วันนี้ (3 เมษายน 2567) ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณา หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี โดยอ้างเหตุมีพฤติการณ์ ‘ล้มล้างการปกครอง’ และเป็น ‘ปฏิปักษ์’ กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทั้งนี้ กกต.เห็นว่า เป็นเหตุแห่งการยุบพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล รวมถึงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไปจดทะเบียนพรรคการเมือง มีส่วนเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค

“ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า เป็นกรณีที่ผู้ร้องมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคผู้ถูกร้องกระทำตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย” เอกสารข่าวของศาลรัฐธรรมนูญระบุ ขณะเดียวกันยังให้เวลาพรรคก้าวไกลชี้แจงภายใน 15 วัน

ทั้งนี้ หากย้อนดู 2 ข้อหาใหญ่คือ มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง และเป็นปฏิปักษ์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ต้องกลับไปดู ณ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของพรรคก้าวไกลเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง และ ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567

สำหรับเรื่องใหญ่ที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุถึง เป็นต้นว่า กรณีที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล 44 คน เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 มีความมุ่งหมายตามข้อหาล้มล้างการปกครอง โดยพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์เป็นการผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศประเทศ จึงมีความชอบธรรมที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองมิให้ละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐ

ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญยังชี้ให้เห็นว่า การกระทำของพรรคก้าวไกลที่เสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความพยายามแยก ‘พระมหากษัตริย์ออกจากความผิดต่อความมั่นคงของประเทศ’ โดยการที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคในขณะนั้น และพรรคก้าวไกล เสนอให้แยกมาตรา 112 ออกจากความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ถือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ

“สถาบันพระมหากษัตริย์จึงมีความสำคัญต่อความมั่นคงต่อประเทศ เพราะพระมหากษัตริย์กับประเทศไทยหรือชาติไทยดำรงอยู่คู่กัน เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นศูนย์รวมจิตใจในชาติ และธำรงความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในประเทศ การกระทำความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของประเทศด้วย” คำวินิจฉัยตอนหนึ่งระบุ

ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยอีกด้วยว่า มีการนำนโยบายแก้ไขมาตรา 112 โพสต์ลงเว็บไซต์ของพรรค และเมื่อนำไปหาเสียงในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ก็สะท้อนว่า มีความตั้งใจทำให้ประชาชนหลงผิด และใช้เรื่องดังกล่าวเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งที่ พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ชัน้สูง ดำรงฐานะอยู่เหนือการเมือง การเสนอเรื่องดังกล่าวในการหาเสียง จึงถือเป็นการ ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ สถาบันพระมหากษัตริย์ และทำให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม อ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีการอ้างถึงพฤติกรรมของคณะกรรมการบริหาร และ ส.ส.พรรคก้าวไกล โดยเห็นว่า ส.ส.ของพรรค 7 คน เช่น พิธา, ชัยธวัช ตุลาธน, รังสิมันต์ โรม และธีรัจชัย พันธุมาส เป็นนายประกันให้กับผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงยังมี ส.ส.ที่กระทำความผิดตามมาตรา 112 เช่น ปิยรัฐ จงเทพ, ชลธิชา แจ้งเร็ว, และรักชนก ศรีนอก สะท้อนว่าพรรคสนับสนุนในการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือยกเลิกบทบัญญัติที่คุ้มครองสถาบันฯ ขณะเดียวกันยังอ้างถึงเหตุที่พิธาแปะสติกเกอร์ในกิจกรรมของกลุ่มทะลุวัง ‘เห็นด้วย’ กับการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าทั้งหมดสะท้อนทัศนคติของหัวหน้าพรรคที่พร้อมยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อทำให้บทบัญญัติคุ้มครองพระมหากษัตริย์หมดสิ้นไป

หลังคำวินิจฉัยฉบับเต็มโดยศาลรัฐธรรมนูญออกมา และมีผู้ร้องในเรื่องดังกล่าวให้ กกต.ยุบพรรค กกต.มีมติเห็นว่าเห็นควรให้ยุบพรรค และนำคำวินิจฉัยดังกล่าวไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

เป็นอันนับหนึ่งขั้นตอน-กระบวนการยุบพรรคก้าวไกล โดยเป็นครั้งแรกที่นำเรื่องอุดมการณ์ นโยบายหาเสียง เป็นต้นเหตุแห่งการยุบพรรค

Tags: , ,