หลายปีที่ผ่านมา รถถัง โครงสร้างคอนกรีต ตู้รถไฟ ซึ่งไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ถูกหย่อนลงทะเล เพื่อให้เป็นวัสดุทำ ‘ปะการังเทียม’ ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้สมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของหลายสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล

แต่ปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยีรุดหน้า แนวทางการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลก็มีรูปแบบใหม่ เป็นการออกแบบพัฒนา ‘วัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง’ หรือ ‘บ้านปะการัง’ จากการพิมพ์ 3 มิติ ผ่านการออกแบบพัฒนา ที่เกิดขึ้นจากการวิจัยและพัฒนาการขึ้นรูปชิ้นงาน 3 มิติ โดยสามารถปรับแต่งลักษณะแสง เงา ให้เข้ากับพื้นที่ และพัฒนาให้เหมาะกับสายพันธุ์ปะการังและสภาพแวดล้อมในท้องทะเลนั้นๆ รวมถึงพัฒนาคุณสมบัติโดยเฉพาะของหินปูนในเนื้อปูนซีเมนต์ให้มีค่าความเป็นกรดด่างใกล้เคียงกับค่าของน้ำทะเล เพิ่มประสิทธิภาพในการลงเกาะและการเจริญเติบโตของตัวอ่อนปะการัง นอกจากนี้ยังมีความแข็งแรง ทนทาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสามารถติดตั้งและขนย้ายได้สะดวก 

บ้านปะการังเป็นการใช้นวัตกรรมจาก CPAC 3D Printing Solution ใน SCG โดยคุณชนะ ภูมี Vice President – Cement and Green Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเอสซีจี กล่าวว่า ด้วยความร่วมมือจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราได้ต่อยอดพร้อมพัฒนาเทคโนโลยีระดับโลกในการขึ้นแบบจำลอง 3 มิติ รวมถึงการพัฒนาสูตรปูนซีเมนต์พิเศษ (Powder Extrusion) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพในการลงเกาะและการเจริญเติบโตของตัวอ่อนปะการัง มุ่งสร้างเครือข่ายและความมีส่วนร่วมจากพันธมิตรธุรกิจ เครือข่ายภาครัฐ ภาคประชาชน ภาควิชาการ และสังคม ในการร่วมสนับสนุนเป็นพลังขับเคลื่อน โดยร่วมมือจัดตั้งโครงการ ‘รักษ์ทะเล’ ดำเนินงานผ่านมูลนิธิ Earth Agenda ในการระดมทุนสนับสนุนการจัดวาง ‘บ้านปะการัง’ เพื่อร่วมคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเลไทยได้เป็นวงกว้างมากที่สุด

หนึ่งในผู้ที่มีส่วนสำคัญในโครงการนี้คือ ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ The Momentum ว่า สถานการณ์ด้านปะการังในปัจจุบัน แม้จะดีขึ้นหลังมีโครงการอนุรักษ์ และปะการังมีโอกาสฟื้นตัวจากช่วงโควิด-19 แต่ก็ยังต้องเดินหน้าอนุรักษ์ปะการังต่อไป สำหรับโครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน เริ่มตั้งแต่งานวิจัยจากในระดับมหาวิทยาลัย การสร้างนวัตกรรมใหม่โดยภาคเอกชน ขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นผู้เลือกพื้นที่และประเมินผลหลังวางบ้านปะการัง

โครงการ ‘รักษ์ทะเล’ นี้ เป็นการใช้งานวิจัย ใช้นวัตกรรม มาเสริมเรื่องการอนุรักษ์ อีกทั้งโครงการนี้ เราไม่ได้ทำคนเดียว ไม่ได้ใช้เงินรัฐบาลในการฟื้นฟูเพียงอย่างเดียว แต่ใช้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทำให้การอนุรักษ์และการฟื้นตัวของเราเร็วขึ้น เป็นนโยบายของกรมในการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนด้วยวิธีนี้

ความร่วมมือต่างๆ มาจากทั้งภาควิชาการ คือคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน โดยเอสซีจี ที่ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ และเมื่อถึงเวลานำบ้านปะการังไปติดตั้ง ก็มีทหารเรือจากกองทัพเรือเข้าช่วย

