1

แหล่งอาหารของชาวกะเหรี่ยงส่วนหนึ่งมาจากแม่น้ำ และเพื่อเก็บข้อมูลเรื่องนี้ ฉันจึงตอบรับคำชวนของ ‘เดือน’ (นามสมมติ) ล่ามชาวปกาเกอะญอที่คอยดูแลฉันตลอด 5 วัน 4 คืน ของการมาเยือนหมู่บ้านบางกลอยล่าง ไปเดินสำรวจแม่น้ำเพชรบุรี ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก

ระหว่างลัดเลาะริมตลิ่ง  เดือนชี้ให้ดูพืชพันธุ์ที่ขึ้นงอกงามเขียวขจี เหนือผิวน้ำใกล้กอสาหร่ายน้ำจืด มีฝูงลูกอ๊อดตัวเบ้อเริ่มว่ายฉวัดเฉวียน ฉันตกใจแทบหงายหลัง เพราะขนาดตัวที่เล็กที่สุดยังใหญ่กว่าข้อนิ้วโป้งเสียอีก ยิ่งเดือนบอกว่าที่บางกลอยบนหรือใจแผ่นดิน ลูกอ๊อดที่นั่นมีขนาดใหญ่เกือบเท่ากำปั้นเด็ก ฉันก็ยิ่งไม่แน่ใจว่าตัวเองจะกินพวกมันลงไหม

“ที่เบ๊าะก่อ (บางกอก) ไม่มีลูกอ๊อดตัวใหญ่ๆ แบบนี้ เดี๋ยวพอฝนมามันก็กระโดดขึ้นดินหมด ไม่เหลือลูกอ๊อดให้กินแล้ว” เดือนพูดพลางใช้ปลายนิ้วเขี่ยให้เห็นขาเล็กๆ ก่อนพาฉันเดินต่อ

ขณะนั้น ฉันมาค้างแรมที่หมู่บ้านบางกลอยล่างได้ 2 วันแล้ว ก่อนหน้านี้แม้การพบเจอกับชาวบ้านหลายครั้งที่หมู่บ้านทะลุฟ้า กรุงเทพฯ บวกกับการรับรู้สถานการณ์และศึกษาเรื่องราวของพวกเขาผ่านข่าวสารต่างๆ ก็พอจะทำให้นึกภาพชีวิตความเป็นอยู่ของ ‘กะเหรี่ยงบางกลอย’ หรือ ‘กะเหรี่ยงแก่งกระจาน’ ได้บ้าง แต่พอได้เดินทางมาดู มาพูดคุย กิน นอน ใช้ชีวิตร่วมกันในหมู่บ้าน ยิ่งทำให้ฉันรู้จักพวกเขามากขึ้น ผ่านน้ำเสียงและแววตายามเล่าถึงชีวิตประจำวัน ผ่านท่วงท่าการเดินป่าอันแสนคล่องแคล่ว ผ่านวิถีความเรียบง่ายในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ 

การได้เห็น ‘ความจริง’ ผ่านรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า ‘พวกเรา’ ต่างหากที่เป็นฝ่ายแปลกแยก ทั้งยังพยายามเอากรอบคิดความเป็นชาติไปครอบลงบนความต้องการของ ‘พวกเขา’ ที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเพียงชนกลุ่มน้อย

ที่ผ่านมา พวกเราเคยเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายกับวาทกรรมเก่าๆ ที่เคลือบแฝงไว้ด้วยอคติทางชาติพันธุ์ว่าพวกเขาไม่ใช่คนไทย สมัยเด็กๆ ฉันยังเคยคิดว่าชาวกะเหรี่ยงทำไร่เลื่อนลอย และเชื่อว่าป่าที่ดีจะต้องไม่มีคนอยู่อาศัย กระทั่งโตมาเห็นข่าวสิ่งแวดล้อมหลายข่าว โดยเฉพาะข่าว ‘หมู่บ้านป่าแหว่ง’ จึงเฝ้าจับตามองด้วยความสนใจต่อท่าทีของภาครัฐกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น

ข่าวที่เปรียบเสมือนน้ำเย็นสาดใส่หน้าเกิดขึ้นเมื่อปีก่อนนี้เอง 

ช่วงนั้นฉันต้องอ่านข่าวสารรอบโลกเพื่อฝึกตอบปัญหาเกี่ยวกับสังคม การเมือง รวมถึงความขัดแย้งต่างๆ ตามปกติของผู้เข้าประกวดนางงาม ฉันเจอข่าวที่รัฐบาลบราซิลจัดระเบียบป่าแอมะซอน ด้วยการขับไล่ชนเผ่าพื้นเมืองออกจากป่า ซึ่งถือเป็นข่าวใหญ่ในฝั่งอเมริกาเลยทีเดียว

ในฐานะนางงามที่รักเพื่อนมนุษย์ ฉันรู้สึกต่อต้านนโยบายของรัฐบาลบราซิล และเห็นใจชนเผ่าลุ่มน้ำแอมะซอนที่เป็นผู้ดูแลผืนป่าอย่างแท้จริง เพราะนางงามมักจะสะเทือนใจกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน แต่ทำไมฉันถึงไม่เคยสนใจปัญหาของกลุ่มชนพื้นเมืองในประเทศที่ตัวเองอยู่เลย ในขณะที่ฉันบอกว่าเราต้องอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่ฉันกลับมองข้ามข่าวชาวบ้านบางกลอยซึ่งถูกเจ้าหน้าที่รัฐขับไล่ออกจากผืนป่าแก่งกระจาน โดยเฉพาะแฮชแท็ก #saveบิลลี่ ไปได้อย่างไร

