ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานะของสื่อบันเทิงในปัจจุบันได้ก้าวข้ามความเป็นเพียงสิ่งจรรโลงใจไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะนอกจากสื่ออย่างภาพยนตร์ ซีรีส์ หนังสือ หรือแม้แต่ดนตรี จะสามารถมอบข้อคิดอันน่าสนใจให้กับผู้ชมหรือผู้รับฟังได้แล้ว สิ่งเหล่านี้ยังเป็นเครื่องสะท้อนความจริงทางสังคมและความเป็นไปทางการเมืองได้อย่างแยบยล
อย่างภาพยนตร์เรื่อง Parasite (2019) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตที่ต่างกันอย่างสุดขั้วของครอบครัวจาก 2 ชนชั้นก็ชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจในเกาหลี หรือภาพยนตร์เรื่อง Chinatown (1974) ที่เกี่ยวกับการสืบสวนคดีฆาตกรรมของนักสืบเอกชนในลอสแอนเจลิส ช่วง 1930s ซึ่งเป็นที่มาของประโยคเด็ดอย่าง “ช่างมันเถอะเจก นี่มันไชน่าทาวน์” (Forget it Jake, it’s Chinatown.) ก็แสดงให้เห็นถึงความเน่าเฟะของสังคมการเมืองและโครงสร้างสถาบันตำรวจในสหรัฐอเมริกา
แต่อย่างไรก็ตาม บางทีสื่อเหล่านั้นก็สามารถให้ข้อคิดในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของมันได้เช่นกัน
อย่างในกรณีนี้ ผู้เขียนซึ่งเป็นนักศึกษารัฐศาสตร์เอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) เชื่อว่าซีรีส์ดราม่าอาชญากรรมอย่าง ‘Better Call Saul: มีปัญหาปรึกษาซอล’ (2015-2022) สามารถช่วยให้เราเห็นภาพพลวัติของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่คอยขับเคลื่อนและหล่อหลอมระเบียบการเมืองโลกได้เป็นอย่างดี ทั้งที่เนื้อหาหลักๆ ของซีรีส์จะไม่เกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศเลยแม้แต่น้อย
แล้วซอลจะช่วยให้เราเข้าใจโลกได้อย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ
1
‘Better Call Saul: มีปัญหาปรึกษาซอล’ เป็นซีรีส์ภาคก่อนของ ‘Breaking Bad: ดับเครื่องชน คนดีแตก’ ซึ่งพูดถึงเรื่องราวของ วอลเตอร์ ไวต์ (นำแสดงโดย ไบรอัน แครนสตัน) ครูเคมีจากเมืองแอลบูเคอร์คี (Albuquerque) รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ที่ต้องผันตัวเข้าวงการอาชญากรรมและรับหน้าที่เป็นผู้ผลิตยาแอมเฟตามีนเพื่อหาเงินมาจ่ายค่ารักษาโรคมะเร็งของตน ก่อนสุดท้ายจะกลายเป็นเจ้าพ่อแห่งวงการอาชญากรรมประจำเมืองแอลบูเคอร์คีเสียเอง
