพง ไม่ว่าจะโปสเตอร์ติดต่อบริษัทรับกำจัดปลวก จนถึงโปสเตอร์กำหนดการแสดงของศิลปินลูกทุ่งระดับซูเปอร์สตาร์ ‘ไหมไทย หัวใจศิลป์’ แต่นั่นกลับสร้างรายได้แก่ธนารักษ์เดือนละไม่ต่ำกว่าหลักหมื่น เพราะมักมีชาวต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศเกาหลีใต้ ติดต่อเข้ามาเพื่อซื้องานไดโอรามาของเขาไปเป็นของประดับตกแต่งบ้าน
ช่วงท้ายของการสนทนา ศิลปินเจ้าของนามแฝง one way to hell เล่าว่า แม้ผลงานของเขาจะอิงอาศัยความเสื่อมโทรมข้างถนน แต่อีกนัยหนึ่ง ก็ต้องการสะท้อนให้เห็นว่าในเมืองหลวงยังมีพื้นที่รอการดำเนินแก้ไขอยู่
ขณะเดียวกัน เขาเรียกร้องให้ภาครัฐมีการสนับสนุนศิลปินไทยมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่วงการนี้ยังยืนหยัดและอยู่ได้จากความพยายามของศิลปินด้วยกันเอง
“ผมว่าสภาพแวดล้อมเหล่านี้เราเห็นได้ทั่วไปอยู่แล้วในกรุงเทพฯ อย่างตัวผมที่เกิดและเติบโตในย่านฝั่งกรุงธนบุรี ก็จะรู้ดีว่าเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรแออัด จนทำให้ภาครัฐอาจดูแลไม่ทั่วถึง และเห็นได้ชัดว่าพื้นที่เหล่านี้ถ้านำไปเทียบกับใจกลางเมือง ยกตัวอย่าง สยามสแควร์ จะเห็นความต่างอย่างชัดเจน
“สุดท้ายผมว่าขึ้นอยู่ที่คนมอง แม้พื้นที่ตรงนั้นจะมีปัญหาขาดการดูแล แต่มองอีกมุมหนึ่งก็เป็นเสน่ห์บางอย่างเหมือนกัน
“อีกสิ่งที่ผมอยากได้จากภาครัฐ คือการสนับสนุนศิลปิน จะเป็นการจัดอีเวนต์ให้ศิลปินมาจัดแสดงผลงานก็ได้ เพราะอย่างย่านฝั่งกรุงธนบุรีก็แทบจะไร้แกเลอรี” ธนารักษ์กล่าวทิ้งท้ายในฐานะศิลปินคนหนึ่ง ที่อยากขับเคลื่อนและมีส่วนเรียกร้องแก่วงการศิลปะไทยให้ได้รับการดูแลพัฒนาจริงจัง ภายใต้การบริหารงานตลอดระยะเวลา 4 ปี ของรัฐบาลใหม่
ผู้ที่สนใจผลงานของธนารักษ์ สามารถติดตามได้ที่ช่องทาง อินสตาแกรม @1way_2hell ขณะเดียวกัน เขาก็กำลังดำเนินโปรเจกต์กับแบรนด์เสื้อผ้าแนวสตรีตแฟชั่น Blue Boyz Sports Club
นอกจากนี้ ใครที่สนใจอยากลองรังสรรค์งานศิลปะประเภทไดโอรามาบ้าง ทางธนารักษ์ก็พร้อมยินดีจะแบ่งปันทักษะที่เขามีอยู่ ไม่แน่ว่าวันข้างหน้าศิลปะแนวนี้อาจจะฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมืองก็เป็นได้
Tags: Feature, งานศิลปะ, Diorama, ไดโอรามา, โมเดลจำลอง