เราอยู่ในสังคม และสังคมเป็นสิ่งที่ซับซ้อน ด้วยเหตุนี้ นับตั้งแต่การถือกำเนิดของมนุษยชาติ มนุษย์ได้พยายามสร้างแนวคิด ปรัชญา และกลไกเพื่ออธิบายและกำกับดูแลสังคมที่พวกเขาอยู่ตลอดมา โดยบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของอารยธรรมต่างๆ ก็มักนำไปสู่ระเบียบการปกครองที่หลากหลายและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ‘ประชาธิปไตย’ หรือระบอบการปกครองที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมของประชาชนได้กลายเป็นระบอบที่มีความชอบธรรมและได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง ระดับที่ว่ารัฐบาลต่างๆ มักพยายามทำตัวตามครรลองประชาธิปไตยเพื่อเรียกการยอมรับจากคนทั้งในและนอกประเทศ

แต่ถึงอย่างนั้น ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่สิ่งที่คงตัวหรือสามารถยืนหยัดอยู่ได้ตลอดกาล กลับกัน มันเป็นเพียงเค้าโครงความคิดที่ต้องคอยดูแลอยู่ตลอดเวลาผ่านสถาบันที่เป็นมิตร ค่านิยมทางสังคมที่สอดคล้องกับปรัชญาประชาธิปไตย และความยินยอมของภาคประชาชน

ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่บอบบางและเสี่ยงที่จะถูกละเมิด แทรกซึม และทำลายอยู่ตลอดเวลา

แล้วประชาธิปไตยจะถูกทำลายด้วยวิธีการอะไรได้บ้าง? และเราจะสามารถหยุดมันได้อย่างไร? The Momentum มีคำตอบให้กับคุณ

1

การเสื่อมโทรมของประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เส้นทางของประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมักจบลงด้วยการก้าวขึ้นมาของผู้นำเผด็จการ การรัฐประหาร ความขัดแย้งทางสังคมขั้นรุนแรง หรือสงครามกลางเมือง

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดพัฒนาการดังกล่าวมีอยู่นับไม่ถ้วนและมักขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ที่เฉพาะเจาะจงของประเทศหรือสังคมนั้นๆ อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่ว่ามักถูกผลักดันโดยกระบวนการดังต่อไปนี้

การทำลายสถาบันการเมือง

อย่างที่ว่าไว้ตอนต้น ระบอบประชาธิปไตยคือสิ่งที่ถูกขับเคลื่อนและรักษาไว้ด้วยปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะพวกที่เกี่ยวกับอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตัวอย่างเช่น การคานอำนาจระหว่างสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐสภา และศาล คือกลไกที่คอยรับประกันว่าจะไม่มีกลุ่มการเมืองใดมีอำนาจมากเกินไปจนสามารถทำลายระบอบประชาธิปไตยได้

สถาบันที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างโดยตรง เช่น สถาบันสื่อหรือสถาบันการศึกษา ก็มีส่วนในพัฒนาการของประชาธิปไตยเป็นอย่างมากเช่นกัน เพราะพวกมันต่างมีอิทธิพลเหนือความนึกคิดและการกระทำของประชาชนทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้ไม่หวังดีจึงเลือกที่จะเริ่มทำลายระบอบประชาธิปไตยด้วยการบรรจุพรรคพวกของตนเข้าไปในสถาบันสำคัญต่างๆ ใช้อิทธิพลที่มีเพื่อบีบให้สถาบันต้องละเลยหน้าที่ของตน หรือแก้กฎระเบียบและจริยธรรมที่สถาบันยึดถือ เพื่อให้พวกมันไม่สามารถปกป้องระบอบประชาธิปไตยได้อย่างมีประสิทธิภาพและเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยสามารถเปลี่ยนสถาบันเหล่านั้นให้กลายเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับการสร้างระเบียบการเมืองแบบใหม่แทน

