จากคณะศรัทธาที่ถวายเงินให้วัด อยู่ๆ ก็กลายเป็นผู้ร่วมลงทุนให้เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงนำเงินกว่า 847 ล้านบาท ไปเสี่ยงโชคเล่นพนันโดยไม่รู้ตัว ซึ่งแน่นอนว่าหากเจ้าอาวาสรายนี้ดันโชคดีชนะพนันขึ้นมา เงินทุกบาททุกสตางค์ก็จะไม่ตกถึงมือของเจ้าของเงินอย่างแน่นอน

สิ่งที่ต้องรู้คือ วัดไร่ขิงไม่ใช่วัดแรกที่มีเรื่องราวฉาวโฉ่ทางการเงินเกิดขึ้น เช่น คดีของหลวงปู่เณรคำยักยอกทรัพย์สินของวัดเอาไปซื้อเครื่องบินกับรถหรู, พระอาจารย์คมยักยอกเงินวัดป่ากว่า 300 ล้านบาท, คดีพระธัมมชโยยักยอกเงินสหกรณ์เครดิต, คดีโกงเงินอุดหนุนวัดจากรัฐบาลที่พระสงฆ์สมคบคิดกับเจ้าหน้าที่รัฐกิน ‘เงินทอน’ เงินอุดหนุน และอาจมีอีกหลายวัดที่เรื่องยังไม่แดงและประชาชนยังไม่ทราบ

แม้ว่าวัดจะเป็นศาสนสถาน แต่กลับมีเงินไหลเวียนหลักล้านบาท จากการสำรวจของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณดา จันทร์สม คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ ในปี 2555 วัด 490 แห่งทั่วประเทศมีรายรับเฉลี่ยกว่า 3.24 ล้านบาทต่อปี ทั้งสำนักงบประมาณยังสนับสนุนเงินให้วัดทั่วประเทศอีกปีละมากกว่าพันล้านบาท

คำถามคือ ในพื้นที่ที่มีเงินมหาศาลขนาดนี้ ระบบการดูแลจัดการเงินมีหน้าตาเป็นแบบไหน ทำไมสถานที่ที่สอนให้ทุกคนประพฤติดี ถือศิลป์ 5 ละซึ่งกิเลสไม่เล่นการพนันถึงเต็มไปด้วยคดีความมากมายทั้งยักยอก ฟอกเงิน และเงินทอน เป็นไปได้หรือไม่ที่การจัดการการเงินของวัดเต็มไปด้วยช่องโหว่ 

The Momentum พูดคุยประเด็นเหล่านี้กับ ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) 

วัดไทยเงินเยอะ แต่จัดการบัญชีแบบง่ายๆ

เมื่อปี 2555 ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า ได้สำรวจวัดทั่วประเทศไทย 490 แห่ง พบว่าแต่ละแห่งมีรายรับเฉลี่ย 3.24 ล้านบาทต่อปี ซึ่ง 3 อันดับรายรับเฉลี่ยที่วัดได้รับเป็นจำนวนมากคือ

  1. เงินบริจาคเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะด้าน เช่น งานซ่อมแซมโบสถ์ หรือศาสนสถานอื่นๆ 2,022,501 บาท

  2. รายได้จากการสร้างเครื่องบูชา เช่น พระพุทธรูป พระเครื่อง วัตถุบูชา ฯลฯ 1,460,907 บาท

  3. เงินบริจาคโอกาสพิเศษ เช่น ทอดกฐิน ผ้าป่า งานบวช พิธีฝังลูกนิมิต ฯลฯ 1,054,342 บาท 

