เสียงจากประชาชนเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 สะท้อนฉันทามติที่มอบให้กับ ‘พรรคก้าวไกล’ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างชัดเจนด้วยจำนวน ส.ส. 152 คน และคะแนนพรรคที่ทะลุ 14.5 ล้านเสียง มากพอที่จะฟอร์มรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยด้วยเสียงทะลุ 311 เสียง หากนับรวมพันธมิตรอย่าง พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่

ถ้าเป็นสังคมประชาธิปไตยปกติ เรื่องก็คงจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง พรรครัฐบาลฟอร์มเสียงข้างมากได้ เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรมาทำหน้าที่ประธานรัฐสภา และเริ่มกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี 

แต่ต้องไม่ลืมว่านี่เป็นรัฐบาล ‘ประชาธิปไตย’ เต็มรูปที่เอาชนะฝั่งตรงข้ามอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ 9 ปีที่แล้ว และเป็นรัฐบาล ‘เอเลี่ยน’ ตามคำพูดของ ‘ทิม’ ที่ขัดกับระบบการเมืองไทย – ระบบรัฐสภาแบบปกติที่ทุกอย่างสามารถต่อรองได้ด้วยผลประโยชน์ ‘ก้าวไกล’ มีนโยบายต่อสู้กับทุนผูกขาด ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจนิยม และหลายคนประเมินว่าท่าทีของรัฐบาลก้าวไกล น่าจะเป็นเพื่อ ‘แก้แค้น’ และสุดโต่งกว่าทุกพรรค

เพราะฉะนั้น สารพัดขวากหนามยังคงอยู่ ข่าวลือจึงดังระงม มี ‘ทุนใหญ่’ จำนวนมากที่เคยเกื้อหนุนรัฐบาลชุดเดิมที่เสียผลประโยชน์ชัดเจน และบรรดา Deep State หรือ ‘รัฐพันลึก’ ซึ่งเคยสงบนิ่งอยู่ใต้น้ำตลอดเวลาที่รัฐบาลเป็นฝ่ายตรงข้าม ก็เริ่มโผล่ขึ้นเหนือน้ำ และน่าจะเป็นอุปสรรคต่อพิธาในอนาคต

กระทั่งวันนี้ การตั้งรัฐบาลก็ยังมิอาจเป็นได้โดยปกติ กระทั่งวันนี้ ก็ยังมีข่าวลือทั้งเรื่อง ‘ทุนใหญ่’ กำลังวิ่งเต้นไม่ให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาล และทุนใหญ่ทุนเดียวกันกำลังปั่นให้กลุ่มก๊วนอื่นๆ พยายามตั้งรัฐบาลแข่ง

The Momentum รวบรวมอุปสรรค และสิ่งที่พิธาและพรรคก้าวไกลอาจต้องเจอในเวลาไม่ช้าไม่นาน – เป็นสิ่งที่ต้องพึงระวัง

1. ตลอดเวลาที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่พูดถึง ‘ทุนผูกขาด’ อยู่หลายเรื่อง และหลายคราพุ่งตรงไปที่ กัลฟ์เอ็นเนอร์จี ผ่านการอภิปรายของ เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.ของพรรค ว่าด้วยการเอื้อประโยชน์สัมปทานโรงไฟฟ้า อัตราการสำรองไฟที่ล้นเกิน และการกำหนดค่าความพร้อมจ่ายให้โรงไฟฟ้าต้องเดินเครื่องตลอดเวลา

ขณะที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.ของพรรคอีกคน ก็พูดเรื่องการที่ทุนอย่างกัลฟ์ให้การสนับสนุนทั้งในส่วนของมูลนิธิป่ารอยต่อห้าจังหวัด และในส่วนของการจัดการสัมปทานดาวเทียมไทยคม ภายใต้กลุ่มอินทัช ซึ่งกัลฟ์เพิ่งสยายปีกเข้าไปทำธุรกิจโทรคมนาคม โดยรังสิมันต์โยงสายสัมพันธ์ระหว่างกัลฟ์กับชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการของกัลฟ์