การบิดเบือนประวัติศาสตร์

การศึกษาประวัติศาสตร์คือดาบสองคม เพราะถึงแม้ว่ามันจะสามารถมอบบทเรียนอันทรงคุณค่าให้แก่เราและช่วยเตือนสติให้เราไม่ทำผิดซ้ำรอย ทว่าประวัติศาสตร์ก็ยังสามารถก่อให้เกิดความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ต่ออดีตอันหอมหวาน (Nostalgia) ซึ่งสร้างความเชื่อแบบผิดๆ ว่าโลกในอดีตนั้นน่าอยู่กว่าโลกในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและความวุ่นวาย

กลุ่มผู้ไม่หวังดีรู้ถึงความจริงข้อนี้ดีและได้ใช้ประโยชน์จากมันอย่างถึงที่สุด โดยพวกเขามัก ‘ชุบ’ (Whitewash) หรือบิดเบือนประวัติศาสตร์ผ่านการชี้ว่าสังคมในสมัยก่อนนั้นเต็มไปด้วยความสงบ ความมีศีลธรรม และความยิ่งใหญ่ เพื่อป้ายความผิดว่าความเสื่อมโทรมที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันมีสาเหตุมาจากการถือกำเนิดหรือการเข้ามาของระบอบประชาธิปไตยและแนวคิดหัวก้าวหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างแปลกใหม่สำหรับวัฒนธรรมส่วนใหญ่ในโลก

นอกจากนี้ ผู้ไม่หวังดียังมักนำเหตุการณ์หรือบริบททางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์มาดัดแปลงเพื่อใช้สร้างความปั่นป่วนในสังคมการเมืองของยุคปัจจุบัน เช่น การปลุกผีคอมมิวนิสต์เพื่อป้ายสีศัตรูทางการเมืองและสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามในประเทศที่เคยอยู่ฝ่าย ‘โลกเสรี’ ในช่วงสงครามเย็นหรือประเทศที่เคยเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียต

การด้อยค่าประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยจะคงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อประชาชนในสังคมนั้นๆ เชื่อว่ามันคือระบอบการปกครองที่มีคุณค่า ดีกว่าระเบียบการเมืองแบบอื่นๆ และมีความเหมาะสมกับพวกเขามากที่สุด

ดังนั้น กลุ่มผู้ไม่หวังดีจึงมักพยายามทำลายความเชื่อใจเหล่านั้นผ่านการสร้างวาทกรรมรูปแบบต่างๆ ที่มีจุดประสงค์เพื่อลดคุณค่าของแนวคิดประชาธิปไตย

วาทกรรมที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันจะมีเนื้อหาไปในทางที่ว่า “ระบอบการปกครองทุกรูปแบบก็เคยทำเรื่องไม่ดีต่อประชาชนของประเทศตัวเองและประเทศอื่นๆ มาก่อนทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยก็ไม่ได้ต่างไปจากเผด็จการมากนักหรอก” พร้อมนำข้อบกพร่องหรือประวัติด้านลบของประเทศประชาธิปไตยชั้นนำอย่างสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศสมาเป็นหลักฐานประกอบ

นอกจากวาทกรรมดังกล่าว การกล่าวหาว่าประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่มอบสิทธิทางการเมืองให้กับผู้ที่ไม่สมควรได้รับ เต็มไปด้วยนักการเมืองฉ้อฉล และมีแต่จะนำไปสู่ความวุ่นวายก็ต่างเป็นแนวคิดที่กลุ่มผู้ต่อต้านประชาธิปไตยนิยมใช้เช่นกัน

การหลอกลวงประชาชน

ประชาชนคือองค์ประกอบหลักของประชาธิปไตย ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้ที่สามารถควบคุมประชาชนได้ก็คือผู้ที่สามารถกำหนดชะตาของประชาธิปไตยได้ และด้วยเหตุนี้เอง ผู้ไม่หวังดีจึงมักใช้วิธีต่างๆ เพื่อบงการความคิดของประชาชนและโน้มน้าวให้พวกเขาหันหลังให้กับระบอบประชาธิปไตยและค่านิยมเรื่องสิทธิเสรีภาพ