นอกจากรายรับที่มาจากกิจกรรมของวัดแล้ว ยังมีรายได้จากเงินอุดหนุนของภาครัฐที่จัดสรรให้กับวัดที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เพื่อให้วัดนำไปใช้สำหรับการบูรณะซ่อมแซมหรือปฏิสังขรณ์วัด เพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุและสามเณร และเพื่อการเผยแผ่ดำเนินกิจกรรมทางศาสนา โดยให้วัดเป็นผู้เขียนโครงการขอรับงบประมาณเข้ามาที่สำนักงาน พศ.อนุมัติ ซึ่งรายงานวิจัยของ ผศ.ดร.ณดา ระบุว่า จากการรวบรวมข้อมูลของสำนักงบประมาณในปี 2556-2562 มีการจัดสรรเงินอุดหนุนให้ทั่วประเทศเฉลี่ยมากกว่า 3,000 ล้านบาท และในปี 2559-2560 วัดได้รับการจัดสรรงบในการใช้จ่ายเฉลี่ยถึง 4,500 ล้านบาท 

ทั้งๆ ที่วัดมีเม็ดเงินมากมายขนาดนี้ และยังได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล แต่จากการสอบถามกับธารทิพย์ นักวิจัยอาวุโสทีดีอาร์ไอ พบว่า การทำบัญชีของวัดกลับทำอย่าง ‘ง่ายๆ’ ไม่มีมาตรฐานทางบัญชี ส่วนสำนักงาน พศ.ที่มีหน้าที่กำกับดูแลวัดพุทธทั่วประเทศกลับไม่ได้เข้าไปตรวจสอบว่า วัดมีการใช้เงินอย่างที่ระบุไว้ในแบบแสดงรายรับ-รายจ่ายจริงหรือไม่ 

“เท่าที่เคยไปสัมภาษณ์สำนักงาน พศ.เขาบอกว่า บัญชีส่วนใหญ่ที่วัดทำมาส่งให้เป็นแค่บัญชีรายรับ-รายจ่ายเบื้องต้น บอกในนั้นแค่ว่ารับเงินมาเท่าไร แล้ววัดจ่ายออกไปเท่าไร แค่นั้นไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรเลย แล้วก็ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานทางบัญชีด้วย หน่วยงานรัฐก็ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบว่า วัดใช้เงินตามที่บอกไว้ในบัญชีจริงหรือเปล่า”

เมื่อดูกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ที่มีข้อมูลการทำ ‘บัญชี’ ของวัดเอาไว้จะพบว่า มีการระบุการทำบัญชีเอาไว้แบบกว้างๆ เช่น ให้วัดแยกรายรับออกเป็น 2 กอง เป็นเงินผลประโยชน์กับเงินการกุศล เมื่อรับเงินมาแล้วให้มีใบเสร็จ และให้วัดส่งรายรับ-รายจ่ายให้สำนักงาน พศ.จังหวัด ทุก 1 เดือน แต่กลับไม่มีแบบฟอร์มการทำบัญชีชัดเจน และไม่มีการลงมาตรวจสอบของ พศ.ว่า มีการใช้เงินตามรายรับ-รายจ่ายที่ส่งไปจริงหรือไม่ ที่สำคัญนี่เป็นเพียง ‘แนวทาง’ ที่วัดอาจจะทำตามหรือไม่ทำตามก็ได้ 

“จริงๆ กฎหมายมีแนวปฏิบัติให้กำหนดเลยว่า ทุกวัดจะต้องทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย และส่งให้กับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดทุก 1 เดือน แต่ด้วยความที่มันเป็นเพียงแค่แนวปฏิบัติมันไม่ใช่เป็นการบังคับใช้ เพราะฉะนั้นการส่งรายงานข้อมูล จากข้อมูลที่ตัวพี่เคยสืบค้นก็พบว่า ในปี 2558 วัดส่งรายงานทางการเงินให้กับสำนักพุทธฯ ไม่ถึง 50% ด้วยซ้ำ จาก 4 หมื่นวัด ส่งไม่ถึง 2 หมื่นวัด

“แต่การไม่ทำตามแนวปฏิบัติก็เป็นหนึ่งเรื่อง ที่มากกว่านั้นคือ พศ.เองก็ไม่ได้ลงมาตรวจสอบว่า ที่ส่งไป 2 หมื่นวัด มีการใช้จ่ายเงินจริงหรือว่ามีเงินที่หายไประหว่างทางหรือเปล่า” ธารทิพย์ระบุ