เมื่อไตร่ตรองดูแล้ว อาจเป็นเพราะฉันมีอคติกับคำว่า ‘กะเหรี่ยง’ แต่ฉันกลับไม่มีอคติกับชาวแอมะซอน และมันยิ่งแย่ไปยิ่งกว่านั้นอีก เมื่อคิดว่าชาวแอมะซอนเป็นกลุ่มคนไกลตัวที่น่าสงสารอย่างไม่มีเหตุผล นี่เราเข้าใจพวกเขาจริงๆ ไหม หรือกำลังเวทนาใครเพื่อให้ตัวเองรู้สึกเป็นคนดีกันแน่ หากเราสามารถเข้าใจชนพื้นเมืองในบราซิลได้ ทำไมเราถึงจะเปิดใจให้กับชนพื้นเมืองในประเทศไทยไม่ได้

บางเรื่องเราอาจจะรู้ แต่เราอาจไม่เข้าใจ เหนืออื่นใดคือเราหลงคิดไปเองว่ามีแค่สิ่งที่เราเข้าใจถึงจะสำคัญกับคนอื่น หากเราคิดอะไรได้ คนอื่นก็ต้องคิดได้เหมือนเรา จึงจะถือว่ามีปัญญาและไม่ต้องถูกเหยียดหยาม โดยที่เรามองข้ามวิธีการรับรู้และคุณค่าที่ผู้อื่นยึดถือไป

เพียงไม่กี่วันที่มาเยือนบางกลอยล่าง ฉันเพิ่งมารู้สึกว่าตัวเองยังเป็นแค่ลูกอ๊อดที่ว่ายอยู่แต่ในน้ำ…

2

สารภาพตามตรงว่า ตอนที่รับบรีฟจากบรรณาธิการ ฉันยังไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรดี คำแนะนำที่ว่า ให้เขียนจากความรู้สึกและมุมมองที่มีแต่เอมเท่านั้นที่เห็น’ นี่มันเป็นยังไงกันแน่ ลำพังแค่เห็นลายมือยึกยือราวตัวหนอนของตัวเอง ฉันก็รู้สึกถึงความตึงเครียดและปวดแปลบขึ้นมาทันที จนอยากจะเอาหน้าจุ่มลงในแม่น้ำเพชร แล้วกรี๊ดออกมาดังๆ 

บันทึกการเดินทางชิ้นนี้คือการเรียบเรียงสิ่งที่ฉันเห็นและบอกเล่าได้ แต่สิ่งที่ฉันเห็นแต่บอกเล่าไม่ได้ ก็ขอละไว้เพื่อความปลอดภัยของบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวฉันเองด้วย

ในสายตาของฉัน ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยคือกลุ่มคนที่ถูกลดคุณค่าความเป็นมนุษย์จากการปรักปรำของคนทั่วไป และการพยายามทำลายภาพลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์โดยน้ำมือของหน่วยงานรัฐ 

ความกดขี่ข่มเหงซ้ำแล้วซ้ำเล่าทับถมจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมของชาวกลอย แม้จะมีความพยายามหาทางออกร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับอุทยานหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็กลับกลายเป็นการหาคนผิดเพื่อประณามสาปแช่งไปเสียอย่างนั้น 

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ฉันเห็นมาตลอดจากการติดตามอ่านเรื่องราวของพวกเขา ตอนอยู่กรุงเทพฯ เมื่อ 2 ปีก่อน

วันนี้ หลังจากฉันได้มาเยือนหมู่บ้านบางกลอย สิ่งที่ฉัน ‘เห็น’ ด้วยตาตัวเองอย่างแท้จริงจากการใช้ชีวิตร่วมกันกับพวกเขา คือเสียงหัวเราะของเด็กๆ คือรอยยิ้มของพ่อแม่พี่น้อง คือสายตาอันเต็มไปด้วยความห่วงใยที่ชาวบ้านมีต่อกัน คือยอดหวายป่าที่พวกเขาไปฟันมาแล้วเผาให้ฉันกิน คือรสชาติของลำน้ำเพชรที่ชาวบ้านใช้ดื่ม คือหมากกะเหรี่ยงที่พะตี่หน่อแอะแบ่งให้ฉันลองชิม ฯลฯ

ยังจำได้ว่าเดือนคะยั้นคะยอให้ฉันรับหมากจากพะตี่หน่อแอะไปเคี้ยว พวกเขาปลูกหมากเพื่อรักษาเมล็ดพันธุ์ให้คงอยู่ได้ปีต่อปี พอได้ยินว่านานทีปีหนจะออกลูกออกผล ฉันก็เกรงใจไม่กล้าที่จะลอง เพราะกลัวว่าถ้ากินแล้วเมาจะไม่กล้าคายทิ้ง

“คนกรุงเทพฯ เวลาใครมาบ้านต้องหยิบน้ำให้กินใช่ไหมคะ แต่กะเหรี่ยงนี่ถ้าเพื่อนฝูงพี่น้องมาบ้าน เราต้องเอาหมากให้เขากิน”

เดือนบอก ในขณะที่ฉันกำลังนั่งเคี้ยวหมากกะเหรี่ยงที่แข็งอย่างกับหิน ภายในบ้านของพะตี่หน่อแอะที่เก่าโทรมกว่าบ้านคนอื่น บันไดเอียง พื้นก็มีรูโหว่ พะตี่หน่อแอะบอกว่าไม่อยากซ่อม เพราะเป็นบ้านของพ่อที่เสียไป—ปู่คออี้ มีมิ เขาไม่อยากต่อเติมให้เป็นแบบอื่น อีกอย่างคือเขาเชื่อว่าบ้านจริงๆ ของเขาอยู่ที่ใจแผ่นดิน และวันหนึ่งจะได้กลับไปที่นั่น

“ที่ตรงนี้เป็นของคนโป่งลึก เรามาอยู่ จะมาต่อเติมตามอำเภอใจเหมือนเป็นบ้านเราก็เกรงใจเขาครับ”

