ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ คนที่อยู่ยาวนานสุดหนีไม่พ้น วิษณุ เครืองาม เนติบริกร ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งในทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง

แม้วิษณุจะโอดครวญเรื่องปัญหาสุขภาพที่ต้อง ‘ฟอกไต’ วันละเกือบ 10 ชั่วโมงทุกวัน รวมถึงออกมาเปิดข้อมูลใหม่ ว่าแท้จริงแล้ว ‘ดีล’ ให้เขารับตำแหน่ง ไม่ใช่ดีลของการเป็นที่ปรึกษาฯ หากแต่เป็นดีลของการดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้าย เนติบริกรก็จำยอม จำใจ ยอมรับตำแหน่งนี้แต่โดยดี 

ปีนี้เป็นปีที่ 33 ของวิษณุในทำเนียบรัฐบาล ทำให้เขาเป็นตัวละครสำคัญคนหนึ่งที่อยู่นานที่สุดในวงจรการเมืองไทย 3 ทศวรรษหลัง ที่น่าสังเกตก็คือ ไม่ว่าระบอบนี้จะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือระบอบเผด็จการ วิษณุก็ยังอยู่ได้

10 นายกรัฐมนตรี 33 ปี ในทำเนียบรัฐบาล คือตัวเลขที่เกี่ยวพันกับตัวเขา ตั้งแต่รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ยาวนานถึงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน คำถามก็คือ อะไรที่ทำให้วิษณุอยู่ได้ยืนยาวขนาดนั้น

1. ทักษะเฉพาะทาง หาตัวจับยาก

หนึ่งในเรื่องที่ซับซ้อนที่สุดในการบริหารราชการแผ่นดินคือ ‘กฎหมาย’ ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับ บ้างออกขัดกัน บ้างออกโดยคำสั่ง ประกาศ คณะปฏิวัติ แต่ยังมีผลบังคับใช้ ขณะเดียวกัน ขั้นตอนการแก้ไขกฎหมาย เสนอร่างกฎหมายใหม่ ก็เดินหน้าไปพร้อมๆ กับที่กฎหมายเดิมยังบังคับใช้อยู่

วิษณุ เครืองาม จบปริญญาโทและเอกจากมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ (Berkley) แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่อายุ 25 ปี ก่อนรับราชการที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโอนย้ายมาเป็นข้าราชการการเมือง และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในยุค ‘ประชาธิปไตยเต็มใบ’ ยุค พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี 2534 ก่อนก้าวเข้าสู่ตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในยุค ชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ ในปี 2536 ด้วยวัยเพียง 42 ปี

จากนั้นวิษณุก็อยู่ในทุกการประชุมคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ที่กุม ‘ความลับ’ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมาตลอด ตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย, รัฐบาลพลเอก สุจินดา คราประยูร จากการรัฐประหาร, รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน 2 รอบ, รัฐบาลชวน 2 รอบ รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา, รัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

รัฐบาลทักษิณ 1 นั้น วิษณุเคยบันทึกไว้ว่า คนที่เขาต้องทำงานด้วยอย่างใกล้ชิดคือ หมอมิ้ง-นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช คนข้างกายของทักษิณตั้งแต่ยังทำงานอยู่กับกลุ่มชินวัตร ที่ทักษิณตั้งให้เป็นเลขาธิการนายกฯ โดยภารกิจแรกก็คือการจัดคณะรัฐมนตรี ทักษิณ 1 ซึ่งยังเป็นรูปของรัฐบาลผสมหลายพรรค หลายมุ้ง

2. ที่มาของ ‘เนติบริกร’ 

สิ่งที่ต้องเข้าใจในห้วงเวลาที่ทักษิณเป็นนายกฯ ก็คือ รัฐบาลไทยรักไทย 1 เป็นศูนย์รวมของนักการเมืองรุ่นเก่าจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่า ‘คุ้นเคย’ กับวิษณุเป็นอย่างดี รวมถึงตัวทักษิณเอง ขณะเดียวกัน ในรัฐบาลทักษิณ 1 ก็ยังมีความพยายามอย่างยิ่งในการ ‘ปฏิรูประบบราชการ’ 

ฉะนั้น ทักษิณจึงดึงตัววิษณุ ขอให้ลาออกจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้มารับหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย โดยในบันทึกของวิษณุเขียนว่า คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ภรรยาของทักษิณในขณะนั้น เป็นผู้ชักชวน

ในเดือนกันยายน 2545 วิษณุได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า เป็น ‘เนติบริกร’ ด้วยมีความสามารถในการพลิกแพลงกฎหมายเป็นเลิศ พลิกกฎหมายให้รัฐบาลมีความชอบธรรม และได้เปรียบฝ่ายตรงข้าม 