โดย Better Call Saul เล่าเรื่องของ ซอล กู๊ดแมน หรือเจมส์ ‘จิมมี’ แม็กกิลล์ (นำแสดงโดย บ็อบ โอเดนเคิร์ก) ทนายมือฉมังที่คอยช่วยให้ไวต์และพวกพ้องรอดพ้นจากเงื้อมมือของตำรวจ ป.ป.ส. และกฎหมายมาได้ตลอด ว่าเขามีความเป็นมาอย่างไรและทำไมเขาถึงเลือกที่จะเป็นทนายให้พวกอาชญากรโฉดชั่ว แทนที่จะไปรับงานดีๆ อย่างที่ทนายคนอื่นในสายงานเดียวกันมักเลือกที่จะทำ
ซึ่งนอกจากเรื่องราวของซอลแล้ว ซีรีส์ยังพูดถึงชีวิตของ คิม เวกซ์เลอร์ (นำแสดงโดย เรีย ซีฮอร์น) ทนายมือดีที่กำลังตั้งคำถามกับจุดยืนทางศีลธรรมของตน อิกนาซิโอ ‘นาโช’ วาร์กา (นำแสดงโดย ไมเคิล มันดู) อาชญากรหัวแหลมที่กำลังพยายามทิ้งชีวิตอาชญากรของตัวเองไว้ข้างหลัง และไมเคิล ‘ไมค์’ เออร์แมนเทราต์ (นำแสดงโดย โจนาธาน แบงส์) อดีตตำรวจที่ต้องผันตัวเข้าวงการอาชญากรรมเพื่อปกป้องและหาเงินเลี้ยงดูลูกสะใภ้และหลานสาวของตน โดยเส้นทางของคนเหล่านี้ต่างมีผลต่อพัฒนาการของตัวจิมมีเองทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดี ตัวแปรที่ส่งผลต่อชีวิตของจิมมีมากที่สุดคงหนีไม่พ้นความสัมพันธ์ระหว่างจิมมีกับ ชาร์ล ‘ชัค’ แม็กกิลล์ (นำแสดงโดย ไมเคิล แมคคีน) พี่ชายของเขา โดยความสัมพันธ์ที่ว่านี้เองคือสิ่งที่บทความนี้ต้องการเจาะลึกและใช้เพื่อเชื่อมโยงกับการเมืองโลก
2
ช่วงถัดมีการเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์ Better Call Saul: มีปัญหาปรึกษาซอล ในโครงเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจิมมีกับชัค
หากเราเปิดพจนานุกรมหาคำว่า ‘พลเมืองต้นแบบ’ เราคงเห็นรูปของชัคอยู่ข้างๆ ประโยคอธิบายความหมายของคำดังกล่าว เพราะนอกจากชัคจะเป็นทนายอัจฉริยะที่คนในวงการกฎหมายและชาวเมืองแอลบูเคอร์คีให้ความเคารพเป็นอย่างสูงแล้ว ตัวเขาเองยังยึดมั่นกับการปฏิบัติตามหลักกฎหมายและหลักศีลธรรมอย่างถึงที่สุด ในระดับที่ว่า หากสถานที่ที่เขาอยู่มีกฎเช่นใด คุณมั่นใจได้เลยว่าชัคจะจำกฎเหล่านั้นได้ทุกข้อ ตั้งใจปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และยอมทุ่มเทชีวิตของตนเพื่อบังคับให้คนอื่นๆ ทำตามอย่างแน่นอน
แต่ความหมกมุ่นในกฎระเบียบและความไม่ยืดหยุ่นดังกล่าวมักทำให้ระดับความสามารถทางสังคมของชัคแทบจะเป็นศูนย์ กล่าวคือเขาสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ ทำตัวให้คนอื่นยอมรับได้ แต่อย่าหวังเลยว่าชีวิตนี้ชัคจะหาเพื่อนได้สักคน
ในทางกลับกัน จิมมีหรือพระเอกของเราแทบจะเป็นคนที่มีคุณลักษณะตรงข้ามกับพี่ชายของตัวเองในทุกประการ เพราะก่อนที่เขาจะเป็นทนาย จิมมีคือสิบแปดมงกุฎจอมเจ้าเล่ห์ฝีปากดีที่วันๆ ได้แต่หาเรื่องหลอกเอาเงินชาวบ้านไปเที่ยวเสเพลกับเพื่อนๆ ของตน
