นอกเหนือจากซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) คำว่า ‘ดิจิทัลนอแมด’ (Digital Nomad) ก็เป็นอีกศัพท์ยอดฮิตในสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนจากความถี่ของการปรากฏในหน้าสื่อ แนวนโยบายแห่งรัฐ หรือบทสุนทรพจน์ของผู้นำระดับชาติ
ดังท่าทีของ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยในปี 2023 ว่า ตอนนี้รัฐบาลกำลังผลักดันดิจิทัลนอแมดอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมขอแรงสนับสนุนจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร่วมกับคนในท้องถิ่น เพื่อนำข้อมูลจากทุกภาคส่วนมาพัฒนา โดยเฉพาะการทำวีซ่าดิจิทัลนอแมดที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ขณะเดียวกัน ความสำคัญของประเทศไทยในฐานะหนึ่งในหมุดหมายยอดนิยมของกลุ่มนอแมดทั่วสารทิศ ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา โดยในปี 2022 เว็บไซต์ Instant Offices ยกให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่อันดับ 2 ของโลกและอันดับ 1 ของเอเชียที่เหมาะกับการทำงานของกลุ่มนอแมด เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกหลากหลาย ความอุดมสมบูรณ์ของอาหารการกิน การขนส่งคมนาคม ระบบอินเทอร์เน็ต หรือค่าครองชีพในบางพื้นที่ถูกกว่าเมืองอื่นในโลก
เช่นเดียวกับปี 2023 ข้อมูลจากเว็บไซต์ Nomad Capitalist ระบุว่า 3 พื้นที่ของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ, เชียงใหม่ และเกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครอง 10 อันดับแรกในฐานะพื้นที่ดีที่สุดโลกสำหรับดิจิทัลนอแมด ซึ่งอยู่อันดับ 1 อันดับ 7 และ อันดับ 9 ตามลำดับ
ยังไม่รวม ‘ภูเก็ต’ เมืองท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมเฉพาะตัว และมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ก็ยังเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่โดดเด่นสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวเช่นกัน
แม้จะน่าเสียดายที่ ‘ศูนย์กลาง’ ดิจิทัลนอแมดของไทย ยังไม่ปรากฏอย่างเป็นทางการและชัดเจน แต่ก็นับว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยนับต่อจากนี้ โดยเฉพาะในแง่มุมที่มากกว่าผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวของต่างชาติเพียงอย่างเดียว
เพื่อมองกระแสดิจิทัลนอแมดให้หลากหลายขึ้น The Momentum พูดคุยกับ เตอร์-รัฐกันต์ สุวรรณภักดี และ เซฟ-พงษ์ศิริ พิสุทธิ์อัครธาดา ผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กกลุ่ม Digital Nomad Thailand และผู้ผลักดันนโยบาย ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ขอโอกาสในการเลือก ‘ทำงานไปกับการใช้ชีวิต’
จาก ‘วงสังสรรค์ในวงเหล้า’ สู่การกำเนิดชุมชนดิจิทัลนอแมดในประเทศไทย
ใครจะคิดว่า การบุกเบิกกระแสดิจิทัลนอแมดแห่งแรกของไทย เกิดขึ้นในร้านเหล้าย่านพระโขนงเมื่อ 6 ปีก่อน เมื่อ เตอร์-รัฐกันต์ สุวรรณภักดี พบว่า คนที่นั่งร่วมโต๊ะเดียวกันกับเขาเป็นกลุ่ม ‘นอแมด’ หรือคนที่เลือกจะ ‘ทำงาน’ ไปกับ ‘การใช้ชีวิต’ โดยมีความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีเป็นศูนย์กลาง เพื่อประกอบสร้างให้การทำงานใน ‘โลกดิจิทัล’ และ ‘โลกความเป็นจริง’ เป็นหนึ่งเดียวกัน
