“ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมรัฐบาลถึงปล่อยให้เขาขายและเปิดร้านได้มากมายขนาดนี้” เถ้าแก่วัย 75 ปี แห่งร้านห้วยขวางสโตร์เอ่ยขึ้นมา

นั่นสิ… เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงสามารถเปิดร้านสะดวกซื้อที่ครบวงจรได้มากมายขนาดนี้ แน่แท้ว่าในชีวิตประจำวันของเราคงเจอะเจอป้ายรถเมล์ จุดดื่มน้ำสาธารณะ ทางม้าลาย หรือพื้นที่สาธารณะ ได้น้อยกว่าร้านสะดวกซื้อครบวงจรแน่ๆ

จนร้านสะดวกซื้ออย่าง ‘เซเว่นอีเลฟเว่น’ ถูกนำมาใช้เปรียบเปรยของที่มีจำนวนมากๆ เช่น ซอยแถวบ้านฉันมีโลตัสเยอะกว่าเซเว่นอีเลฟเว่นเสียอีก หรือจำนวนร้านกาแฟในปัจจุบันมีเท่าๆ กับเซเว่นอีเลฟเว่นเลย

ในปี 2563 เซเว่นอีเลฟเว่นได้ขยายสาขาทั่วประเทศไปมากกว่า 12,432 สาขา ส่วนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีมากถึง 5,431 สาขา ในขณะที่ร้านโชห่วย – ร้านของชำ กลับทยอยปิดตัวลงอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง หากเปรียบเทียบร้านสะดวกซื้อ หรือแฟมิลี่มาร์ตเป็นดอกเห็ดที่นับวันยิ่งผุดพรายแล้ว ร้านโชห่วยของชำคงเป็นพืชสักชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์และต้องผ่านการวิวัฒนาการเพื่อเอาตัวรอดอย่างยากเข็ญ

ในวาระที่ใกล้ถึงวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) The Momentum ชวนมองภาพสะท้อนร้านรวงในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อุปสรรคไปจนถึงเคล็ดลับการคงอยู่ของร้านรวงเหล่านี้ ที่มีตั้งแต่ร้านโชห่วยขายทุกอย่าง, ร้านชำเฉพาะกิจเพราะร้านคาราโอเกะถูกปิดจากคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19  (ศบค.) และร้านโชห่วยสุดคราฟต์ ที่ขายเบียร์อร่อยจากทั่วโลกที่เปิดเปรยกับเราว่า กฎหมายสุรา พ.ร.บ. ปี 2560 ไม่เคยเอื้อกับผู้ค้ารายย่อยแม้แต่นิดเดียว นอกจากนี้ประเทศไทยยังเก็บภาษีเหล้าเบียร์มหาโหดที่นับเป็นรายได้หลักอันดับที่ 2 ของรัฐบาลอีกด้วย

‘ห้วยขวางสโตร์’ ร้านชำที่ขายตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ

นี่มันร้านคุณยายขายทุกอย่าง

มีทั้งไอ้ไข่ ของไหว้เจ้า ชุดเจิมพระ มะม่วงดอง สายไหม ยาเส้น ไปจนถึงอาหารสัตว์ และของใช้ในครัวเรือน แต่นี่ไม่ใช่ร้านคุณยายขายทุกอย่างหรอก แต่เป็นร้านเถ้าแก่ที่ขายตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบต่างหาก กับร้านที่มีชื่อว่า ‘ห้วยขวางสโตร์’

“เรียกพวกผมว่าห้วยขวางสโตร์แล้วกัน ไม่ต้องบอกชื่ออะไรหรอก” เถ้าแก่วัย 75 ปี ที่มองอย่างไรก็ดูไม่เหมือนคนอายุ 75 ปีสักนิด บอกกับเราว่า ร้านโชห่วยแห่งนี้เปิดกิจการมามากกว่า 40 ปีแล้ว ส่วนเคล็ดลับที่ทำให้ร้านยังอยู่ได้นั้น เพราะทำธุรกิจซื้อขายมานานและรับซื้อสินค้าจากบริษัทโดยตรงไม่ได้ผ่านตัวกลาง จึงทำให้สามารถคงราคาสินค้าในระดับที่ต่ำได้ และมีสินค้าที่หลากหลายเรียกได้ว่ามาครบจบในร้านเดียว

“ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมรัฐบาลถึงปล่อยให้เขาขายและเปิดร้านได้มากมายขนาดนี้” เถ้าแก่ตอบคำถาม เมื่อเราถามว่า จำนวนแฟมิลี่มาร์ต ร้านค้าสะดวกซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อยอดขายหรือไม่? เขาเล่าต่อว่าหากไปสังเกตดูร้านโชห่วยในปัจจุบัน ต่างทยอยปิดตัวลงกันทั้งนั้นเพราะสู้ไม่ไหว

หนึ่งในครอบครัวห้วยขวางสโตร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ก่อนที่แฟมิลี่มาร์ตจะเปิดแทบทุกตรอกซอกซอยแบบนี้ ยอดขายของทางร้านดีกว่านี้มาก เพราะทางแฟมิลี่มาร์ต ร้านสะดวกซื้อมีโปรโมชัน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขาย 2 ซอง 20 บาท ก็จะถูกกว่าทางร้าน หากซื้อเป็นแพ๊ก ร้านห้วยขวางสโตร์ถูกกว่าแน่นอน แต่ถ้ามีโปรโมชัน กลายเป็นว่าลูกค้าไม่ต้องซื้อจำนวนเยอะ แต่ก็ได้ราคาเท่ากับซื้อราคาแพ๊กของทางร้าน

การที่ห้วยขวางสโตร์ยังสามารถอยู่ได้จนทุกวันนี้นั้นเพราะมีจุดเด่นที่ราคาถูก มีสินค้าขายส่งหลากหลาย ตั้งแต่ของใช้ในครัวเรือนและของตามเทศกาลเช่น เทศกาลเช็งเม้ง ตรุษจีน ไหว้พระจันทร์ สงกรานต์ เข้าพรรษา เรียกได้ว่าจะเรียกหาอะไรที่นี่ก็มีทั้งนั้น

“ช่วง 2-3 ปีนี้ก็เงียบๆ ตามเศรษฐกิจยอดขายตกต่ำตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19” หนึ่งในครอบครัวห้วยขวางสโตร์กล่าวอีกว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ทางรัฐบาลออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ช่วยยอดขายทางร้านได้ไม่เท่าไร เพราะบัตรมีจำนวนเงินช่วยเหลือค่าอุปโภคบริโภคเพียง 200-300 บาท และประชาชนต้องเจียดเงินตรงนี้ไว้ซื้อกับข้าวอีกด้วย หากเศรษฐกิจในประเทศดี ยอดขายร้านโชห่วยก็จะดีตาม

เธออธิบายต่อด้วยว่า สิ่งที่กังวลและเป็นห่วงตอนนี้ คือปัจจัยและเงินของประชาชนจะมีหรือเปล่าในการซื้อของ ลูกค้าประจำบางคนเดินทางกลับต่างจังหวัดและไม่เดินทางกลับมากรุงเทพฯ อีกเลย หรือลูกค้าประจำที่รับสินค้าจากทางร้านเพื่อไปขายต่อ และร้านชำในละแวกแถวนี้ก็ต้องเลิกกิจการไป เพราะบางคนไปไม่ไหว ไม่มีเงินเหลือมาจุนเจือชีวิตและครอบครัว

เราเดินทางออกจากร้านด้วยความคิดที่หลากหลาย ทั้งการหวนรำลึกถึงอดีตจากขนมและของเล่นวัยเด็กที่ค่อนข้างจะหาซื้อยากตามร้านค้าสะดวกซื้อทั่วไป และอีกความคิดหนึ่งที่สลัดอย่างไรก็ไม่หลุด คือเราอยากเห็นภาพความหลากหลายของการแข่งขัน เพราะร้านโชห่วย ร้านชำมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปแต่ละที่ และเราอยากให้ร้านโชห่วยร้านชำกลายเป็นสิ่งเปรียบเปรยของที่มีจำนวนมากๆ บ้าง เช่น ทุกวันนี้ร้านโชห่วยร้านชำมีจำนวนมากกว่าแฟมิลี่มาร์ตและร้านสะดวกซื้อครบวงจรเสียอีก

ร้านชำเฉพาะกิจ เพราะร้านคาราโอเกะถูกสั่งปิดจากคำสั่ง ศบค.

