วันนี้ (11 มีนาคม 2564) 17.45 น. บริเวณ สะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล เฌอเอม ชญาธนุส ศรทัตต์ อดีตผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ร่วมปราศรัยในเวทีเสวนา ‘เมื่อประชาชนอยากแก้รัฐธรรมนูญ’ กับประเด็นความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลอย

เฌอเอมเริ่มต้นด้วยการสร้างความเข้าใจว่า ‘บางกลอย’ คืออะไร เพื่อขยายความเข้าใจถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งรกรากอยู่ในอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มานานนับ 100 ปี แต่รัฐบาลกลับสั่งให้ชาวบางกลอยอพยพออกจากภูมิลำเนาเดิมที่เรียกว่า ‘ใจแผ่นดิน’ โดยให้เหตุผลว่าชาวบางกลอยไม่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขาดสุขอนามัย เพราะพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ไกลจากตัวเมือง แต่เมื่อชาวบางกลอย ย้ายกลับลงมา รัฐกลับไม่ได้มอบสวัสดิการใดๆ ให้เลย

กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร/ Thai News Pix

“รัฐไม่ควรเอาเรื่องเหล่านี้มาอ้างว่าพวกเขาต้องออกจากพื้นที่ ออกจากบ้านเกิด ภาครัฐเป็นส่วนงานที่รับรู้ปัญหาของประชาชนได้ดีที่สุด และควรเป็นคนนำความเจริญเหล่านี้ไปมอบให้ประชาชนให้สอดคล้องกับธรรมชาติและวัฒนธรรมของเขา ไม่ได้มีหน้าที่ย้ายประชาชนลงมา”

นอกจากนี้เฌอเอมยังกล่าวอีกว่า รัฐบาล ควรต้องทำหน้าที่สื่อสารให้ดีขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากกว่านี้ เพราะภาพลักษณ์ของกล่มชาติพันธุ์ในสายตาของรัฐ ถูกมองว่ากลายเป็นคนเผาป่า ค่าสัตว์ ค้ายาเสพติด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริงมาโดยตลอด

ขณะเดียวกัน หลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจสร้างความเข้าใจที่ผิดกับความต่างของชาวบางกลอย ควบคู่กับการสร้างความหมายของคำว่า ‘รัฐไทย’ ด้วยการประโคมข่าวโฆษณา สร้างความเป็นชาติ นำเสนอแต่วัฒนธรรมหลักของคนภาคกลางมากกว่าภูมิภาคอื่น ส่วนเรื่องราวและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กลับถูกผลักออกไปยังชายขอบ ส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่บิดเบือนไปจากความจริง

เฌอเอมขอให้ทุกคนเคารพความต่างทางสังคมและวัฒนธรรม เคารพความต่างในการนับถือศาสนาและการให้สิทธิเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นอกจากนี้ การที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยอยากกลับอยู่ใจแผ่นดิน นอกจากปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องปากท้องแล้ว ปัญหาเรื่องศาสนาก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากกับชาวกะเหรี่ยง เช่น การที่ชาวบ้านอยากกลับใจแผ่นดินเพื่อทำพิธีส่งวิญญาณ ปู่โคอิ มีมี หรือปูคออี้ ที่เสียชีวิตไป ขณะที่อายุ 105 ปี ทั้งที่รัฐธรรมนูญไทยกำหนดไว้ว่า ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยในสังคม ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 31 หมวด 3 ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ

นอกจากนี้ เธอยังกล่าวถึง บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักเคลื่อนไหวชาวบางกลอย ที่ถูกอุ้มหาย เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 และถูกพบเป็นศพใต้สะพานแขวนภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่ทุกวันนี้กลับไม่ได้รับความกระจ่างว่า “คุณบิลลี่ หายตัวไปได้อย่างไร” นับตั้งแต่วันที่บิลลี่หายตัวไป ก็เป็น 2 ปีแล้วที่ชาวบ้านต้องต่อสู้ หลายคนอาจถูกทำร้ายหรืออุ้มหายได้ พร้อมตั้งคำถามว่า ‘หากเราได้มรดกโลกจากเหตุการณ์เหล่านี้ คุณภูมิใจหรือเปล่าและมรดกโลกนี้เป็นของใครกันแน่

กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร/ Thai News Pix

ทั้งนี้ เฌอเอม เสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ให้กับรัฐบาล ได้แก่ 1. ยุติการดำเนินคดีกับชาวบางกลอย 2. คืนความเป็นธรรม คืนแผ่นดินให้กับชาวบางกลอย เยียวยาความสูญเสียที่ชาวบางกลายได้รับมาตลอดหลายสิบปี รวมถึงรัฐบาลต้องให้ความชอบธรรม ลบล้างและแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของชาวบางกลอย และ 3. เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง แต่มติคณะรัฐมนตรี ก็ยังมีศักดิ์ต่ำกว่า พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่าจำเป็นต้องทำตามกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่ามติคณะรัฐมนตรี จึงต้องการผลักดันให้มติคณะรัฐมนตรี กลายเป็นพระราชบัญญัติเพื่อคุ้มครองชาวชาติพันธุ์ ที่คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน อย่างเท่าเทียมกัน

เฌอเอมสรุปว่า เธอไม่ใช่นักวิชาการหรือนักประวัติศาสตร์ แต่สามารถดึงความสนใจของสื่อมวลชนได้ ด้วยความที่เธอสนใจประเด็นชาวบางกลอยมานานแล้ว เมื่อมีโอกาสได้พูด จึงพูดในสิ่งที่ตัวเองคิด การปราศรัยครั้งนี้ไม่ใช่การต่อต้านรัฐ แต่เป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่กีดกันใครออกไป เพียงเพราะพวกเขามีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษา หรือการนับถือศาสนา และการที่สังคมให้ความสนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น จะช่วยกดดันให้ผู้มีอำนาจยอมแก้ปัญหาเหล่านั้น

“บ้านที่เราอยู่ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ชาติควรประกอบด้วยความหลากหลายและความเข้าใจ อยากให้รัฐคิดใหม่อีกครั้ง ว่าใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ทุกตารางนิ้วในประเทศไทย”

ก่อนหน้านี้ เฌอเอม เคยโพสต์ข้อความเกี่ยวกับประเด็นการเมืองบ่อยครั้ง โดยเฉพาะข้อความในทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 “สวัสดีค่ะ ดิฉัน เฌอเอม ชญานุส ศรทัตต์ นางงามคนแรกที่โดนแก๊สน้ำตา” วันเดียวกับการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรที่เดินเท้าจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปศาลหลักเมือง ก่อนเกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้แก๊สน้ำตา และเฌอเอมอ้างว่าตัวเองก็โดนแก๊สน้ำตาเช่นกัน

กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร/ Thai News Pix

ทั้งนี้ ระหว่างที่เฌอเอมกำลังปราศรัย เป็นช่วงเวลาเคารพธงชาติ 18.00 น. พอดี โดยระหว่างที่เสียงเพลงชาติดังออกมาจากบริเวณทำเนียบรัฐบาล เฌอเอมได้ลุกลงนั่ง พร้อมกับนอนลงไปกับพื้น เรียกเสียงฮือฮาให้กับผู้ที่นั่งฟัง โดยในระหว่างที่เพลงชาติดัง ชาวบางกลอย และประชาชนที่นั่งฟังอยู่ได้ชูสามนิ้วพร้อมกันไปด้วย