นักวิจัยอาวุโสทีดีอาร์ไอกล่าวเพิ่มเติมว่า โดยปกติแล้วเจ้าอาวาสมีหน้าที่ในการกำกับดูแลการทำบัญชี แต่ว่าในบางวัดเจ้าอาวาสไม่มีความรู้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำบัญชีเข้ามาทำแทน และที่สำคัญคือบทบาทของ พศ.ต้องลงไปตรวจสอบวัดทั่วประเทศ โดยเลือกเฉพาะวัดที่เข้าเกณฑ์ เช่น ตรวจสอบเฉพาะวัดที่มีรายรับเกิน 1 ล้านบาท ไม่จำเป็นต้องไปตรวจสอบวัดทั้งหมด มากกว่านั้นต้องมีบทลงโทษผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพย์สินวัดทั้งเจ้าอาวาส กรรมการวัด และไวยาวัจกรอย่างชัดเจนกำกับไว้

“ถ้าที่เราเห็นข่าวพระต่างๆ นานาทุกวันนี้คิดว่า เหมือนกฎหมายที่มากำกับการจัดการเงินของวัดไม่ค่อยศักดิ์สิทธิ์เท่าไร แล้วสำนักพุทธเองทุกวันนี้ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ในการกำกับ เขาพูดคำเดียวว่าเขามีหน้าที่ส่งเสริมเท่านั้น กฎหมายไม่ได้เขียนให้เขากำกับหรือควบคุมวัด ต้องไปเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้เขา เพราะเขาก็ยึดถือว่าเขาทำตามกฎหมาย” นักวิจัยอาวุโสทีดีอาร์ไอระบุ

อำนาจของเจ้าอาวาส 

ธารทิพย์ระบุว่า ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 กำหนดให้เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดูแล บริหารจัดการ และปกครองวัดให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ดังนั้นอำนาจทุกอย่างในวัดจึงอยู่ที่เจ้าอาวาสทั้งหมด 

อำนาจที่ว่ายังรวมไปถึงการแต่งตั้งคนที่จะมาดูแลทรัพย์สินของวัดแทนตนเอง เช่น ไวยาวัจกรและกรรมการวัด ทั้งการจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟวัด และการเบิกเงินของวัดมาใช้จ่ายในค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ซึ่งก็มีโอกาสที่เจ้าอาวาสจะแต่งตั้งผู้ที่ตนไว้ใจและไม่ขัดขวางการหาประโยชน์จากเงินของวัด

“ตรงนี้ก็เป็นช่องโหว่ได้เหมือนกัน เพราะเจ้าอาวาสก็มีโอกาสเอาเงินของวัด เช่น เงินบริจาค หรือเงินต่างๆ ไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายได้”

ในทางกลับกัน ไวยาวัจกรหรือกรรมการวัดที่สามารถเบิกเงินของวัดมาใช้จ่ายค่าใช้จ่ายของวัด ซึ่งตรงนี้ก็มีความเสี่ยงที่จะมีการยักยอกเงิน เนื่องจากบางครั้งเจ้าอาวาสมีการเซ็นในเอกสารเบิกเงินเอาไว้ ก่อนที่ไวยาวัจกรหรือกรรมการวัดจะเขียนจำนวนที่ต้องการเบิกจ่าย โดยที่เจ้าอาวาสไม่รู้จำนวน 

“เราเคยไปสัมภาษณ์ก็จะมีบางวัด เจ้าอาวาสก็แค่เซ็นลายเซ็นไว้เฉยๆ เซ็นลายเซ็นให้ ส่วนใหญ่กรรมการวัดก็จะไปกรอกจำนวนเงินเอง เพราะว่าต้องใช้เงินแค่นี้ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาได้มาเอาใบตรงนั้นมาให้เจ้าอาวาสเห็นหรือเปล่า หรือว่ามีการรายงานอะไรให้กับเจ้าอาวาสทราบหรือเปล่า”

การให้อำนาจกับเจ้าอาวาสยังรวมไปถึงการเสนอโครงการต่างๆ เพื่อขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และอาจทำให้เกิดการฮั้วกันกับเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นในคดี ‘เงินทอนวัด’ ที่พระสงฆ์และเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกัน ‘ยักยอก’ งบประมาณที่จัดสรรไปใช้ส่วนตัว กรณีนี้ธารทิพย์ชี้ว่า ถือเป็นการฟอกเงิน