เตอร์: “ผมก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่า คนกลุ่มนี้เดินมาประเทศไทยเยอะมาก ตอนนั้นจึงคิดว่า ถ้าเราสามารถตั้งกลุ่มที่มีความสนใจเหมือนกันขึ้นมา โดยแยกออกจากกลุ่มนักท่องเที่ยวปกติ และทำกิจกรรมที่ตอบโจทย์เขา ก็น่าจะประสบความสำเร็จและเป็นอีกธุรกิจหนึ่งได้”
เตอร์ถ่ายทอดความคิดของเขาขณะนั้น ทว่าความพยายามกลับล้มเหลวเสียก่อน ซึ่งเขาก็ยอมรับว่า เวลาดังกล่าวอาจจะยังไม่ใช่ช่วงที่ ‘เหมาะสม’ เพราะสังคมไม่เชื่อว่าการทำงานทุกที่จะสามารถเกิดขึ้นได้จริง ประกอบกับเทคโนโลยีในสมัยนั้นที่ยังไม่ถึงขีดสุด โดยเฉพาะการเข้ามาของเทคโนโลยีเซลลูลาร์ไร้สายยุคที่ 5 หรือ 5G
อย่างไรก็ตาม กลุ่มนอแมดในฐานะชุมชนที่มีความสนใจเดียวกัน ก็ยังติดต่อพูดคุยกันเรื่อยมา แม้จะมีบางช่วงที่แนวโน้มความเป็นไปได้เริ่มเด่นชัดขึ้นในระหว่างนั้น เมื่อมีการจัดประชุมสุดยอดดิจิทัลนอแมดของโลกในประเทศไทยปี 2019 แต่ในขณะนั้นเตอร์เข้าไปสำรวจแวดวงดังกล่าวในฐานะผู้รับฟังเสียมากกว่า
กระทั่งในปีเดียวกัน เกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้โลกทั้งใบหยุดชะงัก ขณะที่เตอร์มองว่า วิกฤตดังกล่าวเปรียบเสมือนทั้ง ‘โชคร้าย’ และ ‘โชคดี’ ของเขา เพราะในแง่หนึ่ง อัตราการเจริญเติบโตของกระแสดิจิทัลนอแมดเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยอ้างอิงจากสถิติของ MBO Partners ผู้คนที่เป็นนอแมดเพิ่มขึ้นถึง 61.6 ล้านคนจาก 14.6 ล้านคนในช่วงก่อนปี 2019
เตอร์: “ตอนนั้นทุกอย่างเปลี่ยนแปลงหมด คนเริ่มปรับพฤติกรรม บริษัทออกนโยบายทำงานจากทุกที่ คุณไม่ต้องเข้าออฟฟิศเสมอไป อีกทั้งยังมีบริการแกร็บ ไลน์แมน กระแสในตอนนั้นคือปล่อยให้ทำงานแบบห่างไกล หรือ Work from Anywhere มากขึ้น คนก็กล้าจะใช้ชีวิตในอีกรูปแบบ
“ในอีกแง่หนึ่ง ถ้ามองในความเป็นจริง ลองนึกดูว่า เราต้องจ่ายค่าเช่าออฟฟิศเป็นแสน ยังไม่รวมค่าคอนโด อะพาร์ตเมนต์ แต่คนบางกลุ่มกลับคิดว่า ถ้าต้องจ่ายขนาดนี้ สู้เอาเงินไปใช้จ่ายในประเทศอื่นดีกว่าไหม”
เตอร์เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงดิจิทัลนอแมดขณะนั้น และเห็นโอกาสอันดีในการสร้างเครือข่ายในประเทศไทย ทว่ามีอุปสรรคสำคัญ คือตัวเลขและข้อมูลที่ซับซ้อนจากอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรนอแมด เขาจึงขอความช่วยเหลือจาก เซฟ-พงษ์ศิริ พิสุทธิ์อัครธาดา ในฐานะนายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ผู้มีความรู้ความสามารถในการเก็บข้อมูลเพื่อวัดผลและคาดการณ์อนาคตที่จะเกิดขึ้น
ไม่ใช่แค่ความสามารถเฉพาะตัวในการช่วยพัฒนาชุมชนดิจิทัลนอแมดของไทย เซฟอธิบายกับ The Momentum ว่า เขาเข้าร่วมกับโปรเจกต์ของเตอร์ ด้วยเหตุผลหลักคือ การมีอยู่ของดิจิทัลนอแมด ‘สำคัญ’ ต่ออาชีพของเขา ทั้งบทบาทหน้าที่ รวมถึงการกระจายรายได้ทั่วประเทศ
เซฟ: “ดิจิทัลนอแมดมีความสำคัญกับผม เพราะโปรแกรมเมอร์ทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่มีความจำเป็นต้องออกไปเจอคน หรือต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน ผมจึงสนใจเรื่องการทำงานที่ไหนก็ได้
“ในฐานะที่ผมเป็นนายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ ผมอยากให้โปรแกรมเมอร์ทำงานในจังหวัดของตนเอง เพื่อกระจายรายได้ทั่วประเทศมากกว่ากระจุกตัวเฉพาะในกรุงเทพฯ และถ้าทำงานอยู่ที่บ้าน ค่าใช้จ่ายหลายอย่างจะไม่เยอะมากนัก
“ช่วงเวลานั้นก็ประจวบเหมาะกับที่คุณเตอร์มาให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีดิจิทัลนอแมดที่เป็นโปรแกรมเมอร์จากบริษัทมีชื่อเสียงดังในต่างประเทศ ทั้งกูเกิล (Google) ยูทูบ (Youtube) แต่มานั่งทำงานที่ไทย ถามว่าเขามาเที่ยวไหม ตอบได้เลยว่า จริงๆ เขาตั้งใจมาเที่ยวเลยนะ