เราย่ำเท้าออกเดินทางต่อท่ามกลางอากาศร้อนระอุและแดดจ้าแยงตาในยามบ่าย เพื่อมายังร้านโชห่วยเล็กๆ ของ ‘พี่ฝน’ – อัมพร จันทรสนิท ที่ตั้งอยู่ข้างทางเดินด้านนอก ชั้น 2 ของศูนย์การค้าอันเก่าแก่อย่าง ‘ดิโอลด์สยาม พลาซ่า’ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าสถานการณ์จะเงียบเหงาซบเซาขนาดหนัก ต่างจากเมื่อช่วง 4-5 ปีก่อนยังพลุกพล่านเต็มไปด้วยผู้คนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่มาเดินเที่ยวเล่นสนุกสนานสมกับเป็นจุดเช็กอินสุดคลาสสิกใจกลางกรุง 

“หลักๆ คนที่มาซื้อของ คือคนที่มาซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าร้านตรงข้ามกับกลุ่มคนสูงอายุรุ่นราว 60 ปีขึ้นไปที่มาร้องคาราโอเกะ แต่พอมาเจอโควิดตอนต้นปีมกราคม 2563 ทำให้ร้านคาราโอเกะก็เปิดไม่ได้ตามมาตรการรัฐ จนถึงตอนนี้ลูกค้าก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ ขายได้อย่างมากแค่วันละ 200-300 บาท แค่ค่ารถมาจากบ้าน (จรัญสนิทวงศ์) ก็แทบไม่พอแล้ว ต้องเอาเงินเก็บที่ทำมาทั้งชีวิตมากินมาใช้ มาส่งเสียลูก และส่งให้พ่อแม่ที่บ้านนอก” 

พี่ฝนเริ่มเล่าให้เราฟังถึงสถานการณ์ร้านโชห่วยของตัวเองที่รายได้ลดลงอย่างมาก จากเมื่อก่อนที่ได้กำไรพออยู่พอกินเพราะเปิดให้บริการร้องเพลงคาราโอเกะควบคู่ไปด้วย ทว่า พอโรคโควิด-19 ระบาดหนักเมื่อต้นปี 2563 ทำให้ต้องปิดบริการชั่วคราวลงตามมาตรการ สบค. ซึ่งเจ้าของร้านโชห่วยรายนี้ได้แต่สงสัยว่า เมื่อไหร่กัน ที่บริการประเภทคาราโอเกะจะได้ไฟเขียวกลับมาเปิดตามปกติ หากเปรียบดูสถานการณ์ที่รัฐเริ่มผ่อนปรนให้ผับบาร์ ร้าน และคอนเสิร์ตกลับมาจัดได้บ้างแล้ว

จุดเด่นที่สามารถพยุงให้ร้านเปิดมาได้เป็นเวลาถึง 11 ปี แน่นอนว่าเป็นเพราะบริการ ‘คาราโอเกะ’ ที่แม้จะมีค่าบริการต่อเพลงเพียง 10 บาท แต่ก็มีลูกค้าหมุนวนมานั่งร้องเพลงตั้งแต่ช่วงสายไปจนถึงหัวค่ำ โดยมีกลุ่มลูกค้าเป็นผู้สูงอายุวัยเกษียณทำงานที่อยากหากิจกรรมทำเพื่อคลายความเหงาและฆ่าเวลาระหว่างรอลูกๆ หลานๆ กลับบ้าน ขณะเดียวกัน ยังผลัดกันลุกขึ้นมาเต้นรำลืมแก่กันอย่างสนุกสนาน บ้างก็แวะซื้อน้ำซื้อขนมขบเคี้ยวเติมพลังคลายหิว

“เราคิดแค่เพลงละสิบบาท ร้านเราไม่ใช่เป็นร้านคาราโอเกะแบบที่มีเด็กนั่งดริงก์นะ ส่วนใหญ่คนมาร้องเป็นพวกผู้สูงอายุที่มาถึงเขาก็จะจ่ายเงิน แล้วกดเพลงเล่นกันเอง เพลงส่วนใหญ่ที่ร้องเลยเป็นพวกเพลงลูกกรุงยุค 80s อย่างสุนทราภรณ์, ดาวใจ ไพจิตร หรือทูล ทองใจ

