เมื่อนึกถึง ‘ความตาย’ หลายคนมักเกิดอาการกลัวขึ้นมาจากหลายสาเหตุ ความตายทำให้พลัดพราก นำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจ แต่การศึกษา ‘ความตายในทางมานุษยวิทยา’ (Anthropology of Death) ความตายกลับกลายเป็นเรื่องน่าสงสัยใคร่รู้ในหลายมิติ ทั้งสังคม การเมือง วัฒนธรรม ประเพณี โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ไม่เว้นแม้แต่เชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์

หนึ่งในหัวข้อเสวนาอย่าง ‘ความตายในความหลากหลายของมานุษยวิทยา’ จากงานประชุมวิชาการมานุษยวิทยา 67 ‘ลบเลือน เคลื่อนที่ ทวีทบ’ (Memory, Mobility & Multiplicity) โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้รวบรวมอาจารย์ที่ทำงานภาคสนาม (Fieldwork) เกี่ยวเนื่องกับความตายในหลายสาขาวิชาที่สัมพันธ์กับการศึกษาเชิงมานุษยวิทยา ทั้งโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดำรงพล อินทร์จันทร์, ดร.นฤพล หวังธงชัยเจริญ, รองศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ บุญไทย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกสุดา สิงห์ลำพอง มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองอันหลากหลายที่มีต่อความตาย

มหรสพแห่งมรณกรรม (Mortuary Theater)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดำรงพลบรรยายเรื่อง ‘มหรสพแห่งมรณกรรม: พิธีบูชา การรำลึก และของขวัญอันเนื่องด้วยความตาย’ ชี้ชวนให้มองถึงมุมมองต่อความตายในปัจจุบัน ซึ่งมักเป็นเรื่องของเอกสาร การแพทย์ การแสดงความโศกเศร้า และการไว้ทุกข์ โดยความตายในทางการแพทย์ หมอจะเป็นทั้งผู้ระบุพฤติการณ์ที่ตายของมนุษย์ และยังสามารถยืดระยะเวลาตายของมนุษย์ออกไปได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการใส่เครื่องช่วยหายใจ การชะลอวัย (Anti Aging) และการการุณยฆาต จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าในปัจจุบัน มนุษย์มีจินตภาพของความตาย และสามารถออกแบบความตายตามจินตภาพได้

ทว่าหลายครั้งความตายไม่ได้เป็นการจากไปอย่างเรียบง่าย หรือเป็นไปตามจินตภาพของผู้ตาย เพราะความตายอาจถูกจัดการโดยรัฐ (State) หรือชีวะการเมือง (Biopolitics) ได้เช่นกัน โดยบ่อยครั้งที่รัฐใช้อำนาจทางการเมืองกำหนดความหมายของร่างกายมนุษย์ หรือใช้อำนาจเหนือผู้ตาย เช่น กรณีการตายของ วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) ผู้นำสหภาพโซเวียต เมื่อปี 1924 ซึ่งอ้างถึงในงานของ อเล็กซี เยอชาก (Alexei Yurchak) นักมานุษยวิทยา ที่กล่าวถึงการจัดแสดงร่างของเลนินที่จัตุรัสแดงไม่นานหลังจากเขาเสียชีวิต 

“ร่างกายของเลนินกลบเกลื่อนสถานการณ์อันซับซ้อน ด้วยงานอนุรักษ์ และการสร้างใหม่ที่ไม่ใช่เขา สิ่งที่รัฐโซเวียตและรัสเซียยังคงดํารงอยู่คือ ปฏิบัติการเชื่อมโยงร่างทางอธิปไตย (Sovereign’s Body) เข้ากับร่างทางการเมือง (Body Politic) เป็นรูปแบบเฉพาะของการสร้างวัตถุเป็น 2 เท่า (Material Doubling) ผ่านการรักษาศพทางวิทยาศาสตร์และสร้างรูปจําลองให้เป็นหนึ่งเดียวกันด้วยทัศนะทางการเมือง”

ร่างวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) ที่มา: AFP

ในประเด็นนี้ยังมีความคล้ายคลึงกับการรักษาศพกษัตริย์ในบางประเทศ รวมถึงพระเกจิอาจารย์ที่มรณภาพไปแล้ว แต่ร่างยังถูกเก็บไว้ในโลงแก้วให้ผู้ศรัทธาได้สักการะด้วย