“ผมไปเจอกับตัวเองที่เชียงใหม่ เจอกลุ่มนอแมดรวมตัวในร้านกาแฟ ไม่มีคนไทย ไม่พูดภาษาไทย มีแต่ภาษาต่างประเทศ และมีจอคอมใหญ่ๆ ทำงานกันอย่างจริงจัง คือนั่งเรียงไปเลย นี่แสดงให้เห็นว่าเขาตั้งใจมาทำงานกันมากๆ”
นั่นจึงทำให้เตอร์กับเซฟร่วมมือกันจนกลายเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Digital Nomad Thailand บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กในปี 2020 ซึ่งทั้งสองคนยอมรับว่า พวกเขาเป็นผู้บุกเบิกชุมชนดิจิทัลนอแมดในประเทศไทย หลังพยายามตามหากลุ่มที่ก่อตั้งก่อนหน้า แต่ไม่พบเจอ
เรียนรู้จากความผิดพลาด เพื่อก้าวไปสู่การผลักดันนโยบายให้เป็นจริง
สำหรับเตอร์และเซฟจากกลุ่ม Digital Nomad Thailand มองว่าในเฟซบุ๊กเปรียบเสมือนการรวมตัวของคนที่มีความสนใจเดียวกัน ภายใต้แนวคิด ‘แบ่งปันข้อมูล’ และ ‘ให้ความช่วยเหลือ’ ทว่าไม่ใช่ทุกอย่างจะสวยหรูดังใจฝัน พวกเขายอมรับตามตรงว่า ในตอนแรกไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ทั้งขาดการสนับสนุนจากรัฐ และมีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างทางตลอด จนทำให้กลุ่มต้องปิดตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เตอร์: “ตอนแรกพวกเราตั้งกลุ่มขึ้นมา ก็มีคนเข้ามาประมาณ 10,000-20,000 คน จนเยอะที่สุดก็ประมาณ 8 หมื่นคน แต่ว่าทั้งหมดนี้ก็ยังไม่ใช่ตัวเลขของคนที่เข้ามาอยู่ในไทย เพราะเราตรวจสอบไม่ได้ว่า เขาออกไปจากประเทศหรือยัง คือบอกไม่ได้
“ตอนนั้นผมคิดว่า ตัวเลขที่เกิดขึ้นในกลุ่มนี้มีประโยชน์ เพราะในอีกด้านหนึ่ง ธุรกิจสามารถดึงเอาข้อมูลหรือตัวเลขจากนอแมดไปสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้บ้าง
“ผมจึงปล่อยให้คนไทยเข้ามา แบบเอาเลย สรุปกลายเป็นว่ากลุ่มเริ่มเละ เพราะมีการฝากร้านค้า ตั้งแต่ร้านลูกชิ้นถึงร้านก๋วยเตี๋ยวไก่ ผมขอยกตัวอย่าง มีฝรั่งคนหนึ่งโพสต์ว่า ขอร้านกาแฟอร่อยในเชียงใหม่ ผมก็คิดว่า ดีจังเลย มีการคอมเมนต์ถึง 200 คอมเมนต์ สรุปก็คือมีคนมาฝากร้านเยอะมาก ไม่ใช่แค่เรื่องแนะนำร้านกาแฟอย่างเดียว
“ขณะนั้นเราก็เริ่มชะลอตัวลง และลองขยายกลุ่มด้วยการให้คนต่างชาติเข้ามาโพสต์เหมือนกัน ด้วยการเปิดสาธารณะและมีแอดมินคอยตรวจสอบ แต่ปรากฏว่า มีโพสต์ชวนกินเหล้า ยิ่งกว่านั้นคือโพสต์ถามแหล่งค้าประเวณีในประเทศ ซึ่งเราควบคุมไม่ได้ จึงขอปิดกลุ่มดีกว่า”
เตอร์เล่าย้อนสิ่งที่ผ่านมา ก่อนที่เขาและเซฟจะมองหา ‘อะไรที่ชัดเจน’ ขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานหรือนโยบายของรัฐที่เข้ามาประสานจัดการบางอย่างได้มากกว่าที่เคยเป็น
เตอร์: “ก่อนหน้านี้ ไม่มีรัฐบาลหรือหน่วยงานไหนสนับสนุนเลย จนมาช่วงหลัง ผมก็พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ผมก็เห็นทุกครั้งนะ เขามักหยิบคำว่าดิจิทัลนอแมดไปพูด ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่า เขาไปหาดิจิทัลนอแมดนี้มาจากไหน คือยังไม่มีใครติดต่อผมมาเลย”
ทว่านับว่าโชคดี เพราะไม่นานมานี้ เตอร์และเซฟในฐานะตัวแทนจากชุมชนดิจิทัลนอแมด ได้รับความช่วยเหลือในการผลักดันนโยบายจาก สมาคมพันธมิตรอนุสัญญาประเทศไทย (ATTA) ในฐานะผู้ประสานงาน และทำหน้าที่ติดต่อไปยังสำนักเลขานายกรัฐมนตรีเพื่อขอความช่วยเหลือองค์กรภาครัฐอื่นๆ หรือแม้แต่ประสานงานในภาคส่วนที่พวกเขาเข้าไม่ถึง