“บางคนไม่รู้จักกัน ก็มารู้จักกันที่นี่ พบปะพูดคุยหยอกล้อกันเหมือนเป็นชมรมผู้สูงอายุ แต่พอเปิดไม่ได้เขาก็บ่นๆ กันว่าเหงา ใครบ้านใกล้ก็แวะเดินมาทักทายมาบ่นว่าเมื่อไรเขาจะกลับมาให้เปิด เราก็ตอบได้แค่ไม่รู้เลย” พี่ฝนเล่าให้เราฟังด้วยสีหน้ายิ้มแย้มและท่าทางสบายๆ เป็นกันเอง ขณะในมือซ้ายถือไมค์และเดินไปเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตั้งโปรแกรมลิสต์เพลงเอาไว้ไม่ต่ำกว่า 30-40 เพลง เพื่อให้เราเก็บภาพ พลางแอบบ่นคิดถึงลูกค้าขาประจำทั้งหลายที่แต่ก่อนแวะเวียนกันมาไม่ขาดสาย 

นอกเหนือจากบริการคาราโอเกะแล้ว พี่ฝนยังเผยอีกหนึ่งจุดเด่นของร้านอย่าง ‘เกมเซียมซีลุ้นโชค’ ที่ไม่ว่าลูกค้าจะซื้ออะไรก็ตาม ราคาถูก หรือราคาแพง ก็จะได้ลุ้นจับเซียมซีเพื่อหยิบสินค้าอีกหนึ่งชิ้นในร้านติดไม้ติดมือกลับไป ซึ่งไอเดียดังกล่าวเพิ่งจะเกิดขึ้นไม่นานนี้ เพราะต้องการคลายความเครียดในช่วงโควิด-19 และเศรษฐกิจซบเซา

“เซียมซีเราเพิ่งมาทำช่วงหลังนี้เอง จะได้คลายเครียดหายฟุ้งซ่าน ไม่งั้นได้เครียดเป็นโรคซึมเศร้าแน่ เพราะเราไม่เคยเจอสถานการณ์แย่แบบนี้ ช่วงแรกๆ เราก็เอาพวกข้าวสารมาแจกพนักงานบ้าง คนรู้จักแถวนี้บ้าง ช่วยคนที่เขายากลำบากกว่าเรา อย่างเงินที่รัฐให้ 1.5 หมื่นบาท เราก็ไม่ได้ลงทะเบียนรับ เราคิดว่าอีกแป๊บเดียวร้านก็ได้เปิดปกติ ยกให้คนที่เขาไม่มีดีกว่า อีกอย่างคือไม่มีใครมาสอนเราลงทะเบียนด้วย”

ปัจจุบันร้านโชห่วยเล็กๆ นี้ ยังคงพยายามยืนหยัดด้วยลำแข้งตัวเอง แม้แสงสว่างปลายทางจากความช่วยเหลือของรัฐจะยังส่องมาไม่ถึง เพราะถึงแม้ค่าเช่าจาก 2 หมื่นกว่าบาท จะลดลงเหลือ 2 หมื่นถ้วน แต่หากเทียบกับจำนวนรายรับ ก็ต้องบอกว่าสาหัสเหลือเกิน ขณะเดียวกัน ยังต้องเผชิญกับส่วนแบ่งรายได้ที่ลดลงจากการเกิดของร้านสะดวกซื้อมากมายที่ผุดขึ้นรอบๆ ราวกับดอกเห็ด ทำให้ ณ เวลานี้ สิ่งที่จะปลอบประโลมจิตใจและย้ำเตือนสติได้คงเป็นป้ายคำคมแฝงหลักคติธรรมที่พี่ฝนเคยเห็นผ่านหูผ่านตามา ก่อนจะนำมาติดไว้เต็มบริเวณ 2 ฟากบานประตูกระจกหน้าร้าน

ก่อนจะจากกัน พี่ฝนยังทิ้งท้ายกับเราว่า หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ คงต้องขอยกธงขาวยอมแพ้ เมื่อลูกทั้งสามคนเล่าเรียนจบหมด คงขายห้องแถวที่เต็มไปด้วยความทรงจำตลอด 11 ปีแก่เจ้าของใหม่ เพื่อเดินทางกลับไปใช้ชีวิตยังขอนแก่นภูมิลำเนาเกิด

“รายรับเราแทบไม่มี ชั่วโมงนี้คงไม่กล้าลงทุนทำอะไรใหม่ ลูกเราสามคน คนโตเรียนจบไปแล้วได้บรรจุรับราชการสาธารณสุขก็มาแบ่งเบาภาระเราได้บ้าง ตอนนี้เหลือคนเล็กเรียนอยู่ปีสี่แล้ว สุดท้ายถ้ามันจะได้แค่ไหนก็แค่นั้น”