จิมมีเลือกชีวิตรูปแบบดังกล่าวเพราะเขาตั้งใจว่าจะไม่เป็นเหมือนกับพ่อของตนที่เป็นคนดีเกินไปจนถูกมิจฉาชีพหลอกเอาทรัพย์สินไปจนหมดเนื้อหมดตัว เรียกง่ายๆ คือจิมมีเชื่อว่าเราจะไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพหากเราคือมิจฉาชีพซะเอง
หนึ่งในเทคนิคที่จิมมีใช้บ่อยที่สุด คือการแกล้งลื่นล้มเพื่อหลอกเอาเงินจากผู้โชคร้ายที่มาอยู่ผิดที่ผิดเวลา ซึ่งเทคนิคที่ว่าทำให้เขาได้รับสมญานามว่า ‘จิมมีจอมลื่นไหล’ (Slippin’ Jimmy)
แต่ไม่ว่าชีวิตของจิมมีจะเหลวแหลกขนาดไหน คารมและความเป็นน้องเล็กก็ช่วยให้เขาเป็นลูกคนโปรดของพ่อแม่ตลอดมา
ด้วยเหตุนี้ ชัคที่ต้องคอยทำตัวเป็น ‘พี่ใหญ่’ และแบกรับความหวังของครอบครัวมาตลอดจึงอิจฉาและจงเกลียดจงชังจิมมีเป็นอย่างมาก โดยเขามองว่าน้องของตัวเองเป็นเพียงคนไร้ค่าคนหนึ่งที่ทำได้แค่สร้างปัญหาและสร้างความเจ็บปวดให้คนรอบข้างเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จิมมีไม่เคยคิดร้ายกับพี่เลยแม้แต่น้อย เพราะสำหรับจิมมีแล้ว ชัคเป็นที่พึ่ง เป็นคนในครอบครัวคนสุดท้ายหลังพ่อแม่จากไป และเป็นแบบอย่างที่เขาให้ความเคารพเป็นอย่างมาก โดยนอกจากจิมมีจะคอยดูแลและรับบทบาทเป็นเพื่อนคนเดียวในชีวิตของชัคหลังชัคป่วยเป็นโรคจิตเภทที่ทำให้เชื่อว่าตัวเอง ‘แพ้’ ต่อกระแสไฟฟ้าอย่างไม่ห่างเหินแล้ว จิมมียังเลือกที่จะสอบตั๋วทนายและเข้ามาทำงานในวงการกฎหมายเพื่อเดินตามรอยเท้าพี่ชาย
ถึงในเวลานั้นจะไม่มีใครรู้ แต่การเลือกเป็นทนายของจิมมีคือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองพี่น้องแม็กกิลล์ต้องขาดสะบั้นลงและเป็นจุดเริ่มต้นของการกลายเป็น ‘ซอล กู๊ดแมน’ ของจิมมี
3
จิมมีเชื่อว่าคนเราเปลี่ยนแปลงกันได้ เขาจึงมองว่าการเป็นทนายคือโอกาสทองที่จะช่วยให้ตนกลับตัวกลายเป็นคนดีที่สังคมให้การยอมรับและเป็นที่ภาคภูมิใจของพี่ได้ โดยเขาเลือกที่จะทิ้งตัวตน ‘จิมมีจอมลื่นไหล’ และหันมาใช้ชีวิตในกรอบตามที่ทนายควรเป็นอย่างสมบูรณ์
แต่ชัคมองข้ามความพยายามเหล่านั้นไปโดยสิ้นเชิง เพราะอย่างที่ว่าไว้ตอนต้น ชัคเชื่อว่าจิมมีคือคนเลวบริสุทธิ์และการเป็นทนายของจิมมีก็รังแต่จะสร้างความวุ่นวายให้กับสังคมและทำให้วงการกฎหมายแปดเปื้อน กล่าวคือเขาเชื่อว่าจิมมีไม่ใช่ทนายตัวจริง แต่เป็นแค่จิมมีจอมลื่นไหลที่มีความรู้ทางกฎหมาย และพร้อมจะใช้มันเพื่อช่วยเหลือเพื่อนอาชญากร หาประโยชน์เข้าตัว และบั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย
ด้วยเหตุนี้ ชัคจึงพยายามทำทุกวิถีทางไม่ให้จิมมีได้ขึ้นมามีหน้ามีตาในวงการกฎหมายของเมืองแอลบูเคอร์คีและบีบให้จิมมีต้องเลิกเป็นทนายไปเสีย เช่น ชัคเลือกที่จะบงการให้สำนักกฎหมายของตนไม่รับจิมมีเข้าทำงานและกดดันให้คนที่มีความสัมพันธ์อันดีกับจิมมี (โดยเฉพาะคิม เวกซ์เลอร์ที่เป็นคนรักของจิมมี) ต้องเสียหน้าที่การงาน
“ฉันรู้ว่านายเป็นคนยังไง คนเรามันไม่เปลี่ยนกันง่ายๆ หรอก นายคือจิมมีจอมลื่นไหล ฉันรับมือจิมมีจอมลื่นไหลได้ แต่จิมมีจอมลื่นไหลที่มีวุฒิกฎหมายมันเหมือนกับลิงถือปืนกลชัดๆ! กฎหมายคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถ้านายใช้มันในทางที่ผิด คนอื่นจะเดือดร้อนเอา นี่มันไม่ใช่เกม นายเองก็รู้อยู่แก่ใจว่าฉันพูดถูก” ชัคกล่าวตอน ‘เปิดใจ’ กับจิมมี หลังจิมมีจับทางได้ว่าพี่คือผู้ที่คอยบ่อยทำลายอาชีพทนายของตน
จิมมีที่พยายามจะเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ เป็นทนายที่เล่นตามกฎ และเป็นน้องที่ได้รับความรักจากพี่จึงต้องยอมตัดสายสัมพันธ์กับสมาชิกครอบครัวคนสุดท้ายลงอย่างเด็ดขาดและหันไปทำงานให้กับอาชญากรหลากประเภทด้วยการใช้วิธีสกปรกแบบที่จิมมีจอมลื่นไหลเคยทำภายใต้ชื่อใหม่อย่าง ‘ซอล กู๊ดแมน’ แทนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยในท้ายที่สุด ความไม่เข้าใจและความขัดแย้งระหว่างสองพี่น้องแม็กกิลล์จบลงด้วยการที่คนพี่ต้องเจอกับอาการ ‘สติแตก’ ก่อนเลือกจบชีวิตของตนลงอย่างน่าอดสู ส่วนคนน้องก็กลายเป็นนักโทษหนีคดีที่ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ หลังหนึ่งในเครือข่ายอาชญากรที่เขารับใช้ถูกตำรวจทลาย
4
หากวิเคราะห์ดูแล้ว เราจะเห็นว่าเรื่องราวและการกระทำของชัคถูกจัดได้ว่าเป็น ‘ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง’ (Self-fulfilling prophecy) หรือการที่ความเชื่อของใครคนใดคนหนึ่งหล่อหลอมให้บุคคลดังกล่าวทำสิ่งที่จะนำไปสู่ผลที่สอดคล้องกับความเชื่อในตอนต้น
กล่าวคือการที่ชัคพยายามหยุดจิมมีไม่ให้เป็นทนายรับใช้โจรกลับเป็นสิ่งที่ทำให้จิมมีกลายเป็นทนายรับใช้โจรเสียเอง
เพราะหากชัคมองจิมมีในแง่ดีหรือเชื่อใจในตัวน้องอีกซักนิด เขาก็คงไม่พยายามทำลายการงานของจิมมี และหากชัคไม่ทำเช่นนั้น จิมมีก็คงสามารถมีหน้ามีตาในวงการกฎหมายและทำอาชีพสุจริตได้โดยไม่ต้องหันไปรับใช้อาชญากรเพื่อหาเงินประทังชีพ
5
แล้วทั้งหมดที่ว่ามานี้เกี่ยวอะไรกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ?