กระทั่งปัจจุบัน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ที่ส่งเสริมและสนใจประเด็น ‘วีซ่าดิจิทัลนอแมด’ ก็เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันดิจิทัลนอแมดในประเทศไทย และพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และรองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองของพรรคเพื่อไทย ก็ยังมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ปรึกษาคนสำคัญในขั้นตอนหรือกระบวนการสำคัญที่เกิดขึ้นระหว่างนี้ทั้งหมด
นอกจากการประสานกับหน่วยงานรัฐจนนำไปสู่การผลักดันนโยบายแล้ว เตอร์ยังเผยว่า เขากำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมเปิด Official Channel สำหรับกลุ่มดิจิทัลนอแมดในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้อีกด้วย
ไทยกับการเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ดิจิทัลนอแมดจากทั่วโลก
สาเหตุสำคัญที่ไทยเป็นหมุดหมายของกลุ่มนอแมดทั่วโลก เตอร์และเซฟให้คำตอบกับเราว่า เป็นเพราะไทยมี ‘ทุกอย่าง’ ในประเทศเดียว
เตอร์: “ไทยมีพร้อมทุกอย่าง โครงสร้างพื้นฐาน ความเป็นมิตรของผู้คน การมีบริษัทชั้นนำ การโอบรับความหลากหลาย เช่น ประเด็นทางศาสนา หรือการมีอยู่ของอาหารนานาชาติ ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น ลาว อินเดียในประเทศเดียว ขณะที่ความปลอดภัยและความเท่าเทียมทางเพศก็ถือว่าดีกว่าประเทศอื่น
“อีกอย่างที่สำคัญมาก คือเรื่องอินเทอร์เน็ต ในปี 2024 มีข้อมูลออกมาว่า ประเทศไทยมีอินเทอร์เน็ตแรงเป็นอันดับที่ 11 ของโลก แต่ความคุ้มค่าของเราคิดเป็นอันดับ 1 ของโลก อธิบายคือหากคิดจากด้วยความเร็ว 100 เมกะบิต ปรากฏว่า สหรัฐฯ เสียเงินประมาณ 2,500 บาท ส่วนสิงคโปร์ซื้อในราคา 1,300 บาท แต่เราจ่าย 200 บาท แล้วอีกอย่างหนึ่ง ต่างชาติมาขอ Wi-Fi ที่ร้านคนไทย เราก็ให้เขาเลย
“อันที่จริง เรามีคู่แข่งแค่บาหลีกับฮานอย แต่บาหลีไม่มีสภาพแวดล้อมเมืองแบบเรา ขณะที่ฮานอยไม่มีโซนทะเลแบบไทยนัก ยังไม่รวมปัญหาข้อจำกัดด้านวีซ่าและภาวะโลกรวน (Climate Change) ที่แรงกว่าบ้านเราด้วย”
จับตามองกระแสดิจิทัลนอแมดใน ‘ภูเก็ต’ : เมืองไข่มุกที่ยังไม่ใช่ตัวเลือก (ในตอนนี้)
ท่ามกลางพื้นที่ยอดฮิตสำหรับกลุ่มนอแมดในประเทศไทยอย่างกรุงเทพฯ เกาะพงัน และเชียงใหม่ The Momentum เลือกถามผู้ก่อตั้งกลุ่ม Digital Nomad Thailand ถึง ‘ภูเก็ต’ ในฐานะเมืองรองทางภาคใต้ และมีความสำคัญอันดับต้นของประเทศ สะท้อนจากการเป็นพื้นที่ในแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวจากโควิด-19 ในชื่อ ‘โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ ว่า ในสายตาของพวกเขา กระแสดิจิทัลนอแมดในภูเก็ตเป็นอย่างไรบ้าง
เตอร์อธิบายกับเราจากข้อมูลของเขาว่า อันที่จริง เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มนอแมดในภูเก็ตคิดเป็นเพียงประชากร 10% ทั้งหมดของประเทศไทย เพราะภูเก็ตไม่ใช่เมืองที่ ‘ตอบโจทย์’ สำหรับกลุ่มนอแมด หากเทียบกับเมืองอื่นด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ภูเก็ตเต็มไปด้วยชาวรัสเซีย ขณะที่กลุ่มนอแมดเป็นชาวยุโรป สแกนดิเนเวียน หรืออเมริกัน ซึ่งตรงข้ามกับวิถีปกติของกลุ่มนอแมด คือการเลือกอาศัยในพื้นที่ที่มีคนชาติเดียวกัน หรือคนรู้จักมักคุ้นหน้ามากกว่า