พะตี่หน่อแอะเล่าถึงช่วงที่อพยพจากใจแผ่นดินลงมาอยู่ที่โป่งลึก ซึ่งตอนนี้กลายเป็นหมู่บ้านบางกลอยล่างที่เราอยู่กัน ฉันทึ่งในความสุขุมของพะตี่หน่อแอะมาก หลังเปิดใจให้ฉันแล้ว เขาก็เล่าเรื่องราวเก่าๆ ที่ฉันเคยได้ยินให้ฟังในแบบของเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมัยที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายยังอาศัยอยู่ที่ใจแผ่นดิน เหตุการณ์ที่ถูกเผากระท่อมและยุ้งข้าว ความเศร้าหลังจากเรื่องที่ปู่คออี้และบิลลี่ พอละจี เสียชีวิต รวมไปถึงความรุนแรงที่ภาครัฐกระทำต่อชาวกะเหรี่ยง

“ผมไม่เคยโกรธใครครับ กะเหรี่ยงไม่ค่อยโกรธ ใครจะมาทำอะไรกับเรา เราก็ไม่มีสิทธิ์ไปทำเขา” 

เดือนขยายความเพิ่มเติมว่า ชาวกะเหรี่ยงไม่ชอบมีปัญหากับใคร ยิ่งเป็นคนเฒ่าคนแก่ที่อยู่มาแต่เดิมก็ยิ่งไม่ชอบการทะเลาะเบาะแว้ง 

“อย่างบ้านหลังนี้ผมก็ไม่อยากจะซ่อม ผมเดินไม่ได้แต่ก็ยังทำงานได้ ผมอยากทำงานครับ ไม่ใช่เพราะผมไม่มีกินนะ ผมอยากทำงานเพราะไม่อยากรับเงินของรัฐอย่างเดียว เมื่อผมทำงานได้ ทำไมต้องไปเอาเงินเขาล่ะ”

อย่างน้อยพะตี่หน่อแอะก็คิดแบบนี้ ทั้งที่เขาสูญเสียสมาชิกครอบครัวไปถึงสองคน และต้องกลายเป็นคนพิการหลังจากถูกคุมขังในปี 2554

ฉันไม่กล้าต่อบทสนทนา เพราะกลัวว่าจะทำให้พะตี่หน่อแอะรู้สึกไม่ดี แต่ชายชรายังคงพูดต่อไปอย่างเนิบนาบ แทบจินตนาการไม่ออกเลยว่าหากเรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นกับตัวฉันเอง ฉันจะสามารถพูดออกมาโดยไม่ระเบิดอารมณ์ได้อย่างไร

“ผมไม่เข้าใจว่าพวกเราทำอะไรผิด แต่ผมก็ไม่โกรธครับ”

แต่ฉันโกรธแทนพะตี่หน่อแอะ โกรธมากที่เรื่องระยำตำบอนเหล่านี้เกิดขึ้นกับชาวกะเหรี่ยง 

การเป็นคนที่ถูกกดทับและปรักปรำมันน่าอึดอัด น่าหวาดกลัว และน่าคับแค้นใจมากๆ ฉันแทบจะใช้คำว่า ‘รวดร้าว’ กับสถานะของชาวบางกลอยได้เลย ติดตรงที่ฉันยังเอาตัวเองแทรกเข้าไปในความเจ็บปวดของพวกเขาไม่ได้มากเท่าที่ควร ความรู้สึกทุกอย่างผสมกันเหมือนของเหลวสีดำ เหนียวหนืด และเหม็นอย่างกับน้ำมันเครื่อง ฉันรู้สึกว่าตัวเองจมอยู่ในหลุมบ่อที่มีแต่อารมณ์ลบๆ

ตรงข้ามกับสีหน้ากลืนไม่เข้าคายไม่ออกของฉัน น้ำหมากท่วมปาก น้ำตาก็ท่วมเบ้า แต่ท่าทางของพะตี่หน่อแอะยังคงสงบและใจเย็นมาก เขาพูดภาษาไทยได้ระดับหนึ่งและพยายามพูดกับฉันโดยไม่รับความช่วยเหลือจากล่าม หากไม่จำเป็น วิธีพูดของพะตี่หน่อแอะน่ารักมาก ไม่ว่าประโยคยาวหรือสั้นก็มักจะลงท้ายด้วย ‘ครับ’ อยู่เสมอ ฉันเข้าใจแล้วว่าทำไมทุกคนจึงนับถือพะตี่หน่อแอะ มีมิ เป็นศูนย์รวมใจของหมู่บ้าน

ฉันดีใจที่ได้รับการยอมรับจากพะตี่หน่อแอะ ในฐานะแขกบ้านแขกเรือนที่ได้แบ่งปันยาเส้นจากกระปุกเดียวกัน ระหว่างให้หมากละลายหมดปากก็ชวนเขาคุยเรื่องเก่าๆ ไปเรื่อย ส่วนเดือนนั้นเป็นคนปกาเกอะญอแท้ๆ แต่กลับเมาหมากไปใส่ยาเส้นไปเสียอย่างนั้น

 

3

ย้อนกลับไปวันที่ 25 มีนาคม 2564 ฉันมาถึงอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ราว 6 โมงเย็น จุดหมายหลักก็เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยและวิถีชีวิตของพวกเขา หลังจากถูกไล่ออกจากที่ดินทำกิน 

กระนั้นกลับเกิดเรื่องฉุกละหุกขึ้นเมื่อชาวบ้านจำนวน 7 คน ต้องเข้ามอบตัวกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอแก่งกระจานในวันรุ่งขึ้น (26 มีนาคม 2564) ด้วยข้อหาบุกรุกพื้นที่อุทยาน พวกเราจึงหักรถเข้าสู่บ้านพักที่ชาวบ้านลงมารวมตัวกันในทันที