ดร.พรศรีบอกว่า หลังจากเอาบ้านปะการังไปวางยังพื้นที่จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต ก็ไปติดตามผล พบว่ามีตัวอ่อนปะการังและปลาเข้าไปอาศัยเป็นจำนวนมาก เปรียบเสมือนเป็น ‘คอนโดมิเนียม’ ของสัตว์น้ำ

“จะมีบางจุดเป็นที่ปลอดภัย ที่ปะการังตัวอ่อนลงเกาะแล้วเจริญงอกงามได้ หากเป็นแบบเก่าก็อาจจะมีตัวปะการังที่เห็นเป็นโครงสี่เหลี่ยมซีเมนต์ต่างๆ แต่เราช่วยกันสร้างแบบใหม่ ให้มีวิวัฒนาการ สามารถทำให้ตัวอ่อนปะการังเติบโตได้ดียิ่งขึ้น มีที่อยู่ที่ปลอดภัยมากขึ้น ทั้งตัวอ่อน ทั้งสัตว์น้ำสามารถหลบผู้ล่าได้ นอกจากนี้ บ้านปะการังเหล่านี้ยังตั้งอยู่กับที่ ไม่ลอยไปตามกระแสน้ำ และยังสามารถเกาะกับพื้นผิวใต้ทะเลได้หนักแน่น

“สิ่งที่สำคัญคือเราอยากเชิญชวนภาคเอกชน หรือใครก็ตามที่อยากทำ CSR ให้ช่วยเข้ามาทำเรื่องนี้ เข้ามามีส่วนร่วมกับเราในโครงการ ซึ่งทางเอสซีจีก็เข้ามา แล้วทั้งหมดไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ตัวเอง ไม่ได้หวังผลกำไร แต่หวังจะอนุรักษ์ปะการัง และเพิ่มจำนวนตัวอ่อนปะการังให้มากขึ้น” 

รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกด้วยว่า แม้ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวมากมาย แต่สิ่งที่แลกมา คือทรัพยากรที่เสื่อมโทรมลง และถึงเวลาแล้วที่จะต้องฟื้นฟูอย่างจริงจัง

สำหรับพื้นที่ในการเลือกวางบ้านปะการัง อาจเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวอย่างจังหวัดภูเก็ต และพื้นที่ที่อาจต้องการอนุรักษ์เป็นพิเศษ เช่น เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี โดยวางแผนที่จะไปวางในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งนักท่องเที่ยวดำน้ำลงไปดูได้ และตอนนี้ก็มีโครงการให้มีส่วนร่วมขอรับการระดมทุนบ้านปะการังได้ ซึ่งจะนำไปวางเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ที่เสื่อมโทรมอยู่แล้วให้กลับมาสวยงาม

 

หากวางบ้านปะการังเหล่านี้ไว้แล้ว สามารถขยายตัวได้ดี ก็จะขยายความครอบคลุมไปยังพื้นที่อื่นให้กว้างขึ้น โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะสามารถเฝ้าดูการเติบโตของปะการัง และระบบนิเวศทางทะเล เพื่อประเมินผลไปพร้อมๆ กัน โดยหากเป็นไปด้วยดี ก็จะขยายโครงการนี้เป็นวงกว้างต่อไป

ดร.พรศรีทิ้งท้ายว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูทรัพยากร ชุมชน และชายฝั่ง โดยมองไปไกลถึง Sustainable Development Goals หรือเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ที่จะช่วยแก้ปัญหาความยากจนและกลับมาสร้างความอุดมสมบูรณ์ของชายฝั่งทะเลอีกครั้ง ซึ่งเป็นเหตุผลให้ทุกคนได้ร่วมกันอนุรักษ์ปะการังและท้องทะเลต่อไป

ด้าน รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ประธานมูลนิธิ Earth Agenda กล่าวว่า มูลนิธิจัดตั้งขึ้นจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ เอสซีจี, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเจตนารมณ์ มุ่งการฟื้นฟูอนุรักษ์ ให้ความรู้กับภาคประชาชน เพื่อลดผลกระทบความเสื่อมโทรม รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน พัฒนาโครงการ เช่น จัดทำขาเต่าเทียม โครงการหญ้าทะเล หรือโครงการล่าสุด คือโครงการ ‘รักษ์ทะเล’ โดยมูลนิธิเป็นตัวกลางในการเปิดขอรับสนับสนุนระดมทุน เพื่อผลิตและจัดวางบ้านปะการัง โดยสามารถดูรายละเอียดได้ทาง www.lovethesea.net

Tags: , , , ,