ร้านโชห่วยที่ขายเบียร์จากทั่วโลก

ร้านโชห่วยร้านสุดท้ายที่เราไปเยือนมีชื่อว่า ‘Well Shop’ ตั้งอยู่ภายในซอยสำราญราษฎร์  ย่านละแวกประตูผี ทันทีที่เรามาถึงหน้าร้านก็ได้พบกับ ‘เคน’ – สิทธิพันธ์ ปลื้มธีระธรรม ผู้เป็นเจ้าของกิจการ ที่มือทั้งสองข้างกำลังหยิบสินค้าใส่ถุงเป็นระวิง พลันหยิบสมาร์ตโฟนในกระเป๋ากางเกงเพื่อรับออเดอร์ผ่านแอปพลิเคชันเดลิเวอรี ก่อนจะหันไปส่งเสียงตะโกนบอกลูกทีมในร้านว่าต้องหยิบสินค้าอะไรเพิ่มบ้าง

เรารออยู่ราว 10 นาที ก่อนเจ้าของร้านโชห่วยแห่งนี้จะคลายความสงสัยให้เรารู้ ว่าเพราะอะไรร้านโชห่วยของเขาจึงมีลูกค้าเดินเข้าออกขวักไขว่และมีเสียงแจ้งเตือนออเดอร์จากช่องทางออนไลน์ตลอดเวลา ด้วยการชี้ไปยังตู้แช่สีขาวโพลนขนาดใหญ่ด้านซ้ายมือ ที่ข้างในแช่เครื่องดื่มหน้าตาไม่คุ้นชินทั้งแบบกระป๋องและแบบขวดสีขุ่น มีป้ายราคาตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักร้อย เมื่อจ่อหน้าเขาไปดูใกล้ๆ จึงรู้ว่านั่นคือ เบียร์และเหล้าหลากยี่ห้อ 

เคนเริ่มเล่าให้เราฟังว่า เดิมที Well Shop เป็นกิจการร้านโชห่วยของครอบครัวที่เปิดมานานหลายสิบปีตั้งแต่เขายังเด็ก กระทั่งพักหลังร้านสะดวกซื้อและมินิมาร์ตเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในละแวกบ้านทำให้รายรับซบเซา ทว่า ด้วยความที่ตัวเองมีความสนใจในเรื่องสุราและเบียร์คราฟต์ทั้งยี่ห้อไทย เอเชีย และยุโรป จึงเริ่มศึกษาก่อนตัดสินใจนำมาวางขายเมื่อราว 6 ปีก่อน (ปี 2559) ขณะเดียวกัน ยังรับบุหรี่หลากยี่ห้อจากต่างประเทศมาวางขายควบคู่กันไปด้วย ก่อนจะมาเจอกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง พ.ร.บ.สรรพสามิต ที่เรียกเก็บค่าภาษียาเส้นจำนวน 40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ต้องตัดสินใจหันมาค้าขายเหล้าและคราฟต์เบียร์เป็นหลัก 

“ตอนแรกเราเปิดเป็นร้านโชห่วยธรรมดาทั่วไป จนวันหนึ่งมีร้านสะดวกซื้อมาเปิดอยู่ข้างๆ เลยเกิดเป็นคำถามในใจว่าทำไมกฎหมายบ้านเราไม่เคยเอื้อให้อาชีพดั้งเดิมแบบเรามีช่องทาง ทำไมปล่อยให้กลุ่มนายทุนรุกล้ำเข้ามาได้มากขึ้น กระทั่งเราได้ไปพบกับกลุ่มผู้ค้าขายโชห่วยแบบเราบนโซเชียล ทำให้มีการพูดคุยเสนอไอเดียว่าช่องทางที่จะทำให้เราอยู้ได้ คือขายออนไลน์