2. ค่าครองชีพภูเก็ตราคาแพง และการใช้ชีวิตไม่สอดคล้องกับกลุ่มนอแมด เพราะส่วนมาก พวกเขาเน้นการใช้ชีวิตแบบสังสรรค์ ดื่มเหล้า หรือปาร์ตี้ริมชายหาด ขณะที่ภูเก็ตมีความหลากหลายด้านการใช้ชีวิตน้อยกว่าที่อื่น ดังนั้น เกาะพงันที่สุราษฎร์ธานีภายใต้สมญานาม ‘Paradise Island’ ซึ่งเพียบพร้อมทั้งชายหาด บังกะโล และสถานที่ปาร์ตี้จึงตอบโจทย์สำหรับกลุ่มคนเหล่านี้
3.ภูเก็ตเป็น ‘เขตนวัตกรรมมูลค่าสูง’ โดยเตอร์มองว่า ส่วนนี้เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ในแง่ข้อดี นักธุรกิจที่มีเงินทุนมหาศาล มีอำนาจระดับโลก สามารถก่อตั้งบริษัทในภูเก็ตและพัฒนาจนไปถึงระดับ ‘ซิลิคอนวัลเลย์’ (Silicon Valley) ได้ในอนาคต แต่ข้อเสียคือพื้นที่มีมูลค่าสูง และสิ้นเปลืองสำหรับบริษัทเล็กหรือระดับกลาง
อย่างไรก็ตาม เตอร์และเซฟไม่ปิดโอกาสในการพัฒนาให้ภูเก็ตกลายเป็นพื้นที่แถวหน้าในกระแสดิจิทัลนอแมดมากขึ้น โดยเฉพาะลักษณะเฉพาะตัวของพื้นที่และโอกาสทางธุรกิจ
เตอร์: “ผมคิดว่า เราสามารถนำข้อมูลนี้ไปผลักดันแคมเปญบางอย่างได้ มันอาจจะประสบความสำเร็จก็ได้ เพราะภูเก็ตเป็นพื้นที่ที่ต่างจากเกาะอื่นๆ ในประเทศ กล่าวคือ เขามีวัฒนธรรมเฉพาะเจาะจง ความเจริญก้าวหน้าบางอย่าง และความเป็นไข่มุกของภูเก็ต ซึ่งถ้ามองอีกด้านหนึ่ง การท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องผูกแค่ความสนุก ความเมามัน หรือแม้แต่ความมึนเมาจากการฉลองและดื่มเพียงอย่างเดียว”
เซฟ: “มีคนที่ผมรู้จักอยู่ที่ภูเก็ตบอกว่า มีบริษัทที่ต่างชาติเปิดกับคนไทย แต่ทำงานให้ต่างชาติล้วนๆ ซึ่งเขาก็มีจ้างนักเขียนโปรแกรมชาวไทยบ้าง คือถ้าเราทำอย่างถูกต้อง จุดนี้ก็อาจทำให้ต่างชาติหันมาจ้างงานคนไทยมากขึ้น หรือมีการทำงานที่มากกว่านั้น
“ผมรู้สึกเช่นนั้นนะ เพราะตอนนี้ภูเก็ตก็ยังไม่มีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสายเทคโนโลยีใหญ่ๆ อยู่เลย”
เตอร์และเซฟอธิบายต่อว่า หากเทียบภูเก็ตกับ ‘เชียงใหม่’ ที่คนในชุมชนนอแมดเยอะกว่า เพราะมีการแนะนำกันเองว่า เชียงใหม่มีสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่ดีสำหรับการทำงานและท่องเที่ยว รวมถึงการใช้ ‘ภาษาอังกฤษ’ เป็นหลัก ซึ่งต่างจากกรุงเทพที่ยึดครองโดยชาวจีน ส่วนภูเก็ตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาวรัสเซีย
เซฟ: “จริงๆ เชียงใหม่แตกต่างจากภูเก็ตในเรื่องสภาพแวดล้อม เขามีการแนะนำกันเองว่า เชียงใหม่มีสภาพอากาศ ผู้คน ร้านกาแฟ อินเทอร์เน็ตเร็ว และโครงสร้างพื้นฐานที่ดีในการทำงาน”
เตอร์: “ภาษาอังกฤษถูกใช้ในเชียงใหม่ และเป็นพื้นที่ไม่ได้เร่งรีบ อีกทั้งค่าครองชีพยังสมเหตุสมผล พื้นที่ยังอยู่บนแผ่นดินใหญ่ เราน่าจะเคยได้ยินคำที่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศน้ำหลาก ทำให้เราอยู่ตรงไหนก็เจอน้ำ นี่ก็เป็นปัจจัยทำให้คนกระจายกันออกไป
“ฉะนั้น คนต่างชาติสามารถอยู่ในเชียงใหม่ถึงอำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง หรืออาจรวมถึงอำเภอแม่ริม และอำเภอดอยสุเทพด้วย ซึ่งถ้าเทียบกับภูเก็ตที่เป็นพื้นที่ทางทะเล กลุ่มนอแมดก็อาจจะไม่ไปอาศัยอยู่แถวอำเภอกะทู้ก็ได้ มันจึงเป็นเรื่องของประชากรกับสถานที่ด้วย”
ปัญหาและความท้าทาย: ทุกอย่างต้องเริ่มต้นด้วย ‘วีซ่านอแมด’ และ ‘รัฐไทย’
เมื่อถามความคิดเห็นถึงข้อมูลบางอย่าง นับตั้งแต่ประเภทวีซ่าที่กลุ่มนอแมดใช้ในการเข้าประเทศไทย จังหวัดที่ชาวต่างชาติอาศัยอยู่มากที่สุด หรือแม้แต่ภาพรวมของสถานการณ์
เตอร์และเซฟตอบกลับเราตามตรงว่า เขาไม่มีข้อมูลทั้งหมด และบางอย่าง ไม่สามารถบอกได้ว่าถูกต้องตาม 100% เพราะไม่มี ‘ศูนย์กลาง’ การเก็บข้อมูล พวกเขาจึงทำได้แค่รวบรวมข้อมูลจากการ ‘สอบถาม’ จากเครือข่ายนอแมดชาวไทยในจังหวัดต่างๆ