นั่นเป็นคุกกี้เสี่ยงทายชิ้นแรกที่ได้ก่อนเท้าจะแตะเข้าเขตอุทยานเสียอีก

ในบ้านพักหลังนั้นมีคนอยู่ประมาณ 40 คน รวมกับพวกเราอีก 10 คน ความหวาดระแวงแทรกตัวอยู่เงียบๆ ระหว่างชาวบ้านและผู้มาใหม่ จนฉันรู้สึกกระอักกระอ่วน ไม่รู้จะวางตัวอย่างไร บรรยากาศช่างแตกต่างไปจากความคาดหมาย ทำให้ฉันรู้สึกกังวลขึ้นมาเล็กน้อยว่าการมาครั้งนี้จะราบรื่นหรือไม่ แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ เนื่องจากเหตุการณ์รุนแรงล่าสุดเพิ่งผ่านมาไม่นาน นั่นคือ ‘ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร’ ระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้าจับกุมชาวบ้านบางส่วนที่อพยพกลับขึ้นไปยังพื้นที่บางกลอยบน 

ฉันรู้ว่าหลายคนยังคงเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ดำเนินมาถึง 25 ปี ทั้งยังประกอบด้วยรายละเอียดซับซ้อนอย่างการทับถมกันของอำนาจและกฎหมายต่างแหล่งที่มา ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเลือก ‘เมินเฉย’ กับความรุนแรงอันไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากการจับกุมครั้งนี้

ชาวปกาเกอะญอ 22 คน ถูกใช้กำลังควบคุมตัวและยึดเครื่องมือสื่อสารไป เจ้าหน้าที่ส่งตัวเข้าคุมขังในเรือนจำ ในขณะที่พวกเขาไม่มีโอกาสแม้แต่แก้ต่างเพื่อสู้คดี หนำซ้ำชาวบ้านก็ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้ภาษาไทย ทั้งยังไม่มีทนายความช่วยเหลือ ฉันคิดว่าการใช้ช่องโหว่ด้านการสื่อสารมาเอารัดเอาเปรียบคนอื่นเพื่อให้ได้บังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องที่โหดร้ายมาก

ชาวบ้านถูกกีดกัดจากความเป็นไทยและความเป็นธรรม ทั้งยังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่บังคับโกนศีรษะของพวกเขาและเก็บตัวอย่างพันธุกรรมโดยอ้างว่าทำไปเพื่อตรวจหาโรค หากกระบวนการยุติธรรมดำรงอยู่จริงๆ ชาวบ้านทั้ง 22 คนก็ไม่ควรต้องพบกับเรื่องราวเหล่านี้ ก่อนที่การต่อสู้ในชั้นศาลจะยุติลงด้วยการพิพากษาว่าชาวบ้านเป็นผู้กระทำความผิด

ภาพของคนถูกจับกุมซึ่งเหลือแต่ทรงผมสั้นเกรียนปรากฏตรงหน้าฉัน ปะปนไปกับคนที่ยังพันผ้าโพกศีรษะเพื่อเก็บเส้นผมที่ยาวสลวย ชาวปกาเกอะญอมีความเชื่อเรื่องขวัญที่ผูกพันกับการไว้ผมยาว การถูกโกนผมจึงเหมือนการพรากเอาจิตวิญญาณของพวกเขาในทางรูปธรรม ไม่มีใครยิ้มหรือหัวเราะเลยในเย็นวันนั้น ไม่มีความตื่นเต้นหรือคำพูดอะไรที่ฉันหลงตนคิดไปว่าคงจะได้แลกเปลี่ยนกันได้บ้าง

มันทำให้ฉันตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่า การที่เราหลับตาข้างหนึ่งให้กับอำนาจนอกกฎหมายของภาครัฐจะทำให้ความเป็นจริงบิดเบี้ยวไปบ้างหรือไม่ พวกเราไม่ใช่แค่หลับตาลงอย่างเต็มใจด้วยอคติที่มีต่อชาวกะเหรี่ยง แต่ยังถูกปิดตาจากการใช้สื่อออนไลน์อีกด้วย ในยุคที่ใครๆ ก็มีสื่อในมือ พอเกิดอะไรขึ้นก็ต้องยกภาพถ่ายขึ้นมาฟาดฟันกัน จนหลงลืมไปว่าหลักฐานบางอย่างอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงของเรื่องราว กลับกัน หลายครั้งข้อเท็จจริงคือสิ่งที่ไม่ได้รับการบันทึกและถูกปิดกั้นด้วยปัจจัยหลายอย่าง 

และที่สำคัญคือเราไม่ได้ใช้ความเห็นอกเห็นใจในการประกอบชิ้นส่วนเหล่านั้นเลย

บรรยากาศยิ่งตึงเครียดขึ้นเมื่อพวกเราพูดคุยเรื่องแถลงการณ์ของวันพรุ่งนี้ที่ต้องพาพี่น้องอีก 7 คนไปรายงานตัว ฉันนั่งตรงข้ามกับพะตี่หน่อแอะ หลายคนคงรู้แล้วว่าเขาคือลูกชายของผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ปู่คออี้ มีมิ ผู้ล่วงลับ มือฉันจดยิกๆ ลงบนกระดาษระหว่างมีการโต้ตอบจากทั้งสองภาษา จนกระทั่งพะตี่เอ่ยถามเป็นภาษาปกาเกอะญอว่า

“พวกเราไม่ได้ทำอะไรผิด ทำไมเราต้องไปขึ้นศาลหรือไปเรือนจำด้วย”

พวกคนเมืองเคยคิดว่าตัวเองรู้อะไรมากมายนัก ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทางกฎหมายหรือกลไกการต่อสู้ต่างๆ พวกเราเข้าถึงความยุติธรรมได้มากกว่า พวกเรารู้ว่าศาลปกครองสูงสุดพิพากษายอมรับว่าชาวบ้านอาศัยและตั้งชุมชน ณ ใจแผ่นดินมาก่อนการประกาศพระราชบัญญัติฯ อุทยานแห่งชาติ เรารู้ว่าในพระราชบัญญัติฯ นั้นประกอบด้วยมาตรา 64 ที่ยอมรับให้ผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมสามารถทำกินต่อบนที่ดินเดิมได้ 