“อย่างคดีเงินทอนวัด ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐไปติดต่อเจ้าอาวาสให้วัดทำโครงการขึ้นมา พอเจ้าหน้าที่ได้เงินมาแล้วก็ไปขอคืนจากเจ้าอาวาส ถือเป็นการเปลี่ยนเส้นทางการเงินซึ่งถือเป็นการฟอกเงินด้วย”

การตรวจสอบที่หละหลวม

ดร.มานะ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ระบุว่า ระบบการตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินของวัดในไทยหละหลวมมาก เมื่อเทียบกับบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งแม้จะมีระเบียบกำกับการทำจัดการทรัพย์สินของวัดเอาไว้ แต่วัดกลับไม่ได้นำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง 

“อย่างการทำบัญชีของวัดที่ต้องเอาไปส่งให้ พศ.เป็นระยะๆ ส่วนใหญ่วัดก็ไม่ได้ทำส่ง แล้วก็ไม่มีใครไปลงโทษหรือไปกำกับดูแลต่อ” 

ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เสริมว่า ชาวบ้านใกล้เคียงกับวัดอาจจะพบเห็นพฤติกรรมที่ส่อเค้าทุจริตของวัด แต่เพราะเป็นพระจึงคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดการยักยอกเงิน 

“คนเกิดความเคยชิน แล้วก็มีบางคนที่เชื่อว่าผู้ทรงศีลคงไม่ทำอะไรที่เป็นการคดโกงศาสนา พอคิดแบบนี้เลยไม่มีใครไปกำกับดูแล แม้แต่หน่วยงานที่มีหน้าที่และมีอำนาจในการจัดการตรงยังเพิกเฉย ทั้งสำนักงาน พศ. กรมศาสนา และมหาเถระสมาคม ส่วนพระชั้นปกครองก็ไม่ได้ตรวจสอบการใช้เงินของวัดอย่างเข้มข้นเหมือนกัน”

ดร.มานะชี้ว่า สิ่งสำคัญคือการให้วัดอยู่ในการดูแลของชุมชนโดยรอบ โดยวัดจะต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของรายรับ ค่าใช้จ่าย และความเคลื่อนไหวทางการเงินของวัดทั้งหมดให้ชุมชนรับทราบเพื่อให้ช่วยกันตรวจสอบ 

ส่วนการจัดการการเงินของวัดทั่วประเทศ ดร.มานะได้เสนอเอาไว้ 6 ข้อ คือ

  1. วัดต้องมีการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการ มีการจัดประชุมกันเป็นระยะ 

  2. มีการกำหนดคุณสมบัติกรรมการวัดและไวยาวัจกร แทนการให้เจ้าอาวาสแต่งตั้งคนที่ไว้ใจ

  3. เจ้าอาวาสและคณะกรรมการของวัดต้องมีความเข้าใจกฎหมายและธรรมาภิบาล เมื่อพบว่ากระทำผิดจะต้องมีบทลงโทษชัดเจน

  4. มีกติกาที่บุคลากรในวัดรับทราบโดยทั่วกัน และมีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด

  5. มีการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายที่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  6. ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการเงินของวัดให้ประชาชนได้เห็น และต้องระบุเส้นทางการเงินว่า จะนำเงินเหล่านั้นไปใช้ในวัตถุประสงค์ใดต่อไป

“หากการกำกับดูแลวัดของไทยยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้น ยังมีการโกงกินทรัพย์สินของวัด วัดก็จะตกต่ำ คนในชุมชนก็จะยิ่งศรัทธาวัดน้อยลงไปอีก คำทำนายที่พระพุทธเจ้าบอกว่า พระพุทธศาสนาจะอยู่ไปถึง 5,000 ปี สำหรับไทยอาจจะไม่ถึงก็ได้” ดร.มานะทิ้งท้าย 

Tags: , , , , ,