เตอร์: “ข้อมูลที่ผมมีอยู่ตอนนี้ก็ไม่ใช่ 100% และชุดข้อมูลที่ว่า กรุงเทพฯ มีกลุ่มนอแมดอาศัยเยอะสุด ผมว่าอาจจะไม่จริงก็ได้นะ เพราะเราไม่รู้ว่า คนต่างชาติเข้ามากรุงเทพฯ แล้วไปไหนต่อ คือกว่าเราจะเจอเขา เช็คอินข้อมูลบางอย่าง เราก็รู้ต่อเมื่อเขาไปถึงแล้ว
“บางเรื่องเราจะไม่ทราบเลย ไม่แม้แต่สามารถตรวจจับได้ คือต้องบอกว่า พวกเราจะทราบข้อมูลผ่านเครือข่ายที่มีคนของเราอยู่ แล้วจะรีพอร์ตกันต่อว่า เฮ้ย ตรงนี้เป็นอย่างไรบ้าง คนเยอะไหม มันจึงทำให้ข้อมูลที่เรามียังไม่ชัดเจน”
เซฟ: “สาเหตุที่เราไม่มีข้อมูล 100% เพราะเราแยกไม่ได้ว่า กลุ่มนี้เป็นนักท่องเที่ยวหรือนอแมด เพราะเขามาในวีซ่าท่องเที่ยวหมดเลย ดังนั้น ปัญหาของเราคือไม่รู้จะเริ่มเก็บข้อมูลอย่างไร เพราะเราไม่ทราบว่าใครเป็นใคร หรือเดินทางมาด้วยจุดประสงค์อะไร นอกจากนี้ การเก็บข้อมูลเองก็จะละเมิด PDPA (พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ด้วย”
เพื่อจะแก้ไขปัญหาทั้งหมดนี้ เตอร์และเซฟในฐานะผู้ก่อตั้งกลุ่ม Digital Nomad Thailand ย้ำความสำคัญของการมีอยู่ของ ‘วีซ่าดิจิทัลนอแมด’ และ ‘การสนับสนุนจากรัฐไทย’ เป็นสำคัญ
เซฟอธิบายว่า ไม่ใช่แค่วีซ่าดิจิทัลนอแมดจะช่วยคัดกรองข้อมูลและนำมาวิเคราะห์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ แต่ในด้านตัวแทนวิชาชีพของเขา ตนอยากให้วีซ่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการดึงดูดคนเก่งที่มีความรู้ความสามารถ และสร้างแรงบันดาลใจเพื่อยกระดับวงการโปรแกรมเมอร์ไทย
เซฟ: “ในมุมผมที่เป็นนายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ผมอยากให้มีแรงงานฝีมือดีๆ จากต่างประเทศ โดยเฉพาะคนที่มีความสามารถแถวหน้า เป็นนักเขียนโปรแกรมระดับโลกมานั่งคลุกคลีกับคนไทย ซึ่งตรงนี้อาจเป็นเงื่อนไขในวีซ่าเพื่อให้เขาเข้ามาแบ่งปันความรู้ เขาเองก็จะได้สิทธิประโยชน์ที่ Win-Win กัน หมายความว่า ทั้งฉันและเธอก็ได้ความรู้”
ขณะเดียวกัน เตอร์ให้เหตุผลว่า การมีวีซ่าอย่างเป็นทางการจะช่วยให้กระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง (กสทช.) มีสิทธิตรวจสอบและติดตามกลุ่มนอแมดมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยของประเทศและชาวต่างชาติในเวลาเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการวิเคราะห์พฤติกรรมและสถานที่ที่คนกลุ่มนี้เดินทางไป
อย่างไรก็ตาม เขาไม่ปฏิเสธว่า การมีวีซ่านอแมดอาจจะยังกำจัดข้อเสียในสถานการณ์ปกติไม่ได้ เช่นเรื่องการสวมสิทธิที่นำมาสู่การแย่งงานคนไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ และอาจต้องพูดคุยกันมากขึ้น เพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างการพัฒนา
เตอร์: “ต้องอธิบายว่า กลุ่มนอแมดจะมีนโยบายบางอย่างของบริษัทกำกับ มีบทลงโทษ ทำให้เขาไม่สามารถออกจากกรอบหรือทำอะไรห่ามๆ ซึ่งเอาเข้าจริง กลุ่มนอแมดเป็นคนละส่วนกับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ก่อเหตุตามหน้าสื่อ
“ประเด็นดิจิทัลนอแมดยังทำได้อีกเยอะเลยนะ ขอแค่เริ่มจากวีซ่าอย่างถูกกฎหมาย และมันก็จะปลดล็อกทีละอย่าง”
‘สิทธิพื้นฐานของนอแมด’ ถึง ‘กระจายอำนาจในท้องถิ่น’ : แรงขับเคลื่อนและการผลักดันจากกลุ่ม Digital Nomad Thailand เพื่อไปถึงฝันที่เป็นจริง
“จากปัญหาที่เกิดขึ้น คุณอยากผลักดันประเด็นใดในดิจิทัลนอแมดเป็นพิเศษเพื่ออุดช่องโหว่ไหม?”
