วันนี้ (23 มกราคม 2021) ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดประเด็นเสวนา ‘จับกระแสพม่า: สงครามและการสร้างรัฐหลังประหาร’ โดยมี ดุลยภาค ปรีชารัชช รองศาสตราจารย์ประจำหลักสูตรอาณาบริเวณศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวประชาไท เป็นวิทยากรดำเนินรายการร่วมกัน

ในบทสนทนาครั้งนี้เน้นไปที่สถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อรัฐฉานตอนเหนือปรากฏ ‘ปฏิบัติการ 1027’ (Operation 1027) โดยสามพันธมิตรภราดรภาพ (Brotherhood Alliance) ได้แก่ กองทัพโกก้าง (Myanmar National Democratic Alliance Army: MNDAA) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (Ta’ang National Liberation Army: TNLA) และกองทัพยะไข่ (Arakan Army: AA) เป็นเหตุให้ ‘กองทัพทัตมาดอว์’ (Tatmadaw) หรือกองทัพเมียนมากำลังอยู่ในจุดอ่อนแอที่สุด นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 โดย พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพเมียนมา 

‘รัฐประหาร 2021’: จุดเริ่มต้นทำความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันในเมียนมา

ก่อนจะเริ่มบทสนทนา ณัฐพลอธิบายถึงการรัฐประหารในปี 2021 โดยให้นิยามว่า เหตุการณ์นี้มีความรุนแรงกว่าในอดีต สะท้อนจากสถานการณ์ของ อองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) นักการเมืองคนสำคัญที่หายไปจากหน้าสาธารณะ รวมถึงการดำเนินคดีทางการเมืองในกลุ่มประชาชนหรือนักการเมืองที่ต่อต้านกลุ่มรัฐบาลทหาร

หากวิเคราะห์สาเหตุการรัฐประหาร มิน อ่อง หล่ายกังวลใจหลายอย่าง โดยเฉพาะอิทธิพลของพรรคสันนิบาตแห่งชาติประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ที่เพิ่มขึ้น ดังการวิเคราะห์ของนักวิชาการที่เผยว่า พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party: USDP) หรือพรรคของกองทัพเมียนมาค่อยๆ ลดอิทธิพลลงเรื่อยๆ สวนทางกับการขึ้นมาของพรรค NLD อย่างถึงขีดสุดในปี 2020 

นอกจากนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยในเมียนมาพยายามลดบทบาทกองทัพ ด้วยการเสนอแนวคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2008 และสนับสนุนให้พลเรือนเข้ามามีบทบาทนำในพื้นที่ทางการเมือง นักวิชาการจึงวิเคราะห์ว่า การรัฐประหารของมิน อ่อง หล่าย อาจเป็นทางเลือกเดียวของกองทัพเมียนมาในการกอบกู้อำนาจ และทำให้การเปลี่ยนผ่านทางประชาธิปไตยหยุดชะงักลง ทว่ากระแสตอบรับภาคประชาชนและฝ่ายต่อต้านก็มีความเปลี่ยนแปลง 3 ประการดังต่อนี้

1. เกิดขบวนการอารยะขัดขืนต้านรัฐประหาร (Civil Disobedience Movement: CDM) สะท้อนจากการประท้วงนัดหยุดงานในหน่วยงานราชการและการเคลื่อนไหวของประชาชน

2. การจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government of Myanmar: NUG) ในปี 2021 จากกลุ่มที่ชนะการเลือกตั้งในปี 2020 ประกาศตัวว่า พวกเขาคือรัฐบาลที่ชอบธรรม และพยายามเข้าไปมีบทบาทกับนานาชาติ

3. กองกำลังพิทักษ์ตนเอง (People’s Defense Force: PDF) เป็นบทบาทใหม่ของชนชาติเมียนมา เพราะแต่เดิม ผู้คนมักขอความช่วยเหลือหรือรวมตัวกับกองกำลังชาติพันธุ์ตามชายแดน ทว่าการเกิดกองกำลังนี้ขึ้นทำให้มีความเปลี่ยนแปลงในด้านการสู้รบและการวางกำลังในตอนกลางของประเทศ ณัฐพลเน้นย้ำว่า ปัจจัยดังกล่าวมีความสำคัญ เพราะทำให้กองทัพเมียนมาเพลี่ยงพล้ำกว่าเดิม และเป็นสาเหตุทำให้ปฏิบัติการ 1027 คืบหน้า