ทั้งหมดนี้แลกมาด้วยการที่ทั้งเบญจาและรังสิมันต์ ถูกฟ้องหมิ่นประมาทและฟ้องแพ่งจากกัลฟ์ ด้วยค่าเสียหายคนละ 100 ล้านบาท กลายเป็น 2 ส.ส.ที่ค่าหัวสูงที่สุด

2. ในห้วงเวลาที่มีข่าวการ ‘ควบรวม’ กิจการโทรคมนาคม ระหว่าง ทรูคอร์ปอเรชัน กับดีแทค ก็เป็น ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ออกมาต่อต้านการควบรวมอย่างแข็งขัน และในเกมนี้ ทิม-พิธาก็ลงมาแสดงความกังวลด้วยตัวเอง อภิปรายในสภาฯ และร่วมเดินเรื่องคัดค้าน ด้วยเหตุผลว่า ผู้บริโภคอาจต้องจ่ายค่า Data และค่าโทรศัพท์ที่แพงขึ้น ผลักให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นศัตรูของกลุ่มทรูและซีพีไปอีกประเด็น

ไม่เพียงเท่านั้น การเดินเรื่อง ‘สุราก้าวหน้า’ ซึ่งดูจะเป็น Passion ส่วนตัวของพิธาก็กลายเป็นประเด็นที่ทำให้เขาปะทะกับทุนใหญ่อย่าง ‘ไทยเบฟเวอเรจ’ และ ‘บุญรอดบริวเวอรี่’ ช้างและสิงห์ เจ้าของธุรกิจน้ำเมาไปด้วยเช่นกัน สุนทรพจน์ของพิธาที่ว่าด้วยการต่อต้านการผูกขาดถูกแชร์ไปนับหมื่นครั้ง และหากก้าวไกลทำสำเร็จจริง นั่นหมายถึงการปลดล็อกเหล้าเบียร์ ให้เกิดคราฟต์เบียร์และสุราชุมชน ต่อกรกับรายใหญ่ไม่กี่เจ้าที่ขายในร้านสะดวกซื้อทุกวันนี้

เท่ากับว่า ยิ่งนานวัน ศัตรูซีกนายทุนยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

3. เป็นที่รู้กันว่าช่วงท้ายของรัฐบาลประยุทธ์นั้น ทุนใหญ่ ทุนผูกขาด เริ่มจับทิศทางลมของการ ‘ไม่เอาตู่’ ได้ เปลี่ยนไปสนับสนุนอีกพรรคในซีกประชาธิปไตย ด้วยหวังว่าหากแทงหวยพรรคนี้จะได้เป็นผู้นำในการฟอร์มรัฐบาล เมื่อแบ่งกระทรวงที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงดีอีเอส กระทรวงคมนาคม ทุนใหญ่เหล่านี้จะอยู่รอดปลอดภัย

แต่ผลการเลือกตั้งไม่เป็นตามคาด กลับเป็นพรรคก้าวไกลที่ได้เสียงตีตื้นในโค้งสุดท้าย และแซงพรรคอันดับสองในระดับ 9 เสียง ซึ่งหมายความว่านายกรัฐมนตรีจะชื่อพิธา มากกว่าจะเป็นชื่ออื่น และนั่นนำมาซึ่ง ‘ความเสี่ยง’ เพราะนโยบายหลักอย่างหนึ่งของพรรคก้าวไกลคือการทลายทุนผูกขาด

นั่นทำให้เช้าหลังวันเลือกตั้งอันสดใส ตลาดหุ้นกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม โดยเฉพาะหุ้นทุนใหญ่ กัลฟ์ (GULF) ไทยคม (THCOM) อินทัช (INTUCH) โรงไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิง (RATCH) กระทั่ง CPALL ไปจนถึงหุ้นที่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทยอย่าง แสนสิริ (SIRI) หุ้นบริษัท ชิโน-ไทย (STEC) ล้วนอยู่ในแดนลบทั้งสิ้น