เมื่อถามคำถามดังกล่าวกับ 2 หนุ่มผู้บุกเบิกกระแสดิจิทัลนอแมดในประเทศไทย พวกเขานิ่งไปเล็กน้อยก่อนจะค่อยๆ ขบคิดและไล่เรียงประเด็นลำดับดังต่อไปนี้
เตอร์: “เริ่มจากสิทธิขั้นพื้นฐานของนอแมดที่เข้ามา ขอยกตัวอย่างละกัน ปกติคนต่างชาติเข้ามาในวีซ่านักท่องเที่ยวจะไม่มีประกันสุขภาพนี้รวมอยู่ให้ แต่ปรากฏว่า ฝรั่งที่เข้ามาไทยในไทย เจอโรคเขตร้อนอย่างไข้เลือดออกหรืออหิวาตกโรค ซึ่งเขาไม่ได้ฉีดวัคซีนมาก่อน
“แน่นอนว่า การที่เขามาใช้ชีวิตก็สร้างผลดีกับประเทศ แต่รัฐก็ต้องคุ้มครองเขาในเรื่องสิทธิของการรักษาขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ ประกันสุขภาพ ประกันการเดินทาง หรือแม้แต่ประเด็นอาชญากรรม เช่นการป้องกันและคุ้มครองจากการถูกโกงมิเตอร์รถแท็กซี่
“ดังนั้น ถ้าเรามีช่องทางอย่างเป็นทางการที่ให้ข้อมูลกับคนต่างชาติได้ โดยเริ่มจากการที่รัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวก เขาก็จะได้ข้อมูลที่ถูกและตรง รู้ว่าต้องเดินทางอย่างไร แล้วใครจะช่วยใครได้บ้าง ซึ่งผมว่า เอสโตเนียเป็นต้นแบบที่ดีในเรื่องนี้ เขามี e-Government (การทำงานของภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายเลย
“คิดง่ายๆ การที่คนต่างชาติสองคนมาเจอกันในประเทศไทย หรือมีคนไทยร่วมวงอยู่ด้วย แล้วมานั่งกินเหล้า พูดคุยแล้วพบว่า เฮ้ย ผมอยากทำสตาร์ทอัพตรงนี้ หรือลงทุนต่อ โดยที่ไม่ต้องไปก่อตั้งบริษัทที่สิงคโปร์ แล้วเงินก็ออกจากประเทศ ในทางกลับกัน ถ้าสถานการณ์นี้เกิดที่ประเทศไทย ก็น่าจะมีอะไรดีๆ เกิดขึ้นในมุมของผมที่อยากจะผลักดันให้ถึงระดับ e-Government เลย
“นอกจากนี้ ผมก็อยากให้มี Big Data ซึ่งผมพูดถึงในบริบทดิจิทัลนอแมดระดับโลกนะ เพราะยังไม่มีใครถือข้อมูลแท้ได้ว่า ส่วนไหนในโลกคือนอแมด แต่ประเทศไทยมีโอกาส เพราะคุณติด 3 อันดับของพื้นที่ดีที่สุดสำหรับดิจิทัลนอแมดจาก 10 แห่งในโลก คือ กรุงเทพ พะงัน และเชียงใหม่ เอาเข้าจริงแล้ว เท่ากับว่าเราเป็น Big Data ได้เลย
“อีกเรื่อง ผมอยากผลักดันเรื่องความหลากหลายของคนทุกกลุ่ม คือหากเทียบประเทศในยุโรป เขามีระบบสาธารณูปโภคที่ดี ซึ่งเอื้ออำนวยต่อ Digital Nomad สำหรับผู้พิการ ขณะที่ประเทศไทยยังไม่ได้สนับสนุนหรือส่งเสริมตรงส่วนนี้เท่าไร
“ตรงนี้ก็อาจจะสรุปได้ว่า เราควรจะเริ่มจากอะไรเล็กๆ แล้วค่อยเก็บข้อมูลจนไปสู่ถึงจุดที่เรียกว่า e-Government”
เตอร์สรุปพร้อมทั้งเผยว่า ความจริงแล้ว ภายในกลุ่ม Digital Nomad Thailand ก็มีชาวต่างชาติเรียกร้องข้อเสนอที่คล้ายคลึงกับข้อเสนอของเขา ได้แก่ การมีวีซ่าสำหรับการพำนักในประเทศไทยที่เปิดกว้างและระยะเวลายาวขึ้น, การเข้าถึงการบริการสุขภาพ, ช่องทางอย่างเป็นทางการเพื่อการสอบถามข้อมูลและประสานงาน รวมถึงพื้นที่รับข่าวสารหรือกิจกรรม ซึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นอาชญากรรมฉ้อกลโกงในประเทศไทย
ขณะที่เซฟเน้นย้ำว่า เขาอยากผลักดันและสร้างแรงบันดาลใจให้กับแวดวงอาชีพของตนเองผ่านดิจิทัลนอแมด รวมถึงวาระการทำงานจากที่ไหนก็ได้ ทั้ง ‘ต่างประเทศ’ และ ‘ท้องถิ่น’ โดยไม่จำเป็นต้องทำงานแค่ในออฟฟิศอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เกิด ‘การกระจายอำนาจ’ (Decentralize) ในพื้นที่ต่างจังหวัด และทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่หนาแน่นน้อยลง
เซฟ: “ขอตอบเหมือนเดิมว่า อยากให้โปรแกรมเมอร์ไทยเก่งขึ้น ซึ่งผมอยากให้คนไทยและต่างชาติมาทำงานหรือพบเจอกันเพื่อเกิดแรงบันดาลใจกับคนไทย และผลักดันให้โปรแกรมเมอร์ไทยทำงานแบบนอแมดมากขึ้น