ประวัติศาสตร์และความสำคัญในเส้นทางปฏิบัติการ 1027

แม้เส้นทางในปฏิบัติการ 1027 ดูเป็นเส้นทางขนส่งธรรมดา แต่ดุลยภาคระบุว่า เส้นทางดังกล่าวมีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ โดยแบ่งเป็น 2 ประเด็นสำคัญ

ประเด็นแรก เส้นทางปฏิบัติการ 1027 มีความสำคัญในเชิงการค้าและโลจิสติกส์ซึ่งมาจากชายแดนจีน ผ่านทางรัฐฉานเหนือไปสู่มัณฑะเลย์ (Mandalay) สะท้อนจาก ‘ถนนพม่า’ (Burma Road) หรือเส้นทางยุทธศาสตร์ที่มหาอำนาจเข้ามาแย่งชิงในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวเชื่อมกับเมืองคุนหมิง (Kūnmíng) ในจีน และล่าเสี้ยว (Lashio) ในเมียนมา ไปสู่ใจกลางมัณฑะเลย์ เช่นเดียวกับถนนเลโด (Ledo Road) ทางรัฐกะฉิ่น (Kachin) ที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างจีนกับอินเดีย 

ดุลยภาคเน้นย้ำส่วนนี้มีความสำคัญ เพราะหากมหาอำนาจหรือกลุ่มใดที่สามารถกุมอำนาจบนถนนเส้นเหล่านี้ได้ พวกเขาจะได้เปรียบในสงคราม ทั้งในการค้า โลจิสติกส์ และการเดินทาง เช่นเดียวกับในปัจจุบันที่กลุ่มพันธมิตรภราดรภาพ โดยเฉพาะกลุ่มในบริเวณรัฐฉานเหนือ ได้แก่ โกก้างและปะหล่อง (Palong) ที่พยายามระดมพลตีกองทัพเมียนมา ซึ่งอยู่ในโครงข่ายของถนนพม่า

ขณะเดียวกัน พื้นที่ดังกล่าวติดกับชายแดนจีนบริเวณเมืองหมู่เจ้และน้ำคำ ซึ่งมีด่านการค้าหมู่เจ้-รุ่ยลี่ที่จีนมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด และมีอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในเขตคู่แฝดชายแดนระดับสูง หากเทียบกับเขตชายแดนไทย-เมียนมา ช่วงบริเวณแม่สอด-เมียวดี อีกทั้งยังมีเมืองวันติ่ง ซึ่งดุลยภาคเห็นว่า เป็น 1 ใน 3 ยุทธศาสตร์วงแหวน เปรียบเสมือน ‘ข้อต่อ’ สำคัญทางตอนบกสำหรับรัฐบาลจีนในการแผ่อิทธิพลไปยังเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มากกว่านั้น หากนำประเด็นดังกล่าวไปจับคู่กับโครงการ ‘Belt and Road Initiative’ และระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ที่มีการสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลจีนกับอองซานซูจีในช่วงที่พรรค NLD กำลังครองอำนาจ ก็จะเห็นได้ถึง ‘ผลประโยชน์’ และยุทธศาสตร์ของจีนอย่างมหาศาล

นอกจากนี้ เส้นทางดังกล่าวยังสะท้อนมุมมองเชิงประวัติศาสตร์สงครามระหว่างจีนกับเมียนมาได้อีก 2 รูปแบบ ซึ่งมีรากฐานจากยุครัฐจารีต เมื่อราชวงศ์คองบองแผ่แสนยานุภาพจนกระทบกับนครรัฐบริเวณชายแดน ทำให้จีนต้องเข้ามาปราบปรามพม่า

จากจุดนี้ ดุลยภาคอธิบายต่อว่า เส้นทางดังกล่าวคือเส้นทางการเคลื่อนทัพของราชวงศ์ชิงเพื่อเข้ามาโจมตีราชวงศ์คองบองในอดีต ซึ่งผิดไปจากเส้นทางดั้งเดิม จึงอาจมีการเชื่อมโยงว่า จีนอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกองทัพโกก้างได้เช่นกัน

ทางสองแพร่งที่ไม่มีคำตอบ: ปฏิบัติการ 1027 จะขยายที่ไปถึงไหน?