แต่คำถามง่ายๆ นี้กลับไม่มีใครตอบได้ อาจเพราะสังคมไม่ได้โอบอุ้มทุกคน ทว่าครอบคลุมเพียงแค่คนที่ยอมก้มหัวให้กับนิยามของมันเท่านั้น ฉันคิดว่ามันคงเป็นการซ้ำเติมพวกเขามากเกินไป หากจะพูดแบบนี้ก่อนที่ชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งต้องไปมอบตัว

สมาชิกกลุ่มสังเกตการณ์คนหนึ่งอธิบายว่า การมอบตัวไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านเป็นคนผิดหรือเป็นผู้แพ้ แต่เป็นการยืนหยัดต่อความไม่เป็นธรรมและไม่หลีกหนีจากการต่อสู้ใดๆ การมอบตัวจะช่วยรักษาสิทธิทางกฎหมายให้กับพวกเขา เมื่อมอบตัวแล้ว หมายจับก็จะหายไป แม้จะมีร่องรอยของความกังขาอยู่ ทุกคนก็ยอมรับเป็นอย่างดี ฉันได้แต่สงสัยว่า ในเมื่อชาวบ้านยอมต่อสู้ภายใต้กรอบกฎหมายไทยแล้ว ทำไมสังคมยังไม่ยอมรับพวกเขาเป็นคนไทยอีก

“ชาวบ้านไปที่อื่นก็ไม่เข้าใจ ชาวบ้านอยู่ที่บางกลอยมาตั้งนานแล้ว พอต้องอพยพก็ไม่คุ้นเคย ต้องถูกบังคับให้ไปอยู่ในที่แปลกถิ่น” 

พะตี่หน่อแอะกล่าวถึงอุปสรรคในการใช้ชีวิตที่เหมือนถูกลากลงมาแล้วทิ้งขว้างอย่างไม่ไยดี

ฉันเพิ่งรู้ว่าชาวบ้านหลายคนอ่านเขียนภาษาปกาเกอะญอไม่ได้ บ้างก็พูดได้แต่เขียนไม่ได้ บ้างพูดภาษาราชการได้ แต่อ่านไม่ออก เนื่องจากโอกาสที่ได้ใช้ภาษาดั้งเดิมนั้นน้อยลงเรื่อยๆ ใครที่พูดภาษาราชการแข็งแรงหน่อยก็ทิ้งบ้านเกิดไปอยู่ในเมืองกันเกือบหมดแล้ว

หญิงวัยกลางคนรายหนึ่งถามเราว่า “คนจากกรุงเทพฯ จะไม่เข้าไปสถานีตำรวจด้วยกันเหรอ”

พวกเขาไม่รู้ว่าตำรวจต่างกับเจ้าหน้าที่อุทยานอย่างไร ผู้สื่อข่าวต่างกับคนที่มาด่าทออย่างไร ประสบการณ์ที่ได้รับจากคนข้างนอกทำให้พวกเขาหวาดกลัวและไม่ไว้วางใจ ฉันเข้าใจว่าชาวกะเหรี่ยงจัดประเภทกลุ่มคนต่างๆ ว่าเป็นคนที่จะทำร้ายเขาหรือไม่ทำร้ายเขา พวกเราจึงพยายามทำให้ชาวบ้านสบายใจและไม่หวาดกลัวที่จะพูดคุยกับผู้สื่อข่าว

เช้าวันรุ่งขึ้น ฉันเปิดประตูออกมาเจอชาวคณะคนหนึ่งกำลังคุยโทรศัพท์หน้าดำคร่ำเครียด เราได้รับข่าวผ่านทนายความตั้งแต่ไก่โห่ว่าให้ชาวบ้านไปมอบตัวและเก็บตัวอย่างพันธุกรรมที่สำนักงานอุทยานแทน เกิดเป็นศึกชิงอำนาจระหว่างฝั่งตำรวจ (ที่ชาวบ้านยอมรับจะอยู่ในความดูแลของทางนั้นมากกว่า) กับฝั่งอุทยาน ภาพกระบวนการหลังการสนธิกำลังเมื่อคราวก่อนคงจะผุดขึ้นมาในหัวเราทุกคนพร้อมกัน จึงรีบออกรถนำอีกครึ่งทีมที่ยังอยู่ในผ้าห่มไปยังบ้านพักของพี่น้องปกาเกอะญอ

มากันโต้งๆ แบบนี้เลยนะ คุกกี้ชิ้นที่สอง 

วันนั้นมีคนราว 50 คน ที่มาให้กำลังใจชาวบ้านที่ต้องเข้ามอบตัว ทั้งฉันและชาวบ้านต่างก็กระวนกระวายระหว่างที่ทนายความกำลังอธิบายว่าพวกเขาสามารถปฏิเสธการส่งตัวอย่างทางพันธุกรรมได้ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน (ซึ่งไม่เคยมีใครรู้มาก่อน) กระทั่งพะตี่หน่อแอะเริ่มพิธีสู่ขวัญ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้านทั้ง 7 คน

ฉันมองพิธีกรรมที่อบอวลไปด้วยความหวังและความใกล้ชิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในวงล้อม ภาวนาให้ ‘ขวัญ’ ที่อยู่ในตัวของพวกเขาพาทุกคนกลับบ้าน

เรื่องน่าตกใจระหว่างรอการให้ปากคำคือ อยู่ๆ รถคุมขังนักโทษและเจ้าหน้าที่อุทยานหลายคนก็พากันเข้ามาโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมหมายบันทึกความผิดจากฝั่งของอุทยานมากมาย ฉันตกใจจนทำอะไรไม่ถูก กลัวว่าชาวบ้านจะถูกนำตัวไปที่ไหน แล้วฉันจะช่วยอะไรได้หรือไม่ คนนอกที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกภาคี #saveบางกลอย อย่างฉันก็ทำได้แค่ยืนชะเง้อด้วยความเป็นห่วงอยู่หน้าประตูห้องสืบสวน ความอยากรู้อยากเห็นมันคงไม่ทำให้เราถึงตาย เหนืออื่นใดนั้น ความปลอดภัยของชาวบ้านสำคัญกว่า