นักวิเคราะห์ว่ากันว่าเป็นผลพวงจากความกังวลเรื่องการ ‘เปลี่ยนขั้ว’ ของรัฐบาล แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าการผูกขาดมานาน ความ ‘นิ่ง’ ที่เคยต่อเนื่องตลอด 9 ปีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ย่อมเผชิญกับความท้าทาย และเมื่อเกิดต้องเปลี่ยน แทนที่จะเปลี่ยนเป็นพรรคเพื่อไทยที่พอต่อรองกันได้ สุดท้ายกลับเปลี่ยนเป็นพรรคก้าวไกล ที่เคยยืนอยู่ตรงกันข้ามมาก่อนแทน

ด้วยเหตุนี้ ข่าว ‘ทุนใหญ่’ พยายามวิ่งทุกวิถีทางจึงมีเหตุและปัจจัย มีความเป็นไปได้ที่อยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นการยุส่งให้ทุกพรรคร่วมจับมือกันทิ้งก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน หรือข่าวการดันให้ ส.ว.บางขั้วออกมาปล่อยข่าวว่า ถึงที่สุดจะไม่ยอมโหวตให้พิธาเป็นนายกฯ หากมีการเสนอชื่อเป็นชื่อเดียว

แต่สิ่งที่ก้าวไกลเลือกคือ ‘ดับเครื่องชน’

4. นอกจากบรรดาทุนใหญ่แล้ว ความหวาดกลัวยังได้แผ่ปกคลุมบรรดาชนชั้นนำอำนาจนิยมที่รากงอกต่อเนื่องกันมานานนับตั้งแต่การรัฐประหาร คสช.

ไม่ว่าจะทหาร ตำรวจ ข้าราชการ องค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ล้วนได้ประโยชน์จากความต่อเนื่องนี้… การเปลี่ยนขั้วแบบสุดขั้วย่อมส่งผลสะเทือนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

บรรดา Deep State หรือรัฐพันลึกนั้น ไม่ไว้ใจและไม่เคยไว้ใจพรรคเพื่อไทย กระทั่งเป็นต้นกำเนิดของการรัฐประหารนายกฯ จากตระกูลชินวัตรกัน 2 รอบ ในเวลาห่างกันไม่ถึง 10 ปี และฉวยโอกาส ‘ซ้ำ’ ทุกครั้ง กรณีที่รัฐบาลเพื่อไทยเกิดพลาด

แต่ความผิดพลาดใหญ่ของ Deep State ก็คือเมื่อกระทืบเพื่อไทย สิ่งที่ได้มาคือพรรคอนาคตใหม่ และเมื่อกระทืบพรรคอนาคตใหม่ด้วยการยุบพรรค สิ่งที่ได้มาทดแทนคือพรรคก้าวไกล

เดิมนั้น ความกลัวพรรคก้าวไกลสะท้อนผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากบัตรใบเดียวเป็นบัตร 2 ใบ และลดสัดส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจาก 150 คน ที่พรรคอนาคตใหม่เดิมเคยได้ประโยชน์ให้เหลือ 100 คน ให้สมรภูมิการเลือกตั้งไปสู้กันที่เขตเลือกตั้ง แทนที่จะอยู่ที่บัญชีรายชื่อ โดยหากเป็นระบบเดิม พรรคก้าวไกลได้เท่ากับพรรคอนาคตใหม่ อย่างดีก็มี ส.ส.เต็มที่ราว 30-40 คน

แต่ก้าวไกลที่มาพร้อมกับนโยบาย ‘รื้อโครงสร้าง’ ‘กระจายอำนาจ’ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ เรื่อยไปจนถึงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ย่อมสั่นคลอนโครงสร้างเดิมอย่างหนัก ซึ่งทำให้หลายคนเขียนชื่อก้าวไกลในฐานะ ‘ฝ่ายค้าน’ ที่ร่วมรัฐบาลกับใครไม่ได้