ความตายไม่น่ากลัวฉันใด โครงกระดูกย่อมสวยงามฉันนั้น

มหรสพแห่งความตายภายใต้การจัดการศพโดยรัฐ ยังเชื่อมโยงกับการบรรยายของ ดร.นฤพล หวังธงชัยเจริญ ในหัวข้อ ‘โบราณคดีของความตาย โบราณคดีของหลุมฝังศพ’ (Mortuary Archaeology) ซึ่งกล่าวถึงประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตาย (Ritual, Funeral) และการจัดการศพเพื่อให้เป็นที่ระลึกถึง (Ancestor, Monumentality)

สำหรับงานโบราณคดี หลายคนคงมีภาพจำกับการขุดโครงกระดูกมนุษย์ โครงกระดูกที่พบบางครั้งเป็นการฝังครั้งที่ 2 (Secondary Burial) หมายถึงการนำกระดูกจากการฝังศพครั้งแรก (Primary Burial) มาฝังอีกครั้ง ทำให้พบชิ้นส่วนของกระดูกไม่ครบทุกชิ้น แบ่งย่อยออก 2 แบบ คือการเก็บกระดูกบางส่วนมาฝังอีกครั้ง บางครั้งฝังร่วมกับโครงกระดูกอื่นในหลุมเดียวกัน และอีกแบบคือการเก็บกระดูกบางส่วนมาบรรจุในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่

หลุมศพยังบ่งบอกถึงประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตาย อันเกิดขึ้นมามากกว่า 1,000 ปี ดังที่พบของอุทิศ เช่น เครื่องประดับและเครื่องปั้นดินเผา อยู่ในภาชนะดินเผาที่ใส่กระดูกหรือในหลุมฝังศพด้วย ตัวอย่างแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย อำเภอบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี มีการขุดพบภาชนะดินเผาและหม้อที่ฝังพร้อมโครงกระดูก มีลวดลายแตกต่างกันออกไปตามเพศและวัยของโครงกระดูก

การจัดการศพมีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละวัฒนธรรม ดร.นฤพลกล่าวถึงกรณีศึกษาการจัดการศพเพื่อระลึกถึงความตายของชาวโทราจา (Toraja) บนเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจะมีการนำศพมาทำความสะอาดและย่าง โดยการย่างในที่นี้หมายถึงการรมควันเพื่อช่วยรักษาสภาพศพ ถือเป็นกระบวนการทำมัมมี่ประการหนึ่ง และในทุกปีจะมีเทศกาลแห่งความตาย ด้วยการนำศพขึ้นมาเฉลิมฉลองเพื่อระลึกถึงผู้ตายและความตาย

ไม่เพียงแค่ในเกาะสุลาเวสี แต่ในหลายสังคมก็พบวัฒนธรรมนี้เช่นกัน โดยการจัดการศพอย่างมีระบบของคนในอดีต มีเหตุผลเพื่อให้โครงกระดูกบรรพบุรุษยังอยู่บนโลก จนกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เกิดการสืบเสาะเทือกเถาเหล่ากอของคนในปัจจุบัน

นักสืบ (จาก) โครงกระดูก

นักโบราณคดีเปรียบเสมือนนักสืบ แต่เป็นการสืบจากวัตถุโบราณ รวมถึงโครงกระดูกมนุษย์ 

การขุดค้นทางโบราณคดีสอดคล้องกับ มานุษยวิทยากายภาพ (Physical Anthropology) ดังที่ รองศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์บรรยายเรื่อง ‘รูปแบบการจัดการพระศพและข้อสังเกตจากกะโหลกศีรษะของเจ้าฟ้าไทอาหมในม่อยด้ำ ที่เจ้รายดอย รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย’ 

ม่อยด้ำ (Moidams) คือชื่อเรียกสุสานฝังศพของกษัตริย์หรือเจ้าฟ้าของชาติพันธุ์ไทยอาหม (Tai-Ahom) กลุ่มชาติพันธุ์แรกที่อพยพเคลื่อนย้ายจากพื้นที่บริเวณรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ขึ้นไปยังรัฐอัสสัมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย โดยคำว่า ม่อย แปลว่า หลับ และด้ำ ความหมายเหมือนคำว่า ผี ดั่งสำนวนไทย ‘ผีซ้ำด้ำพลอย’ ขณะที่ในด้านภาษาศาสตร์ ภาษาไทอาหมอยู่ในภาษาตระกูลไท-กะได (Tai-Kadai Languages) ทำให้อนุมานได้ว่า เจ้าฟ้าไทอาหมเป็นหนึ่งในชาติพันธุ์ไท