เรื่องราวของสองพี่น้องแม็กกิลล์เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตรงที่ความบาดหมาง ความหวาดระแวง ความไม่เข้าใจ และการกระทำที่ทำไปสู่ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงที่เกิดขึ้นระหว่างชัคและจิมมีคือประเด็นหลักของแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีความสำคัญและมีอิทธิพลมากแนวคิดหนึ่ง
แนวคิดนั้นคือ ‘ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้านความมั่นคง’ (Security Dilemma) ซึ่งระบุว่า ความพยายามในการเพิ่มความมั่นคงของรัฐหนึ่งมักส่งผลให้ความมั่นคงของรัฐนั้นลดลง
ถึงอาจจะฟังดูงงๆ แต่แนวคิดนี้มีพื้นฐานอยู่บนข้อสรุปที่ชี้ว่าการเมืองโลกนั้นเต็มไปด้วยความหวาดระแวง ความวุ่นวาย ความไม่แน่นอน และมีสภาพสอดคล้องกับประโยค “หากเราไม่ใช่ผู้ฆ่า เราจะเป็นผู้ถูกฆ่า”
ดังนั้น หากรัฐ A ต้องการสร้างความมั่นคงให้กับตัวเอง รัฐ A ก็ต้องเพิ่มศักยภาพทางการทหารของตนผ่านวิธีต่างๆ เช่น การซื้ออาวุธ การวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ และการเสริมกำลังพลเพื่อป้องปรามไม่ให้รัฐอื่นๆ กล้าหือกับรัฐ A
แต่เพราะโลกนี้เต็มไปด้วยความหวาดระแวง การเพิ่มกำลังของรัฐ A จึงทำให้รัฐ B กลัว เพราะรัฐ B ไม่มีทางรู้ได้เลยว่ารัฐ A เพิ่มกำลังไปเพื่อจุดประสงค์อะไร ด้วยเหตุนี้ รัฐ B จึงต้องเสริมศักยภาพทางการทหารของตนตามรัฐ A ไปด้วย เมื่อรัฐ C เห็นดังนั้น รัฐ C ก็ต้องเพิ่มกำลังเช่นกัน และเหตุการณ์ดังกล่าวก็เกิดต่อกันไปเรื่อยๆ เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ไม่มีวันจบสิ้น
ทำให้สุดท้ายแล้ว รัฐ A กลับต้องตกอยู่ในที่นั่งลำบากกว่าเดิม เพราะในตอนนี้ รัฐอื่นๆ รอบตัวได้เพิ่มศักยภาพทางทหารของตนอย่างเต็มรูปแบบและกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ A ไปเสียหมด
เรียกง่ายๆ ก็คือความระแวงว่าตัวเองจะเสียเปรียบรัฐอื่นกลับทำให้ตัวเองต้องเจอกับความเสี่ยงที่จะเสียเปรียบต่อรัฐอื่นจริงๆ และส่งผลให้การเมืองโลกมีความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น
6
ถึงแนวคิดดังกล่าวจะค่อนข้างเก่าและมักถูกโต้แย้งโดยทฤษฎี มุมมอง และข้อมูลใหม่ๆ แต่ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้านความมั่นคงก็ยังถือว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจและสามารถอธิบายถึงความเป็นไปของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ดีในระดับหนึ่ง
หนึ่งในตัวอย่างของภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้านความมั่นคงที่มีความเกี่ยวข้องกับระเบียบการเมืองโลกในปัจจุบันมากที่สุดคือการแข่งขันสะสมอาวุธระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็นที่ทั้งสองต่างพยายามสะสมยุทโธปกรณ์และหัวรบนิวเคลียร์ให้ได้มากที่สุดเพื่อเสริมศักยภาพทางทหารและอำนาจการต่อรองของตนให้เหนือกว่าอีกฝ่าย
โดยการแข่งขันที่ว่ามีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอมความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจ และบรรยากาศความตึงเครียดบนเวทีการเมืองโลกตลอดช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น
ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้านความมั่นคงยังสามารถเกิดในระดับภูมิภาคได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ความตึงเครียดระหว่างอินเดียกับปากีสถาน หรือซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน ส่งผลให้ตัวแสดงและภูมิภาคที่เกี่ยวข้องต้องตกอยู่ในวังวนการแข่งขันสะสมอาวุธระดับย่อมๆ ที่ดูไม่มีวันจะจบสิ้น
นอกจากหัวข้อเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจก็สามารถรับบทเป็นประเด็นหลักของภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้านความมั่นคงได้เหมือนกัน การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในปัจจุบันเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประเด็นนี้ เพราะในปัจจุบัน ทั้งสองต่างพยายามใช้มาตรการกีดกันทางการค้า (Protectionism) เพื่อพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของตนโดยที่ไม่ต้องไปพึ่งชาติอื่น โดยนโยบายดังกล่าวก็จะส่งผลให้เกิดความตึงเครียดในระเบียบเศรษฐศาสตร์การเมืองโลกและบีบให้ชาติต่างๆ ต้องหันมาปกป้องเศรษฐกิจของตนผ่านมาตรการที่ส่งผลเสียต่อระบบตลาดโลกกันเป็นทอดๆ
7
แล้วอะไรคือสาเหตุหลักที่อยู่เบื้องหลังปัญหาระหว่างชัคกับจิมมีและประเทศต่างๆ ในเวทีโลก?