“ตอนนี้หลายคนอย่างผมเอง ทำงานบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่ง ซึ่งก็จะเกิดปัญหาเรื่องขอบเขตในการทำงาน เพราะในกรณีที่ทำงานอยู่อีกสถานที่หนึ่ง ถ้าคิดจะย้ายไปทำงานประเทศอื่น ตรงนี้เราก็ทำไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับบริษัทที่จะยอมให้เป็นนอแมดด้วย
“คือประเทศไทยยังไม่สนับสนุนดิจิทัลนอแมดขนาดนั้น หากทำได้ก็จะดี ถ้าเราสนับสนุนให้โปรเมอร์ไทยทำงานจากที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไทยหรือต่างชาติก็ได้ แม้อาจจะรายได้ไม่ตรงตามที่ต้องการมากนัก แต่สิ่งนี้ดีมาก
“อันที่จริงต้องบอกว่า ดิจิทัลนอแมดก็สามารถเกิดขึ้นภายในประเทศได้ เพราะจริงๆ แล้ว คนก็อยากอยู่บ้านของตนเอง หรือทำงานที่ไหนก็ได้ โดยที่ไม่ต้องทนกับค่าครองชีพในกรุงเทพฯ
“ตอนนี้ในไทยที่ผมเห็นนะ บางบริษัทเริ่มมีนโยบายทำงานจากที่ห่างไกลแล้ว พนักงานไม่จำเป็นต้องทำงานในออฟฟิศ อย่างบางคนทำงานออนไลน์ 100% ตั้งแต่วันแรกที่สมัครงานเลย โดยบริษัทตั้งอยู่ในต่างจังหวัด ขณะที่พนักงานก็จะอยู่ทุกซอกมุมของประเทศ ขอแค่คุณเป็นคนไทย
“ถ้าเกิดเหตุการณ์ลักษณะนั้น บริษัทต้องจ่ายเงินเดือนที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าคุณอยู่ไกลคุณได้น้อย แต่ต้องจ่ายเป็นเรตราคากลาง ผมคิดว่า ปัจจัยนี้จะทำให้คนอยู่กับที่มากขึ้น ชุมชนภายในท้องถิ่นก็จะเกิด
“นั่นรวมถึงการจ้างงานในท้องถิ่นด้วย หมายถึงคุณเก่งอะไรก็ทำงานตรงนั้นเลย แล้วในยุคดิจิทัล คุณสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ซึ่งก็นิยามตนเองได้ทั้ง ‘นอแมด’ หรือ ‘แรงงาน’ ในท้องถิ่นก็ได้
“อีกอย่าง ถ้าคนไม่กระจุกอยู่แค่กรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ก็จะโล่งขึ้น และจะส่งผลดีต่อไปเรื่อยๆ อาจจะช้าหรือเร็ว ก็ต้องคอยติดตามกันต่อไป”
เมื่อเราถามว่า บทสรุปของดิจิทัลนอแมดในประเทศไทย คือการ ‘ได้’ ประโยชน์มากกว่า ‘เสีย’ หรือไม่ ทั้งเตอร์และเซฟพยักหน้าทั้งคู่และตอบกับเราด้วยน้ำเสียงที่มั่นใจว่า “ใช่ ต้องเชื่อแบบนั้นครับ”
ก่อนจากกัน หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Digital Nomad Thailand ได้ตอบคำถามที่ทำให้เราครุ่นคิดถึง ‘อนาคตของไทย’ อยู่ไม่น้อย
เตอร์: “ผมเอาใจช่วยให้ผ่านวีซ่าดิจิทัลนอแมดสักที เพราะกังวลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจอย่างปรากฏการณ์อสังหาริมทรัพย์ถล่มราคาสูงมาก ถ้าเกิดไทยปรับตัวทัน ผมว่านี่คือโอกาสของพี่น้องประเทศไทยเลย
“แล้วถ้าวีซ่านอแมดผ่านก็จะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง เราก็จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เลย เม็ดเงินก็จะเข้ามหาศาลและไม่หลุดออกไปจากต่างประเทศ”
Fact Box
- เซฟ-พงษ์ศิริ พิสุทธิ์อัครธาดา ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมโปรแกรมเมอร์แห่งประเทศไทย
- เตอร์-รัฐกันต์ สุวรรณภักดี ดำรงตำแหน่ง Creative Director สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย
- เตอร์เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม Digital Nomad Thailand ร่วมกับเซฟ ขณะที่เตอร์ยังเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมดิจิทัลนอแมดไทยแลนด์อีกด้ว
- เตอร์เคยเป็น Creative Producer มีผลงานร่วมกับ Num Kala, Pancake, เล้าโลม, นุ๊ก ปาย, ปิ๋ม ชุติมา, สสส และ Khao Yai Country Clu
- ครั้งหนึ่ง ในกลุ่ม Digital Nomad Thailand เคยมีเรื่องราวของกลุ่มนอแมดกับคนขับรถชาวไทยที่เป็นเพื่อนกัน หลังจากทั้งสองคนคุยกันถูกคอ จนคนขับรถมอบ ‘พระ’ ไว้เป็นของแทนใจ โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าเจอกันอีกเมื่อไรให้ชูพระองค์นี้ แล้วจะให้ขึ้นรถฟรี ท้ายที่สุด พวกเขากลายเป็นเพื่อนกันจริงๆ