นอกจากการใช้วาทกรรมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ (ที่ถูกบิดเบือน) และการด้อยค่าประชาธิปไตยตามที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว กลุ่มผู้ไม่หวังดียังมักใช้ ‘เหตุการณ์ฉุกเฉิน’ เพื่อหลอกให้ประชาชนเชื่อว่าประเทศกำลังต้องการระบบการเมืองแบบรวมศูนย์และผู้นำที่เด็ดขาด เพื่อจัดการกับปัญหาที่มีและรักษาเสถียรภาพของสังคม

เหตุเพลิงไหม้ไรชส์ทาค (The Reichstag fire) ในยุคของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) และเหตุการณ์ก่อการร้ายหลายครั้งในรัสเซียเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2000 ในยุคของ วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) คือตัวอย่างที่น่าสนใจของการ ‘สร้าง’ เหตุสะพรึงขวัญเพื่อเปิดทางให้ผู้นำสามารถก้าวข้ามกฎของระเบียบการเมืองแบบประชาธิปไตยและรวบอำนาจการปกครองได้อย่างชอบธรรม

2

แล้วพวก ‘ผู้ไม่หวังดี’ ที่ว่าคือใครกันแน่?

ผู้ไม่หวังดีดังกล่าวสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ประเภทแรกคือผู้ที่กำลังมีอำนาจในปัจจุบัน เช่น ผู้นำประเทศหรือนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล โดยพวกเขาเลือกที่จะทำลายระบอบประชาธิปไตยก็เพื่อวางรากฐานให้กับระบบการเมืองใหม่ที่เปิดทางให้ตน สมาชิกครอบครัว และพวกพ้องคนสนิทสามารถครองอำนาจต่อไปได้อย่างที่ไม่ต้องเจอกับ ‘ปัญหา’ หรือ ‘ความเสี่ยง’ ที่เกิดจากกระบวนการในระบอบประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้งและการถ่วงดุลอำนาจ

ประเภทที่ 2 คือคนที่อยากเข้ามามีอำนาจในเวทีการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ แต่ไม่สามารถทำได้เพราะถูกกลไกของระบอบประชาธิปไตยห้ามไว้ เช่น ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ หรือแม้แต่เจ้าพ่อสื่อ โดยคนประเภทนี้มักมองว่าระเบียบการเมืองภายใต้ปรัชญาประชาธิปไตย โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องการมีสถาบันการเมืองที่แข็งแกร่ง การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านระบบผู้แทน และการตรวจสอบผู้มีอำนาจผ่านกลไกต่างๆ คือสิ่งที่หัวสูง ไร้ประสิทธิภาพ และไม่เปิดช่องทางให้คนเก่งหรือ ‘คนดี’ อย่างพวกเขาเข้ามามีอำนาจบริหารประเทศจริงๆ โดยไม่ต้องพึ่งกับนักการเมือง ด้วยเหตุนี้เอง คนพวกนี้จึงต้องการที่จะบั่นทอนระบอบประชาธิปไตยที่มีอยู่ เพื่อเปิดทางให้กับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่จะนำมาซึ่งระบบการเมืองใหม่ที่เอื้อต่อการก้าวเข้าสู่อำนาจของตน

กลุ่มผู้ไม่หวังดีประเภทสุดท้ายคือตัวแสดงจากต่างประเทศที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ถูกทำลายเพื่อสนองกับยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศของตน หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการที่รัสเซียได้ใช้ ‘เกรียนคีย์บอร์ด’ (Internet Troll) ในการแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 สนับสนุนกลุ่มการเมืองหัวรุนแรงในสหรัฐฯ และเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนเพื่อสร้างความปั่นป่วนในสังคมการเมืองของกลุ่มประเทศที่รัสเซียมองว่าเป็นศัตรู