ถึงเนื้อหาที่ผ่านมาจะเน้นย้ำถึงบทบาทของความหวาดระแวงในการก่อตัวของความขัดแย้ง แต่ผู้เขียนอยากเสนอว่า ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงอาจอยู่ในเรื่องการขาดการสื่อสารที่ชัดเจนระหว่างตัวแสดงที่เกี่ยวข้องต่างหาก เพราะไม่ว่าแต่ละตัวแสดงจะมีความคิดเห็นหรือมุมมองส่วนตัวอย่างไร การสื่อสารระหว่างตัวแสดงเหล่านั้นคือตัวแปรสุดท้ายที่จะตัดสินว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาจะออกมาในรูปแบบไหน
อย่างในกรณีของชัคและจิมมี หากทั้งสองได้สื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมาและชัดเจนมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาสำคัญอย่างตอนที่ชัคไม่พอใจในตัวจิมมี จิมมีเลือกเรียนกฎหมาย หรือชัคไม่อยากให้จิมมีเป็นทนาย สองพี่น้องแม็กกิลล์ก็อาจจะสามารถปรับชีวิตและความเชื่อที่ไม่ตรงกันของพวกเขาให้เข้ากันได้มากขึ้นและหลีกเลี่ยงปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมของทั้งคู่ได้
ในทางเดียวกัน หากประเทศต่างๆ สามารถเปิดใจและสื่อสารความต้องการ ความกังวล และปัญหาที่ตนกำลังประสบได้อย่างตรงไปตรงมา สังคมโลกก็อาจจะสามารถหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาความตึงเครียด ความขัดแย้ง และสงครามที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ เนื่องจากทุกชาติต่างมีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจในตัวกันและกันมากขึ้น
8
การหาทางออกสำหรับปัญหาเรื่องการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพบนเวทีโลกไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประเด็นดังกล่าวมักมีความเกี่ยวพันกับตัวแปรที่ยากจะควบคุมอย่างศักยภาพของตัวแสดง มุมมองของผู้นำ และบริบทของสังคมที่พวกเขาอยู่อย่างลึกซึ้ง
แม้กระนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าหนึ่งในทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้คือการพัฒนาองค์กรระหว่างประเทศให้มีอำนาจเด็ดขาด ยุติธรรม โปร่งใส และเป็นกลาง เพื่อใช้มันเป็นผู้กำกับดูแลระเบียบการเมืองระหว่างประเทศและเป็นพื้นที่ให้ทุกตัวแสดงสามารถถกประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นความมั่นคง ได้อย่างบริสุทธิ์ใจและชัดเจน
แนวคิดสำนักเสรีนิยมใหม่เชิงสถาบัน (Neoliberal Institutionalism) พูดถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยแนวคิดดังกล่าวระบุว่าการมีอยู่ของ ‘สถาบัน’ (ซึ่งหมายถึงอะไรก็ตามที่สามารถหล่อหลอมพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้องได้ทั้งในทางตรงและทางอ้อม) ระหว่างประเทศจะนำไปสู่ความร่วมมือที่เป็นระบบ ผลประโยชน์ระยะยาวของทุกฝ่าย และความมั่นคงในการเมืองโลก เนื่องจากเป็นสิ่งที่คอยคุมไม่ให้ตัวแสดงตัวใดตัวหนึ่งสามารถ ‘โกง’ ตัวแสดงอื่นๆ ละเมิดกฎที่เป็นข้อตกลงร่วมกัน หรือปลีกตัวออกจากสังคมนานาชาติไปอย่างสิ้นเชิง
องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) คือตัวอย่างที่ดีขององค์กรระหว่างประเทศที่มีหน้าที่สอดคล้องกับสิ่งที่แนวคิดสำนักเสรีนิยมใหม่เชิงสถาบันเสนอ แต่อย่างไรก็ตาม UN ยังมีจุดด้อยที่คอยบั่นทอนประสิทธิภาพการทำงานของมันอยู่หลายจุด เช่น สิทธิในการบังคับใช้อำนาจของ UN ยังมีไม่มากเท่าที่ควรและ UN มักถูกแทรงแซงและบงการโดยตัวแสดงต่างๆ ที่มีอิทธิพลหรือกำลังทรัพย์สูง ซึ่งทำให้องค์กรไม่ได้อยู่ในสถานะที่เป็นกลางอย่างแท้จริง
ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราอยากสร้างโลกที่มีความสงบสุขมากขึ้น องค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาท อิทธิพล และชื่อเสียงบนเวทีโลกอย่าง UN ควรถูกปฏิรูปให้มีอำนาจ ศักยภาพ และความชอบธรรมมากขึ้น ไม่เช่นนั้น มันอาจต้องประสบชะตากรรมเดียวกันกับองค์กรสันนิบาตชาติ (League of Nations) ที่เป็นเพียงเสือกระดาษที่ไร้ซึ่งความสามารถในการคุมพฤติกรรมของชาติสมาชิกและพลวัติทางอำนาจของการเมืองโลกในเวลานั้น
9
หากเรื่องราวทั้งหมดที่ว่ามาจะสอนบทเรียนอะไรให้กับเรา คงสอนว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์มีความซับซ้อนฉันใด ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็มีความซับซ้อนฉันนั้น
เพราะนอกจากทั้งสองจะประกอบไปด้วยเกมส์การเมืองและการแก่งแย่งผลประโยชน์อันดุเดือดแล้ว พวกมันยังมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องความสามารถในการสื่อสารระหว่างตัวแสดงอย่างลึกซึ้ง
ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษาความสัมพันธ์ในทุกระดับคือการเปิดช่องทางให้ทุกฝ่ายสามารถรู้ถึงความคิดเห็น ความต้องการ และความไม่พอใจของกันและกันได้อย่างชัดเจนและถี่ถ้วน เพื่อช่วยให้ทุกตัวแสดงสามารถร่วมมือกันจัดการกับปัญหาและ ‘ความไม่รู้’ ได้อย่างเฉียบขาดและเหมาะสม
เพราะสุดท้ายแล้ว เราจะกล้าเรียกตัวเองว่าเหนือกว่าสัตว์เผ่าพันธุ์อื่นๆ ได้อย่างไร หากเราไม่ใช้ความสามารถด้านการสื่อสารผ่านตัวกลางที่ซับซ้อนที่มีให้เป็นประโยชน์
อ้างอิง
An Introduction to International Relations, Richard Devetak, Jim George, and Sarah Percy
Redefining the social link: from baboons to humans, Shirley Strum and Bruno Latour
Self-Fulfilling Prophecy and The Pygmalion Effect, Derek Schaedig
https://www.researchgate.net/publication/320211391_Security_dilemma
https://www.history.com/topics/cold-war/arms-race
https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/02684527.2021.1920495?journalCode=fint20
https://muse.jhu.edu/article/787893
Tags: Breaking Bad, Feature, การเมืองระหว่างประเทศ, Better Call Saul, การเมืองโลก