“ผมอยู่ที่ไทยดีกว่าตอนอยู่อเมริกาเยอะมาก”

เรามักได้ยินเรื่องราวของชาวต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วยค่าครองชีพที่ถูกกว่า และใช้ชีวิตด้วยความสุขสบายเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับ เจสซี โชเบิร์ก (Jesse Schoberg) ดิจิทัลนอแมด วัย 41 ปี ที่กลายเป็นที่พูดถึงในโซเชียลฯ เมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากเขาให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศถึงการใช้ชีวิตในเมืองหลวงของประเทศไทยอย่างกรุงเทพมหานครด้วย ‘ความหรูหรา’ กับค่าใช้จ่าย 8,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน หรือประมาณเกือบ 3 แสนบาท

เขาคือใคร ทำไมดิจิทัลนอแมดผู้นี้ถึงมีรายได้สูงจนสามารถใช้ชีวิตในมหานครที่คนจำนวนไม่น้อยต่างต้องปากกัดตีนถีบเพื่อใช้ชีวิต และแต่ละเดือนเขามีค่าใช้จ่ายกับอะไรบ้างกันแน่

เจสซี โชเบิร์ก คือใคร?

เจสซี่ โชเบิร์ก เกิดและเติบโตที่เมืองเอลค์ฮอร์น (Elkhorn) รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ที่เขาใช้คำว่า ‘เล็ก เงียบสงบ และไม่มีอะไรให้สำรวจมากนัก’ เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาต้องการออกไปเห็นโลกภายนอก ในวัย 19 ปี โชเบิร์กเข้าเรียนในวิทยาลัยและได้ฝึกฝนทักษะการเขียนโค้ด (coding) หรือ การเขียนคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานด้วยภาษาหรือรหัส รวมถึงช่วยธุรกิจในการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์

โชเบิร์กย้ายไปปานามาซิตี้ รัฐฟลอริดา ในปี 2008 เมื่ออายุ 27 ปี และอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 6 ปี ก่อนที่จะตัดสินใจเป็นดิจิทัลนอแมด (Digital Nomad) หรือที่นิยามความหมายง่ายๆ ว่าคนที่ทำงานโดยใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก และสามารถทำงานและใช้ชีวิตที่ไหนก็ได้’ หลังจากได้ไปลองใช้ชีวิตที่คูราเซา ประเทศเกาะทางตอนใต้ของทะเลแคริบเบียน ในช่วงเวลาหนึ่ง

กลายเป็นดิจิทัลนอแมด

ก่อนมาประเทศไทย โชเบิร์ก เป็นผู้ประกอบการและนักพัฒนาเว็บไซต์ โดยได้รับเงินเดือนหกหลัก (ดอลลาร์สหรัฐฯ) ในแต่ละปี อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของเขาไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน ตอนที่เขาย้ายไปปานามาซิตี้ เขาได้พาทีมบริษัทออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ที่เขาก่อตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกา รวมถึงรายชื่อลูกค้าไปด้วย ก่อนที่ในปี 2013 โชเบิร์กและเพื่อนของเขาอีก 2 คน เจสัน เมย์ฟิลด์ (Jason Mayfield) และลอรา ลี (Laura Lee) ได้สร้าง DropInBlog ซอฟต์แวร์สตาร์ทอัพบนคลาวด์ (cloud) ที่ช่วยให้เจ้าของเว็บไซต์เพิ่มบล็อกที่ปรับให้เหมาะกับ SEO ได้เกือบทุกแพลตฟอร์มภายในไม่กี่นาที

ปัจจุบัน DropInBlog มีพนักงานที่ทำงานระยะไกลทั้งหมด 12 คน โดยมีโชเบิร์กทำหน้าที่เป็นซีอีโอ ซึ่งการทำงานที่สามารถเป็นเจ้านายตัวเองได้ ทำให้โชเบิร์กมีตารางเวลาที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และใช้เวลาว่างในการเดินทางไปด้วย ทำงานไปด้วย หลังจากไปเยือนหลายประเทศในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ รวมทั้งโคลอมเบียและคอสตาริกา เขาตัดสินใจข้ามฟากมาเอเชียและใช้ชีวิตช่วงสั้นๆ ในไต้หวัน ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ที่ซึ่งเขาได้พบกับ จานีน คู่หมั้นของเขาจากแอปฯ ทินเดอร์

ปักหลักประเทศไทย

โชเบิร์กและคู่หมั้นของเขาย้ายมาประเทศไทยในปี 2015 ด้วยวีซ่าอีลีตการ์ด (Thailand Elite Card) ซึ่งเป็นวีซ่าต่ออายุ 5 ปี และมีค่าใช้จ่ายประมาณ 18,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (636,120 บาท) ซึ่งมอบสิทธิพิเศษให้กับชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามา ทั้งเพื่อท่องเที่ยวและทำธุรกิจในประเทศไทย และสามารถเข้าออกประเทศไทยได้ไม่จำกัด