นอกจากคนทั้ง 3 ประเภทนี้แล้ว คนอีกกลุ่มที่ขาดไม่ได้ในแผนการทำลายประชาธิปไตยคือคนประเภทที่ จูเลียน เบนดา (Julien Benda) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เรียกว่า ‘เสมียน’ (Clercs) หรือปัญญาชนที่ยอมทอดทิ้งองค์ความรู้และศีลธรรมที่ตนมี แล้วไปสนับสนุนผู้นำเผด็จการหรือคนที่ต่อต้านแนวคิดประชาธิปไตยเพื่อแลกกับผลประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่ผู้ไม่หวังดีพร้อมมอบให้ เพราะสุดท้ายแล้ว กลุ่มผู้ไม่หวังดีที่ว่าไว้ตอนต้นจะไม่สามารถทำให้แผนของพวกเขาสำเร็จลุล่วงได้หากไม่มี ‘เสมียน’ คอยทำตัวเป็นกระบอกเสียงและเป็นตัวกลางระหว่างพวกเขากับประชาชน

3

ในหนังสือ Twilight of Democracy: The Seductive Lure of Authoritarianism แอนน์ แอปเพิลบอม (Anne Applebaum) นักประวัติศาสตร์และนักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ชาวอเมริกัน ได้ยกตัวอย่างกรณีของประเทศอังกฤษ ฮังการี และโปแลนด์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงการเสื่อมสลายของระบอบประชาธิปไตยที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

อย่างในกรณีของฮังการี แอปเพิลบอมระบุว่า วิกเตอร์ ออร์บาน (Viktor Orban) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันได้พยายามทำลายระบอบประชาธิปไตยของฮังการีที่ถูกสร้างขึ้นในยุคหลังสงครามเย็นผ่านการส่งพวกพ้องของตนไปแทรกซึมสถาบันต่างๆ ของประเทศ ควบคุมสื่อ บงการให้วงการวิชาการของประเทศต่อต้านค่านิยมหัวก้าวหน้าแบบตะวันตก และนำผู้อพยพชาวต่างชาติ ลัทธิคอมมิวนิสต์ และจอร์จ โซรอส (George Soros) นักธุรกิจชื่อดัง มาใช้เป็นแพะรับบาปหากรัฐบาลของเขาต้องเจอกับปัญหาอะไร

ในทางเดียวกัน แอปเพิลบอมยังชี้ว่า ยาโรสลาฟ คาชินสกี (Jarosław Kaczyńsk) และพรรค Law and Justice (Prawo i Sprawiedliwość: PiS) แห่งโปแลนด์ได้ใช้ ‘ทฤษฎีสมคบคิดแห่งกรุงสโมเลนสก์’ (Smolensk Conspiracy) ซึ่งเกี่ยวกับปริศนาการเสียชีวิตของอดีตประธานาธิบดี เลค คาซินสกี (Lech Kaczyński) ในเหตุการณ์เครื่องบินตกที่กรุงสโมเลนสก์ ประเทศรัสเซีย เมื่อปี 2010 เพื่อกระตุ้นแนวคิดชาตินิยมขวาจัดในหมู่ชาวโปแลนด์ ป้ายสีศัตรูทางการเมือง และ ‘สอน’ ให้คนรุ่นใหม่ (ที่เกิดไม่ทันยุคที่ประเทศถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการ) ระแวงและรังเกียจนักการเมืองหรือนักวิชาการที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและแนวคิดหัวก้าวหน้า

โดยเหตุการณ์ในฮังการีและโปแลนด์ต่างถูกขับเคลื่อนโดยเสมียนที่มาในรูปของนักวิชาการที่น่าเชื่อถือหรือคนในวงการสื่อที่มีชื่อเสียงทั้งสิ้น

4

หากมองอย่างผ่านเผิน เรื่องทั้งหมดนี้อาจดูไม่เกี่ยวอะไรกับคนไทยมากนัก เพราะพัฒนาการทางการเมืองของระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ค่อนข้างไกลตัวสำหรับประชากรของประเทศที่แทบจะไม่เคยถูกปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเต็มใบเลยซักครั้ง