สุดท้าย ผลการเลือกตั้งกลับพลิกล็อก กลายเป็นพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 กลายเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล เล่นเอา Deep State ขวัญผวา ต้องหาทางพลิกเกมใหม่ จับมือกับทุนใหญ่ ทำอย่างไรก็ได้เพื่อเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาล

5. โจทย์แรกของบรรดารัฐพันลึกก็คือ ‘ลุ้น’ ให้ก้าวไกลไม่สามารถรวมเสียงได้มากพอในการส่งพิธาขึ้นเป็นนายกฯ โจทย์ที่สองก็คือการพยายามให้ ส.ว.เดินเกมป่วน ด้วยการ ‘ขู่’ ส่งเสียงไปถึงชนชั้นนำว่า ก้าวไกลนั้น ‘อันตราย’ เกินกว่าจะส่งขึ้นเป็นรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นมาตรา 112 โจทย์ที่สามก็คือการพยายามกลับมาเล่นเกมเดิมอย่าง ‘นิติสงคราม’ จัดการกับพิธาในเรื่องถือหุ้นสื่อ และโจทย์ที่สี่ หากตั้งรัฐบาลได้ ก็อาจมีเกมป่วนในคณะรัฐมนตรี เพราะมี ส.ส.จำนวนไม่น้อยที่ ‘ออกแรง’ ในการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา มากเสียจนกระทั่งการปล่อยให้คนจากพรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นนายกฯ นั้นเสี่ยงเกินไป จึงต้องจัดการจากภายใน 

ข่าวการตั้งรัฐบาลแข่งก็เป็นอีกสิ่งที่ดังขึ้นต่อเนื่อง มีความพยายามเกิดขึ้นหลังฉากจริง กระทั่งผู้นำและหัวหน้าพรรคบางพรรคหายตัวไปเป็นวันหลังเลือกตั้ง กระทั่งสุดท้าย เมื่อรู้ว่ามิอาจสู้ได้ ก็ต้องยอมรับโดยดี ยอมให้พิธาจัดตั้งรัฐบาลรอบแรก

คำถามแรกก็คือรัฐบาลของพิธาในขั้นแรกจะสำเร็จหรือไม่ คำถามที่สองก็คือรัฐบาลที่เสียงจากพรรคอันดับหนึ่งและอันดับสองห่างกันเพียง 11 เสียง จะ ‘ปะทะ’ กันเร็วขนาดไหน และคำถามที่สามก็คือ ในที่สุดแล้ว บรรดาทุนใหญ่ ทุนผูกขาด เจ้าสัว และ Deep State จะไว้ใจพรรคก้าวไกลได้จริงหรือ แล้วจะตัดไฟตั้งแต่ต้นลมวันนี้ หรือจะยินยอมให้ตั้งรัฐบาลไปก่อนแล้วสอยทีหลัง

ความคลุมเครือทั้งหมดนี้จะดำรงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ กระทั่งถึงวันที่สภาสามารถเลือกพิธาเป็นนายกฯ ได้จริง และได้รับเสียงสนับสนุนอย่างล้นหลามจนเกิน 376 เสียง

แต่หากถึงวันนั้นเมื่อไร ก็แปลว่าการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และระบอบอำนาจนิยมเข้มข้นที่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหารที่องคาพยพทั้งหมดประคบประหงมกันมาอย่างดี ไปจนถึงการสะสมทุนอย่างง่ายดายของบรรดาทุนผูกขาดในช่วงหลังการรัฐประหารนั้นกำลังพังพาบลงอย่างสิ้นเชิง

หากการเมืองไทยจบลงง่ายๆ อย่างนั้น ย่อมเป็นเรื่องดี ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในรูปแบบ ‘ประชาธิปไตย’ เต็มใบ

แต่น่าเสียดายที่การเมืองไทยมักเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และหลายครั้งก็จบลงด้วยสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด

ทั้งหมดเป็นอุปสรรคที่พิธาและบรรดา 26 ล้านเสียงของฝั่งประชาธิปไตย อาจต้องพึงระวังอย่างสุดขั้ว

Tags: , , , , , ,