ฉันเดา (และมารู้ทีหลัง) ว่า มีการชี้แจงหลักฐานเพิ่มเติมของทั้ง 2 ฝ่าย แถมยังมีการจอยกรุ๊ปจากสำนักข่าวชื่อดังที่ปล่อยหลักฐานสอดคล้องกับผู้มาใหม่ในห้องสอบสวนแบบทันทีทันใด โชคดีที่เราเองก็มีคนสนใจทำข่าว ‘แสตนด์บาย’ รออยู่เช่นกัน จึงขออนุญาตสื่อมวลชนที่กำลังนั่งรอ มาจัดไลฟ์แจกแจงนอกห้องสอบสวนไปอีกหนึ่งรอบ

วันนั้นฉันเหนื่อยล้ากับการเสี่ยงทายมากจนกินข้าวไปถึง 4 มื้อ ทั้งที่ยังไม่ถึงเวลาเย็นเลยด้วยซ้ำ

โชคดีที่การมอบตัวจบลงอย่างสงบเรียบร้อยด้วยความพยายามของทุกฝ่าย ฉันถูกขอให้รับบท ‘สปีกเกอร์’ อีกครั้ง และไปยืนอ่านปาฐกถาหน้าอนุสาวรีย์ตำรวจด้วยความรู้สึกอัดอั้น นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในการออกมาเรียกร้องที่ฉันต้องพบเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน แต่เป็นครั้งแรกที่ฉันตระหนักอย่างแท้จริงว่า หากเกิดอะไรขึ้นในวันนี้ ก็อาจไม่มีใครรับรู้หรือเชื่อคำพูดของคนกลุ่มเล็กๆ มากเท่ากับปรากฏการณ์ใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ

เรื่องนี้มันใหญ่กว่าที่เราจะทำได้หรือเปล่า ฉันค่อนข้างเสียขวัญพอสมควร กระนั้นก็บอกตัวเองให้ฮึบไว้ แล้วขึ้นไปที่หมู่บ้านแบบเป็นไงเป็นกัน สถานะสมาชิกภาคีฯ ที่เพิ่งจะได้มาหมาดๆ ก่อนอ่านแถลงการณ์ของเย็นวันนั้น ทำให้ฉันมีความมุทะลุอยู่พอสมควร

 

4

พวกเราเดินทางเข้าสู่เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในตอนหัวค่ำ ขับรถปุเลงๆ ไปได้พักใหญ่ ก็แวะจอดให้ผู้โดยสารได้ยืดเส้นยืดสาย ฉันเห็นกอล์ฟ เพื่อนคนแรกในภาคีฯ ยืนดื่มน้ำอัดลมอยู่ข้างฝูงรถเครื่อง ชาวคณะปกาเกอะญอมีกัน 50 คน ขึ้นรถกระบะไป 4 คันแล้ว คันของฉันเป็นคันสุดท้าย ฉันสลับไปนั่งรถเครื่อง เพื่อให้พี่ป้าน้าอาได้นั่งในรถยนต์บ้าง ส่วนสมาชิกอีกคน ‘เจ้าแสบ’ (นามสมมติ) ยังคงยืนตากแดดอยู่หลังกระบะต่อไป

ฉันไม่ใช่คนที่มีปัญหาด้านการสัญจร แต่ก็ไม่เคยนั่งมอเตอร์ไซค์ขึ้นเขามาก่อน ละเลงล้อบนทางลูกรังที่มีทั้งหิน ห้วย หลุม บ่อ ทางลาดชันทั้งขึ้นทั้งลงและอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย นี่มันทางของมอเตอร์ไซค์วิบากชัดๆ วิบากยิ่งกว่าถนนที่โฆษณารถกระบะในโรงภาพยนตร์ชอบไปถ่ายทำเป็นร้อยเท่า กอล์ฟบอกว่าเราจะทำตัวเป็นพายุฝุ่นไปแบบนี้อีกสัก 30 กิโลเมตรโดยประมาณ

ขณะที่เจ้าแสบบอกว่า เมื่อรถกระบะขึ้นทางชันก็ต้องให้คนลงไปเดินครึ่งหนึ่ง แล้วค่อยรับขึ้นมาอีกครั้ง ใครที่พอเดินได้ก็เดินไกลหน่อย ให้ญาติๆ ที่สังขารไม่อำนวยนั่งบนรถต่อไป จากประสบการณ์นั่งกระบะขาลงของฉัน พบว่าหญิงสาวที่แข็งแรงดี แม้จะมีภาวะเส้นเอ็นบาดเจ็บหลายจุด ก็ยังเจ็บตัวไม่เบา ทุกครั้งที่ชาวบ้านต้องลงมาที่อนามัยคงจะเจ็บกว่านี้หลายเท่า ใครไม่มีรถหรือไม่มีเงินก็ต้องเดินเท้าเอาตลอดหนทางไปเกือบ 50 กิโลเมตร

หญิงท้องแก่คนหนึ่งเคยต้องคลอดกลางทางเพราะความทุรกันดาร แม้ว่าเธอจะรอดชีวิตมาได้จากการคลอดกะทันหัน แต่กลับต้องเสียลูกไปทันที ความจริงแล้วชาวปกาเกอะญอมีภูมิปัญญาเรื่องการทำคลอดและแพทย์สมุนไพรอยู่ ผู้ชายทุกคนต้องทำคลอดให้ภรรยาตัวเอง หากตึงมือจริงๆ ถึงจะเรียกหมอตำแยมากลับมดลูก แต่ในปัจจุบัน ทั้งพืชพรรณและภูมิปัญญาเหล่านี้ได้หายไปหมดแล้ว คนรุ่นหลังก็ต้องเข้าไปทำงานในตัวเมือง จึงเกิดเป็นภาวะขาดแคลนทางความรู้ เวลา การเงิน การเดินทาง และทรัพยากรการแพทย์ จุดที่ชาวบ้านถูกจัดสรรให้อยู่นั้นขัดสนยิ่งกว่าใจกลางป่าลึกเสียอีก