ม่อยด้ำ ในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย ที่มา: The New Indian Express

สำหรับโครงกระดูกเจ้าฟ้าไทอาหมที่พบในม่อยด้ำจำนวน 5 โครง เป็นชายอายุประมาณ 40 ปี 1 โครง และหญิงอายุประมาณ 20 ปี 4 โครง อย่างไรก็ตาม โครงกระดูกเพศหญิงไม่ได้อยู่ในวัยของการตายโดยธรรมชาติ สันนิษฐานว่าอาจถูกทำให้ตาย ซึ่งยังรอการศึกษาทางโบราณคดีและมานุษยวิทยาอย่างละเอียดต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ระบุว่า การศึกษาทางโบราณคดีในมุมสังขารวิทยา (Morphology) และในทางวิทยาศาสตร์มักให้ความสนใจเรื่องการตรวจดีเอ็นเอ (DNA) จากโครงกระดูก แต่สิ่งที่ถูกมองข้ามคือการศึกษาสัณฐานของกะโหลกศีรษะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้พบว่า กะโหลกศีรษะของเจ้าฟ้าไทอาหมมีลักษณะเป็นมองโกลอยด์หรือแบบคนเอเชีย

ลักษณะกระโหลกของเจ้าฟ้าไทอาหมนำมาซึ่งผลการศึกษาด้านมานุษยวิทยาว่า บรรดาเจ้าฟ้าไทอาหมไม่ได้มีการผสมข้ามชาติพันธุ์ หรือแต่งงานกับคนชาติพันธุ์อื่นในพื้นที่อินเดียหรือกลุ่มคนอินโด-อารยันเลย จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจศึกษาถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการเคลื่อนย้ายของคนไทอาหมในสมัยนั้น โดยอาศัยวิธีการศึกษาชาติพันธุ์วรรณา (Ethnography) อันเป็นพื้นฐานการเก็บข้อมูลของมานุษยวิทยา ขณะที่ชาวไทอาหมในปัจจุบันก็มีความพยายามที่จะศึกษาและฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิมเช่นกัน

ความตายของเจ้าหล่อนในงานศิลปะ

“There is something to me quite beautiful about her death.” (ในความตายของเธอ มีบางอย่างที่งดงามมากสำหรับผม) – Lord Henry ‘Harry’ Wotton

คือประโยคที่จุดประกายให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกสุดาศึกษาหัวข้อ ‘สตรีไร้วิญญาณในจิตรกรรม Pre-Raphaelite ร่างที่กลับกลายในความตายที่สวยงาม’

ความตายปรากฏในศิลปะ ผ่านแนวคิดของศิลปินกลุ่มพรีราฟาเอลหรือกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอล (Pre-Raphaelite Brotherhood) ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรือสมัยวิกตอเรีย (Victorian Era) ซึ่งเป็นกลุ่มจิตรกรหนุ่มที่พยายามสร้างงานศิลปะท้าทายจารีตในช่วงสมัยเดียวกัน เพื่อนำเสนอสิ่งที่มองเห็นและสิ่งที่เป็นจริง โดยนำเนื้อหาจากวรรณกรรมหรือบทกวีมาใช้ตอบโต้ผ่านงานศิลปะ เพื่อสะท้อนค่านิยมของคนในสังคมยุคนั้น

หากพูดถึงการศึกษามนุษย์กับความตาย คงไม่อาจมองข้ามสมัยวิกตอเรีย ห้วงเวลาที่ผู้คนหมกมุ่นกับความตายเป็นพิเศษ เพราะเป็นเวลาที่สังคมเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม โรงงานเข้ามาแทนที่เกษตรกรรม ผู้คนอพยพจากชนบทเข้ามาทำงานในเมือง ผู้คนกระจุกรวมตัวกันอย่างหนาแน่น ประกอบกับเกิดมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำให้สุขภาพของคนย่ำแย่ลง และเกิดโรคติดต่อได้ง่าย อัตราการตายจึงสูงลิ่ว โดยเฉพาะทารกที่พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแล

คนสมัยวิกตอเรียใกล้ชิดกับความตาย และความตายถูกยกระดับให้กลายเป็นพิธีกรรม เห็นได้จากการไว้ทุกข์โดยผู้มีอำนาจสูงสุดอย่างสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria) ผู้สูญเสียพระสวามีไปในปี 1861 และเข้าสู่การไว้ทุกข์ตลอดชีวิตด้วยการสวมใส่ชุดดำ นำมาสู่ขนบการไว้ทุกข์ของหญิงหม้ายถึง 2 ปี นี่จึงเป็นลักษณะหนึ่งของการนำโครงสร้างทางสังคมมาจัดการความตายและความโศกเศร้า