“ต่อมามีลูกค้าซึ่งเป็นเพื่อนสมัยมัธยมปลาย แนะนำให้รู้จักกับเบียคราฟต์ยี่ห้อหนึ่งราคากระป๋องละ 200 กว่าบาท เราก็บอกว่าแพงจังวะ ทำไมไม่กินเบียร์ไทยที่มันวางขายทั่วๆ ไป ตอนนั้นเราก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรกลับมานั่งรีเสิร์ชต่อว่าควรเอาสินค้าอะไรมาขายออนไลน์ดี สินค้าที่ควรนำมาขายควรเป็นสินค้าใช้แล้วหมดไปกลับมาซื้อซ้ำ เลยคิดว่าควรเป็นพวกเครื่องดื่ม ทีนี้เครื่องดื่มมี 5 ประเภท ดื่มมากสุดคือน้ำดื่ม ชา กาแฟ แต่ที่คนไทยดื่มมากสุดเป็นพวกสุราแอลกอฮอลล์ เราเลยเข้าไปศึกษาในกลุ่มที่มีชื่อว่า Beer Addict เลยเปิดโลกรู้ว่า เครื่องดื่มเบียร์มีอะไรมากกว่าที่เราเห็น มันสวยงาม มีกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ช่วยกันให้ความรู้ จูงมือกันไปจัดอีเวนต์ออกบูธ เราเลยเปิดใจลงมือขายคราฟต์เบียร์ และเรามั่นใจว่าถ้าเราเจาะจุดคนเฉพาะทางตรงนี้ได้ ต่อให้มีร้านสะดวกซื้อ มี modern trade เกิดขึ้นมามากมายก็สามารถสู้ได้

“ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นประมาณ 6-7 ปี เคยมีนายหน้าจากบริษัทบุหรี่ต่างประเทศยี่ห้อหนึ่งมาลงทุนในไทยด้วยงบ 3 พันล้านบาท เขาก็ติดต่อมาเสนอขายผ่านหน้าร้านเรา ตอนแรกเขาก็เสนอให้เรามีสาวเชียร์บุหรี่มาช่วยกระตุ้นยอดขาย แต่เราเลือกจะใช้กลวิธีแลกซองบุหรี่เพื่อที่จะให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำในราคาถูก แต่พอโครงสร้างกฎหมายสรรพสามิตมาเปลี่ยนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทำให้เราทำอะไรไม่ได้เลย ก่อนเราจะตัดสินใจหันมาขายพวกเบียร์คราฟต์เป็นหลัก”

เคนระบุเพิ่มเติมถึงโครงสร้างกฎหมายสุรา พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต 2560 ที่เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดเมื่อปี 2560 ซึ่งแทบไม่เอื้อต่อผู้ค้ารายเล็กหรือชาวบ้านตัวเล็กแม้แต่น้อย อาทิ กำหนดให้ผู้ขออนุญาตผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท, กำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตผลิตสุราแช่และสุรากลั่นในชุมชน โดยไม่รวมสุราแช่ชนิดเบียร์ และกำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำเป็นสิบล้านลิตรต่อปีสำหรับโรงงานเบียร์ ไม่นับรวมเรื่องข้อกฎหมายยิบย่อยอย่างการค้าโฆษณาแอลกอฮอล์มาตรา 32 เบ็ดเสร็จแทบจะเป็นการมัดมือชกผู้ค้าสุรารายเล็กไปโดยปริยาย ดั้งนั้น บ่อยครั้งเราจึงเห็นผู้ผลิตออกไปตั้งโรงงานกลั่นสุรายังประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนนำกลับมาส่งขายในไทย แต่ก็อย่างที่ทราบกันดีว่า ราคาต่อกระป๋องหรือต่อขวดไม่ต่ำกว่าหลัก 100 บาท

“ภาษีเหล้า เบียร์ ที่คราฟต์มาจากนอกประเทศ แพงโหดกว่าที่ผลิตในบ้านเราอย่างมาก อย่างที่เรารับเข้ามาจ่ายแพงเทียบได้พอๆ กับราคาซื้อรถเบนซ์คันหนึ่ง ภาษีแอลกอฮอล์ถือเป็นภาษีลำดับที่สองที่รัฐได้กำไรมากสุด ปัญหามันมีอยู่มากนะสองปีที่แล้วเราพยายามออกมาเรียกร้องแสดงออกทางสื่อต่างๆ แต่สุดท้ายตัวกฎหมายก็ไม่ได้ปลดล็อกตามที่หวัง แม้เราจะมี ส.ส.เท่าพิภพ (เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร – ส.ส.พรรคก้าวไกล) มาช่วยผลักดัน แต่เพราะเขาอยู่ฝ่ายค้าน เวลานำเสนอหลักการก็มักจะถูกปัดตกตอนแปรญัตติ เร็วๆ นี้ เราเลยวางแพลนทำโปรเจกต์หนึ่งเพื่อเปลี่ยนแปลงวงการสุราไทยควบคู่ไปกับการเรียกร้องข้อกฎหมาย