เจ้าของรถเครื่องที่ฉันซ้อนมาชื่อ ‘เจ’ (นามสมมติ ซึ่งคุณจะต้องเจอนามสมมติอีกมากมาย แต่นี่ก็เพื่อความปลอดภัยของทุกคน) เจเล่าอะไรไปเรื่อยเปื่อย เขาดูตื่นเต้นมากที่ได้ขับพา ‘พี่ดารา’ ไปส่งที่หมู่บ้าน เพราะไม่มีใครกล้าขับปาดให้ฉันเสี่ยงกลิ้งตกเขาเล่นๆ ฉันไม่ใช่ดาราหรอก ทุกคนรู้ดี มันเป็นสถานะที่อธิบายค่อนข้างยาก แต่เห็นแก่ความสนุกของเจ ก็เลยปล่อยให้เขาตื่นเต้นต่อไป

“เรียกเราว่าพี่ แล้วเจอายุเท่าไหร่”

“17 ครับ” ฉันรู้สึกว่าเด็กกะเหรี่ยงช่างโตไวจริงๆ “แต่ผมแก่กว่านั้นนะ” เขาตอบ

เจเล่าว่าพ่อแม่ของเขาอพยพลงมาเป็นกลุ่มหลังๆ เขาไม่รู้ปีเกิดตัวเองที่แน่นอน และกว่าจะได้ถ่ายบัตรประชาชนก็อายุราวๆ 13-14 เข้าไปแล้ว ด้วยเหตุผลบางประการของปลัดอำเภอในตอนนั้น ซึ่งฉันไม่แน่ใจว่ามันคงอยู่จริงๆ ในสารบบกฎหมายไทย ว่าเขาถูกลดอายุเหลือเพียง 7 ขวบ เพื่อทำการเข้าทะเบียนราษฎร

“สรุปว่าเจอายุ 25 เหรอ”

“ครับพี่ ประมาณนั้นแหละครับ” เขาตอบอย่างร่าเริง

หลังจากนั้น เวลาใครมาเรียกฉันว่าพี่ ฉันต้องถามเขาว่าอายุเท่าไร อายุจริงหรืออายุเจ? มีคนอีกกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย และมีปัญหาเรื่องการระบุอายุ ฉันต้องนั่งฟังเป็นชั่วโมง เพื่อหาข้อตกลงในตัวเลขอายุของคน 4 คน พวกเขาเถียงกันเอาเป็นเอาตาย เพราะอยากจะเป็นเด็กกว่าอายุจริง และยังคงยืนยันจะเรียกฉันว่าพี่ ถ้าใครรู้ว่าอาจจะแก่วัยกว่าฉันก็จะทำหน้ายี้ขึ้นมาทันที ทำไมรึ อายุ 27 แล้วมันเป็นยังไงกัน เดี๋ยวก็ต้องแก่อยู่ดีนั่นแหละน่า แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันสัมผัสได้ คือความเป็นเด็กและไม่ยึดติดกับวันเวลาของชาวกะเหรี่ยง พวกเขามีความสดใสอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือคนสูงวัย

เรื่องสัญชาติเป็นหัวข้อหนึ่งที่หัวหน้าอุทยานในปี 2539 สามารถ ม่วงไหมทอง กล่าวว่ารัฐจะดูแลพี่น้องที่อพยพลงมาเพื่อให้เข้าถึงสิทธิของพลเมืองไทย แต่ดูจาก ‘หลักฐานที่มีชีวิต’ ตรงหน้าฉันแล้ว ปัญหาเรื่องสัญชาติและสำมะโนครัวยังคงอยู่ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

เดือนเป็นคนหนึ่งที่อายุ 17 ปี (จริงๆ) ได้รับสัญชาติไทยตั้งแต่เกิด มีบัตรประชาชนตามอายุ และเข้าถึงการศึกษาในกรุงเทพฯ แม้เธอจะไม่รู้ว่าตัวเองจะกลับไปเรียนต่อหรือไม่ก็ตาม เธอปรากฏตัวที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ในวันที่กอล์ฟและภาคี Save บางกลอย ออกไปแสดงละครจำลองการจับกุมของยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร เด็กสาวสวมผ้าโพกหัวกะเหรี่ยงยืนน้ำตาซึมอยู่คนเดียว พ่อกับแม่ของเธอเป็นหนึ่งในกลุ่ม 22 คนแรกที่ถูกจับ เดือนออกจากการเรียนกลางคันเพื่อกลับมาช่วยเหลือพ่อแม่และคนในหมู่บ้าน เธอพูดภาษาไทยแข็งที่สุด และรับหน้าที่เป็นคนประสานงานให้คนนอกหมู่บ้านอีกด้วย

ในแต่วันที่ฉันอยู่ที่บางกลอย เดือนจะพาฉันเดินตะลอนไปทั่ว ฉันเรียนรู้วิถีชีวิตต่างๆ จากคำแปลของเธอ ตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน การนอน ปศุสัตว์ พันธุ์ไม้ แม่น้ำลำธาร จนถึงความเชื่อของชาวปกาเกอะญอ เธอมีลักษณะของคนเมืองสูงมาก เมื่อเทียบกับเพื่อนๆ คนอื่น เวลาที่ฉันอยู่กับเดือนจะรู้สึกสบายใจเสมอ ไม่ใช่แค่เพราะเธอน่ารัก แต่เป็นความเข้าใจต่อกันที่เดือนไม่มีกำแพงกับฉัน (แม้ว่าคนอื่นจะบอกว่าฉันเข้ากับคนง่ายและชาวบ้านก็รัก) เธอมีวิธีอธิบายให้ฉันเข้าใจถึงเรื่องราวต่างๆ อย่างง่ายดาย และคงวิถีดั้งเดิมไว้ร้อยเปอร์เซ็นต์