โชเบิร์กให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยทำให้เขารู้สึกราวกับได้พบ ‘บ้านหลังใหม่’ เนื่องจากมีบรรยากาศคล้ายคลึงกับตอนที่เขาอยู่ปานามาซิตี้ “มีพลังงานอันเหลือเชื่อบนท้องถนนและผู้คน ผมรู้ทันทีว่ากรุงเทพฯ คือปานามาซิตี้ 2.0 ของผม” เขากล่าว

“คุณภาพชีวิตในประเทศไทยของผมด้านต่างๆ ดีขึ้นกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับที่สหรัฐอเมริกา และปราศจากความเครียด นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องง่ายกว่ามากในการซื้อไลฟ์สไตล์ที่หรูหรา ระดับของการบริการที่คุณได้รับที่นี่  รถสวยๆ ต่างจากสิ่งที่เคยได้รับตอนอยู่สหรัฐฯ อย่างสิ้นเชิง” โชเบิร์กให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC

ตั้งแต่ย้ายมาที่กรุงเทพฯ  โชเบิร์กและคู่หมั้นของเขาอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์แบบ 1 ห้องนอนในอาคารที่มีห้องออกกำลังกายส่วนตัว สระว่ายน้ำ พื้นที่ Co-working space ร้านอาหาร และบริการทำความสะอาดทุกวัน รวมถึงสามารถใช้จ่ายเงินในมิติต่างๆ ของชีวิตได้มากขึ้น ทั้งการเดินทางท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายในเรื่องอาหารการกิน และงานอดิเรกอื่นๆ รวมถึงมีเงินออมเพิ่มมากขึ้น 

ในฐานะผู้ประกอบการและซีอีโอ ปัจจุบัน โชเบิร์กมีรายได้ประมาณ 230,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (8,166,265 บาท) ต่อปี โดยสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดของเขา คือค่าที่พักและค่าสาธารณูปโภค และใช้เงินประมาณ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐฯ (67,450 บาท) ต่อเดือน สำหรับค่าอาหาร ทั้งสั่งผ่านแอปพลิเคชันหรือไปกินข้างนอก ซึ่งเรื่องของอาหารการกินถือเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่เขาเลือกย้ายมาที่กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ วัฒนธรรมและผู้คนของไทยที่ ‘เป็นมิตรและผ่อนคลายมากกว่า’ ในสหรัฐอเมริกา ก็เป็นสิ่งที่โชเบิร์กชื่นชอบ เขายังเสริมว่า การเรียนภาษาไทยทำให้เขาได้เปรียบอย่างมาก ในฐานะชาวต่างชาติ โดยเขาลงเรียนภาษาไทย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ มีค่าใช้จ่าย 269.44 ดอลลาร์สหรัฐฯ (9,524 บาท) ต่อเดือน ซึ่งเขาย้ำว่า “สามารถมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ในกรุงเทพฯ หากเข้าใจภาษาไทย”

ปัจจุบัน โชเบิร์กกำลังวางแผนที่จะลงหลักปักฐานอยู่ในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ รวมถึงมีเป้าหมายในการมองหาที่พักหลายแห่งในทวีปต่างๆ ทั่วโลก

รายละเอียดการใช้จ่ายต่อเดือนของโชเบิร์ก

– ค่าที่พักและค่าสาธารณูปโภค 2,709.52 ดอลลาร์สหรัฐฯ (96,169 บาท)

– ค่าอาหาร 1,900.52 ดอลลาร์สหรัฐฯ (67,450 บาท)

– ค่าเดินทาง: 197 ดอลลาร์สหรัฐฯ (6,997 บาท)

– ค่าโทรศัพท์ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,420 บาท)

– ค่าประกันสุขภาพ 280.39 ดอลลาร์สหรัฐฯ (9,945 บาท)

– ค่าสมัครสมาชิก 78.48 ดอลลาร์สหรัฐฯ (2,770 บาท)

– ค่าใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย: 2,669.37 ดอลลาร์สหรัฐฯ (94,802 บาท)

– รวมใช้เงินต่อเดือน 7,875.28 ดอลลาร์สหรัฐฯ (279,720 บาท)

ข้อมูลรายได้ต่อหัวคนไทยที่สวนทาง

อย่างไรก็ดี หากลองนำค่าใช้จ่ายของโชเบิร์กซึ่งเป็นชาวต่างชาติมาเทียบเล่นๆ กับรายได้ต่อหัวของคนไทย จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันพอสมควร โดยข้อมูลของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่รายงานตัวเลขประมาณการรายได้ต่อหัวคนไทย ในปี 2565 ระบุว่า คนไทยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 7,351 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (248,468 บาท) ซึ่งเกือบเทียบเท่ากับค่าใช้จ่ายใน 1 เดือนของโชเบิร์กเท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบข้อมูลดังนี้

– ปี 2560 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 225,095 บาทต่อคนต่อปี

– ปี 2561 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 236,815 บาทต่อคนต่อปี

– ปี 2562 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 243,705 บาทต่อคนต่อปี

– ปี 2563 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 224,962 บาทต่อคนต่อปี

– ปี 2564 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 232,160 บาทต่อคนต่อปี 

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.cnbc.com/2022/08/06/this-digital-nomad-left-the-us-for-bangkok-and-lives-on-8000-per-month.html

https://www.thansettakij.com/economy/525364

Tags: , , ,