“ดังนั้น ภาพความตายของผู้หญิงจึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ ที่ศิลปินกลุ่มพรีราฟาเอลเอามาใช้เพื่อสะท้อนถึงผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่ตกระกำลำบาก ตกทุกข์ได้ยาก ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปเมื่อสังคมก้าวเข้าสู่สมัยใหม่ และความเป็นสมัยใหม่ทำให้ผู้หญิงรับมือไม่ทันจนเกิดโศกนาฏกรรม ซึ่งภาพของผู้หญิงที่ตายจะมีการเรียกอารมณ์ความรู้สึกมากหรือกระตุ้นน้ำตาได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกสุดากล่าว

หนึ่งในผลงานโดดเด่นของศิลปินกลุ่มพรีราฟาเอล ที่สร้างจากเนื้อหาและตัวละครในวรรณกรรม คือภาพโอฟิเลีย (Ophelia) ของ จอห์น เอเวอเรตต์ มิเล (John Everett Millais) ปี 1852 จากเรื่อง Hamlet ประพันธ์โดย วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare)

ภาพโอฟิเลีย (Ophelia) ของ จอห์น เอเวอเรตต์ มิเล (John Everett Millais)

ภาพศพที่ไม่มีเค้าของความสยดสยอง แต่เป็นศพที่สวยสดงดงามของโอฟิเลีย สะท้อนภาพความตายของผู้หญิงผ่านสายตาของผู้ชาย แล้วถูกทำให้เป็นสิ่งที่ปรารถนา (Object of Desire) แม้หล่อนมีชีวิตที่ยากลำบากมาตลอดลมหายใจก็ตาม นอกจากนี้ยังเกี่ยวเนื่องกับเพศสภาวะของความตาย (Death and Gender) ผ่านสำนึกของเพศชายด้วย 

ขณะที่อีกภาพความตายหนึ่ง คือเด็กผู้หญิงจากวรรณกรรมเรื่อง The Old Curiosity Shop (1840) ของชาร์ส์ ดิกเกนส์ (Charles Dickens) ที่จอร์จ แคตเตอโมล (George Cattermole) หยิบฉากความตายของตัวละครลิตเติลเนลล์ (Little Nell) วาดออกมาเป็นงานศิลปะ เพื่อนำเสนอความตายอันสงบเยือกเย็นเหมือนแค่นอนหลับไปเท่านั้น

ภาพลิตเติลเนลล์ (Little Nell) ของ จอร์จ แคตเตอโมล (George Cattermole)

“ภาพความตายที่ไม่ได้สยดสยอง แต่เป็นการนอนตายบนเตียงในบ้านตัวเองของลิตเติลเนลล์ แวดล้อมไปด้วยญาติมิตร ตรงกับคติคริสต์ศาสนาที่มองว่าเป็นความตายที่ดี” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกสุดากล่าวอีกว่า “ภาพศพผู้หญิงยังดูสวยงามและดูสงบเยือกเย็น คำว่า สวย อยู่ในการอธิบายความตายของผู้หญิงหรือเด็กสาวในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านศิลปินชายในแง่ของความสนใจ ความสุขสมอย่างหนึ่งที่ได้เห็นความตาย”

จินตภาพต่อความตายของศิลปินยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 จากมุมมองการศึกษาทางประวัติศาสตร์ศิลปะ สะท้อนความคิด ทรรศนะของศิลปิน อันได้รับอิทธิพลมาจากสังคม วัฒนธรรมในยุคสมัยนั้น ภาพผลงานศิลปะไม่เพียงมีไว้เพื่อชมด้วยตาเนื้อเท่านั้น เพราะหากศึกษาลงลึกจะพบมุมมองของมนุษย์ สังคม และเจตคติที่ศิลปินพยายามสะท้อนออกมา

การศึกษาความตายในทางมานุษยวิทยา จึงเป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำความเข้าใจมนุษย์ สังคม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านพื้นที่และเวลา โดยผลของการศึกษาความตายในหลายแง่มุมชี้ว่า ความตายซ่อนเร้นอยู่ในทุกมิติของชีวิตมนุษย์ ทว่าในโลกสมัยใหม่ ความตายกลับถูกทำให้ห่างไกลหรือยืดเวลาแห่งความตายออกไป

Tags: , , , , , , , ,