ครั้งแรกที่ฉันไปเยี่ยมริมฝั่งต้นน้ำเพชร ก็มีเดือนนี่แหละ ที่คอยชี้ให้ดูแหล่งอาหารต่างๆ วันนั้นมีคนเก็บสาหร่ายน้ำจืดกลับไปกินด้วย ส่วนฉันขอไว้ชีวิตเจ้าลูกอ๊อดยักษ์ในน้ำไปก่อน ฉันสังเกตว่าเธอดูจะอยู่ได้ทุกที่ เป็นธรรมชาติกับทุกคน เมื่อถามก็ได้คำตอบว่าเธอต้องปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตและความคิดแบบคนในเมือง แต่คนที่นั่นกลับไม่มีใครเปิดใจและปรับตัวเข้าหาเธอในฐานะกลุ่มชาติพันธุ์มากนัก

คำถามที่เดือนเจอบ่อยที่สุดก็คือ เป็นกะเหรี่ยงไม่มีห่วงที่คอเหรอ?

คำถามนี้แสดงให้เห็นถึงช่องว่างหลายอย่างระหว่างคนกรุงฯ กับชนพื้นเมือง หากว่ามีคนที่ทิ้งอัตลักษณ์บางส่วนเพื่อเรียนรู้ความพิเศษของแต่ละท้องที่บ้างก็คงจะดี คนทุกจังหวัดจะต้องเรียนรู้ความเป็นเมือง คนเมืองก็ลากเอาความเจริญขึ้นไปโดยไม่สนถึงความต้องการของชาวบ้าน เราหลงคิดกันไปเองว่าการนำความเจริญคือการสร้างเมืองในทุกๆ ที่ เหมือนเล่นเกมที่อยู่ๆ อยากจะวางตึกตรงไหนก็ทำ แท้จริงแล้ว ความเจริญอาจจะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามความจำเป็นและความต้องการของคนในพื้นที่นั้นๆ ก็ได้ ความเจริญอาจจะมีรูปแบบที่ต้องส่งเสริมลักษณะภูมิประเทศให้ยั่งยืนและรักษาอัตลักษณ์เดิมของกลุ่มคนต่างๆ ไว้ได้ 

ส่วนตัวฉันคิดว่า ความเจริญไม่ใช่การบังคับให้ผู้คนลงมาแออัดกันในเมือง แต่เป็นการทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้ดีและมีคุณภาพตามวิสัยในพื้นที่ทำกินเดิม

ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดินจะเป็นสังคมเดิมได้ ก็ต่อเมื่อพวกเขาอาศัยอยู่ที่นั่น ไม่ใช่ต่อเมื่อพวกเขาได้พบกับเจริญในที่อื่น

‘เป๋อ มู เป๋อ ปา อะ ทิ อ่า ก้อ อ่า หิ อ่า ค้อ อ่าตะ อุ ล่อ ซู้ ลอ’ หรือ ‘บ้านเกิดเมืองนอนของพ่อแม่’

ฉันใช้เวลาหลายวันในการขบคิดสิ่งเหล่านี้ ขณะที่หวนกลับมากรุงเทพฯ ณ เขตพระนคร อันเป็นที่ที่ความเก่าแก่และยุคสมัยใหม่แทรกตัวอยู่ด้วยกันอย่างแนบเนียน เรารักษาวัฒนธรรมที่ใจกลางแผ่นดินสยามได้งดงามขนาดนี้ แล้วที่ใจแผ่นดินเล่า ทำไมเราต้องทอดทิ้งพวกเขาด้วย ที่เบ๊าะก่อ (บางกอก) นี้ แต่เดิมไม่ใช่ป่าเขาลำเนาไพรเหมือนกันหรอกหรือ เรามีผู้อยู่อาศัยทั้งพม่า จีน มอญ ญวน เขมร ฯลฯ กว่าจะประกอบขึ้นมาเป็น ‘ไทย’

ฉันยังจำได้ติดตาในวันที่เจ้าหน้าที่อุทยานพยายามจะเก็บตัวอย่างพันธุกรรมของชาวบางกลอย เพื่อพิสูจน์ว่าเป็น ‘เลือดไทย’ จริงหรือไม่ ฉันหดหู่และสิ้นหวังกับทัศนคตินี้มาก หากคุณเอาเข็มมาเจาะเลือดใครสักคนในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ตัวฉันเองก็คงมีแต่พันธุกรรมต่างชาติเต็มไปหมด แต่เหตุผลที่พวกเราอยู่ได้โดยไม่ถูกเผาบ้านทำลายเมือง เป็นเพราะเราโชคดีที่เกิดมาในที่ที่มีอารยธรรมเป็นที่ยอมรับอยู่ก่อนแล้วเท่านั้นเอง

ฉันไม่รู้ว่าความเป็นไทยของเพื่อนข้างบ้านกับเพื่อนที่บางกลอยนั้นต่างกันอย่างไร แต่ฉันคิดว่าความเป็นคนของพวกเรานั้นไม่มีทางที่จะแตกต่างกันแน่นอน

5

ไม่กี่วันก่อน เดือนโทรมาหาฉันอีกครั้ง เธอถามถึงกำหนดการณ์ว่าเมื่อไรฉันจะเข้าไปที่บางกลอยอีก เธอบอกว่าฝนเริ่มตกเยอะแล้ว อีกประเดี๋ยวลูกอ๊อดก็จะกระโดดขึ้นบนดิน มีแขนมีขากันหมดแล้ว 

เธอยังพูดขำๆ ว่า คราวก่อนฉันก็เหมือนลูกอ๊อดที่ยังอยู่ในน้ำ เป็นลูกอ๊อดจากเบ๊าะก่อ หากกลับไปอีก คราวนี้ฉันก็คงจะกระโดดขึ้นดินเหมือนกัน 

เดือนหัวเราะร่วนก่อนบอกว่า หากพบกัน เธอจะพาฉันกระโดดเข้าป่า ไปยังจุดที่ไม่เคยมีคนนอกไปถึง…

Tags: , , , ,