เวลาเดียวกันนั้น ทักษิณได้รับฉายาว่า เป็น ‘นายกฯ เทวดา’ ที่ยิ่งใหญ่จนใครแตะต้องไม่ได้

คำว่าเนติบริกรกลายเป็นคำที่วิษณุก็ชื่นชอบและภูมิใจ ในหนังสืออัตชีวประวัติของวิษณุ 3 เล่ม ที่ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์มติชน เขาเขียนว่า เป็น ‘เรื่องเล่าจากเนติบริกร’ 

ทั้งนี้ ทักษิณมอบหมายให้วิษณุคุมงานใหญ่ นอกจากคุมงานกฎหมายทั้งหมดแล้ว ยังคุมสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งกลายเป็นสร้างปัญหาให้วิษณุในเวลาต่อมา

3. สงขลาคอนเนกชันและ ‘ทักษิณออกไป’

ปี 2548 ในห้วงเวลาการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง ‘กฎหมาย’ เริ่มกลายเป็นเรื่องใหญ่ งานด้านกฎหมายที่วิษณุรับผิดชอบไปพัวพันกับการตั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ หรือสมเด็จเกี่ยว วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชในเวลานั้น ซึ่งบังเอิญว่าแกนนำพันธมิตรฯ อย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล เห็นว่าผิดกฎหมาย

แล้วเรื่องก็เลยเถิดไปใหญ่ เมื่อรองนายกฯ วิษณุ เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดงาน ‘ทำบุญประเทศ’ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อเดือนเมษายนปีเดียวกัน ที่พันธมิตรฯ ระบุว่า ทักษิณ ‘มักใหญ่ใฝ่สูง’ ชื่อของวิษณุจึงกลายเป็นหนึ่งในชื่อที่ติดอยู่ในเพลง ‘ไอ้หน้าเหลี่ยม’ เพลงดังในปีนั้น และเป็นคนที่คนเสื้อเหลืองเกลียดชังที่สุดคนหนึ่ง

ในเดือนมิถุนายน 2549 วิษณุตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ โดยเขาเขียนไว้ในบันทึกว่า มาจากความแตกแยกของคนกลุ่มต่างๆ, ความ ‘ใหญ่’ เกินไปของทักษิณ, องค์กรอิสระไม่ได้รับการเชื่อถือ รวมถึงเรื่องร้ายแรงที่วิษณุบอกว่า รัฐบาลทักษิณเมินเฉยต่อขบวนการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในเวลาเดียวกับที่หนังสือ The King Never Smiles หนังสือเล่มดังจากสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยลออกวางขายพอดิบพอดี

“การเมืองไทยเหมือนกงล้อประวัติศาสตร์ หมุนไปหมุนมาก็ทับรอบตัวเอง คือเกิดแล้วก็เกิดซ้ำได้อีกตัวละครก็ซ้ำๆ กัน ตัวละครการเมืองไทยสิบปียี่สิบปีก่อนก็ไม่ต่างกับเดี๋ยวนี้ มีแต่ท่านที่อาจเป็นตัวละครใหม่ แต่ฉากเก่า เวทีเก่า ดนตรีเก่า หางเครื่องเก่า ท่านจึงต้องระวัง เรียนรู้บทเรียนเก่าๆ ไว้บ้าง” วิษณุบอกทักษิณ

สิ่งที่วิษณุไม่ได้บันทึกไว้ แต่อาจมีความเกี่ยวข้องกันก็คือ ณ เวลานั้น คู่ต่อสู้คนสำคัญของทักษิณคือพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ คนสงขลาบ้านเดียวกับวิษณุ และในเวลาเดียวกัน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ คนสงขลา ‘น้องรัก’ คนหนึ่งของวิษณุ ก็ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเช่นกัน

หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่อล้มรัฐบาลทักษิณ มีชัย ฤชุพันธุ์ นั่งเป็นหัวหน้ามือกฎหมายของคณะรัฐประหาร ขณะเดียวกัน ชื่อของวิษณุก็ติดโผหนึ่งใน 242 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

สะท้อนว่า การตัดสินใจ ‘สละเรือ’ รัฐบาลทักษิณก่อนจะหมดอำนาจราว 3 เดือน เป็นการตัดสินใจถูกต้อง ที่ทำให้เส้นทางมือกฎหมายของวิษณุยังไปต่อได้

4. มือไม้ของ คสช.และคนข้างตัว ‘ประยุทธ์’

เป็นเวลานานกว่า 7 ปี ที่ชื่อของวิษณุหายไปจากหน้าการเมือง ในช่วงเวลาของรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่เพียงเวลา 4 วัน เมื่อการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เกิดขึ้น วิษณุก็เข้าไปนั่งในกองบัญชาการของคณะรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทันที

การรัฐประหารของ คสช.นั้น แน่ชัดว่าต้องการใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นในการจัดการประเทศให้อยู่มือ ต้องการทำให้ ‘อำนาจเก่า’ ในเวลานั้นอย่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะเดียวกัน ก็มีเครื่องมือทางกฎหมายเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อย่างคำสั่งหัวหน้า คสช. มาตรา 44 ที่ให้คำสั่งนี้เป็นเรื่อง ‘ถูกต้อง’ ไม่สามารถอุทธรณ์ ไม่ว่าจะอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต

วิษณุเคยชื่นชมว่า พลเอกประยุทธ์เป็นคนขยันทำงาน ชอบส่งไลน์หาตอนตี 1-2 ขณะเดียวกันก็เป็นคนความจำดี สามารถบรรยายเป็นชั่วโมงโดยไม่ต้องดูโพย ขณะเดียวกัน เวลาดูหนังสือราชการก็จะไม่เซ็นอย่างเดียว แต่จะเขียนบรรยายลงไปในหนังสือราชการอีกเยอะ

“ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ” คือคำของรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย เมื่อพูดถึงการพยายามเขียน ‘กฎหมาย’ และเดินไปตามระบบที่ คสช.วางไว้ 

เป็นที่รู้กันว่าความพยายามของ คสช.นั้นล้มเหลว และแม้วิษณุช่วยต่อมาจนจบรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ แต่ผลสุดท้าย การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 กลับกลายเป็น ‘ฝั่งลุง’ แพ้ราบคาบ 

25 สิงหาคม 2566 วิษณุประกาศวางมือทางการเมือง ขอออกไปเลี้ยงหลาน และรักษาสุขภาพ ท่ามกลางบรรยากาศที่ ‘อำนาจเก่า’ และเศรษฐากำลังย้ายเข้ามานั่งในทำเนียบรัฐบาลในรูปของรัฐบาลผสมข้ามขั้ว

5. ดีลลึกลับ ที่พา ‘คนป่วย’ วนกลับมาอีกรอบ

วันนี้ วิษณุในวัย 72 ปี ไม่ใช่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายที่เรืองอำนาจอีกต่อไป แต่คือชายชราที่ต้องฟอกไตวันละ 10 ชั่วโมง 

กระนั้นเอง ยังมี ‘ดีล’ ขอให้ช่วยกลับไปทำงานในทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเกิดสิ่งแปลกประหลาดขึ้นในทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการที่เศรษฐาตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้นภายหลัง พิชิตต้องลาออก พ่วงด้วยการที่เศรษฐาถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ผิดจริยธรรมหรือไม่กรณีตั้งพิชิตเป็นรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน ยังเป็นห้วงเวลาที่ ทักษิณ ชินวัตร ผู้มีบารมีหลังพรรคเพื่อไทย โดนคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จนกลายเป็นข่าวกระเซ็นกระสายว่า ‘ดีล’ กำลังล่ม อำนาจเก่ากำลังทวงคืนทำเนียบรัฐบาล ทวงคืนตำแหน่งนายกฯ 

สิ่งที่รับรู้ทั่วกันภายหลังก็คือ วิษณุให้สัมภาษณ์เองว่า มีความพยายามทาบทามตนเองให้ไปดำรงตำแหน่งรองนายกฯ อีกรอบ แต่ปฏิเสธ เพราะปัญหาสุขภาพและไม่ต้องการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ฉะนั้น ตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดคือ ‘ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี’ ไม่มีเงินเดือน มีเพียงเบี้ยประชุมเท่านั้น

แต่แน่นอนว่าตำแหน่งนี้ย่อมเข้าถึงข้อมูลสำคัญ ได้เข้าประชุมคณะรัฐมนตรี และอาจเป็น ‘หัวโต๊ะ’ ในบางการประชุม

การกลับมาของวิษณุจึงอาจเป็นได้ทั้งฝ่าย ‘อำนาจเก่า’ ส่งมาเพื่อจับตาการทำงานของรัฐบาลเศรษฐา อาจเป็นได้ทั้งเศรษฐาขอให้เข้ามาช่วย เพราะไม่มี ‘ฝ่ายกฎหมาย’ คนอื่นที่มีความสามารถเทียบเท่า 

สุดท้าย การรับตำแหน่งรอบนี้ ยิ่งตอกย้ำความเป็นเนติบริกรได้ชัดแจ้ง คือพร้อมเป็นบริกร ไม่ว่า ‘นายจ้าง’ จะเป็นใคร จะอยู่ฝ่ายไหน

และเขายังเป็นวิษณุคนเดิมที่ต้านได้ทุกคลื่นลม อยู่ได้ทุกรัฐบาล ภายใต้จุดแข็งคือความเป็น ‘ผู้รู้กฎหมาย’ คอยรู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง และเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์จำเป็นเสมอ

Tags: , , ,