อย่างไรก็ตาม The Momentum เชื่อว่าประเด็นดังกล่าวมีประโยชน์กับพวกเราชาวไทยเป็นอย่างมาก เพราะกระบวนการที่ว่ามาทั้งหมดไม่ใช่แค่ตัว ‘ทำลาย’ ประชาธิปไตย แต่พวกมันยังสามารถเป็นสิ่งที่ ‘ขัดขวาง’ การก่อตัวของประชาธิปไตยได้อีกด้วย

กล่าวคือ ในประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย กลุ่มผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจสามารถใช้กลไกและตัวแสดงที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นในการยุยงปลุกปั่น ล้างสมอง และบั่นทอนขวัญกำลังใจของคนในสังคมเพื่อรักษาโครงสร้างทางการเมืองแบบเก่าและฐานอำนาจของตนให้คงอยู่ต่อไปได้

ตัวอย่างเช่น มูอัมมาร์ กัดดาฟี (Muammar Gaddafi) จอมเผด็จการแห่งลิเบีย ได้ใช้ ‘คัมภีร์ปกเขียว’ (The Green Book) ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมแนวคิดปรัชญาการเมืองและเศรษฐกิจของเขา เพื่อสอนประชาชนว่าระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกนั้นเต็มไปด้วยข้อบกพร่องและอาจนำไปสู่ภาวะเผด็จการโดยเสียงข้างมาก (Tyranny of the Majority) พร้อมเสนอว่าระบอบ ‘ญะมาฮีรียะ’ (Jamahiriya) หรือระบบเผด็จการที่นำโดยกัดดาฟีในคราบระบบ ‘ประชาธิปไตยทางตรง’ (Direct Democracy) คือระบอบการปกครองที่ดีที่สุดที่ประชาชนชาวลิเบียควรให้การยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข

หรือชาติเผด็จการอันเลื่องชื่ออย่างสหภาพโซเวียตก็ได้บงการให้สถาบันต่างๆ ของประเทศ เช่น ระบบราชการ กองทัพ สื่อ สหภาพแรงงาน และภาคประชาสังคมอ่อนแอมากพอที่จะถูกควบคุมโดยอิทธิพลจากเหล่าผู้นำประเทศ แต่แข็งแรงพอที่จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือความเป็นอยู่ สิทธิทางการเมือง และความนึกคิดของประชาชน

5

แล้วเราควรทำอย่างไรเพื่อปกป้องประชาธิปไตยหรือสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาในประเทศ?

ในหนังสือ On Tyranny: Twenty Lessons from the Twentieth Century ทิโมธี สไนเดอร์ (Timothy Snyder) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้มอบคำแนะนำเอาไว้หลายข้อ โดยอิงจากประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศต่างๆ อย่างเยอรมนี สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ในศตวรรษที่ 20

The Momentum มองว่า 20 แนวทางที่สไนเดอร์เสนอสามารถถูกสรุปได้เป็น 6 หัวข้อหลักๆ ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

ข้อแรกคือเราควรให้ความสนใจกับพัฒนาการของสถาบันภายในประเทศ เพราะพวกมันคือหนึ่งในไม่กี่สิ่งที่สามารถกำหนดพลวัติทางอำนาจภายในสังคมระหว่างผู้ปกครองกับผู้ปกครองได้อย่างชอบธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยเราควรคิดว่าผู้ปกครองจ้องจะใช้สถาบันที่มี (รวมถึงอำนาจนอกระบบรูปแบบต่างๆ) เพื่อประโยชน์ส่วนตนเสมอ