ดุลยภาคระบุว่า คำถามมีความน่าสนใจ เพราะสามารถมองได้หลายแง่มุมดังต่อไปนี้ 

1. ในแง่มุมแรกอยู่ภายใต้ข้อสันนิษฐานว่า กลุ่มพันธมิตรภราดรภาพเป็นเนื้อเดียวกับรัฐบาล NUG ความเป็นไปได้คือการบุกต่อไป สะท้อนจากการที่รัฐบาล NUG ประกาศว่า จะบุกลงสู่พื้นที่ราบ ได้แก่ เมืองแปร (Pye) เนปิดอว์ (Naypyidaw) ตองอู (Toungoo) ปยิลอูวิน (Pyin Oo Lwin) ซึ่งเป็นอาณาบริเวณสำคัญที่รัฐบาลทหารเมียนมาจะต้องปกป้อง

ดุลยภาคระบุต่อว่า กองทัพเมียนมากำลังเผชิญกับอุปสรรคจากกองทัพตะอางหนักมาก โดยเฉพาะหากเกิดสถานการณ์ร้ายแรงอย่างโรงเรียนนายร้อยในปยินอูวิล เมืองหลักเมืองหนึ่งแตก ทหารเมียนมาอาจต้องลงไปตั้งหลักในมัณฑะเลย์ในระดับ ‘สุดลิ่มทิ่มประตู’ เพราะพื้นที่แห่งนี้มีความสำคัญในเชิง ‘ศูนย์รวมใจ’ ของกองทัพ ทั้งประวัติศาสตร์และรากเหง้าของชาติ 

2. ในทางตรงกันข้าม ปฏิบัติการ 1027 อาจไม่ขยายตัวต่อ เพราะพันธมิตรภราดรภาพหยุดชะงักลง จำกัดพื้นที่แค่บริเวณรัฐฉาน และจัดระเบียบแค่ในพื้นที่ที่ครอบครอง อ้างอิงจากการเจรจาหยุดยิงระหว่างจีนกับทหารเมียนมา ซึ่งวางเงื่อนไขให้สองฝ่ายหยุดยิงและไม่ขยายเขตแดน 

ทว่าดุลยภาคระบุว่า สถานการณ์นี้เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว เพราะแต่ละกลุ่มก็อาจเคลื่อนไหวตอนนี้ อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่ความขัดแย้งอาจเพิ่มขึ้นในอนาคตเช่นเดียวกัน 

ทำไมประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาถึงไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในเมียนมา หากเทียบกับจีน?

หากเทียบท่าทีระหว่างสองประเทศจะพบว่า จีนมีความกระตือรือร้นมากเนื่องจากพรมแดนติดกัน ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่แนบแน่น รวมถึงรากพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เชื่อมโยงกับกองกำลังโกก้างและว้า 

ขณะที่เทียบกับสหรัฐฯ ปัจจัยดังกล่าวเกิดจากยุทธศาสตร์ภายในประเทศ เมื่อสหรัฐฯ ทุ่มความสนใจไปยังอาณาบริเวณไม่กี่จุด เช่น ยูเรเซีย (สงครามรัสเซีย-ยูเครน) ทะเลดำ อิสราเอลในตะวันออกกลาง คาบสมุทรเกาหลี หรืออินโดแปซิฟิก (Indo-Pacific) เป็นหลัก และอันที่จริง ในอดีต สหรัฐฯ ก็มีส่วนเชื่อมโยงกับเมียนมาผ่าน CIA และการสนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋ง เพราะครั้งหนึ่งมีการใช้รัฐฉานเป็นฐานเพื่อทำสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมถึงประเด็นการปราบปรามยาเสพติดในสามเหลี่ยมทองคำ