“กฎหมายไทย ณ เวลานี้ปิดกั้นหลายรูปแบบ เช่น ถ้าเราจะทำเบียร์ในบ้านเพื่อจำหน่าย เราต้องมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่าสิบล้านลิตร และมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท สเกลนี้ รัฐถึงจะออกใบอนุญาตให้เรา แต่ใครจะกล้าลงทุนเงินจำนวนมากขนาดนี้กับความเสี่ยงว่าถ้ามันไม่สำเร็จล่ะ หลายคนเลยรู้สึกว่ากฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างเอื้อกับนายทุน ถึงอย่างนั้น ส่วนตัวผมมองว่ากฎหมายสองข้อ ที่ว่าก็ยังควรมีอยู่เพื่อป้องกันการเข้ามาฮุบอำนาจของนายทุนบริษัทนอก เพียงแค่ควรจะมีการปรับให้มีข้อกฎหมายสนับสนุนย่อยลงไปอีกเพื่อให้คนไทยได้ผลประโยชน์ทุกฝ่าย เช่น พิสูจน์ได้ว่าโรงงานนั้นใช้แรงงานไทย ใช้สูตรตัวเอง และใช้วัตถุดิบจากไทยมาแปรรูปสินค้า ยกตัวอย่างญี่ปุ่น เขานำบ๊วยมาแปรรูปเป็นเหล้าขายได้ขวดละ 800-900 แล้วทำไมเราไม่นำผลไม้พวกมะม่วง ระกำ หรือทุเรียนที่ต่างชาติชอบมาแปรรูปสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้คนในประเทศ”

เจ้าของร้าน Well Shop บอกกับเราว่า มีแพลนกำลังจะเปิดร้านบาร์ใหม่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากร้าน เนื่องจากที่ผ่านมาช่วงกลางคืนมีลูกค้าขาประจำและขาจรแวะเวียนเข้ามานั่งกันจำนวนมาก ขณะเดียวกันเมื่อถามถึงเรื่องผู้ว่าฯ คนใหม่ในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ เขาก็หวังว่าจะได้คนที่เขามาทำงานจริงจังและช่วยสนับสนุนผู้ค้าขายร้านโชห่วยรวมถึงผลักดันเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายสุราฉบับใหม่

“ไม่นานมานี้ผมได้คุยกับผู้สมัครผู้ว่าฯ รายหนึ่ง เขาเข้ามาคุยเรื่องคนค้าขายโชห่วย คุยเรื่องกฎหมายสุรา เราก็ถามไปว่า ถ้าคุณได้เข้ามาทำหน้าที่จริงๆ คุณสัญญาได้หรือเปล่าว่าจะเข้ามาดูเปลี่ยนแปลงตรงนี้ เพราะถ้าเกิดคุณเข้าไปอยู่ฟากรัฐบาลคุณจะได้เจอกับผู้ค้าสุรารายใหญ่ แล้วคุณจะกล้างัดกับพวกเขาจริงๆ หรือเปล่า เราไม่รู้เลยว่าคุณจะจริงจังแค่ไหน ผมอยากให้มีกฎหมายสักข้อนะว่าถ้าคุณออกนโยบายหาเสียงแล้วพอถึงเวลาคุณได้ตำแหน่งแต่ทำตามสัญญาไม่ได้ก็ต้องถูกลงโทษ (หัวเราะ)”

ในวาระที่คนไทยใกล้จะได้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่เข้ามาบริหารบ้านเมืองอันศิวิไลซ์แห่งนี้ เป็นขณะเดียวกันกับที่ชีวิตของผู้ประกอบการรายย่อยอย่างร้านโชห่วย ของชำที่หลงเหลืออยู่ไม่มาก ยังคงต้องกัดฟันและดิ้นรนต่อสู้ หาลู่ทางให้รอดพ้นจากพิษเศรษฐกิจ และการแข่งขันทางการค้ากันต่อไป 

เราหวังว่า รัฐจะมองเห็นบรรดาผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ เพราะเอาเข้าจริงร้านโชห่วย ร้านชำไม่ใช่แค่สถานที่ซื้อขายสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นสถานที่แห่งการนัดปะสังสรรค์พูดคุย พึ่งพิงอาศัยกันระหว่างคนในชุมชนเพื่อส่งมอบมิตรไมตรีระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย เรียกได้ว่าเป็นสถานที่แห่งความทรงจำอันควรแก่การรักษาไว้ไม่ให้จางหายไปตามกาลเวลา

Tags: , , , , ,