ข้อถัดมาคือคนวัยทำงาน โดยเฉพาะข้าราชการ บุคลากรในวงการกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ต้องจดจำและปฏิบัติตามจรรยาบรรณที่ตนมีอย่างเคร่งครัด สามารถวิเคราะห์ความเป็นไปทางสังคมได้อย่างถี่ถ้วน ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และพร้อมยืนหยัดอยู่ข้างความถูกต้อง เพราะประวัติศาสตร์ (และสามัญสำนึก) สอนเราไว้ว่านักเคลื่อนไหวทางการเมืองจะไม่ถูกดำเนินคดีหากตำรวจและศาลไม่ลงมือ ผู้ชุมนุมจะไม่ถูกยิงหากทหารไม่จับอาวุธ และรัฐบาลเผด็จการจะหมดความชอบธรรมในการปกครองหากข้าราชการไม่ทำงานให้กับพวกเขา

ข้อที่ 3 คือเราควรเสพข้อมูลและสื่ออย่างมีสติเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อของรัฐหรือกลุ่มการเมืองที่มักใช้คำที่กระตุ้นความรู้สึกเชิงลบอย่าง ‘หัวรุนแรง’ ‘ก่อการร้าย’ หรือ ‘สถานการณ์ฉุกเฉิน’ เพื่อปรับบรรยากาศทางสังคมและบริบททางการเมืองให้สอดคล้องกับเจตจำนงส่วนตัวของพวกเขา

ข้อที่ 4 คือเราต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องความเป็นส่วนตัวของตนเองและคนอื่นๆ เพราะการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและการทำลายเส้นแบ่งระหว่างความเป็นสาธารณะกับความเป็นส่วนตัว (Public and Private) คือกระบวนการขั้นสำคัญที่รัฐมักใช้เพื่อลดอำนาจต่อรองของประชาชนและเพิ่มอำนาจในการควบคุมปกครองให้กับตนเอง

ข้อที่ 5 คือเราควรศึกษาปรากฏการณ์ทางการเมืองของชาติอื่นๆ เนื่องจากเหตุการณ์เหล่านั้นคือบทเรียนสำคัญที่สามารถช่วยให้เราทราบถึงกลไกทางสังคมเบื้องต้น รู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และเป็นกรอบแนวทางสำหรับการสร้างความเปลี่ยนแปลงในบริบทที่เหมาะสมกับสังคมของเรา

และสำหรับข้อสุดท้าย สไนเดอร์สรุปสั้นๆ ว่าเราต้องมีความกล้า ความมุ่งมั่น และพร้อมลุกขึ้นสู้กับความอยุติธรรมเพื่อความถูกต้องและสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะสุดท้ายแล้ว คำแนะนำทั้งหมดที่ว่ามาจะไม่มีวันก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างและสร้างผลในสังคมวงกว้างได้ถ้าไม่มีใครกล้าพอที่จะเริ่มปฏิบัติตามพวกมัน

“หากไม่มีใครพร้อมอุทิศตนเพื่ออิสรภาพ พวกเราก็จงเตรียมตัวตายภายใต้เงื้อมมือทรราชเสียเถิด” — ทิโมธี สไนเดอร์

อ้างอิง

Twilight of Democracy: The Seductive Lure of Authoritarianism, Anne Applebaum

On Tyranny: Twenty Lessons from the Twentieth Century, Timothy Snyder

How to Be a Dictator: An Irreverent Guide, Mikal Hem

Trump, Brexit, and the Rise of Populism: Economic Have-Nots and Cultural Backlash, Ronald F. Inglehart and Pippa Norris

Populism and the Mirror of Democracy, Francisco Panizza

The Early Stages of “Legal Purges” in Soviet Russia (1941-1945), Sergey Kudryashov and Vanessa Voisin

https://www.theguardian.com/world/2022/may/01/troll-factory-spreading-russian-pro-war-lies-online-says-uk

https://www.fbi.gov/wanted/cyber/russian-interference-in-2016-u-s-elections

https://www.businessinsider.com/california-secession-movement-was-backed-by-russia-us-alleges-2022-7

https://www.theguardian.com/politics/2016/oct/13/birth-of-populism-donald-trump

Tags: , , , , ,