อย่างไรก็ตาม ดุลยภาคเผยว่า สถานการณ์ดังกล่าวต้องจับตาดูกันต่อไป ท่ามกลางตัวแปรสำคัญคือรัฐบาล NUG ที่ต้องการอิทธิพลจากชาติประชาธิปไตย โดยเฉพาะสหรัฐฯ ในเวทีโลก รวมถึงจีนที่ได้รับผลประโยชน์ชนิด ‘ถือครองเค้กชิ้นใหญ่’ ปัจจัยดังกล่าวอาจเป็นเหตุที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวในเมียนมาเพื่อคานอำนาจก็เป็นได้

บทบาทของไทยภายใต้รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน กับการจัดการปัญหาความขัดแย้งในเมียนมา

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่นำโดย เศรษฐา ทวีสิน มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในการจัดการปัญหาดังกล่าว โดยย้อนกลับไปเปรียบเทียบนโยบายต่างประเทศ ‘พัวพันเชิงสร้างสรรค์’ (Constructive Engagement) ในสมัย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคไทยรักไทย ที่เน้นการเจรจาเชิงธุรกิจ แต่ไม่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารเมียนมา

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ทักษิณสร้างสัมพันธ์ไมตรีกับ พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย (Than Shwe) ผู้นำเผด็จการทหารของเมียนมา และกลุ่มชนชั้นนำระดับสูงที่ควบคุมอำนาจด้านเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น ทักษิณจึงมองว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลทหารเป็นสิ่งที่ทำไม่ให้ไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ

ดุลยภาคยังเชื่อว่า แนวคิดดังกล่าวยังคงเป็นแบบแผนสำคัญในการต่างประเทศ หากเชื่อว่าทักษิณเป็นผู้ให้คำปรึกษาหรือแนะนำกับรัฐบาลของเศรษฐา ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าการติดต่อระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลทหารยังคงดำเนินต่อไป แต่ไทยอาจมีบทบาทมากขึ้นในเชิง ‘การสร้างสันติภาพและยุติความขัดแย้ง’ ในเมียนมา ตั้งอยู่บนการสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์แห่งชาติด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจบริเวณชายแดนและพื้นที่สู้รบ

อย่างไรก็ตาม หากมองภาพรวมด้านการต่างประเทศ ไทยก็ต้องการมีบทบาทในเวทีอาเซียนและการเมืองระหว่างประเทศในฐานะผู้ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม รวมถึงการระงับความขัดแย้งในเมียนมา นั่นอาจจะต้องมีการ ‘สร้างวงสนทนา’ กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐบาล NUG หรือกลุ่มชาติพันธุ์ตามชายแดน ไม่ใช่แค่เฉพาะรัฐบาลทหารเท่านั้น

“ผมว่าสำหรับรัฐบาลไทย เน้นการสร้างสันติภาพ ระงับความขัดแย้งในเมียนมา ควบคู่กับการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะชายแดนไทย-เมียนมา รวมถึงในเมียนมา” ดุลยภาคเผย โดยเสริมว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องมีบทบาทมากขึ้น เช่น ปตท.ในเรื่องของพลังงานก๊าซหรือทรัพยากรธรรมชาติ แต่แนวนโยบายก็ต้องสอดคล้องกับทิศทางของรัฐบาลไทยในทางเดียวกัน

รองศาสตราจารย์ประจำหลักสูตรอาณาบริเวณศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปต่อว่า การทูตไทยภายใต้รัฐบาลเพื่อไทยจะไม่ได้เหมือนกับการทูตของพรรคก้าวไกลที่เรียกว่า ‘มีกระดูกสันหลัง’ แต่ก็ไม่ถึงกับ ‘เงียบเชียบ’ (Quiet Diplomacy) เหมือนช่วงที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากไทยถูกวิจารณ์และภาพลักษณ์ที่โดดเด่นในภูมิภาคสูญเสีย 

ดุลยภาคเห็นว่า ‘หน้าตาของประเทศ’ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับรัฐบาลเพื่อไทย สะท้อนจากการที่กระทรวงการต่างประเทศไทยเป็นแม่งานขับเคลื่อนประเด็นทางมนุษยธรรม เช่น การหาจุดที่ตั้งในตำบลทางชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ซึ่งต้องหาจุดสมดุลให้กับทั้งฝ่ายรัฐบาลเมียนมาและฝ่ายต่อต้านทหาร ท่ามกลางการจับตามองของชาติอาเซียนและทั่วโลก

Tags: , , , ,